บทความให้กำลังใจ(พร้อมรับความสูญเสีย)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    45,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    (ต่อ)
    อย่างไรก็ตาม ได้กล่าวแล้วว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เรากลัวความสูญเสีย ก็คือ ความยึดติดถือมั่นว่าเป็นของเรา หรือที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกว่า ความยึดมั่นใน “ตัวกู ของกู” ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ความกลัวสูญเสียครอบงำใจ นอกจากการใช้สติและปัญญารับมือกับเหตุการณ์แล้ว การทำใจให้คลายความยึดมั่นในตัวกูของกู ก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเรายึดติดถือมั่นในทรัพย์สินน้อยลง ความกลัวสูญเสียก็จะน้อยลงตามไปด้วย

    วิธีหนึ่งที่ช่วยลดความยึดมั่นในตัวกูของกู ก็คือ การให้ทานหรือสละทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้อื่นหรือส่วนรวม ถ้าเราคิดแต่จะเอา ไม่ยอมให้ ความยึดมั่นในตัวกูของกูย่อมเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อคิดจะให้ ทีแรกจะมีแรงต้านทานอันเกิดจากความยึดติดถือมั่น แต่เมื่อให้บ่อย ๆ ความยึดติดถือมั่นในทรัพย์สมบัติก็จะลดลง โดยเฉพาะการให้ที่ไม่หวังประโยชน์เข้าตัวเลย หากมุ่งเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นหรือส่วนรวมล้วน ๆ แต่ถ้าให้เพราะอยากร่ำรวยอยากถูกหวยแล้ว อย่างที่ผู้คนมักอธิษฐานเวลาทำบุญ ความยึดมั่นในทรัพย์มีแต่จะพอกพูนขึ้น

    ผู้ที่ให้เป็นนิจ ไม่ว่าให้แก่ผู้เดือดร้อน นักบวช หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ เมื่อถึงคราวที่ต้องสูญเสียทรัพย์ด้วยเหตุจำเป็น ก็พร้อมจะเสียโดยไม่บ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงชนิดที่ก่อให้เกิดโทษ ขณะเดียวกันก็ไม่ทุกข์ใจ เพราะไม่ได้ยึดติดถือมั่นกับมันอย่างเต็มที่ หากจำเป็นต้องเสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะหรือชีวิต ก็พร้อมจะทำ ไม่เผลอเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อรักษาทรัพย์ เช่น ในยามที่ถูกโจรปล้นจี้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การไม่ยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์ว่าเป็น “ของกู” ทำให้เราเป็นนายมัน ไม่ใช่มันเป็นนายเรา ตรงกันข้าม การยึดติดถือมั่นว่ามันเป็นของเรา มีแต่จะทำให้เรากลายเป็นของมันไป

    การหมั่นระลึกถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เรายึดติดถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ น้อยลง เพราะตระหนักได้ว่าไม่ช้าไม่นานมันก็ต้องจากเราไป ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ทุกอย่างเป็นของชั่วคราวทั้งนั้น ยิ่งระลึกถึงความจริงที่ว่า เราเกิดมามือเปล่า และเมื่อสิ้นลม เราก็ต้องจากไปมือเปล่า ทรัพย์สมบัติที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นจึงเป็นเสมือนกำไร หากสูญไปจนหมดก็แค่เท่าทุน ไม่อาจเรียกว่าขาดทุนหรือสูญเสียด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ได้เป็นของเราตั้งแต่แรก การระลึกเช่นนี้ยังกระตุ้นให้เราหมั่นให้ทานหรือสละทรัพย์ให้ผู้อื่น ไม่คิดจะเก็บเอาไว้กับตัวเอง เพราะรู้ว่าตายแล้วก็เอาไปไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว

    นอกจากการให้ทานและระลึกถึงความไม่เที่ยงแล้ว การหมั่นมองตนจนเห็นใจที่ยึดมั่นในตัวกูของกูอยู่เนือง ๆ ก็ช่วยให้เราเป็นอิสระเหนือทรัพย์มากขึ้น และไม่กลัวการสูญเสีย จะว่าไปแล้วการยึดติดถือมั่นว่ามี “ตัวกู”นี้แหละเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เราดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งนี้เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่แห่งตัวตน ดังนั้นเมื่อต้องสูญเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป จึงกลายเป็นการกระทบตัวกู ทำให้ความยิ่งใหญ่แห่งตัวกูลดน้อยถอยลง หรือถึงกับรู้สึกว่าตัวกูถูกคุกคาม การทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย จึงมิใช่เป็นแค่การปกป้องทรัพย์สมบัติที่ยึดมั่นว่าเป็นของกูเท่านั้น หากยังเป็นการปกป้องตัวกูหรือความยิ่งใหญ่แห่งตัวกูด้วย

    เป็นเพราะหวงแหนตัวตน ผู้คนจึงหวงแหนทรัพย์สมบัติและอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรสักอย่างที่เที่ยงแท้ยั่งยืนหรืออยู่กับเราไปตลอด ร้ายกว่านั้นก็คือ ตัวตนที่หวงแหนนั้นแท้จริงหามีไม่ หากเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเองด้วยอวิชชา เมื่อใดที่เราเห็นชัดด้วยปัญญาว่าตัวกูนั้นไม่มีอยู่จริง ความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูก็ดับไปเอง ถึงตอนนั้นก็ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป ไม่ว่าความสูญเสียทรัพย์ หรือแม้แต่ความสูญเสียชีวิต ไม่ว่าความผันผวนปรวนแปรใด ๆ เกิดขึ้นกับชีวิต ก็ไม่ทุกข์อีกต่อไป จะได้หรือเสียก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะจิตอยู่เหนือการได้และเสียอย่างสิ้นเชิง

    แต่ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นนั้น เราก็ควรฝึกใจให้เป็นทุกข์น้อยที่สุดเมื่อประสบความสูญเสีย โดยไม่มัวหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธความสูญเสียอย่างหลับหูหลับตา
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255502.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...