บทความให้กำลังใจ(นรกมิใช่ใครอื่น)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    44,779
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    เคยเสียแล้ว
    รินใจ
    “ย่ายิ้ม” มีรอยยิ้มประดับใบหน้าเป็นอาจิณสมชื่อ มองจากมาตรฐานของคนสมัยนี้ ชีวิตของย่ายิ้มนับว่าลำบากลำบนอย่างยิ่ง เพราะอยู่บ้านกลางป่าเพียงลำพัง ต้องหุงหาอาหารกินเอง บางทีก็มีแต่หัวกลอยนึ่งมะพร้าวคั่วเป็นอาหารเพราะข้าวสารหมด ไฟฟ้าน้ำประปาไม่ต้องพูดถึง ย่ายิ้มอาศัยตะเกียงน้ำมันมาช้านานแล้ว หมู่บ้านที่อยู่ใกล้สุดนั้นห่างถึง ๘ กม. เส้นทางลงเขาก็ทุรกันดาร อย่าว่าแต่คนเลย แม้รถยนต์ก็ขึ้นลำบาก แต่ทุกวันพระย่ายิ้มจะเดินกะย่องกะแย่งลงมาแต่เช้ามืดเพื่อเข้าวัดรักษาศีล ขากลับจึงแบกข้าวสาร พริก หอม กระเทียมขึ้นเขา ซึ่งมักได้จากความเอื้อเฟื้อของเพื่อนบ้านคราวลูกคราวหลาน

    แม้อายุถึง ๘๓ แต่ย่ายิ้มก็ยังพึ่งตัวเองได้แทบทุกอย่าง โดยใช้น้ำพักน้ำแรงของตน เงินมีความหมายน้อยมากต่อย่ายิ้ม เงินผู้สูงอายุที่ได้รับจากรัฐบาล ๕๐๐ บาททุกเดือน ย่ายิ้มถวายวัดทำบุญหมด ย่ายิ้มเคยพูดว่า “ความเจริญอยู่ที่ไหน มันก็ทุกข์ยากที่นั่น อยู่บนเขานี้ ไม่มีเงินก็ยังอยู่ได้ ไม่เหมือนที่คลองตาล (ตำบลใกล้เคียง) ไม่มีเงินอยู่ไม่ได้เลยหนา ต้องซื้อเอาทุกอย่าง ยิ่งแก่แล้ว ทำนาไม่ไหว ไปอยู่ก็ต้องเดือดร้อนเขา”

    ย่ายิ้มเลือกมาใช้ชีวิตกลางป่าจะได้ไม่เป็นภาระแก่ใคร แต่ถ้าถามว่าย่ายิ้มอยู่อย่างนั้นลำบากไหม รอยยิ้มอย่างคนอารมณ์ดีย่อมเป็นคำตอบอยู่แล้วในตัว แต่หากถามจี้ลงไป ย่ายิ้มก็จะตอบอย่างซื่อ ๆ ไม่ซับซ้อน ด้วยประโยคหนึ่งที่ติดปาก

    นิตยสารค.คน เคยถามย่ายิ้มว่า เดินลงเขาไปวัดไม่เหนื่อยหรือ ทางก็ยากลำบาก ไกลก็ไกล
    “ก็มันเคยเสียแล้วหนา” ย่ายิ้มตอบ
    อยู่คนเดียว มืดค่ำเจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีใครดูแล
    “ก็ไม่เคยเจ็บหรอกหนา ถ้าเป็นอะไร มันก็เคยเสียแล้วหนา”
    บางช่วงย่ายิ้มไม่มีข้าวกินเพราะฝนตกหนักลงมาเอาข้าวสารไม่ได้ ต้องขุดหัวกลอยมากิน อย่างนี้จะอิ่มหรือ
    “ก็มันเคยแล้วหนา”
    หม้อหุงใบเก่าย่ายิ้มใช้นานจนรั่ว จึงต้องตะแคงหุง หุงแบบนี้ไม่ลำบากหรือ
    “ก็มันเคยเสียแล้วหนา”

    “ก็มันเคยเสียแล้วหนา”คงไม่ใช่คาถาที่ย่ายิ้มใช้ปลอบใจตนเอง แต่เกิดจากความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ธรรมดาเพราะคิดเอาหรือเห็นจากชีวิตของคนอื่น แต่เป็นผลจากประสบการณ์ที่ผ่านความยากลำบากมามากจนไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาอีกต่อไป

    ดูเหมือนว่าความยากลำบากไม่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตของย่ายิ้มอย่างไร้ประโยชน์เลย ความยากลำบากทั้งปวงในอดีตได้ทำให้ย่ายิ้มเกิดความคุ้นเคยกับมัน จนไม่รู้สึกว่ามันเป็นความยากลำบากหรือความทุกข์อีกต่อไป จะเรียกว่ามันสร้างภูมิคุ้มกันความทุกข์ให้แก่ย่ายิ้มก็ได้

    คนทุกวันนี้คิดแต่จะหนีความทุกข์ แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด ก็หนีความทุกข์ไม่พ้น อย่าว่าแต่ความทุกข์ใจเลย แม้แต่ความทุกข์กาย เช่น ความยากลำบาก ก็ต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเจอแล้ว ก็มักจะทุกข์ใจตามมาเพราะยอมรับไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการพลัดพรากสูญเสียคนรักสิ่งรัก หรือประสบกับสิ่งที่ไม่สมหวังดั่งใจ เกิดขึ้นเมื่อใด ก็อดไม่ได้ที่จะตีโพยตีพาย ร่ำไรรำพัน นั่นก็เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ต่างจากคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ เพราะขาดภูมิคุ้มกันโรคเหล่านั้น

    ภูมิคุ้มกันโรคจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อร่างกายเคยสัมผัสกับเชื้อโรคดังกล่าวฉันใด ภูมิคุ้มกันความทุกข์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชีวิตเคยประสบกับความทุกข์มาก่อนฉันนั้น แต่อาจไม่ใช่แค่ครั้งเดียวเหมือนภูมิคุ้มกันโรค หากต้องเจอหลาย ๆ ครั้ง (เพราะใจมักจะขี้หลงขี้ลืม) ดังนั้นการประสบกับความทุกข์หรือความยากลำบาก จึงมิใช่เรื่องเลวร้ายอย่างเดียว แต่ก็ให้ประโยชน์แก่เราด้วย ในทางตรงข้ามการหลีกหนีความทุกข์อยู่เสมอ แม้จะทำได้สำเร็จก็มีโทษแฝงอยู่ เพราะทำให้เราขาดภูมิคุ้มกันความทุกข์ เมื่อใดที่หนีความทุกข์ไม่สำเร็จ ก็จะกลัดกลุ้มหรือเศร้าโศกทันที

    แต่จะกลัดกลุ้มเพียงใด ก็อย่าลืมว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์แก่เราเสมอ หากมองเห็นประโยชน์แล้วใช้ให้เป็น ก็ถือว่า “กำไร” แต่ถ้ามองไม่เห็น ก็ “ขาดทุน”สถานเดียว คือทุกข์ใจโดยไม่ได้อะไรเลย

    ความทุกข์ยากลำบากที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต นอกจากจะช่วยให้เราคุ้นเคยกับความทุกข์จนไม่หวั่นไหวกับมันแล้ว ยังทำให้เรามีกำลังใจที่จะก้าวข้ามความทุกข์ใหม่ ๆ ที่พลัดเข้ามา ในยามที่คร่ำครวญหรือเจ็บปวดเพราะความทุกข์เหล่านั้น หากเราย้อนรำลึกถึงวันเก่า ๆ ที่เราเคยผ่านพ้นความทุกข์แบบนั้นมาได้ ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าในที่สุดเราก็จะผ่านพ้นมาได้อีก เราอาจไม่ถึงกับรู้สึกเหมือนย่ายิ้มว่า “ก็มันเคยเสียแล้ว” แต่อย่างน้อยก็สามารถพูดกับตนเองได้ว่า “ก็เคยผ่านมาแล้ว” ดังนั้นครั้งนี้ก็จะผ่านได้เช่นกัน

    อย่าปล่อยให้ความทุกข์ผ่านเข้ามาในชีวิตเราอย่างไร้ประโยชน์ ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า “ป่วยทุกที ก็ฉลาดทุกที” นั่นคือเมื่อล้มป่วย ก็อย่ามัวแต่ร่ำไรคร่ำครวญ ควรมองว่าความเจ็บป่วยกำลังสอนธรรมแก่เราในเรื่องความผันผวนปรวนแปรของชีวิต ไม่มีอะไรแน่นอน เมื่อวานยังปกติดี แต่วันนี้กลับป่วยเสียแล้ว ความเจ็บป่วยยังสอนเราว่า ร่างกายนี้ไม่อยู่ในอำนาจของเราเลย จะสั่งให้มันไม่ป่วย มันก็ไม่ยอม ดังนั้นจะเรียกว่ามันเป็นของเราได้อย่างไร มองให้ดี ความเจ็บป่วยยังเตือนใจเราไม่ให้ประมาท ในเมื่ออะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน ในขณะที่ยังมีเวลาหรือเรี่ยวแรงอยู่ ก็ควรเร่งทำสิ่งสำคัญหรือสิ่งที่สมควรทำให้แล้วเสร็จ อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะหากผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็อาจไม่มีโอกาสทำสิ่งเหล่านั้น

    เงินหาย อกหัก งานล้มเหลว มองให้ดีก็มีประโยชน์ทั้งนั้น อย่างน้อยมันก็สอนให้เรารู้ว่าความไม่สมหวังเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่เราสามารถควบคุมให้เป็นไปดั่งใจเสียหมด มันยังเป็นเสมือนการบ้านที่ฝึกใจเราให้รู้จักปล่อยวาง เพราะถ้ายังยึดติดถือมั่น ก็จะทุกข์สองสถาน คือไม่ใช่หายแต่เงิน แต่ใจก็หายด้วย ไม่ใช่เสียแต่คนรัก แต่ยังสูญเสียชีวิตที่ปกติสุข เพราะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่เป็นอันทำอะไร ไม่ใช่เสียแต่งาน แต่ใจก็เสียด้วย รวมไปถึงสูญเสียความมั่นใจในตนเอง แต่ถ้ามองให้เป็น ความล้มเหลวก็ทำให้เกิดความกล้ามากขึ้น

    นักธุรกิจคนหนึ่งเล่าว่าเขาเคยกลัวความล้มเหลวมาก ไม่กล้าลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ แต่ต่อมาเขาเปลี่ยนใจ ยอมลงทุนในธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย แล้วสิ่งที่เขาหวาดกลัวก็เกิดขึ้น นั่นคือธุรกิจล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นสิ่งดีสำหรับเขาเพราะได้พบว่าเมื่อความล้มเหลวเกิดขึ้น ฟ้าก็ยังไม่ถล่ม โลกก็ยังไม่ทลาย มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เขาคิด นับแต่นั้นเขาก็เลิกกลัวความล้มเหลว และกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งในที่สุดได้นำความสำเร็จมาสู่ชีวิตของเขา

    ความยากลำบากและความไม่สมหวังนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น ถ้ามองว่ามันเป็นปัญหา ก็จะทุกข์ใจได้ง่าย อย่าว่าแต่เรื่องใหญ่ ๆ เลย แม้แต่สิวฝ้า รอยเหี่ยวย่น ผมหงอก ถ้ามองว่าเป็นปัญหา ก็สามารถทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ขาดความมั่นใจในตนเอง แต่หากเห็นว่ามันเป็นธรรมดา ถึงแม้จะทุกข์ยากลำบากอย่างย่ายิ้ม ก็ยังสามารถยิ้มได้อย่างอารมณ์ดี

    อะไรที่เป็นธรรมดาไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องทำอะไรกับมัน เจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาก็จริง แต่ก็สมควรเยียวยารักษา และหาทางป้องกันตามสมควร แต่ถึงจะเยียวยาไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ผล อย่างน้อยใจก็ไม่เป็นทุกข์ มีแต่กายเท่านั้นที่ทุกข์ พูดอีกอย่าง ถึงจะป่วยกาย แต่ใจไม่ป่วย ในทำนองเดียวกันแม้จะเจอความยากลำบาก มีแต่กายเท่านั้นที่ลำบาก ส่วนใจกลับสุขสบาย
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255404.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    44,779
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    เปิดใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อแสงเงินแสงทองทาทาบฟ้า พระออกบิณฑบาตได้พักใหญ่แล้ว อาจารย์จึงชวนศิษย์นับสิบเดินจงกรมรับอรุณ อาจารย์แนะให้ทุกคนเดินแต่ละก้าวอย่างมีสติ ปล่อยวางความคิดนึกต่าง ๆ ไม่ว่ามีอะไรมากระทบตา หู จมูก หรือกาย ก็สักแต่ว่ารู้ ไม่ปรุงแต่ง หากใจกระเพื่อม ยินดียินร้าย ก็ให้รู้ทัน ไม่หลุดลอยจากปัจจุบัน รับรู้แต่ละก้าวที่เดิน

    สองข้างทางเป็นทุ่งหญ้าสลับไร่มันสำปะหลัง จิ้งหรีด จักจั่น ส่งเสียงระงมไม่ขาดสาย มีเสียงนกร้องเป็นระยะ ๆ ขณะที่ลมเย็นพัดมาเบา ๆ บรรยากาศน่ารื่นรมย์ เมื่อเดินจงกรมเสร็จ อาจารย์ถามศิษย์ว่าระหว่างที่เดินจงกรม มีใครได้ยินเสียงจิ้งหรีดจักจั่นบ้าง มากกว่าครึ่งตอบว่าไม่ได้ยินเลย ทั้ง ๆ ที่เดินเกือบชั่วโมง เมื่อถามถึงสาเหตุ ทุกคนตอบว่า คิดตลอดทาง บางคนเป็นห่วงบ้าน บางคนนึกถึงงานที่คั่งค้างอยู่


    แม้เราฟังด้วยหู แต่จะได้ยินก็ต้องอาศัยใจด้วย หากใจมัวหมกมุ่นครุ่นคิด ก็อาจไม่ได้ยินสรรพสำเนียงรอบตัว หนึ่งในนั้นอาจเป็นเสียงที่ไพเราะจรรโลงใจ เราเคยคิดหรือไม่ว่าในแต่ละวันเสียงไพเราะเพราะพริ้งที่ผ่านหูเราแล้วเลยออกไปโดยไม่สัมผัสใจเรามีมากมายเพียงใด

    เช้าวันหนึ่งที่สถานีรถไฟใต้ดินกรุงวอชิงตันเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว มีชายผู้หนึ่งสีไวโอลินบรรเลงเพลงคลาสสิคประมาณ ๔๕ นาที ภาพนี้เป็นภาพที่คุ้นตาของผู้คนที่นั่น เพราะมีวณิพกมาเล่นดนตรีเป็นประจำ ผ่านไป ๔ นาทีจึงมีผู้หญิงคนหนึ่งโยนเงินใส่หมวกของเขาที่วางอยู่บนพื้น แต่ก็ไม่ได้หยุดฟัง อีก ๖ นาทีต่อมามีเด็ก ๓ ขวบคนหนึ่งหยุดฟัง แต่ถูกแม่ดึงออกไป หลังจากนั้นมีเด็กอีกหลายคนสนใจฟัง แต่ก็ถูกผู้ปกครองลากตัวออกไปเพื่อขึ้นรถใต้ดินให้ทัน เมื่อเขาสีไวโอลินจบ มีคนเดินผ่านเขามากกว่า ๑,๐๐๐ คน แต่มีเพียง ๗ คนเท่านั้นที่หยุดฟังเพลง กระนั้นก็สนใจแค่ประเดี๋ยวประด๋าว มี ๒๗ คนที่ให้เงินเขาแต่ก็ยังเดินต่อไป เช้าวันนั้นเขาได้เงินทั้งหมด ๓๒ ดอลลาร์ ไม่มีใครสังเกตว่าเขาหยุดบรรเลงเพลงเมื่อใด ไม่มีเสียงปรบมือ เพราะไม่มีใครสนใจเขาเลย

    ไม่มีใครสังเกตว่าวณิพกผู้นั้นคือ โจชัว เบลล์ (Joshua Bell) นักดนตรีชื่อก้องโลก เขาบรรเลงเพลงของบ๊าคซึ่งได้รับการยกย่องว่าไพเราะลุ่มลึกอย่างยิ่ง ไวโอลินที่เขาใช้มีราคาสูงเกือบ ๔ ล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านั้นแค่ ๒ วันเขาเปิดการแสดงสดที่บอสตัน บัตรราคาเฉลี่ย ๑๐๐ เหรียญขายหมดเกลี้ยง

    การทดลองดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นโดยหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ชี้ให้เห็นว่า อย่าว่าแต่เสียงธรรมชาติที่คุ้นหูเลย แม้แต่เสียงเพลงอันไพเราะจากนักดนตรีระดับโลก ผู้คนจำนวนมากก็ไม่ได้ยิน หรือได้ยินแค่เสียง แต่ใจไม่สามารถสัมผัสรับรู้ถึงความเพราะพริ้งได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ เป็นเพราะทุกคนต่างเร่งรีบ ในใจมัวครุ่นคิดอยู่กับการเดินทาง หรือไม่ก็กังวลกับเรื่องงาน จึงปิดรับสุนทรียรสที่ปรากฏต่อหน้า (น่าสังเกตว่าเด็กหลายคนกลับรู้สึกว่าเพลงของเขาไพเราะจนหยุดฟัง นั่นคงเป็นเพราะเด็กเหล่านั้นใจไม่ “วุ่น” เหมือนผู้ใหญ่)

    มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรามากมายในแต่ละวัน แต่บ่อยครั้งเรากลับปิดใจไม่รับรู้สิ่งเหล่านั้น เพราะวุ่นอยู่กับเรื่องราวในอดีตหรือกังวลกับอนาคต หลายคนมุ่งมั่นแต่จะไปให้ถึงจุดหมายข้างหน้า จนลืมมองว่ารอบตัวนั้นงดงามเพียงใด

    ประมวล เพ็งจันทร์ ซึ่งเคยเดินเท้าจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุยบ้านเกิดโดยไม่พกเงินแม้แต่บาทเดียว เล่าว่าคราวหนึ่งได้เดินขึ้นดอยอินทนนท์ วันนั้นรู้สึกเหนื่อยมาก ใกล้จะถึงยอดดอยก็หมดแรง หายใจแทบไม่ออก รู้สึกราวกับจะขาดใจตาย จึงนอนแผ่แน่นิ่ง กระทั่งมีคนเห็นและรับขึ้นรถไปถึงยอดดอย

    เมื่อได้พักผ่อนเต็มที่ เรี่ยวแรงกลับมา เขาก็เดินลงมาอย่างช้า ๆ ตอนนี้เองที่เพิ่งสังเกตว่าทัศนียภาพตลอดเส้นทางงดงามมาก เขาหยุดเป็นพัก ๆ เพื่อชื่นชมธรรมชาติรอบตัวและทิวทัศน์อันกว้างไกล จิตใจเบิกบานเป็นอย่างยิ่ง จนอดรำพึงในใจไม่ได้ว่า “มหัศจรรย์”

    แล้วเขาก็ฉุกคิดขึ้นมาว่าเหตุใดตอนขาขึ้นจึงไม่เห็นความงดงามเหล่านี้เลย นั่นเป็นเพราะจิตใจตอนนั้นคิดถึงแต่ยอดดอยอันเป็นจุดหมายปลายทางที่จะต้องไปให้ถึง

    ความคิดนั้นเมื่อครอบงำจิตเมื่อใด ก็สามารถปิดกั้นใจไม่ให้รับรู้ความงามได้ ใครที่จมอยู่กับความคิด จึงไม่ได้ยินเสียงอันไพเราะ มองไม่เห็นธรรมชาติอันรื่นรมย์ จะว่าไปแล้ว ไม่แต่ความงามเท่านั้น ความจริงก็อาจถูกปิดกั้นเพราะความคิดด้วยเช่นกัน

    วันหนึ่งขณะที่ “อ้วน”กับเพื่อนขึ้นสะพานคนเดินย่านวงเวียนใหญ่ เธอสังเกตเห็นธนบัตร ๑,๐๐๐ บาท ๓ ใบตกอยู่บนพื้น จึงชี้ให้เพื่อนดู แต่แทนที่เธอจะเดินไปหยิบ กลับพูดว่า “แบ๊งค์ปลอมแหง ๆ ไม่งั้นก็ต้องมีคนหยิบไปแล้ว” เพื่อนจึงเป็นฝ่ายเดินไปหยิบเอง ปรากฏว่าเป็นธนบัตรจริง เธอจึงรู้สึกเสียดายที่ปล่อยให้โชคหลุดมือไป แต่เพื่อนยังใจดีแบ่งให้เธอ ๑,๐๐๐ บาท

    ธนบัตรจริงตกอยู่ต่อหน้าต่อตา แต่อ้วนกลับมองเห็นเป็นแบ็งค์ปลอม เพราะติดยึดกับความคิดที่ว่าไม่มีใครปล่อยให้ของจริงหลุดมือไป ความคิดนี้แม้จะดูมีเหตุผล แต่ก็เป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ไม่มีคนหยิบธนบัตรไปก็เพราะมองไม่เห็นเนื่องจากใจลอย หรือไม่ก็คิดแบบเดียวกับเธอ ความคิด เหตุผล กับความจริงนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ถ้าติดยึดกับความคิดหรือเหตุผลมากไป ก็อาจมองไม่เห็นความจริง หรือปฏิเสธหัวชนฝา

    ความคิดใดก็ตาม หากเรายอมให้มันครองใจ มันก็ดูเหมือนจะมีชีวิตของมันเอง มันพยายามทุกอย่างเพื่อปกป้องตัวเอง แม้ความจริงปรากฏต่อหน้าต่อตา แต่ถ้าสวนทางกับความคิดนั้น มันสามารถสรรหาเหตุผลร้อยแปดหรือใช้อุบายนานัปการเพื่อไม่ให้เรายอมรับความจริงนั้น (เช่น ทำให้ความจริงนั้นไม่น่าเชื่อถือ) เพราะถ้าเรายอมรับความจริงดังกล่าว ความคิดนั้น ๆ ก็อยู่ไม่ได้

    เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนมากมายที่ไม่เชื่อว่าโลกกลม คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในป่าอเมซอนหรือเกาะนิวกีนี แต่อยู่ในประเทศที่เจริญอย่างยุโรปและอเมริกา ในประเทศอังกฤษมีคนตั้ง “สมาคมโลกแบน” เพื่อยืนยันความคิดนี้ โดยมีสมาชิกไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ คน ผู้ก่อตั้งสมาคมนี้ปักใจเชื่อว่าโลกแบนเพราะมั่นใจว่าคัมภีร์ไบเบิลบอกเช่นนั้น ดังนั้นจึงไม่ยอมรับหลักฐานทุกอย่างที่ชี้ว่าโลกกลม แม้แต่ภาพถ่ายจากยานอวกาศที่ชี้ชัดว่าโลกกลม ก็ไม่ทำให้เขาเปลี่ยนใจได้ เขาให้เหตุผลว่า “ภาพแบบนี้สามารถหลอกตาคนดูที่ไม่มีความรู้ได้”

    ความคิดไม่เพียงปิดกั้นความงามและความจริงเท่านั้น หากยังสามารถปิดกั้นความสุขได้ด้วย ความสุขมิใช่เป็นสิ่งที่อยู่ไกลตัว หากมีอยู่รอบตัว อีกทั้งมีอยู่กับตัวเราตลอดเวลา คนเป็นอันมากไม่มีความสุขก็เพราะใจไม่เปิดรับความสุขหรือมองไม่เห็นความสุขดังกล่าว การมีสุขภาพดีจัดว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงความสุขดังกล่าวเพราะใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นที่ไกลตัว เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ตราบใดที่ยังไม่ได้สิ่งเหล่านั้นมาก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ แต่เมื่อใดก็ตามที่ป่วยหนัก จะรู้เลยว่าสุขภาพนั้นเป็นความสุขที่มีค่ากว่าสิ่งเหล่านั้นเสียอีก ในทำนองเดียวกัน การมีคนรักหรือผู้มีพระคุณอยู่ใกล้ตัวก็จัดว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่ผู้คนมักมองไม่เห็นเพราะใจมัวครุ่นคิดกับการไขว่คว้าล่าฝันหรือจมปลักอยู่กับวันวาน

    แม้บางครั้งชีวิตจะลำบากยากเข็ญ แต่ทุกวันก็ยังมีความสุขให้เราสัมผัสได้รอบตัว อยู่ที่ว่าเราจะเปิดใจรับหรือไม่ ถ้าไม่จ่อมจมกับความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ก็มีโอกาสเบิกบานและเป็นสุขได้ไม่ยาก ประมวล เพ็งจันทร์ได้เล่าถึงความประทับใจตอนหนึ่งระหว่างจาริกในอินเดีย ตอนนั้นเขาตั้งใจจะเดินเท้าจากสารนาถไปกรุงพาราณสีซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๑๔ กม. เดินได้สักพักก็มีสามล้อถีบขับตาม พยายามรบเร้าให้เขาขึ้นนั่ง เขาปฏิเสธอยู่นาน แต่ตอนหลังทนการรบเร้าของสามล้อไม่ได้ จึงยอมใช้บริการ ระหว่างทางสามล้อเล่าว่าเขาหาเงินไม่ได้มา ๓ วันแล้ว วันนี้ถ้ายังหาเงินไม่ได้อีก เขาไม่รู้จะกลับบ้านอย่างไร เพราะไม่มีเงินซื้ออาหารลูกทั้ง ๓ คน ฟังแล้วน่าสงสารมาก

    วันนั้นอากาศร้อนมาก แดดแรง ระยะทางก็ไกล เขาถีบสามล้อจนเหงื่อโทรมกาย เห็นแล้วยิ่งน่าเห็นใจ แต่มีช่วงหนึ่งที่ลมเย็นพัดผ่านมา ทันใดนั้นเขาก็กางมือออกแล้วชูขึ้น พร้อมกับกล่าวคำขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานความเย็นมาให้ แม้จะเห็นเขาแต่ด้านหลัง แต่ประมวลรู้สึกได้ทันทีว่าเขามีความสุขมาก

    น่าคิดว่าหากสามล้อผู้นี้ครุ่นคิดถึงเคราะห์กรรมและความยากลำบากของตน เขาคงไม่รับรู้ถึงลมเย็นที่มาปะทะ และคงปล่อยให้โอกาสแห่งความสุขผ่านเลยไป แม้ว่าความสุขดังกล่าวจะดูเหมือนเล็กน้อย แต่ก็สามารถชูใจให้เบิกบานและมีกำลังได้ ที่สำคัญก็คือความสุขแบบนี้หาง่ายและเกิดขึ้นได้ทุกเวลา สามล้อผู้นี้ไม่ยอมปล่อยใจจมปลักแห่งความทุกข์ จึงสามารถเก็บเกี่ยวความสุขที่วิ่งเข้ามาหาได้ตลอดเวลา ใช่หรือไม่ว่านี้คือกำไรชีวิตที่ผู้คนส่วนใหญ่ละเลยไป

    การเปิดใจรับความเป็นจริงที่ปรากฏต่อหน้า มิใช่อะไรอื่น หากคือการเชื้อเชิญ ความสุข ตลอดจนความงาม และความจริงให้มานั่งในใจเรา จริงอยู่บางครั้งความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมิใช่สิ่งที่น่ารื่นรมย์ เป็นความพลัดพรากสูญเสียอันไม่พึงประสงค์ แต่การปฏิเสธ ขัดขืน ต่อต้านมัน กลับจะทำให้เราทุกข์มากขึ้น คนที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เขาไม่ได้ทุกข์กายเท่านั้นแต่ยังทุกข์ใจด้วย ตรงกันข้ามกับคนที่ยอมรับโรคดังกล่าว มีแต่กายเท่านั้นที่ป่วย แต่ใจไม่ป่วยด้วย ใจที่ไม่ป่วยนี้แหละที่สามารถชื่นชมความสุขที่มีอยู่รอบตัวได้

    กนกวรรณ ศิลป์สุข เป็นโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่เกิด ร่างกายจึงอ่อนแอมาก หมอเคยคาดการณ์ว่าเธอจะมีอายุไม่ถึง ๒๐ปี แต่ปัจจุบันเธอมีอายุเกือบ ๓๐ ปีแล้ว แม้ว่าจะมีโรคภัยนานาชนิดรุมเร้า แต่เธอก็มิใช่คนอมทุกข์ ความที่เธอยอมรับความจริงได้ ไม่ก่นด่าชะตากรรม ใจของเธอจึงเปิดกว้าง สามารถสัมผัสความสุขได้รอบตัว เธอเคยพูดว่า “เลือดเราอาจจะจาง จะแย่หน่อย แต่เราก็ยังมีตาเอาไว้มองสิ่งที่สวย ๆ มีจมูกไว้ดมกลิ่นหอม ๆ มีปากไว้กินอาหารอร่อย ๆ แล้วก็มีร่างกายที่ยังพอทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะมีความสุข”

    การเปิดใจรับความเป็นจริงที่อยู่ต่อหน้า คือการอยู่กับปัจจุบัน รับรู้ถึงความสดใหม่ในแต่ละขณะ ไม่จมอยู่ในโลกของความคิด อีกทั้งไม่อาลัยในอดีตหรือกังวลกับอนาคต การเปิดใจรับความเป็นจริงยังหมายถึงการรับรู้สิ่งต่าง ๆ โดยไม่ปล่อยให้อคติหรือความพอใจ-ไม่พอใจเข้ามาครอบงำ เมื่อรับรู้สิ่งใด ก็รับรู้อย่างมีสติ ไม่ปล่อยให้ความชอบความชังขึ้นมาเป็นใหญ่ อีกทั้งไม่มีความคิดล่วงหน้าหรือความคาดหวังมาขวางกั้นสิ่งที่ได้รับรู้

    การเปิดใจให้ว่าง พร้อมรับความเป็นจริงทุกขณะ มิได้มีคุณค่าต่อชีวิตที่ผาสุกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ราบรื่นด้วย ใช่หรือไม่ว่าความสัมพันธ์ของผู้คนร้าวฉานก็เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ฟังกัน หรือถึงจะฟังแต่ก็ไม่ได้ยิน เพราะในใจนั้นเต็มไปด้วยอคติหรือความคิดล่วงหน้า แต่เมื่อใดที่ต่างฝ่ายเปิดใจฟังกันมากขึ้น ก็จะพบว่าอีกฝ่ายไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตัวเองคิด

    ในการอบรมคราวหนึ่ง น.พ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ได้ชวนคู่ขัดแย้งคือหมอฟันกับผู้ช่วยมาคุยกัน โดยมีกติกาว่าเมื่อคนหนึ่งพูด อีกฝ่ายเป็นผู้ฟังอย่างเดียว ห้ามพูดแทรก และเมื่อพูดจบแล้ว ให้ผู้ฟังพูดทวนความว่าได้ยินอีกฝ่ายพูดอะไรบ้าง หากทวนความไม่ถูกต้อง ก็จะต้องพูดใหม่ จนกว่าผู้พูดจะพอใจ

    ผู้ช่วยเป็นฝ่ายพูดก่อน เมื่อพูดจบ หมอฟันก็ทบทวนสิ่งที่ผู้ช่วยพูดได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อถึงคราวที่หมอฟันเป็นฝ่ายพูดบ้าง ผู้ช่วยไม่สามารถทวนความได้ถูกต้อง หมอฟันต้องพูดซ้ำเป็นครั้งที่สอง แต่ผู้ช่วยก็ยังทวนความไม่ถูกอยู่ดี จนกระทั่งหมอฟันพูดครั้งที่สาม ผู้ช่วยจึงสามารถเล่าได้ถูกต้องว่าหมอฟันพูดอะไรบ้าง

    อะไรทำให้ผู้ช่วยไม่สามารถทวนความได้อย่างถูกต้อง เขาอธิบายในภายหลังว่าตอนที่ฟังหมอฟันพูดนั้น ในใจเขาคิดแต่จะเถียงหมอฟันอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ได้ยินว่าหมอฟันพูดอะไร ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าเมื่อได้ฟังซึ่งกันและกันอย่างแท้จริงแล้ว ก็เข้าใจและเห็นใจกันมากขึ้น หมอฟันถึงกับพูดว่าถ้าตนเองเป็นผู้ช่วยหมอฟันก็อาจจะทำและคิดแบบเดียวกับผู้ช่วยที่เป็นคู่กรณีก็ได้

    เรามองด้วยตา ฟังด้วยหู แต่อย่าลืมว่าเรารับรู้ด้วยใจ ถ้าใจไม่เปิด เราก็จะได้ยินและเห็นตามการปรุงแต่งของความคิดและอคติ ซึ่งสามารถกักขังเราให้ติดอยู่ในความทุกข์และความหลงได้ยาวนาน
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255212.htm

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    44,779
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    คืนสู่สามัญ
    รินใจ
    ๔๐ ปีที่แล้วมนุษย์คนแรกได้ไปเหยียบดวงจันทร์ โดยมีผู้คนหลายร้อยล้านทั่วโลกร่วมเป็นประจักษ์พยานทางจอโทรทัศน์ หลังจากนั้นมีอีก ๕ คณะที่ลงไปเดินบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ต่างร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่มนุษยชาติ แต่เมื่อถึงปี ๒๕๑๕ การส่งคนไปสำรวจดวงจันทร์ได้ยุติ นั่นหมายความว่าตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า ๒ แสนปีที่มีมนุษย์ยุคใหม่เกิดขึ้นในโลก มีเพียง ๒๔ คนเท่านั้นที่เคยเดินทางไปยังดวงจันทร์ และมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เท้าได้สัมผัสพื้นดวงจันทร์

    ทั้ง ๒๔ คนนั้นได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ (อย่างน้อยก็ของชาวอเมริกัน) เป็นที่รู้จักทั่วทั้งโลก และแน่นอนว่าได้รับจากจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ แต่ก็เช่นเดียวกับดวงจันทร์ที่คนบนพื้นโลกมีโอกาสได้เห็นเพียงด้านเดียวเท่านั้น เรื่องราวของนักบินอวกาศกลุ่มนี้อยู่ในสายตาของคนทั้งโลกก็เฉพาะตอนที่พวกเขาเดินทางไปยังดวงจันทร์แล้วกลับมายังโลกได้สำเร็จ แต่ชีวิตของพวกเขาหลังจากนั้นแทบไม่มีใครรับรู้ ราวกับซ่อนอยู่ในด้านมืดของดวงจันทร์


    นักบินอวกาศเกือบทุกคนพบว่า ส่วนที่ยากที่สุดในชีวิตมิใช่การเสี่ยงอันตรายไปยังดวงจันทร์ แต่กลับเป็นตอนที่กลับมายังโลกแล้ว ชีวิตหลังกลับจากดวงจันทร์นั้นเป็นส่วนที่ปรับตัวได้ยากที่สุด ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาได้กลายเป็นคนเด่นคนดังที่ใคร ๆ ก็รู้จัก แต่เป็นเพราะว่าหลังจากที่ฉลองความสำเร็จ ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ ได้รับเชิญไปออกโทรทัศน์ และโด่งดังไปพักใหญ่ พวกเขาก็กลับมาเป็นคนธรรมดา ที่ไม่ได้รับความสนใจอีกต่อไป

    ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา นี้เป็นความจริงที่แสนธรรมดา แต่การทำใจยอมรับความจริงนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นจุดเด่นในงานเลี้ยง เจมส์ โลเวลล์ (James Lovell) ผู้บัญชาการยานอพอลโล ๑๓ (ซึ่งมีชื่อเสียงจากภารกิจที่ล้มเหลวในการเหยียบดวงจันทร์แต่พาทุกคนกลับมายังพื้นโลกได้อย่างปลอดภัย) ถอดประสบการณ์ของตัวเองมาพูดเมื่อเขาแนะเพื่อนคนหนึ่งซึ่งได้รับความชื่นชมอย่างล้นหลามจากงานเขียนของเขาว่า “จำไว้นะว่าคุณยืนอยู่ตรงไหนเมื่อสปอตไลท์ดับ เพราะ(หลังจากนั้น)คุณต้องหาทางลงจากเวทีเอาเอง”

    เจมส์ โลเวลล์ก็เช่นเดียวกับเพื่อนในกลุ่ม ที่พบว่า ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับแสงสีบนเวที จู่ ๆ สปอตไลท์ก็ดับอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว กว่าจะคลำเจอทางลงจากเวทีได้ก็ใช้เวลานาน และใช้เวลานานกว่านั้นกว่าจะทำใจได้ว่า เวลาอันแสนสั้นบนเวทีนั้นจบลงแล้ว แต่ถ้าใครยังหลงใหลความเย้ายวนของแสงสีบนเวที เขาก็ต้องจมอยู่กับความเศร้าสร้อยสถานเดียว

    อย่างไรก็ตามความโด่งดังเพียงชั่วครู่ ยังไม่เป็นปัญหามากเท่ากับการพบความจริงว่า ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของคุณนั้นสิ้นสุดลงแล้ว นักบินอวกาศทุกคนถูกเคี่ยวกรำอย่างหนักทั้งทางกายและจิตใจติดต่อกันหลายปีเพื่อภารกิจประการเดียวเท่านั้นคือไปถึงดวงจันทร์ให้ได้แล้วกลับมาอย่างปลอดภัย พวกเขาทุ่มเททุกอย่างและพร้อมเสี่ยงอันตรายทุกรูปแบบเพราะตระหนักดีว่าภารกิจของตนนั้นมีความสำคัญต่อประเทศชาติและมนุษยชาติมากเพียงใด ทุกคนย่อมดีใจสุดซึ้งเมื่อสามารถทำภารกิจดังกล่าวได้สำเร็จ ไม่มีอะไรในชีวิตที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว แต่หลังจากนั้นล่ะ......

    นักบินอวกาศเหล่านี้ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๔๐ นั่นหมายความว่าเขาต้องใช้อีกครึ่งชีวิตที่เหลืออยู่กับความจริงที่ว่าวันเวลาอันยิ่งใหญ่อย่างนั้นไม่มีอีกแล้ว สำหรับคนส่วนใหญ่ นี้คือความจริงอันเจ็บปวดที่ยากจะทำใจได้ บางคนไม่ทันรอให้ผ่านข้ามปีด้วยซ้ำ เดวิด สก็อตต์ (David Scott) ผู้บัญชาการอพอลโล ๑๕ เล่าความในใจว่า ไม่กี่วันหลังกลับจากภารกิจอันยิ่งใหญ่บนดวงจันทร์ เมื่อมาพบตัวเองอยู่ในลานหน้าบ้านขณะที่เพื่อนจัดงานเลี้ยงย่อม ๆ ให้ เขาอดคิดในใจไม่ได้ว่า “ ตูมาทำอะไรอยู่ที่นี่ (วะ)?”

    เกือบทุกคนใฝ่ฝันที่จะกลับไปทำภารกิจอันยิ่งใหญ่อีก แต่เมื่อโครงการสำรวจดวงจันทร์ยุติลงในปี ๒๕๑๕ ความฝันดังกล่าวก็ปิดฉากลงอย่างสนิท หลายคนทำใจไม่ได้ที่จะกลับไปทำงานเดิม (เช่น ออกแบบเครื่องบิน หรือทำงานจัดการ)อย่างที่เคยทำก่อนมาเป็นนักบินอวกาศ เพราะรู้สึกว่ามันธรรมดาเกินไป คนเหล่านี้โหยหาภารกิจที่ยิ่งใหญ่และท้าทายอย่างที่เคยทำ แต่เมื่อไม่พบว่ามีอะไรมาแทนที่ได้ จึงรู้สึกว่างเปล่าในชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจที่บางคนติดเหล้างอมแงมแถมซึมเศร้า เช่น บั๊ซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ซึ่งเหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่สองถัดจากนีล อาร์มสตรอง ขณะที่หลายคนหันไปเอาดีทางการเมือง ซึ่งเป็นงานที่ตื่นเต้น ท้าทาย และมีความหมาย แต่ก็เทียบไม่ได้กับภารกิจบนดวงจันทร์

    “การกลับลงมาจากยานอพอลโลเป็นเรื่องหิน” ชาร์ลี ดุ๊ค (Charlie Duke)นักบิน
    อพอลโล ๑๖ เคยกล่าวไว้ บั๊ซ อัลดริน ก็แสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า “การเปลี่ยนจาก “นักบินอวกาศที่เตรียมตัวทำสิ่งยิ่งใหญ่ให้สำเร็จ” มาเป็น “นักบินอวกาศที่เล่าถึงสิ่งยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายที่ได้ทำ” ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายสำหรับผมเลย” ดูเหมือนจะมีไม่กี่คนที่พอใจหรือปรับใจได้กับการกลับมาดำเนินชีวิตอย่างธรรมดาสามัญ และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

    การเดินทางไปให้ถึงดวงจันทร์นั้นเป็นเรื่องยาก แต่ที่ยากกว่าก็คือการกลับมายังโลก และเดินเหินอยู่บนพื้นโลกอย่างมีความสุข ใช่หรือไม่ว่า เรื่องราวของนักบินอวกาศเหล่านี้ยังบอกเรามากกว่านั้นว่า การขับเคี่ยวให้บรรลุถึงความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องยากก็จริง แต่ที่ยากกว่าก็คือการเดินลงมาจากความสำเร็จแล้วยังยิ้มได้ ไม่ว่าความสำเร็จนั้นจะมาในรูปของภารกิจอันยิ่งใหญ่ แชมป์เหรียญทอง ดารายอดนิยม นักเขียนมือรางวัล หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ตาม

    คนเก่งที่พากเพียรจนบรรลุความสำเร็จสูงสุดในชีวิตนั้นมีมาก แต่ที่มีน้อยมากก็คือคนที่พร้อมกลับมาเดินดินเหมือนคนทั่วไปได้ ทั้งนี้ก็เพราะความสำเร็จนั้นมีเสน่ห์ มันทำให้เราเป็นคนพิเศษที่ไม่เหมือนใคร จึงทำให้อัตตาพองโต อัตตานั้นเสพติดความสำเร็จ โดยเฉพาะเมื่อมันมาพร้อมกับชื่อเสียงเกียรติยศ จึงทำใจไม่ได้เมื่อต้องเหินห่างจากความสำเร็จนั้น หลังจากที่พ้นตำแหน่งประธานาธิบดีไปได้ ๗ ปี บิล คลินตันก็ยังยอมรับว่าเขายังทำใจได้ยากที่กลายมาเป็นราษฎรเต็มขั้น “คิดดูสิว่าตอนผมเป็นประธานาธิบดี เขาจะบรรเลงเพลงทุกครั้งที่ผมเดินเข้าห้อง (แต่ตอนนี้) ไม่มีใครบรรเลงเพลงอีกแล้ว ผมไม่รู้เลยว่าผมอยู่ที่ไหน”

    งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา ไปถึงดวงจันทร์แล้วก็ต้องกลับมายังพื้นโลก ไม่มีใครที่ขึ้นเขาสูงแล้วจะอยู่บนนั้นไปตลอด หากต้องกลับมายังพื้นดิน ฉันใดก็ฉันนั้น ความสำเร็จ รวมทั้งความมั่งคั่ง ชื่อเสียง เกียรติยศ และตำแหน่งหน้าที่ (ซึ่งเป็นนิยามของความสำเร็จในยุคนี้) ล้วนเป็นของชั่วคราว ถ้าใครยึดติดถือมั่นสิ่งเหล่านี้ ย่อมเป็นทุกข์ในที่สุด เพราะไม่ช้าก็เร็วมันก็จะหลุดจากมือของเขาไป หาไม่ก็มีคนอื่นแย่งชิงไป ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็ต้องคลายความยึดติดถือมั่น ระลึกอยู่เสมอว่ามันเป็นของไม่จีรังยั่งยืน

    องค์การนาซ่ายอมรับในภายหลังว่าเน้นแต่การฝึกฝนขับเคี่ยวให้นักบินอวกาศมีความพร้อมทั้งกายและใจเพื่อไปถึงดวงจันทร์ให้ได้ แต่ลืมที่จะเตรียมใจนักบินเหล่านั้นเมื่อกลับมาถึงพื้นโลกแล้ว (“ผมเดาว่าพวกเขาคงคิดว่าเราโตแล้ว” เจมส์ โลเวลล์พูดถึงองค์การนาซ่า) ที่เป็นเช่นนี้คงเพราะเข้าใจว่าการกลับมาเดินเหินบนพื้นโลกเป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ ก็คิดเช่นนั้น จึงไม่เคยเตรียมใจรับมือกับการก้าวลงจากความสำเร็จ (ไม่ว่าลงเองหรือถูกเชิญลง) แผงหนังสือจึงมีแต่คู่มือสู่ความสำเร็จ แต่ไม่มีคู่มือสำหรับลงจากความสำเร็จเลยสักเล่ม

    ยอดดอยไม่ใช่จุดเดียวเท่านั้นที่จะเห็นทัศนียภาพได้งดงามที่สุด ยามลงเขาหากเปิดใจกว้าง ไม่หวนหาอาลัยความงามบนยอดดอย ก็จะพบว่ารอบตัวมีธรรมชาตินานาพรรณอันงดงามรอการชื่นชมจากเรา การลงจากความสำเร็จก็เช่นกัน มันหาใช่อวสานของวันคืนอันชื่นบานไม่ หากเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขอย่างใหม่ ที่ไม่ต้องพึ่งพาเสียงตบมือของผู้คน หรือแสงไฟบนเวที หากวางใจเป็น ก็จะเห็นความสุขที่แท้ในใจเรา เป็นความสุขที่เบ่งบานในยามสงบสงัด เมื่อวางภาระทุกอย่างออกจากใจ มีแต่ความโปร่งเบา เพราะตื่นรู้ในปัจจุบัน ในยามนั้นแม้แต่ดวงจันทร์กลางค่ำคืนก็ให้ความสุขแก่เราอย่างลึกซึ้งได้ โดยไม่ต้องขึ้นไปถึงบนนั้นเลย ถึงตอนนั้นเราจะซาบซึ้งยิ่งกับถ้อยคำของท่านติช นัท ฮันห์ ว่า “การเดินบนพื้นโลกคือปาฏิหาริย์”
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255211.htm

     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    44,779
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    veylangh.jpg
    ตามรอยท่านเว่ยหล่าง

    พระไพศาล วิสาโล
    ท่านเว่ยหล่างเป็นปรมาจารย์ที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งของพุทธศาสนาในประเทศจีน อีกทั้งยังได้รับการยกย่องอย่างมากในญี่ปุ่น เนื่องจากเซนที่สืบทอดมานานนับพันปีในประเทศนั้นไม่ว่าสายไหนก็ล้วนมีท่านเป็นต้นธาร เนื่องจากคำสอนของท่านมุ่งสู่การบรรลุธรรมแบบ “ฉับพลัน” ซึ่งมีลักษณะพิเศษเป็นแบบฉบับของท่านเอง

    ชีวประวัติของท่านน่าสนใจด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ ท่านบรรลุธรรมทั้ง ๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก อีกทั้งได้รับมอบตำแหน่งสังฆปริณายกองค์ที่ ๖ ของนิกาย “ฉาน” ( หรือ “เซน”ในญี่ปุ่น) ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นฆราวาสและเป็นแค่คนงานในวัดเท่านั้น กว่าท่านจะได้อุปสมบทก็ผ่านไปอีกหลายปี หลังจากที่ต้องหลบลี้หนีภัยจากฝ่ายตรงข้ามที่อิจฉาท่านเป็นเวลานาน

    ท่านเว่ยหล่างเกิดเมื่อพ.ศ.๑๑๘๑ สมัยราชวงศ์ถัง อันเป็นยุคทองของพุทธศาสนาในจีน ท่านมรณภาพเมื่อพ.ศ. ๑๒๕๖ แม้เวลาจะผ่านไปร่วม ๑,๓๐๐ ปี แต่เรื่องราวของท่านยังเป็นตำนานที่เล่าขานในหมู่ชาวพุทธจีนกระทั่งปัจจุบัน ใช่แต่เท่านั้นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับประวัติของท่านตั้งแต่กำเนิดจนมรณภาพ ก็ยังมีการอนุรักษ์ไว้ สำหรับคนไทยแล้ว เรื่องแบบนี้ย่อมไม่ธรรมดา เพราะอย่าว่าแต่บุคคลเมื่อพันปีที่แล้วเลย แค่บุคคลเมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้วอย่างหลวงพ่อโต พรหมรังสี บ้านที่ท่านเกิดอยู่ตรงไหน ก็ไม่มีใครรู้

    สถานที่ท่านเว่ยหล่างสมภพและมรณภาพนั้นอยู่ไม่ไกลจากกวางโจว อีกทั้งวัดที่ท่านอุปสมบทก็อยู่ในเมืองกวางโจว ดังนั้นหลังจากเสร็จงานสอนกรรมฐานที่เมืองโฝกัง มณฑลกวางตุ้ง ข้าพเจ้าพร้อมกับกัลยาณมิตรชาวไทยเห็นพ้องต้องกันว่าไม่มีอะไรดีกว่าการไปเยี่ยมเยือนสถานที่เหล่านั้น เป็นการตามรอยท่านและจาริกบุญกลาย ๆ โดยมีคุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ซึ่งมีความรู้รอบเกี่ยวกับปรมาจารย์ท่านนี้ เป็นมัคคุเทศก์

    ตอนที่คุณนริศแนะนำให้ไปเยือนหมู่บ้านที่ท่านเว่ยหล่างเกิดนั้น ในใจคิดว่าเป็นเมืองเล็ก ๆ แบบบ้านนอก แต่ที่ไหนได้ซินซิงเป็นเมืองใหญ่เอาการ (แม้กระนั้นมัคคุเทศก์ชาวจีนก็บอกว่านี้เป็นเมืองเล็ก ๆ ประชากร “แค่” ๔ แสนคนเท่านั้น) จัดว่าเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองหยวินฝูในมณฑลกวางตุ้ง บ้านที่ท่านเกิดนั้นตอนนี้ไม่มีเค้าหลงเหลือแล้ว มีอาคารบ้านเรือนรายล้อมเพราะอยู่กลางเมือง แต่มีวิหารเล็ก ๆ ข้างหน้าเป็นรูปปั้นพระศรีอาริย์ยิ้มต้อนรับอาคันตุกะ ถัดจากนั้นจึงเป็นรูปปั้นของท่านเว่ยหล่างให้คนมาเคารพสักการะ

    ท่านเว่ยหล่างกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ ๓ ขวบ เมื่อโตขึ้นท่านได้ย้ายบ้านไปอยู่อีกด้านหนึ่งของเมือง ปัจจุบันมีวัดสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน ชื่อวัดหลงถัน ข้าง ๆ วัดมีซากอาคารที่บ่งบอกว่าเป็นบ้านของท่าน พร้อมทั้งระบุตำแหน่งที่ท่านตำข้าวด้วย บรรยากาศสงบร่มรื่นเพราะอยู่บนเขาแวดล้อมด้วยต้นไม้

    ท่านต้องทำงานเลี้ยงแม่ตั้งแต่เล็ก จึงไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ อาชีพหลักคือผ่าฟืนขาย วันหนึ่งขนฟืนไปส่งให้ลูกค้าที่ร้าน ขณะที่เดินออกมาได้ยินชายผู้หนึ่งกำลังสาธยายวัชรเฉทิกสูตร พอตั้งใจฟัง จิตของท่านก็สว่างโพลง ความสนใจในธรรมเกิดขึ้นแก่ท่านทันที ถามชายผู้นั้นว่าได้เรียนธรรมดังกล่าวจากไหน เมื่อได้รับคำตอบท่านก็ลาแม่ ไปยังวัดนั้นทันทีคือวัดตงซาน มณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นวัดของท่านหงเหริ่น สังฆปริณายกองค์ที่ ๕

    ที่นั่นเองท่านต้องทำงานผ่าฟืนและสีข้าวนานหลายเดือน วันหนึ่งได้ฟังว่าศิษย์อาวุโสของวัดนี้แต่งโศลกว่า “กายนี้อุปมาเหมือนต้นโพธิ์ ใจนี้อุปมาเหมือนกระจกเงาใส จงหมั่นเช็ดหมั่นปัดอยู่เสมอ อย่าให้ฝุ่นละอองจับคลุมได้” ท่านเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง จึงแต่งโศลกขึ้นอีกบทหนึ่ง แล้ววานคนช่วยเขียนให้ เป็นโศลกซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์เซน นั่นคือ “ไม่มีต้นโพธิ์ ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นจะลงจับอะไร” (สำนวนแปลพุทธทาสภิกขุ) ท่านหงเหริ่นเมื่อได้อ่านโศลกนี้ก็รู้ว่าผู้แต่งรู้ธรรมอย่างแจ่มแจ้ง กระจ่างชัดในอนัตตลักษณะ คือรู้ว่า แท้จริงแล้วไม่มี “ตัวกู ของกู” มีแต่ทุกข์ ไม่มีผู้ทุกข์ จึงได้มอบตำแหน่งสังฆปริณายกองค์ที่ ๖ ให้แก่ท่าน ทั้ง ๆ ที่ท่านยังไม่ได้บวช

    เราไม่มีโอกาสไปวัดตงซาน แต่ก็ได้ไปเยือนสถานที่ที่ท่านได้สดับธรรมด้วยความบังเอิญจนบรรลุธรรม ปัจจุบันมีการสร้างวัดจินไถเป็นอนุสรณ์ แต่ปรากฏว่าประตูปิดตาย ห้ามเข้า เนื่องจากโครงสร้างอาคารมีปัญหา อาจเกิดอันตรายได้ พวกเราได้แต่ถ่ายรูปข้างหน้าวัด

    อย่างไรก็ตามทั้งสามจุดนี้ในทัศนะของชาวพุทธจีนมีความสำคัญน้อยกว่าวัดที่ท่านมรณภาพ คือ วัดกั๋วเอิน ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน วัดนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีโบราณสถานและโบราณวัตถุหลงเหลือมากมาย แม้ถูกทำลายอย่างหนักในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อ ๕๐ ปีก่อน วัดนี้สร้างโดยถังเกาจงฮ่องเต้ ท่านเว่ยหล่างมาพำนักที่นี่เมื่อชรามากแล้ว อยู่ได้เพียงหนึ่งปี ก็มรณภาพ ด้วยอายุ ๗๕ ปี

    วัดนี้มีญาติโยมชาวจีนมาทำบุญกันมิใช่น้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ระหว่างที่เรากำลังชมวัด ก็มีอาม่าคนหนึ่งกวักมือเรียกให้พวกเราไปที่วิหารใหญ่ ไปถึงจึงรู้ว่ากำลังมีการสรงน้ำพระพุทธองค์เนื่องในวันวิสาขบูชา(ตามประเพณีจีน) ผู้คนล้นหลามจนยืนอออยู่นอกวิหาร แต่ทางวัดก็เอื้อเฟื้อให้พวกเราเข้าไปสรงน้ำพระพุทธองค์ได้อย่างสะดวก รวมทั้งได้พบปะท่านเจ้าอาวาสซึ่งอยู่บริเวณนั้นด้วย

    อย่างไรก็ตามวัดเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักน้อยกว่าวัดกวงเซี่ยวในเมืองกวางโจว ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอุปสมบท ว่ากันว่าตอนที่ท่านมาถึงวัดนั้นใหม่ ๆ ได้ฟังการบรรยายธรรมของอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง ระหว่างนั้นมีการโต้เถียงในหมู่ศิษย์ของท่านว่า ธงหรือลมกันแน่ที่ไหว เถียงกันไม่จบจนกลายเป็นสองฝักสองฝ่าย ท่านจึงพูดแทรกขึ้นมาว่า “ใจ(ของพวกท่าน)ไหวต่างหาก” อาจารย์ใหญ่ท่านนั้นได้ยินก็รู้ว่าท่านเว่ยหล่างซึ่งตอนนั้นอายุ ๓๘ แล้ว ไม่ใช่คนธรรมดา จึงได้จัดการบวชให้ท่านในเวลาต่อมา จุดเด่นของวัดนี้คือ ต้นโพธิ์ซึ่งสำคัญที่สุดในจีน เนื่องจากเชื่อกันว่าท่านปลงผมใต้ต้นนี้ ใกล้ ๆ กันเป็นเจดีย์ ๗ ชั้นซึ่งเชื่อว่าบรรจุเส้นผมที่ท่านปลงเอาไว้ เนื่องจากวัดนี้อยู่กลางเมืองกวางโจว จึงมีคนมาสักการะท่านเว่ยหล่างมากมาย ทั้งคนแก่และคนหนุ่มสาว

    อีกวัดที่สำคัญ ซึ่งขาดไม่ได้สำหรับการตามรอยท่าน ก็คือ วัดหนานฮว๋า ซึ่งอยู่เมืองเสากวน ห่างจากกวางโจว ๓ ชั่วโมง ท่านได้แสดงธรรมที่วัดนี้อยู่นาน ชาวพุทธจีนในไทยคงคุ้นกับวัดนี้มากที่สุด เพราะเป็นที่ประดิษฐานร่างของท่านที่ไม่เน่าเปื่อย อยู่ในท่านั่งสมาธิ น่าแปลกที่ร่างนี้รอดพ้นจากการทำลายล้างในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมไปได้ ทุกวันนี้ถือเป็นสถานที่จาริกบุญสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชาวจีน วัดนี้มีเนื้อที่กว้างขวาง อยู่ติดภูเขา สงบร่มรื่น ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของวัดจีนโบราณ

    เมืองเสากวนยังมีอีกวัดที่สำคัญ คือวัดต้าเจี้ยน ท่านผู้รู้ได้ประมาณว่า เนื้อหาร้อยละ ๖๓ ใน “สูตรของเว่ยหล่าง”นั้นมาจากการเทศนาของท่านที่วัดนี้ ส่วนร้อยละ ๒๗ เป็นงานบรรยายที่วัดหนานฮว๋า ที่เหลือท่านแสดงที่วัดกั๋วเอิน

    อันที่จริงชีวิตและคำสอนของท่านเว่ยหล่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถือว่า “มุมมอง”หนึ่งเท่านั้น ในวงวิชาการมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับประวัติของท่าน แม้กระทั่งคำสอนของท่านอันลือชื่อของท่านคือ “สูตรของเว่ยหล่าง” ก็ยังไม่เป็นที่ยุติว่าใครเป็นคนเขียน เป็นคำสอนของท่านเว่ยหล่างจริงหรือไม่ และ “ของจริง”นั้นเป็นอย่างไร เพราะคัมภีร์เก่าแก่ที่สุด ซึ่งค้นพบเมื่อ ๘๐ ปีที่แล้ว มีหลายตอนที่แตกต่างจากฉบับที่แพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะโศลกอันโด่งดังของท่านเว่ยหล่าง ในฉบับที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งค้นพบที่ถ้ำตุนหวง มีถึง ๒โศลก และมีเนื้อความแตกต่างกันในสาระสำคัญเลยทีเดียว ประเด็นเหล่านี้ยกให้เป็นหน้าที่ของผู้รู้ที่จะช่วยกันหาคำตอบ แต่สำหรับผู้ใฝ่ธรรม ความแตกต่างเหล่านั้นไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดสำหรับการฝึกฝนอบรมจิตตามแนวทางของท่าน(หรือตามคำสอนที่ปรากฏในหนังสือ)
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255706.htm

    อ่านเพิ่มเติม--> https://www.gonghoog.com/main/index.php/2012-11-10-06-51-32

     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    44,779
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    ความดีไม่มีเส้นแบ่ง
    พระไพศาล วิสาโล

    ชีวิตของ "ปาน"เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเธอรู้ว่าได้รับเชื้อ HIV จากสามี แต่เธอไม่มัวคับแค้นใจในชะตากรรมของตน หรือโกรธแค้นสามี หากพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เธอดูแลสามีจนเขาสิ้นลม จากนั้นก็มองไปข้างหน้าว่า เธอจะทำอะไรต่อไปกับชีวิตที่เหลืออยู่ ไม่นานเธอก็พบคำตอบ นั่นคือการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อคนอื่น ๆ ที่มีชะตากรรมเหมือนเธอ รวมทั้งใช้ประสบการณ์ของตัวเธอเองเพื่อเตือนใจไม่ให้คนอื่นมาเป็นเหมือนอย่างเธอ


    เธอได้กลายเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ ต่อมาได้กลายเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนในหมู่บ้านและตามโรงเรียนต่าง ๆ ในภาคเหนือ แม้นั่นจะหมายถึงการเปิดเผยตนเองว่ามีเชื้อที่ผู้คนประหวั่นพรั่นพรึงก็ตาม

    จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา ๑๗ ปีที่แล้วที่เธอรู้ว่ามีเชื้อร้ายอยู่ในร่างกาย แต่เธอก็ยังมีสุขภาพดีไม่ต่างจากคนอื่น ๆ โดยไม่เคยรับยาต้านเชื้อเลย มิหนำซ้ำเธอยังมีอารมณ์ดี อาจจะดีกว่าคนทั่วไปเสียอีก ทั้ง ๆ ที่เธอน่าจะทุกข์มากกว่าคนรอบตัว เพราะนอกจากร่างกายจะมีเชื้อ HIV แล้ว ยังต้องเจอกับปฏิกิริยาของผู้คนที่ไม่เข้าใจโรคนี้ดีพอ โดยเฉพาะในยุคแรก ๆ ที่ใคร ๆ ก็รังเกียจผู้ติดเชื้อ

    อะไรทำให้เธอมีสุขภาพดีและมีชีวิตยืนยาวมาจนบัดนี้ คำตอบของเธอก็คือ
    "ถ้าคิดแต่เรื่องของตัวเองก็ป่วยไปนานแล้ว"

    การช่วยเหลือผู้อื่นอย่างต่อเนื่องไม่ได้ทำให้เธอแย่ลง ตรงข้ามเธอกลับมีความสุขมากขึ้น เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่พบว่า การเป็นจิตอาสาไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ให้เท่านั้น หากตนยังเป็นผู้รับด้วย นั่นคือได้รับความสุข หญิงผู้หนึ่งปวดหัวไมเกรน ต้องกินยา ระงับปวดทุกวัน แต่หลังจากที่เธอไปเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กอ่อนบ้านปากเกร็ดติดต่อกันไม่กี่สัปดาห์ เธอสังเกตว่าวันไหนที่ไปเป็นจิตอาสาที่นั่น วันนั้นเธอจะลืมกินยา สาเหตุก็เพราะไม่รู้สึกปวดหัวเลย ความสุขจากการดูแลเด็ก ทำให้อาการปวดหัวหายไปอย่างไม่รู้ตัว

    มิใช่แต่ความสุขเท่านั้น หลายคนยังพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในจิตใจของตน "กบ" ชายวัยปลาย ๓๐ ซึ่งเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กอ่อนบ้านปากเกร็ดอีกผู้หนึ่ง รู้สึกว่าตนเองใจเย็นขึ้น เพราะเวลาอยู่กับเด็ก จะพูดจาโผงผาง หรือทำอะไรแรง ๆไม่ได้ กลายเป็นการฝึกตนเองให้เป็นคนพูดจานุ่มนวลขึ้น ไม่ใช่กับเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนอื่นด้วย "พอผมพูดกับลูกน้องที่ออฟฟิศ ผมก็รู้สึกได้ว่านุ่มนวลขึ้น คือใช้คำพูดที่ฟังรื่นหูหน่อย พูดได้โดยไม่เห็นต้องฝืนอะไรเลย"

    เช่นเดียวกับ "น้องด้าย" เด็กหญิงวัย ๑๔ แม่ของเธอสังเกตว่าหลังจากที่น้องด้ายไปเป็นจิตอาสาบ้านปากเกร็ด เธอนิ่งและสุขุมมากขึ้น รับฟังคนอื่นมากขึ้น และใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์

    ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจิตอาสาหลายคนเกิดจากการคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง จากคนที่มักทำตามอารมณ์ เมื่อมาดูแลช่วยเหลือเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตนเอง จะเอาแต่ใจตนเองตามนิสัยเดิมไม่ได้ "กบ"พูดถึงประสบการณ์ของตนเองว่า "เมื่อเราดูแลใส่ใจเด็ก เราจะอ่อนโยนไปเองโดยอัตโนมัติ คือในขณะที่เราพยายามจะให้เขามีพัฒนาการที่ดี เขาก็ช่วยขัดเกลาให้เราอ่อนโยนในเวลาเดียวกันด้วย"

    ประสบการณ์ของ "กบ"ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อใดก็ตามที่เราช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเจตนาดีหรือด้วยใจบริสุทธิ์ ความเปลี่ยนแปลงมิได้เกิดขึ้นกับเขาเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นกับเราด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อคิดถึงคนอื่นมากขึ้น อัตตาหรือความเห็นแก่ตัวก็ลดลง พร้อมจะละทิ้งนิสัยเดิม ๆ ที่ไม่ดี หรือเต็มใจที่จะขัดเกลาตนเองเพื่อความสุขของผู้อื่นมากขึ้น แต่ผลสุดท้ายตนเองกลับเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ หลายคนพบว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้คุณภาพชีวิตของตนดีขึ้น รวมทั้งทำให้สัมพันธภาพกับผู้อื่นดีขึ้นด้วย

    "ป๊อป"นักธุรกิจหนุ่มซึ่งประสบความสำเร็จในอาชีพการงานก่อนวัย ๔๐ เล่าว่าแต่ก่อนตนเองแต่ทำงาน ไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ยิ่งทำงานสำเร็จ ก็ยิ่งมั่นใจในตนเองมาก จนถึงกับ "เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง" แต่เมื่อได้มาเป็นจิตอาสาก็พบว่า "โลกมันกว้างกว่านั้น" เขาเริ่มนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น ทำให้ความหุนหันพลันแล่นลดลง ผลที่ตามมาก็คือ นอกจากความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจะดีขึ้นแล้ว เขายังเข้าใจแม่ของตนเองมากขึ้นด้วย นับแต่นั้นทุกสัปดาห์เขาจะกลับไปเยี่ยมแม่ และฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เหินห่างไปนานให้กลับแน่นแฟ้นดังเดิม

    ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เด็กน้อยที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวดองกับเขามาก่อนเลย

    เรื่องราวของคนเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เมื่อเราช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เรามิได้เป็นเพียงผู้ให้เท่านั้น หากยังเป็นผู้รับด้วย ประโยชน์มิได้เกิดขึ้นกับเขาเท่านั้น เราเองก็ได้รับประโยชน์ด้วย แต่มิใช่ประโยชน์ทางวัตถุ หากเป็นประโยชน์ทางจิตใจ อาทิ ความสุข และจิตใจที่ประณีตงดงาม เป็นความเปลี่ยนแปลงภายในที่หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้จากการออกไปทำสิ่งดี ๆ ให้แก่ผู้อื่น

    พูดอีกอย่างก็คือ มุ่งกระทำภายนอก แต่เปลี่ยนแปลงภายใน

    อย่างไรก็ตามมีความเปลี่ยนแปลงอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกัน กล่าวคือ เมื่อย้อนมาดูภายในกลับส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายนอกได้
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    44,779
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    (ต่อ)
    สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ แห่งมหาวิทยาลัยชีวิต เล่าถึงนักศึกษาของเขาหลายคนที่พบกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิต นอกจากมีความสุขขึ้นแล้ว ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้นมาก ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มจากการที่เขาแนะนำให้นักศึกษาหันมาไตร่ตรองตนเองผ่านกิจกรรมบางอย่าง จากนั้นก็ให้เลือกพฤติกรรมเพียงหนึ่งอย่างที่อยากปรับปรุงแก้ไข โดยให้ถือเป็น "โครงงาน"หรือการบ้านที่ต้องทำทุกคน ระหว่างที่ทำการบ้านดังกล่าว ก็ให้สังเกตจิตใจและพฤติกรรมของตนไปด้วย พร้อมกับเขียนบันทึกประจำวัน แล้วนำผลการสังเกตรวมทั้งบันทึกดังกล่าวมานำเสนอในชั้นเรียน เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอภิปรายกัน

    นักศึกษาคนหนึ่งเลือกโครงงาน "ขับรถให้ช้าลง" ก่อนหน้านั้นทุกวันเขาจะขับรถไปส่งลูกและภรรยาด้วยความเร็ว ๑๒๐-๑๔๐ กม.ต่อชั่วโมง ตลอดเวลาที่เดินทางทุกคนจะนั่งตัวตรง ตาจ้องมองถนนข้างหน้า ไม่มีการพูดคุยกันเลย แต่เมื่อเขาขับรถให้ช้าลง คือ ๙๐ กม.ต่อชั่วโมง เขาพบว่าตัวเองรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวดดังแต่ก่อน ยิ่งกว่านั้นเขายังสังเกตว่าลูกและภรรยาก็ผ่อนคลายเช่นกัน บรรยากาศในรถดีขึ้นมาก มีการพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูก เป็นความสุขที่เขาไม่เคยพบมาก่อนระหว่างขับรถ

    นักศึกษาอีกคนหนึ่งเป็นนักธุรกิจ เธอเลือก "เคี้ยวอาหารให้ช้าลง" จากเดิมที่รีบกินข้าวให้เสร็จไว ๆ เพราะต้องรีบไปทำงาน เมื่อเธอหันมาเคี้ยวข้าวให้ช้าลง ไม่นานเธอก็พบว่า "ข้าวมีรสหวาน อาหารที่อร่อยเป็นยังไง" การใช้เวลาบนโต๊ะอาหารที่นานขึ้น นอกจากทำให้ใจเธอนิ่งขึ้น ไม่ร้อนรนหรือพะวงถึงงานที่รออยู่ ยังทำให้เธอใส่ใจกับความรู้สึกของลูกและคนอื่น ๆ ในครอบครัวที่กินร่วมโต๊ะ มีการสนทนากันมากขึ้น ไม่นานเธอก็รู้สึกได้ถึงความสัมพันธ์ที่อบอุ่นใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างคนในครอบครัว

    การกินอาหารให้ช้าลง มีผลให้เธอลดความร้อนรนเร่งรีบในการทำงาน นอกจากจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้น สุขภาพดีขึ้น โดยเฉพาะโรคปวดท้องและโรค "หายใจไม่ทัน"ที่รบกวนเธอมานานนับสิบปีหายไปอย่างปลิดทิ้ง ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและลูกน้องก็ดีขึ้นด้วย ในเวลาต่อมาเมื่อเธอโอนงานบางอย่างให้ลูกชาย หลังจากที่หวงไว้กับตัวเองตลอดด้วยความไม่ไว้วางใจ เธอก็มีเวลามากขึ้น จนสามารถไปเยี่ยมพ่อและพาพ่อไปเที่ยวได้ ผิดกับแต่ก่อนที่เธอมักจะอ้างว่าไม่มีเวลาเลย

    นักศึกษาอีกคนหนึ่งทำโครงงาน "นับหนึ่งถึงร้อยค่อยพูด" เพราะเธอมักจะอารมณ์เสียใส่ลูกชายวัย ๑๐ ขวบที่ชอบตื่นสายและทำอะไรยืดยาดชักช้าเป็นประจำ จนบางทีถึงกับทุบตีลูก เสร็จแล้วก็มานั่งเสียใจที่ทำเช่นนั้นกับลูก เมื่อเธอเริ่มทำโครงงานนี้ มีหลายครั้งที่รู้สึกขุ่นเคืองลูก แต่เมื่อรู้ตัวว่ากำลังทำโครงงานนี้อยู่ ก็จะนับหนึ่งถึงร้อย แต่บางครั้งนับได้ไม่เท่าไร ใจก็สงบลง และสามารถพูดกับลูกโดยไม่ใช้อารมณ์ ต่อมาเธอก็ใช้วิธีรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง และพูดความรู้สึกนั้นให้ลูกได้รับรู้ เช่น บอกลูกว่าตอนนี้ใจแม่ไม่สงบ กังวลว่าลูกจะไปโรงเรียนสาย และแม่ก็จะไปทำงานสายด้วย จึงขอให้ลูกลุกขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัว ปรากฏว่าลูกยินดีทำตามคำขอของแม่ หลังจากทำเช่นนี้หลายครั้ง เธอพบว่าความสัมพันธ์ของเธอกับลูกดีขึ้น ลูกถึงกับบอกเธอวันหนึ่งว่า ลูกรักแม่ ขอถ่ายรูปกับแม่ได้ไหม

    นักศึกษาเหล่านี้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า การเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ขยายวงกว้างออกไป ส่งผลถึงสัมพันธภาพกับผู้อื่น และสาเหตุที่เปลี่ยนแปลงตนเองได้ก็เพราะการหมั่นสังเกตตนเอง มิใช่แค่พฤติกรรมหรืออากัปกิริยาภายนอกเท่านั้น แต่รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ หลายคนได้เห็นอาการร้อนรนพลุ่งพล่านที่ผลักดันให้ทำอะไรเร็ว ๆ หรือพูดจาออกไปโดยไม่ทันยั้งคิด เพียงแค่เห็นอาการดังกล่าวเกิดขึ้นที่ใจ ก็พอแล้วที่จะทำให้มันสงบลง ไม่สามารถรบกวนจิตใจต่อไปได้ โดยไม่ต้องไปกดข่มมันเลยด้วยซ้ำ

    จากความสงบภายใน สู่การกระทำที่สุขุมนุ่มนวล และใส่ใจคนอยู่รอบข้างมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อความเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้น ก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงภายนอก

    เรื่องของจิตอาสาในครึ่งแรก และเรื่องของนักศึกษาในครึ่งหลัง แม้จะดูต่างกันราวกับตรงข้ามกัน กลุ่มแรกมุ่งช่วยเหลือผู้อื่น ขณะที่กลุ่มหลังมุ่งเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นคล้ายกันตรงที่ นอกจากทุกคนจะมีความสุขแล้ว ยังนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน กลุ่มแรกได้พบความเปลี่ยนแปลงภายใน ในขณะที่กลุ่มหลังได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ภายนอก

    ประสบการณ์ของทั้งสองกลุ่มชี้ให้เห็นว่า ภายนอก กับ ภายในนั้นไม่ได้แยกจากกัน ไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่า การช่วยเหลือผู้อื่นคือการช่วยเหลือตนเอง และการช่วยเหลือตนเองก็คือการช่วยเหลือผู้อื่น ข้อนี้พระพุทธองค์เคยตรัสรับรองว่า "บุคคลเมื่อรักษาตนก็คือรักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่นก็คือรักษาตน"

    รักษาตนนั้นก็คือรักษาใจให้มีสติ สงบเย็น ไม่ร้อนรนหรือปล่อยให้ความโกรธความโลภเผาลนใจ ส่วนรักษาผู้อื่นก็คือการมีเมตตากรุณา อยากช่วยให้เขามีความสุขหรือพ้นทุกข์ ทั้งหมดนี้เรียกสั้น ๆ ว่า ธรรมหรือความดี เมื่อมีธรรมกำกับ แม้ทำกับผู้อื่น ก็ส่งผลดีต่อใจตน แม้ทำกับใจตน ก็ส่งผลดีต่อผู้ที่อยู่รอบตัว

    ความดีนั้น ไม่ว่าจะทำกับใคร กับผู้อื่นหรือตนเองก็ตาม อานิสงส์อันได้แก่ความสุขและความเจริญงอกงามในจิตใจย่อมแผ่ไปยังทั้งสองฝ่ายเสมอ เพราะถึงที่สุดแล้วเส้นแบ่งระหว่างเรากับผู้อื่น หามีไม่


    หมายเหตุ เรื่องราวของพี่เลี้ยงเด็กอ่อน มีที่มาจากหนังสือเรื่อง “อาสานวดเด็ก พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ๒”(มูลนิธิสุขภาพไทย ) ส่วนเรื่องของนักศึกษาทำโครงงาน มาจากหนังสือเรื่อง “ตักสุขใส่กะโหลก ชะโงกดูใจ” เขียนโดย สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ (สำนักพิมพ์ busy- day)ส่วนเรื่องของ “ปาน” และเพื่อนอีกหลายคน หาอ่านได้จาก “๓๐ ชีวิตเปลี่ยน”(เครือข่ายพุทธิกา)

    :- https://visalo.org/article/sarakadee255409.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    44,779
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,040
    นรกมิใช่ใครอื่น
    รินใจ
    นักวิชาการอาวุโสด้านปรัชญาและศาสนาท่านหนึ่ง เล่าว่าเมื่อครั้งไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา คราวหนึ่งได้รับมอบหมายจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้ช่วยต้อนรับและดูแลพระธิเบตรูปหนึ่งซึ่งได้รับนิมนต์มาบรรยายในมหาวิทยาลัย นั่นเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาไทยผู้นี้ได้รู้จักชาวธิเบต ในชั่วเวลาไม่กี่วันที่ได้ดูแลอาคันตุกะจากแดนไกล เขารู้สึกประทับใจในบุคลิกที่สงบเย็นของท่าน ยิ่งเมื่อได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวธิเบต ก็เกิดความสนใจอยากไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในวัดของท่านที่อินเดีย วันสุดท้ายก่อนจากกันเขาจึงปรารภกับท่านว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว อยากไปอยู่กับท่านสักพักหนึ่ง ท่านถามเหตุผลว่าทำไมถึงคิดเช่นนั้น

    “ผมอยากไปหาความสงบที่นั่น กรุงเทพ ฯ ไม่มีความสงบเลย มีแต่ความวุ่นวาย” นักศึกษาหนุ่มให้เหตุผล

    คำตอบของท่านก็คือ “คุณรู้ไหม ความสงบที่คุณแสวงหา หากหาไม่ได้ที่กรุงเทพ ฯ ก็หาไม่ได้หรอกที่วัดของอาตมา”

    คำตอบของพระธิเบตรูปนี้ทำให้นักศึกษาหนุ่มได้คิด และเปลี่ยนใจ เขากลับเมืองไทยเมื่อสำเร็จการศึกษา แม้เวลาจะผ่านไปกว่า ๓๐ ปีแล้ว ถ้อยคำดังกล่าวก็ยังประทับแน่นในใจของเขา

    ความสงบที่แท้จริงนั้น หาไม่ได้จากที่ไหน นอกจากใจของเราเอง ที่อื่น ๆ นั้นให้ได้แค่ความสงบชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้าใจไม่สงบเสียแล้ว ไม่นานก็ต้องมีเรื่องหงุดหงิดรำคาญใจ ถ้าไม่ใช่กับผู้คนแวดล้อม ก็ดินฟ้าอากาศ ครั้นอยู่คนเดียว ก็ยิ่งกระสับกระส่าย กลัวนี่ระแวงนั่น โดยหารู้ไม่ว่าทั้งหมดนั้นเกิดจากการปรุงแต่งของใจที่ไม่อยู่สุข

    เสียงคุยของผู้คน เสียงดังจากรถยนต์ รวมทั้งความวุ่นวายจากการงานนั้น เรายังสามารถหนีให้ไกลได้ แต่เสียงบ่นก่นด่าหรือเสียงทะเลาะวิวาทภายในใจเรานั้น ยากที่จะหนีพ้นตราบใดที่เราไม่มีความสุขภายใน

    มีพุทธพจน์ว่า “สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นสงบ” ใจที่ไม่สงบนั้นมาจากความว่างเปล่าภายใน นั่นคือว่างเปล่าจากความสุข ว่างเปล่าจากคุณค่าและความหมายของชีวิต

    เป็นธรรมชาติของใจที่ว่างเปล่า ย่อมแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาเติมเต็ม แต่แทนที่จะแสวงหาด้วยการหันกลับมาที่ใจของตนเองเพื่อหยั่งให้ถึงความสุขที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน ส่วนใหญ่กลับไปแสวงหาความสุขจากภายนอก โดยเฉพาะความสุขจากการเสพ จากการครอบครองสมบัติและอำนาจ แต่แล้วก็พบว่าได้เท่าไรก็ไม่เคยพอเสียที เพราะความสุขเหล่านี้ไม่สามารถเติมเต็มจิตใจได้เลย เนื่องจากเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน ชั่วครู่ชั่วยาม กล่าวคือเป็นสุขตอนที่ได้เสพหรือได้ครอบครองใหม่ ๆ แต่ไม่ช้าไม่นานความสุขเหล่านั้นก็จืดจาง ต้องไปหามาเสพใหม่หรือหามาเพิ่มอีก ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐีแม้มีเงินหลายหมื่นล้าน ก็ยังไม่ยอมหยุดแสวงหาทรัพย์เสียที

    นอกจากแสวงหาความสุขจากทรัพย์สมบัติแล้ว เรายังอดไม่ได้ที่จะแสวงหาความสุขจากผู้อื่น ยิ่งว่างเปล่าภายในมากเท่าไร ก็ยิ่งเรียกร้องและคาดหวังจากผู้อื่นมากเท่านั้นว่าจะช่วยทำให้ชีวิตของตนเติมเต็มได้ แต่ได้เท่าไรจึงจะพอ เพราะแม้แต่ความสุขจากรักอันหวานชื่นยังจืดจางได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น หากอีกฝ่ายหนึ่งก็ว่างเปล่าภายในเช่นกัน เมื่อต่างคนต่างเรียกร้องและคาดหวังในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่มีให้ อะไรจะเกิดขึ้น

    Revolutionary Road เป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างสะเทือนใจ แฟรงค์และเอพริลเป็นคู่สามีภรรยาที่ดูเหมือนมีทุกอย่างเพียบพร้อมตามความใฝ่ฝันของคนอเมริกัน (และของคนสมัยใหม่ทั่วโลก แม้เรื่องนี้จะเกิดเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว) ในวัยแค่ ๓๐ ทั้งสองมีบ้านหลังงามย่านคนมีเงิน มีรถยนต์ซึ่งยังเป็นของมีราคาแพงในสมัยนั้น มีลูกที่น่ารัก ๒ คน แฟรงค์มีการงานที่มั่นคงรายได้ดี ส่วนเอพริลก็เป็นแม่บ้าน ใคร ๆ ชมว่าทั้งคู่เป็นคน “พิเศษ” เพราะมีอนาคตไกล มีความคิดทันสมัย มีเสน่ห์ และมีครอบครัวที่อบอุ่น

    แต่เบื้องหลังภาพพจน์สดใสที่ผู้คนชื่นชมนั้น ทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างหนัก จนเกือบใช้กำลังกัน ชีวิตคู่ที่เคยหวานชื่นเมื่อแรกแต่งงานกลายเป็นความขมขื่นที่พร้อมจะผิดใจกันได้ทุกเรื่อง สาเหตุนั้นไม่ใช่เพราะสามีขี้เหล้าหรือนอกใจภรรยา ไม่ใช่เพราะภรรยาติดยาหรือติดการพนัน แต่เพราะลึก ๆ ทั้งสองคนไม่มีความสุขกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ แฟรงค์ไม่พอใจงานที่ทำ ส่วนเอพริลก็รู้สึกล้มเหลวกับอาชีพนักแสดง และไม่ชอบงานบ้านที่จำเจ เพราะเชื่อว่าตนเองสามารถทำได้มากกว่านั้น

    ไม่มีใครอยากให้ชีวิตคู่ต้องอับปาง แล้ววันหนึ่งเอพริลก็ได้ความคิดว่า การย้ายไปปารีสน่าจะช่วยให้ครอบครัวกลับมามีความสุขเหมือนเดิม ที่นั่นเอพริลจะไปเป็นเลขานุการในหน่วยงานระหว่างประเทศ ส่วนแฟรงค์ก็จะมีเวลาแสวงหางานที่ชอบ แฟรค์ลังเลในทีแรกแต่ก็เห็นด้วยในที่สุด เมื่อมีความฝันร่วมกัน ชีวิตรักก็สุขสมอีกครั้งหนึ่ง

    ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่แล้วกลับมีเหตุที่ทำให้ความฝันของเอพริลพังครืน แฟรงค์ได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น มีรายได้และสถานะสูงขึ้น ที่เคยดูถูกงานในบริษัทก็เปลี่ยนเป็นชื่นชม เขาตัดสินใจไม่ไปปารีส ขณะเดียวกันเอพริลก็เกิดท้องขึ้นมา เป็นอุปสรรคต่อการไปทำงานที่นั่น

    และแล้วครอบครัวนี้ก็เวียนกลับมาจมอยู่ในสถานการณ์เดิม ทะเลาะเบาะแว้งกันหนักขึ้น แล้วในที่สุดก็ลงเอยด้วยเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
    ไม่ว่าจะมีทรัพย์สมบัติเพียบพร้อมเพียงใด แต่หากภายในใจนั้นว่างเปล่าจากความพึงพอใจในชีวิตหรือรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าเสียแล้ว ก็ยากที่จะมีความสุขได้ และเมื่อไม่มีความสุขภายในแล้ว เราก็สามารถสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นได้เสมอ ดังที่แฟรงค์และเอพริลได้กระทำต่อกัน แต่จะมีกี่คนที่รู้ตัวว่าตนสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ส่วนใหญ่กลับมองว่าคนอื่นต่างหากที่สร้างความทุกข์ให้แก่ตน “นรกคือคนอื่น” ซาร์ตเคยกล่าวไว้ ทั้งแฟรงค์และเอพริลก็รู้สึกเช่นนี้ต่อกัน

    ที่น่าเศร้าก็คือ แรกเริ่มเดิมทีทั้งสองคนไม่ได้ทำร้ายจิตใจของกันและกัน เป็นแต่ไม่ได้สนองความคาดหวังของกันและกันเท่านั้น คนเราเมื่อไม่มีความสุขภายใน ก็มักเรียกร้องความสุขจากผู้อื่น แต่เมื่อเขาไม่มีให้หรือไม่ตอบสนองอย่างที่หวัง ความผิดหวังก็ทำให้เราโกรธและสะสมจนกลายเป็นความเกลียด ถึงตอนนี้ก็พร้อมจะมองอีกฝ่ายในแง่ลบ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถลุกลามเป็นประเด็นที่ใหญ่โต จนถึงขั้นพูดจาทำร้ายจิตใจกันได้

    ทุกคนต่างมองไปที่นอกตัวตลอดเวลา ปัญหาอยู่นอกตัว และทางออกก็อยู่นอกตัวด้วย เอพริลคิดว่าการย้ายไปปารีสจะช่วยให้ชีวิตคู่สงบสุขได้ แต่คำถามก็คือ ถ้าหาความสงบในตัวเองหรือในบ้านของตนไม่ได้ แล้วจะไปหาความสงบที่ปารีสได้อย่างไร การมองว่าสาเหตุแห่งความทุกข์อยู่นอกตัวตลอดเวลา ทำให้เธอสรุปในที่สุดว่าชีวิตคู่คือตัวการที่สร้างความทุกข์แสนสาหัสแก่เธอ การหาทางออกจากทุกข์ด้วยวิธีคิดแบบนี้นำไปสู่โศกนาฏกรรมในตอนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้

    ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงเปิดเผยถึงด้านมืดของครอบครัวตัวอย่างที่ผู้คนยุคนี้ชื่นชมและใฝ่ฝันตามคตินิยมแบบอเมริกันเท่านั้น แต่ยังเป็นกระจกอย่างดีที่ชวนให้เราหันกลับมามองตนและใคร่ครวญชีวิตอย่างลึกซึ้งด้วยว่า ชีวิตที่ว่างเปล่าภายในท่ามกลางทรัพย์สมบัติที่เพียบพร้อมนั้นสามารถมีความสุขได้แท้จริงหรือ การเรียกร้องความสุขจากผู้อื่นจะเติมเต็มชีวิตได้หรือไม่ และอะไรที่จะทำให้ชีวิตเติมเต็มได้อย่างแท้จริง

    การเป็นตัวเองอย่างที่เป็น การได้ทำงานที่ตนรัก หรือรักในงานที่ตนทำ รวมทั้งการทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อผู้อื่น ย่อมช่วยให้คนอย่างแฟรงค์และเอพริลมีความสุขมากขึ้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการหันกลับมามองตน รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดที่ปรุงแต่ง จนมองเห็นว่าความทุกข์ที่แท้นั้นมาจากใจของตน เมื่อนั้นก็จะพบว่าหนทางแห่งความสงบและความสุขมีอยู่แล้วในใจของตน หากวางใจเป็น ความสุขสงบก็จะปรากฏกลางใจ ที่เคยรู้สึกพร่องหรือว่างเปล่าก็จะรู้สึกเติมเต็ม เมื่อนั้นเสียงบ่นระงมภายในจะเลือนหาย การทะเลาะวิวาทกับผู้คนจะลดลง เกิดสันติสุขทั้งกับตนและผู้อื่นได้ในที่สุดไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม

    ใช่หรือไม่ว่าสิ่งใดเต็มสิ่งนั้นสงบ

    :- https://visalo.org/article/sarakadee255205.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...