เรื่องเด่น “วิถีนักเรียนสามเณร” ศึกษาวิชาโลก..เสริมวิชาพุทธ

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 10 กันยายน 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    การ “ติดอาวุธทางปัญญา” ด้วย “การศึกษา” เป็นเรื่องสำคัญ ไม่เฉพาะกับเด็กและเยาวชนทั่วไป กับ “สามเณร” ก็เช่นกัน ซึ่งสามเณรก็ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะ “ศาสนทายาท” ที่ก็ควรต้องได้รับการส่งเสริมเรื่องการศึกษา โดยนอกจากวิชาทางธรรม ยังควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับวิชาทางโลก เหมือนเด็กและเยาวชนทั่วไป เพื่อให้มีความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ในสังคมไทยยังมีผู้ใจบุญอยู่มากและก็มีการช่วยสนับสนุนด้านนี้ด้วย และวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวมาเล่าสู่…

    0b8b1e0b881e0b980e0b8a3e0b8b5e0b8a2e0b899e0b8aae0b8b2e0b8a1e0b980e0b893e0b8a3-e0b8a8e0b8b6e0b881.jpg

    ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทาง “ทีมวิถีชีวิต” มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมของบริษัท รักษาความปลอดภัย กรุงไทยธุรกิจบริการ จำกัด (KTBGS) ในเครือธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่จัดงานครบรอบ 20 ปี โดยมีกิจกรรมในชื่อ โครงการ KTBGS Empower Social Sustainability ภายใต้นโยบายคุณธรรมนำความยั่งยืน โดยกิจกรรมส่วนหนึ่งคือการสนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียนสามเณร โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ป่าแขมวิทยา จ.พะเยา เพื่อให้เป็นโรงเรียนศูนย์กลางสำหรับสามเณรเขตพื้นที่รอยต่อ จ.พะเยา และ จ.น่าน โดยได้สนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งปี 2560 นี้ได้จัดกิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา เพื่อสนับสนุนการบำรุงรักษาอุปกรณ์การเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ตลอดจนมอบเป็นทุนการศึกษาแก่สามเณร รวมถึงปีนี้ยังได้สนับสนุนรถตู้ใช้รับ-ส่งสามเณร และรถกระบะเพื่อใช้ในภารกิจกู้ชีพ-กู้ภัย ให้ ชุมชนวัดศรีเมืองมาง ด้วย ซึ่ง “ทีมวิถีชีวิต” ได้ไปร่วมงานบุญ และได้สัมผัส “วิถีโรงเรียนพระปริยัติธรรม” แห่งนี้ด้วย ซึ่งมีแง่มุมน่าสนใจไม่น้อย…

    โรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ป่าแขมวิทยา เป็น 1 ใน 69 โรงเรียน ตาม โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

    ทั้งนี้ อ.ผ่องพรรณ เอกอาวุธ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ช่วงปลายปี 2546 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังโรงเรียนวัดบ่อหลวงวิทยาธรรม ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทรงเห็นว่าโรงเรียนดังกล่าวเป็นสถานศึกษาช่วยเด็กยากจน พระองค์จึงได้ทรงอุปถัมภ์ และมีการจัดตั้ง โครงการพัฒนาการศึกษาสามเณร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

    เมื่อโรงเรียนพระในพื้นที่ จ.น่าน ทราบเรื่องนี้ จึงอยากเข้าโครงการนี้ด้วย โดยปี 2547 ในเบื้องต้นมี 12 โรงเรียน และต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งให้ทาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าดูแลด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ จึงเกิดเป็นโครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ตามพระราชดำริฯ ขึ้นอีกหนึ่งโครงการ ซึ่งมีการดำเนินงานควบคู่ไปกับโครงการแรก

    8b1e0b881e0b980e0b8a3e0b8b5e0b8a2e0b899e0b8aae0b8b2e0b8a1e0b980e0b893e0b8a3-e0b8a8e0b8b6e0b881-1.jpg

    อ.ผ่องพรรณ ระบุต่อไปว่า สำหรับโครงการพัฒนาการศึกษาสามเณร ตามพระราชดำริฯ นี้ พระองค์ท่านยังได้พระราช ทานเงินถวายแก่สามเณรเป็นค่าภัตตาหารเพลรูปละ 10 บาท เป็นระยะเวลา 200 วัน และพระราชทานนมถวายแก่สามเณรที่เรียนในโครงการนี้ด้วย พร้อมกันนี้ยังได้พระราชทานทุนการศึกษาให้แก่สามเณรที่จะศึกษาต่อระดับปริญญาตรีอีกด้วย

    สำหรับการดำเนินงานภายใต้โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนพระปริยัติธรรมนั้น จะเน้นไปที่เรื่องของการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน การพัฒนาครู การพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ การจัดค่ายวิทยาศาสตร์ รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อพาสามเณรที่ชนะเลิศจากโครงงานวิทยาศาสตร์ไปทัศนศึกษา บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อีกด้วย

    “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมีพระเมตตาแก่นักเรียนสามเณรเหล่านี้” …อ.ผ่องพรรณ กล่าว

    ในส่วนการดำเนินการที่ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ป่าแขมวิทยา ทาง อ.ผ่องพรรณ บอกว่า ปัจจุบันนี้ ที่ได้รับทราบทางโรงเรียนได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทาง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ปีละ 12,000 บาทต่อสามเณร 1 รูป ซึ่งเงินจำนวนนี้จะเป็นค่าใช้จ่าย ทั้งเงินเดือนของครู ค่าภัตตาหาร ค่าสบง-จีวร อุปกรณ์การศึกษาต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม อ.ผ่องพรรณ กล่าวว่า “สิ่งที่พยายามย้ำเสมอ ๆ คืออยากให้โรงเรียนช่วยเหลือตนเองให้ได้ด้วย ควรที่จะช่วยเหลือตนเองด้วย”

    อ.ผ่องพรรณ บอกอีกว่า ถ้ามีผู้มีจิตศรัทธาอยากช่วยเหลือนักเรียนสามเณรเหล่านี้ ก็สามารถร่วมบริจาคผ่านทาง กพด. หรือ กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ หรือบริจาคโดยตรงกับโรงเรียนพระปริยัติธรรมแต่ละแห่งก็ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 69 โรงเรียน แบ่งเป็น จ.น่าน 15 โรงเรียน, จ.แพร่ 7 โรงเรียน, จ.เชียงราย 21 โรงเรียน, จ.พะเยา 9 โรงเรียน, จ.ลำปาง 8 โรงเรียน และ จ.ศรีสะเกษ 9 โรงเรียน …นี่ก็เป็นช่องทางสำหรับผู้ใจบุญทั้งหลายที่อยากสนับสนุนการศึกษาแด่พระสงฆ์และสามเณร

    ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้ และรู้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง ทาง อ.ผ่องพรรณ ระบุว่า… คนที่น่าเห็นใจที่สุดคือ คุณครูในโรงเรียนพระเหล่านี้ เพราะปกติแล้ว คนที่เรียนจบครูมา หากไปทำงานสอนในโรงเรียนทั่วไปจะได้รับเงินเดือนเบื้องต้นคนละ 15,000 บาท แต่พอมาสอนที่โรงเรียนพระแบบนี้ ด้วยความที่เป็น “ครูฆราวาส” จึงได้เงินเดือนเพียงเดือนละ 4,000-8,000 บาทเท่านั้น และไม่มีสวัสดิการอะไรเพิ่มเลย เพราะทำงานเสมือนเป็น “ลูกจ้างวัด”

    “บางโรงเรียนที่เจ้าอาวาสและผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นคนเดียวกัน ครูก็อาจจะได้รับการจัดสรรเงินเพิ่มมากขึ้น แต่หากเป็นคนละคนกัน เงินเดือนครูก็จะขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นหลัก ซึ่งมีเคสหนึ่งที่ จ.พะเยา ครูน่าสงสารมาก เพราะสอนมากว่า 10 ปี แต่เงินเดือนไม่เพิ่มขึ้นเลย” …เป็น “ฉากชีวิตครูในโรงเรียนสอนพระ” ที่ทาง อ.ผ่องพรรณสะท้อนไว้ พร้อมกับกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้จึงอยากเชิญชวนให้ภาคเอกชนที่มีโครงการเพื่อสังคม มีจิตศรัทธา เข้ามาร่วมกันช่วยเหลือดูแลสนับสนุนในด้านนี้ เช่นเดียวกับที่ทางบริษัท KTBGS ในเครือธนาคารกรุงไทย ได้มีการดำเนินการอยู่

    e0b88-2e0b980e0b8a3e0b8b5e0b8a2e0b899e0b8aae0b8b2e0b8a-2e0b980e0b893e0b8a3-e0b8a8e0b8b6e0b88-2-2.jpg

    ด้าน พระครูจันทรวิริโยภาส เจ้าอาวาสวัดศรีเมืองมาง และเจ้าคณะตำบลมาง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ในฐานะ ผอ.โรงเรียนพระปริยัติธรรม ป่าแขมวิทยา ก็ได้เล่าว่า เดิมโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดป่าแขม อ.เชียงม่วน มากว่า 20 ปี โดยเพิ่งจะย้ายสถานที่มายังวัดศรีเมืองมางเมื่อปลายปี 2557 และเริ่มเข้าโครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2556 โดยพระครูรูปเดิมบอกอีกว่า ในอดีตโรงเรียนแห่งนี้ประสบกับวิกฤติ ทั้งด้านการเงิน และสถานที่ จนเมื่อปี 2558 ทาง KTBGS ได้เข้ามาสนับสนุนด้านต่าง ๆ ให้แก่โรงเรียน ทำให้คณะผู้บริหารและคณะครูมีกำลังใจมากขึ้น นอกจากนั้น นักเรียนสามเณรทุกคนก็สนุกกับการเรียนมากขึ้น

    “สำหรับภารกิจต่อไป คือต้องทำให้โรงเรียนมีความยั่งยืน ซึ่งทุกคนทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการสนองงานตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนั้นยังถือเป็นการส่งเสริมให้มีศาสนทายาท เพื่อสร้างกำลังให้กับพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งด้วย”

    พระครูจันทรวิริโยภาส กล่าวต่อไปว่า ที่โรงเรียนมีนักเรียนสาม เณร 50 รูป มีครูฆราวาส 4 คน ได้เงินเดือนคนละ 7,500 บาท และมีครูพระอีก 6 รูป ได้เงินเดือนรูปละ 5,000 บาท ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ได้รับการจัดสรรจาก พศ. เดือนละ 65,000 บาท แต่ทางวัดมีค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่เดือนละกว่า 100,000 บาท ซึ่งส่วนเกินตรงนี้ทางวัดจะหามาจากเงินบริจาค เงินจากการจัดงานศพ และเงินทำบุญจากญาติโยม นำมาเฉลี่ยรวมกันเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้

    พร้อมกันนี้ยังมีการระบุถึง “ชีวิตครูฆราวาส” ในโรงเรียนพระว่า ถ้าหากมีงบประมาณเพียงพอกว่านี้ก็จะสามารถจ้างคุณครูที่ตรงสาขากับรายวิชาได้มากขึ้น แต่ขณะนี้ยังทำไม่ได้เพราะมีงบประมาณไม่เพียงพอ โดยคุณครูที่เสียสละสอนหนังสือเหล่านี้ นอกจากเงินเดือนแล้วก็ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย จึงต้องใช้แต่คนในพื้นที่เท่านั้น เพราะค่าตอบแทนน้อย หากเป็นคนนอกพื้นที่ก็จะลำบาก และสำหรับในด้าน “การให้การศึกษาแก่สามเณร” นั้น พระครูรูปเดิมระบุว่า สามเณรที่เข้าเรียนที่นี่ ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน ซึ่งถ้าเข้าโรงเรียนทั่วไปก็จะมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้เลือกส่งลูก ๆ มาบวชเพื่อจะได้เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้นั่นเอง

    “สามเณรบางคน พ่อแม่ก็เอามาฝากกับทางวัดไว้เลยเพราะต้องไปทำงานที่อื่น โดยจะฝากเงินส่วนหนึ่งให้ทางเจ้าอาวาสดูแล เราจึงเหมือนพ่อเหมือนแม่ของเขาอีกคนหนึ่ง หรือบางคนพ่อแม่ไม่เคยมาหาเลย จนเราต้องพาไปหาพ่อแม่เขาเองก็มี โชคดีที่ในส่วนนี้มีชุมชนเข้ามาช่วยเหลือเราใน หลาย ๆ เรื่อง ก็แบ่งเบาภาระของพระและวัดไปได้มากเหมือนกัน ซึ่งสังเกตได้เลยว่าวัดไหนที่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย จะมีสามเณรเยอะ เพราะทั้งวัดและชุมชนช่วยกันดูแล ซึ่งอาตมาในฐานะเจ้าอาวาส และผู้บริหารโรงเรียนนี้ ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด” …เป็นความมุ่งมั่นของพระครูรูปนี้

    สำหรับ “รายวิชา” ที่สามเณรจะต้องเรียนนั้น พระครูจันทรวิริโยภาส อธิบายว่า นอกจากนักเรียนสามเณรเหล่านี้จะต้องเรียนสวดมนต์ และเทศน์ภาษาพื้นเมืองแล้ว ก็ต้องเรียนวิชาสามัญแบบโรงเรียนปกติด้วย โดยจะมีการทดสอบเหมือนโรงเรียนทั่วไป มีทั้ง O-Net และ A-Net นอกจากนี้ยังต้องสอบ B-Net ด้วย คือทดสอบทักษะภาษาบาลี สอบนักธรรม และพุทธประวัติ

    “การศึกษามีความสำคัญกับสามเณรเหล่านี้อย่างมาก เพราะจะเป็นสิ่งที่ติดตัวพวกเขาไปจนตาย ถ้าไม่ทำ พวกเขาก็จะไม่มีโอกาส และส่งผลต่ออนาคตของเด็ก ซึ่งการที่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแบบนี้ ผู้ปกครองต่างก็ดีใจ และมีความสบายใจ ถึงแม้ว่าการเป็นนักเรียนพระกับนักเรียนปกติจะต่างกัน เพราะนักเรียนพระนั้นจะมีระเบียบวินัยค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นการฝึกความอดทน ซึ่งที่ผ่านมามีนักเรียนสามเณรหลายรูปที่เรียนจบไปแล้ว เมื่อสึกออกไป ก็สามารถที่จะไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือมีวุฒิการศึกษานำไปใช้สมัครงาน ซึ่งทางโรงเรียนก็ภูมิใจที่ทำให้พวกเขามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น” …พระครูจันทรวิริโยภาส กล่าว

    b88-3e0b980e0b8a3e0b8b5e0b8a-3e0b899e0b8aae0b8b-3e0b8a-3e0b980e0b893e0b8a3-e0b8a8e0b8b6e0b88-3-3.jpg

    ขณะที่ พระครูสุนทรบุญวินิฐ ประธานกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม ป่าแขมวิทยา ได้กล่าวถึง “กิจวัตรประจำวัน” ของนักเรียนสามเณรว่า มี 2 หน้าที่ คือ 1. สามเณร และ 2. นักเรียน โดยเริ่มจากเมื่อตื่นเช้าก็จะต้องลงทำวัตรเช้า หลังจากนั้นก็จะทำวัตรตนเอง และกวาดลาน วัด ออกบิณฑบาต โดยเมื่อเสร็จแล้วจึงจะฉันภัตตาหารเช้า จากนั้นจึงเริ่มต้นหน้าที่นักเรียน ด้วยการไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม ช่วงเวลา 08.30-16.00 น. และหลังเลิกเรียนก็จะเดินทางกลับวัดเพื่อทำการสรงน้ำ ทำวัตรเย็น ทำการบ้าน และจำวัดในเวลา 21.00 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์นักเรียนสามเณรก็จะได้หยุดเรียน รวมถึงเพิ่มวันหยุดในทุกวันพระอีกด้วย แต่ก็จะมีกิจกรรมในวันพระให้สามเณรต้องทำ คือจะต้องเรียนการเทศน์ภาษาพื้นเมือง และช่วยเหลืองานของทางวัด …นี่เป็นคำบอกเล่าเกี่ยวกับกิจวัตรของนักเรียนสามเณรเหล่านี้

    ทั้งนี้ พระครูสุนทรบุญวินิฐ เน้นย้ำทิ้งท้ายกับ “ทีมวิถีชีวิต” ไว้ว่า… “ชีวิตการเป็นสามเณรจะเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการฝึกความอดทนกับทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งจะช่วยให้สามเณรเติบโตเป็นกำลังที่มีคุณภาพของพระพุทธศาสนาต่อไป หรือแม้แต่ถ้าหากเขาจะก้าวออกไปจากโลกของสงฆ์ก็ตาม การอบรม และวิชาความรู้เหล่านี้ ก็จะทำให้…
    เป็นคนดีที่มีคุณภาพกับสังคมต่อไป”.

    —————————–

    สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.dailynews.co.th/article/597212
     

แชร์หน้านี้

Loading...