เรื่องเด่น ไปแล้วหรือยัง “หลวงพระบาง” เมืองมรดกโลก

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 14 มิถุนายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    0b8abe0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8a2e0b8b1e0b887-e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ae0b8b2.jpg
    (บรรยากาศถนนคนเดินคึกคักทั้งชาวไทยและต่างชาติ)

    แม้ สปป.ลาว จะเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดเรามาก มีพรมแดนติดกับไทย ห่างกันแค่น้ำโขงกั้นเท่านั้น แต่ถ้าไปเที่ยวจะว่าง่ายก็ได้ หรือยากก็ได้ เมืองที่น่าสนใจก็คือ เมืองหลวงเวียงจันทน์ วังเวียง จำปาสัก บ่อแก้ว หลวงพระบาง ฯลฯ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ วัดวาอาราม สถาปัตยกรรมที่งดงาม ประชาชนยังคงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และอาหารก็ถูกปาก กินง่าย เป็นโอกกาสดี เพราะเมื่ออาทิตย์ก่อนได้มีโอกาสเดินทางไปหลวงพระบาง เมืองมรดกโลก

    8abe0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8a2e0b8b1e0b887-e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ae0b8b2-1.jpg

    (ส้มตำหลวงพระบาง อร่อยนัวๆ)

    มาถึงหลวงพระบางในช่วงเที่ยง ลงจากเครื่องปุ๊บ จุดหมายแรกก็มุ่งหน้าไปที่ร้านอาหาร ชื่อว่าตำรับลาว ร้านสไตล์ลาวโมเดิร์น ตั้งอยู่ตรงถนนเส้นหลัก อย่างงล่ะ ว่าถนนเส้นหลักคือเส้นไหน เพราะที่นี่เขามีถนนที่ใช้สัญจรอยู่เพียง 3 เส้น มีเส้นแม่น้ำคาน เส้นหลัก และเส้นแม่น้ำโขงเท่านั้น เดินทางง่าย จราจรไม่ติดขัด แน่นอน มาที่นี่ต้องมาทานอาหารพื้นบ้าน กรุ๊ปเราประเดิมด้วยไคแผ่น หน้าตาคล้ายกับสาหร่ายทอด ต้องทานคู่กับแจ่วบอง อร่อยเด็ดดวงสุด ฟินที่สุดก็ต้องเป็นส้มตำ เพราะส่วนผสมของปลาร้ากับกะปิ ตำใส่กับเส้นมะละกอเส้นใหญ่แบบฝานบางๆ ไม่ได้สับเหมือนบ้านเรา อย่างที่เรียกว่าตำหลวงพระบาง บอกเลยว่านัวจนลืมรสชาติที่เมืองไทยเลย นี่แหละได้กินอาหารอร่อยก็มีแรงเดินทาง

    8abe0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8a2e0b8b1e0b887-e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ae0b8b2-2.jpg

    (บรรยากาศรอบนอกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองหลวงพระบาง)

    จุดหมายต่อไปที่พระราชวังหลวงพระบาง ปัจจุบันถูกตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองหลวงพระบางและหอพระแก้ว ที่นี่เคยเป็นพระราชวังเก่า ที่ประทับของเจ้ามหาชีวิต หมายถึงที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2447 สมัยเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ สืบทอดต่อมาถึงสมัยเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายของลาว ตัวอาคารมีลักษณะแบบฝรั่งเศส ส่วนหลังคาจะเป็นทรงลาว ด้านหน้าหันไปทางพระธาตุพูสี ข้อปฏิบัติสำคัญคือ ห้ามถ่ายรูป ยกเว้นภายนอกตัวอาคาร เมื่อได้เดินเข้าไปด้านในห้องแรก ห้องฟังธรรม มีธรรมาสน์ และพระที่นั่งของเจ้ามหาชีวิต
    ถัดมาอีกห้องเป็นที่ไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง มีที่นั่งไว้สำหรับแขกที่มาเยือน ยังคงเป็นของเดิม ซึ่งอยู่ในสภาพดีมาก ภายในห้องมีจิตรกรรมฝาผนังวิถีชีวิตชาวลาว วาดโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส และยังมีประติมากรรมรูปปั้นของเจ้ามหาชีวิตอุ่นคำ เจ้ามหาชีวิตคำสุข และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ มองดูแล้วเหมือนได้สัมผัสพระองค์ตัวจริงๆเลย ถัดไปเป็นห้องท้องพระโรง ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก มีความอลังการด้วยผนังห้องสีแดงสด ตัดกับจิตรกรรมฝาผนังด้วยแก้วโมเสกหลากสีรูปคนสวมชุดลาวในท่าทางต่างๆ พี่แยะ ไกด์ผู้ให้ข้อมูลบอกว่า ตรงกลางห้องเป็นพระราชอาสน์ ซึ่งได้สร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้ในพิธีราชาภิเษกเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ด้านข้างมีพระมหาพิชัยมงกุฎของพระมหากษัตริย์และพระราชินี ที่มีความวิจิตรงดงาม
    อีกห้องถัดมาเป็นห้องบรรทมของพระอัครมเหสีเจ้าหญิงคำผูย ที่มีความเรียบง่าย ในบริเวณเดียวกันก็เป็นห้องบรรทมของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา อีกห้องก่อนทางออกมีภาพวาดของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา มีพระประจำวัดเกิดอยู่เบื้องหลัง เด่นตระหง่านด้วยฝีมือจิตรกรชาวรัสเซีย ขนาดเท่ากับตัวจริง ไกด์บอกว่าหากลองสบตากับพระองค์และเคลื่อนย้ายร่างกายไปขวาหรือซ้ายจะเห็นแววตาของพระองค์ที่คอยมองตามเสมอ ทุกสิ่งอย่างที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ล้วนแต่เป็นของในอดีตที่ใช้จริง และบางส่วนก็ยังคงจัดวางไว้ยังที่เดิม เจ้าหน้าให้การดูแลรักษาเป็นอย่างดี ทำให้นักท่องเที่ยวหรือแม้แต่คนลาวรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็นและสัมผัสสิ่งเหล่านี้

    8abe0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8a2e0b8b1e0b887-e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ae0b8b2-3.jpg

    (พระพุทธรูปและจิตรกรรมบนผนังวัดป่ารวก)

    ในบริเวณเดียวกันเป็นโรงราชรถ ที่มีรถยนต์รุ่นผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ.1950-1975 เช่น Citroen สีดำ ของฝรั่งเศสที่เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาเคยประทับด้วย ในบริเวณเดียวกันใกล้กับประตูทางเข้าเป็นที่ตั้งของหอพระบางองค์จริง ที่หล่อมาจากประเทศศรีลังกา สร้างด้วยทองคำถึง 90 เปอร์เซ็นต์ มองจากที่หอพระบางออกไปก็จะเป็นอนุสาวรีย์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ที่นี่นักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาเยี่ยมชมมาก ทำให้บริเวณนอกวัดคึกคักไปด้วยรถรับจ้าง พ่อค้าแม่ขาย โชคดีอีกอย่างคือ เราได้มีโอกาสรู้จักวัดป่ารวก ที่อยู่เชิงบันไดทางขึ้นไปพระธาตุพูสี วัดเก่าแก่ที่เป็นที่เคารพเชื่อถือของชาวลาวและชาวหลวงพระบาง ซึ่งทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปสามองค์ มีจิตรกรรมฝาผนังที่เลือนรางค่อนข้างมาก ลุงที่ดูแลบอกว่า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย ทำให้วัดแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างไทยและลาว

    8abe0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8a2e0b8b1e0b887-e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ae0b8b2-4.jpg

    (เดินชมอาคารแบบโคโลเนียลยามเย็น)

    พอใกล้ค่ำก็มาเดินถนนคนเดินที่ถนนสีสะหว่างวง ที่ส่วนใหญ่จะขายของพื้นบ้าน อย่างผ้าซิ่น เสื้อผ้า กระเป๋าทำมือ หรือเครื่องใช้ต่างๆ ไม่ค่อยมีของกินเท่าไหร่ แต่ร้านน้ำผลไม้มีเยอะเชียว พอให้ได้ดับกระหาย หากไม่มีร้านค้ามาวางของขาย ก็จะสามารถเดินชมอาคารแบบโคโลเนียลได้ทั้งสองข้างทางเลย ปัจจุบันได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นร้านค้า ร้านอาหาร นับว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนว่าอิทธิพลของชาวฝรั่งเศสมีผลต่อความเป็นอยู่ของชาวลาวไม่น้อย

    8abe0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8a2e0b8b1e0b887-e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ae0b8b2-5.jpg

    (ตื่นเช้าตักบาตรข้าวเหนียว)

    เช้ามืดวันถัดมาก็เสริมสิริมงคลด้วยการใส่บาตรข้าวเหนียว ประเพณีที่สืบทอดกันมาของชาวลาว ที่บริเวณกำแพงวัดแสงสุขาราม ไปตลอดแนวถนน ชาวบ้านก็จะจัดเตรียมโต๊ะ กระติ๊บข้าวเหนียว ข้าวต้มมัด และผ้าสไบพาดบ่า หากใครจะใส่กับข้าว หรือของถวายอื่นๆ ก็ได้ เพราะกับข้าวจะนำไปถวายให้พระที่วัดอีกที ส่วนใหญ่ก็จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติใส่ผ้าซิ่นมานั่งรอใส่บาตรกัน ข้าวเหนียวที่นี่ปั้นไม่ติดมือ ซึ่งต้องปั้นไว้รอพระ เพราะพระของหลวงพระบางเดินค่อนข้างไวอยู่เหมือนกัน

    8abe0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8a2e0b8b1e0b887-e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ae0b8b2-6.jpg

    (วังเจ้าเพชรราช)

    ไปต่อที่วังเจ้าเพชรราช หรือวังเชียงแก้ว ดีหน่อยที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงแรม The Grand Luang Prabang เจ้าหน้าที่ที่ดูแลได้เล่าให้ฟังว่า ที่นี่เป็นวังเจ้าเพชรราช อุปราชองค์สุดท้ายของหลวงพระบาง มีอายุประมาณ 80 ปี พระองค์เคยลี้ภัยหนีมาที่เมืองไทยด้วย วังของพระองค์มีขนาดกลางๆ แต่ถูกจัดเป็นสัดส่วน มี 2 ชั้น ในสไตล์ฝรั่งเศสผสมลาว ด้านล่างเป็นพื้นที่จัดแสดงภาพของพระองค์ มีภาพที่เคยไปล่าสัตว์ที่ประเทศไทยในจังหวัดกาญจนบุรีด้วย ไฮไลต์ของอดีตวังแห่งนี้ก็คือ บันไดที่ยังคงเป็นแบบดั้งเดิม ไม่ได้ดัดแปลงใดๆ ห้องทำงานเมื่อเปิดหน้าต่างก็จะได้เห็นวิวแม่น้ำโขง นั่งทำงานมุมนี้ยามเช้าคงจะสุนทรีไม่น้อยเลยล่ะ

    8abe0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8a2e0b8b1e0b887-e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ae0b8b2-7.jpg

    (มุมที่เห็นยอดฉัตร วัดเชียงทอง)

    เดินทางต่อไปที่วัดเชียงทอง ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช หรือราวๆ ค.ศ.1560 ที่นี่มองภายนอกบรรยากาศก็เหมือนวัดอื่นๆ ในลาว แต่ไฮไลต์คือ สิม ที่ถือได้ว่าเป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมสกุลช่างล้านช้าง สิ่งที่โดดเด่นจนสะดุดตาคือหลังคา ที่ซ้อน 3 ตับ ถูกดัดให้อ่อนโค้งไล่ระดับต่ำลงมามากทีเดียว และตรงกลางหลังคายังมียอดฉัตรที่เด่นตระหง่าน สัญลักษณ์ที่แสดงถึงวัดของพระมหากษัตริย์ เดินชมรอบๆ วัดก็จะมีจิตรกรรมผนังด้านนอกด้วยกระจกโมเสกเหมือนในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองหลวงพระบาง มีหอพระม่านและพระเสี่ยงที่ใช้แห่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในบริเวณเดียวกันยังมีโรงราชรถที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และโกศสำหรับพระมหากษัตริย์และพระอัครมเหสี จัดแสดงไว้ให้ชมด้วย ถึงจะแอบขนลุกนิดๆ แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นของที่ใช้ในพิธีจริงๆ

    8abe0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8a2e0b8b1e0b887-e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ae0b8b2-8.jpg

    (พระโกศของพระมหากษัตริย์และพระอัครมเหสี)

    ก่อนกลับได้มีโอกาสแวะไปที่วัดวิชุนราช หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า วัดหมากโม ชาวบ้านแถวนี้เล่าว่า ที่เรียกว่าวัดหมากโม ก็เพราะว่าพระธาตุมีรูปทรงคล้ายแตงโมผ่าครึ่ง ซึ่งภาษาลาวคำว่าแตงโม ก็คือหมากโม พอได้เห็นของจริงแล้วก็ถึงกับบางอ้อเลยทีเดียว แต่จุดสำคัญคือต้องมากราบพระองค์เจ้าหลวง พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายในโบสถ์ ที่มีขนาดใหญ่กว่าพระประธานทุกวัดที่ได้ไปมา และเป็นที่ล้ำลือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ใครอยากรู้ว่าจริงไหมก็ต้องมาลองขอพระสักข้อดูนะ

    8abe0b8a3e0b8b7e0b8ade0b8a2e0b8b1e0b887-e0b8abe0b8a5e0b8a7e0b887e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ae0b8b2-9.jpg

    (สันติเจดีย์)

    ขอแวะอีกนิดที่วัดป่าโพงเพิง ที่สันติเจดีย์ พระธาตุแห่งความเจริญ มีการออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมล้านช้างแบบประยุกต์ มี 5 ชั้น แต่ที่ชอบมากที่สุดคงจะเป็นชั้น 2 พระได้เห็นวิวของหลวงพระบางมุมสองแบบฟินๆ ไปเลย แถมอากาศก็ดี ลมโชยตลอด ได้คลายร้อนลงบ้าง พอได้เวลาจะกลับบ้านก็ยังไม่อยากกลับเลย รู้สึกหลงรักหลวงพระบางเข้าให้แล้ว เพราะตลอด 2 วัน 1 คืน ที่ได้ไปเที่ยววัดในหลวงพระบาง ไม่น่าเบื่อเลยสักนิด เพราะได้เห็นคนที่นี่เขารักและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม สถานที่อันเก่าแก่ไว้เป็นอย่างดี มีรอยยิ้มที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำให้รู้สึกอบอุ่นเป็นมิตร อีกอย่างที่ชอบคงเป็นการจัดการพื้นที่ของเขาที่แบ่งโซนชัดเจนว่าโซนนี้เที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ ชิวๆ และอีกโซนก็จะมีร้านเหล้า ผับบาร์ก็ว่ากันไป คิดแล้วก็หาเวลาว่างมาเที่ยวหลวงพระบางอีกสักครั้งดีกว่า.

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thaipost.net/main/detail/38490
     

แชร์หน้านี้

Loading...