เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 2 มกราคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา ทุกวันอาทิตย์ทางชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน สภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ จัดให้มีโครงการ "หิ้วตะกร้า นุ่งผ้าซิ่น นั่งแคร่ไม้ ใส่บาตรพระทุกวันอาทิตย์" ซึ่งอาทิตย์นี้นักท่องเที่ยวมากันมากเป็นพิเศษ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน

    สาเหตุแรกก็คือ การที่เชื้อไวรัสโควิด ๑๙ แพร่ระบาด ทำให้ต้องหยุดกิจกรรมต่าง ๆ ไปนาน จึงเกิดอาการเก็บกด เมื่อถึงเวลาปล่อยให้เดินทางได้ ทองผาภูมิที่สามารถไปกลับในวันเดียวได้ ก็กลายเป็นเป้าหมายหนึ่งที่นักท่องเที่ยวตั้งความหวังเอาไว้ แล้วงานโครงการนี้ก็เท่ากับว่าทุกคนได้สร้างบุญรับปีใหม่ เราจึงเห็นนักท่องเที่ยวที่ต้องบอกว่าค่อนข้างจะมาก มาใส่บาตรกัน

    ประการต่อไปก็คือ ภาพการทำโครงการการทำกิจกรรมนี้ มีปรากฏในสื่อต่าง ๆ แล้วแต่ผู้ที่ถ่ายแล้วนำไปลง ทำให้เกิดความสนใจขึ้นมา ปัจจุบันนี้ทางด้านจังหวัดศรีสะเกษได้เลียนแบบและทำตาม แต่ว่าของเขาโครงการน่าจะใหญ่กว่า เพราะว่าผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเป็นผู้นำเอง เพียงแต่ว่าจัดในวันทำงาน ไม่ได้จัดในวัดหยุดหรือวันเสาร์-อาทิตย์แบบของวัดท่าขนุน

    คราวนี้การที่ญาติโยมทั้งหลายมาทำบุญนั้น ขอให้ทุกท่านเข้าใจว่า ในเรื่องของทานบารมี ยังเป็นแค่บุญเบื้องต้นเท่านั้น การรักษาศีลและเจริญภาวนา ที่เป็นบุญเบื้องกลางและเบื้องปลายยังมีอยู่ การที่ท่านทั้งหลายส่วนหนึ่งถนัดแต่การให้ทาน สามารถทำบุญได้ทันทีทุกครั้งที่เห็นกองบุญการกุศลปรากฏอยู่เฉพาะหน้า แต่ถ้าหากว่าบอกให้รักษาศีล รู้สึกว่ามีกำลังใจที่ไม่เพียงพอ เห็นเป็นของยาก ทำไม่ได้ แล้วถ้าพูดถึงการเจริญภาวนาก็คือมืดแปดด้านไปเลย ไม่รู้ว่าเขาทำกันอย่างไร !?

    เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก สำหรับประเทศไทยของเราที่ประชากร ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์นับถือพระพุทธศาสนา แต่เป็นการนับถือตามทะเบียนบ้านเสียส่วนใหญ่ น้อยคนที่จะทำตนให้สมกับเป็นพุทธศาสนิกชน หลัก ๆ ที่พบมาเลยก็คือ ทำบุญใส่บาตรปีละครั้งในวันเกิดของตนเอง หากว่าทุกคนลองคิดดูว่า
    ถ้าระยะเวลา ๓๖๕ วัน แล้วเรากินอาหารครั้งหนึ่งจะอยู่ได้ไหม ?
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ในเรื่องของบุญของกุศลนั้นสำคัญยิ่งกว่าอาหาร เพราะว่าอาหารช่วยให้เราดำรงอยู่ได้เฉพาะชีวิตนี้ แต่บุญกุศลนั้นสามารถนำติดตัวไปยังโลกหน้า ในชาติอื่น ๆ ได้ด้วย แล้วที่สำคัญก็คือ ต้องทำให้ต่อเนื่อง

    เราจะสังเกตว่าทำไมบางท่าน ชีวิตหน้าที่การงานครอบครัวของเขาดีไปหมด ก็เพราะว่ามีการสร้างบุญสร้างกุศลอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้รอกินบุญเก่าอย่างเดียว บุญเก่าที่เป็นปุพเพกตปุญญตา ได้บำเพ็ญมาดีแต่ปางก่อน อาศัยบุญเก่าอย่างเดียว ถ้าบุญขาดช่วงเมื่อไรก็เดือดร้อนเมื่อนั้น แต่ถ้าเรารู้จักสร้างบุญในปัจจุบันเสริมเพิ่มเติมเข้าไป อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ผลดีนั้นก็จะส่งผลให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

    กระผม/อาตมภาพไปประเทศพม่า เห็นการสร้างบุญสร้างกุศลของเขาโดยไม่ประมาทแล้ว รู้สึกว่าพุทธศาสนิกชนชาวไทยของเรายังห่างไกลจากเขามาก คนพม่าทุกวันก่อนที่จะไปทำงาน ถ้าหากว่ามีวัด มีเจดีย์อยู่ใกล้วัด ก็เข้าวัดไปสวดมนต์ไหว้พระ จนกระทั่งสบายใจก่อนแล้วค่อยไปทำงาน กลับจากการทำงานมา เข้าวัดสวดมนต์ไหว้พระ เจริญกรรมฐานจนสบายใจก่อนค่อยเข้าบ้าน ถ้าหากว่าบ้านอยู่ไกลวัด ไกลศาสนสถาน จะมีเครื่องบันทึกเสียงสวดมนต์ไหว้พระ หรือว่าเสียงหลวงปู่หลวงพ่อที่เขาเคารพนับถือแสดงธรรม เปิดฟังและปฏิบัติกันที่บ้าน

    การเข้าวัดของพุทธศาสนิกชนชาวพม่านั้น เหมือนบ้านเราไปเดินห้างดัง ๆ ที่เปิดใหม่ ก็คือไม่ว่าจะวัดไหนก็ตาม..แน่นขนัดไปหมด พูดง่าย ๆ ว่าสร้างศาสนสถานขึ้นมาเมื่อไร ก็ได้ใช้งานกันอย่างคุ้มค่าเมื่อนั้น
    แม้กระทั่งเจดีย์ที่สร้างไว้บนยอดเขาสูง ๆ ทุรกันดาร ก็ยังมีคนทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะกวาดทางขึ้น แล้วคนที่กวาดนั้น ส่วนใหญ่ก็คืออุบาสก อุบาสิกาที่ชราภาพมากแล้ว อายุ ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี ก็ยังมี แต่ว่าแข็งแรงมาก เพราะว่าเดินขึ้นเขาทุกวัน

    ดังนั้น...เราจะเห็นได้ว่าในส่วนของพุทธศาสนิกชนชาวไทยของเรา ยังทำตนไม่สมกับการเป็นประเทศของพระพุทธศาสนา ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พวกเราที่มาปฏิบัติธรรมนั้นกลายเป็นส่วนที่แปลกแยกจากสังคม และเป็นส่วนที่ทำให้เรานั้นยึดติดได้มาก ก็คือยึดติดว่าเราเป็นผู้รักษาศีลปฏิบัติธรรม มีความเหนือกว่าคนอื่นที่ไม่ได้ทำ ถ้าพูดกันแบบภาษาชาวบ้านก็คือ รู้สึกว่ากูดีกว่า การติดดีนั้นเป็นเรื่องที่แก้ไขยากมาก เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าไปเข้าใจผิด คิดว่าตนเองดีแล้ว ก็เลยไม่ฟังใคร
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    โดยเฉพาะถ้าหากว่าเป็นเรื่องของการให้ทาน ต่อให้เป็นสังฆทาน วิหารทาน หรือธรรมทานก็ตาม ถ้าให้ไม่เป็น ผลเต็มที่ก็แค่กามาวจรสวรรค์ ก็คือเป็นเทวดานางฟ้าใน ๖ ชั้น ไปได้ไม่เกินนั้น ถ้าหากว่าให้ทานถูกวิธี ให้ประจำจนกระทั่งกลายเป็นความเคยชิน สามารถเกิดเป็นพรหมได้ ตามแต่กำลังความเคยชินของแต่ละคนที่ได้สร้างเอาไว้ แต่ถ้าให้ดียิ่งกว่านั้น ก็คือ มีอุเบกขาในการให้ทาน

    หลายท่านอาจจะสงสัยตนเองว่า ก่อนหน้านี้ให้ทานเท่าไร ก็ไม่รู้สึกอิ่ม ไม่รู้สึกเบื่อ ชื่นอกชื่นใจมาก แต่ปัจจุบันทำไมเฉย ๆ กำลังใจของเราลดน้อยถอยลงหรือเปล่า ? ขอให้ทุกท่านโปรดเข้าใจว่า ถ้าท่านยังให้ทานตามปกติ กำลังใจก็ไม่ได้ถอยลง หากแต่สูงขึ้น อยู่ในระดับทรงฌานได้แล้ว ในเมื่อทรงฌานได้แล้ว ก็จะมีตัวอุเบกขาอยู่ในกำลังใจของตน เพราะว่าฌานสมาบัติทุกระดับ ถ้าไม่มีอุเบกขาอยู่ ก็ไม่สามารถจะทรงเป็นฌานในฌานหนึ่งได้

    ในเมื่อมีอุเบกขาอยู่ ก็แค่รู้ว่าดีก็ทำ ยังคงทำเป็นปกติ แต่ด้วยความที่กำลังใจทรงฌานแล้ว จึงก้าวผ่านตัวปีติ ตัวสุข ไปเป็นเอกัคตารมณ์ ในเมื่อเป็นเอกัคตารมณ์ กำลังใจประกอบด้วยอุเบกขา ความรู้สึกชื่นอกชื่นใจที่เคยให้ทานก็ไม่มีเหมือนเดิม แต่ไม่ใช่แปลว่ากำลังใจของเราลดน้อยถอยลง หากแต่ก้าวหน้าขึ้นมากกว่าเดิม

    คราวนี้การที่เราจะก้าวขึ้นมาถึงตรงจุดนี้ ก็คือการให้ทานโดยประกอบด้วยอุเบกขานั้น ก็มีน้อยมาก เพราะว่าหลายคนให้ทานแล้วก็ยังยึดติด "หลวงพ่อต้องใช้ของเรา" "หลวงพ่อต้องกินของเรา" ไม่อย่างนั้นรู้สึกว่าไม่ได้บุญ บางรายถึงขนาดตามเช็คเลยว่าของที่ให้ไป หลวงพ่อได้กินได้ใช้จริงหรือเปล่า ? นั่นยิ่งแสดงออกให้เห็นชัดว่ากำลังใจแย่มาก


    การให้ทานนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ชัดเจนว่า เจตนาหัง ภิกขเว ปุญญัง วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เป็นเพียงเจตนาคือความตั้งใจ ก็เป็นบุญแล้ว ก็คือถ้าเราตั้งใจทำบุญ จิตใจเราประกอบด้วยการสละออก ก็เป็นจาคานุสติแล้ว ถ้าหากว่าได้ทำตามที่ตั้งใจไว้ ก็เป็นทานบารมี แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะยึดติด

    อย่างเมื่อเช้านี้ที่เดินบิณฑบาตก็เช่นกัน ญาติโยมบางท่านเตรียมตัวช้า กระผม/อาตมภาพก็เดินเลยไป เขาวิ่งไล่ตามมา พูดง่าย ๆ ก็คือต้องใส่หลวงพ่อเท่านั้น สรุปว่าอานิสงส์ที่ควรจะได้เป็นแสนเท่าก็ลดลงมาเหลือแค่หนึ่งเดียว..!!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เพราะว่าการใส่บาตร ถ้าเราไม่จำเพาะเจาะจง ใส่พระภิกษุสามเณรองค์ไหนก็ได้ จัดเป็นสังฆทานโดยอัตโนมัติ ต่อให้พระมารูปเดียวก็เป็นสังฆทาน ซึ่งอานิสงส์มากกว่าปาฏิปุคคลิกทาน คือทานเจาะจงบุคคลเป็นแสนเท่า แต่ปรากฏว่าเขาไม่ต้องการบุญมาก เขาต้องการบุญแค่นิดเดียว ก็คือต้องใส่หลวงพ่อให้ได้ วิ่งไล่ตามมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นอกจากไม่เข้าใจว่าสังฆทานกับปาฏิปุคคลิกทานต่างกันอย่างไรแล้ว ยังไม่มีอุเบกขาในการให้ทานอีกด้วย

    ดังนั้น...ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องของการรักษาศีล ว่าการที่เราเอาใจจดจ่อ ระมัดระวังไม่ให้ศีลทุกสิกขาบทบกพร่องนั้น เป็นการสร้างสมาธิโดยอัตโนมัติ เพราะสภาพจิตจดจ่อระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ถ้าภาวนาต่อนิดเดียวก็สามารถทรงอัปปนาสมาธิได้เลย

    ก็แปลว่า การที่เรารักษาศีลนั้น เป็นผลพลอยได้ให้เกิดสมาธิโดยอัตโนมัติ ก็เหลือแต่การใช้ปัญญาเท่านั้น ที่จะต้องมองให้เห็นว่า โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนแบบไหน ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างไร แล้วพยายามถอนการยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ในโลกนี้ออกไป ถ้าหากว่าถอนได้ไม่มาก ระยะทางการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารก็ยังสั้นลงอยู่ดี ถ้าหากว่าถอนได้ทั้งหมด ก็จบการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องมาทุกข์ยากเดือนร้อนอีก

    ดังนั้น...วันนี้ที่บอกกล่าวพวกเรา ก็เพื่อให้เข้าใจว่า การให้ทานนั้น อานิสงส์ยังน้อยอยู่ ประมาณว่า ทำ ๑ ได้ ๑๐๐ อรรถกถาจารย์ท่านอธิบายว่าเป็นเพราะการให้ทาน สามารถให้ด้วยกายอย่างเดียวก็ได้ การรักษาศีล อานิสงส์ประมาณว่าทำ ๑ ได้ ๑๐,๐๐๐ เพราะว่าต้องรักษากาย วาจา ใจให้เรียบร้อย แต่การเจริญภาวนานั้น ทำ ๑ ได้ ๑,๐๐๐,๐๐๐ เพราะว่าต้องทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจจริง ๆ แต่ทั้ง ๓ อย่างก็ควรที่จะกระทำไปโดยพร้อมกัน หรือว่าพยายามทำให้ครบถ้วน

    การให้ทานนั้น ถ้าเกิดใหม่ อานิสงส์จะช่วยให้เรามีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์บริบูรณ์ การรักษาศีล ทำให้เราเกิดมามีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีอวัยวะครบถ้วน ไม่พิกลพิการ การเจริญภาวนา เกิดมาเราจะมีปัญญามาก ต่อให้มีปัญหาทางโลกก็แก้ไขได้ง่าย หรือมีปัญหาทางธรรม ก็สามารถที่จะแก้ไขได้ง่าย

    จึงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องตระหนักและปฏิบัติให้ถูก ถึงจะสมกับที่เกิดมาเป็นพุทธศาสนิกชน เกิดในประเทศที่ส่วนใหญ่แล้วนับถือศาสนาพุทธ ไม่เช่นนั้นแล้วก็ถือว่าเสียชาติเกิด เหมือนหนูตกถังข้าวสารแต่ไม่รู้จักกิน แล้วก็หิวท้องกิ่ว รอเวลาให้แมวมาคาบเราไปกินแทน..!

    จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา ตลอดจนกระทั่งบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...