เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 27 มกราคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ อากาศช่วงเช้าที่อำเภอทองผาภูมิอยู่ที่ ๑๕.๕ องศาเซลเซียส กระผม/อาตมภาพออกบิณฑบาตตามปกติ ซึ่งการบิณฑบาตนั้นถือว่าเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ถ้าหากว่ากระผม/อาตมภาพอยู่วัดแล้ว ถ้าไม่ใช่ป่วยจนลุกไม่ขึ้น อย่างไรเสียก็ต้องเจริญกรรมฐาน ทำวัตรและบิณฑบาตตามปกติ

    อยากจะบอกกับทุกท่านด้วยความภาคภูมิใจว่า จากการที่บวชมา ๓๗ ปี ย่างปีที่ ๓๘ แล้ว กระผม/อาตมภาพเคยขาดการบิณฑบาตด้วยความจำเป็นจริง ๆ ก็คือเจ็บไข้ได้ป่วยจนลุกไม่ขึ้นแค่ ๔ ครั้งเท่านั้น และใน ๔ ครั้งนั้น เมื่อวันรุ่งขึ้นหลังจากที่พอประคองตัวลุกได้ ก็ออกบิณฑบาตตามปกติ

    แต่ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่อาการไข้หนักมาก จนไม่ค่อยจะรู้สึกตัว เดินไปสะดุดก้อนหิน จนกระทั่งเล็บเท้าหลุดไปทั้งอัน มารู้สึกตัวว่าเล็บเท้าหลุด ก็ตอนที่ยืนรอให้ทุกรูปที่รับบาตรแล้ว มายืนเรียงกันจนกระทั่งพร้อมเพรียงค่อยเดินต่อ ตอนนั้นเองถึงได้รู้สึกว่าบริเวณเท้าของตนมีอะไรเปียก ๆ อยู่ เมื่อมองลงไป ถึงได้เห็นว่าเล็บเท้าหลุดไปทั้งอัน เลือดนองพื้นเป็นกองอยู่ตรงนั้น..!

    หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมกระผม/อาตมภาพดื้ออะไรได้ใจขนาดนั้น..! เจ็บไข้ได้ป่วยแทนที่จะนอนรักษาตนเอง กลับไปทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเจริญพระกรรมฐาน ทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ หรือว่าบิณฑบาต ?

    เรื่องนี้ต้องบอกว่า อยู่ที่ท่านทั้งหลายเองว่า รักตัวเองมากกว่าหรือว่ารักพระธรรมวินัยมากกว่า ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายรักพระธรรมวินัยมากกว่า ก็จะปฏิบัติในสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ให้ โดยไม่คิดถึงชีวิตของตนเอง แต่ถ้าหากว่ารักตนเองมากกว่า ก็จะละทิ้งในกิจวัตร ตลอดจนกระทั่งพระธรรมวินัยเพื่อตนเอง กำลังใจแค่นี้ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะวัดได้ว่า ตนเองควรแก่มรรคแก่ผลสักเท่าไร ?
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    อีกประการหนึ่งก็คือ กิเลสนั้นมีมายามาก ถ้าหากว่าเราไปตามใจเมื่อไร กิเลสก็จะมีข้ออ้างว่า คราวที่แล้วยังได้เลย คราวนี้ก็ควรที่จะได้ด้วย เรายิ่งทำตามกิเลสมากเท่าไร เราก็ยิ่งห่างไกลจากความดีมากเท่านั้น

    ดังนั้น..บุคคลที่ประกาศว่าตนเองเป็นลูกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก ก็ควรที่จะกระทำในสิ่งที่เป็นอรรถเป็นธรรม มากกว่าที่จะกระทำสิ่งที่คล้อยตามกิเลส

    ดังนั้น..ถ้าหากว่ากิเลสมารเอาไม่อยู่ พยายามให้ขันธมารมาเล่นงานเรา แล้วเราไปยอมพ่ายแพ้ต่อขันธมาร ไม่ยอมประกอบกิจหน้าที่อันสมควรแก่ความเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ท่านทั้งหลายก็ไม่สมควรที่จะประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา

    เพียงแต่ว่าวันนี้หลังจากบิณฑบาตและฉันเช้าเรียนร้อยแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ได้เดินทางไปยังโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา เพื่อที่จะได้ร่วมงานประเมินนักเรียนรางวัลพระราชทานสำหรับโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง แต่ปรากฏว่าเมื่อไปถึงแล้ว ทางโรงเรียนเงียบเชียบเรียบร้อยมาก บรรดาครูอาจารย์ที่เจอหน้าก็เข้ามาสอบถามว่า "หลวงพ่อเดินทางมา มีงานอะไรหรือครับ ?" จึงได้บอกไปว่า "มาร่วมงานประเมินนักเรียนรางวัลพระราชทาน"

    บรรดาครูทั้งหลายก็งงมากว่า งานประเมินนักเรียนรางวัลพระราชทานนั้นไม่ใช่วันนี้ กระผม/อาตมภาพจึงเปิดไลน์ให้ดูว่า ทางท่านยงยุทธ สงพะโยม ผู้อำนวยการโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา ส่งกำหนดการมาให้ เมื่อคุณครูเห็นดังนั้น ก็รีบโทรหาท่านผู้อำนวยการ แต่อีกฝ่ายน่าจะติดธุระจึงไม่ได้รับสาย เมื่อโทรไปหารองผู้อำนวยการ ทางด้านรองผู้อำนวยการแจ้งว่า งานประเมินนักเรียนรางวัลพระราชทานนั้น จะเป็นวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ เลื่อนไปจากวันนี้ กระผม/อาตมภาพก็ได้แต่ปลงอนิจจังว่า ทำไมมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่สำคัญ แต่ว่าไม่มีการแจ้งให้ทราบอีกแล้ว..?!

    ดังนั้น..จึงได้ลาจากโรงเรียนแล้ววิ่งยาวกลับไปยังวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) แปลว่างานนี้กระผม/อาตมภาพเสียเวลาวิ่งกลับมา ๓ ชั่วโมงครึ่ง วิ่งกลับไป ๓ ชั่วโมงครึ่ง โดยที่ได้แค่ปฏิบัติตามกิจวัตรประจำวันของตนเท่านั้น ไม่ได้งานอะไรขึ้นมาเลย สงสารแต่น้องบัว (นางสาวอัจฉานันท์ วงศรีรัตนชัย) ซึ่งเป็นผู้เข้ารับงานประเมิน ถ้าหากว่ารู้ว่าหลวงพ่อมาเพื่อร่วมงานของคุณเธอ แล้วพลาดไปในลักษณะนี้ ก็คงไม่ใช่แค่ "น้ำตาจิไหล" แต่คงจะน้ำตาไหลจริง ๆ..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เมื่อมาถึงวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) กระผม/อาตมภาพก็ต้องเข้าไปตรวจปัญหาซึ่งบรรดา "ว่าที่พระอุปัชฌาย์" ได้ทำมา แล้วก็พบแต่ปัญหาเดิม ๆ อันดับแรกก็คือ ขาดความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาข้อหนึ่งถามมา ๒ คำถาม ก็ตอบคำถามเดียวบ้าง ให้บังคับทำ ๒ ข้อ ไม่บังคับ ๕ ข้อ แทนที่จะทำมารวม ๗ ข้อ ก็ทำมาแค่ ๕ ข้อ..!

    ขณะเดียวกัน เมื่อเข้าไปสอบภาคปฏิบัติ บรรดาว่าที่พระอุปัชฌาย์นั้น ส่วนใหญ่ก็มีความเคยชินในการที่ตนเองสวดตนเองท่องมาก่อน ในสมัยที่เป็นพระกรรมวาจานุสาวนาจารย์ ก็คือเคยผิดมาอย่างไร ก็ผิดต่อไปอย่างนั้น อย่างเช่น ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง ก็มักจะออกเป็น ยะถิ เป็นต้น

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ถ้าหากว่าเกิดขึ้นที่วัดท่าขนุน บรรดาพระภิกษุสามเณรจะโดนกระผม/อาตมภาพดุว่าเดี๋ยวนั้นเลย อย่างเช่นว่า นะหิ ชาตุ คัพภะ เสยยัง ในบทกรณียเมตตาสูตร มีผู้ออกเสียงเป็น นะหิ ชาตุ ขับภะ เสยยัง ซึ่งในลักษณะอย่างนี้ กระผม/อาตมภาพจะให้แก้ไขทันที ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน ก็มักจะออกเสียงเป็น ถิดถินจะ บ้าง

    ถ้าหากว่าไม่แก้ไขสิ่งที่ผิดก็จะกลายเป็นถูก แล้วถ้ามีการเลียนแบบทำตาม เพราะว่าท่านบังเอิญขึ้นไปเป็นครูบาอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหามาก ก็จะกลายเป็น "อาจาริยวาท" ก็คือการยึดวาทะรูปแบบของอาจารย์เป็นใหญ่ แล้วก็จะผิดตาม ๆ กันมา

    ดังที่หลายท่านเคยสวดมนต์แล้ว ในบทอุทิศส่วนกุศลที่ว่า

    อิมินา ปุญญะกัมเมนะ

    อุปัชฌายา คุณุตตะรา

    อาจาริยูปะการา จะ

    มาตาปิตา จะ ญาตะกา ปิยา มะมัง

    สุริโย จันทิมา ราชา ฯลฯ
    เป็นต้น

    แต่ปรากฏว่า มีหลายวัดหลายสำนัก คำว่า ปิยา มะมัง ไม่มี

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าจดจำต่อ ๆ กันมาในลักษณะที่หลงลืมกระโดดข้ามไป แล้วครูบาอาจารย์ท่านเคยชิน ท่านก็จะสวดแบบไม่มีคำว่า ปิยา มะมัง บรรดาลูกศิษย์ก็สวดตามไป เมื่อถึงเวลาไปเจอวัดที่ท่านมี ก็ยังคิดว่าของเขาผิดเสียอีก..!

    ดังนั้น..ในเรื่องของความเคยชินนั้น แม้ว่าจะแก้ไขได้ยากก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไข แม้แต่ตัวกระผม/อาตมภาพเอง ก็มีความเคยชินบางอย่าง ที่เคยผิดเคยพลาดมาก่อน แล้วก็เพียรพยายามที่จะแก้ไข ถ้าเราเป็นผู้มีสติ เราก็จะระลึกรู้ได้ว่าตรงนี้เคยผิดมาก่อน เราจะต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดอีก สำหรับท่านผู้มีสติน้อย ก็จะผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ แต่ท่านที่มีสติมาก ก็จะสามารถระมัดระวัง แล้วในที่สุดก็จะแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นได้
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ กระผม/อาตมภาพได้กำชับกำชาว่าที่พระอุปัชฌาย์ผู้เข้ารับการสอบภาคปฏิบัติว่า "หลวงพ่อต้องไปแก้ไขตรงจุดนี้ ต้องไปแก้ไขตรงจุดนี้" เป็นต้น

    อย่างเช่นว่า การบอกอนุศาสน์ ปิณฑิยาโล ปะโภชะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา ท่านก็อ่านแบบความเคยชินในภาษาไทย เห็นว่าเป็น ฑ.นางมณโฑ ก็ไปอ่านว่า ปิน-ทิ-ยา-โล ปะโภชะนัง เป็นต้น กระผม/อาตมภาพต้องยกให้ดูว่า บัณฑิต มณฑป ดังนั้น...คำว่า ปิณฑิ (ปิน-ดิ) จึงต้องใช้เสียง ด.เด็ก ไม่ใช่เสียง ท.ทหาร แต่เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ถ้าฝังรากลึกจนกลายเป็นความเคยชินแล้วก็จะแก้ไขลำบากมาก

    แบบเดียวกับอนุสัยกิเลส ซึ่งนอนเนื่องฝังลึกอยู่ในจิตในใจของเรามากัปกัลป์อนันตชาติ เกิดแล้วเกิดอีกนับไม่ถ้วน ก็จะทำให้ความเคยชินในเรื่องของ รัก โลภ โกรธ หลง ฝังอยู่ในใจของเรา ถ้าไม่พากเพียรพยายามในการขัดเกลา ก็ไม่มีวันที่จะเบาบางลง

    ถ้าหากว่าเบาบางลง เราก็จะลดในเรื่องของการตามใจกิเลสลงไปได้บ้าง

    ถ้าหากว่าขัดเกลาไปในระดับปานกลาง เราก็จะละในเรื่องของ รัก โลภ โกรธ หลง บางส่วนลงไปได้

    แต่ถ้าเรามีความสามารถ ขัดเกลาได้หมดสิ้นจริง ๆ เราก็จะเลิก ก็คือไม่กระทำตามในสิ่งที่กิเลสบังคับบัญชา เพราะว่าสภาพจิตพ้นจากการปรุงแต่งทั้งปวงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปสักแต่ว่าเป็นกิริยา มายาไม่มี สิ่งที่ทำจึงไม่นับว่าเป็นกรรม เหตุเพราะว่าจิตไม่ได้ปรุงแต่งไปในด้านของ รัก โลภ โกรธ หลง

    เพียงแต่ว่าท่านทั้งหลายที่ไปถึงระดับนี้นั้น สติของท่านสมบูรณ์มาก เรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตามที่ทำไปแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากมีผู้เลียนแบบทำตาม ท่านก็จะระมัดระวังไม่ทำอย่างนั้น แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้น สามารถละอนุสัยกิเลสได้โดยเด็ดขาดแล้ว มักจะอยู่ในลักษณะของผู้มีสติวินัย ก็คือมีสติควบคุมกาย วาจา ใจของตนเอง ไม่ให้ล่วงละเมิดในสิ่งที่เป็นบาปเป็นกรรมใหญ่
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,526
    ค่าพลัง:
    +26,366
    แต่ว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นไปตามวาสนาเดิมที่สั่งสมมา นอกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บรรดาอัครสาวกก็ดี มหาสาวกก็ดี ปกติสาวกก็ตาม ไม่สามารถที่จะละได้ ท่านทั้งหลายก็จะระมัดระวังในส่วนของพระธรรมวินัย ส่วนจริยาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม ก็ยังคงปล่อยให้เป็นไปตามวาสนาเดิมของตน

    ถ้าเป็นบุคคลในยุคพุทธกาล ก็ต้องยกตัวอย่างพระสารีบุตรมหาเถระ องค์อัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศด้วยปัญญา ถ้าหากว่าท่านเดินข้ามสถานที่เป็นร่อง เป็นราง เป็นขอนไม้อะไรก็ตาม ท่านก็จะกระโดดข้ามไปเลย ทำให้บรรดาพระปุถุชนที่ไม่รู้เหตุผลต้นกรรม ตำหนิและไปฟ้องร้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องตรัสว่า พระสารีบุตรนั้นเคยเกิดเป็นวานร คือลิง มานับเป็นร้อย ๆ ชาติ ความเคยชินจึงทำให้เผลอเมื่อไรก็กระโดดโลดเต้น แต่ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นไม่ก่อให้เกิดโทษอะไรมาก นอกจากเสียจริยาเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

    ถ้านับในยุคปัจจุบัน ก็จะมีหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท (พระครูสุทธิธรรมรังษี) พระครูบาอาจารย์ในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งท่านมีวาสนาอันตัดไม่ขาด มีกายวาจาที่ไม่เรียบร้อย แต่ว่าสภาพจิตของท่านนั้นเด่นดวงเป็นอย่างยิ่ง ก็คือขาวสะอาดผ่องใสทั้งดวง

    ดังนั้น..สิ่งที่ท่านทำ ไม่ว่าจะเป็นการตีมีดตีขวานก็ดี การขุดดินฟันหญ้าก็ตาม ตลอดจนกระทั่งการที่มีจริยาโผงผางเหมือนอย่างกับนักเลงนั้น ก็เป็นเพียงวาสนาที่ตัดไม่ขาด เราต้องมองให้ลึกเข้าไปถึงในจิตในใจ ไม่เช่นนั้นแล้วความเคยชินทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อท่านแสดงออกมา เราเองอาจจะพลาดจากบรรดาพระเถระ ผู้ทรงคุณงามความดีไปอย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...