เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 12 พฤศจิกายน 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ อีกสักครู่ก็จะมีการเทศน์สอนนาค เนื่องจากกระผม/อาตมภาพเลื่อนการบวชจากวันที่ ๑๔ มาเป็นวันที่ ๑๓ เพราะว่าทิดกวาง (กำพร พิเชฐสกุล) ที่เป็นพี่เลี้ยงในการสอนขานนาคแจ้งว่า นาคทั้งหมดท่องคำขานนาคได้คล่องแคล่วดีแล้ว จึงตัดสินใจให้บวชเร็วขึ้น จะได้ไม่ไปชนกับงานอื่น ๆ ในวันที่ ๑๔

    ในเรื่องของการขานนาค บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องบังคับกันด้วย ? ทำไมหลายวัดครูบาอาจารย์ท่านบอกให้ว่าตามทีละคำ ? ก็เพราะว่าในเรื่องของการบวชนั้น นาคที่จะบรรพชาอุปสมบท ต้องไปร้องขอกับคณะสงฆ์ ให้ช่วยยกตนขึ้นเป็นอุปสัมบัน คือผู้ที่มีศีลเสมอกัน ในเมื่อระเบียบการบวชกำหนดเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า เราต้องไปร้องขอต่อคณะสงฆ์ ก็แปลว่าต้องว่าเอง ไม่ใช่คนอื่นสอนให้ว่าตาม ถ้าคนอื่นสอน อาจจะเป็นการบังคับขืนใจ บังคับให้ตนเองบวชก็ได้ แล้วอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นการทดสอบศรัทธาของเราด้วย ว่ามีความจริงใจที่จะบวชสักเท่าไร

    เรื่องนี้ผมอยากจะยกครูบาอาจารย์รูปหนึ่ง คือหลวงปู่จันทา ถาวโร วัดเขาน้อยวังทรายพูน หลวงปู่จันทาไม่รู้หนังสือแบบคนโบราณ ก็คือไม่ได้เรียน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เมื่อตั้งใจบวชขึ้นมาก็ต้องไปอยู่วัด ให้พระพี่เลี้ยงค่อย ๆ บอกให้จดจำขั้นตอนและท่องขานนาค ตั้งแต่การขอศีลจนกระทั่งคำขอบรรพชาอุปสมบททั้งหมด ใช้วิธีเดียวกับที่โบราณต่อความรู้ หรือต่อเพลง ต่อวิชาให้ ด้วยการบอกทีละประโยค จนกระทั่งท่องจำได้แม่นยำดีแล้ว จึงค่อยบอกประโยคต่อไปให้

    หลวงปู่จันทาใช้เวลาในการซ้อมขานนาคอยู่ ๘ เดือน..! กว่าที่จะท่องจำได้ทั้งหมด ถ้าไม่ใช่คนที่มีศรัทธาตั้งใจจะบวชจริง ๆ รับประกันได้ว่าหนีกลับ
    ไปนอนที่บ้านนานแล้ว..!

    ดังนั้น...การที่พวกเราบวชก็คือ การที่เราไปร้องขอต่อคณะสงฆ์ นอกจากต้องว่าด้วยตนเองแล้ว ยังต้องเสียงดังฟังชัด ได้ยินครบถ้วนทุกรูปที่อยู่ในสังฆกรรมนั้น ไม่ใช่ไปกระซิบให้พระอุปัชฌาย์ฟังกันอยู่แค่ ๒ คน ซึ่งในเรื่องนี้บางทีก็เป็นการคัดคนในระดับหนึ่ง ก็คือบุคคลที่ขาดศรัทธา ขาดความอดทน ขาดความพากเพียร ก็ไม่อยากจะบวชที่วัดท่าขนุน เพราะว่าลำบากในการที่ต้องมาฝึกซ้อมขานนาค จึงไปหาวัดอื่นที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์คอยนำ คอยบอกให้ทีละประโยค ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ในการบวช แต่สมัยนี้ก็ไม่ค่อยที่จะถือสากัน ในเมื่อเป็นการคัดกรองผู้คนในระดับหนึ่ง จึุงทำให้พระวัดท่าขนุนค่อนข้างจะมีคุณภาพ
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    สมัยก่อนที่กระผม/อาตมภาพยังไม่ได้เป็นพระอุปัชฌาย์เอง ไม่ว่าจะเป็นพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเทพเมธากร วัดท่ามะขามก็ดี หลวงพ่อเจ้าคุณพระโสภณกาญจนาภรณ์ วัดใต้ก็ดี หรือแม้กระทั่งหลวงพ่อพระครูสุจิณบุญกาญจน์ วัดท่ามะเดื่อก็ตาม เมื่อมานั่งพระอุปัชฌาย์ที่วัดท่าขนุน ต่างก็ชื่นชมว่านาคของวัดท่าขนุนสามารถขานนาคได้คล่องแคล่ว เสียงดังฟังชัด เข้าใจขั้นตอนการบวชเป็นอย่างดี ก็แปลว่าสิ่งที่เราทำนั้น แม้กระทั่งพระอุปัชฌาย์อาจารย์ท่านก็ยังพลอยปลื้มใจไปด้วย

    คราวนี้อีกส่วนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์มาก็คือ เจ้าภาพนิมนต์พระอันดับ ๑๐ รูป การบวชนั้นถ้าหากว่าเป็นปัจจันตประเทศ ก็คือประเทศที่ไม่ได้อยู่ส่วนกลางของประเทศอินเดีย อย่างเช่นประเทศไทย เป็นต้น หาพระได้ยาก พระพุทธเจ้าอนุญาตให้คณะสงฆ์รวม ๕ รูป เรียกว่าปัญจวรรค สามารถให้การอุปสมบทได้ แต่ถ้าเป็นมัชฌิมประเทศ คือในส่วนกลางของประเทศอินเดีย ซึ่งหาพระได้ง่ายกว่า ก็ทรงกำหนดว่าเป็นคณะสงฆ์ทสวรรค ก็คือ ๑๐ รูป ให้การบรรพชาอุปสมบทได้ ญาติโยมจึงมีความเข้าใจว่านิมนต์พระแค่ ๑๐ รูปก็พอแล้ว ซึ่งความจริงถ้าวัดนั้นมีพระน้อยก็ใช่

    แต่คราวนี้พระวัดท่าขนุนช่วงนั้นมีพระ ๔๐ กว่า เกือบ ๕๐ รูป เจ้าภาพนิมนต์แค่ ๑๐ รูป กลายเป็นเสียงข้างน้อยในคณะสงฆ์ ก็แปลว่าถ้าหากว่ามีการทำพิธีบวชขึ้นมา แล้วภายในโบสถ์ทั้ง ๑๐ รูปไม่มีใครคัดค้าน ไม่ได้แปลว่าท่านทั้งหลายจะสำเร็จเป็นพระขึ้นมาได้ เพราะว่าพระที่อยู่ข้างนอกมีมากกว่า ถ้าเกิดมีใครอุตริไป "ล็อบบี้" ขึ้นมาว่า "อยากไม่นิมนต์พวกเราดีนัก พวกเราคัดค้านกันเถอะ..!" แบบนี้ก็บรรลัยเลย

    ดังนั้น...ในงานนั้น กระผม/อาตมภาพถึงได้ชี้แจงต่อญาติโยมที่เป็นเจ้าภาพว่า ถ้าไม่มีปัจจัยไทยธรรมพอที่จะถวายพระอันดับทั้งหมดก็ไม่เป็นไร นิมนต์แค่ ๑๐ รูป ก็ถวายแค่ ๑๐ รูปนั่นแหละ แต่กระผม/อาตมภาพขออนุญาตนำพระทั้งหมดเข้าโบสถ์ แล้วจะเป็นคนถวายไทยธรรมให้กับพระอันดับในส่วนที่เหลือเอง เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาอย่างที่ว่าขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ถ้าไปที่วัดอื่นแล้ว จะมีการตั้งข้อสังเกตและระวังป้องกันแบบวัดท่าขนุนหรือไม่ ?

    ตรงจุดนี้เหมือนอย่างกับว่าวัดท่าขนุนของเราเรื่องมาก นิมนต์พระตามจำนวนที่ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตก็น่าจะพอแล้ว แต่เราต้องเข้าใจว่านั่นเป็นสมัยก่อนที่พระไม่ได้อยู่รวมกัน ถึงเวลาบวชเสร็จ ก็มักจะจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ แม้ว่าในส่วนกลางของประเทศที่มีพระมากกว่าในปัจจันตชนบท ก็ยังคงจะต้องรออาราธนา หรือนิมนต์พระท่านให้ครบ ๑๐ รูปก่อน ถึงจะทำการบวชได้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ประการต่อไปก็คือ บรรดานาคทั้งหลายบวชเข้ามาแล้ว ตอนนี้แหละสาหัส..! เนื่องเพราะว่ากฎเกณฑ์กติกาในการดำเนินชีวิตของท่าน เปลี่ยนไปจากหลังเท้าเป็นหน้ามือ..! จากศีล ๕ ข้อ บางทีก็ไม่ครบ ต้องมาเจอศีล ๒๒๗ ข้อ อะไรที่เคยทำตามใจตนเองได้ กลายเป็นทำไม่ได้ทั้งหมด

    สมัยก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญฺโญ ป.ธ.๘) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรียังอยู่ ท่านก็เล่าให้ฟังขำ ๆ ว่า ก่อนท่านจะบวช ปรึกษาผู้ใหญ่ว่าบวชดีไหม ? "โอ๊ยดี..บุญเยอะ" ไปถามพระอุปัชฌาย์อาจารย์ว่าจะบวชดีไหม ? "โอ๊ยดี..รีบบวชเลย..บุญเยอะ"

    แต่พอบวชเข้าไปแล้ว ทำไมไม่เป็นอย่างที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ว่า ? จะทำอะไรหน่อย ก็ "เฮ้ย..ไม่ได้นะมึง..บาปตายห่าเลย..!" จะทำไอ้โน่นก็ "เฮ้ย..ไม่ได้นะมึง..บาปตายห่าเลย..!" อ้าว...ตอนก่อนบวชอะไร ๆ ก็บุญ แล้วตอนบวชแล้วกลายเป็นบาปไปหมด ? ท่านก็ปรารภขำ ๆ ของท่าน

    พวกเราทั้งหลายต้องเข้าใจว่า ในชีวิตฆราวาส เราทำอะไรตามใจตัวเองมาตลอด พอมาเป็นพระแล้ว กฎเกณฑ์กติกาการยึดถือเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพราะฉะนั้น...เราจำเป็นที่จะต้องมีสติระลึกอยู่เสมอว่า บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใด ๆ ที่เป็นของสมณะ เราต้องทำอาการกริยานั้น ๆ

    จากชีวิตฆราวาสที่คลุกอยู่ในดงกิเลส จนกระทั่งลืมไปว่ากิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ท่วมหัวเราอยู่ พอเข้ามาเป็นพระ โดนกฎเกณฑ์กติการตีกรอบ ขยับตัวลำบาก คราวนี้ก็จะเห็นหน้ากิเลสอย่างชัดเจน จะรู้ได้เลยว่า รัก โลภ โกรธ หลงเป็นอย่างไร จะรู้อย่างชัดเจนว่ากิเลสของเรามีมากน้อยแค่ไหน

    กระผม/อาตมภาพเคยเปรียบว่า ชีวิตฆราวาสเหมือนกับเราเดินอยู่ในป่าที่มีเสืออยู่ตัวหนึ่ง บางทีเดินทั้งปี เฉียดกันไปเฉี่ยวกันมา ไม่เจอเสือหรอก แต่พอบวชเป็นพระ เขาเอาเสือตัวนั้นยัดเอาไว้ในกรงแคบ ๆ ก็คือพระวินัย ๒๒๗ ข้อ แล้วเราก็โดนยัดเข้าไปอยู่ในกรงนั้นด้วย ก็โดนเสือฟัดอยู่ทุกวัน ดังนั้น...การบรรพชา บาลีถึงได้ใช้คำว่า ทุลฺลโภ ประกอบไปด้วยความยากลำบาก ถ้าขาดความเข้มแข็งอดทน ก็ไม่สามารถที่จะอยู่ได้

    โบราณเขาถึงได้บอกว่า "ควรที่จะบวชก่อนจะเบียด" การเบียดก็คือไปมีครอบครัว ไปนอนเบียดกับสาว..! ก็แปลว่าเราเปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกา การยึดถือจากชีวิตฆราวาส เปลี่ยนรูปแบบการแต่งกาย มาถือกฎเกณฑ์ของนักบวช ต้องอดทน อดกลั้นทุกวิถีทาง ที่จะไม่ละเมิดในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ต้องใช้สติ สมาธิ ปัญญาอย่างเต็มที่ ต้องมีความอดทนอดกลั้นอย่างเต็มที่ แล้วสมัยก่อนก็นิยมบวชเอาพรรษาอีกด้วย
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ถ้าหากว่าอย่างสมัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค ท่านบอกว่า "ใครจะมาบวชกับฉันต้องอยู่ ๓ พรรษา" ตั้งใจว่าจะไม่ให้มาบวชกัน ปรากฏว่าบรรดาพ่อแม่เห็นดีเห็นงาม ขนลูกมาบวชกัน "บานตะไท" เลย..!

    ในส่วนนี้ก็คือ ตลอดระยะเวลา ๓ เดือนที่เราบวชอยู่ จนกระทั่งสึกหาลาเพศ ต้องใช้ความอดทน อดกลั้น อดออมทุกอย่าง ที่จะประคองความเป็นพระของเราให้อยู่ให้ได้ ถ้าอยู่รอดออกไปได้ เขาถือว่ามีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะไปเป็นหัวหน้าครอบครัวได้ ก็คือผ่านการทดสอบความอดทนอดกลั้นมาแล้ว

    ถ้าหากว่าเป็นสมัยที่ผมยังเด็กอยู่นั้น พระรูปไหนถ้า "แหกพรรษา" ก็คือสึกก่อนออกพรรษา หรือสึกก่อนรับกฐิน ก็โน่นแหละ...ย้ายภาคไปเลย..! เพราะว่าถ้ายังอยู่บ้านเดิมของตัวเองก็หาเมียไม่ได้..! ไม่มีพ่อแม่คนไหนยอมยกลูกสาวให้ เพราะถือว่าขาดความอดทนอดกลั้น "แค่ ๓ เดือนมึงยังอยู่ในผ้าเหลืองไม่ได้ ถ้ามอบความไว้วางใจให้ดูแลลูกสาวของกู จะไปตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร ?" มีทางเดียวก็คือย้ายภาคไปเลย จากภาคกลางไปอยู่ภาคใต้ ไปอยู่ภาคอีสาน ไปอยู่ภาคเหนือโน่น ไปไกล ๆ ไม่ให้คนรู้ประวัติ

    ดังนั้น...วันนี้ที่บรรดานาคทั้งหลายตั้งใจเข้ามาบวช แล้วยังโดนเร่งรัดให้บวชเร็วขึ้นอีก ๑ วัน จะบอกว่าโชคดีก็ใช่ จะบอกว่าโชคร้ายก็ไม่เชิง ก็คือรีบเข้ากรงขังเร็วขึ้นวันหนึ่ง ส่วนวันสึกก็หาฤกษ์ได้ตามใจตนเอง ในส่วนนี้ก็ต้องบอกว่า กำลังใจของพวกเราขอให้ยึดตรงจุดที่ว่า เราบวชเพื่อฉลองในการหล่อพระพุทธรูป ทั้งเนื้อเงินและทองคำปางห้ามสมุทร จะได้เป็นพุทธานุสติว่า สิ่งที่เราบวชนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร

    แต่ถ้าเอาวัตถุประสงค์หลักในการบวชอย่างแท้จริง ก็คือ นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา เรารับผ้ากาสาวพัสตร์นี้มาเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ต้องจดจำให้แม่น ๆ ว่า เราบอกกล่าวอะไรต่อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ใช่แปลบาลีไม่ออกก็ถือว่ารอดตัวไป ขอยืนยันว่าจะรู้บาลีหรือไม่รู้บาลี ถ้าทำผิดก็ลงอบายภูมิพอกัน..!

    วันนี้ได้รบกวนเวลาของทุกท่านมามากพอแล้ว จึงขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...