เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๘

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 28 พฤษภาคม 2025 at 21:14.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,954
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,759
    ค่าพลัง:
    +26,625
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๘


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,954
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,759
    ค่าพลัง:
    +26,625
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ พวกเราน่าจะต้องตากฝนกันไปอีกหลายวัน แต่กระผม/อาตมภาพได้ขอกับครูบาอาจารย์ท่านแล้วว่า ถ้าเป็นช่วงเป่ายันต์เกราะเพชร ขอให้เว้นให้ด้วย

    ช่วงนี้เป็นระยะที่เชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ระบาด ในการประชุมคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิวันนี้ พระครูวรกาญจนโชติ เจ้าคณะอำเภอฯ ก็อยู่โรงพยาบาล พระครูกิตติกาญจนคุณ เจ้าคณะตำบลปิล็อก เจ้าอาวาสวัดนพเก้าทายิการาม ก็บอกว่าจมูกไม่ได้กลิ่นอะไรเลย..! แล้วยังอุตส่าห์มาประชุม ใครจะเดือดร้อนบ้างก็ไม่รู้ ?

    ทุกวันที่ ๒๘ ในการประชุม จะมีการเจริญพระพุทธมนต์เพื่อถวายพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จากวันนี้ที่กระผม/อาตมภาพนำเจริญพระพุทธมนต์ ท่านที่เข้าร่วมประชุมก็จะเห็นแล้วว่า พระวัดอื่นไม่สามารถที่จะเจริญพระพุทธมนต์บทจักกิวังสะทะสะมะปะระเมนทะมะหาราชาภิถุติกถาเลย มีแต่ของวัดท่าขนุนเราเป็นหลักเท่านั้น

    อย่างที่ได้เรียนถวายทุกท่านไปว่า ในเรื่องของการสวดมนต์ ภายใน ๒ พรรษาต้องเอาให้ได้ครบทุกบท ไม่เช่นนั้นแล้วผู้ที่ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาไปถึงระดับนั้นแล้ว มักไม่อยากที่จะสวดมนต์ คิดจะภาวนาเงียบ ๆ อย่างเดียว..!

    สมัยที่ยังอยู่วัดท่าซุง ปัญหานี้ปรากฏอยู่เสมอ กระผม/อาตมภาพที่สวดมนต์ได้ตั้งแต่ก่อนบวช เพิ่งจะบวชเข้าไปก็ต้องออกกิจนิมนต์แทนรุ่นพี่ คนโน้นก็ "ขอให้ไปแทนผมที" คนนี้ก็ "ขอให้ไปแทนผมที" เพิ่งจะบวชได้ ๒ เดือน ต้องขึ้นหัวแถวเจริญพระพุทธมนต์วันพระ..! ทำเอาวันพระนั้น พระทั้งวัดโดนพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ ด่ากระจาย..! เนื่องเพราะว่าให้เด็กใหม่เพิ่งจะบวชได้ ๒ เดือน นำเจริญพระพุทธมนต์วันพระ..!

    อย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยกล่าวถึงคำพูดคนรุ่นก่อน ๆ ที่ว่า "เป็นพระต้องมีมนต์ เป็นคนต้องมีเงิน" เขาถึงจะนับถือ จึงอยากจะฝากบอกท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรว่า ภายใน ๒ พรรษาแรก กระผม/อาตมภาพออกกิจนิมนต์ทุกงานที่ขวางหน้า ทั้งออกโดยสิทธิของตนเอง และไปแทนรุ่นพี่ ๆ ท่านอื่น เพื่อที่จะศึกษาพิธีกรรมพิธีการ ตลอดจนบทสวดมนต์ที่ต้องใช้ของแต่ละงาน ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์เย็นฉันเช้า สวดมนต์ฉันเพล งานทำบุญบ้าน งานแต่ง งานศพ เหล่านี้เป็นต้น ว่าแต่ละงานมีขั้นตอนพิธีการอย่างไร ? ใช้บทสวดอะไรบ้าง ?
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,954
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,759
    ค่าพลัง:
    +26,625
    เมื่อคิดว่าตนเองรู้ครบถ้วนแล้ว ก็เริ่มให้รุ่นน้องออกแทนบ้าง เพื่อที่จะฝึกฝนเอาไว้ ไม่เช่นนั้นแล้วคนที่จะรู้เรื่องเหล่านี้มีน้อยมาก โดยเฉพาะบรรดาพระเถระที่เป็นหลักของวัด ส่วนใหญ่พอถึงเวลามีเจิมมีเสกเมื่อไร ก็จะบอกว่า "ท่านเล็ก..ไปทำให้เขาที"

    กระผม/อาตมภาพโดนไปทุกงานจนต้องประท้วงว่า "หลวงพี่..อยู่กับหลวงพ่อมา ๑๐ กว่าปี ๒๐ ปี ไม่คิดจะเรียนเอาไว้บ้างเลยหรือครับ ?" "หลวงพ่อโอ" ของทุกท่านในวันนี้คือ ท่านพระครูสมุห์พิชิต ฐิตวีโร ตอบชัดมาก บอกว่า "เป็นแล้วมันเหนื่อย..!" แต่กระผม/อาตมภาพเห็นว่า ถ้าไม่เป็นมีแต่จะขายหน้าคนอื่นเขา..!

    สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ศึกษาเอาไว้ ก็คือการกล่าวสัมโมทนียกถาก่อนที่จะกรวดน้ำรับพร เพราะว่าที่วัดท่าซุงไม่มีแบบนี้ แต่เมื่อย้ายออกจากวัดท่าซุงมาอยู่ที่วัดท่ามะขาม โดนมอบหมายให้กล่าวสัมโมทนียกถาแก่เจ้าภาพทำบุญ ก่อนที่จะมีการยถาฯ สัพพีฯ กรวดน้ำรับพรกัน จึงได้ฝึกฝนกันอยู่ระยะหนึ่ง ถึงได้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ตรงกับสมัยพุทธกาล

    ก็คือในสมัยนั้น บรรดาปริพาชกคือนักบวชนิกายอื่น ๆ เมื่อไปรับภัตตาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือในเมืองก็ตาม ฉันแล้วก็จะบอกกล่าวแก่บรรดาญาติโยมทั้งหลายที่ไม่ค่อยได้เดินทาง แต่ตัวเองเป็นนักบวช เดินทางทั่วไปหมด โดยบอกเขาว่าทิศนั้นมีอะไร ทิศนี้มีอะไร บ้านนั้นนิยมซื้อข้าวของชนิดใด นิยมขายสิ่งของชนิดไหน ทิศใดมีโจรผู้ร้าย ทิศใดปลอดภัย จะบอกกล่าวในลักษณะแบบนี้ เพื่อที่ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่แล้วค้าขายบ้าง เดินทางไปหาญาติพี่น้องต่างเมืองบ้าง จะได้วางแผนการเดินทางหรือการค้าขายได้ถูกต้อง

    เมื่อพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาปรากฏขึ้น ฉันภัตตาหารแล้วก็ลาเจ้าภาพเดินทาง ทำให้เขาบ่นว่าไม่มีการบอกกล่าวอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าภาพเลย เมื่อความทราบถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านจึงให้กล่าวสัมโมทนียกถา ซึ่งปัจจุบันนี้ พวกท่านเรียกว่า ยถาฯ สัพพีฯ นั่นแหละ ก็คือแนวทางการปฏิบัติธรรมในเบื้องต้น อย่างเช่นว่า

    อภิวาทนสีลิสสะ นิจจัง บุคคลผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ทรงศีล

    วุฑฒาปจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ

    ย่อมเป็นผู้เจริญด้วยธรรม ๔ ประการคือ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,954
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,759
    ค่าพลัง:
    +26,625
    ส่วนใครที่มีความรู้ในหลักธรรมแบบไหน คิดว่าญาติโยมรับได้ ก็ว่ากล่าวสั่งสอนไป แต่โดยนิยมแล้ว เขาให้จบลงไม่เกิน ๑๐ นาที กระผม/อาตมภาพเห็นว่าบางที ๑๐ นาทีก็ยาวเกินไป เพราะว่าญาติโยมส่วนใหญ่ที่มาทำบุญสมัยนี้ก็มักจะรีบไปทำงาน

    ดังนั้น..ถ้าหากว่าทุกท่านกล่าวสัมโมทนียกถา ให้ยึดหลักในเรื่องอานิสงส์ของทาน ของศีล ของภาวนาเอาไว้ โดยเฉพาะอานิสงส์ในทานที่ญาติโยมได้ทำ หรือว่าเขามาทำบุญวันเกิด จะสามารถโยงเข้ากับเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างไร ? เขามาทำบุญวันครบรอบปี ญาติพี่น้องที่ตายไป เราจะกล่าวอย่างไรให้เขารื่นเริง แทนที่จะเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไป

    กระผม/อาตมภาพได้รับการฝึกฝนอยู่เป็นปี ๆ เนื่องเพราะว่าหลวงพ่อเจ้าคุณณรงค์ - พระเดชพระคุณพระเทพเมธากร (ณรงค์ ปริสุทฺโธ ป.ธ. ๔) ตอนนั้นท่านเป็นพระราชธรรมโสภณ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ถึงเวลาก็ "เอ้า..พระครูธรรมธร ช่วยจัดการให้ด้วย"

    จำไว้ว่าเราทั้งหลายอย่าเกี่ยงงาน อย่ากลัวงานมาก ไม่ว่าจะเป็นภาระอะไรก็ตาม เป็นการฝึกฝนตัวเราเองอยู่เสมอ เป็นการพัฒนากาย วาจา ใจ ของเราให้ดีขึ้น แล้วในขณะเดียวกัน ก็สร้างความมั่นใจให้กับตัวเองว่า สิ่งที่เรารักษาเรียนรู้มา สามารถที่จะถ่ายทอดต่อให้คนอื่นได้หรือไม่ ?

    โดยเฉพาะการสวดมนต์ พวกเรายังมีหลายบทที่ไม่ได้แตะต้องเลย อย่างเช่นว่า "ยัง ยัง เทวะมะนุสสานังฯ" ความจริงยังมีบท "โย จักขุมาฯ" ด้วย แต่ว่าเราใช้งานกันอยู่บ้าง แล้วบททั้งหลายเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบทประพันธ์โดยวชิรญาณภิกขุ ก็คือในหลวงรัชกาลที่ ๔ จึงทำให้คณะสงฆ์มหานิกายไม่ค่อยได้ใช้ แต่ถ้าท่านฝึกฝนเอาไว้ ที่ไหนเขาใช้ เราจะได้สวดได้ท่องได้ ไม่เก้อเขิน
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,954
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,759
    ค่าพลัง:
    +26,625
    หลายแห่งยึดแบบสวดมนต์หลวง โดยเฉพาะประเทศพม่า ถึงเวลาเขาขึ้นบทขัดทุกบท ความจริงการขึ้นบทขัดเป็นเรื่องดีมาก เนื่องเพราะว่าส่วนใหญ่แล้วธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น กำหนดจดจำโดยพระอานนท์ ก็จะขึ้นว่า "เอวัมเม สุตัง ฯ ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สมัยหนึ่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สาวัตถิยัง วิหะระติ เสด็จประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี" หัวข้อธรรมกี่ข้อ พระสูตรกี่บท ก็แทบจะขึ้นแบบนี้ทั้งหมด..!

    ดังนั้น..ถ้าไม่มีบทขัด เราขึ้นไปเลยจะแยกไม่ออกว่ากำลังจะสวดบทไหน ? จึงเป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะหลายต่อหลายแห่งในประเทศเรา ใช้บท "ราชะโต วา โจระโต วาฯ" เป็นปกติ เพียงแต่ว่าพวกเราที่นี่ไม่ค่อยได้ใช้กัน แต่ยังดีที่ว่าไม่ว่าจะเป็นบทอาทิตตฯ อนัตตฯ ธัมมจักกฯ พวกเราขึ้นบทขัดกันเป็นปกติ ท่านทั้งหลายก็จะเห็นว่า ถ้าต้องขึ้นบทขัดเหล่านี้ หรือว่าบทขัดธรรมนิยามเมื่อไร ถ้าเป็นการสวดมนต์ของคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ ก็จะเหลือกระผม/อาตมภาพคนเดียวที่ขึ้นให้เขา..!

    ดังนั้น..ทุกท่านต้องพยายามศึกษาและสวดให้ได้ภายใน ๒ พรรษา ก่อนที่สมาธิภาวนาจะเจริญกว่านี้แล้วไม่อยากสวดมนต์ ไปจนกว่าสมาธิจะทรงตัว ปรับเข้ากับการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เราถึงจะย้อนกลับมาสวดมนต์ได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งระยะเวลาเหล่านี้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน

    เราจะเห็นว่าสำนักบ่อน้ำพระอินทร์ของหลวงตาสิ้นคิด ท่านถึงขนาดบอกว่า "ไม่ได้บวชมาเพื่อสวดมนต์" เนื่องเพราะว่าอยู่ในระหว่างที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับการภาวนา ในเมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราต้องรีบซักซ้อมทุกอย่างให้คล่องตัว เมื่อถึงเวลาจะได้ใช้งานได้อย่างที่ตนเองต้องการ ไปไหนก็มีความองอาจ แกล้วกล้า ไม่ต้องกลัวขายหน้าคนอื่นเขา

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...