เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 มกราคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ กระผม/อาตมภาพได้ทำการประชุมคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิและคณะกรรมการชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน ครั้งที่ ๑ ของปี ๒๕๖๕ ตรงส่วนนี้ต้องบอกว่า การทำงานในช่วงที่ผ่านมานั้น ก็มีอยู่บ้างที่มีข้อผิดพลาดให้ตำหนิติติงกัน ตรงนี้ต้องบอกว่าเป็นวิสัยปกติของปุถุชนคนธรรมดา เพียงแต่ถ้าหากว่าพวกเราที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะยิ่งเป็นพระภิกษุสามเณรด้วยแล้ว ถ้าไปกระทำในลักษณะเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าเกลียดน่าชังมาก

    เพราะว่าผู้ปฏิบัติธรรมก็ดี พระภิกษุสามเณรก็ดี เป็นผู้ที่ตั้งใจขัดเกลากาย วาจา ใจของตน เพื่อที่ให้เบาบางจากกิเลสลงไป จนกระทั่งถึงท้ายสุดก็คือผ่องใส หมดสิ้นกิเลส แต่ด้วยความที่กิเลสมีอำนาจสูงกว่า ก็มักจะชักจูงให้คิดผิด พูดผิด ทำผิดอยู่เสมอ ดังนั้น...ท่านทั้งหลายจึงต้องคอยระมัดระวังเอาไว้

    ช่วงประมาณ ๒-๓ พรรษาแรกที่กระผมอาตมภาพบวชอยู่ โดยปกติก็จะมีบันทึกประจำวัน เพื่อที่จะได้ตรวจสอบว่า ในแต่ละวันของเรานั้น ผลการปฏิบัติเป็นอย่างไร มีอะไรที่เราต้องแก้ไขหรือว่าพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ที่สมุดบันทึกนั้นจะเขียนไว้ที่หน้าปกสมุดว่า "ขอให้ตัวเราอย่าได้เป็นทุกข์โทษเวรภัยกับผู้อื่น แม้ด้วยกาย วาจา หรือว่าใจเลย"

    เนื่องเพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม หรือว่ามโนกรรมก็ตาม ล้วนแล้วแต่ก่อทุกข์ก่อโทษให้ตัวเราและผู้อื่นทั้งสิ้น คำพูดที่ปราศจากสติยั้งคิด อาจจะทำให้คนอื่นเจ็บ จำ อาฆาตและผูกโกรธกันข้ามชาติข้ามภพ พวกเราจึงจำต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง

    โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่เริ่มปฏิบัติแล้วความดีปรากฏ ก็จะมีบุคคลประเภทที่ไม่ได้อิจฉา แต่เห็นใครดีกว่าไม่ได้ คอยที่จะมาแซะ มาจิก กัด ถากถาง ทั้ง ๆ ที่ตนเองทำไม่ได้ แต่ไม่ได้ยินดีกับสิ่งที่คนอื่นเขาทำได้ โดยเฉพาะมักจะใช้กำลังใจห่วย ๆ ของตนเองไปวัดกำลังใจของผู้อื่น อยู่ในลักษณะที่ว่ากำลังใจของตนมีแค่ไหน ก็คิดได้แค่นั้น พูดได้แค่นั้น ทำได้แค่นั้น ซ้ำร้ายยังไปคิดว่าคนอื่นเป็นเหมือนกับตนเองอีกด้วย

    เรื่องพวกนี้เราที่เป็นนักปฏิบัติ ต้องพยายามปล่อยวางให้ได้ อย่าเสียเวลาไปเก็บมาคิด ปล่อยให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น เดือดร้อนด้วยการกระทำ ทางกาย ทางวาจา ทางใจของตนเองไปเถอะ..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    โดยเฉพาะกระผม/อาตมภาพ หลังจากที่คิดได้ ก็ปล่อยวางเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ไป ใครทำอะไรเขาก็รับผลของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นหน้าเหี่ยว หัวหงอก เครียด มะเร็งรับประทาน ก็ล้วนแล้วแต่เขาทำตัวเองทั้งนั้น

    ลองนึกถึงที่หลวงวิจิตรวาทการท่านได้เขียนเอาไว้เป็นกลอนว่า
    อันที่จริงคนเขาอยากเห็นเราดี
    แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
    จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย
    ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน


    แต่ว่าในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าหากว่าไม่ใช่มีความคล่องตัวจริง ๆ ในระยะแรกก็ล้วนแล้วแต่ต้องปลีกตัวจากสังคม หรือไม่ก็มีความผิดปกติให้คนอื่นเห็นหรือจับได้ว่าเราปฏิบัติธรรม เนื่องเพราะว่าเราจะสำรวมกาย วาจา ใจ โดยอัตโนมัติ ยิ่งใครที่ทรงสมาธิสมาบัติอยู่ ก็แทบจะเป็น "พระเตมีย์ใบ้" ก็คือไม่ค่อยจะพูดจะจา ไม่ค่อยจะปฏิสันถารกับใคร

    ลักษณะอย่างนี้ บุคคลที่เขาจ้องจับผิด ก็จะมีการกระแนะกระแหน คอยถากถางอยู่เสมอ อย่างที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านเล่าให้พวกเราฟังใน "ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า" โดยที่ท่านเองก็ผจญกับคนทั้งหลายเหล่านี้มาอย่างหนักเช่นกัน

    ตรงจุดนี้ เมื่อไม่กี่วันก่อนเจ้าคุณหลวงตา (พระราชภาวนาพัชรญาณ วิ.) หลวงตาวัชรชัย วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) ก็ยังบอกว่า "เล็กเอ๊ย..พอข้าเป็นเจ้าคุณ มีบางคนเขาอกจะแตกตาย" ซึ่งจะตีความอย่างไร ก็ตีความได้ว่าเขาจะต้องอิจฉา อยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่..กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

    ในขณะเดียวกัน ตัวของกระผม/อาตมภาพเองก็ไม่ได้อยากได้ อยากมี อยากเป็น พร้อมที่จะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไปเสมอ แม้แต่ตำแหน่งหน้าที่ทางคณะสงฆ์ ตำแหน่งหน้าที่ทางวิชาการ ก็ทำหนังสือลาออกเอาง่าย ๆ ทุกครั้ง พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าหากมีใครคิดว่าทำได้ดีกว่า กระผม/อาตมภาพก็พร้อมที่จะเปิดทางให้ เขาไปแสดงฝีมือกันให้พอ
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ในเมื่อปฏิบัติไปโดยที่ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน ก็ทำให้เป็นผู้ที่มีความเครียดน้อย บุคคลที่เครียดน้อย ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายก็ไปช้า เอาแค่เพื่อนฝูงรุ่นเดียวกันของกระผม/อาตมภาพในปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าไปนั่งประกบคู่กันเมื่อไร กระผม/อาตมภาพก็กลายเป็นลูกชายของเพื่อนไปเมื่อนั้น แม้กระทั่งหลวงพ่อท่านเจ้าคุณอนันต์ ก่อนที่จะมรณภาพ เจอหน้ากันยังบอกว่า "เล็ก..แกไม่แก่กับใครเลยหรือวะ ?" ได้กราบเรียนไปว่า "ผมแก่ครับ เพียงแต่ว่าไปช้านิดหนึ่ง คนก็เลยไม่ได้สังเกต"

    ดังนั้น...ตรงจุดนี้ ถ้าหากว่าเรารักษากำลังใจของเราได้ พยายามละในเรื่องของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลงให้น้อยลง ไฟใหญ่ ๔ กองนี้ไม่สามารถที่จะเผาผลาญทำลายเราได้มาก ก็เท่ากับว่าร่างกายและจิตใจของเราเสื่อมโทรมช้าลง

    ในเมื่อเป็นในลักษณะอย่างนี้ เปลือกนอกก็อาจจะยังดูดี สามารถหลอกตาคนอื่นเขาได้ แต่ว่าตัวตนของเราจะรู้เองว่าข้างในแก่ขนาดไหน โดยเฉพาะกระผม/อาตมภาพ เมื่ออายุ ๓๒ ขึ้นมา ก็รู้สึกว่าตัวเองแก่ไปถนัดใจ ช่วงนั้นเห็นใครก็เรียกเป็นลูกไปหมด แสดงว่าความแก่มาเยือนตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว

    ในเมื่อเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ ญาติโยมทั้งหลายก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ในทาน ในศีล ในภาวนาของตนเองไป ส่วนปฏิบัติไปแล้ว ถ้าหากว่าไปสะดุดตาสะดุดใจของคนอื่นเข้า ถ้าเขาไม่รู้จักมุทิตา ไม่ยินดี ไม่โมทนาด้วย โทษทัณฑ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็เกิดกับเขาเอง เพียงแต่ว่าเราต้องระมัดระวัง อย่าทำในลักษณะที่ว่า ไปอวดคนอื่นเขา


    โดยเฉพาะนักปฏิบัติธรรม จะมีอยู่ระยะหนึ่ง ที่อยากพูดอยากสอนคนอื่นไปหมด ขอให้ระมัดระวังให้มากไว้ เพราะว่าอาจจะพาให้คนเป็นมิจฉาทิฐิโดยไม่รู้ตัว เนื่องเพราะว่าเมื่อเราปฏิบัติไปถึงระดับไหน ก็มักจะไปยึดมั่นถือมั่นว่า "ตรงนั้นใช่แล้ว" "ตรงนั้นถูกแล้ว" แต่เมื่อปฏิบัติได้สูงขึ้น ก้าวพ้นขึ้นไป ก็จะเห็นว่า "อ้าว..ตรงนั้นยังไม่ถูกจริง ยังไม่ดีจริง" แล้วก็จะไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ในที่ใหม่ที่เราปฏิบัติถึง อยู่ในกำลังใจใหม่ที่เราปฏิบัติถึง ว่าตรงนี้ใช่แล้ว ตรงนี้ถูกแล้วอีก จะเป็นอย่างนี้เป็นระยะ ๆ ไป


    เราพึงระมัดระวังกาย วาจา ใจ ของตนเอง อย่าให้เป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่น ส่วนคนอื่นถ้าเขาไม่ระมัดระวัง เข้ามากระทบกระทั่งกับเราโดยเจตนาร้าย ตรงนั้นก็ต้องถือว่าปล่อยให้เป็นไปตามเวรตามกรรมของเขาก็แล้วกัน

    วันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา ตลอดจนกระทั่งบอกกล่าวแก่ญาติโยมทั้งหลายแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...