เรื่องเด่น เพิ่งรู้จักพระนิพพานชาตินี้ ไปได้จริงหากเร่งรัดการปฏิบัติ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 มีนาคม 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    74FDBC23-0325-430A-A762-9223472BB914.jpeg
    "ระยะแรก ๆ เลยที่อาตมาปฏิบัติธรรม ไม่รู้จักพระนิพพาน ช่วงนั้นทางบ้านสอนให้อธิษฐานว่า "ถ้าเกิดใหม่ขอให้สวย ๆ ขอให้รวย ๆ ขอให้ได้พบพระศรีอาริย์" อาตมาก็อธิษฐานตามเขาอยู่หลายปี เพราะว่าผู้ใหญ่สอน คราวนี้พอรู้จักหลวงปู่หลวงพ่อที่เคารพนับถือ แต่ละท่านก็มาสายอภิญญากันหมด

    ช่วงนั้นวัดแถวที่ใกล้บ้าน ถ้าไปทางบ้านแม่ก็จะมีหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ ถ้ามาทางบ้านพ่อก็มีหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม

    บ้านใกล้เรือนเคียงอย่างกาญจนบุรีก็มี หลวงพ่อลำใย วัดทุ่งลาดหญ้า ก็เลยกลายเป็นว่าปฏิบัติธรรมระยะแรก ๆ อาตมาไม่ได้ต้องการพระนิพพาน เพราะว่าไม่รู้จักพระนิพพานเลย ปฏิบัติธรรมเพราะอยากเก่ง เหมือนกับหลวงปู่หลวงพ่อที่ทางบ้านเขาเคารพนับถือกัน แล้วสมัยนั้นการไปขอวัตถุมงคลจากหลวงปู่หลวงพ่อแต่ละท่านก็ไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะว่าเครื่องไม้เครื่องมือที่จะผลิตทีละมาก ๆ แบบสมัยนี้ก็ไม่มี ถึงเวลาไปขอตะกรุดท่านสักดอกหนึ่ง เบี้ยแก้สักตัวหนึ่งก็รอกันไปเถอะ จนกว่าท่านจะหาวัสดุได้

    สมัยนั้นอาตมาเรียน ป.๕ หรือ ป.๖ ก็มีใบบอก สมัยนี้เรียกว่าโบรชัวร์ งานหลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว ใบบอกมีวัตถุมงคลให้ทำบุญ ราคาแพงสุด ๆ ก็คือองค์ละ ๒๐ บาท สมัยนี้ราคาเป็นแสนหรือหลาย ๆ แสน เพื่อนทั้งห้องช่วยกันเรี่ยไรเงินทำบุญ ได้พระมา ๒ องค์ ต้องมาจับสลากกัน จะว่าไปราคาสมัยนั้นก็ไม่ได้ถูก เพราะอาตมาจำได้ว่าก๋วยเตี๋ยวชามละบาทเดียว พระองค์หนึ่ง ๒๐ บาทสมัยนั้นก็ก๋วยเตี๋ยว ๒๐ ชามสมัยนี้ ก็ประมาณ ๔๐๐ บาท

    กิตติศัพท์เกียรติคุณในสมัยนั้นต้องยกให้หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ดังที่สุดทางด้านนครปฐม หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ ดังที่สุดของสุพรรณบุรี

    คำว่า ดัง ในสมัยโน้นของอาตมาหมายความว่าเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ เนื่องจากว่าหลวงปู่หลวงพ่อวัดข้าง ๆ บ้านเลย ก็เห็นท่านเก่งเสียจนกระทั่งอาตมาคิดว่า ถ้าบวชพระนี่ต้องเก่งแบบนี้ทุกรูป เพราะว่าทุกท่านล้วนแต่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน เพียงแต่ว่าอาจจะดังเฉพาะในถิ่นของตัวเอง แต่ถ้าหากว่าอย่างหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่ามนี่ท่านดังทั่วประเทศ

    กว่าที่อาตมาจะรู้จักคำว่าพระนิพพานก็โน่น ปี ๒๕๑๘ ตอนนั้นกำลังเป็นวัยรุ่นอายุ ๑๖ ปี โยมพ่อตาย ด้วยความที่ดูแลโยมพ่อมา ๖ ปีเต็ม ๆ พี่ชายกลัวว่าจะเสียใจที่พ่อตาย ก็เลยเอาหนังสือประวัติหลวงพ่อปานกับคู่มือปฏิบัติกรรมฐานของหลวงพ่อวัดท่าซุงไปให้

    นั่นแหละถึงได้รู้จักว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร ก็เพิ่งจะรู้ว่าในโลกนี้มีคำว่า "พระนิพพาน" ด้วย แล้วพระที่บวชก็ควรที่จะมุ่งพระนิพพานกัน แต่เนื่องจากว่าอาตมาเองอยู่ในบริเวณที่พระเจ้าท่านค่อนข้างจะเคร่งครัด เพราะว่ามีพระวัดป่าสายหลวงปู่มั่นอยู่ด้วย แล้วก็หลวงปู่อินทร์ วัดสระพัง ท่านก็ดุมาก พระบวชเข้าไป ถ้าทำตัวไม่เหมือนพระ ท่านตีด้วยหางกระเบนขนาดต้องกระโดดหน้าต่างหนีเลย..!

    เด็กสมัยนี้ไม่รู้ฤทธิ์ว่าหางปลากระเบนตีแล้วสะใจขนาดไหน หางกระเบนก็คือหางของปลากระเบน ปลาทะเลนี่แหละ ตัดหางมาตากแห้งไว้ หางปลาจะสาก ๆ เหมือนกับมีเม็ดทรายโรยอยู่ ตีเมื่อไรเนื้อแตกเมื่อนั้น..!

    สมัยนั้นเขามีเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบแผ่นครั่ง จำได้เลยว่าช่วงนั้นเพลงที่ดังมาก ๆ ก็มี “สาวสวนแตง” ของ สุรพล สมบัติเจริญ เปิดกันสนั่นหวั่นไหวไปหมด ปรากฏว่าพระท่านบวชเข้าไป ท่านเป็นลูกคนรวย ทางบ้านก็เลยยกเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปให้ที่กุฏิ ท่านก็ไปเปิดเพลงฟังกัน หลวงปู่อินทร์ไปถึงก็เคาะประตู พอพระท่านเปิดประตูนี่ ท่านไม่ถามแม้แต่คำเดียว หางกระเบนในมือตีอย่างเดียวเลย พระท่านไม่รู้ว่าจะไปทางไหน หลวงปู่ท่านยืนขวางประตูอยู่ ก็ต้องโดดหน้าต่างหนี

    ฉะนั้น ถ้าสิ่งที่เราเห็นว่าเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่ฟังเพลง โทษยังหนักขนาดนั้น พระรอบ ๆ บ้านของอาตมาจึงค่อนข้างจะเคร่งครัด แต่ละรูปแต่ละท่านพอเป็นเจ้าอาวาสก็มีความสามารถพิเศษทั้งนั้น ก็เลยทำให้อาตมาคิดว่าพระทุกรูปบวชไปแล้วต้องดี พระทุกรูปบวชไปแล้วต้องเก่งแบบนี้

    หลวงปู่อินทร์ท่านมีปฏิปทาที่ค่อนข้างเคร่งครัด ถ้าท่านรับกิจนิมนต์ ท่านจะเดินไป แต่คราวนี้ถ้าระยะทางไกลอย่าง ๒๐ - ๓๐ กิโลเมตร ญาติโยมเอารถมอเตอร์ไซค์มารับบ้าง เอาม้ามารับบ้าง เอาเกวียนมารับบ้าง สมัยนั้นเขาจูงม้ามาให้พระขี่เลยนะ หลวงปู่ท่านจะจำว่าไปไกลเท่าไร กลับมาท่านจะเดินจงกรมใช้หนี้เป็นระยะทางไกลเท่านั้น

    คราวนี้ท่านให้พวกอาตมาทำทางเดินจงกรมไว้ ทางเดินจงกรมก็ยาว ๒๕ วา คือ ๕๐ เมตร ท่านเดินไปกลับได้ ๑๐๐ เมตร ไปกลับ ๑๐ เที่ยวได้ ๑ กิโลเมตร ถ้าหากว่าท่านไปกิจนิมนต์ สมมติว่าต้องนั่งรถมอเตอร์ไซค์หรือขี่ม้าไป หรือนั่งเกวียนไปสัก ๒๐ กิโลเมตร ท่านก็ต้องมาเดินจงกรมใช้หนี้จนกว่าจะครบ

    ฉะนั้น...สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปลูกฝังอาตมามาตั้งแต่เด็ก คือว่าถ้าหากว่าเป็นพระจะต้องเคร่งครัด จะต้องเก่งให้ได้แบบนั้น

    เวลาท่านนั่งลงในพิธีพุทธาภิเษกหรือว่างานประจำปี ไม่รู้ว่าโยมรู้จักขันสาครไหม ? ขันที่สมัยก่อนเขาไว้ใช้อาบน้ำเด็ก ใบโตขนาดเราลงไปนั่งได้สบาย ๆ ใส่น้ำเกือบเต็ม พอท่านนั่งลงหลับตา ขันก็ดิ้นทั้งใบเลย..!

    อาตมาเองเห็นอย่างนั้นมาตลอด ก็เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่พระทุกรูปต้องทำได้ และคาดว่าในสมัยนั้นก็น่าจะเป็นอย่างนี้ ก็คือหลวงปู่หลวงพ่อแต่ละท่าน พอถึงเวลาบวชเป็นพระใหม่เข้าไป ก็เห็นว่าครูบาอาจารย์ของตัวเองทำได้ เห็นเพื่อนสหธรรมิกทำได้ ก็คงจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำได้ทุกคน ไม่ใช่เรื่องยาก

    เราจะเห็นว่าพระสมัยก่อนส่วนใหญ่แล้วถึงเวลาก็เล่นฤทธิ์เล่นอภิญญากันเป็นปกติ ถ้ายิ่งดูย้อนหลังไปไกล ๆ อย่างในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน เมื่อพลายแก้วอยากบวช นางทองประศรีก็หาที่ให้ ท่านบอกว่า

    ฯลฯ อันสมภารที่ชำนาญในทางใน
    .....ท่านขรัววัดส้มใหญ่แลดีครัน
    .....เจ้าคิดนี้ดีแล้วแก้วแม่อา
    .....แม่จะพาไปฝากขรัวบุญท่าน
    .....จะได้รู้การณรงค์คงกระพัน
    .....ให้เหมือนกันสืบต่อพ่อขุนไกร ฯลฯ


    พูดง่าย ๆ ว่าไปฝากแล้วเอ็งต้องจบ ความรู้สึกแบบนี้ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกว่า เรื่องฤทธิ์เรื่องอภิญญาไม่ใช่เรื่องยาก ใครไปก็ฝึกได้ เป็นเรื่องสาธารณะ แต่สมัยนี้ของเราทำไมค่านิยมเปลี่ยนไป รู้สึกเป็นของยาก ? อาตมาก็ไม่รู้ว่าเปลี่ยนตอนไหน เพราะว่าหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หลวงปู่หลวงพ่อที่เคารพนับถือแต่ละท่านก็ค่อย ๆ ล่วงลับดับขันธ์ไปเรื่อย รุ่นใหม่ที่มาก็มีความสามารถไม่เท่าท่านเก่า ท้ายที่สุดก็เหมือนอย่างกับว่าค่อย ๆ เสื่อมลงไป

    แบบเดียวกับที่มีญาติโยมคณะหนึ่งไปจากวัดพระธรรมกาย ไปอธิษฐานขอให้ถึงพระนิพพานในอนาคตกาล อาตมาได้ยินก็ถามว่า "แล้วทำไมไม่ขอในชาติปัจจุบันนี้ไปเลย ?" โยมคณะนั้นถามว่า "ไปพระนิพพานชาตินี้ได้ด้วยหรือ ?" อาตมาถึงได้เข้าใจว่า ในเรื่องของการสร้างบารมีเป็นเรื่องที่ตำหนิกันไม่ได้ ถ้าใครสร้างบารมีมาเพียงพอ ก็จะรู้สึกว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องปกติ ใคร ๆ เขาก็ทำกันได้ แต่ถ้าสร้างบารมีมาไม่พอ ก็จะกลายเป็นว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องยาก เกินความสามารถ เขาทำกันได้ด้วยหรือ ?

    ดังนั้น ในส่วนของการสร้างบุญสร้างบารมี ต้องบอกว่ากำลังบารมีที่สร้างมานั่นแหละ ที่เป็นตัวแบ่งเอง ว่ากำลังบารมีของเราอยู่ในระดับไหน"

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เก็บตกจากบ้านเติมบุญ ต้นเดือนกันยายน ๒๕๖๑
    ที่มา : www.watthakhanun.com

    #พระครูวิลาศกาญจนธรรม #หลวงพ่อเล็ก
    #ชุมชนคุณธรรม #วัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
    #พระพุทธศาสนา #watthakhanun
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...