เทคนิคการสนทนาที่ดี (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย วิญญาณนิพพาน, 25 พฤษภาคม 2020.

  1. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,244
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,001
    อันความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
    ใคร ๆ ก็ไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยต้องการ
    แต่ว่าพอเผลอ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ในตัวเราได้
    ที่ความทุกข์เกิดขึ้นได้ ก็เพราะความประมาท เผลอไป
    ไม่ได้ใช้ปัญญาคิดนึกตรึกตรองในเรื่องนั้น

    มองอะไรก็มองแต่เพียงแง่เดียว
    ไม่มองไปในแง่ที่ว่า มันเป็นความจริงอย่างไร
    คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ของสิ่งนั้นเป็นอย่างไร
    เรามองไม่ชัดเจนตามที่เป็นจริง
    เมื่อมองเห็นอะไรๆไม่ชัดเจนตามที่มันเป็นจริง
    ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนในใจได้

    เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา จึงมีหลักคำสอน ว่า
    จงมองทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็นจริง
    ท่านใช้ศัพท์เทคนิคในทางธรรมะว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ”
    คำว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ” ถ้าแปลก็หมายความว่า
    “เห็นอะไรๆ ทุกอย่างตามที่มันเป็นจริง ๆ ”

    ความจริงของสิ่งนั้นมันเป็นอย่างไร เราก็มองให้เห็นชัดในสิ่งนั้น
    ในขณะใดที่เรามองเห็นสิ่งนั้นชัดแจ้งตาม ที่มันเป็นจริง
    ความหลงไม่มี ความยึดถือในสิ่งนั้นก็ไม่มี
    ใจเราก็ว่างจากความยึดถือ เมื่อใจว่างจากความยึดถือ
    เราก็มีความสงบใจ

    เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านจึงสอนเราให้หัดมองอะไรทุกอย่าง
    ที่ผ่านเข้ามาในวิถีชีวิตของเราให้รู้ชัดเห็นชัดตามที่เป็นจริงอยู่ตลอดเวลา
    อันการที่เราจะมองอะไรให้เห็นชัดนั้น ก็ต้องศึกษาให้รู้ธรรมะ
    เพื่อเอามาใช้เป็นแว่นประกอบการมอง ประกอบการพิจารณาในสิ่งนั้น ๆ
    จะได้รู้เข้าใจชัดเจนขึ้น เราจึงต้องมาวัดฟังธรรมบ้าง
    อ่านหนังสือทางศาสนาบ้าง สนทนาแลกเปลี่ยนความ
    คิดความเห็นในด้านธรรมะกับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจบ้าง

    แต่ว่าในเรื่องการสนทนากันนั้น อยากจะแนะนำไว้อันหนึ่ง
    คืออย่าสนทนากันด้วยความยึดติดในทิฐิ ความคิดความเห็นของตน
    คนเราเวลาที่สนทนาอะไรกันมักจะโต้เถียงกันหน้าดำหน้าแดง
    การเถียงกันในรูปอย่างนั้นเป็นการพูดธรรมะที่ไม่เป็นธรรมะ
    แต่ว่าเอาตัวของตัวเข้าไปพูด
    ตัวของตัวก็เป็นตัวแห่งความยึดความติดในทิฏฐิอะไรบางสิ่งบางประการ
    สำคัญว่าเรื่องของตัวนั้นเป็นเรื่องถูก เรื่องของผู้อื่นเป็นความผิด
    ทีนี้เมื่อไปคุยกับใคร ถ้าเขาพูดอะไรไม่ตรงกับความคิดความเห็นของตัว
    ก็คัดค้านสิ่งนั้นไปหมด อย่างนี้ก็ไม่เกิดปัญญา

    พระพุทธเจ้าของเราท่านแนะนำในเรื่องนี้อย่างไร
    ท่านบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอได้ฟังใครก็ตาม
    พูดอะไรๆ ที่เกี่ยวกับธรรมะ เกี่ยวกับข้อปฏิบัติ
    เธออย่าคัดค้าน อย่ายอมรับในเรื่องนั้น”

    ท่านให้หลักไว้ ๒ ประการ คือ อย่าคัดค้าน แล้วก็อย่ายอมรับทันที
    ให้เธอฟังไว้แล้วเอาไปพิจารณาด้วยปัญญาของเธอ
    เปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเคยรู้เคยเข้าใจถ้าสิ่งนั้นมันเข้ากันได้กับเรื่อง
    ที่เคยเรียนเคยศึกษา ก็ยอมรับสิ่งนั้นได้ แต่ถ้าหากว่าเอาไปคิดไปตรอง
    ด้วยอุบายที่แยบคายแล้ว แต่มันเข้ากันไม่ได้กับอะไร ๆ
    หลายๆ อย่างหลายประการ เราก็ไม่ไปยึดในความคิดความเห็นนั้น

    การสนทนากันในแง่อย่างนี้ ไม่มีเรื่องทะเลาะกับใคร
    ไม่มีการที่จะเถียงอะไร ๆ กัน ให้เป็นความวุ่นวาย
    เพราะเรารับฟัง ใครพูดอะไร ๆ เราก็ฟังด้วยใจเย็น
    ถ้าจะพูดคัดค้านหรือท้วงติง ก็พูดด้วยใจเย็น ๆ ไม่พูดด้วยอารมณ์ร้อน

    อันการพูดเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเราพูดด้วยอารมณ์ร้อน มักจะเสียเปรียบ
    แต่ถ้าพูดด้วยอารมณ์เย็น ๆ มักจะได้เปรียบ
    เพราะปัญญามันไม่เกิดเมื่อไฟกำลังลุกอยู่ในใจ
    แต่ปัญญาจะเกิดเมื่อใจสงบ
    เพราะฉะนั้น บุคคลใดที่ทำอะไร ด้วยใจที่ร้อน มักจะเสียหาย
    แต่ถ้าทำอะไรๆ ด้วยใจที่เย็น ความทุกข์ความเดือดร้อนจะไม่เกิดขึ้น
    อันนี้มันก็ต้องฝึกฝนเหมือนกัน
    เมื่อจะไปพูดอะไรกับใคร หรือจะต้องสนทนาพาทีในเรื่องใด
    ก็ต้องเตือนตัวเองไว้ก่อนว่า เย็น ๆ อย่าร้อน
    อย่าพูดด้วยอารมณ์ แต่พูดด้วยเหตุผล

    สิ่งใดไม่ควร พูดก็อย่าไปพูด สิ่งใดที่ควรพูดจึงพูด
    แล้วเรื่องที่ควรพูดก็เหมือนกัน ต้องดูเวลา ต้องดูบุคคล ต้องดูสถานที่
    ต้องดูเหตุการณ์ว่า ถ้าเราพูดออกไปแล้ว มันจะขัดกับอะไรบ้าง
    เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังหรือไม่เป็นประโยชน์แก่เราผู้พูดหรือไม่
    ถ้าหากว่าเราพูดออกไปแล้วไม่ได้เรื่อง คือไม่ให้ประโยชน์แก่ผู้ฟัง
    เราเองผู้พูดก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นการพูดออกไปเพื่อจะแสดงว่า
    เรารู้ในเรื่องนั้น เป็นการพูดเพื่ออวดตัว อวดกิเลส
    อันมีอยู่ในใจของตัวให้คนอื่นรู้ว่าตัวมีกิเลสเท่านั้น
    การพูดในรูปเช่นนั้นไม่ได้สาระอะไร

    แต่ถ้าหากว่าพูดด้วย ปัญญา เราก็พิจารณาเสียก่อนว่า
    เรื่องที่จะพูดออกไปนั้น เป็นเรื่องจริงเรื่องดีมีประโยชน์
    เหมาะแก่เวลา แก่บุคคล แก่เหตุการณ์ สถานที่ที่เราจะพูดหรือไม่
    ถ้าได้คิดทบทวนไตร่ตรองอย่างนี้แล้ว
    ผู้นั้นจะเป็นผู้พูดแต่เรื่องดีมีประโยชน์ ปากของคนนั้นจะไม่เสีย
    แล้วใคร ๆ ก็ไม่ติไม่ว่าบุคคลนั้นในเรื่องเกี่ยวกับการพูดเป็นอันขาด
    อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอยู่

    เพราะว่าคนเราอยู่ในสังคมนี่มันตัองพบปะกัน มีการสนทนากัน
    ในเรื่องอะไรต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
    จึงต้องใช้หลักธรรมะเข้าไปเป็นเครื่องประกอบ ให้การพูดจาวิสาสะ
    ได้เป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบตามกฎเกณฑ์ และตามหลักพระพุทธศาสนา
    อันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะขอฝากญาติโยมทั้งหลาย
    ได้นำไปใช้ในการปฏิบัติในกิจในชีวิตประจำวัน ประการหนึ่ง

    (เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕)

    (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552
    โดยพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)

    http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=27629
     

แชร์หน้านี้

Loading...