ที่มา..ข่าวสดรายวัน วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6821 ศิลปะบน 14 ตาลปัตร "14 ศิลปิน"มทร.ธัญบุรี ตาลปัตร 14 เล่ม จากศิลปิน 14 คน ที่ถ่ายทอดโดยอาจารย์จากภาควิชาทัศนศิลป์ (Department of Visual Arts) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ร่วมกันถ่ายทอดแนวคิดและศิลปะลงบนตาลปัตร มอบให้แก่เสถียรธรรมสถาน นำไปประมูล สมทบทุนหารายได้สร้างสาวิกาสิกขาลัย (สถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสริมการบรรลุธรรม ตามอุดมคติของพุทธศาสนา) ผศ.ไกรสร ประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาทัศนศิลป์และอาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะภาพพิมพ์ เล่าว่า โครงการดังกล่าวเกิดจากทางเสถียรธรรมสถาน ขอความร่วมมือจากทางคณะในการให้อาจารย์ถ่ายทอดแนวคิดและเทคนิคของศิลปะลงบนตาลปัตร แล้วนำเอาตาลปัตรแต่ละชิ้นไปประมูล เพื่อหารายได้สร้างสาวิกาสิกขาลัย เสถียรธรรมสถาน สำหรับการนำศิลปะมาผูกเข้ากับศาสนา เหมือนเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนา ให้ดำรงคู่กับประเทศไทย ภาควิชาจึงได้มอบหมายให้อาจารย์ในภาควิชาทั้ง 14 คน ได้ถ่ายทอดแนวคิดที่แตกต่างกันลงบนตาลปัตร ซึ่งจะมีความแตกต่าง ตามความถนัดของแต่ละคน ซึ่งมาจากต่างสาขาวิชา ทางภาควิชาทัศนศิลป์ (มทร.ธัญบุรี) มีทั้งหมด 4 สาขาวิชา ได้แก่ จิตรกรรม ประติ มากรรม ศิลปะภาพพิมพ์ ศิลปะไทย อาจารย์ที่ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานปรัชญาทางธรรมผ่านศิลปะ สาขาวิชาจิตรกรรม ได้แก่ อ.สาโรจน์ อนันตอวยพร, อ.รัตนฤทธิ์ จันทรรังสี, อ.ทศพร สุธรรม, อ.พัทธนันท์ เถาทอง สาขาวิชาศิลปะภาพพิมพ์ ได้แก่ ผศ.ไกรสร ประเสริฐ, อ.ชัยพร ระวีศิริ, อ.สมพงษ์ ลีระศิริ, อ.ธนเดช วรวงษ์ สาขาวิชาประติมากรรม ได้แก่ อ.ดิษฐ วัฒน์ อินนพัฒน์, อ.นฤพนธ์ บูรณะบัญญัติ สาขาวิชาศิลปะไทย ได้แก่ ผศ.บัณฑิต อินทร์คง, ผศ.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์, อ.คมกริช สวัสดิรมย์, อ.สรยุทธ ดวงใจ ผศ.ไกรสร ยังเล่าถึงชื่อผลงาน "เรารักธรรมชาติ" ของอาจารย์ว่า ตาลปัตรที่ถ่ายทอดด้วยเทคนิคสีอะครีลิกและปากกา มีแนวคิดจากความเชื่อและศรัทธาของคนในอดีต ที่มีความเชื่อที่แตกต่างกัน บางคนนำผ้าสีมาผูกกับต้นไม้ใหญ่ บางคนร้อยดอกไม้เป็นรูปทรงต่างๆ ไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาสร้างสรรค์ผลงาน โดยนำสัญลักษณ์รูปคนมาเรียงรายล้อมต้นไม้ เพื่อแสดงให้เห็นคุณค่าของต้นไม้ ควรแก่การรักษาดูแลและตระหนักถึงคุณค่าที่ได้รับจากต้นไม้ เช่นเดียวกับอาจารย์หลายๆ ท่าน ที่ได้ถ่ายทอดแนวคิดและเทคนิคของตนเอง อ.สรยุทธ ดวงใจ "เทวดา-นางฟ้า" เทคนิคสีอะครีลิก แสดงถึงความรู้สึก ถึงความเรียบง่าย บริสุทธิ์ที่มีต่อความเชื่อ ที่มีต่อพระพุทธศาสนา อ.ดิษฐวัฒน์ "สัจจะธรรม-ธรรมชาติ-ธรรมะ" เทคนิคผสม แสดงออกในลักษณะศาสนาพุทธที่แสดงคำสอนทางศาสนา มุ่งให้มนุษย์อยู่ในธรรมชาติอย่างสมดุลและอยู่กับธรรมชาติอย่างมีธรรมะ เมื่อเกิดมาในโลก ต้องพบเจอกับสัจธรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นอยู่อย่างนั้น อ.สาโรจน์ "สัตตบงกช" เทคนิคสีอะครีลิก ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ที่มีความหมายถึงความรู้ ปัญญา ความเบิกบาน ภาพที่เขียนเป็นดอกบัวบานบัวตูมและฝักบัว ท่ามกลางธรรมชาติ เปรียบได้ทางศาสนาที่บ่งบอกถึงสติปัญญา การหลุดพ้น ผศ.บัณฑิต อินทร์คง "เสวยวิมุติสุข" เทคนิคจิตรกรรมไทย สีอะครีลิก ภาพที่แสดงเนื้อหาทางพุทธประวัติตอนหลังพุทธเจ้าตรัสรู้ พระพุทธองค์ เสวยวิมุติสุข ฝนตกหนัก พญานาคมุจลินทร์ ออกมาแผ่พังพานปกป้องพุทธองค์ ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าว สื่อความหมายถึงพุทธะ หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อ.คมกริช " สมาธิ" เทคนิคสีอะครีลิก เกิดจากความศรัทธาในการบำเพ็ญเพียรในการบำเพ็ญเพียรในหลายๆ รูปแบบ การนั่งสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบและบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า และชื่อภาพ "บัวพ้นน้ำ" "การทำบุญ" ผลงานของ อ.ธนเดชและ (น้องชิ) ด.ญ.ชิสา ลูกสาววัย 8 ขวบ ของอาจารย์ที่ได้ช่วยกันรังสรรค์ผลงานลงบนตาลปัตรคนละด้าน "บัวพ้นน้ำ" เทคนิคอะครีลิก สถานธรรม คือ สถานที่รวบรวมและเผยแพร่ภูมิปัญญาแห่งธรรมะ นับว่าเป็นองค์กรที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของสังคม จึงได้อุปมาดังคำกล่าว พุทธภาษิต บัวพ้นน้ำ ส่วน "การทำบุญ" เทคนิคสีอะครีลิก แนวคิดเกิดจากที่ได้รับแนวคิดจากพ่อให้เขียนภาพเรื่องการทำบุญ จึงได้วาดภาพเกี่ยวกับการทำบุญ ซึ่งการทำบุญมีหลายรูปแบบ เทคนิคของ 14 ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงาน การประยุกต์แนวคิดทางศิลปะผนวกเข้ากับปรัชญาทางธรรมะ สื่อออกให้เห็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เพื่อเป็นการทำนุบำรุงศาสนาให้อยู่กับชาติไทยต่อไป