เรื่องเด่น วาติกันจัดโชว์คัมภีร์พระมาลัย คณะสงฆ์วัดโพธิ์แปลถวาย

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 18 มีนาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    4DQpjUtzLUwmJZZPGSlYRlf7YmTQhAkl7uzx4fCoe90i.jpg

    พระคัมภีร์พุทธศาสนาของไทยกระหึ่มโลก “สำนักวาติกัน” เตรียมจัดแสดง “พระคัมภีร์พระมาลัยอักษรขอม” ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน ให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกชมเป็นครั้งแรกกลางปีนี้ หลังสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมอบให้คณะสงฆ์วัดโพธิ์ แปลจากภาษาขอมเป็นภาษาไทยใช้เวลาถึง 2 ปี จึงเสร็จ แล้วแปลต่อเป็นภาษาต่างประเทศอีก 7 ภาษา

    ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ท่าเตียน กทม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.พระราชปริยัติมุนี (เทียบ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เปิดเผยว่า คณะสงฆ์วัดโพธิ์ได้เดินทางไปร่วมการสัมมนาระดับนานาชาติ เรื่อง “ศาสนากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” ณ นครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี เมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จัดโดยสหประชาชาติ โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระสันตะปาปาองค์ที่ 226 พระประมุขแห่งคริสตจักรคาทอลิก เป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล เยอรมนี อิตาลี เลบานอน จีน ฮ่องกง อินเดีย และประเทศอื่นๆ จำนวน 350 คน ในส่วนของประเทศไทยมีพระพรหมบัณฑิต วัด ประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นผู้แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ร่วมกล่าวปราศรัยบนเวทีโลกในประเด็นเกี่ยวกับ “พระพุทธศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการทำงานร่วมกับศาสนาอื่นๆ อย่างสันติภาพ” ที่สำคัญในงานนี้ คณะสงฆ์วัดโพธิ์ ได้รับพระเมตตา จากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสอย่างที่สุด นอก จากพระองค์มีพระสมณประสงค์ที่จะเชิญคณะสงฆ์วัดโพธิ์เข้าร่วมสัมมนาแล้ว ยังให้คณะสงฆ์วัดโพธิ์ ได้ที่นั่งแถวที่สอง รองจากแถวผู้นำศาสนาโลกที่นั่งด้านหน้าสุดด้วย นอกจากนี้ ยังได้มีการสนทนา แลกเปลี่ยนในเรื่องของพระคัมภีร์พระมาลัยอักษรขอม ที่คณะสงฆ์วัดโพธิ์ได้ทำการปริวรรต หรือแปลคัมภีร์พระมาลัย อักษรขอม เป็นภาษาไทย และทำพิธีถวายอย่างเป็นทางการแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ณ นครรัฐวาติกัน ไปแล้วเมื่อกลางปี 2561 ซึ่งสำนักวาติกันได้นำไปแปลต่ออีก 7 ภาษา เพื่อนำไปจัดแสดงให้กับชาวโลกได้ชื่นชม

    ด้านพระราชรัตนสุนทร (วินัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯที่ร่วมเดินทางไปสัมมนาระดับนานาชาติด้วยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การที่คณะสงฆ์วัดโพธิ์ได้รับเกียรติจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสและสหประชาชาติ เพราะสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส มีพระสมณประสงค์จะจัดแสดงพระคัมภีร์พระมาลัยอักษรขอม (บาลี-ไทยโบราณ) ที่เป็นของถวายจากประเทศไทย เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงนำไปถวายเมื่อคราวเสด็จฯเยือนนครวาติกัน เมื่อ พ.ศ.2477 และต่อมาเมื่อ พ.ศ.2559 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้มอบให้คณะสงฆ์วัดโพธิ์แปล ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงเสร็จและถวายคัมภีร์พระมาลัยอักษรขอมแก่สมเด็จพระสันตะปาปา เมื่อช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาคัมภีร์มี 6 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 บทสวดอภิธรรม 7 คัมภีร์ ตอนที่ 2-5 เรื่องราวพระมาลัยกลอนสวด เริ่มจากพระมาลัยไปโปรดสัตว์ นรก สวรรค์ สนทนากับพระอินทร์และพบกับพระโพธิสัตว์ ที่จะมาจุติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปหรือที่เรียกว่า พระศรีอาริย์ และตอนที่ 6 บทสวดแจงภาษาบาลี แต่งด้วยฉันทลักษณ์ที่เรียกว่ากลอนสวด ประกอบด้วยกาพย์ชนิดต่างๆ อาทิ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ เป็นต้น โดยคัมภีร์นี้ ถือเป็นคัมภีร์แห่งมิตรภาพและการสานสัมพันธ์ไทย-วาติกันและระหว่างพุทธจักรกับคริสตจักร

    พระราชรัตนสุนทรกล่าวอีกว่า ขณะนี้พระคัมภีร์ พระมาลัยอักษรขอม ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ อีก 7 ภาษา อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน เป็นต้น เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในช่วงกลางปี 2562 คัมภีร์พระมาลัยอักษรขอมทั้ง 8 ภาษา รวมภาษาไทย จะถูกนำไปเปิดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ แห่งนคร รัฐวาติกันให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกชมเป็นครั้งแรก ถือเป็นความภูมิใจและได้รับเกียรติอย่างสูงมากจากพระองค์ท่าน ที่สำคัญเนื้อหาในคัมภีร์ ทั้งเรื่องนรก สวรรค์ บาป บุญ คุณ โทษ ในความเชื่อทางพระพุทธศาสนาจากคัมภีร์พระมาลัยที่คนไทยรู้จักกันมาอย่างยาวนาน จะกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นในกลุ่มชาวต่างชาติที่มาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนครวาติกัน

    สำหรับพระคัมภีร์พระมาลัย แต่งขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นหนังสือสมุดข่อย เนื้อหา 6 ตอน หนา 186 หน้า มีทั้งบทสวดอภิธรรม และพระมาลัยกลอนสวด เมื่อ 85 ปีที่แล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯเยือนนครรัฐวาติกันและถวายพระคัมภีร์เล่มนี้แด่สมเด็จพระสันตะปาปาปิโอที่ 11 แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน ไม่มีผู้เชี่ยวชาญอ่านหรือแปลได้ มาในยุคสมัยนี้สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิสจึงได้ขอความร่วมมือมายังเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ แปลจากภาษาขอม เป็นภาษาไทยได้สำเร็จก่อนที่สำนักวาติกันจะนำไปแปลต่ออีก 7 ภาษา

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/content/1521878
     

แชร์หน้านี้

Loading...