วันพระ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 9 กุมภาพันธ์ 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ACD1748B-6134-4D51-AC8E-E027BBB04C6E.jpeg

    วันพระ หรือว่าภาษาบาลีสันสกฤตเขาเรียก วันธรรมสวนะ คือวันฟังธรรม แต่เดิมตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาลมาก็มีวันพวกนี้อยู่แล้ว เพราะว่าบรรดาศาสดาเจ้าลัทธิต่าง ๆ กำหนดให้สาวกของตนต้องฟังธรรมในวันขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำและขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑๔ หรือ แรม ๑๕ ค่ำเป็นประจำ ตอนหลังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงอนุโลมให้พระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา และอุบาสกอุบาสิกามีวันฟังธรรมเช่นกัน

    คราวนี้ด้วยความที่สมัยก่อนมีการทำเครื่องหมายเอาไว้ในปฏิทินเป็นรูปพระ ชาวบ้านก็เลยเรียกกันง่าย ๆ ว่า "วันพระ" แต่เราต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ทำไมถึงต้องเป็นวันขึ้นแรม ๘ ค่ำ ? ทำไมต้องเป็นวันขึ้นแรม ๑๕ ค่ำหรือว่าแรม ๑๔ ค่ำ ?

    เรื่องพวกนี้เราต้องเข้าใจว่า การมีชีวิตอยู่ของเราก็คือธรรมชาติอย่างหนึ่ง คราวนี้เราเป็นส่วนเล็กนิดเดียวของธรรมชาติ เนื่องเพราะว่าแค่เปรียบกับโลกนี้ เราเองก็แค่เป็นเศษวัสดุชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้น แล้วถ้าเปรียบกับสุริยจักรวาล หรือเปรียบกับดาราจักรทางช้างเผือก แล้วยิ่งถ้าไปถึงระดับเอกภพด้วย เราก็เป็นเศษฝุ่นเท่านั้น

    ในเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลง เราก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างเช่นว่ามีข้างขึ้น ข้างแรม มีตะวันขึ้น มีตะวันตก มีน้ำขึ้น น้ำลง โดยเฉพาะผู้หญิงจะเห็นชัดที่สุด ก็คือมีรอบเดือน ซึ่งก็เป็นไปตามจันทรคติ เพราะว่าดวงจันทร์อยู่ใกล้กับโลกมากที่สุด ส่งผลกระทบให้มากที่สุด ก็คือทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงได้

    คราวนี้น้ำขึ้นสูงสุดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และลงต่ำสุดในวันแรม ๑๕ ค่ำ หรือถ้าเดือนขาดก็คือแรม ๑๔ ค่ำ ส่วนขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำนั้น จะว่าไปแล้ว ผลกระทบก็มีถึง แต่ว่าการแสดงออกของธรรมชาติก็คือน้ำทะเลไม่ชัดเจน โดยเป็นช่วงที่ของเหลวในร่างกายของเรา โดนดึงให้เหวี่ยงไปข้างซ้ายหรือขวามากที่สุด

    ช่วงในสภาพภาวะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติเช่นนี้ ถ้าเราปล่อยตามบุญตามกรรม ก็จะเกิดอาการหงุดหงิด กลัดกลุ้มโดยไม่รู้ตัว บรรดาศาสดาเจ้าลัทธิต่าง ๆ ที่มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติค่อนข้างมาก จึงกำหนดให้สาวกของตนฟังธรรม ในวันที่ร่างกายเกิดผลกระทบจากธรรมชาติสูงสุด

    คำว่าฟังธรรมในที่นี้ ก็คือถือศีลปฏิบัติธรรมด้วย เพื่อที่ให้กำลังใจมั่นคง จะได้ไม่ส่งส่ายวุ่นวาย หรือหงุดหงิด กลัดกลุ้มไปกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาตินั้น ๆ

    ดังนั้น...ถ้าหากว่าอยู่ ๆ มีใครถามว่า ทำไมวันพระถึงต้องเป็นขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำ ? ทำไมถึงต้องเป็นแรม ๑๕ ค่ำหรือว่าแรม ๑๔ ค่ำ ถ้าเดือนขาด ? ก็เพื่อป้องกันผลการกระทบจากธรรมชาติ เราทั้งหลายที่มีการปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา จนมั่นคงแล้ว ผลกระทบจะมีน้อยมาก แต่ว่าท่านทั้งหลายที่ไม่ได้ปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา กำลังใจไม่มั่นคง ก็จะมีผลกระทบมาก หงุดหงิด กลัดกลุ้ม ขี้โกรธโดยไม่รู้ตัว เหล่านี้เป็นต้น

    โดยเฉพาะถ้าหากว่าเป็นคนแก่หรือว่าคนป่วย จะมีผลกระทบมากเป็นพิเศษ คนป่วยบางคน พอเริ่มตกค่ำก็เริ่มไม่นอนแล้ว บางทีก็ฟุ้งซ่านพล่านอยู่ทั้งคืน บ่นลูกบ่นหลาน ด่าคนโน้นบ่นคนนี้ รอจนกระทั่งสว่างถึงจะนอนได้ ก็เพราะมีผลกระทบจากกลางคืนกลางวันที่สภาพต่างกัน

    ถ้าหากว่าเป็นจีนก็จะบอกว่า "ช่วงกลางคืนธาตุหยินรุนแรง เกิดผลกระทบกับธาตุหยางในร่างกายของคน" บุคคลที่มีความไวต่อสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดความรู้สึก หรือว่าเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้นมาได้

    กระผม/อาตมภาพเคยเฝ้าไข้คนป่วยหลายคน อาการมักจะกำเริบตอนกลางคืน ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติตรงจุดนี้ ถึงเวลาก็อาจจะกลุ้ม อาจจะโกรธ อาจจะขัดใจไปเลยว่าทำไมป่วยแล้วก็ไม่รู้จักนอน ? ทำให้เราต้องถ่างตาคอยดูแลไปทั้งคืน ? ก็เพราะผลกระทบจากธรรมชาติตรงจุดนี้ที่เราเองไม่ค่อยจะเข้าใจ

    ส่วนในด้านไสยศาสตร์นั้น ข้างขึ้นข้างแรมก็ดี หรือว่า วันเสาร์ วันอังคารก็ตาม มีผลมาก บรรดาหมอไสยศาสตร์ต่าง ๆ ก็มักจะอาศัยวาระทั้งหลายเหล่านี้ เสกของบ้าง ปล่อยของบ้าง เราต้องเข้าใจว่าหมอไสยศาสตร์นั้นศึกษาเรื่องไสยศาสตร์มา เป็นของร้อน ถึงเวลาต้องมีการปล่อยออกไปเป็นระยะ ไม่เช่นนั้นบางทีก็ "กินตัวเอง" คำว่า "กินตัวเอง" ในที่นี้ก็คือเกิดโทษกับตนเอง แต่คราวนี้พอปล่อยออกไปแล้วก็ไปเดือดร้อนคนอื่นแทน..!

    โบราณถึงได้เตือนนักเตือนหนาว่ากลางค่ำกลางคืน ถ้าได้ยินเสียงแปลก ๆ อย่าไปขานรับ หรือว่าอย่าไปทัก บางทีก็เหมือนกับเสียงคนขว้างข้างฝา ดังปึงปังขึ้นมา บางทีก็มีเสียงกราว เหมือนใครโปรยกรวดโปรยทรายลงหลังคา เป็นต้น กระผม/อาตมภาพเองได้รับคำสอนไม่ให้ทักเวลาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เด็ก ๆ

    อีกส่วนหนึ่งก็คือ สมัยก่อนผู้ใหญ่จะบอกอยู่เสมอว่าวันโกนวันพระ ต้องระวังให้ดี โดยเฉพาะช่วงกลางคืนหลังตะวันตกดินไปแล้ว เพราะว่า "พระยายมจะปล่อยผี" ซึ่งตรงจุดนี้ต้องบอกว่าโบราณรู้จริง แต่ความจริงแล้วพระยายมท่านไม่ได้ปล่อยผี เป็นเรื่องปกติของผีอยู่แล้วที่พอถึงเวลาวันศีล วันทาน ก็คือวันโกน วันพระ ก็หวังว่าญาติพี่น้องของตนจะทำบุญทำทานไปให้

    เมื่อได้รับอนุญาตจากพระยายมราชก็กลับไปหาญาติพี่น้องตัวเอง เพื่อที่จะรอบุญ ถ้าหากว่าญาติพี่น้องทำบุญให้ โมทนาบุญได้ บางทีก็พ้นจากสภาพซึ่งรอการตัดสินจากพระยายมราชไปเลย ก็ไม่ต้องทำให้ท่านเหนื่อยยาก

    แต่ส่วนใหญ่แล้ว เกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ก็คือไปแล้วเสียเวลาเปล่า..! ญาติพี่น้องตนเองนอกจากไม่ทำบุญสุนทานแล้ว บางทีก็ยังละเมิดศีลกันเป็นปกติ ก็ต้องซมซานกลับไปหาพระยายมราชท่านอีก

    คนเราพอตายแล้วฉลาดทุกคน รู้ว่าตรงจุดนั้นสามารถช่วยตนเองได้ เพราะว่าพระยายมราชไม่ได้มีหน้าที่เอาใครลงนรก แต่ท่านพยายามช่วยอย่างที่สุดที่จะไม่ให้คนลงนรก สอบสวนอย่างละเอียดลออมาก ถามแม้กระทั่งบุญเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง ถ้านึกถึงความดีได้แม้แต่นิดเดียว ท่านจะให้ไปรับผลบุญนั้นก่อน หมดบุญเมื่อไรค่อยว่ากันอีกที แต่ถ้านึกไม่ออกจริง ๆ ท่านก็ต้องทำใจอุเบกขา ปล่อยให้รับโทษไปตามโทษานุโทษที่ตนเองได้กระทำมา

    ดังนั้น...การปฏิบัติธรรมตามสายของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค หรือว่าหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านแนะนำว่า ถึงเวลาทำบุญแล้ว ให้อ้างถึงพระยายมราชให้เป็นสักขีพยานในงานบุญนั้นด้วย ถ้าหากว่าไม่ได้ขอให้ท่านเป็นสักขีพยาน ท่านก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกกล่าว แต่ถ้าเคยขอให้เป็นสักขีพยาน เมื่อท่านสอบสวนจนถึงที่สุดแล้ว เรานึกถึงความดีไม่ได้ ท่านก็จะประกาศในที่ประชุมตรงนั้นว่า บุคคลผู้นี้ วันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น เคยทำความดีอะไรไว้ และขอให้ท่านเป็นพยาน ท่านจึงขอนำมาบอกกล่าวไว้ตรงนี้ แล้วก็ให้ผู้นั้นไปรับผลบุญของตนเองก่อน ถ้าไม่รู้จักต่อบุญตนเอง หมดบุญเมื่อไรแล้วค่อยมาว่ากันอีกทีหนึ่ง

    ตรงจุดนี้ทำให้พวกเราต้องทำความเข้าใจใหม่อยู่ ๒ ส่วน ส่วนแรกก็คือที่บอกว่า "วันพระ พระยายมปล่อยผี" ขอยืนยันว่าท่านไม่ได้ปล่อยผี แต่ท่านอนุญาตให้บรรดาบุคคลที่ตายไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ผ่านการตัดสิน ให้ไปโมทนาบุญที่ญาติพี่น้องตนเองทำเอาไว้

    หรือถ้าหลงเปะปะมาถึงวัดท่าขนุนก็สบายไป เพราะว่าคนส่วนใหญ่ พออุทิศส่วนกุศลก็จะให้แต่ญาติตนเอง แต่ว่าทางวัดท่าขนุนของเราก็สืบเอาความรู้มาจากหลวงปู่ปาน หลวงพ่อฤๅษีฯ ก็คืออุทิศบุญกุศลให้ทั้งผู้ที่เป็นญาติและไม่ใช่ญาติ ทำให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีโอกาสในการอนุโมทนาผลบุญ ในเมื่อได้รับบุญแล้วไปสู่สุคติ พระยายมราชเองก็ไม่ต้องเหนื่อย

    อีกส่วนหนึ่งก็คือ "พระยายมราชไม่ได้มีหน้าที่นำคนลงนรก แต่คอยป้องกันไม่ให้คนลงนรก" บุคคลใดก็ตาม ถ้าหากว่าทำความดีความชั่วมาก้ำกึ่งกันอยู่ ไม่สามารถที่จะขึ้นบนโดยตรงหรือลงล่างโดยตรงได้ ก็จะต้องผ่านการตัดสินของพระยายมราช ถ้าหากว่าโดนนำตัวไปตำหนักพระยายมราช ขอให้รู้ว่าโอกาสรอดมีเกินครึ่งหนึ่ง ยิ่งถ้าหากว่าเคยอ้างให้ท่านเป็นสักขีพยานในการบุญ โอกาสรอดมีเกิน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์..!

    ตรงส่วนนี้จึงขอทำความเข้าใจกับทุกท่านว่า ถึงเวลาที่เราสร้างบุญสร้างกุศลอะไรก็ตาม อุทิศให้แก่พรหม เทวดา ครูบาอาจารย์ ตลอดจนทั้งพระยายมราชด้วย แล้วขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นสักขีพยานให้ ว่าเราได้ทำบุญกุศลประการนี้ ถือว่าเป็นการทำประกันความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เมื่อถึงเวลาฉุกเฉินขึ้นมา จะได้มีผู้ที่คอยช่วยเหลืออ้างถึงให้แก่พวกเราได้
    ...................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com

    ขอขอบคุณภาพถ่าย พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเนื้อทองคำ วัดท่าขนุน จากคุณ @A'Tist Toon
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...