วัตถุมงคล..หลวงปู่ดู่..วัดสะแก../..คุณแม่บุญเรือน..โตงบุญเติม..อุบาสิกาเหนือโลก

ในห้อง 'พระเครื่อง วัตถุมงคล' ตั้งกระทู้โดย ญาณวโร นามะ, 13 กรกฎาคม 2015.

  1. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    ประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
    ชาติภูมิ
    พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีชาติกำเนิดในสกุล “หนูศรี” เดิม ชื่อ ดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
    โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พุ่ม ท่านมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้าย มีโยมพี่สาว ๒ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้
    ๑ . พี่สาวชื่อ ทองคำ สุนิมิตร
    ๒ . พี่สาวชื่อ สุ่ม พึ่งกุศล
    ๓ . ตัวท่าน

    ปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น
    ชีวิตในวัยเด็กของท่านดูจะขาด ความอบอุ่นอยู่มาก ด้วยกำพร้าบิดา มารดาตั้งแต่เยาว์วัย นายยวง พึ่งกุศล ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของท่าน ได้เล่าให้ฟังว่า บิดามารดา ของท่านมีอาชีพทำนา โดยนอกฤดูทำนาจะมีอาชีพทำขนมไข่มงคลขาย เมื่อตอนที่ท่านยังเป็นเด็กทารก มีเหตุการณ์สำคัญที่ควรบันทึกไว้ คือในคืนวันหนึ่งซึ่งเป็นหน้าน้ำ ขณะที่บิดามารดาของท่านกำลังทอด“ขนมมงคล”อยู่นั้น ท่านซึ่งถูก วางอยู่บนเบาะนอกชานคนเดียว ไม่ทราบด้วยเหตุใดตัวท่านได้กลิ้งตกลงไปในน้ำ ทั้งคนทั้งเบาะแต่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งที่ตัวท่านไม่จมน้ำ กลับลอยน้ำจนไปติดอยู่ข้างรั้วกระทั่งสุนัขเลี้ยงที่บ้านท่าน มาเห็นเข้าจึงได้เห่าพร้อมกับวิ่งกลับไปกลับมาระหว่างตัวท่านกับมารดาท่าน เมื่อมารดาท่านเดินตามสุนัขเลี้ยงออกมา จึงได้พบท่านลอยน้ำติดอยู่ที่ข้างรั้ว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มารดาท่านเชื่อมั่นว่าท่าน จะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนามากมาเกิด
    มารดาของท่านได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นทารกอยู่ ต่อมาบิดาของท่านก็จากไปอีกขณะท่านมีอายุได้เพียง ๔ ขวบเท่านั้น ท่านจึงต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กจำความไม่ได้ ท่านได้อาศัยอยู่กับยายโดยมีโยมพี่สาวที่ชื่อ สุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่ และท่านก็ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

    สู่เพศพรหมจรรย์
    เมื่อท่านอายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อ กลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงพ่อ แด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก ขณะนั้นเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีหลวงพ่อ ฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า “พรหมปัญโญ”
    ” ในพรรษาแรกๆ นั้น ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรมซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าวัดประดู่โรงธรรมโดยมีพระอาจารย์ผู้สอนคือท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม และ หลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น
    ในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น ท่านได้ศึกษากับหลวงพ่อกลั่น ผู้เป็นอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อเภา ศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่น ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่สองประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงพ่อกลั่นมรณภาพ ท่านจึงได้ศึกษาหาความรู้จากหลวงพ่อเภา เป็นสำคัญ นอกจากนี้ท่านยัง ได้ศึกษาจากตำรับตำราที่มีอยู่จากชาดกบ้าง จากธรรมบทบ้างและด้วยความที่ท่านเป็นผู้ใฝ่รู้รักการศึกษา ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่จังหวัดสุพรรณบุรี และสระบุรี
    ประสบการณ์ธุดงค์
    ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖ ออกพรรษาแล้วท่านก็เริ่ม ออกเดินธุดงค์จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายที่ป่าเขาทางแถบจังหวัดกาญจนบุรี และแวะนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธฉายและ รอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จากนั้นท่านก็เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี จนถึงจังหวัดกาญจนบุรี จึงเข้าพักปฏิบัติตามป่าเขาและถ้ำต่างๆ
    หลวงปู่ดู่ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าเริ่มแรกที่ท่านขวนขวายศึกษาและปฏิบัตินั้น แท้จริงมิได้มุ่งเน้นมรรคผลนิพพานหากแต่ต้องการเรียนรู้ให้ได้วิชาต่างๆ เป็นต้นว่าวิชาคงกระพันชาตรี ก็เพื่อที่จะสึกออกไปแก้แค้นพวกโจรที่ปล้นบ้าน โยมพ่อโยมแม่ท่านถึง ๒ ครั้ง แต่เดชะบุญ แม้ท่านจะสำเร็จวิชาต่าง ๆ ตามที่ตั้งใจไว้ท่านกลับได้คิด นึกสลดสังเวชใจตัวเองที่ปล่อยให้อารมณ์อาฆาตแค้นทำร้าย จิตใจ ตนเองอยู่เป็นเวลานับสิบ ๆ ปี ในที่สุดท่านก็ได้ตั้งจิตอโหสิกรรมให้แก่โจรเหล่านั้น แล้ว มุ่งปฏิบัติฝึกฝน อบรมตน ตามทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา อย่างแท้จริง
    ในระหว่างที่ท่านเดินธุดงค์อยู่นั้น ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าได้พบฝูงควายป่ากำลังเดินเข้ามาทางท่าน ท่านตั้งสติอยู่ครู่หนึ่งจึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว หยุดยืนภาวนานิ่งอยู่ ฝูงควายป่าที่มุ่งตรงมาทางท่าน พอเข้ามาใกล้จะถึงตัวท่าน ก็กลับเดินทักษิณารอบท่านแล้วก็จากไป บางแห่งที่ท่านเดินธุดงค์ไปถึง ท่านมักพบกับพวกนักเลงที่ชอบลองของ ครั้งหนึ่งมีพวกนักเลงเอาปืนมายิงใส่ท่านขณะนั่งภาวนาอยู่ในกลด ท่านเล่าให้ฟังว่า พวกนี้ไม่เคารพพระ สนใจ แต่ “ของดี” เมื่อยิงปืนไม่ออก จึงพากันมาแสดงตัวด้วยความนอบน้อม พร้อมกับอ้อนวอนขอ “ ของดี ”ทำให้ท่านต้องออกเดินธุดงค์หนีไปทางอื่น
    การปฏิบัติของท่านในช่วงธุดงค์อยู่นั้น เป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง ยอมมอบกายถวายชีวิตไว้กับป่าเขา แต่สุขภาพธาตุขันธ์ของท่านก็ไม่เป็นใจเสียเลย บ่อยครั้งที่ท่านต้องเอาผ้ามาคาดที่หน้าผาก เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ อีกทั้งก็มีอาการเท้าชารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระนั้นท่านก็ยังไม่ละความเพียรสมดังที่ท่านเคย สอนลูกศิษย์ว่า “นิพพานอยู่ฟากตาย” ในการประพฤติปฏิบัตินั้น จำต้องยอมมอบกายถวายชีวิตลงไป ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้ามันไม่ดีหรือไม่ได้พบความจริงก็
    ให้มันตายถ้ามันไม่ตายก็ให้มันดี หรือได้พบกับความจริง” ดังนั้น อุปสรรคต่างๆ จึงกลับเป็นปัจจัยช่วยให้จิตใจของผู้ปฏิบัติแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับ

    นิมิตธรรม

    อยู่มาวันหนึ่ง ประมาณก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เล็กน้อย หลังจากหลวง ปู่ดู่สวดมนต์ทำวัตรเย็น และปฏิบัติกิจส่วนตัวเสร็จเรียบร้อยแล้วท่านก็จำวัด เกิดนิมิตไปว่า ได้ฉันดาวที่มีแสงสว่างมาก ๓ ดวง ในขณะที่กำลังฉันอยู่นั้นก็รู้สึกว่ากรอบๆ ดี ก็เลยฉันเข้าไปทั้งหมด แล้วจึงตกใจตื่น
    เมื่อท่านพิจารณาใคร่ครวญถึงนิมิตธรรมที่เกิดขึ้น ก็เกิดความเข้าใจขึ้น ว่าแก้ว ๓ ดวงนั้น ก็คือพระไตรสรณาคมน์นั่นเอง พอท่านว่า
    “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นในจิตท่าน พร้อมกับอาการปีติอย่างท่วมท้น ทั้งเกิดความรู้สึกลึก ซึ้งและมั่นใจว่า พระไตรสรณาคมน์นี้แหล่ะเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ท่านจึงกำหนดเอามาเป็นคำบริกรรมภาวนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเน้นหนักที่การปฏิบัติ
    หลวงปู่ดู่ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ท่านว่า“ถ้าไม่เอา(ปฏิบัติ)เป็นเถ้าเสียดีกว่า” ในสมัยก่อนเมื่อตอนที่ศาลาปฏิบัติธรรมหน้ากุฏิท่านยังสร้างไม่เสร็จนั้น ท่านก็เมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่ท่านใช้จำวัด เป็นที่รับรองสานุศิษย์และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งนับเป็นเมตตาอย่างสูง
    สำหรับผู้ที่ไปกราบนมัสการท่านบ่อยๆ หรือมีโอกาสได้ฟังท่านสนทนาธรรม ก็คงจะได้เห็นกุศโลบายในการสอนของท่านที่จะโน้มน้าว ผู้ฟังให้วกเข้าสู่การปรับปรุงแก้ไขตนเอง เช่นครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ให้ท่านฟังใน เชิงว่ากล่าวว่า เป็นต้นเหตุของปัญหาและความยุ่งยาก แทนที่ท่านจะเออออไปตามอันจะทำให้เรื่องยิ่งบานปลายออกไป ท่านกลับปรามว่า “เรื่องของคนอื่น เราไปแก้เขาไม่ได้ ที่แก้ได้คือตัวเรา แก้ข้างนอกเป็นเรื่องโลก แต่แก้ที่ตัวเรานี่เป็นเรื่อง
    ธรรม” ”
    คำสอนของหลวงปู่ดู่จึงสรุปลงที่การใช้ชีวิตอย่างคนไม่ประมาทนั่นหมายถึงว่าสิ่งที่จะต้องเป็นไปพร้อมๆ กัน ก็คือ ความพากเพียรที่ลงสู่ภาคปฏิบัติ ในมรรควิถีที่เป็นสาระแห่งชีวิตของผู้ไม่ประมาท ดังที่ท่านพูดย้ำเสมอว่า “หมั่นทำเข้าไว้ๆ”

    อ่อนน้อมถ่อมตน
    นอกจากความอดทน อดกลั้นยิ่งแล้ว หลวงปู่ดู่ยังเป็นแบบอย่างของผู้ไม่ถือตัว วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เมื่อครั้งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม) วัดสุทัศน์เทพวราราม หรือที่เราเรียกกันว่า“ท่านเจ้าคุณเสงี่ยม” ซึ่งมีอายุพรรษามากกว่าหลวงปู่ดู่ ๑ พรรษา มานมัสการหลวงพ่อโดยยกย่องเป็นครูเป็นอาจารย์ แต่เมื่อท่านเจ้าคุณเสงี่ยม กราบหลวงพ่อเสร็จแล้วหลวงพ่อท่านก็กราบตอบ เรียกว่าต่างองค์ต่างกราบซึ่งกันและกัน เป็นภาพที่พบเห็นได้ยากเหลือเกิน ในโลกที่ผู้คนทั้งหลายมีแต่จะเติบโตทางด้านทิฏฐิมานะ ความถือตัวอวดดี อวดเด่น ยกตนข่มท่าน ปล่อยให้กิเลสตัวหลงออกเรี่ยราด เที่ยวประกาศให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้ว่าตนเก่ง โดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าถูกกิเลสขึ้นขี่คอพาบงการให้เป็นไป
    หลวงปู่ดู่ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติธรรมของสำนักไหนๆ ในเชิงลบหลู่หรือเปรียบเทียบดูถูกดูหมิ่น ท่านว่า “คนดีน่ะเขาไม่ตีใคร” ซึ่งลูกศิษย์ทั้งหลายได้ถือเป็นแบบอย่าง
    หลวงปู่ดู่เป็นพระพูดน้อย ไม่มากโวหาร ท่านจะพูดย้ำอยู่แต่ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและความไม่ประมาท เช่น “ของดีอยู่ที่ตัวเรา หมั่นทำ (ปฏิบัติ) เข้าไว้” “ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต” “อย่าลืมตัวตาย” และ “ให้หมั่นพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เป็นต้น

    อุบายธรรม
    หลวงปู่ดู่เป็นผู้ที่มีอุบายธรรมลึกซึ้ง สามารถขัดเกลาจิตใจคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิได้เร่งรัดเอาผล เช่นครั้งหนึ่งมีนักเลงเหล้าติดตามเพื่อนซึ่งเป็น ลูก ศิษย์มากราบนมัสการท่าน สนทนากันได้สักพักหนึ่ง เพื่อนที่เป็นลูกศิษย์ ก็ชักชวนเพื่อนนักเลงเหล้าให้สมาทานศีล ๕ พร้อมกับฝึกหัดปฏิบัติสมาธิภาวนา นักเลงเหล้าผู้นั้นก็แย้งว่า “จะมาให้ผมสมาทานศีลและปฏิบัติได้ยังไง ก็ผมยังกินเหล้าเมายาอยู่นี่ครับ ” หลวงปู่ดู่ท่านก็ตอบว่า “เอ็งจะกินก็กินไปซิ ข้าไม่ว่า แต่ให้เอ็งปฏิบัติให้ข้าวันละ ๕ นาที ก็พอ” นักเลงเหล้าผู้นั้นเห็นว่านั่งสมาธิแค่วันละ๕ นาที ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร จึงได้ตอบปากรับคำจากหลวงพ่อ
    ด้วยความที่เป็นคนนิสัยทำอะไรทำจริง ซื่อสัตย์ต่อตัวเองทำให้เขาสามารถปฏิบัติได้สม่ำเสมอเรื่อยมามิได้ขาดแม้แต่วันเดียวบางครั้งถึงขนาดงดไปกินเหล้ากับเพื่อนๆ เพราะได้เวลาปฏิบัติจิตของเขาเริ่มเสพคุ้นกับความสุขสงบจากการที่จิตเป็นสมาธิ ไม่ช้าไม่นานเขาก็สามารถเลิกเหล้าได้โดยไม่รู้ตัวด้วยอุบายธรรมที่น้อมนำมาจากหลวงปู่ ต่อมาเขาได้มีโอกาสมานมัสการท่านอีกครั้ง ที่นี้หลวงปู่ดู่ท่านให้โอวาทว่า “ที่แกปฏิบัติอยู่ ให้รู้ว่าไม่ใช่เพื่อข้า แต่เพื่อตัวแกเอง” คำพูด
    ของหลวงปู่ทำให้เขาเข้าใจอะไรมากขึ้น ศรัทธาและความเพียร ต่อการปฏิบัติก็มีมากขึ้นตามลำดับ ถัดจากนั้นไม่กี่ปี เขาผู้ที่อดีตเคยเป็นนักเลงเหล้าก็ละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิตตั้งใจปฏิบัติธรรมเรื่อยมา
    อีกครั้งหนึ่งมีชาวบ้านหาปลามานมัสการท่าน และก่อนกลับท่านก็ให้เขาสมาทานศีล ๕ เขาเกิดตะขิดตะขวงใจกราบเรียนท่านว่า “ผมไม่กล้าสมาทานศีล ๕ เพราะรู้ว่าประเดี๋ยวก็ต้องไปจับปลา จับกุ้ง มันเป็นอาชีพของผมครับ ” หลวงปู่ตอบเขาด้วยความเมตตาว่า “แกจะรู้เหรอว่า แกจะตายเมื่อไหร่ ไม่แน่ว่าแกเดินออกไปจากกุฏิข้าแล้ว อาจถูกงูกัดตายเสียกลางทางก่อนไปจับปลา จับกุ้ง ก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อตอนนี้แกยังไม่ได้ทำบาปกรรมอะไร ยังไงๆ ก็ให้มีศีลไว้ก่อน ถึงจะ
    มีศีลขาดก็ยังดีกว่าไม่มี ศีล ”
    หลวงปู่ดู่ท่านไม่เพียงพร่ำสอนให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายเจริญบำเพ็ญ คุณงามความดีเท่านั้น หากแต่ยังเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญ และระมัดระวังในการรักษาไว้ ซึ่งคุณงามความดีนั้นๆ ให้คงอยู่ รวมทั้งเจริญงอกงามขึ้นเรื่อยๆ ท่าน มักจะพูดเตือนเสมอๆ ว่าเมื่อปลูกต้นธรรมด้วยดีแล้ว ก็ต้องคอยหมั่นระวังอย่าให้หนอนและแมลง ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง มากัดกินทำลายต้นธรรมที่อุตส่าห์ปลูกขึ้น และอีกครั้งหนึ่งที่ท่านแสดงถึงแบบอย่างของความเป็นครูอาจารย์ที่ปราศจากทิฏฐิมานะและเปี่ยมด้วยอุบายธรรม ก็คือครั้งที่มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒ คน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน มากราบลาพร้อมกับเรียนให้ท่านทราบว่า จะเดินทางไปพักค้างเพื่อปฏิบัติธรรมกับ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัด อุดรธานี
    หลวงปู่ดู่ท่านฟังแล้วก็ยกมือพนมขึ้นไหว้ไปทางข้างๆ พร้อมกับพูดว่า “ข้าโมทนากับพวกแกด้วย ตัวข้าไม่มีโอกาส...” ”ไม่มีเลยที่ท่านจะห้ามปราม หรือแสดงอาการที่เรียกว่าหวงลูกศิษย์ ตรงกันข้ามมีแต่จะส่งเสริม สนับสนุน ให้กำลังใจเพื่อให้ลูกศิษย์ของท่านขวนขวายในการปฏิบัติธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
    แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีลูกศิษย์มาเรียนให้ท่านทราบถึงครูอาจารย์นั้นองค์นี้ในลักษณะตื่นครูตื่นอาจารย์ ท่านก็จะปรามเพื่อวกเข้าสู่เจ้าตัว โดยพูดเตือนสติว่า “ครูอาจารย์ดีๆ แม้จะมีอยู่มาก แต่สำคัญที่ตัวแก ต้องปฏิบัติให้จริง สอนตัวเองให้มากนั่นแหละจึงจะดี” ”
    หลวงปู่ดู่ท่านมีแนวทางการสอนธรรมะที่เรียบง่าย ฟังง่ายชวนให้ติดตามฟัง ท่านนำเอาสิ่งที่เข้าใจยากมาแสดงให้เข้าใจง่าย เพราะท่านจะยกอุปมาอุปไมย ประกอบในการสอนธรรมะจึงทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและเกิดความเข้าใจในธรรมที่ท่านนำมาแสดง แม้ว่าท่านมักจะออกตัวว่าท่านเป็นพระบ้านนอกที่ไม่มีความรู้อะไร แต่สำหรับบรรดาศิษย์ทั้งหลาย คงไม่อาจปฏิเสธว่า หลายครั้งที่ท่านสามารถพูดแทงเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจของผู้ฟังทีเดียว
    อีกประการหนึ่ง ด้วยความที่ท่านมีรูปร่างลักษณะที่เป็นที่น่าเคารพ เลื่อมใส เมื่อใครได้มาพบเห็นท่านด้วยตนเอง และถ้ายิ่งได้สนทนาธรรมกับท่านโดยตรงก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสและศรัทธาในตัวท่านมากขึ้นเป็นทวีคูณ
    หลวงปู่ดู่ท่านพูดถึงการประพฤติปฏิบัติของคนสมัยนี้ว่า “คนเราทุกวันนี้ โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม เรามัวพากันยุ่งอยู่กับโลกจนเหมือนลิงติดตัง เรื่องของโลก เรื่องเละๆ เรื่องไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้จะต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง” ท่านได้อบรมสั่งสอนศิษย์โดยให้พยายามถือเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นครูสอนตนเองเสมอ เช่นในหมู่คณะ หากมีผู้ใดประพฤติปฏิบัติดี เจริญใ ธรรมปฏิบัติ ท่านก็กล่าวชมและให้ถือเป็นแบบอย่าง แต่ถ้ามีผู้ประพฤติผิด ถูกท่านตำหนิติเตียน ก็ให้น้อมเอาเหตุการณ์นั้นๆ มาสอนตนทุกครั้งไป ท่านไม่ได้ชมผู้ทำดีจนหลงลืมตน และท่านไม่ได้ติเตียนผู้ทำผิดจนหมดกำลังใจ แต่ถือเอาเหตุการณ์ เป็นเสมือนครูที่เป็นความจริง แสดงเหตุผลให้เห็นธรรมที่แท้จริง
    การสอนของท่านก็พิจารณาดูบุคคลด้วย เช่น คนบางคนพูดให้ฟัง เพียงอย่างเดียวไม่เข้าใจ บางทีท่านก็ต้องทำให้เกิดความกลัว เกิดความ ละอายบ้างถึงจะหยุด เลิกละการกระทำที่ไม่ดีนั้นๆ ได้ หรือบางคนเป็นผู้มีอุปนิสัยเบาบางอยู่แล้วท่านก็สอนธรรมดา การสอนธรรมะของท่าน บางทีก็สอนให้กล้าบางทีก็สอนให้กลัวที่ว่าสอนให้กล้านั้นคือ ให้กล้าในการทำความดี กล้าในการประพฤติปฏิบัติเพื่อถอดถอนกิเลสออกจากใจ ไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสอยู่ร่ำไป ส่วนที่สอนให้กลัวนั้น ท่านให้กลัวในการทำความชั่ว ผิดศีลธรรม เป็นโทษ ทำแล้วผู้อื่นเดือดร้อน บางทีท่านก็สอนให้เชื่อ คือให้เชื่อมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในเรื่องกรรม อย่างที่ท่านเคยกล่าวว่า “เชื่อไหมล่ะ ถ้าเราเชื่อจริง ทำจริง มันก็เป็นของจริง ของจริงมีอยู่ แต่เรามันไม่เชื่อจริง จึงไม่เห็นของจริง ”
    หลวงปู่ดู่ท่านสอนให้มีปฏิปทาสม่ำเสมอท่านว่า“ขยันก็ให้ทำขี้เกียจก็ให้ทำ ถ้าวันไหนยังกินข้าวอยู่ก็ต้องทำวันไหนเลิกกินข้าวแล้วนั่นแหละจึงค่อยเลิกทำ”
    การสอนของท่านนั้นมิได้เน้นแต่เพียงการนั่งหลับตาภาวนา หากแต่หมายรวมไปถึงการกำหนดดู กำหนดรู้ และพิจารณาสิ่งต่างๆ ในความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านชี้ให้เห็นถึงสังขารร่างกายที่มันเกิดมันตายอยู่ตลอดเวลา ท่านว่า เราวันนี้กับเราเมื่อตอนเป็นเด็กมันก็ไม่เหมือนเก่า เราขณะนี้กับเราเมื่อวานก็ไม่เหมือนเก่า จึงว่าเราเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือเราเมื่อวานมันได้ตายไปแล้ว เรียกว่าร่างกายเรามันเกิด - ตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มันเกิด - ตาย อยู่ทุกขณะจิต ท่านสอนให้บรรดาศิษย์เห็นจริงถึงความสำคัญของความทุกข์ยาก ว่าเป็นสิ่งมีคุณค่าในโลก
    ท่านจึงพูดบ่อยครั้งว่า การที่เราประสบทุกข์ นั่นแสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะอาศัยทุกข์นั่นแหละ จึงทำให้เราเกิดปัญญาขึ้นได้


    ใช้ชีวิตอย่างผู้รักสันโดษและเรียบง่าย
    หลวงปู่ดู่ท่านยังเป็นแบบอย่างของผู้มักน้อยสันโดษใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่นิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย แม้แต่การสรงน้ำ ท่านก็ยังไม่เคยใช้สบู่เลย แต่ก็น่าอัศจรรย์ เมื่อได้ทราบจากพระอุปัฏฐากว่าไม่พบว่า ท่านมีกลิ่นตัว แม้ในห้องที่ท่านจำวัด
    มีผู้ปวารณาตัวจะถวายเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับท่าน ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ คงรับไว้บ้างเท่าที่เห็นว่าไม่เกินเลยอันจะเสียสมณะสารูป และใช้สอยพอให้ผู้ถวายได้เกิดความปลื้มปีติที่ได้ถวายแก่ท่าน ซึ่งในภายหลังท่านก็มักยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวมเช่นเดียวกับข้าวของต่างๆ ที่มีผู้มาถวายเป็นสังฆทาน โดยผ่านท่าน และเมื่อถึงเวลาเหมาะควรท่านก็จะจัดสรรไปให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในชนบท และ ยังขาดแคลนอยู่
    สิ่งที่ท่านถือปฏิบัติสม่ำเสมอในเรื่องลาภสักการะ ก็คือการยกให้เป็นของ สงฆ์ส่วนรวม แม้ปัจจัยที่มีผู้ถวายให้กับท่านเป็นส่วนตัวสำหรับค่ารักษาพยาบาลท่านก็สมทบเข้าในกองทุนสำหรับจัดสรรไปในกิจสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล
    หลวงปู่ดู่ ท่านไม่มีอาการแห่งความเป็นผู้อยากเด่นอยากดังแม้แต่น้อย ดังนั้น แม้ท่านจะเป็นเพียงพระบ้านนอกรูปหนึ่งซึ่งไม่เคยออกจากวัดไปไหน ทั้งไม่มีการศึกษาระดับสูงๆ ใน ทางโลก แต่ในความรู้สึกของลูกศิษย์ทั้งหลาย ท่านเป็นดั่งพระเถระผู้ถึงพร้อมด้วยจริยวัตรอันงดงาม สงบ เรียบง่าย เบิกบาน และถึงพร้อมด้วยธรรมวุฒิที่รู้ถ้วนทั่วในวิชชาอันจะนำพา ให้พ้นเกิดพ้นแก่พ้นเจ็บพ้นตายถึงฝั่งอันเกษม เป็นที่ฝากเป็นฝากตายและฝากหัวใจของลูกศิษย์ทุกคน
    ในเรื่องทรัพย์สมบัติดั้งเดิมของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นา ซึ่งมีอยู่ ประ มาณ ๓๐ ไร่ ท่านก็ได้แบ่งให้กับหลานๆ ของท่าน ซึ่งในจำนวนนี้ นายยวง พึ่งกุศล ผู้เป็นบุตรของนางสุ่ม โยมพี่สาวคนกลางที่เคยเลี้ยงดูท่านมาตลอด ก็ได้รับส่วนแบ่งที่นาจากท่านด้วยจำนวน ๑๘ ไร่เศษ แต่ด้วยความที่นายยวงผู้เป็นหลานของท่านนี้ไม่มีทายาท ได้คิดปรึกษานางถมยา ผู้ภรรยาเห็นควรยกให้เป็น สาธารณประโยชน์จึงยกที่ดินแปลงนี้ให้กับโรงเรียนวัดสะแกซึ่งหลวงปู่ดู่ท่านก็อนุโมทนาในกุศลเจตนา
    ของคนทั้งสอง


    กุศโลบายในการสร้างพระ
    หลวงปู่ดู่ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้างหรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่องหรือพระบูชา ก็เพราะเห็นประโยชน์ เพราะบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ท่านมิได้จำกัดศิษย์อยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นคณะศิษย์ของท่านจึงมีกว้างขวางออกไป ทั้งที่ใฝ่ใจธรรมล้วนๆ หรือที่ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านเคยพูดว่า “ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะให้ไปติดวัตถุอัปมงคล” ทั้งนี้ ท่านย่อมใช้ดุลยพินิจพิจารณาตามความเหมาะควรแก่ผู้ที่ไปหาท่าน
    แม้ว่าหลวงปู่ดู่จะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่ท่าน อธิษฐานจิตให้ แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือการปฏิบัติดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่านว่า “เอาของจริงดีกว่า พุทธังฯ ธัมมังฯ สังฆังฯ สรณัง คัจฉามิ นี่แหละของแท้” ”
    จากคำพูดนี้จึงเสมือนเป็นการยืนยันว่าการปฏิบัติภาวนานี้แหละเป็นที่สุดแห่งเครื่องรางของขลัง เพราะคนบางคนแม้แขวนพระที่ผู้ทรงคุณวิเศษอธิษฐานจิตให้ก็ตาม ก็ใช่ว่าจะรอดปลอดภัยอยู่ดีมีสุขไปทุกกรณี อย่างไรเสียทุกคนไม่อาจ หลีกหนีวิบากกรรมที่ตนได้สร้างไว้ ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็คือ กรรม
    ดังนั้น จึงมีแต่ พระ “สติ” พระ “ปัญญา” ที่ฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว เท่านั้นที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้เท่าทันและพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและสิ่งกระทบต่างๆ ที่ เข้ามาในชีวิต อย่างไม่ทุกข์ใจ ดุจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเสมือนฤดูกาลที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางครั้งร้อนบางครั้งหนาว ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามธรรมดาของโลก
    พระเครื่องหรือพระบูชาต่างๆ ที่ท่านอธิษฐานปลุกเสกให้แล้วนั้น ปรากฏผลแก่ผู้บูชาในด้านต่างๆ เช่น แคล้วคลาดฯลฯ นั่นก็เป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางโลกๆ แต่ประโยชน์ที่ท่านสร้างมุ่งหวังอย่างแท้จริงนั้นก็คือ ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภาวนา มีพุทธานุสติ กรรมฐาน เป็นต้น นอกจากนี้แล้วผู้ปฏิบัติยังได้อาศัยพลังจิตที่ท่านตั้งใจบรรจุไว้ในพระเครื่องช่วยน้อมนำและประคับประคองให้จิตรวมสงบได้เร็วขึ้น ตลอดถึงการใช้เป็นเครื่องเสริมกำลังใจและระงับ ความหวาดวิตกในขณะปฏิบัติ ถือเป็นประโยชน์ทางธรรมซึ่งก่อให้เกิดพัฒนาการทางจิตของผู้ใช้ไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
    จากที่เบื้องต้นเราได้อาศัยพุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ และสังฆัง สรณัง คัจฉามิ คือยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ จนจิตของเราเกิดศรัทธาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเรียกกันว่า ตถาคตโพธิสัทธา คือเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าขึ้นแล้ว เราก็ย่อมเกิดกำลังใจขึ้นว่าพระพุทธองค์เดิมก็เป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับเรา ความผิดพลาดพระองค์ก็เคยทรงทำมาก่อน แต่ด้วยความเพียรประกอบกับพระสติปัญญาที่ทรงอบรมมาดีแล้ว จึงสามารถก้าวข้ามวัฏฏะ
    สงสารสู่ความหลุดพ้น เป็นการบุกเบิกทางที่เคยรกชัฏให้พวกเราได้เดินกัน ดังนั้นเราซึ่งเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับพระองค์ ก็ย่อมที่จะมีศักยภาพที่จะฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจ ด้วยตัวเราเองได้เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงกระทำมา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กาย วาจา ใจ เป็นสิ่งที่ฝึกฝนอบรมกันได้ใช่ว่าจะต้องปล่อยให้ไหลไปตาม ยถากรรม
    เมื่อจิตเราเกิดศรัทธาดังที่กล่าวมานี้แล้ว ก็มีการน้อมนำเอาข้อธรรมคำสอนต่างๆ มาประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสออกจากใจตนจิตใจของเราก็จะเลื่อนชั้น จากปุถุชนที่หนาแน่นด้วยกิเลส ขึ้น สู่กัลยาณชนและอริยชน เป็นลำดับ เมื่อเป็นดังนี้แล้วในที่สุดเราก็ย่อมเข้าถึงที่พึ่งคือตัวเราเอง อันเป็นที่พึ่งที่แท้จริงเพราะกาย วาจา ใจ ที่ได้ผ่านขั้นตอนการฝึกฝนอบรมโดยการเจริญศีล สมาธิ และปัญญาแล้วย่อมกลายเป็น กายสุจริต วาจาสุจริต และมโนสุจริต กระทำสิ่งใด พูดสิ่งใด คิดสิ่งใด ก็ย่อมหาโทษมิได้ถึงเวลานั้นแม้พระเครื่องไม่มี ก็ไม่อาจทำให้เราเกิดความ หวั่นไหว หวาดกลัว ขึ้นได้เลย


    เปี่ยมด้วยเมตตา
    นึกถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรหนักครั้งสุดท้ายแห่งการปรินิพพาน ท่านพระอานนท์ผู้อุปัฏฐากพระองค์อยู่ตลอดเวลาได้ห้ามมานพ ผู้หนึ่งซึ่งขอร้องจะขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะนั้น
    พระอานนท์คัดค้านอย่างเด็ดขาดไม่ให้เข้าเฝ้า แม้มานพขอร้องถึง ๓ ครั้ง ท่านก็ไม่ยอมจนกระทั่งเสียงขอกับเสียงขัดดังถึงพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า“อานนท์ อย่าห้ามมานพนั้นเลยจงให้เข้ามาเดี๋ยวนี้” เมื่อได้รับอนุญาตแล้วมานพ ก็เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรม จนบรรลุมรรคผลแล้วขอบวชเป็นพระสาวกองค์สุด ท้ายมีนามว่า “พระสุภัททะ”
    พระอานนท์ท่านทำหน้าที่ของท่านถูกต้องแล้ว ไม่มีความผิดอันใดเลยแม้แต่น้อย ส่วนที่พระพุทธเจ้าให้เข้าเฝ้านั้นเป็นส่วนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่มีประมาณ ย่อมแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสามโลกพระสาวกรุ่นหลังกระทั่งถึงพระเถระหรือครูบาอาจารย์ผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่มีเมตตา สูง รวมทั้งหลวงพ่อย่อมเป็นที่เคารพนับถือของชนหมู่มาก ท่านก็อุทิศชีวิตเพื่อกิจ พระศาสนา ก็ไม่ค่อยคำนึงถึงความชราอาพาธของท่าน เห็นว่าผู้ใดได้ประโยชน์จากการบูชาสักการะท่าน ท่านก็อำนวยประโยชน์นั้นแก่เขา
    เมื่อครั้งที่หลวงปู่อาพาธอยู่ ได้มีลูกศิษย์กราบเรียนท่านว่า “รู้สึกเป็นห่วง หลวงปู่” ท่านได้ตอบศิษย์ผู้นั้นด้วยความเมตตาว่า “ห่วงตัวแกเองเถอะ” อีกครั้งที่ผู้เขียนเคยเรียนหลวงปู่ว่า “ขอให้หลวงปู่พักผ่อนมากๆ”
    หลวงปู่ตอบทันทีว่า “พักไม่ได้ มีคนเขามากันมาก บางทีกลางคืนเขาก็มากัน เราเหมือนนกตัวนำ เราเป็นครูเขานี่ ครู..เขาตีระฆังได้เวลาสอนแล้วก็ต้องสอน ไม่สอนได้ยังไง” ชีวิตของท่านเกิดมาเพื่อเกื้อกูลธรรมแก่ผู้อื่น แม้จะอ่อนเพลียเมื่อยล้าสักเพียงใด ท่านก็ไม่แสดงออกให้ใครต้องรู้สึกวิตกกังวลหรือลำบากใจแต่อย่างใดเลย เพราะอาศัยความเมตตาเป็นที่ตั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า ปฏิปทาของท่านเป็นดั่งพระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธภูมิ ซึ่งเห็นประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าประโยชน์ส่วนตนดังเช่น พระโพธิสัตว์ หรือหน่อพุทธภูมิอีกท่านหนึ่ง คือ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พระสุปฏิปันโน สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลวงปู่ดู่ได้สอนให้ลูกศิษย์ให้ความเคารพ เสมือนครูอาจารย์ผู้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติอีกท่านหนึ่ง
    หลวงปู่ดู่ ท่านได้ตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์ออกนอกวัดตั้งแต่ก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ดังนั้นทุกคนที่ตั้งใจไปกราบนมัสการและฟังธรรมจากท่านจะไม่ผิดหวังเลยว่าจะไม่ได้พบท่าน ท่านจะนั่งรับแขกบนพื้นไม้กระดานแข็งๆ หน้ากุฏิของท่านทุกวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บางวันที่ท่านอ่อนเพลีย ท่านจะเอนกายพักผ่อนหน้ากุฏิ แล้วหาอุบายสอนเด็กวัดโดยให้เอาหนังสือธรรมะ มาอ่านให้ท่านฟังไปด้วย
    ข้อวัตรของท่านอีกอย่างหนึ่งก็คือ การฉันอาหารมื้อเดียวซึ่งท่าน กระทำ มาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ภายหลังคือ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เหล่าสานุ ศิษย์ ได้กราบนิมนต์ให้ท่านฉัน ๒ มื้อ เนื่องจากความชราภาพของท่านประกอบกับต้องรับแขกมากขึ้น ท่านจึงได้ผ่อนปรนตามความเหมาะควรแห่งอัตภาพ ทั้งจะได้เป็นการ โปรดญาติโยมจากที่ไกลๆ ที่ตั้งใจมาทำบุญถวายภัตตาหารแด่ท่าน
    หลวงปู่แม้จะชราภาพมากแล้ว ท่านก็ยังอุตส่าห์นั่งรับแขกที่มาจากทิศต่างๆ วันแล้ววันเล่า ศิษย์ทุกคนก็ตั้งใจมาเพื่อกราบนมัสการท่าน บางคนก็มาเพราะมีปัญหาหนักอกหนักใจแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้ จึงมุ่งหน้ามาเพื่อกราบเรียนถามปัญหาเพื่อให้คลายความทุกข์ใจ บางคนมาหาท่านเพื่อต้องการของดีเช่นเครื่อง ราง ของขลัง ซึ่งก็มักได้รับคำตอบจากท่านว่า “ของดีนั้นอยู่ที่ตัวเรา พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละของดี ”
    บางคนมาหาท่านเพราะได้ยินข่าวเล่าลือถึงคุณความดีศีลาจาริยวัตรของท่านในด้านต่างๆ บางคนมาหาท่านเพื่อขอหวยหวังรวยทางลัดโดยไม่อยากทำงาน แต่อยากได้เงินมากๆ
    บางคนเจ็บไข้ไม่สบายก็มาเพื่อให้ท่านรดน้ำมนต์ เป่าหัวให้ มาขอดอกบัวบูชาพระของท่านเพื่อนำไปต้มดื่มให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานาสารพันปัญหา แล้วแต่ใครจะนำมาเพื่อหวังให้ท่านช่วยตน บางคนไม่เคยเห็นท่านก็อยากมาดูว่าท่านมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร บ้างแค่มาเห็นก็เกิดปีติ สบายอกสบายใจ จนลืมคำถามหรือหมดคำถามไปเลย
    หลายคนเสียสละเวลา เสียค่าใช้จ่ายเดินทางไกลมาเพื่อพบท่าน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอุตส่าห์นั่งรับแขกอยู่ตลอดวัน โดยไม่ได้พักผ่อนเลย และไม่เว้นแม้ยามป่วยไข้ แม้นายแพทย์ผู้ให้การดูแลท่านอยู่ประจำจะขอร้องท่านอย่างไร ท่านก็ไม่ยอมตามด้วยเมตตาสงสาร และต้องการให้กำลังใจแก่ญาติโยมทุกคนที่มาพบท่าน



    ท่านเป็นดุจพ่อ
    หลวงปู่ดู่ท่านเป็นดุจพ่อของลูกศิษย์ทุกๆ คน เหมือนอย่างที่พระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นเรียกหลวงปู่มั่นว่า “ พ่อแม่ครูอาจารย์ ” ซึ่งถือเป็นคำยก ย่องอย่างสูง เพื่อให้สมฐานะอันเป็นที่รวมแห่งความเป็นกัลยาณมิตร
    หลวงปู่ดู่ท่านให้การต้อรับแขกอย่างเสมอหน้ากันหมด ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ท่านจะพูดห้ามปราม หากมีผู้มาเสนอตัวเป็นนายหน้าคอยจัดแจงเกี่ยวกับแขกที่เข้ามานมัสการท่าน ถึงแม้จะด้วยเจตนาดี อันเกิดจากความห่วงใยในสุขภาพของท่านก็ตามเพราะท่านทราบดีว่ามีผู้ใฝ่ธรรมจำนวนมากที่อุตส่าห์เดินทางมาไกลเพื่อนมัสการและซักถามข้อธรรมจากท่าน หากมาถึงแล้วยังไม่สามารถเข้าพบท่านได้โดยสะดวกก็จะทำให้เสียกำลังใจ
    นี้เป็นเมตตาธรรมอย่างสูงซึ่งนับเป็นโชคดีของบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ไม่ว่าใกล้หรือไกล ที่สามารถมีโอกาสเข้ากราบนมัสการท่านได้โดยสะดวก หากมีผู้สนใจการปฏิบัติกรรมฐานมาหาท่าน ท่านจะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย บางครั้งหลวงพ่อก็มิได้กล่าวอะไรมาก เพียงการทักทายศิษย์ด้วยถ้อยคำสั้นๆ เช่น “ เอ้า . . . กินน้ำชาสิ ” หรือ “ ว่า ไง . . ” ฯลฯ เท่านี้ก็เพียงพอที่ยังปีติให้เกิดขึ้นกับศิษย์ผู้นั้นเหมือนดังหยาดน้ำทิพย์ชโลมให้เย็นฉ่ำ เกิดความสด
    ชื่นตลอดร่างกายจน . . . ถึงจิต . . . ถึงใจ
    หลวงปู่ดู่ท่านให้ความเคารพในองค์หลวงปู่ทวดอย่างมาก ทั้งกล่าวยกย่องในความที่เป็นผู้ที่มีบารมีธรรมเต็มเปี่ยมตลอดถึงการที่จะได้มาตรัสรู้ธรรมใน อนาคต ให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายยึดมั่นและหมั่นระลึกถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ติดขัดในระหว่างการปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ประสบปัญหาในทางโลกๆ ท่านว่า หลวงปู่ทวดท่านคอยจะช่วยเหลือทุกคนอยู่แล้ว แต่ขอให้ทุกคนอย่าได้ท้อถอยหรือละทิ้งการปฏิบัติ


    หลวงปู่ดู่กับครูอาจารย์ท่านอื่น
    ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๐ - ๒๕๓๒ ได้มีพระเถระและครูบาอาจารย์ หลาย ท่านเดินทางมาเยี่ยมเยียนหลวงปู่ดู่ เช่นหลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข จังหวัดสิงห์บุรี ท่านเป็นพระเถระซึ่งมีอายุย่างเข้า ๙๖ ปี ก็ยังเมตตามาเยี่ยมหลวงปู่ ดู่ที่วัดสะแกถึง ๒ ครั้งและบรรยากาศของการพบกันของท่านทั้งสองนี้ เป็นที่ประทับใจผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างยิ่ง เพราะต่างองค์ต่างอ่อนน้อมถ่อมตน ปราศจากการแสดงออกซึ่งทิฏฐิมานะใดๆ เลย แป้งเสกที่หลวงปู่บุดดาเมตตามอบให้ หลวงปู่ดู่
    ท่านก็เอามาทาที่ศีรษะเพื่อแสดงถึงความเคารพอย่างสูง
    พระเถระอีกท่านหนึ่งซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมหลวงปู่ดู่ค่อนข้างบ่อยครั้ง คือ หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จังหวัดพิจิตร ท่านมีความห่วงใยในสุขภาพของหลวงปู่ดู่อย่างมากโดยได้สั่งให้ลูกศิษย์จัดทำป้ายกำหนดเวลารับแขกในแต่ละวันของหลวงปู่ดู่ เพื่อเป็นการถนอมธาตุขันธ์ของหลวงพ่อให้อยู่ได้นาน ๆ แต่อย่างไรก็ดีไม่ช้าไม่นานหลวงปู่ดู่ท่านก็ให้นำป้ายออกไปเพราะเหตุแห่งความเมตตา ที่ท่านมีต่อผู้คนทั้งหลาย
    ในระยะเวลาเดียวกันนั้น ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร วัดพระธาตุดอนเรืองท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่โง่น โสรโย ก็ได้เดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่ดู่ ๒ ครั้งโดยท่านได้เล่าให้ฟังภายหลังว่า เมื่อได้มาพบหลวงปู่ดู่ จึงได้รู้ว่าหลวงปู่ดู่ก็คือ พระภิกษุชราภาพที่ไปสอนท่านในสมาธิในช่วงที่ท่านอธิษฐานเข้ากรรมปฏิบัติไม่พูด ๗ วัน ซึ่งท่านก็ได้แต่กราบระลึกถึงอยู่ตลอดทุกวัน โดยไม่รู้ว่าพระภิกษุชราภาพรูปนี้คือใคร กระทั่งได้มีโอกาสมาพบหลวงปู่ดู่ที่วัดสะแก เกิดรู้สึกเหมือนดังพ่อลูกที่จาก
    กันไปนานๆ แม้ครั้งที่ ๒ ที่พบกับหลวงปู่ดู่ หลวงปู่ดู่ก็ได้พูดสอนให้ท่านเร่งความเพียร เพราะหลวงพ่อจะอยู่อีกไม่นาน
    ครูบาบุญชุ่มยังได้เล่าว่า ท่านตั้งใจจะกลับไปวัดสะแกอีกเพื่อหาโอกาสไป อุปัฏฐากหลวงปู่ดู่ แต่แล้วเพียงระยะเวลาไม่นานนักก็ได้ข่าวว่า หลวงปู่ดู่ มรณภาพ ยังความสลดสังเวชใจแก่ท่าน ท่านได้เขียนบันทึกความรู้สึกในใจของท่านไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ดู่ ตอนหนึ่งว่า
    “…หลวงปู่ท่านมรณภาพสิ้นไป เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างส่องแจ้งใน โลกดับไป อุปมาเหมือนดังดวงประทีปที่ให้ความสว่างไสวแก่ลูกศิษย์ได้ดับไป ถึงแม้ พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้มรณะไปแล้ว แต่บุญญาบารมีที่ท่านแผ่เมตตาและรอยยิ้ม อันอิ่มเอิบยังปรากฏฝังอยู่ในดวงใจอาตมา มิอาจลืมได้ ….ถ้าหลวงปู่มีญาณรับทราบ และแผ่เมตตาลูกศิษย์ลูกหาทุกคน ขอให้พระเดชพระคุณหลวงปู่เข้าสู่ พระนิพพานเป็นอมตะแด่ท่านเทอญ กระผมขอกราบคารวะพระเดชพระคุณหลวงปู่ดู่
    พรหมปัญโญ ด้วยความเคารพสูงสุด ”
    นอกจากนี้ยังมีพระเถระอีกรูปหนึ่งที่ควรกล่าวถึง เพราะหลวงปู่ดู่ให้ความ ยกย่องมากในความเป็นผู้มีคุณธรรมสูง และเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความเคารพในพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลวงปู่ดู่ได้แนะนำสานุศิษย์ให้ถือท่านเป็นครูอาจารย์อีกท่านหนึ่งด้วย นั่นก็คือหลวงพ่อเกษม เขมโก แห่งสุสานไตรลักษณ์ จังหวัดลำปาง

    ปัจฉิมวาร
    นับแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา สุขภาพของหลวงปู่เริ่มแสดงไตรลักษณะ ให้ปรากฏอย่างชัดเจน สังขารร่างกายของหลวงปู่ซึ่งก่อเกิดมาจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และมีใจครองเหมือนเราๆ ท่านๆ เมื่อสังขารผ่านมานานวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีการใช้งานมาก และพักผ่อนน้อย ความทรุดโทรมก็ย่อมเกิดเร็วขึ้นกว่าปรกติกล่าวคือ สังขารร่างกายของท่านได้เจ็บป่วยอ่อนเพลียลงไปเป็นลำดับ ในขณะที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งญาติโยมและบรรพชิตก็หลั่งไหลกันมานมัสการท่านเพิ่มขึ้น ทุกวัน ในท้ายที่สุดแห่งชีวิตของหลวงปู่ดู่ ด้วยปณิธานที่ตั้งไว้ว่า “สู้แค่ตาย” ท่านใช้ ความอดทนอดกลั้นอย่างสูง แม้บางครั้งจะมีโรคมาเบียดเบียนอย่างหนัก ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปกติ พระที่อุปัฏฐากท่านได้เล่าให้ฟังว่า บางครั้ง ถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่นและมีน้ำตาคลอเบ้า ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใคร ต้องเป็นกังวลเลย ในปีท้ายๆ ท่านถูกตรวจพบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว แม้นายแพทย์จะขอร้องท่านเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ท่านก็ไม่ยอมไป ท่านเล่าให้ฟังว่า “แต่ก่อนเราเคยอยากดี เมื่อดีแล้วก็เอาให้หายอยาก อย่างมากก็สู้แค่ตาย ใครจะเหมือนข้า ข้าบนตัวตาย”
    มีบางครั้งได้รับข่าวว่าท่านล้มขณะกำลังลุกเดินออกจากห้องเพื่อออกโปรดญาติโยมคือประมาณ ๖ นาฬิกา อย่างที่เคยปฏิบัติอยู่ทุกวันโดยปกติในยามที่สุขภาพของท่านแข็งแรงดี ท่านจะเข้าจำวัดประมาณสี่ห้าทุ่ม แต่กว่าจะจำวัดจริงๆ ประมาณเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง แล้วมาตื่นนอนตอนประมาณตีสาม มาช่วงหลังที่สุขภาพของท่านไม่แข็งแรง จึงตื่นตอนประมาณตีสี่ถึงตีห้า เสร็จกิจทำวัตรเช้าและกิจธุระส่วนตัว แล้วจึงออกโปรดญาติโยมที่หน้ากุฏิ
    ประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๓๒ หลวงปู่ดู่พูดบ่อยครั้งในความหมายว่า ใกล้ถึงเวลาที่ท่านจะละสังขารนี้แล้ว ในช่วงท้ายของชีวิตท่าน ธรรมที่ถ่ายทอดยิ่งเด่นชัด ขึ้น มิใช่ด้วยเทศนาธรรมของท่าน หากแต่เป็นการสอนด้วยการปฏิบัติให้ดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิปทาในเรื่องของความอดทน สมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประ ทานไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า “ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง” แทบจะไม่มีใครเลยนอกจากโยมอุปัฏฐากใกล้ชิดที่ทราบว่า ที่ท่านนั่งรับแขกบนพื้นไม้กระดานแข็งๆ ทุกวันๆ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เป็นระยะเวลานับสิบๆ ปี ด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ใครทุกข์ใจมา ท่านก็แก้ไขให้ได้รับความสบายใจกลับไปแต่เบื้องหลัง ก็คือ ความลำบากทางธาตุขันธ์ของท่าน ที่ท่านไม่เคยปริปากบอกใคร กระทั่งวันหนึ่ง โยมอุปัฏฐากได้รับการไหว้วานจากท่านให้เดินไปซื้อยาทาแผลให้ท่าน จึงได้มีโอกาสขอดูและได้เห็นแผลที่ก้นท่าน ซึ่งมีลักษณะแตกซ้ำๆ ซากๆ ใน
    บริเวณเดิม เป็นที่สลดใจจนไม่อาจกลั้นน้ำตาเอาไว้ได้
    ท่านจึงเป็นครูที่เลิศ สมดังพระพุทธโอวาทที่ว่า สอนเขาอย่างไรพึงปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น ดังนั้น ธรรมในข้อ“อนัตตา” ซึ่งหลวงปู่ท่านยกไว้เป็นธรรมชั้นเอก ท่านก็ได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของศิษย์ทั้งหลายแล้วถึงข้อปฏิบัติ ต่อหลักอนัตตาไว้อย่างบริบูรณ์ จนแม้ความอาลัยอาวรณ์ในสังขารร่างกายที่จะมาหน่วงเหนี่ยว หรือสร้างความทุกข์ร้อนแก่จิตใจท่านก็มิได้ปรากฏให้เห็นเลย
    ในตอนบ่ายของวันก่อนหน้าที่ท่านจะมรณภาพ ขณะที่ท่านกำลังเอนกายพักผ่อนอยู่นั้น ก็มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบนมัสการท่าน ซึ่งเป็นการมาครั้งแรก หลวงปู่ดู่ได้ลุกขึ้นนั่งต้อนรับด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ กระ ทั่งบรรดาศิษย์ ณ ที่นั่นเห็นผิดสังเกต หลวงปู่แสดงอาการยินดีเหมือนรอคอย บุคคลผู้นี้มานาน ท่านว่า “ต่อไปนี้ข้าจะได้หายเจ็บหายไข้เสียที” ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าท่านกำลังโปรดลูกศิษย์คนสุดท้ายของท่าน หลวงปู่ดู่ท่านได้ย้ำในตอนท้ายว่า “ข้าขอฝากให้แกไปปฏิบัติต่อ”
    ในคืนนั้นก็ได้มีคณะศิษย์มากราบนมัสการท่านซึ่งการมาในครั้งนี้ไม่มีใคร คาดคิดมาก่อนเช่นกันว่าจะเป็นการมาพบกับสังขารธรรมของท่าน เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว หลวงปู่ดู่ได้เล่าให้ศิษย์คณะนี้ฟังด้วยสีหน้าปรกติว่า “ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดในร่างกายข้าที่ไม่เจ็บปวดเลย ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้องไอซียูไปนานแล้ว”พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ” ท้ายที่สุดท่านก็เมตตากล่าวย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ใน ความไม่ประมาท “ถึงอย่างไรก็ขออย่าได้ทิ้งการปฏิบัติ ก็เหมือนนักมวยขึ้นเวทีแล้วต้องชกอย่ามัวแต่ตั้งท่าเงอะๆงะๆ” นี้ดุจเป็นปัจฉิมโอวาทแห่งผู้เป็นพระบรม ครูของผู้เป็นศิษย์ทุกคน อันจะไม่สามารถลืมเลือนได้เลย
    หลวงปู่ดู่ได้ละสังขารไปด้วยอาการอันสงบด้วยโรคหัวใจในกุฏิท่าน เมื่อเวลาประมาณ ๕ นาฬิกาของวันพุธที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ อายุ ๘๕ ปี ๘ เดือน อายุพรรษา ๖๕ พรรษา สังขารธรรมของท่านได้ตั้งบำเพ็ญกุศลโดยมีเจ้าภาพ สวดอภิธรรมเรื่อยมาทุกวันมิได้ขาด ตลอดระยะเวลา ๔๕๙ วัน จนกระทั่งได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ในวันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔
    พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ได้อุปสมบทและจำพรรษาอยู่ ณ วัดสะแก มาโดยตลอด จนกระทั่งมรณภาพ ยังความเศร้าโศกและอาลัยแก่ศิษยานุศิษย์ และผู้เคารพรักท่านเป็นอย่างยิ่ง อุปมาดั่งดวงประทีปที่เคยให้ความสว่างไสวแก่ศิษยานุศิษย์ได้ดับไป แต่เมตตาธรรมและคำสั่งสอนของท่านจะยังปรากฏอยู่ใน ดวงใจของศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพรักท่านตลอดไป บัดนี้ สิ่งที่คงอยู่มิใช่สังขารธรรมของท่าน หากแต่เป็นหลวงปู่ดู่องค์แท้ที่ศิษย์ทุกคนจะเข้าถึงท่านได้ด้วยการสร้างคุณงามความดีให้เกิดให้มีขึ้นที่ตนเอง สมดังที่ท่านได้กล่าวไว้เป็นคติว่า
    “ “ตราบใดก็ตามที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว ก็ยังไม่นับว่าแกรู้จักข้า แต่ ถ้าเมื่อใด แกเริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว เมื่อนั้น...ข้าจึงว่าแกเริ่มรู้จักข้าดีขึ้น แล้ว ” ”
    ธรรมทั้งหลายที่ท่านได้พร่ำสอน ทุกวรรคตอนแห่งธรรมที่บรรดาศิษย์ได้น้อมนำมาปฏิบัตินั้น ก็คือการที่ท่านได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามบนดวงใจ ของศิษย์ทุกคน ซึ่งนับวันจะเติบใหญ่ผลิดอก ออกผลเป็นสติและปัญญาบนลำต้นที่แข็งแรงคือสมาธิ และบนพื้นดินที่มั่นคงแน่นหนาคือ ศีล สมดังเจตนารมณ์ที่ท่านได้ทุ่มเททั้งชีวิต ด้วยเมตตาธรรมอันยิ่ง อันจักหาได้ยากทั้งในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต.
     
  2. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    ประวัติคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม

    ฆราวาสผู้เปี่ยมด้วยธรรม

    คุณแม่บุญเรือน กลิ่นผกา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 4 ปีมะเมียขึ้น 15 ค่ำเวลา 11.20 น. หรือตรงกับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2437 ท่านได้กำเนิดในครอบครัว ที่มีฐานะค่อนข้างยากจน มีนายยิ้ม กลิ่นผกา เป็นบิดา และมี นางสวน กลิ่นผกา เป็นมารดา สถานที่เกิดอยู่ที่คลองสามวา อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร

    ต่อมาบิดามารดาของท่านได้ย้ายไปอยู่ที่ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี อยู่ในละแวกบ้านชาวสวน และมีฐานะเป็นชาวสวนในเวลาต่อมา คุณแม่บุญเรือน ท่านก็ได้เติบโตมาในละแวกบ้านชาวสวน ที่ตำบลบางปะกอกใหญ่นั่นเอง

    นายยิ้ม บิดาของคุณแม่บุญเรือน มีภรรยาทั้งสิ้น 3 คน คนแรกก็ได้แก่ นางสวน มีบุตรด้วยกันสองคน คนโตคือ นางทองอยู่ ได้เสียชีวิตไปนานแล้ว คนที่สองก็ได้แก่ คุณแม่บุญเรือน กลิ่นผกานั่นเอง

    ภรรยาคนที่สอง ชื่อนางเทศ มีบุตรด้วยกันสามคน ได้แก่ นายเนื่อง นางทองคำ และนางทิพย์ ซึ่งทั้งสามคนนี้ ถือเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน
    ภรรยาคนที่สาม ไม่มีใครจำชื่อได้ และไม่มีใครยืนยันว่า นายยิ้ม ได้มีบุตรกับภรรยาคนนี้หรือไม่

    การศึกษาเล่าเรียนและชีวิตในครอบครัว

    ชีวิตในวัยเยาว์ คุณแม่บุญเรือน เป็นผู้ได้รับความรักความทะนุถนอมจากบิดามารดา เป็นอันมาก พอเหมาะสมกับฐานะของครอบครัว ท่านได้รับการศึกษาให้รู้ภาษาไทย พออ่านออกเขียนได้ และเชื่อว่าท่านได้รับการฝึกสอน จากบิดามารดา ให้มีความรอบรู้ และ สามารถทำหน้าที่เป็นแม่บ้านแม่เรือนเป็นอย่างดี พอเหมาะสมกับสมัย เนื่องจากปรากฏต่อมาในภายหลังว่า คุณแม่บุญเรือน มีความสามารถในการทำกับข้าวมีรสอร่อยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริก อาหารจำพวกแกง และ ต้ม ท่านก็สามารถทำได้อย่างดี นอกจากนี้ก็ยังมีความสามารถในการเย็บจักร ตัดเสื้อผ้าได้

    เหล่านี้เป็นความสามารถที่เป็นที่ประจักษ์แก่คนที่รู้จักทุกคน

    ฝึกหัดเป็นหมอนวดและสนใจในงานบุญ

    เมื่ออายุราว ๆ 15 ปี ท่านได้รับการฝึกสอนจากในครอบครัว ให้รู้จักการนวด ซึ่งท่านได้ให้ความสนใจอยู่เป็นอันมาก จนในที่สุด ท่านได้รับครอบวิชาหมอนวด และ ตำราหมอนวด จากปู่ของท่าน คืออาจารย์กลิ่น ซึ่งในขณะนั้นถือว่า เป็นหมอนวดผู้มีชื่อเสียง

    จากการได้รับมอบตำราหมอนวด ทำให้ท่านได้ศึกษาวิธีการนวด จากตำราดังกล่าวจนเกิดความชำนาญ และกลายเป็นแม่หมอผู้มีชื่อเสียงในการนวดต่อมาในภายหลัง

    ขณะเป็นวัยรุ่น ท่านได้รู้จักกับคุณลุงของท่าน คือหลวงตาพริ้ง ซึ่งเป็นพระภิกษุ อยู่ที่วัดบางปะกอก ด้วยความคุ้นเคยกับหลวงตาพริ้ง ผู้เป็นลุงนั่นเอง ท่านได้เริ่มนำอาหารไปถวายอยู่บ่อย ๆ ทำให้ท่านได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักธรรมะ และ คุณธรรมในการดำเนินชีวิต ตามแนวคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้เริ่มเลื่อมใสศรัทธา และมีใจรัก ในงานบุญงานกุศลมากขึ้นอันน่าจะถือได้ว่า นี่เป็นปฐมเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านบำเพ็ญกรณียกิจเป็นนักบุญในพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา หลวงตาพริ้ง จึงเป็นพระภิกษุที่คุณแม่บุญเรือนมีความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก และวัดบางปะกอกนี้ก็น่าจะเป็นวัดที่ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จนนำไปสู่การบำเพ็ญภาวนาในเวลาต่อมา

    ชีวิตสมรสและบุตรธิดา

    เมื่อมีอายุพอสมควร ก็ได้ทำการสมรสกับ ส.ต.ท.จ้อย โตงบุญเติม ซึ่งขณะนั้นเป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลสัมพันธวงศ์ ได้อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาที่ดีตลอดมา แต่ก็ไม่มิบุตรธิดาด้วยกัน และเนื่องจากไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน ทำให้คุณแม่ บุญเรือน โตงบุญเติมได้รับอุปการะเด็กหญิงชายอื่นบ้าง แต่มีผู้ที่ท่านรับอุปการะแต่มีอายุได้ 6 เดือนจนเติบใหญ่เป็นเวลายาวนานคนหนึ่งในฐานะบุตรบุญธรรมคือ นางอุไร คำวิเทียน จนกระทั่ง นางอุไร มีอายุ ได้ 19 ปีจึงได้สมรสกับ ร.ต.ท.เต็ม คำวิเทียน นางอุไร กับ ร.ต.อ.เต็ม อยู่กินกันมาจนมีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อว่า นิดา คำวิเทียน นับว่าเป็นหลานยายที่คุณแม่บุญเรือนให้ความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

    ชีวิตสมรสระหว่างคุณแม่บุญเรือน และ ส.ต.ท.จ้อย โตงบุญเติม อยู่กินกันมา จนกระทั่งในปี 2479 ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ 42 ปี ส.ต.ท.จ้อย ได้ถึงแก่กรรมลง เนื่องจากได้เข้าไปช่วยดับเพลิง เมื่อครั้งเพลิงไหม้ใหญ่ตลาดน้อย อำเภอบางรัก ต่อจากนั้นมา คุรแม่บุญเรือนก็ได้ครองความเป็นโสด บำเพ็ญงานบุญ และได้ใช้นามสกุล โตงบุญเติม ของสามีตลอดมา และได้อุปการะเลี้ยงดูนางอุไร คำวิเทียน จนกระทั่งอายุ 19 ปี และได้สมรสกับ ร.ต.ท.เต็ม คำวิเทียน ซึ่งขณะนั้นเป็นตำรวจประจำอยู่ที่โรงพักกลาง ดังนั้นจึงมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ที่คุณแม่บุญเรือน ได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักของทางราชการ ที่โรงพักกลาง

    ในระหว่างครองชิวิตร่วมกับ ส.ต.ท.จ้อย โตงบุญเติม คุณแม่บุญเรือน ได้ประกอบอาชีพตัดเย็บผ้า เป็นการช่วยสามีอีกแรงหนึ่ง และรับรักษาโรคโดยเป็นหมอนวด ซึ่งการเป็นหมอนวดเพื่อรักษาโรคนั้น ท่านทำเป็นการกุศลไม่มีสินจ้าง นอกจากนั้นท่านยังมีความสามารถในการทำคลอด หรือเป็นหมอตำแยแผนโบราณด้วย ซึ่งทำให้ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากในขณะนั้น

    ด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยจักรท่านก็ทำได้อย่างดี จนทำให้ครอบครัวท่านมีฐานะที่มั่นคงพอสมควร ในระหว่างนี้ท่านก็ใช้เวลาในการบำเพ็ญบุญ ถือศีล สวดมนต์ ฟังธรรม ด้วยความเคารพเลื่อมใสอย่างแท้จริง ท่านได้ไปประกอบการบุญที วัดสัมพันธวงศ์ เป็นประจำ และได้เริ่มฝึกหัดวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตั้งแต่มีอายุประมาณ 30 ปี หลัง ส.ต.ท.จ้อย ถึงแก่กรรม ท่านได้ไปพักอยู่ที่โรงเรียนช่างกลสมบุญดี มักกะสันอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่ง นางอุไร คำวิเทียน บุตรบุญธรรม ได้ทำการสมรสแล้ว ท่านจึงได้ย้ายไปอยู่ บ้านพักของทางราชการ ที่โรงพักกลางต่อไป

    ขณะที่ยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ ส.ต.ท.จ้อย ด้วยความเลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้ไปฟังพระสวดมนต์ ฟังธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์อยู่บ่อย ๆ ทั้งได้ฝึกหัดทำวิปัสสนากัมมัฐานที่วัดนี้ด้วย ต่อมา ส.ต.ท.จ้อย ผู้เป็นสามี ได้ลาอุปสมบท ที่วัดสัมพันธวงศ์ เป็นเวลา 1 พรรษา ทำให้คุณแม่บุญเรือน ได้มีความใกล้ชิดและผูกพันในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เมื่อสามีสึกออกมาแล้ว คุณแม่บุญเรือน ก็ได้ลาสามีบวชเป็นชีและอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัด สัมพันธวงศ์ ได้พากเพียรพยายามฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้อยู่ปฏิบัติที่ศาลาวัดสัมพันธวงศ์ จนทำให้เกิดความเข้าใจ และ ปลอดโปร่งในธรรมะ รักความสงบประกอบการกุศลต่าง ๆ ช่วยปักหมอนสำหรับธรรมาสน์พระสวดปาฏิโมกข์เป็นต้น

    ที่มา
    http://kumarntalk.net/webboard-id10494.html

    ผลสำเร็จของงานบุญ

    ในระหว่างที่บวชเป็นชีนี่เอง ด้วยความตั้งใจจริง ในการบำเพ็ญเพียร หัดวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำใจให้สงบระงับ ฝึกใจให้แข็งแกร่งแก่กล้า มองเห็นธรรมอันวิเศษของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังผลให้เป็นที่ทราบในหมู่ผู้ร่วมวิปัสสนาด้วยกัน ว่าคุณแม่บุญเรือนได้สำเร็จแล้วอย่างแท้จริง คือสำเร็จใน จตุตถฌาน หรือ ฌาน4 อันประกอบด้วย

    ปฐมฌาน หมายถึง ฌาน ขั้นแรก มีองค์ 5 คือ ยังมีตรึก เรียกว่า วิตก และ ตรอง เรียกว่า วิจารณ์ เหมือนอารมณ์แห่งจิตของคนสามัญ ซ้ำยังมีปิติ คือ ความอิ่มใจ มีความสุข คือความสบายใจ เกิดแต่ความวิเวก คือ ความเงียบสงบ ประกอบด้วยจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งลงไปได้ เรียกว่า “ เอกัคตา”

    ทุติยฌาน หมายถึง ฌาน ชั้นสอง ซึ่งละวิตกและวิจารณ์ ในปฐมฌานลงไปได้ คงเหลือแต่ ปิติ และ สุขอันเกิดแก่สมาธิกับเอกัคตา

    ตติยฌาน เป็น ฌาน ชั้นสาม คงเหลือแต่องค์สอง คือละปิติเสียได้ คงเหลือแต่สุขและเอกัคตา

    จตุตถฌาน เป็น ฌานสำคัญชั้น 4 มีองค์ 2 คือละสุขเสียได้กลายเป็น อุเบกขาคือวางเฉย คู่กับเอกัคตา ฌาน 4 จัดเป็นรูปสมาบัติ มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ สงเคราะห์เข้าไปในรุปาวจรภูมิ

    ฌานทั้ง 4 นี่แหละที่เชื่อกันว่า แม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม ได้บำเพ็ญเพียรฝึกปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ และด้วยเหตุที่ปรากฏต่อมาว่า แม่ชีบุญเรือน มีความเชี่ยวชาญในวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนสามารถจะเข้าวิปัสสนาเมื่อใดก็ได้ และไม่จำเป็นต้องยึดสิ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ทั้งอาจเข้าวิปัสสนาโดยลืมตาก็ได้โดยเร็วพลันด้วยเหตุนี้ ทางด้านอรูปฌาน ก็เชื่อว่าท่านสันทัดและบรรลุโดยลักษณะเดียวกัน

    ด้วยความสำเร็จใน จตุตถานนั่นเอง เป็นเหตุให้แม่ชีบุญเรือน เป็นนักเสียสละชั้นยอด มีอารมณ์วางเฉย เป็น อุเบกขา สละความโลภ ความอยากได้ในทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นคนที่รู้จักแม่ชีบุญเรือนมาก่อนก็ดี หรือเพิ่งจะมารู้จักก็ดี จะทราบคติธรรมข้อหนึ่งว่า “ คนที่จะไปหาท่าน จงไปหาด้วยการเป็นผู้รับ ส่วนท่านเป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้บริการ” ท่านไม่ต้องการสิ่งใดของใคร แม้แต่ดอกไม้ ธูปเทียน ทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ทั้งสิ้น

    บรรลุอภิญญา 6

    นอกเหนือจากการสำเร็จใน ฌาน ทั้ง4 แล้ว แม่ชีบุญเรือน ได้เพียรพยายามฝึกจิต และสมาธิอย่างแรงกล้า ทั้งได้ประกอบการบุญอันเป็นอานิสงศ์แห่งชีวิตอย่างสูงส่ง จนกล่าวว่าท่านสำเร็จรอบรู้ใน อภิญญา 6 กล่าวคือ

    1. อิทธิวิธี คือแสดงฤทธิ์ได้ ปรากฏว่าแม่ชีบุญเรือนได้กระทำมาแล้วหลายวิธี เช่น อธิษฐานต้นมะม่วง ต้นเล็ก ๆ ให้ออกดอกได้ภายในคืนเดียว ย่นหนทางยาวให้สั้น เดินตากกลางฝนไม่เปียก เรียกฝนให้ตกได้ ขอให้ฝนหยุดตกได้ เป็นต้น

    2. ทิพโสต หรือที่เรียกว่าหูทิพ แม่ชีบุญเรือน สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่คนอยู่ใกล ๆ พูดกัน ให้คนใกล้ชิดท่านฟังได้อย่างถูกต้อง

    3. เจโตปริยญาณ อันได้แก่การกำหนดจิตให้แก่ผู้อื่น ในเวลาที่แม่ชีบุญเรือน สนทนากับใคร ไม่ว่าใครจะคิดหรือจะพูดอะไรกับแม่ชี ท่านก็สามารถทราบได้ด้วย ฌานวิเศษของท่าน

    4. บุพเพนิวาสานุสสติ ได้แก่การระลึกชาติได้ เรื่องนี้แม่ชีบุญเรือนได้เคยเล่าเรื่องราว ชาติภพก่อน ๆ ของท่าน ให้ลูก ๆ และคณะศิษย์ ได้ฟัง รวม 3 ชาติ หากจะว่าไปแล้วเรื่องระลึกชาติ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก แต่เห็นว่า แม่ชีบุญเรือนเป็นผู้ยึดมั่นในศีล 5 ละปฏิบัติธรรม เป็นอาจินต์ ก็ทำให้เชื่ออย่างมั่นคงว่าสิ่งที่ท่านพูดนั้นเป็นความจริง

    5. ทิพจักษุ หรือตาทิพย์ การมองเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พึงประสงค์ แม้ว่าวิ่งนั้นจะอยู่ห่างใกล ต่างบ้านต่างเมืองก็ตาม แต่เรื่องตาทิพย์นี้ แม่ชีบุญเรือน ได้บอกเล่าให้ลูก ๆ ละคณะศิษย์ฟังว่าแม้นว่าท่านจะได้ไว้ แต่ท่านก็คืนให้ไป มิได้นำมาใช้ ทั้งนี้เพราะหากใช้ตาทิพย์แล้ว จะมองเห็นสิ่งปฏิกูลมากมาย ท่านจึงงดเว้นเสีย โดยถือว่าคืนให้ทางธรรม จะมีการนำมาใช้บ้างในยามจำเป็นเท่านั้น
    6. อาสวักขยญาณ คือ ทำให้พ้นจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำให้ตนพ้นจากสิ่งอันไม่เป็นมงคลทั้งปวง ผู้พ้นจากอาสวะ ย่อมหมายถึงปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง แม่ชีบุญเรือนได้สำเร็จในข้อนี้ จะเห็นได้จากผู้ที่เดินทางมาหาท่านไม่ว่าจะใกล้หรือไกล จะยากดีมีหรือจน ก็จะได้รับความปรานีเสมอเท่าเทียมกัน

    ความสำเร็จในการบำเพ็ญเพียรครั้งแรก

    การบำเพ็ญเพียร ในพระพุทธศาสนา จนสำเร็จ จตุตถฌาน และ อภิญญาฌาน ปรากฏว่าท่านได้ทำสำเร็จครั้งแรก ตั้งแต่ยังบวชเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ และ ได้ผลเป็นอิทธฤทธิ์อันเกิดจากการอธิษฐานเป็นครั้งแรกเมื่อราววันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2470 โดยในวันดังกล่าว แม่ชีบุญเรือน ได้กลับไปที่บ้านพักข้าราชการ ที่สถานีตำรวจสัมพันธวงศ์ คืนนั้นเข้านอนไม่หลับจนดึก สามีและบุตรบุญธรรมหลับมีอาการกัดฟันและกรน รู้สึกเกิดธรรมสังเวช และนึกเบื่อ จึงตั้งสัตย์อธิษฐานเข้าไปในศาลา พอสิ้นคำอธิษฐาน ตัวแม่ชีบุญเรือนก็เข้าไปอยู่ในศาลา ดังคำอธิษฐาน โดยที่ตัวท่านเองก็ไม่ทราบว่า ได้ออกจากห้องทางไหน และ เข้าศาลาทางไหน ในครั้งนั้นเพื่อนแม่ชีด้วยกัน ไม่ค่อยจะเชื่อกันนัก จนต่อมา อุบาสิกาฟัก ขอให้อธิษฐานใหม่ และได้ให้นางเล็ก นางคำ นางเทียบ ซึ่งดูเหมือนเป็นเพื่อนแม่ชีดูเป็นพยาน ได้ใส่กลอนประตูหน้าต่างศาลาเสียในคืนวันแรม 1 ค่ำเดือน 6 เวลาดึกสงัดปีเดียวกันนั้นเอง แม่ชีบุญเรือนก็ได้อธิษฐานจากสถานีตำรวจสัมพันธวงศ์เข้าไปศาลาได้เช่นเดียวกับคราวก่อน พวกที่คอยดูก็พากันแปลกใจไปตาม ๆ กัน

    ต่อมา แม่ชีบุญเรือน ได้อธิษฐาน ไปเขาวงพระจันทร์ พบพระผู้วิเศษ ขอพระธาตุท่าน ๆ ก็ให้มา 1 องค์ แล้วได้กลับมาที่เดิมตามคำอธิษฐานพร้อมพระธาตุ การสามารถทำปากิหารย์ดังกล่าวที่ปรากฏขึ้นได้เป็นผลแห่งความสำเร็จครั้งแรก ทำให้ท่านอฺธิษฐานเมื่อเข้าสมาธิ ผ่านที่ปิดล้อม หรือไปที่ ไกล ๆ ได้ชั่วระยะเวลาลัดนิ้วมือเดียว ในขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 33 เท่านั้น

    ที่มา
    http://kumarntalk.net/webboard-id10494.html

    การอธิษฐานของคุณแม่บุญเรือน

    1. การอธิษฐานด้วยสัจจวาจา ด้วยความที่แม่ชีเป็นผู้บรรลุ ฌาน 4 และอภิญญา 6 ทำให้วาจาของท่านมีอิทธฤทธิ์ ที่จะพูดหรือสั่งการสิ่งใดในทางที่ชอบเกิดผงได้ เช่น อธิษฐานให้หายโรค ให้ร่ำรวยในทางที่ชอบ ให้ปลอดภัยจากอันตราย หรืออาจอธิษฐานให้เป็นไปตามคำอธิษฐานของท่านได้ เช่น ให้ฝนตก หรือให้ฝนหยุด อธิษฐานถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

    2. อธิษฐานสิ่งของทั่วไป ได้แก่การนำสิ่งของต่าง ๆ มาให้ท่านอธิษฐาน เช่น น้ำ ปูน ไพลเกลือ พริกไทย การอธิษฐานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่นำไปใช้ได้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น อธิษฐานปูนกินหมาก ให้เป็นยาทิพย์ รักษาโรคให้หาย แก้โรคนา ๆ ชนิด เช่น มะเร็ง วัณโรค โรคไต เป็นต้น

    3. อธิษฐานของพิเศษเป็นครั้งคราว เช่น อธิษฐาน กรวด ทราย กันไฟไหม้ อธิษฐานก้อนหิน ศิลาน้ำ เพื่อใช้ป้องกันภัยบางประการ โดยเฉพาะศิลาน้ำ ใช้แทนของอธิษฐานของท่าน เวลาวายชนม์ไปแล้ว เมื่อใช้ศิลาน้ำใส่ในน้ำ ก็กลายเป็นน้ำอธิษฐาน ไว้รับประทานแก้และป้องกันโรค ทั้งใช้ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้ด้วย

    ณ โรงพักกลางนี่เอง ท่านได้ปวารณาตัวในทำนอง ขอช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้พ้นจากโรคร้าย และท่านได้เริ่มแนะนำ สั่งสอนธรรม แก่ผู้เลื่อมใสศรัทธา ท่านได้แสดงความปรารถนาที่จะไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ ราว พ.ศ. 2472 ท่านได้ไปอยู่เชียงใหม่ชั่วคราว

    การไปอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ท่านไปพำนักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ท่านได้ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญการบุญ และช่วยเหลือผู้ทุกข์ร้อนของผู้มาขอร้อง และได้ช่วยรักษาโรคด้วยการอธิษฐาน ปูนและน้ำ พริกไทย และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นมีอยู่คนหนึ่ง อุจจาระผูกมาเป็นแรมปี ถ่ายอุจจาระไม่ออก รักษาแผนปัจจุบันและแผนโบราณเป็นเวลานานก็ไม่หาย ได้มาหาท่าน คุณแม่บุญเรือนได้อธิษฐานพริกไทยให้รับประทาน 3 เม็ดรุ่งขึ้นปรากฏว่า อุจจาระถ่ายคล่อง หายเป็นปกติ ด้วยการบำเพ็ญตัวที่จังหวัดเชียงใหม่นี่เอง ส่งผลให้ชื่อเสียง และเกียรติคุณของคุณแม่โด่งดังเป็นอันมาก จนมีหนังสือพิมพ์นำท่านไปลงข่าวอยู่หลายครั้ง

    กลับกรุงเทพฯ และย้ายไปอยู่บ้านวิสุทธิกษัตริย์

    ด้วยเหตุที่คุณแม่บุญเรือน ต้องทำการบุญ และอธิษฐานจิตอยู่บ่อยครั้ง ทำให้บรรดาสานุศิษย์เห็นว่าเมื่อกลับจากเชียงใหม่แล้ว จะไปอยุ่ที่โรงพักกลางอีกคงไม่เหมาะสม ทั้งไม่สะดวก เมื่อเวลามีผู้ไปหาบำเพ็ญการบุญกับท่าน เป็นการสมควรที่จะอยู่อย่างเอกเทศ ในที่สุด คุณนายพัธนี ได้ร่วมกับศิษย์ที่ใกล้ชิดช่วยกันเป็นผู้สร้างอาคารหลังเล็กขึ้นมาหลังหนึ่ง ในที่ดินคุณนายพัธนีเอง ณ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ อยู่ใกล้กับโรงพิมพ์วิบูลย์กิจ บ้านอยู่ลึกจากถนนไป 2 ถึง 3 เส้น เป็นที่สงัดเงียบ และมีบริเวณกว้างขวางเพียงพอ

    อาคารที่สร้างขึ้นนี้เป็นเรือนไม้มีขนาดพอสมควร มีห้องนอน ห้องพระ ห้องครัว ห้องโถงสำหรับผู้บำเพ็ญการบุญ จะร่วมสวดมนต์จำนวนราว 50 คนได้
    เมื่อสร้างเสร็จได้เชิญคุณแม่ให้มาอยู่หลังจากท่านกลับมาจากเชียงใหม่ท่านได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านวิสุทธิกษัตริย์ เมื่อราวต้นปี พ.ศ. 2492

    ก่อตั้งสามัคคีวิสุทธิ

    เนื่องจากผู้มาร่วมการบุญกับท่านที่บ้านนี้มากมาย มีผู้เจ็บป่วยที่มาขอให้ท่านรักษา จนหายจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมาก คนจำนวนมาก จึงมายอมตัวเป็นศิษย์ เป็นลูก เป็นหลาน ฟังธรรมคำสั่งสอนจากท่าน เมื่อปฏิบัติตามก็ปรากฏว่า ได้รับความสุขทางใจอย่างประหลาด ผู้คนที่มาหาจึงคับคั่งขึ้นตามลำดับ และเพื่อให้ผู้ร่วมการบุและสานุศิษย์ มีความเป็นปึกแผ่น มีชื่อเรียกที่เหมาะสม คุณแม่บุญเรือนจึงขนานนามคณะของท่านว่า “ สามัคคีสุทธิ” และเรียกบ้านที่ท่านอยู่ว่า บ้านสามัคคีวิสุทธิ แต่คนที่คุ้นเคยบางคนจะเรียกว่า”บ้านวิสุทธิกษัตริย์” ก็มี

    วัตรปฏิบัติทั่วไปที่บ้านสามัคคีวิสุทธิ วันธรรมดา คุณแม่ จะสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ ทำกัมมัฏฐาน และรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ผู้ป่วยที่มาหา

    วันเสาร์ จะอธิษฐานด้วยสัจจวาจา และสิ่งของให้ผู้ป่วย เช่น ปูน ไพล ผลไม้ พริกไทย หลังจากนั้น 14.00 น.ท่านจะนำสานุศิษย์สวดมนต์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นทำ กัมมัฏฐานเป็นเวลา 15 นาที กว่าจะเสร็จก้ประมาณ 15.00 น. เป็นเช่นนี้ทุกวันเสาร์ ตลอดช่วงเวลาที่คุณแม่มีชีวิตอยู่
     
  3. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    หลวงปู่ดู่..วัดสะแก../..คุณแม่บุญเรือน..โตงบุญเติม...เนื่องจากกระทู้เก่าทั้ง2กระทู้ที่ให้บูชาวัดถุมงคลหลวงปู่ดู่วัดสะแก/คุณแม่บุญเรือนโตงบุญเติม มีหลายหน้าและสับสนรายการ จึงนำมารวมและตั้งกระทู้ใหม่เพื่อความเป็นระเบียบและเข้าใจง่าย...
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • _46_721.jpg
      _46_721.jpg
      ขนาดไฟล์:
      71.2 KB
      เปิดดู:
      474
    • Kmc9W9.jpg
      Kmc9W9.jpg
      ขนาดไฟล์:
      132.8 KB
      เปิดดู:
      980
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 กรกฎาคม 2015
  4. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    รายการที่1 พระหลวงปู่ทวด คุณแม่บุญเรือน ปี2506 หลังยันต์ เฑาะว์ดอกบัว (พิมพ์ของวัดสัมพันธวงศ์ ) เนื้อดินเผา ผสมทรายเงิน ทรายทอง หายาก พบน้อย สภาพสวยเดิม ไม่ผ่านการบูชา ให้บูชา พีเอมหรือโทรถาม

    พระหลวงปู่ทวด เนื้อผงใบลาน พ.ศ. 2506 วัดสัมพันธวงศ์ เป็นพระที่น่าสนใจปรากฏในหนังสือรวมวัตถุมงคลสายหลวงปู่ทวด ที่สร้างขึ้นเพื่อแจกเมื่อ พ.ศ.2506 โดย พระภิกษุวัดสัมพันธวงศ์ซึ่งเป็นชาวใต้ กับพระอาจารย์ชอบ สมฺมาจารี วัดอาวุธวิกสิตาราม โดยใช้พระหลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ พิมพ์หลังตัวหนังสือ พ.ศ.2504 เป็นต้นแบบ ในการจัดสร้างประกอบด้วยมวลสารศักดิ์สิทธิ์ เช่น

    - ผงใบลานที่เหลือจากการสร้างพระพุทโธน้อยแม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม วัดอาวุธวิกสิตาราม

    - เกสร 108 , ว่าน 108 ของพระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสกเถระ) วัดสัมพันธวงศ์

    - ดินกากยายักษ์จากภาคใต้

    - ผงพุทธคุณหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ

    - ดินเหนียวจากจังหวัดสมุทรสาคร

    - ผงพุทธคุณของพระวิบูลเมธาจารย์ (หลวงพ่อเก็บ) วัดดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

    - ผงพุทธคุณของพระเทพคุณาธาร (เซี้ยง) วัดเจริญสุขาราม จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งท่านเดินทางมาพักที่กุฎีมณีคุณ วัดสัมพันธวงศ์

    - น้ำมันมนต์ของสามเณรน้อยรัตนโกสินทร์แห่งวัดสัมพันธวงศ์

    - น้ำมนต์พระประธานจากวัดสัมพันธวงศ์ซึ่งเก็บไว้ โดยน้ำมนต์นี้ทางวัดได้เชิญโยคีฮาเร็บ และ พ.ต.อ.ชลอ อุทกภาชน์ มาเป็นเจ้าพิธี เพื่อประกอบพิธีปลุกเสกพระผงมงคลมหาลาภ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่พระอุโบสถวัดสัมพันธวงศ์

    - น้ำมนต์จากวัดอาวุธวิกสิตาราม

    สำหรับการจัดสร้างนั้น ได้มีการจัดสร้างเป็น ๒ พิมพ์ คือ เป็นพิมพ์ของวัดสัมพันธวงศ์และวัดอาวุธ-วิกสิตาราม พิมพ์หน้าขององค์พระเหมือนกัน ต่างกันที่พิมพ์หลัง พิมพ์ละประมาณ 1000 องค์ คือ

    - พิมพ์หลังยันต์เฑาะว์ ดอกบัว มียันต์ อะ อุ มะ (เป็นพิมพ์ของวัดสัมพันธวงศ์)

    - พิมพ์หลังยันต์ นะอะระหัง (เป็นพิมพ์ของวัดอาวุธวิกสิตาราม)

    พระหลวงพ่อทวดรุ่นนี้ ได้รับการปลุกเสก 3 ครั้ง คือ

    - ครั้งที่ 1 อธิษฐานจิตปลุกเสกผงพุทธคุณให้เป็นพิเศษจากหลวงพ่อทิม วัดช้างไห้ นอกจากนั้น ยังมีการนิมนต์มาปลุกเสกเดี่ยวที่วัดด้วย โดย พ.อ. โท เนินกร่าง ได้นิมนต์หลวงพ่อทิมมาปลุกเสกเดี่ยวที่วัดสัมพันธวงศ์

    - ครั้งที่ 2 ได้นำไปเข้าพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ที่วัดเอี่ยมวรนุช บางขุนพรหม กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2506

    - ได้รับการอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวจากแม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม ผู้ทรงคุณวิทยาคุณแห่งสำนักวัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งภายหลังแม่ชีบุญเรือนได้ย้ายไปอยู่ที่วัดอาวุธวิกสิตาราม

    พระหลวงปู่ทวด เนื้อผงใบลาน พ.ศ.2506 วัดสัมพันธวงศ์ จึงเป็นพระเครื่องดี มีพุทธคุณสูงมากในยุคนั้น ที่จัดสร้างจากสุดยอดมวลสารศักดิ์สิทธิ์จากภาคใต้ คือ ดินกากยายักษ์ และผงใบลานพระพุทโธน้อยของแม่ชีบุญเรือนอันลือชื่อ และผงพุทธคุณจากหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดแห่งมวลสารของภาคกลางเมื่อเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา และกฤตยาคมแฝดที่ได้รับการปลุกเสกจากหลวงพ่อทิม วัดช้างไห้ และอธิษฐานจิตเพิ่มเติมจากแม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม พ.ศ. 2506 จึงเป็นพระดีควรค่าแห่งการแสวงหาบูชา เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลอย่างแท้จริง
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  5. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    รายการที่2 ล็อคเกตคุณแม่บุญเรือน พร้อมเลี่ยมเงิน สภาพสวย ให้บูชา พีเอมหรือโทรถาม ครับ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • SAM_4005.JPG
      SAM_4005.JPG
      ขนาดไฟล์:
      92.8 KB
      เปิดดู:
      307
    • SAM_3973.JPG
      SAM_3973.JPG
      ขนาดไฟล์:
      81.6 KB
      เปิดดู:
      286
  6. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    รายการที่3 พระมงคลมหาลาภ พิมพ์พระประจำวันจันทร์(มงคลมหาลาภ)พิมพ์ใหญ่ เนื้อดินเผา ปี 2499 คุณแม่บุญเรือนอธิษฐานจิต

    พระชุดนี้เป็นพระที่ได้จากการเปิดกรุวัดอาวุธ เป็นพระที่ผสมสุดยอดมวลสารของพระยุคกึ่งพุทธกาลอย่างศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เช่น ผงโสรฬมหาพรหม ผงพระปิลันทร์ เนื้อขององค์พระจะแกร่ง และมีความเข้นข้นของมวลสารมาก อีกทั้งยังได้อธิษฐานจิตจากสุดยอดของพระคณาจารย์และสายพระอรหันต์ และคุณแม่บุญเรือน ยังได้บรรจุไว้ใต้ฐานพระประธานในพระอุโบสถของวัดอาวุธอีกนานถึง57ปีพระชุดที่เข้าพิธีที่วัดสารนาถเมื่อปี2499นั้น เป็นพิธีฉลองพระพุทโธจอมมุนี หรือที่เรียกกันว่าพิธีมงคลมหาลาภตามชื่อของพระพิมพ์นาคปรก หลังยันต์เฑาะว์ ซึ่งเป็นตราของวัดสัมพัธวงศ์ โดยพระที่ได้นำไปร่วมพิธีจะมีของวัดสารนาถ(วัดที่ทำพิธี) วัดสัมพันธวงศ์ (พิมพ์สมเด็จนาคปรกหลังยันต์เฑาะว์ พิมพ์หลังเรียบ และพระพุทโธน้อยหลังยันต์เฑาะว์ดอกบัว หลังเฑาะว์และหลังเรียบ ส่วนของวัดอาวุธจะเป็นพิมพ์พระประจำวัน หลังยันต์นะล้อม และพิมพ์สมเด็จหลังเรียบพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กจะเป็นของวัดสาร นาถ ซึ่งจะมีพิมพ์พระสมาธิคะแนนและพุทธกวักอีกด้วยโดยที่หลังจากทำพิธีก็จะแบ่งบรรจุกรุไว้ที่วัดสารนาถ และนำกลับมาบรรจุกรุไว้ที่วัดอาวุธ ในส่วนของวัดสัมพัธวงศ์ก็ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดโดยเก็บใส่ลังไม้อย่างดีไม่ได้นำบรรจุกรุจึงทำให้พบเห็นพิมพ์สมเด็จหลังเรียบทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก ได้ทั้งที่วัดสารนาถและวัดอาวุธเพราะเป็นพระชุดเดียวกันและได้นำมาแบ่งบรรจุกรุไว้ทั้งสองแห่ง

    พระประจำวันคุณแม่บุญเรือนเนื้อจะเหมือนพระพุทโธน้อยนะครับมี เนื้อผง เนื้อผงดำใบลานและเนื้อดินเผา เนื้อแบบเดียวกันทุกอย่างครับ และที่สำคัญคือคุณแม่บุญเรือนท่านอธิษฐานจิตไว้สามารถบูชาแทนกันได้อย่าง สบายใจครับพระของคุณแม่บุญเรือนที่ท่านได้อธิษฐานจิตไว้ศักดิ์ศิทธิ์มากนะครับ เซียนพระแทบทุกคนล้วนมีไว้ครอบครองแล้วก็ปรากฏอยู่ในคอแทบทั้งนั้น สังเกตุดูว่า ท่านเหล่านั้นพระหมุนเวียนเป็นหลักแสนหลักล้านก็ยังขึ้นคอพระของคุณแม่บุญ เรือน เป็นเพราะประจักษ์ในของจริงครับ พุทธคุณและความเมตตาของคุณแม่ที่ปราถนาให้ศิษย์ทุกๆคน ผู้ที่ศรัทธาในท่านทุกๆคน ได้เจริญทั้งอริยทรัพย์ภายนอกและภายในคาถาของคุณแม่นะครับตามประวัติท่านว่าพระอินทร์มาให้ท่านไว้ครับ สวดตามกำลังวัน เช่นวันนี้วันอาทิตย์ก็สวดไป6 จบ เป็นต้นนะชาลีติ ฉิมพาลี จะมหาเถโร สุวรรณมามา โภชนะมามา วัตถุวัตถามามา พลาพลังมามา โภคะมามา มหาลาโภมามา สัพเพชะนา พหุชะนา ภะวันตุเภาพชุดพระที่อธิษฐานจิตโดยคุณแม่บุญเรือนที่ผู้ครอบครองได้นำมารวบ รวม ไว้ใส่กรอบบูชาครับ ประกอบด้วยพระพุทโธน้อย พระพิมพ์สมเด็จ พระพิมพ์ประจำวันพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ในกรอบนี้ยังมีไม่ครบทุกพิมพ์ครับหลวงปู่ทวด ข้าวตอกพระร่วง ศิลาน้ำข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือประวัติและวัตถุมงคลคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม โดยภักตร์ มรดกไทย หน้า342 ขอขอบคุณครับ

    **พระองค์นี้แท้ดูง่าย สภาพเก่าเก็บ ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ให้บูชา 1000 บาท
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • SAM_6866.JPG
      SAM_6866.JPG
      ขนาดไฟล์:
      69.6 KB
      เปิดดู:
      278
    • SAM_6870.JPG
      SAM_6870.JPG
      ขนาดไฟล์:
      67 KB
      เปิดดู:
      244
  7. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    รายการที่4 สมเด็จชุดในโอ่ง หลัง๑ด หลวงปู่ดู่วัดสะแก มีพระธรรมธาตุ สวยปี 2527
    พระชุดในโอ่งจัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2527 เป็นพระเนื้อปูนซีเมนต์ขาวผสมผงพุทธคุณหลวงปู่ดู่ (ยืนยันได้ว่าพระหลวงปู่มีผงพุทธคุณผสมอยู่ด้วย เนื่องจากเคยเข้าไปในห้องกระจกบนหอสวดมนต์ ได้เห็นกระดานชนวนที่หลวงปู่ใช้ลบผง) พระชุดนี้จัดสร้างโดยคณะป้าอิ้งและพระอ้วน พระพิมพ์หลักๆที่จัดสร้างประกอบด้วย
    1.พิมพ์สังข์กระจายวัดสุทัศน์ฐานสูงและฐานเตี้ย
    2.พิมพ์สมเด็จสามชั้น (ถอดพิมพ์ บางขุนพรหม,วัดระฆัง,เจ้าคุณนรฯ และ หลวงพ่อแพ)
    3.พิมพ์สมเด็จ 7 ชั้น & 9 ชั้น (ถอดพิมพ์ วัดเกษไชโย)
    4.พิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ (ถอดพิมพ์ บางขุนพรหม และ หลวงพ่อแพ)
    5.พิมพ์สมเด็จฐานสิงห์ (ถอดพิมพ์หลวงพ่อแพ)
    6.พิมพ์พระลือ
    7.พิมพ์ปรกยะลาเจ้าคุณนรฯ
    8.พิมพ์พระประจำวันวัดรัตนชัย
    9.พิมพ์พระธิเบตใหญ่ & เล็ก (ไม่ทราบถอดพิมพ์จากไหน)
    10.พิมพ์หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง
    11.พิมพ์เหรียญบัวข้าง 2520
    12.พิมพ์เหรียญฉีดบัวข้าง 2522
    13.พิมพ์เหรียญยันต์ดวง 2526
    14.พิมพ์พระปิดตาฤาษีลิงดำ
    15.พิมพ์วัดศีลขันธาราม
    16.พิมพ์พระของขวัญวัดปากน้ำ, พระลีลาเล็กๆ
    เท่าที่นึกได้ครับ เนื้อจะมีทั้งขาว, เทา และเหลืองอมเขียว ด้านหลังจะมีทั้งหลังเรียบ, หลัง ๑ ด และ หลัง อะ ระ หัง (พบเห็นน้อยมาก)

    แต่พระลูกศิษย์ของหลวงปู่ดู่ ที่ประจำอยู่ที่วัดสะแกท่านรับรองว่าเป็นของหลวงปู่ดู่ทันท่านเสกแน่นอน และเสกนานด้วยก็ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๗ จนถึงท่านละสังขาร ได้ผ่านพิธีเปิดโลก และพิธีการต่างๆ หลายวาระ

    ความหมายของการโปรดยุคปัจจุบัน นั้นหมายถึงเมื่อสร้างและเสกโดยหลวงปู่ดู่แล้วได้นำบรรจุไว้ในโอ่งน้ำดื่ม แล้วล้อมด้วยสายสิญจน์ หลวงปู่ดู่ท่านเสกและอธิษฐานจิตเรื่อยมาและถูกเก็บไว้โดยพระลูกศิษย์คนสำคัญที่องค์หลวงปู่ดู่มอบหมายไว้ให้สอนกรรมฐานและแนะนำการปฏิบัติต่อไป

    ถ้าใครจะปฏิบัติและยึดเอา พระไตรสรณคมน์ และ "องค์หลวงปู่ดู่ - หลวงปู่ทวด"
    เป็นครูบาอาจารย์แล้วก็รับเอาพระสมเด็จนี้ไปกำในมือ ขณะภาวนาทำสมาธิ




    เหมือนองค์ท่านจะทราบด้วย อนาคตังสญาณ ว่า

    ในอนาคตจะมีผู้ต้องการพระท่านมาก
    ท่านจึงสร้างและเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังๆ
    ขอเพียงท่านเป็นผู้ปฏิบัติที่ดี ศรัทธาและกระทำดี
    แม้นเพียง ๑ ใน ๔ ส่วน หลวงปู่ดู่ท่านก็เมตตา

    "คนเราไม่ได้รู้จักดีมาแต่เกิด เมื่อรู้แล้วต้องเอาให้หายอยาก" :หลวงปู่ดู่

    พระรุ่นนี้บางองค์พบพระธาตุขึ้นลักษณะขาวอมเหลือง และขาวใส เกาะติดองค์พระ แต่ไม่ได้พบทุกองค์แต่ความสำคัญอยู่ที่องค์หลวงปู่ดู่ท่านอธิษฐานจิตเป็นพิเศษไว้ในพระสมเด็จรุ่นนี้

    สมเด็จชุดนี้พิเศษที่เป็นสมเด็จใช้ทำกรรมฐาน (สมาธิ) เน้นความคุ้มครองแก่ศิษย์ในระหว่างที่นั่งสมาธิ จากภูติผีปีศาจที่ชอบมารบกวนประเภทมือใหม่ หลวงปู่ดู่ท่านขอพระบารมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แผ่บารมีช่วยเหลือผู้ที่นั่งสมาธิให้จิตมีสมาธิได้เร็วขึ้น โดยอธิษฐานไว้กับพระสมเด็จรุ่นนี้

    โดยเฉพาะสำหรับลูกศิษย์ที่ปฏิบัติกรรมฐานได้ บอกตรงกันว่า

    "สามารถถามปัญหาข้อติดขัดต่างๆ ได้"


    ที่เรียกกันว่า "ถามพระ"

    ความพิเศษความสุดยอดที่ว่านี้อยู่ที่องค์หลวงปู่ดู่ท่าน เป็นผู้อธิษฐานจิตเอง
    เรียกว่า สมเด็จกรรมฐาน (และที่พิเศษ ก็สำหรับศิษย์ในยุคปัจจุบันที่ไม่ทันมากราบท่าน)

    หลวงน้าสายหยุดท่านเคยบอกไว้ ท่านบอกว่า ท่านไม่ได้กล่าวชมอาจารย์ตัวเองนะแต่จะหาพระองค์อื่นๆ หมายถึง พระเกจิที่ทำได้เหมือนท่านยาก หลวงน้าท่านบอกว่า หลวงปู่ดู่ท่านขอบารมีพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตที่ตรัสรู้จนกระทั่งนิพพาน อยู่ในองค์พระทั้งหมดแดนนิพพานก็อยู่ในนั้น...

    บารมีและแสงสว่างจากองค์พระของ หลวงปู่ดู่ เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ลูกศิษย์รุ่นเก่าๆ ว่าองค์หลวงปู่ดู่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์เป็นพระโพธิสัตว์บารมีมาก ถ้าใครได้ปฏิบัติกับท่านแล้ว จะทราบได้เองว่า พระที่หลวงปู่ดู่ท่านให้นำไปกำ ขณะปฏิบัติสมาธิภาวนานั้นไม่ธรรมดา

    ปัจจุบัน พระสมเด็จรุ่นนี้ถูกเก็บไว้ที่วัดสะแกโดยพระองค์สำคัญท่านหนึ่ง ที่ท่านยังไม่เปิดตัวแต่รู้กันในหมู่ลูกศิษย์ว่า ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดีและสามารถแนะนำ หรือสอนในเบื้องต้นได้(ถ้าโชคดีอาจได้พระสมเด็จจากท่าน) และถ้าใครรักที่จะปฏิบัติภาวนา ทำสมาธิก็ต้องไปกราบขอความเมตตาท่านเอาเอง พระที่ท่านให้ เป็นพระของหลวงปู่ดู่แท้ๆ 100%

    หลวงปู่ดู่เคยกล่าวไว้ว่า

    "พระข้าไม่เป็นที่หนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นรองใครในแผ่นดิน"

    พระรุ่นนี้ท่านทำและอธิษฐานไว้

    "ใครมีบุญ และเคยทำบุญร่วมกันมา
    ขอให้ได้มาพบกัน ถึงไม่ได้พบ
    ก็ขอให้พบแบบวิธีปฏิบัติ และพระที่ข้าทำเอาไว้
    จะได้มีกำลังใจในการปฏิบัติต่อไป"

    **องค์นี้สภาพสวย มีพระธรรมธาตุ หายาก** ให้บุชา 1200 บาท
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • SAM_6880.JPG
      SAM_6880.JPG
      ขนาดไฟล์:
      44.8 KB
      เปิดดู:
      257
    • SAM_6882.JPG
      SAM_6882.JPG
      ขนาดไฟล์:
      37 KB
      เปิดดู:
      214
  8. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    รายการที่5 รูปถ่าย หลวงปู่ดู่ วัดสะแก เลี่ยมเดิมจากวัด

    รูปถ่าย หลวงปู่ดู่ เลี่ยมเดิมจากวัด ทันท่านเสก สวยๆ สำหรับสายหลวงปู่ดู่ ไว้ใช้จับภาพท่านทำสมาธิ ได้เลยครับ รูปถ่ายภาพนี้ของหลวงปู่มีลงในหนังสือวัดเล่มใหญ่ครับ

    **อาราธนา พร้อมใช้ ได้เลยครับ ให้บูชา 1200 บาท
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  9. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    รายการที่6 พระผงจักรพรรดิ์ถอดพิมพ์เหรียญพระพุทธหลังโบสถ์ หลวงปู่ดู่วัดสะแก สภาพสวย

    พระชุดในโอ่งจัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2527 เป็นพระเนื้อปูนซีเมนต์ขาวผสมผงพุทธคุณหลวงปู่ดู่ (ยืนยันได้ว่าพระหลวงปู่มีผงพุทธคุณผสมอยู่ด้วย เนื่องจากเคยเข้าไปในห้องกระจกบนหอสวดมนต์ ได้เห็นกระดานชนวนที่หลวงปู่ใช้ลบผง) พระชุดนี้จัดสร้างโดยคณะป้าอิ้งและพระอ้วน พระพิมพ์หลักๆที่จัดสร้างประกอบด้วย
    1.พิมพ์สังข์กระจายวัดสุทัศน์ฐานสูงและฐานเตี้ย
    2.พิมพ์สมเด็จสามชั้น (ถอดพิมพ์ บางขุนพรหม,วัดระฆัง,เจ้าคุณนรฯ และ หลวงพ่อแพ)
    3.พิมพ์สมเด็จ 7 ชั้น & 9 ชั้น (ถอดพิมพ์ วัดเกษไชโย)
    4.พิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ (ถอดพิมพ์ บางขุนพรหม และ หลวงพ่อแพ)
    5.พิมพ์สมเด็จฐานสิงห์ (ถอดพิมพ์หลวงพ่อแพ)
    6.พิมพ์พระลือ
    7.พิมพ์ปรกยะลาเจ้าคุณนรฯ
    8.พิมพ์พระประจำวันวัดรัตนชัย
    9.พิมพ์พระธิเบตใหญ่ & เล็ก (ไม่ทราบถอดพิมพ์จากไหน)
    10.พิมพ์หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง
    11.พิมพ์เหรียญบัวข้าง 2520
    12.พิมพ์เหรียญฉีดบัวข้าง 2522
    13.พิมพ์เหรียญยันต์ดวง 2526
    14.พิมพ์พระปิดตาฤาษีลิงดำ
    15.พิมพ์วัดศีลขันธาราม
    16.พิมพ์พระของขวัญวัดปากน้ำ, พระลีลาเล็กๆ
    เท่าที่นึกได้ครับ เนื้อจะมีทั้งขาว, เทา และเหลืองอมเขียว ด้านหลังจะมีทั้งหลังเรียบ, หลัง ๑ ด และ หลัง อะ ระ หัง (พบเห็นน้อยมาก)

    แต่พระลูกศิษย์ของหลวงปู่ดู่ ที่ประจำอยู่ที่วัดสะแกท่านรับรองว่าเป็นของหลวงปู่ดู่ทันท่านเสกแน่นอน และเสกนานด้วยก็ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๗ จนถึงท่านละสังขาร ได้ผ่านพิธีเปิดโลก และพิธีการต่างๆ หลายวาระ

    ความหมายของการโปรดยุคปัจจุบัน นั้นหมายถึงเมื่อสร้างและเสกโดยหลวงปู่ดู่แล้วได้นำบรรจุไว้ในโอ่งน้ำดื่ม แล้วล้อมด้วยสายสิญจน์ หลวงปู่ดู่ท่านเสกและอธิษฐานจิตเรื่อยมาและถูกเก็บไว้โดยพระลูกศิษย์คนสำคัญที่องค์หลวงปู่ดู่มอบหมายไว้ให้สอนกรรมฐานและแนะนำการปฏิบัติต่อไป

    ถ้าใครจะปฏิบัติและยึดเอา พระไตรสรณคมน์ และ "องค์หลวงปู่ดู่ - หลวงปู่ทวด"
    เป็นครูบาอาจารย์แล้วก็รับเอาพระสมเด็จนี้ไปกำในมือ ขณะภาวนาทำสมาธิ

    **พระพิมพ์นี้หายากครับ นานจะพบเจอซักองค์ สมาชิกท่านใดอยากมีไว้ครอบครองเชิญครับ ราคาไม่แพง ให้บูชา 850 บาท
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 12121.jpg
      12121.jpg
      ขนาดไฟล์:
      41.1 KB
      เปิดดู:
      241
    • 12122.jpg
      12122.jpg
      ขนาดไฟล์:
      31.8 KB
      เปิดดู:
      246
  10. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    รายการที่7 เหรียญพระพุทโธคลัง รุ่นแรก (รุ่นเสาร์5ปี2555) นวโลหะ มีมวลสารของคุณแม่บุญเรือน กล่องกำมะหยี่เดิมๆๆ ให้บูชา 1500 บาท

    "เหรียญพระพุทโธคลัง รุ่น 1 นี้ นับเป็นจุดโฟกัสพลังโดยเฉพาะ อันมีสาเหตุจากรูปลักษณ์,ความเป็นรุ่นแรก และ ฯลฯ อันมีความลึกลับและสลับซับซ้อน ยากที่จะอธิบายทั่วไปโดยง่าย โดยหากพระพุทโธคลังองค์จริงคือแห่งกำเนิดพลังงาน เหรียญพระพุทโธคลัง รุ่นแรกนี้ ก็เปรียบเหมือนกับหลอดไฟ ที่เมื่อได้รับพลังงานจากแหล่งกำเนิดแล้ว ก็ส่องแสงแรงกล้าฉายไปเอิบอาบจนทั่วปริมณฑลพิธีนี้อีกทอดหนึ่งด้วย..!!??!!"

    หมายเหตุพิเศษ , การที่อัญเชิญเหรียญพระพุทโธคลัง ชุดกรรมการ (ตอกโค้ดพิเศษแยกเป็นเอกเทศต่างหาก)มาเข้าพิธีมหาพุทธาภิเษก ณ วัดเจดีย์หลวงแห่งนี้ เหตุสำคัญอย่างยิ่งที่น้อยคนนักจักล่วงรู้ก็คือ ที่วัดเจดีย์หลวงแห่งนี้ นอกจะเคยเป็นที่ชุมนุมแห่งพระอริยสงฆ์องค์อรหันต์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระในกาลก่อน ไม่แพ้วัดสารนาถธรรมาราม ระยองแล้ว(จริงๆ จะยิ่งกว่าวัดสารนาถฯเสียอีก เพราะองค์หลวงปู่มั่นเอง ก็เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงนี้มาก่อนด้วย..!!!!) ก็ยังเป็นวัดที่คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติมเคยเดินทางมาพำนักคราวมาโปรดศิษยานุศิษย์ทางเมืองเชียงใหม่ และแสดงอภินิหาร "เดินเหนือน้ำ" เพื่อไปจับเต่ากลางสระ วัดเจดีย์หลวง อันได้ปรากฏบันทึกในหนังสือบุญเรือน โตงบุญเติมอนุสรณ์อย่างชัดเจน แต่น้อยนักจะสังเกตและใส่ใจจนมองทะลุและสืบเสาะเจาะลึกถึงความสำคัญตรงจุดนี้ให้ถ่องแท้ได้
    คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม เคยไปแสดงอภินิหารเดินบนน้ำที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อหน้าศิษย์ฝ่ายหญิงเป็นที่อัศจรรย์
    ไม่มีใครเห็นตอนที่ท่านกำลังเดินหรอก แต่เหตุการณ์จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากท่านต้องเดินไปบนผิวน้ำ
    เรื่องของเรื่องมีว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ คุณแม่บุญเรือน ได้ขึ้นไปพักอยู่ที่บ้านคุณนายลิ้นจี่ ฤษาภิรมณ์ วัดเจดีย์หลวง
    หน้าบ้านคุณนายลิ้นจี่มีหนองน้ำ ห่างจากตลิ่งราวสองวา มีกอหญ้าแห้งลอยอยู่ อยู่ดีๆ คุณแม่บุญเรือนไปจับเต่ามาจากกอหญ้า และเอาเปลือกมะพร้าวไปวางไว้แทนอย่างเรียบร้อย แล้วหันมาบอกกับคุณนายลิ้นจี่ในเวลาต่อมาอีกด้วยว่า
    "คุณพี่ลิ้นจี่ ดิฉันจับเต่าได้แล้ว..!!!!!!"
    “ดิฉันเอาไม้ลองพาดดูก็ไม่ถึงกอหญ้า” คุณนายลิ้นจี่บอก “น้ำก็ยังกระเพื่อมอยู่ ได้พิจารณาดูตามเท้าและร่างกายคุณบุญเรือน ไม่เห็นมีเปียกมีเปื้อนที่ตรงไหน น้ำตอนนั้นลึก ถ้าจะลุยไปอย่างน้อยจะต้องเปียกขึ้นมาถึงเอวเชียวค่ะ”
    “สังเกตดูที่กอหญ้า เห็นเหมือนกับรอยเท้าสองข้างเหยียบกอหญ้านั้น กอหญ้าแห้งนี้สมมุติว่าคนจะไปยืนก็คงไม่ได้ เพราะหญ้าฟูลอยน้ำขึ้นมา ขนาดกอไม่ใหญ่พอจะทานน้ำหนักเด็กๆ ได้ เพียงแต่เอาก้อนอิฐขว้างไป หญ้าก็แยกกระจาย” คุณนายแดง ชัวย่งเสง คหบดีชาวเชียงใหม่ที่อยู่ในที่เดียวกัน อธิบายเพิ่มเติม
    ก็เรื่องที่คุณแม่บุญเรือนเดินเหนือน้ำ ณ วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่นี้ นับเป็นเหตุการณ์อภินิหารที่สำคัญอีกตอนที่หลายๆคนมองข้ามไปแทบจะโดยสิ้นเชิง
    แต่ย่อมไม่ใช่เรื่องของ"พุทธวงศ์" อย่างไม่ต้องสงสัย
    เรื่องที่ใครทั้งนั้นละเลยหรือมองข้าม แต่หากเข้าตากรรมการแล้วไซร้ "พุทธวงศ์"ก็จะไปเจาะและนำมาขยายให้สิ้นไส้เสียเลยทีเดียว
    ก็ของดีๆแบบนี้ จะทนใจจืดใจดำปล่อยให้สูญสลายไปกับอากาศธาตุและกาลเวลาไปเปล่าๆได้อย่างใด..????
    คนอื่นๆอาจจะทำได้ แต่สำหรับ"พุทธวงศ์"แล้ว ตัดใจไม่ทำไม่ลงอย่างแน่นอน
    ว่าแล้ว ขณะที่พระสงฆ์ทั้งนั้นกำลังประกอบพิธีพุทธาภิเษกอยู่ "พุทธวงศ์"จึงได้ออกไปข้างนอกพระวิหารหลวงซึ่งแออัดและอึกทึกด้วยสรรพสำเนียง แล้วไปนั่งอยู่เงียบๆใต้ต้นไม้ข้างๆองค์พระเจดีย์หลวง แล้วเอาเหรียญพระพุทโธคลัง รุ่นแรก พิมพ์ใหญ่ พิมพ์นิยมเหรียญหนึ่งขึ้นมากำ แล้วอธิษฐานว่า
    "หากบารมีธรรมของคุณแม่บุญเรือนที่เคยมาแสดงปาฏิหาริย์เดินเหนือน้ำที่วัดเจดีย์หลวงยังคงอยู่แล้วไซร้ ก็ขอได้โปรดแผ่ไปปกห่มรักษาอภิเษกเหรียญพระพุทโธคลังที่อยู่ในพิธีพร้อมด้วยวัตถุมงคลทั้งหมดให้มีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดตามอัธยาสัยด้วยเทอญฯ"
    ว่าแล้ว ก็สวดพระคาถาพระฉิมพลี 10 จบ(ตามกำลังวันเสาร์) แล้วนึกจินตนาการอัญเชิญพลังจากฟากฟ้าลงครอบทั้งพระวิหารไปทั้งหมดรวดเดียวเลยทีเดียว......
    เพียงชั่วไม่กี่อึดใจ ในท่ามกลางฟ้าใสๆ ที่ค่อนข้างจะร้อนอบอ้าว พลันก็รู้สึกว่า มีละอองน้ำอะไรเล็กๆบางหยดบางหยาดลอดผ่านกิ่งไม้ใบหนามาถูกต้องสรีรกายแห่ง"พุทธวงศ์"ซึ่งกำลังนั่งหลบแดดอยู่ข้างใต้ในทันใด
    ในชั้นแรก ก็ไม่ได้นึกอะไรมาก เพราะดูฟ้าเบื้องบน ลักษณะสภาวะก็ไม่น่าที่จะมีฝนตกอะไรได้
    แต่ต่อมา ก็มีหยดที่ 2,3 และ 4 โปรยละอองติดตามมาอีก จนที่สุด ก็เริ่มหนักขึ้นจนเห็นเป็นจุดเป็นดวงที่พื้นอิฐรอบๆที่นั่งอยู่พร่างพราวไปหมด จึงได้แจ้งประจักษ์ว่า
    "ฝนตกฟ้าใสๆกลางวันแสกๆของจริง"ไม่ผิดแล้ว..!!!!!!!!!!
    เพิ่มเติมได้ที่ลิงค์
    http://www.gmwebsite.com/Webboard/To...50607190066268

    ***เหรียญพระพุทโธคลัง รุ่นแรก (รุ่นเสาร์5ปี2555)

    วัดสารนาถฯ จ.ระยอง เนื้อนวโลหะ (โลหะสำคัญ9ชนิด) สร้างน้อยหายาก ขนาดองค์พระ กว้าง 2.5 ซ.ม. สูง 3.5 ซ.ม.

    สภาพพระสวยมาก ไม่ผ่านการบูชานะครับ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  11. @ชาวบ้าน

    @ชาวบ้าน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    384
    ค่าพลัง:
    +792
    ทราบราคา
     
  12. Pabong

    Pabong Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ตุลาคม 2014
    โพสต์:
    20
    ค่าพลัง:
    +48
    ขอจองรายการที่ 3 ครับ
     
  13. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    รับทราบการจองครับ:boo:
     
  14. ญาณวโร นามะ

    ญาณวโร นามะ เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    29,705
    ค่าพลัง:
    +4,635
    ให้บูชาพระเครื่อง วัตถุมงคล หลากหลายรายการ ค่าจัดส่ง50บาททั่วประเทศครับรับประกันแท้ยินดีคืนเงินเต็มจำนวน โดยไม่มีเงื่อนไขครับ (พระต้องกลับมาสภาพเดิมครับ)
    ท่านที่สนใจจองได้ไม่เกิน3วัน โอนเงินได้ที่รายละเอียดที่อยู่ด้านล่าง หลังจากโอนแล้ว รบกวนโทร.หรืออีเมล์มาบอกชื่อที่อยู่สำหรับจัดส่งด้วยครับ
    ติดต่อสอบถามได้ที่
    - Pm
    - เบอร์โทร 0817933946
    ชำระเงินได้ที่
    ธ.กรุงไทย สาขา ศรีย่าน
    ชื่อบัญชี นายวรัญญู เล้ารัตนอารีย์
    เลขที่บัญชี 012-0-14398-4
     

แชร์หน้านี้

Loading...