ลลิตวิสตรพุทธประวัติมหายาน ตอน เหตุบังเกิดพระสูตร

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 24 พฤษภาคม 2016.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,438
    ลลิตวิสตรพุทธประวัติมหายาน ตอน เหตุบังเกิดพระสูตร

    [​IMG]
    วันนี้จะนำเสนอพุทธประวัติแบบมหายานมาให้อ่านกันนะครับอาจแตกต่างจากตำราของเราบ้างก็อย่าไปสนใจในเกร็ดเล็กน้อยนั้น พระพุทธศาสนามีมหายานและเถรวาทต้องควบคู่กันเราเองก็ต้อเรียนรู้มหายานบ้างจึงจะเป็นพุทธที่สมบูรณ์ครับ

    เอวํ มยา ศฺรุตมฺ ข้าพเจ้าผู้มีนามว่า อานันทะ ได้สดับมาแล้วอย่างนี้--

    เอกสฺมินสมเย ภควานฺ ในสมัยกาลครั้งหนึ่ง พระผู้มีภคะ(*)ทรงสำราญพระอิริยบถ อยู่ในพระอารามเชตวันอันเป็นอารามของท่านอนาถปิณฑทะในนครศราวัสตี พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ใหญ่มีจำนวนประมาณ 12000 รูป นั่นคือ ท่านชญาน เกาณฑินยะ ท่านอัศวชิตะ ท่านพาษปะ ท่านมหานาม ท่านภัทริกะ ท่านยศเทวะ ท่านวิมละ ท่านสุพาหุ ท่านคะวำปติ ท่านอุรุวิลวากาศยปะ ท่านนทีกาศยปะ ท่านคยากาศยปะ ท่านศาริปุตระ ท่านมหาเมาทคัลยายนะ ท่านมหากาศยปะ ท่านมหากาตยายนะ ท่านกผิละ ท่านเกาณฑินยะ ท่านจุนันทะ ท่านปูรณไมตรายณีปุตระ ท่านอนิรุทธะ ท่านนันทิยะ ท่านกัสผิละ ท่านสุภูติ ท่านเรวตะ ท่านขทิรวนิกะ ท่านอโมฆราชะ ท่านมหาปารณิกะ ท่านพักกุละ ท่านนันทะ ท่านราหุละ ท่านสวาคตะ และท่านอานันทะ ฯ เช่นเดียวกัน พระองค์พร้อมด้วยประมุข คือพระภิกษุ 12000 รูป พระโพธิสัตว์ 32000 รูป สืบเนื่องด้วยสหชาต คือ เกิดคราวเดียวกันทั้งหมด เป็นผู้ถือกำเนิดบำเพ็ญบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้สนุกสำราญอยู่ด้วยอภิชญาตาแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ได้รับการแตกฉาน (มีปฏิภาณ) ในสิ่งที่ทรงจำแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ได้รับมนตร์ธารณีแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยประณิธาน (ความตั้งใจในอันจะเป็นพระโพธิสัตว์) ทั้งปวง เป็นผู้บรรลุถึงสัมยักคติ คือ ทางดำเนินชอบแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ที่มีความปรารถนาเพื่อจะเป็นพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้หว่านโปรยความเพียรในอันจะเป็นพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้บำเพ็ญภูมิธรรมแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง



    * ผู้มีภคะ คือผู้มีสมบัติ 6 อย่าง ได้แก่ 1 ทรัพย์ 2 วีรยะ 3 ปรัชญาชญาน 4 วิรคะธรรม 5 ยศ 6 ศรีหรือสิริ คำว่า ภควาเป็นภาษามคธ ภควานฺเป็นภาษาสํสกฤต ไทยแปลว่า พระผู้มีพระภาค



    นั่นคือ พระองค์ทรงสำราญพระอริยาบถพร้อมด้วยพระไมตรีผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ พระธรณีศวรราชผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ พระสิงหเกตุผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ พระสิทธารถะผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ พระประศานตะจาริตระมติผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ พระประติสังวิตปราปตะผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ พระนิโตยทยุกตะผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ พระมหากรุณาจันทริณะผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ พระโพธิสัตว์เหล่านี้เป็นประมุขในจำนวนพระโพธิสัตว์ 32000 พรองค์



    ก็และสมัยนั้นแล พระผู้มีภคะทรงสำราญพระอิริยาบถอาศัยมหานครศรวัสตี ทรงเป็นที่สักการเคารพนับถือบูชาของพระราชผู้เป็นประชุมชน (บริษัท) ของพวกนับถือไตรสรณาคม ราชกุมาร ราชมนตรี ราชมหาอมาตย์ ราชปาทมูลิกา (ผู้เฝ้าแหนใกล้ชิตแทบพระยุคลบาทของพระราชา) ประชุมชน (บริษัท) แห่งกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี อมาตย์ ผู้อยู่ในเมืองหลวงและอยู่ในชนบท เดียรถีย์อื่นๆ สมณะพราหมณ์ นักบวชเร่ร่อนและปริพาชกฯ พระผู้มีภคะมีปรกติได้รับของขบเคี้ยว ของกินที่กำหนดด้วยสิ่งของมีรสอร่อยและเครื่องใช้สอยคือ จีวร บาตร เสนาสนะ ยารักษาโรค อย่างเพียงพอ พระผู้มีภคะทรงได้รับลาภอันเลิศ ทรงได้รับเกียรติยศชื่อเสียงอันประเสริฐ ทรงได้รับการเอาอกเอาใจ ประคับประคองในที่ทั่วไป ด้งว่าบัวได้รับการประคับประคองด้วยน้ำ มีคำกล่าวสรรเสริญพรรณนาคุณของพระผู้มีภคะอย่างใหญ่หลวงเอิกเกริกขึ้นในโลกว่า "พระผู้มีภคะเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองถึงพร้อมด้วยวิชชา(*) และจรณะ(**)เสด็จไปดีแล้ว (คือทรงพระดำเนินไปในทางที่ดี) ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกหัดบุรุษ (ปวงชน) อย่างยอดเยี่ยม ทรงเป็นศาสดาผู้สั่งสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้ตรัสรู้แล้วตื่นแล้ว ทรงเป็นผู้มีภคะทรงประกอบด้วยจักษุ 5 ดวง(***) พระองค์ทรงรูแจ้งโลกนี้โลกหน้าพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ทรงรู้แจ้งด้วยพระองค์เองซึ่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ ทรงกระทำ(ความรู้)ให้ปรากฏบรรลุแล้ว ประทับอยู่แล้วๆ พระองค์ทรงแสดงสัทธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย(สัทธรรมนั้น)ประกอบด้วย อรรถพยัญชนะ สมบูรณ์บริศุทธ และสะอาดที่สุด ได้ทรงประกาศพรหมจรรย์(สาสนา)แล้วฯ



    * วิชชามี 8 อย่างคือ 1วิปัสสนาญาณ 2มโนมยิทธิ 3อิทธิวิธิ 4ทิพพโสต 5เจโตปริยญาณ 6ปุพเพนิสานุสติญาณ 7ทิพจักษุญาณ 8อาสวขยะญาณ



    **จรณะมี 15 อย่าง แบบหีนยาน คือ 1สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล 2 อินทรีย์สังวร สำรวมอินทรีย์ 3โภชนมัตตัญญุตา รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร 4ชาคริยานุโยค ประกอบด้วยความเพียรตื่นอยู่เสมอ 5สัทธา มีศรัทธา 6หิริ มีความละอายใจ 7โอตัปปะ เกรงกลัวบาป 8พหุสัจจะ สดับตรับฟังเล่าเรียนมาก 9วิริยะ มีความเพียร 10สติ มีสติ 11ปัญญา มีปัญญา 12ปฐมฌาน 13ทุติยฌาน 14ตติยฌาน 15จตุตถฌาน



    ***จักษุ 5 ดวงแบบหีนยาน คือ 1มัสะจักษุ จักษุคือดวงตา 2ทิพพจักษุ จักษุทิพย์ 3ปัญญาจักษุ จักษุคือปัญญา 4พุทธจักษุ จักษุแห่งพระพุทธ 5สมันตจักษุ จักษุรอบคอบ



    และในครั้งนั้น พระผู้มีภคะทรงเข้าสมาธิชื่อพุทธาลังการะวยูหะ (มีขบวนประดับด้วยพระพุทธ) ในยามกลางราตรี และเมื่อพระผู้มีภคะอยู่ในระหว่างเข้าสมาธินี้ ขณะนั้นเบื้องบนพระเศียรของพระผุ้มีภคะทรงเปล่งรัศมีชื่อชญาณาโลกาลังการะ(ประดับด้วยแสงสว่าง คือ พระญาณ)อันสืบเนื่องมาจากทรงระลึกถึงพระพุทธในอดีตเปล่งออกจากช่องพระอุษณีษ(กลุ่มพระเกศา)รัศมีนั้นสว่างทั่วเทวภิภพปลุกเทพยดาในชั้นสุทธาวาสทั้งปวง และเทพยดาทั้งหลายหาประมาณมิได้มีพระผู้เป็นเจ้ามเหศวร เป็นต้น และภายหลังจากนั้น คาถา (คือถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์)เป็นเครื่องปลุก ซึ่งได้เปล่งออกจากข่ายรัศมีของพระตถาคตนี้ ก็ได้เปล่งเสียงออกมาว่า



    1 ท่านทั้งหลาย จงอาศัยพระองค์ผู้มีรัศมีคือญาณ กำจัดความมืด ทำให้สว่าง อำนวยความสุข มีความงาม บริศุทธ มีอำนาจสูง มีกายสงบ มีจิตงามและสงบ ได้โอบทาบพระมุนีผู้เป็นสิงห์แห่งศากยฯ



    2 มีมหาสมุทร คือ พระปรีชาญาณ เป็นผู้บริศุทธ มีอานุภาพใหญ่ เป็นใหญ่ด้วยธรรม รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นใหญ่กว่านักปราชญ์ทั้งหลาย เป็นเทพเจ้าเหนือเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้ควรแก่การบูชาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เป็นผู้ตรัสรู้เองในธรรม



    มีความชำนาญฯ



    3 เป็นผู้ซึ่งไม่ยอมตกอยู่ในอำนาจของจิตอันยากที่จะข่มได้ มีใจพ้นแล้วจากบ่วงมาร พระองค์มีการเห็นและการฟังอันหาโทษมิได้ในโลกนี้ พระองค์เสด็จถึงฝั่งแห่งวิโมกษ(การหลุดพ้นจากเกลศและโลก)ด้วยความสงบ และไม่เสด็จกลับมา ฯ



    4 ท่านทั้งหลายทั้งปวง จงเข้าหาพระองค์ด้วยความภักดี ซึ่งพระองค์เป็นแสงสว่าง เป็นธรรมอันหาสิ่งเทียบเทียมมิได้ เป็นผู้บันเทาความมืด เป็นผู้ชี้แจงให้ผู้อื่นรอบรู้นัยต่างๆมีพระกิริยาอันสงบ เป็นผู้ตรัสรู้มีปัญญาอันประมาณมิได้ฯ



    5 พระองค์เป็นแพทย์ ประทานยาคืออมฤต พระองค์กล้าในการตรัสเจรจาแสดงลัทธิ ทำให้พวกมิจฉาทิฏฐิเร่าร้อนไปตามกัน พระองค์เป็นพงศ์พันธุ์แห่งพระธรรมทรงปราชญ์เปรื่องในปรมัตถธรรม พระองค์เป็นผู้นำ เป็นผู้ชี้ทรงไม่มีใครยิ่งไปกว่า ดั่งนี้แล ฯ



    และอนึ่ง เทพบุตรผู้เป็นศุทธาวาสกายิกา (คือผู้อยู่ชั้นศุทธาวาส)ได้ปรากฏชื้นรอบด้าน ถูกตักเตือนด้วยคาถาดังกล่าวข้างบนนี้ อันมีอำนาจยิ่งด้วยรัศมีแสงสว่างแห่งญาณอันไม่เกี่ยเนื้องด้วยพุทธานุสมฤตินั้น เป็นผู้มีความสงบระงับรอบด้าน ออกจากสมาธิแล้ว ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งเป็นพระผู้มีภคะเหล่านั้น ผู้ก้าวล่วง(อยู่นอกเหนือ)กัลป พ้นแล้ว หาประมาณมิได้ นับมิได้ คำนวณมิได้ หาที่จะเสมอมิได้ด้วยพุทธานุภาพ มณฑลแห่งสภาอันเป็นขบวนแห่งพุทธเขตใด เทพบุตรผู้เป็นศุทธาสกยิกาทั้งหลายได้ระลึกถึงมณฑลแห่งสภาอันเป็นขบวนแห่งพุทธเขตนั้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเป็นพระผู้มีภคะและพระธรรมทั้งหลายทั้งสิ้นฯ



    แลครั้งนั้น ในราตรีนั้น เทวะบุตรผู้อยู่ในชั้นศุทธาวาส ชื่อประศานตายามิศวระ และชื่อมเหศวระ นันทะ สุนันทะ จันทนะ มหิตะ ประศานตะ และประศานตะวินีเตศวระกับเทวดาอื่นๆ ที่อยู่ในชั้นศุทธาวาสมากด้วยกัน ล้วนมีวรรณะเกินกว่าแสงสว่างใดๆได้ยังวิหารเชตวันทั้งหมดให้สว่างด้วยทิพยโอภาส (แสงสว่างทิพย์)พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้อภิวาทพระบาททั้งสองของพระผู้มีภคะด้วยเศียรเกล้า ยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง เทวะบุตรชั้นศุทธาวาสเหล่านั้นซึ่งยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีภคะว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีภคะ มีพระสูตรอันหนึ่งซึ่งเป็นธรรมบรรยาย(ขยายความพระธรรม)มีนามว่า ลิลิตวิสตร (ความพิสดารแห่งการกรีฑาของพระพุทธเจ้า) เป็นที่รวบรวมซึ่งพระธรรมอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่งเป็นแดนเกิดแห่งกุศลมูลของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เป็นเครื่องแสดงพิเศษถึงห้องประทับในพิภพดุษิตอันประเสริฐ เป็นที่ก้าวลงสู่ความคิดอันแพร่หลาย เป็นที่เล่นสนุกสำราญ และเป็นเครื่องแสดงถึงอานุภาพแห่งสถานที่อุบัติของผู้มีกำเนิดสูง เป็นการระงับพิเศษซึ่งโทษอันเป็นความประพฤติของพาลชนทั้งปวง เป็นแหล่งศิลปประจำโลกทั้งปวง เป็นแหล่งการกระทำทุกอย่าง เป็นที่นับตัวอักษร จำนวนและตราประทับ เป็นที่อาศัยกระบวนรบคือกลุ่มนักฟันดาบและยิงธนู เป็นเครื่องแสดงความวิเศษเฉพาะสัตว์ทั้งปวง เป็นเครื่องแสดงซึ่งเครื่องใช้สอยอันเป็นนิสัยของชาววัง ประดับด้วยการบรรลุผลสำเร็จซึ่งผลิตจากการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นกรีฑาเรื่องเล่นสนุกสำราญของพระโพธิสัตว์ เป็นเครื่องกำจัดมณฑลของมารร้ายทั้งหลาย เป็นที่รวบรวมกำลังพระตถาคต(10) ไวศารัทยะ(4) และอาเวณิก(*)18 ประการของพระตถาคต อันแสดงออกซึ่งธรรมของพระพุทธเจ้าอันหาประมาณมิได้ ซึ่งพระตถาคตองค์ก่อนๆเคยแสดงมาแล้ว นั่นคือธรรมบรรยายซื่อลลิตวิสตร ซึ่งพระตถาคตองค์ก่อนๆเคยแสดงมาแล้ว ได้แก่พระผู้มีภคะปัทโมตตระ พระธรรมเกตุ พระทีปังกระ พระคุณเกตุ พระมหากระ พระฤษิเทวะ พระศรีเตชะ พระสัตยเกตุ พระวัชรสังคตะ พระสัพพาภิภู พระเหมวรรณะ พระอัตยุจจคามี พระประวาหะสาคระ พระปุษปะเกตุ พระวรรูปะ พระสุโลจนะ พระฤษิคุปตะ พระชินวักตระ พระอุนนะตะ พระปุษปิตะ พระอูรณะเตชะ พระปุษกระ พระสุรัศมิ พระมังคละ พระสุทรศนะ พระมหาสิงหะเตชะ พระสถิตะพุทธทัตตะ พระสวันตคันธิ พระสัตยธรรมวิปุลกิรติ พระติษยะ พระปุษยะ พระโลกสุนทระ พระวิสตีรณะเภทะ พระรัตนกิรติ พระอุครเตชะ พระพรหมเตชะ พระสโฆษะ พระสุปุษปะ พระสุมโนชญะโฆษะ พระสุเจษฏะรูปะ พระประหสิตเนตระ พระคุณราศิ พระเมฆสวระ พระสุทรวรรณะ พระอายุสเดชะ พระสลีละคชะคามี พระโลกาภิลาษิตะ พระชิตศัตรุ พระสัมปูชิตะ พระวิปัศจิตะ พระศิขิ พระวิศวะภู พระกกุจฉันทะ พระกนกะมุนิ และพระกัศยปะ บัดนี้ ขอพระผู้มีภคะโปรดแสดงพระธรรมบรรยายชื่อลลิตวิสตรนั้น เพื่อประชุมชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของประชาชนเป็นอันมาก เพื่อทรงอนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของพระชาชนอันใหญ่ยิ่ง เพื่อประโยชน์และความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อบังเกิดขึ้นแห่งมหายานของพระตถาคตนั้น เพื่อข่มลัทธิมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด เพื่อบังเกิดขึ้นแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เพื่อครอบงำอำนาจของมารทั้งปวง เพื่อให้เกิดปรารภการกระทำความเพียรของบุคคลทั้งหลายผู้ดำเนินการไปสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือพระสัทธรรม เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือประวัติวงศ์ของพระรัตนตรัย เพื่อกำหนดเด็ดขาดประวัติวงศ์ของพระรัตนตรัยและเพื่อแสดงให้เห็นซึ่งพุทธกิจให้ปรากฏ



    *อาเวณิกะ ในพระบาลีลิปิกรมของพระยาปริยัติธรรมธาดา แปลไว้ว่า แผนกหนึ่งต่างหากไม่พัวพันกันแยกอยู่ต่างหาก (อฏฐารสอาเวณิกา ธมมา ธรรมทั้งหลาย 28 หมวด) อ+เวณิก ฌิ.ฯ ในปฏิสัมภิทาสัคคปกรณ์ ข้อ 68 ว่า สาวเกหิ อสาธารณานิ ตถาคตานํเยว อาเวณิกานี ญาณานิ คือ ญาณของพระตถาคตไม่ทั่วไปแก่สาวกทั้งหลายได้แก่อินทรียปโรปริยัตตญาณเป็นต้น



    พระผู้มีภคะทรงรับอาราธนาของเทวะบุตรเหล่านั้นด้วยพระอาการนิ่ง โดยอาศัยพระอนุเคราะห์มนุษยชนพร้อมทั้งเทพยดาฯ



    ครั้งนั้นแล เทวะบุตรทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีภคะทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการนิ่งแล้ว ต่างก็มีความพอใจ ชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง เกิดปีติโสมนัสถวายบังคมแทบพระบาทพระผู้มีพระภคะด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณ 3 รอบแล้ว โปรยผงจันทน์ทิพย์ ผงกฤษณาทิพย์ และโปรยดอกมณฑารพแล้ว หายวับไป ณ ที่นั้นฯ



    ครั้งนั้นแล พระผู้มีภคะทรงเปล่งพระรัศมีเป็นวงกลมพลางเสด็จเข้าไปยังอุทยานเวฬุวัน ภายหลังราตรีนั้นล่วงไปแล้ว ครั้นแล้วพระองค์ประทับนิ่งบนอาสนอันจัดไว้แล้ว มีหมู่พระโพธิสัตว์และพระสงฆ์ศรวกอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีภคะครั้นประทับนั่งแล้วจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทพบุตรชั้นศุทธาวาสมีนามว่าประศานตายามิศวระ และเทพบุตรมีนามว่า มเหศวระ นันทะ สุนันทะ จันทนะ มหิตะ ประศานตะ และเทพบุตรมีนามว่าวินีเตศวระกับเทวะบุตรอื่นๆ ซึ่งเป็นชาวศุทธาวาสมากด้วยกัน ได้มาเฝ้าในราตรีแล้วหายไปเหมือนครั้งก่อน ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย และพระมหาศราวกนมัสการแทบสถานที่ซึ่งพระผู้มีภคะประทับอยู่แล้ว กราบทูลพระองค์ว่า ข้าแต่พระผู้มีภคะ ดั่งข้าพเจ้าทั้งหลายขอโอกาส ขอพระองค์ผู้มีภคะจงแสดงธรรมบรรยายมีนามว่า ลลิตวิสตรนั้นเถิด ธรรมบรรยายลลิตวิสตรนั้นจักเป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จักเป็นทุขแก่ชนเป็นอันมาก จักอนุเคราะห์ช่วยเหลือชาวโลกทั้งหลาย เป็นประโยชน์แก่ชนหมู่ใหญ่ เป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่เทวดาทั้งหลาย แก่มนุษย์ทั้งหลายและแก่พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้มาในขณะนี้ พระผู้มีภคะทรงรับอาราธนาของพระบรมโพธิสัตว์และของพระมหาศราวกทั้งหลายเหล่านั้นด้วยพระอาการนิ่ง โดยอาศัยความอนุเคราะห์แก่โลกอันประกอบด้วยเทวดามนุษย์และอสูร



    ในข้อนี้ ท่านได้กล่าวไว้ว่า-



    6 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคืนนั้น เมื่อพระตถาคตตั้งมั่นอยู่ในความสุข ปราศจากเกลศ มีใจตั้งมั่นในพรหมวิหารอันดีงาม จิตเป็นเอกัคตา คือ มีอารมณ์เดียว มั่นคงแล้วฯ

    7 ครั้งนั้น เทวะบุตรที่มีฤทธิ์มาก มีวรรณะปรากฏแจ่มแจ้ง มีรูปโฉมสะอาดสดใส มีความบันเทิงใจ ทำป่าเชตวันในที่นี้ให้สว่างด้วยรัศมี พากันมาสู่สำนักของตถาคตฯ

    8 เทวะบุตรมีนามว่า มเหศวร จันทระ อีศะ นันทะ ประศานตะจิตตะ มหิตะ สุนันทะ และเทวะบุตรมีนามว่า ศานตะ กับเทวะบุตรเป็นอันมากนับจำนวนเป็นโกฏิๆ เหล่านั้นฯ

    9 ได้มาไหว้พระยุคลบาทและทำประทักษิณตถาคตแล้วยืนประนมมืออยู่ในที่นี้เฉพาะพระพักตร์พระตถาคตฯ เทพบุตรเหล่านั้น ประกอบด้วยความเคารพ ทูลขอร้องตถาคตว่า ฯ

    10 ข้าแต่พระมุนี ขอพระองค์จงตรัสแสดงมหานิทาน (เรื่องใหญ่)ซึ่งมีชื่อว่า ไวปุลยสูตร สามารถประหารราคะได้นี้ ซึ่งพระตถาคตทั้งปวงได้ตรัสแสดงมาแล้วแต่ครั้งก่อนๆ เพื่อประโยชน์แก่โลกทั้งปวง ฯ

    11 เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอโอกาส ณ บัดนี้ ขอพระโพธิสัตว์ผู้เป็นมุนีนั้น เมื่อตรัสแสดง ขอให้ตรัสแสดงมหายานอันยิ่งใหญ่นี้ ขอให้ระงับลัทธิฝ่ายอื่นและมารด้วย เพื่อต้องการบำราบโอฆะ ฯ

    12 พระผู้มีภคะทรงรับคำอาราธนาของคณะเทวดาด้วยอาการนิ่งอยู่เฉยๆ ฝ่ายเทวดาทั้งปวง ต่างก็พอใจ มีความยินดี เฟื่องฟูใจ ได้โปรยดอกไม้ด้วยความดีใจ ฯ

    13 ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งปวงจงฟังมหานิทานของตถาคตชื่อไวปุลยสูตร ซึ่งพระตถาคตทั้งปวงได้ตรัสแสดงในครั้งก่อนๆแล้ว เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งปวง ดั่งนี้แล ฯ

    อัธยายที่ 1 ชื่อนิทานปริวรรต (ว่าด้วยเหตุบังเกิดพระสูตร) ในคัมภีร์ศรีลลิตวิสตร ดังนี้แล ฯ
    ที่มา http://palungjit.org/threads/ขอเชิญร่วมบุญสร้างศาลาการเปรียญรับพระไพรีพินาศ100ปี.565514/
     

แชร์หน้านี้

Loading...