เรื่องเด่น ภาวนาคือสมถกรรมฐาน การพิจารณาคือวิปัสสนากรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 10 มกราคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    2605C00F-902E-490D-BD81-C94D9174A761.jpeg

    จากเมื่อวานที่ได้กล่าวว่า อานาปานสติคือการระลึกถึงลมหายใจเข้าออก เป็นพื้นฐานของกรรมฐานทั้งปวง ถ้าทิ้งอานาปานสติเสียอย่างเดียว เราก็ไม่สามารถที่จะทำกรรมฐานกองใดให้สำเร็จสัมฤทธิ์ผลลงไปได้ แต่การปฏิบัติในอานาปานสตินั้น ตอนท้ายเราต้องใช้ปัญญาในการพิจารณา ให้เห็นความเป็นจริงของสภาพร่างกายนี้ ให้เห็นความเป็นจริงของสภาพร่างกายของคนอื่น ให้เห็นความเป็นจริงในสภาพของโลกนี้ ว่ามีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และสลายตัวไปในที่สุด

    เนื่องเพราะว่าการปฏิบัติกรรมฐานของพวกเรานั้น เป็นการที่เราสะสมกำลังไว้เพื่อต่อสู้กับกิเลส เมื่อเราภาวนาไปจนกำลังของเราเต็มแล้ว ก็คือไม่สามารถที่จะไปต่อได้ เริ่มรู้สึกเครียด ก็ให้คลายกำลังใจออกมา แล้วนำเอาหลักไตรลักษณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาพิจารณาร่างกายของเรา ร่างกายของคนอื่น ร่างกายของสัตว์อื่น ตลอดจนวัตถุธาตุสิ่งของทั้งปวง ให้เห็นจริง ๆ ว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา

    เหตุที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะว่า สภาพจิตของเรานั้น ถ้าไม่บังคับให้คิดในสิ่งที่ดี ๆ ก็จะไปคิดในเรื่องของ รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบ ในเมื่อเราภาวนาจนมีกำลังแล้ว ก็จะทำให้สภาพจิตสามารถใช้กำลังนั้นไปคิดในเรื่อง รัก โลภ โกรธ หลง ได้อย่างเป็นหลักเป็นฐาน เป็นงานเป็นการ เหมือนอย่างกับม้าหลุดจากคอก ไม่สามารถที่จะเหนี่ยวรั้งเอาไว้ได้อยู่ เป็นการเอากำลังของการปฏิบัติไปใช้ในทางที่ผิด

    ดังนั้น...เมื่อท่านทั้งหลายภาวนาไปจนกระทั่งไปต่อไม่ได้แล้ว ให้คลายกำลังใจออกมาพิจารณา เพราะว่าการภาวนาคือสมถกรรมฐาน การพิจารณาคือวิปัสสนากรรมฐาน เปรียบเหมือนคนที่ผูกขาติดกันอยู่ มีช่วงให้ก้าวได้แค่สั้น ๆ เท่านั้น ถ้าเราจะก้าวในเรื่องของสมถะอย่างเดียว เมื่อสุดแล้วก็ไปต่อไม่ได้ ถ้าฝืนรั้งที่จะก้าวไป ก็จะโดนกระชากกลับ

    หรือว่าเราจะก้าวในด้านของวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะว่าเมื่อกำลังใช้ในการพิจารณาจนหมดแล้ว ไม่มีกำลังของสมถะคอยหนุนเสริม กิเลสก็ตีเราตายเหมือนเดิม ก็อยู่ในลักษณะเดียวกันว่า ก้าวด้านวิปัสสนาไปจนสุด ก็ต้องย้อนกลับมาภาวนา เมื่อภาวนาจนกำลังใจไปต่อไม่ได้ ก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณา ต้องทำสลับกันไปสลับกันมาในลักษณะอย่างนี้ เราถึงจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เหมือนกับคนมีโซ่ล่ามขาอยู่ ก็ต้องผลัดกันก้าวซ้ายทีขวาที จึงจะได้ระยะทาง ถ้าก้าวข้างเดียวก็ไม่สามารถที่จะไปได้

    อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อปฏิบัติได้แล้ว ในช่วงนั้นไม่ว่าจะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเราทรงตัวในระดับไหน เลิกการปฏิบัติไปแล้วอย่าทิ้ง ให้ประคับประคองอารมณ์การปฏิบัตินั้น ให้อยู่กับเรานานที่สุดเท่าที่จะทำได้ การปฏิบัติธรรมเหมือนกับการว่ายทวนน้ำ ถึงเวลาแล้วเราทิ้งก็ลอยตามน้ำไป พอวันต่อมาเราก็ว่ายทวนน้ำขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็คงได้ไม่ไกลไปกว่าเดิม เลิกแล้วปล่อยก็ลอยตามน้ำไปอีก กลายเป็นคนขยันทำงานทุกวัน แต่ไม่มีผลงานเพิ่มขึ้นมาเลย

    ท่านที่สงสัยว่าปฏิบัติมาหลายปีถึงหลายสิบปี ทำไมถึงหาความก้าวหน้าไม่ได้ ? ก็เพราะว่าเราไม่ได้ประคับประคองรักษาอารมณ์การปฏิบัติของเราไว้ เมื่อถึงเวลาเลิกจากการปฏิบัติแล้วก็ทิ้งเลย ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิด

    ดังนั้น นอกจากท่านจะต้องภาวนาพิจารณาสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปแล้ว ท่านยังต้องพยายามประคับประคองรักษาอารมณ์การปฏิบัติให้อยู่กับเรานานที่สุด แรก ๆ ได้แค่ ๑ นาที ๒ นาทีก็พังแล้ว หลังจากพยายามปฏิบัติไปก็จะได้ ๓ นาที ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาทีเพิ่มไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้ครึ่งชั่วโมง ได้ ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ได้ครึ่งวัน ได้ ๑ วัน ได้ ๒ วัน ได้ ๓ วัน ได้ ๕ วัน ได้ ๗ วัน ได้ครึ่งเดือน ได้ ๑ เดือน เป็นต้น

    สภาพจิตที่ทรงสภาพเอาไว้โดยไม่ไหลไปหา รัก โลภ โกรธ หลง จะมีความผ่องใสมาก ปัญญาก็จะยิ่งเกิดมาก ทำให้เราเห็นช่องทางว่าทำอย่างไรถึงจะเอาชนะกิเลสแต่ละตัวได้ ทำอย่างไรเราถึงจะคดเคี้ยวเลี้ยวลดเพื่อรักษากำลังใจของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เอาไว้ได้

    ดังนั้น ในส่วนนี้ทุกท่านต้องพึงสังวรว่า เมื่อภาวนาแล้วต้องพิจารณา ถ้าไม่พิจารณาก็จะหาความก้าวหน้าไม่ได้ เมื่อพิจารณาไปจนเต็มที่แล้ว ก็ย้อนกลับมาภาวนาใหม่ เมื่อละเลิกจากการภาวนาไปแล้ว ก็ให้ประคับประคองรักษาอารมณ์ใจเอาไว้กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เราจึงจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติให้ได้เห็น

    ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
    วันเสาร์ที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...