เรื่องเด่น ฝึกสมาธิภาวนา: สัจธรรมสากลสำหรับคนทั้งโลก

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 16 กุมภาพันธ์ 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,209
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,711
    ฝึกสมาธิภาวนา: สัจธรรมสากลสำหรับคนทั้งโลก โดย ว.วชิรเมธี

    pawana-696x364.jpg

    คำว่า “สมาธิภาวนา” แปลตรงตัวว่า การฝึกจิตหรือการฝึกจิตใจให้สงบ
    การฝึกสมาธิภาวนานี้ เรามักเข้าใจว่าเป็นของชาวพุทธ แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงค้นพบสัจธรรมที่มีอยู่ในโลกก่อนการมาถึงของพระองค์

    ตัวความจริงมีอยู่แล้ว เหมือนกับความจริงทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย อย่างเช่น ทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ไอน์สไตน์ค้นพบหรือกฎแรงโน้มถ่วงซึ่งค้นพบโดยเซอร์ไอแซก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์เป็นเพียงผู้มาค้นพบเท่านั้น สัจจะมีอยู่แล้วก่อนหน้านักวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นจึงพูดได้ว่า ความจริงนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ

    เช่นเดียวกัน ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบก็มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า ความจริงที่ทรงนำมาสอนจึงไม่ใช่เรื่องของศาสนาแต่เป็นความจริงสากลที่มีอยู่คู่กับโลกนี้ ถ้าใช้คำของไอน์สไตน์ เราอาจจะเรียกว่าเป็น Cosmic Reality ด้วยเหตุดังนั้น เราทุกคนจึงสามารถเรียนรู้สัจธรรมนี้ได้

    อากาศเป็นของสากลสำหรับคนทั้งโลกสัจจะที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบก็เป็นของสากลของคนทั้งโลกเหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่เรามาเรียนรู้ร่วมกันจึงไม่เกี่ยวกับศาสนา ความสงบ ความสุข ความทุกข์ รอยยิ้ม ความง่วง ความหิว ความเศร้าเป็นสากลสำหรับคนทั้งโลก ไม่ว่าคุณจะมีศาสนาหรือไม่มี สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน เช่นเดียวกับความสงบสุขที่เกิดจากสมาธิภาวนา ก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั้งโลก

    เคยมีคนถามอาตมาว่า  “ผมต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างในการเรียนสมาธิภาวนา”คำตอบก็คือ ขอแค่เป็นมนุษย์ ก็มีคุณสมบัติถึงพร้อมแล้ว นั่นก็หมายความว่าเราทุกคนสามารถเรียนรู้สมาธิได้  ถ้าเรียนรู้อย่างถูกต้อง ทุกคนจะได้รับผลเหมือนกันเหมือนเชอร์รี่สักลูกหนึ่ง ถ้ามันเป็นเชอร์รี่ที่รสอร่อย มันก็ต้องอร่อยสำหรับทุกคนเหมือนน้ำในแก้ว ถ้าเป็นน้ำร้อน มันก็ต้องร้อนสำหรับทุกคนที่เอามือไปจุ่ม เหมือนพริกถ้ามันเผ็ด มันก็ต้องเผ็ดสำหรับทุกคน
    สมาธิภาวนาที่ว่านี้มี 2 แบบ
    แบบที่หนึ่ง ใช้ฝึกเพื่อให้จิตสงบ ทำให้จิตได้พักผ่อน มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบางแห่งของสหรัฐอเมริกาบอกว่า คนที่ฝึกสมาธิขั้นลึกหนึ่งชั่วโมง ถือว่าได้พักผ่อนเท่ากับคนที่นอนหลับถึงหกชั่วโมง พุทธศาสนาเรียกสมาธิภาวนาแบบนี้ว่า “สมาธิภาวนาแบบพักเพื่อตระหนักรู้” เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้ร่างกายและจิตใจ สมาธิภาวนาแบบนี้จะมีแต่ความสงบ บางทีแทบไม่มีการรับรู้ทางประสาทสัมผัสเลย ไม่ว่าทางตา หู จมูก กาย ลิ้น แต่ตระหนักรู้ทางใจอย่างเดียว เปรียบเสมือนความนิ่งของน้ำในบึงใหญ่ บนผิวน้ำนั้นเรียบนิ่ง แต่ใต้ผืนน้ำลงไปยังคงมีปลาแหวกว่ายอยู่ นี่คือสภาวะน้ำไหลนิ่ง คือ ในความนิ่งมีความเคลื่อนไหว สมาธิภาวนาแบบที่หนึ่งนี้ทำให้ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง เปรียบเสมือนคนที่เดินทางไกลจนเหนื่อยล้า ได้กลับมาถึงบ้าน แล้วล้มตัวลงนอนอย่างมีความสุข แต่สมาธิภาวนาแบบนี้มีข้อจำกัดคือ ผู้ฝึกอาจจะไม่ได้พัฒนาสติปัญญาเท่าไรนัก

    แบบที่สอง คือ วิปัสสนาภาวนา วิปัสสนาไม่จำเป็นต้องเงียบ สามารถปฏิบัติได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะในบ้าน ในที่ทำงาน บนรถ บนเครื่องบิน แม้กระทั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ขณะที่กำลังใช้โทรศัพท์หรือแม้กระทั่งขณะล้มตัวลงนอนนั่ง เดิน มอง ฟัง หรือออกกำลังกายก็สามารถฝึกวิปัสสนาได้ตลอด สาระสำคัญของพุทธศาสนาคือ การตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ คุณทำอะไรอยู่ ก็ตระหนักรู้อยู่กับสิ่งนั้น ทำตัวเป็นผู้สังเกต แค่สังเกตเฉย ๆ อย่าตัดสิน อย่าคาดหวัง เราแค่อยู่กับความจริงตรงหน้า สมมุติว่ากำลังมองดูดอกไม้ ถ้าดอกไม้นั้นสวยงาม ก็เพียงตระหนักรู้ว่ามันสวยงาม แต้ถ้าคิดว่า

    “เอ นั่นมันดอกอะไรนะ” คุณก็หลุดจากวิปัสสนาแล้ว เพราะคุณกำลังก้าวเข้าไปสู่โลกแห่งความคิด
    การฝึกวิปัสสนาไม่เน้นความคิด ไม่เน้นความรู้ ไม่เน้นเหตุผล ให้ลืมไปเลยว่าเคยเรียนอะไรมา แม้กระทั่งความทรงจำทั้งหลายก็ไม่จำเป็น อนาคตก็ไม่จำเป็น วิปัสสนาต้องการแค่ปัจจุบันขณะ อะไรเกิดขึ้นในจิต ในความคิด หรือในเรือนกายของคุณ ก็แค่สังเกต แล้วปล่อยให้มันเป็นไป สังเกตไปเรื่อย ๆ อยู่กับสิ่งนั้นแล้วคุณจะหลุดออกมาจากโลกของความคิด เมื่อคุณเป็นอิสระจากความคิด มาอยู่กับปัจจุบัน นั่นคือนาทีที่คุณเป็นอิสระอย่างแท้จริง จิตของคุณจะคลี่คลาย จะมีแต่ความสดชื่น ความสงบ ความนุ่มนวลความผ่องใส ปัญญาจะเกิดขึ้นโดยที่คุณไม่ต้องพยายาม 
    ในการปฏิสัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่าง คุณจะเป็นฝ่ายเลือกกระทำ ไม่มีใครมากดปุ่มควบคุมคุณได้ ตามปกติคนที่ไม่มีสติ เวลามีคนชม ก็ดีใจจนลืมตัว เวลามีคนด่า ก็อาจจะโกรธจนตัวสั่น นั่นคือคนที่ถูกควบคุมจากผูู้อื่น คนเช่นนั้นเป็นพวกปฏิกิริยา มีอะไรมากระทบก็ชอบตอบโต้ส่วนคนที่รู้สึกตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าใครก็ควบคุมหรือกดปุุ่มเขาไม่ได้ อะไรเกิดขึ้นรอบตัวเขาก็แค่ตระหนักรู้ เหมือนดอกหญ้าเมื่อถูกแดดส่อง ก็ไม่ท้อ หรือถูกฝนโปรยใส่ก็ไม่ดีใจจนเกินตัว ดอกหญ้ายังคงเป็นดอกหญ้าอยู่ต่อไป

    เหมือนดวงตะวัน เวลาตะวันส่องแสงคนยุโรปก็ชื่นชม แต่ที่เมืองไทย ถ้าแดดส่อง ก็ถูกด่า แต่ดวงตะวันไม่เคยน้อยใจไม่เคยตอบโต้ ดวงตะวันยังคงเป็นตัวของตัวเองอยู่ต่อไป คนที่ฝึกสติอยู่เสมอก็จะเป็นอย่างดวงตะวัน คือ มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีพลังแห่งปัญญา เป็นอิสระจากการควบคุมของคนอื่น จึงเป็นมนุษย์ที่อารมณ์ดีเกือบทุกวัน อยู่ตรงไหน ทำอะไรก็มีความสุข มีความชัดเจนในชีวิต เหมือนรถที่วิ่งขึ้นบนทางด่วนพุ่งตรงไปสู่ปลายทางอย่างเดียว ชีวิตของคนที่ฝึกเจริญสติอยู่เสมอก็เป็นเช่นนั้น คือ มุ่งตรงไปสู่ความสุข ความสดชื่น สติปัญญา และอิสรภาพของดวงจิต นี่ก็คือผลที่คุณจะได้รับจากการฝึกเจริญสติที่เราเรียกว่า “วิปัสสนาภาวนา”
    ผลที่ว่านี้ไม่ต้องไปรอรับบนสวรรค์เพราะเมื่อลงมือปฏิบัติ คุณก็จะเห็นผลทันที อย่างน้อยคุณก็จะตระหนักรู้ถึงความสงบ คุณจะได้ยินเสียงเล็ก ๆ กระซิบก้องอยู่ในหัว ปกติเสียงนี้จะเป็นดั่งสารถีคอยขับรถไฟสายความคิด ทำให้เราคิดเรื่องต่าง ๆ อยู่ตลอดคืนตลอดวัน แต่เมื่อจิตสงบเราจะมองเห็นคนขับรถคนนี้ และนาทีที่เรามองเห็น รถของเขาก็จะหยุดนิ่งลง นี่คือ ผลของการฝึกวิปัสสนาภาวนา ความสงบคือของแถมชิ้นแรกที่คุณจะได้รับ การพักผ่อนคือของแถมชิ้นที่สอง
    ปกติในหนึ่งนาที เราอาจจะหายใจ 60 ถึง 100 ครั้ง แต่ในนาทีที่จิตสงบ บางครั้งเราอาจตามหาลมหายใจไม่พบเลยก็ได้เพราะลมหายใจจะแผ่วเบามาก ด้วยเหตุดังนั้น ระบบอวัยวะทุกอย่างจึงพลอยได้พักผ่อนไปด้วย นี่คือเหตุผลที่คนฝึกสมาธิภาวนามักจะแก่ช้า อายุยืน ของแถมรายการที่สามคือการมีสุขภาพจิตดี ของแถมรายการที่สี่คือการมีปัญญาโดยที่คุณไม่ต้องพยายามใช้ความคิด หรือพยายามใช้เหตุผล เมื่อคุณอยากจะใช้ปัญญา ปัญญาก็จะมาให้คุณใช้ ปัญญาเป็นของที่หลั่งไหลออกมาเองปัญญาชนิดนี้มีอยู่ในเราทุกคน

    ส่วนที่หมายสุดท้ายของการฝึกสมาธิภาวนาคือ เราจะเป็นอิสระจากความทุกข์ ความทุกข์จะยังคงมีอยู่ เช่น ยังเจ็บป่วย อกหัก ตกงาน อาจจะยังมีคนอิจฉาเราอยู่หรือเราอาจจะไม่มีเงินใช้ แต่ความทุกข์ภายนอกเหล่านั้นจะไม่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเรา นั่นคือเหตุผลที่ไม่มีพระพุทธรูปองค์ไหนเลยที่หน้าบึ้ง ทุกครั้งที่เราเห็นพระพุทธรูป เราจะเห็นพระองค์มีรอยยิ้มน้อย ๆ อยู่ตลอดเวลา นั่นคือสัญลักษณ์ของบุคคลที่ความทุกข์ไม่มีทางจะครอบงำได้

    และบุคคลเช่นนั้น เราทุกคนก็เป็นได้ 


    ----------

    ที่มา
    http://www.goodlifeupdate.com/47222/healthy-mind/meditation-2/


     

แชร์หน้านี้

Loading...