บทความให้กำลังใจ(ผูกมิตรกับเพื่อนบ้าน)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,070
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    พลังใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อปี ๒๕๔๙ นักวิจัยชาวออสเตรเลียสองคน คือ ไมเคิล โอเท็น และ เค็น เช็ง ได้ชักชวนอาสาสมัครประมาณ ๒๔ คน อายุระหว่าง ๑๘-๕๐ ปี เข้าโครงการออกกำลังกายเป็นเวลาสองเดือน กิจกรรมมีทั้งยกน้ำหนักและเต้นแอโรคบิค ส่วนใหญ่ไม่เคยออกกำลังกายแบบนี้มาก่อน เพราะชอบนั่ง ๆ นอน ๆ มากกว่า จึงต้องเคี่ยวเข็นตนเองอย่างมากทุกครั้งที่เข้าโรงยิม

    เมื่อสองเดือนผ่านไป ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาชีวิตของทั้ง ๒๔ คนเพื่อดูว่าการออกกำลังกายส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของเขาบ้าง สิ่งที่เขาพบก็คือ ไม่เพียงทรวดทรงของเขาจะดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ดื่มกาแฟ และกินอาหารขยะน้อยลง ใช้เวลากับการทำการบ้านมากขึ้น ดูโทรทัศน์น้อยลง รวมทั้งซึมเศร้าน้อยลงด้วย

    ต่อมาทั้งสองได้ทำการทดลองอีกครั้ง คราวนี้ให้คน ๒๙ คนมาเข้าโครงการบริหารเงินเป็นเวลาสี่เดือน โดยให้ทุกคนตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินเป็นจำนวนเท่าใด และขอให้งดสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น กินอาหารในภัตตาคารหรือดูหนัง รวมทั้งทำบัญชีการใช้จ่ายอย่างละเอียด

    แน่นอนว่าสถานะการเงินของทุกคนดีขึ้น แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ นอกจากพวกเขาจะ ดื่มเหล้า ดื่มกาแฟ กินอาหารขยะ และสูบบุหรี่น้อยลงแล้ว (บางคนสูบน้อยลงถึง ๑๕ มวน) ยังทำงานหรือมีผลการเรียนดีขึ้น

    ทั้งสองคนยังไม่พอใจเพียงเท่านั้น การทดลองต่อมาเขาให้นักศึกษา ๔๕ คนเข้าโครงการปรับปรุงการศึกษา ซึ่งเน้นการสร้างนิสัยใหม่เกี่ยวกับการเรียน ปรากฏว่าผลการเรียนของทุกคนดีขึ้นตามคาด แต่พฤติกรรมด้านอื่น ๆ ก็ดีขึ้นด้วย เช่น สูบหรี่และดื่มเหล้าน้อยลง ดูโทรทัศน์น้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น และกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะมากขึ้น

    พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว แม้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าจะเป็นผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมออกกำลังกายเป็นประจำเสมอไป ก็หาไม่ เพราะการทดลองสองครั้งหลังไม่ได้เกี่ยวกับการออกกำลังกายเลย ถ้าเช่นนั้นอะไรเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

    โอเท็นและเช็งสรุปว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นผลจาก “พลังใจ” (will power) ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการทดลองทั้งสามประเภทนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการฝึกให้อาสาสมัครเคี่ยวกรำตนเอง ต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ ต้องอดทนอดกลั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ผลก็คือมีพลังในการควบคุมตนเองมากขึ้น พลังดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่หยุดอยู่เฉพาะกิจกรรมที่ถูกกำหนดให้ทำ แต่ขยายไปสู่กิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครบังคับ เช่น การกินอาหาร การดูโทรทัศน์ การทำงาน ฯลฯ

    การทดลองดังกล่าวให้ผลสอดคล้องกับการทดลองที่หลายคนได้ทำก่อนหน้านั้น เช่น เมื่อมีการชักชวนให้ผู้คนออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้ไม่ทุกวัน แต่ทำแค่อาทิตย์ละครั้ง พฤติกรรมด้านอื่น ๆ ของเขาก็เปลี่ยนไป เช่น สูบบุหรี่น้อยลง กินอาหารที่ถูกอนามัยมากขึ้น ใช้เครดิตการ์ดน้อยลง มีความอดทนกับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น รวมทั้งมีความเครียดน้อยลงด้วย

    การทดลองเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า พลังใจหรือความสามารถในการควบคุม(และเคี่ยวเข็น)ตนเองนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตของเรา มันไม่เพียงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในบางเรื่องที่กำลังฝึกฝนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันของเราอีกด้วย ไม่ว่าการบริโภค การทำงาน หรือความสัมพันธ์
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,070
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    มองในทางกลับกัน การที่ผู้คนมีพฤติกรรมที่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นนั้น สาเหตุสำคัญก็คือการขาดพลังใจหรือความสามารถในการควบคุมตนเองนั่นเอง ไม่ใช่เป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าการทำเช่นนั้นไม่ดี หลายคนก็รู้ว่า บุหรี่ สุรา และอาหารขยะ นั้นเป็นโทษต่อร่างกาย แต่ที่ยังเลิกไม่ได้ก็เพราะขาดพลังที่จะต่อต้านมัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีพลังในการยั่วยวน เช่นเดียวกับอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง เช่น การเที่ยวห้าง การพนัน เกมออนไลน์ หรือแม้แต่เฟซบุ๊ค

    ในสหรัฐอเมริกามีคนจำนวนมากที่หยุดช็อปปิ้งไม่ได้ มีเครดิตการ์ดกี่ใบก็รูดหมดจนมีหนี้สินมากมาย รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่ก็ห้ามใจไม่ได้เสียที มีบางคนหาทางแก้ด้วยการเอาบัตรเครดิตใส่ไว้ในแก้วแล้วเอาแก้วนั้นไปใส่ช่องแช่แข็ง เมื่อใดก็ตามที่อยากจับจ่าย ก็ต้องรอให้น้ำแข็งในแก้วละลายก่อนจึงจะเอาบัตรเครดิตไปใช้ได้ ถึงตอนนั้นความอยากก็จะลดลงไป และสติกลับคืนมา ทำให้เปลี่ยนใจไม่ไปช็อปปิ้ง

    นี้เป็นทางออกของหลายคนที่รู้ว่าพลังใจนั้นมีไม่พอที่จะต้านความอยาก จึงต้องอาศัย “ตัวช่วย”จากภายนอก เช่น ถ้าจะเลิกเหล้าหรือการพนัน ก็ต้องผลักไสตัวเองไปอยู่วัดหรือที่ไกล ๆ จะได้ไม่สามารถทำตามความอยากได้ แต่ตราบใดที่พลังใจไม่เข้มแข็ง เมื่อใดที่สบโอกาส ก็มักพ่ายแพ้แก่กิเลส และอดโมโหตัวเองไม่ได้ที่พ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

    นี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้ก็ว่าได้ คือ รู้ว่าอะไรดี แต่ห้ามใจไม่ได้ สมกับวลีที่ว่า “ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้” ทั้งนี้เป็นเพราะการถูกเลี้ยงดูอย่างตามใจมาตั้งแต่เล็ก ครั้นโตขึ้นก็ปล่อยตัวปล่อยใจง่ายเกินไป ประกอบกับทุกวันนี้มีสิ่งยั่วยวนมากมาย ที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจสูงมาก ยากที่จะต่อต้านได้ แม้มันจะให้ความสุขที่รวดเร็วทันใจ แต่ส่งผลเสียตามมาในระยะยาว

    ทุกวันนี้มีคุณค่าใหม่ ๆ ที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นตัวของตัวเอง ความรักอิสระ แต่คุณค่าเก่า ๆ สมัยปู่ย่าตายาย เช่น การรู้จักควบคุมตนเอง ก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากขาดสิ่งนี้ไปแล้ว ก็ยากที่จะนำพาชีวิตไปในทางที่เจริญงอกงามได้

    เมื่อ ๔๐ ปีก่อนวอลเตอร์ มิสเชล แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ทำการทดลองที่มีชื่อเสียงมาก โดยนำเด็กอายุ ๔-๖ ขวบเข้าไปในห้องซึ่งมีขนมมากมาย ผู้ทดลองบอกแก่เด็กว่า ขนมเหล่านี้เด็กทุกคนสามารถกินได้หนึ่งชิ้นทันที แต่หากรอ ๑๕ นาทีก็สามารถกินได้สองชิ้น ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่รอไม่ไหว ขอกินก่อน มีเพียงหนึ่งในสามที่รอได้ถึง ๑๕ นาทีเพื่อจะได้กินสองชิ้น

    มีเด็กร่วมการทดลองนี้ร่วม ๖๐๐ คน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นวัยรุ่น เขาได้พบว่าเด็กที่รู้จักอดทนรอคอยนั้น โดยเฉลี่ยมีผลการเรียนที่ดีถึงดีมาก รวมทั้งทำคะแนนสำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัย (SAT score)ได้สูงกว่าเด็กที่เหลือถึง ๒๑๐ คะแนน อีกทั้งยังมีเพื่อนเยอะ และเสพยาน้อยกว่า

    เสรีภาพนั้นไม่ใช่การตามใจ จะว่าไปแล้วการตามใจหรือการปล่อยใจไปตามอารมณ์ กลับทำให้ตนเองสูญเสียเสรีภาพ ยากที่จะดำเนินชีวิตไปตามที่ปรารถนาได้ เพราะตกอยู่ในอำนาจของสิ่งยั่วยวนมากมาย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นโทษ แต่ก็ปฏิเสธมันไม่ได้ เพราะไม่มีเรี่ยวแรงต่อต้านขัดขืน ดังนั้นหากปรารถนาเสรีภาพ นอกจากความรักอิสระแล้ว ยังต้องมีพลังใจเพื่อสามารถผลักดันชีวิตไปยังจุดหมายที่ต้องการ แม้อุปสรรคจะมีมากมายเพียงใดก็ตาม
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255602.html
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,070
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ปล่อยวาง ไม่ใช่ วางเฉย
    พระไพศาล วิสาโล
    เช้าวันหนึ่ง นาย ก.อ่านคำสอน “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรยึดถือเป็นตัวเราของเรา”หน้าหิ้งพระ รู้สึกปล่อยวางและเบาสบาย ก่อนออกจากบ้าน นายก.หยิบขยะไปทิ้ง และสังเกตเห็นว่าซอยข้างบ้านเต็มไปด้วยขยะที่คนในชุมชนข้างซอยเอามากองทิ้งไว้ บ่ายวันนั้นฝนตก น้ำชะขยะส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ นาย ก.เห็นเหตุการณ์นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า รู้สึกทุกข์ใจ และรำคาญใจกับสภาพและกลิ่นขยะในขณะเดียวกัน แต่นาย ก.ก็ตระหนักว่า” ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อคุณไม่ปล่อยวางและยึดมั่นถือมั่น”

    วิจักขณ์ พานิช เคยออกข้อสอบวิชาพุทธศาสนาข้อหนึ่งมีข้อความข้างต้น โดยถามนักศึกษาว่าเห็นด้วยกับความคิดและการกระทำของนายก.ว่า เป็นการตีความถูกต้อง “ตรงตามพระคัมภีร์”หรือไม่ ปรากฏว่านักศึกษากว่าร้อยละ ๘๐ เห็นด้วย

    การที่นักศึกษาเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับพฤติกรรมของนายก. แสดงอย่างชัดเจนว่าในทัศนะของนักศึกษาเหล่านี้ คำสอนของพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการ “ทำจิต” เท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีปัญหาอะไร สิ่งเดียวที่ทำได้คือ “ปล่อยวาง”

    ความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำสอนในพุทธศาสนา ซึ่งแพร่หลายอยู่มากไม่เฉพาะนักศึกษากลุ่มนี้เท่านั้น แท้จริงแล้วพุทธศาสนาไม่ได้สอนแค่ “การทำจิต” เท่านั้น หากยังให้ความสำคัญแก่ “การทำกิจ” ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเตือนให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ในด้านหนึ่งก็ทรงสอนให้ปล่อยวาง ดังพุทธพจน์ที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ

    “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุข”

    แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทรงสอนให้หมั่นเพียรในการทำกิจ ดังตอนหนึ่งในปัจฉิมโอวาท

    “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงบำเพ็ญกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”

    พุทธพจน์ทั้งสองไม่ได้ขัดกันแต่เน้น “จริยธรรม”คนละด้าน ซึ่งเราพึงปฏิบัติควบคู่กันไป เช่น เมื่อเรารู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย เอาอะไรไปไม่ได้แม้แต่น้อย ดังนั้นจึงต้องรู้จักปล่อยวาง หาไม่จะตายสงบได้ยาก แต่ขณะเดียวกันเราก็ควรเร่งทำความดี หมั่นทำหน้าที่ให้แล้วเสร็จ ไม่เพิกเฉย หรือปล่อยให้ค้างคา เพราะเราอาจจะตายวันนี้วันพรุ่งก็ได้

    การปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิต เพื่อไม่ให้ทุกข์ใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรทำอะไรมากกว่านั้นหากทำได้ เมื่อคนรักตายจากไป เราไม่สามารถทำให้เขาฟื้นขึ้นมาได้ สิ่งที่เราทำได้ในกรณีนี้ก็คือ การทำจิต หรือปล่อยวางเท่านั้น แต่หากเราล้มป่วย นอกจากการทำจิต คือ ไม่บ่นโวยวายหรือตีโพยตีพาย หากแต่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือพิจารณาว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราแล้ว เรายังควรทำกิจด้วย คือ เยียวยารักษาร่างกายให้หายป่วย หรือถึงแม้จะยังไม่ป่วย สุขภาพยังดีอยู่ ในด้านหนึ่งก็ควรเผื่อใจว่าอะไรก็ไม่เที่ยง จะได้ไม่ทุกข์ใจเมื่อต้องล้มป่วย แต่พร้อมกันนั้นก็ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใส่ใจในคุณภาพของอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้ล้มป่วยเร็วเกินไป

    ใครที่ทำใจอย่างเดียว โดยไม่ทำกิจเลย ย่อมเรียกว่าเป็นอยู่อย่างไร้ปัญญา จริงอยู่กล่าวในทางปรมัตถ์แล้ว ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงสิ่งที่ “หยิบยืม”มาใช้ชั่วคราว แต่ตราบใดที่มันยังอยู่ในการดูแลของเรา เราก็มีหน้าที่ดูแลมันให้ดีที่สุด เช่นเดียวกับโทรศัพท์หรือรถยนต์ที่เราหยิบยืมมาจากเพื่อน แม้มันไม่ใช่ของเรา เราก็ต้องดูแลรักษาให้ดี ใครที่ปล่อยปละละเลย เอาแต่ใช้แต่ไม่ดูแล ด้วยเหตุผลว่า มันไม่ใช่ของเรา ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้ไร้ความรับผิดชอบ เอาแต่ได้ ไม่น่าคบหาเลย
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,070
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    ผู้คนมักเข้าใจว่า ปล่อยวางหมายถึงวางเฉย หรือปล่อยปละละเลย นี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกิดจากความสับสนระหว่าง “ทำจิต” กับ “ทำกิจ” ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิต มุ่งแก้ความทุกข์ทางใจ แต่คนเราไม่ได้มีแต่ความทุกข์ทางใจ เรายังมีความทุกข์ทางกาย ตลอดจนปัญหาอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งต้องอาศัยการทำกิจควบคู่กับการทำจิต เช่น ถ้ารถเสียหรือหลังคารั่วก็ต้องซ่อม ขณะเดียวกันก็ควรรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ตรงนี้แหละที่การทำจิตเข้ามามีบทบาท แต่ถ้ารถเสียหรือหลังคารั่วแล้วไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่ยังต้องใช้มันอยู่และอยู่ในวิสัยที่ซ่อมได้ อย่างนี้แหละเรียกว่า วางเฉย หรือปล่อยปละละเลย ไม่ใช่ปล่อยวาง

    ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชา สุภัทโท เดินผ่านกุฏิของพระรูปหนึ่ง ท่านสังเกตเห็นหลังคาแหว่งไปครึ่งหนึ่งเพราะถูกพายุฝนกระหน่ำ แต่พระรูปนั้นไม่ขวนขวายที่จะซ่อมหลังคาเลย ปล่อยให้ฝนรั่วอย่างนั้น ท่านจึงถามเหตุผลของพระรูปนั้น คำตอบที่ได้ก็คือ ผมกำลังฝึกการไม่ยึดมั่นถือมั่นครับ หลวงพ่อชาจึงตำหนิว่า นี่เป็นทำโดยไม่ใช้หัวสมอง แทบไม่ต่างจากการวางเฉยของควายเลย

    ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิตเพราะเข้าใจความจริงของชีวิตว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ จัดว่าเป็นวิถีแห่งปัญญา ส่วนวางเฉยหรือปล่อยปละละเลยนั้นเป็นความบกพร่องในการทำกิจเพราะไม่เข้าใจว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ หรือเพราะสำคัญผิดว่าเป็นการทำจิต จึงไม่ใช่วิถีแห่งปัญญา

    ดังนั้นเมื่อนายก. พบว่าซอยข้างบานเต็มไปด้วยขยะและส่งกลิ่นเหม็นจนรู้สึกรำคาญและทุกข์ใจนั้น การที่เขาทำใจปล่อยวาง (เช่น มีสติเห็นความรู้สึกรำคาญ และปล่อยวางมัน ไม่ยึดติดถือมั่นจนเกิดตัวกูผู้รำคาญขึ้นมา) ย่อมช่วยให้ความทุกข์ใจบรรเทาเบาบางลง แต่ทำเพียงเท่านี้ยังไม่พอ เขาควรตระหนักว่านี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่เฉพาะของตนเท่านั้น แม้จะไม่ห่วงตนเองแต่ก็ควรมีสำนึกในหน้าที่ต่อส่วนรวม อันเป็นวิสัยของชาวพุทธ ดังนั้นเขาจึงควรทำกิจด้วย นั่นคือ พยายามลดขยะในซอย เช่น แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาเก็บขยะ หรือชักชวนผู้คนให้ทิ้งขยะเป็นที่ (อันที่จริง หากเขาทำใจปล่อยวางอย่างเดียว ก็ไม่ควรเอาขยะของตนเองไปทิ้ง ควรทนอยู่กับขยะที่สุมกองอยู่ในบ้านต่อไป ถ้าทนกลิ่นเหม็นของขยะในบ้านตนไม่ได้ แต่วางเฉยต่อขยะที่อยู่นอกบ้าน แสดงว่าไม่ได้ปล่อยวางจริง แต่เป็นการปล่อยปละละเลยปัญหาของส่วนรวมมากกว่า)

    ทุกวันนี้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยสนใจแต่ทำจิต แต่ไม่ทำกิจ จึงเกิดปัญหามากมาย เช่น มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ก็ทำใจอย่างเดียว แต่ไม่คิดที่จะไปคุยหรือปรับความเข้าใจกัน ปัญหาจึงหมักหมมและลุกลาม จนทำใจไม่ไหว ในที่สุดก็ระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงทั้งวจีกรรมและมโนกรรม ไม่ใช่แต่ปัญหาส่วนตัวเท่านั้นที่ลุกลาม ปัญหาส่วนรวมก็กำลังพอกพูนมากมาย ทั้งมลภาวะ อาชญากรรม ความไม่เป็นธรรม คอร์รัปชั่น การเอาเปรียบเบียดเบียน ทั้งนี้ก็เพราะผู้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าพุทธศาสนาสอนให้ทำจิตเท่านั้น หรือสับสนระหว่างการปล่อยวางกับการวางเฉย จึงเปิดช่องให้ความเห็นแก่ตัวครอบงำจิตโดยคิดว่ากำลังทำตามคำสอนของพระพุทธองค์

    ถ้าชาวพุทธในเมืองไทยรู้จักทำกิจควบคู่กับทำจิตอย่างถูกต้อง หรือตระหนักชัดว่าปล่อยวางไม่ได้หมายถึงวางเฉย คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น และสังคมจะสงบสุขมากกว่านี้อย่างแน่นอน
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255606.html
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,070
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    คนดีและความดี : ดีอย่างไรไม่เกิดโทษ
    พระไพศาล วิสาโล
    ความคิดความเชื่อที่ถูกต้องดีงาม และคุณค่าที่สูงส่งนั้น ข้อดีมีมากมาย แต่ก็มีโทษตรงที่ชวนให้เราหลงใหลและยึดติด ดังนั้นจึงไม่ยอมให้ใครแตะต้อง วิจารณ์ หรือท้าทายความคิดความเชื่อนั้น ใครทำเช่นนั้นก็ไม่พอใจ โกรธเกลียดเขา มองว่าเขาเป็นศัตรู จนอยากทำร้ายเขา ไม่ว่าด้วยวาจาหรือการกระทำ ใช่แต่เท่านั้น อัตตายังอาจฉวยเอาความคิดความเชื่อนั้นมาเป็นอาภรณ์ประดับตัวมัน ทำให้มันดูดี เกิดความรู้สึกว่า “กูดี” หรือ “กูถูก” รวมทั้งใช้เป็นข้ออ้างในการขยายอัตตาจนก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เช่นยัดเยียดความคิดความเชื่อของเราให้คนอื่น หรือถึงขั้นทำชั่วในนามของความถูกต้องและดีงาม ทั้งเพื่อปกป้องและส่งเสริม

    ความเป็นคนดีก็เช่นกัน โทษของมันก็คือ เมื่อใดที่เราสำคัญตนว่าเป็นคนดี อัตตาก็ฟูฟ่อง ชวนให้ยกตนข่มท่าน ดูแคลนคนที่ไม่ดีเหมือนเรา ถึงขั้นตัดสินว่าเขาเป็นคนเลว และเมื่อใดที่เราตัดสินเช่นนั้น ก็ง่ายที่เราจะทำร้ายเขา

    การทำเช่นนั้นอาจกลายเป็นความชอบธรรมด้วยซ้ำ “เมื่อคนดีทุบตีคนเลว นั่นเป็นสิ่งที่คนเลวสมควรได้รับ” คำพูดดังกล่าวของเจียงชิง ผู้นำแก๊งสี่คนในจีน ซึ่งสนับสนุนการทำร้ายผู้ที่อยู่คนละฝ่ายกับตนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นตัวแทนความรู้สึกนึกคิดของผู้คนเป็นอันมากที่คิดว่าตนเป็นคนดี ยิ่งมีการติดฉลากให้เขาว่า เป็น “เชื้อโรค” “ควาย” หรือ “แมลงสาบ” ก็ง่ายที่เราจะกำจัดเขาออกไปในนามของความดี การมองว่าเราดี แต่คนอื่นชั่ว และคนชั่วควรถูกกำราบ กำจัด หรือไม่ควรมีที่ทางอยู่ในโลกนี้ (พูดอีกอย่างคือ คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์)เป็นกับดักของความดี ที่ผู้คนมักพลัดตก และลงเอยด้วยการทำสิ่งเลวร้าย จนถอนตัวไม่ขึ้น

    ความดีและความถูกต้องนั้นทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย แต่วิถีสู่ความดีและความถูกต้องนั้นมีกับดักอยู่มากมาย อีกทั้งความดีและความถูกต้องก็มีหลายระดับ มีความซับซ้อนในตัวเอง ถึงแม้ความคิดความเชื่อ รวมทั้งคุณค่าที่เรายึดถืออยู่ เป็นสิ่งดีงามและถูกต้อง แต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเข้าถึงแก่นแท้หรือสารัตถะของความคิดความเชื่อดังกล่าวอย่างแท้จริง แน่ใจได้อย่างไรว่าเราไม่ได้เข้าใจผิด หรือตีความปรุงแต่งให้ตรงกับอคติของเรา มั่นใจแล้วหรือว่าความคิดความเชื่อดังกล่าวไม่ได้ถูกอัตตาฉกฉวยต่อเติมเพื่อประโยชน์ของมัน

    ดังนั้นผู้ที่ใฝ่ในความดีงามและความถูกต้อง จึงต้องหมั่นใคร่ครวญ ตรวจสอบ ตนเองและสิ่งที่ตนยึดถืออยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ามันคือความดีงามและความถูกต้องอย่างแท้จริง จะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องไม่ “ฟันธง”ว่า ตนพบคำตอบแล้ว แต่ควรคิดเผื่อหรือสงสัยไว้บ้างว่าตนอาจจะผิด สิ่งที่ยึดถือนั้นอาจไม่ใช่สิ่งดีงามและถูกต้องก็ได้ ผู้พิพากษาชาวอเมริกันผู้หนึ่ง (Learned Hand) กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “จิตวิญญาณของเสรีภาพ” คือ “จิตวิญญาณที่ไม่แน่ใจเต็มที่นัก ว่ามันถูกต้องแล้ว” อาตมาคิดว่า นี้ควรเป็นจิตวิญญาณของผู้ใฝ่ความดีและความถูกต้อง คือ ไม่มั่นใจเต็มร้อยว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นดีและถูกต้องจริงหรือ
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,070
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก เคยกล่าวว่า “ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้ายึดเข้าไว้ มันก็ผิด” นับประสาอะไรกับความเห็นที่ผิด หากยึดติดถือมั่น ย่อมมีแต่ก่อโทษสถานเดียว ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น โทษอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การดูถูกเหยียดหยามคนที่คิดต่างจากเรา หรือทำไม่เหมือนเรา ยิ่งคิดว่าตนดีหรือถูกต้องมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นว่าเขาเลวมากเท่านั้น ตามมาด้วยความโกรธเกลียด และยิ่งโกรธเกลียดเขา เห็นว่าเขาเลวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นว่าการใช้ความรุนแรงกับเขา ไม่ว่าด้วยวาจาหรือการกระทำเป็นสิ่งชอบธรรมแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ นอกจากการเบียดเบียนเขาแล้ว ความรุนแรงที่กระทำกับเขา ก็ย้อนกลับมาบั่นทอนจิตใจของเราเอง ทำให้ความดีงามและความเป็นมนุษย์ของเราลดน้อยถอยลง

    มีคำกล่าวว่า “ยิ่งพยายามกำจัดอสูรร้ายมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องระวังว่าตัวเองจะกลายเป็นอสูรร้ายเสียเอง” ตำรวจที่พยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อปราบโจรให้ได้ ไม่เว้นแม้แต่วิธีการที่ผิดกฎหมายและเลวร้าย สุดท้ายก็กลายเป็นโจรเสียเอง เพราะความชั่วร้ายที่ใช้กับโจรนั้น ย้อนกลับมาทำร้ายจิตใจของตำรวจ คนดีจำนวนไม่น้อย กลายเป็นคนชั่วร้าย ก็เพราะเหตุนี้ คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ยิ่งมั่นใจว่าตนเป็นคนดีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งห่างไกลจากความเป็นคนดีมากเท่านั้น

    “ความเกลียดชังนั้นกัดกร่อนสติปัญญาและมโนธรรมของผู้คน” หลิวเสี่ยวปอ ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพชาวจีน ได้กล่าวประโยคนี้ต่อหน้าศาลซึ่งตัดสินจำคุกเขา ๑๑ ปี เป็นเหตุให้เขาตายคาคุกเมื่อเดือนที่แล้ว ความเกลียดชังนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการแปรเปลี่ยนคนดีให้กลายเป็นอสูรร้าย เพราะเมื่อความเกลียดชังครองใจ เราก็ลืมตัวจนปล่อยให้อัตตาครอบงำจิต และสามารถทำสิ่งเลวร้ายใด ๆ ก็ได้เพื่อเป็นผู้ชนะ

    ดังนั้นหากใฝ่ในความดีงามและความถูกต้อง เราจะต้องระมัดระวังความเกลียดโกรธที่เกิดขึ้นในใจ ปุถุชนนั้นยากที่จะไม่เกลียดหรือโกรธ แต่เราสามารถรู้ทันมัน และไม่ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจเราได้ แต่แม้จะพยายามเพียงใด ความเกลียดโกรธก็ยังท่วมท้นใจ มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ คือไม่ใช้ความรุนแรงกับคนที่เราโกรธเกลียด ไม่ชอบเขาอย่างไร ก็ควรใช้สันติวิธีกับเขา เพราะหากใช้ทำร้ายเขาจนถึงชีวิต สิ่งที่เราทำไปก็ไม่อาจเรียกว่าความถูกต้องได้เลย แม้จะทำไปในนามของความดีงามและความถูกต้องก็ตาม ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เราแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราปกป้องหรือเชิดชูนั้นเป็นความดีงามและความถูกต้องอย่างแท้จริง หากมารู้ภายหลังว่ามันไม่ใช่ความดีงามและความถูกต้อง เราสามารถแก้ตัวด้วยการเอาชีวิตของเขากลับคืนมาได้ไหม

    เราทำร้ายกันมามากแล้วในนามของความดีและความถูกต้อง หากเชื่อในความดีและความถูกต้องอย่างแท้จริงเราควรหันมาใช้ความดีเอาชนะความชั่ว ดังพุทธภาษิตที่ว่า “พึงเอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์”
    :- https://visalo.org/article/jitvivat256007.html
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,070
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ผูกมิตรกับเพื่อนบ้าน
    พระไพศาล วิสาโล
    สมัยหนึ่งเคยมีคำพูดว่า “บ้านคือวิมานของเรา” คนรุ่นใหม่สมัยนี้อาจมีสำนวนอื่นที่ “โดนใจ”มากกว่า แต่ก็คงสะท้อนความรู้สึกอย่างเดียวกันว่า บ้านคือสถานที่ที่ให้ความสุขและความอบอุ่นใจแก่เรา อย่างหาได้จากที่อื่น แม้จะไปท่องเที่ยวที่ไหน นอนโรงแรมชั้นดีเพียงใด ก็ยังทดแทนบ้านไม่ได้อยู่ดี

    อะไรทำให้บ้านมีความพิเศษอย่างนั้น คำตอบนั้นมีมากมาย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้คนไม่ค่อยนึกถึงในยามปกติ นั่นคือ เพื่อนบ้าน แต่หากถามใหม่ว่า อะไรทำให้บ้านกลายเป็น “นรก” หลายคนจะนึกถึงเพื่อนบ้านขึ้นมาทันที เพราะต้องทะเลาะเบาะแว้งกับคนข้างบ้านที่ชอบเปิดเพลงดังสนั่นหรือเอาถังขยะมาวางไว้หน้าบ้านของเราเป็นประจำ

    “เพื่อนบ้าน” กับ “วิมานของเรา”นั้นแยกจากกันไม่ออก คนสมัยก่อนเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะต้องพึ่งพาอาศัยกัน หรืออย่างน้อยก็ต้องเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเลือกที่จะเป็นมิตรกันและมีน้ำใจไมตรีต่อกัน สิ่งหนึ่งที่ทำเป็นอาจิณ ก็คือ แบ่งปันกัน หลวงพ่อปัญญา ฯ เล่าว่าสมัยที่ยังเป็นเด็ก ท่านจะถูกพ่อแม่ใช้ให้เอาแกงหรือขนมไปแจกเพื่อนบ้านเป็นประจำ เวลาพ่อแม่ได้เนื้อมาก้อนหนึ่งก็จะ เอามาแกงขึ้นหม้อ แล้วตักแจกทุกบ้าน ถ้าได้ปลามาเป็นเข่ง ก็เอามาแบ่งเป็นกอง ๆ ถ้าได้ทุเรียนมาก็ทำน้ำกะทิอ่างใหญ่ พอท่านเห็นก็รู้แล้วว่าวันนี้ต้องเหนื่อยอีกแล้ว เพราะต้องวิ่งเอาไปแจกตามบ้านต่าง ๆ

    ในทำนองเดียวกันท่านเจ้าคุณโพธิรังสีแห่งวัดพันตอง จังหวัดเชียงใหม่ พูดถึงประสบการณ์วัยเด็กว่า เวลาชาวบ้านทำอาหาร ไม่จำเป็นต้องทำอาหารหลายอย่าง แต่ละบ้านจะทำแกงแค่หนึ่งหม้อแล้วแบ่งให้บ้านอื่น ๆ ส่วนเพื่อนบ้านทำอาหารอะไรก็เอามาแบ่งให้บ้านของท่านเช่นกัน

    การแบ่งปันกันนั้นช่วยสมานใจผู้คนให้กลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แต่สมัยนี้ใคร ๆ ก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องสมานใจกัน เพราะเข้าใจว่าไม่มีเขาเราก็อยู่ได้ ผลที่ตามมาก็คือเกิดความเหินห่างกันจนในที่สุดกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หรืออย่างน้อยก็ก่อความรำคาญใจแก่กัน

    หลายคนที่มีปัญหากับเพื่อนบ้าน พบว่าบ่อยครั้งการขอร้องหรือแม้แต่ต่อว่าคนข้างบ้านไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย แต่พอเปลี่ยนมาเป็นเพื่อนเขา ด้วยการเอื้อเฟื้อเจือจานและแบ่งปัน ปัญหากลับทุเลาลง มีคนหนึ่งเล่าว่าข้างบ้านมีการก่อสร้างอาคาร คนงานมักโยนขยะลงมาที่สนามบ้านเขา เขาจึงต่อว่าแต่ก็ไม่ได้ผล แม้จะอ้างตำรวจ คนงานก็ไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ต่อมาเขาเปลี่ยนวิธี หันมาเป็นมิตรกับคนงาน มีอาหารหรือขนมก็มาแบ่งให้ เขาก็รู้สึกดีด้วย จนต่อมาก็กลายเป็นเพื่อนกัน ถึงตอนนี้เขาขอร้องว่าอย่าโยนขยะลงมาได้ไหม ปรากฏว่าคนงานก็ตกปากรับคำอย่างดี หลังจากนั้นเขาก็ไม่มีปัญหาจากข้างบ้านอีกเลย

    อีกรายหนึ่งเป็นพ่อค้าที่สวนจตุจักร มีผู้ค้าข้างเคียงเอารูปภาพขนาดใหญ่มาตั้งไว้หน้าร้าน และยื่นออกมาบังร้านของเขาจนมิด เห็นได้ชัดว่าชายผู้นั้นตั้งใจกลั่นแกล้งเขา เขาก็ไม่ว่าอะไรเพราะรู้ดีว่าพูดไปก็คงไม่มีประโยชน์ วันหนึ่งเขาซื้อส้มและองุ่น แล้วเดินไปทักทายชายผู้นั้นด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม พร้อมทั้งมอบผลไม้ให้เขา เขาบอกชายผู้นั้นว่า “เมื่อกี้ผมเดินไปเข้าห้องน้ำมาบังเอิญเห็นรถขายผลไม้ ก็เลยนึกถึงคุณเพราะเห็นว่าคุณเป็นคนที่ชอบทานผลไม้ เลยซื้อมาฝาก” ชายผู้นั้นมองหน้าเขาแบบงงๆแล้วพูดว่า เกรงใจ เขาตอบไปว่า “ไม่ต้องเกรงใจหรอกครับ เราค้าขายอยู่ด้วยกันมันก็เหมือนเพื่อนเหมือนพี่เหมือนน้องกัน” จากนั้นทั้งสองก็คุยกันราวกับคนคุ้นเคยกัน

    วันรุ่งขึ้น เมื่อเขาไปเปิดร้านก็ปรากฎว่าภาพถ่ายขนาดใหญ่ที่ตั้งบังร้านเขาได้หายไป เขาจึงไปถามเจ้าของร้านว่า ภาพหายไปไหน เขาตอบว่าย้ายไปตั้งไว้ด้านในโน้น "ตั้งตรงนั้นดีกว่าครับเฮีย ผมเกรงใจเฮีย ตั้งตรงนี้แล้วมันน่าเกลียด มันไปบังร้านของเฮีย เดี๋ยวลูกค้ามาซื้อของเขาจะมองไม่เห็นสินค้าของเฮีย"

    ไม่มีอะไรที่สมานใจผู้คนได้ดีเท่าน้ำใจไมตรี หยิบยื่นไมตรีแก่คนข้างบ้าน แล้วเขาจะกลายเป็นเพื่อนบ้านที่ใส่ใจความรู้สึกของเรา เมื่อใดก็ตามที่น้ำใจไมตรีอาบรดใจ “นรก”ก็กลายเป็น “สวรรค์”ในบัดดล

    ช่วยกันทำบ้านให้เป็นวิมานด้วยการมีน้ำใจไมตรี ทั้งกับคนในบ้าน คนข้างบ้าน และคนในละแวกบ้านกันเถิด
    :- https://visalo.org/article/budBetterLiving.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...