บทความให้กำลังใจ(ทำบุญแต่ห่างธรรม)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    นิพพานคือร่มใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” อาตมาคิดว่านี่แหละใช่เลย คนสมัยนี้ชอบแสวงหาความสุข แต่ไม่พบสักที เพราะไม่รู้จักความสุขที่แท้ รู้จักแต่ความสุขแบบหยาบ ๆ แต่ได้รับความสุขแบบนี้มากมายเพียงใด ๆ ก็ไม่รู้สึกพอใจหรือเต็มอิ่ม เพราะในส่วนลึกต้องการความสงบในจิตใจ ตราบใดที่ไม่พบความสงบเย็นในจิตใจ ก็จะไม่หยุดแสวงหา ดังนั้นเราจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับความสงบทางใจ โดยเฉพาะความสงบที่เรียกว่านิพพาน อย่าลืมว่าแม้จะมีทรัพย์อื่นมากเท่าไรแต่เราก็ยังทุกข์ เช่น ลูกตาย คนรักตีจาก ถูกติวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเรายังมีความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู ต่อเมื่อละความยึดติดถือมั่นในตัวตนได้นั่นแหละจึงจะได้พบความสุงบเย็นอันเป็นความสุขที่แท้ คือนิพพาน

    เป็นธรรมดาที่เมื่อพูดว่านิพพาน คนฟังอาจตกใจ เพราะรู้สึกว่าไกลตัว เป็นไปไม่ได้ และไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่พอพูดเรื่องความสุขสงบจากการปล่อยวาง หลายคนอาจจะฉุกคิดว่า “อืม... มันอยู่ในวิสัยที่สามารถจะทำได้นะ” ชีวิตเราสามารถเข้าถึงความสุขที่ไม่ขึ้นกับสิ่งภายนอก เราสุขใจได้แม้ภายนอกวุ่นวาย แม้ผู้คนรอบจะทำตัวไม่น่ารัก แม้กายเจ็บป่วย แม้การงานจะไม่ประสบความสำเร็จ...แต่เราก็สุขได้

    ชีวิตฆราวาสนั้นเหมือนชีวิตในที่โล่ง ต้องเผชิญกับฝนตก แดดร้อน พายุกระหน่ำ แต่เราไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนเพราะความแปรปรวนเหล่านั้น ขอเพียงแต่เรามี “ร่ม” กันแดดกันฝน ฝนตกก็ไม่ต้อง แดดร้อนก็มิอาจแผดเผาได้ “ร่ม”ที่ว่าก็คือร่มแห่งธรรมซึ่งสามารถรักษาใจให้สงบเย็นและเป็นสุข ปลอดพ้นจากการรบกวนของสิ่งรอบตัว ทำให้อิสระจากสิ่งภายนอกได้ นั่นเองที่เรียกว่า “นิพพานชั่วขณะ” หรือ “นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้”

    นิพพานชั่วขณะคือความสงบเย็นและเป็นอิสระ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตเราตั้งแต่วินาทีนี้ โดยไม่ต้องรอนิพพานขั้นสมบูรณ์ที่เกิดจากการดับกิเลสสิ้นเชิง ชีวิตฆราวาสทีวุ่นวาย รุ่มร้อน เร่งรีบ... ก็สามารถสงบเย็นและเป็นอิสระ... สามารถสัมผัสนิพพานชั่วขณะได้

    นิพพานคือไม่... ไม่สุขและไม่ทุกข์ ไม่เกิดและไม่ดับ ฯลฯ

    นิพพานเป็นภาวะธรรมชาติชนิดหนึ่งที่แสดงตัวอยู่ตลอดเวลา นิพพานนั้นอยู่ต่อหน้าต่อตาเราแล้ว เพียงแต่ว่าเรามองไม่เห็นเอง เหมือนกับว่าอากาศมีอยู่รอบตัวเราแต่เรามองไม่เห็น แต่นิพพานเป็นยิ่งกว่าอากาศ เพราะนิพพานมีอยู่ทุกที่ทุกสภาวะ

    สภาวะของนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าทรงนิยามด้วยคำว่า “ไม่” ซึ่งมีถึง ๓๐ “ไม่” ในพระไตรปิฎก ไม่นับอีก ๑๐ “ไม่”ในคัมภีร์รุ่นหลัง ๆ เช่น ไม่เกิด ไม่ตาย ไม่แก่ ไม่มีที่สุด ไม่มีใครสร้าง ไม่เคลื่อน ไม่ผุพัง ไม่เคยมีไม่เคยเป็น ไม่เศร้าหมอง ฯลฯ กล่าวคือเป็นภาวะที่ไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจ คนเรามักมองอะไรเป็นคู่ๆ(dualistic) เช่น สุข-ทุกข์ พบ-พราก ไป-มา ขาว-ดำ สั้น-ยาว ถ้าบอกว่านิพพานไม่ดำ คนก็จะคิดว่านิพพานคือขาว ถ้าบอกว่านิพพานไม่ต่ำ คนก็จะคิดว่านิพพานคือสูง ท่านจึงนิยามนิพพานด้วยคำว่าไม่ เช่น ไม่เกิด ไม่ตาย ฯลฯ จริงๆ แล้วภาวะดังกล่าวเป็นการพูดในเชิงสมมติสัจจะทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น สั้นกับยาว ทุกอย่างเป็นทั้งสั้นทั้งยาวในตัวเอง ดินสอยาวเมื่อเทียบกับเข็ม แต่สั้นเมื่อเทียบกับไม้เมตร เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เป็นสมมติ สุข-ทุกข์ก็เป็นสมมติเช่นกัน แต่นิพพานเป็นภาวะพ้นจากสมมติทั้งปวง คือเป็นปรมัตถ์

    ในที่สุดท่านก็เลยอธิบายง่ายๆ ว่า นิพพานคือความสงบเย็น สงบเย็นเพราะเห็นแจ้งในความจริงว่าไม่มีอะไรที่น่ายึดถือได้เลย จึงปล่อยวาง ไม่มีความอยากหรือการปรุงแต่งอีกต่อไป ความจริงข้อนี้ทำให้เราหลุดจากความหลง หลุดจากกิเลสและเข้าถึงความสงบเย็นที่แท้จริง

    แต่เดิมคำว่า “นิพพาน” ในภาษาบาลีก็แปลว่า เย็น ท่านพุทธทาสอธิบายว่า เหล็กที่ร้อนแล้วเย็นลงก็เรียกว่าเหล็กนิพพาน ม้าที่พยศแล้วเชื่องลงก็เรียกว่าม้านิพพาน นิพพานเป็นภาษาที่ใช้กันในสมัยโบราณอยู่แล้ว ต่อมาพระพุทธเจ้านำมาใช้เพื่อชี้ให้เห็นถึงภาวะที่สงบเย็นในจิตใจ

    นิพพานชั่วขณะ ละวางตัวตน

    นิพพานคือภาวะสงบเย็นที่เกิดจากการหยุดปรุงแต่ง ไม่มีความสำคัญมั่นหมายในตัวตน นิพพานมีหลายระดับ ถ้าเป็นนิพพานที่สมบูรณ์ หรือสมุจเฉทนิโรธ เกิดขึ้นได้เมื่อหมดกิเลสสิ้นเชิงเพราะมีปัญญาแจ่มแจ้งในพระไตรลักษณ์ จนไม่มีความยึดติดถือมั่นอีกต่อไป ส่วนนิพพานชั่วขณะ หรือ ตทังคนิโรธ จะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีธรรมะมาระงับดับกิเลสเป็นคราว ๆ ไป เช่น มีสติเมื่อผัสสะเกิดขึ้น ก็ไม่ปรุงเป็นตัวตน ไม่เกิดกิเลสขึ้นมา สภาวะเช่นนั้นท่านพุทธทาสเรียกว่า “จิตว่าง”

    จิตว่างในที่นี้คือว่างจากตัวตน ถือว่าเป็นนิพพานชั่วขณะ นี่แหละคือนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้

    คำว่า “นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้” ยังหมายความได้อีกว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ มนุษย์ทุกคนสามารถจะนิพพานได้ เช่น พระสาวกบางรูปบรรลุนิพพานขณะกำลังแสดงกายกรรมอยู่บนเชือก บางท่านบรรลุธรรมตอนจะหมดลมหายใจ บางท่านเกิดดวงตาเห็นธรรมขณะที่กำลังเชือดคอตนเองเพราะผิดหวังในการบวช บางท่านเป็นคนแก่เดินถือไม้เท้าแล้วล้มลง พอเห็นทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็บรรลุธรรมเดี๋ยวนั้น บางท่านบรรลุธรรมขณะที่กำลังแสดงธรรมให้คนอื่นฟังอยู่ นี่คือตัวอย่างในสมัยพุทธกาลที่แสดงว่าทุกที่ทุกเวลาเราสามารถบรรลุนิพพานได้ เพราะนิพพานมีอยู่แล้ว นี่เรียกว่า “สมุทเฉทนิโรธ” เป็นนิพพานแบบหมดกิเลสอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นนิพพานของพระอรหันต์

    แต่นิพพานที่ปุถุชนอย่างเราสามารถสัมผัสได้คือนิพพานชั่วขณะ เราสัมผัสได้เมื่อเมื่อมีสติในทุกผัสสะที่เกิดขึ้น เมื่อจิตว่างจากการปรุงแต่งเป็นตัวตนขณะใด ก็ถือว่านิพพานเป็นขณะๆ ไป... ซึ่งเกิดได้ทุกที่ทุกเวลาเช่นกัน

    โยนิโสมนสิการ : นิพพานนั้นอยู่ที่มุมมอง

    หลายคนมีคำถามว่า เราจะสัมผัสกับนิพพานชั่วขณะได้อย่างไร ในเมื่อทุกวันนี้เรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางกิเลส เปิดทีวีมาก็เจอความโลภ ขึ้นรถเมล์ก็เจอความโกรธ อ่านหนังสือพิมพ์ก็เจอความหลง... ต่างๆ นานา

    อาตมามองว่าของอย่างนี้อยู่ที่มุมมอง ภาษาพระเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” อย่างเช่นพระรูปหนึ่งเข้าไปบิณฑบาตในเมือง เห็นผู้หญิงประทินโฉมอย่างวิจิตร แต่งตัวงดงาม กำลังฟ้อนรำอยู่กลางถนน แทนที่ท่านจะเกิดราคะ ท่านกลับเกิดโยนิโสมนสิการ คือมองว่ากามนั้นน่ากลัว เป็นบ่วงแห่งมัจจุราชที่อยดักจิตดักใจของผู้คน พอเห็นอย่างนี้จิตท่านก็เกิดความหน่ายในกามและในสังขาร หลุดจากกิเลสและบรรลุธรรมเดี๋ยวนั้นเอง

    ฉะนั้น ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามากระทบใจเรา สามารถมองให้เห็นเป็นธรรมะได้ทั้งนั้น เห็นความสวยงามว่าเป็นความน่าเกลียดไม่น่ายึดไม่น่าเอาก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีสติ เมื่อมีสติแล้วโยนิโสมนสิการจะมารับช่วงต่อ แต่คนทั่วไปเวลาเห็นอะไรก็ตาม เช่นดูทีวีหรืออ่านข่าวมักไม่มีสติ อารมณ์จึงกระเพื่อมไปตามผัสสะที่กระทบ เกิดความรู้สึก โกรธ เกลียด ชอบ ชัง คนทั่วไปถ้าอยู่ในภาวะเช่นนี้ อย่าว่าแต่ภาวะนิพพานเลย ความสงบเย็นธรรมดาๆ ก็เกิดขึ้นได้ยาก

    อาตมาคิดว่าเราต้องปรับเปลี่ยนชีวิตให้อยู่อย่างเรียบง่าย จึงจะพบกับความสงบเย็น จิตไม่มัวแต่ส่งออกนอก แต่ย้อนเข้ามาดูใจ เห็นใจตนเอง สมัยนี้มีสิ่งยั่วยุตลอดเวลา ทำให้เราไม่เห็นทุกข์และสมุทัยในใจ แต่ถ้าเราจัดวางชีวิตให้เรียบง่าย ไม่มีสิ่งกระตุ้นเร้ามากมาย เราก็มีโอกาสเห็นจิตใจตัวเอง พอเห็นจิตกระเพื่อม เห็นทุกข์ และเห็นสมุทัยคือความอยาก ทั้งอยากได้ และอยากผลักไส พอรู้เท่านั้นก็วางลงได้ สมุทัยดับไป เมื่อเห็นเช่นนี้บ่อย ๆ จนเห็นความจริงของจิต ว่าไม่น่ายึดและยึดไม่ได้ ปัญญาก็จะเกิดตามมา

    อาตมาแนะนำว่าควรพยายามใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบ เรียบง่าย สองข้อนี้จะเป็นพื้นฐานของการมีสติและปัญญา

    สติคือต้นทาง สัมปชัญญะ(ปัญญา)คือมาถูกทาง

    นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้อาศัยสติเป็นหลัก เมื่อตากระทบรูป เกิดผัสสะ แล้วเรามีสติในผัสสะ ไม่ปรุงแต่งเป็นตัวกู มีการเห็นแต่ไม่มีผู้เห็น เวลาเดินก็มีแต่การเดิน แต่ไม่มีผู้เดิน สิ่งที่กำลังเดินคือรูป สิ่งที่กำลังคิดเป็นนาม ไม่ตัวกูเป็นผู้คิด ไม่มีฉันเป็นผู้คิด ไม่มีฉันเป็นผู้เดิน เมื่อมันมีแต่รูปกับนามที่ทำงาน ตัวกูก็หายไป ภาวะว่างจากตัวตนนี้แหละที่ทำให้เกิดความสงบเย็นหรือนิพพานในปัจจุบันขณะ

    สติเป็นจุดเริ่มต้นของวิปัสสนากรรมฐาน เพราะสติทำให้เห็นกายเห็นใจตามที่เป็นจริง เมื่อเห็นลักษณะของมันตามที่เป็นจริงไปเรื่อยๆ ก็เกิดปัญญา จนปล่อยวางได้ สติกับปัญญาจึงมาคู่กัน อย่างที่เรามักใช้คำว่าสติปัญญา

    คนสมัยนี้เน้นการคิดเก่งและรู้มาก แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการฟังหรือการอ่าน ซึ่งเป็นความรู้ทางสมอง โดยไม่ฝึกใจให้คล้อยตาม พอใจไม่พัฒนาไปตามสมอง ก็เกิดภาวะดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ คำว่า “อดใจไม่ได้” ก็บ่งชี้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของจิตใจหรืออารมณ์ การปฏิบัติธรรมคือการฝึกจิตฝึกใจ ฝึกอารมณ์ให้งอกงาม ทำให้สมองกับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

    สมมติเรารู้ว่าเหล้าไม่ดี เราตั้งใจจะงดกินหล้า พอเห็นเหล้าแล้วเราเกิดความอยากทันที ถ้าเรามีสติทันท่วงที ความอยากก็ทุเลาลง สติทำให้รู้ทันความอยาก เห็นว่าความอยากไม่ใช่เรา แต่เป็นอาการทางกายทางใจที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว ความอยากก็ไม่สามารถครองใจเราได้

    เราทุกคนก็รู้ว่าโกรธไม่ดี แต่พอใครด่าเรา เราโกรธทุกที นั่นเป็นเพราะเราไม่มีสติ อีกทั้งยังไม่ได้ฝึกเมตตาภาวนา แต่ถ้าเราเจริญเมตตาอยู่เป็นนิจ กระทั่งไม่โกรธไม่เกลียด ให้อภัยได้ สมองรู้ว่าโกรธไม่ดี ส่วนใจก็ละวางความโกรธลงได้ด้วย นี่แหละคือภาวะที่สมองกับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

    แต่คนที่ไม่เคยฝึกใจ แม้รู้ว่าความโกรธไม่ดี เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังโกรธคนนั้นคนนี้อยู่ทุกวัน เพราะใจยังสละความโกรธไม่ได้ สมาธิภาวนาเป็นการฝึกใจ ทำให้เกิดสมดุลระหว่างสมองกับใจ อย่างไรก็ตาม การฝึกใจก็ต้องฝึกให้ถูกด้วย บางคนตอนเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมีความสุขดี เพราะอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่สงบและเป็นธรรมชาติ แต่กลับออกมาเจอฝนตกรถติดก็โกรธอีกแล้ว สาเหตุเป็นเพราะตอนปฏิบัติไปเน้นการกดข่มอารมณ์ โดยหารู้ไม่ว่าอารมณ์ที่เราข่มไว้นั้นไม่ได้หายไปไหน พอมีอะไรมากระทบมันก็ระเบิดออกมา

    จริงๆ แล้วการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความสงบ เราปฏิบัติเพื่อความรู้ตัว ตื่นรู้ เมื่อมีความตื่นรู้ แม้มีผัสสะมากระทบเราก็รู้ว่าใจกระเพื่อม มีอารมณ์มาครอบงำ เมื่อรู้ก็วางอารมณ์นั้นได้ ใจกลับมาเป็นปกติ เมื่อโกรธแล้วเผลอปรุงแต่งตามความโกรธ พอมีสติระลึกได้ ก็หยุดปรุงแต่ง วางความโกรธลง ความรู้ตัวก็จะเกิดตามมา ความรู้ตัวนี่เองคือสัมปชัญญะ

    ยกตัวอย่างเช่น เวลาอ่านหนังสืออยู่แล้วใจลอยออกไปนอกตัว แต่พอระลึกขึ้นมาได้ว่าเรากำลังอ่านหนังสืออยู่นี่นา ความระลึกได้คือสติ เมื่อระลึกได้เช่นนี้ ใจก็จะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับการอ่านหนังสือต่อ ความรู้ตัวจะเกิดตามมาหลังจากความระลึกได้ เรียกว่าสัมปชัญญะ

    สัมปชัญญะยังหมายถึงการรู้อะไรอย่างถูกต้อง เช่น รู้ชัดในเป้าหมาย รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ สมมติกำลังประชุมกันเพื่อหาข้อตกลงทางธุรกิจ จู่ ๆเราเกิดอารมณ์เสีย โกรธคนที่กำลังคุยด้วย อยากจะต่อว่าเขา แต่แล้วก็รู้ทันความโกรธ แล้วยังรู้ต่อไปด้วยว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้เสียงานเสียการ จึงพูดคุยกับเขาด้วยดี การรู้ทันความโกรธเป็นงานของสติ ส่วนสัมปชัญญะทำให้รู้ว่าการต่อว่าเขาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ควรจะพูดกับเขาด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช้อารมณ์

    อาตมาขอยกอีกตัวอย่างที่ท่านพุทธทาสเคยเล่าให้ฟัง แม่ลูกอ่อนคนหนึ่งตกใจมากเมื่อลูกนางกลืนเหรียญทองแดงแล้วเกิดติดคอ ขณะกำลังตกใจเธอก็นึกขึ้นมาได้ว่าน้ำกรดสามารถกัดเหรียญทองแดงได้ เธอจึงรีบไปเอาน้ำกรดกรอกใส่ปากลูก เหรียญหลุดจากคอจริง แต่น้ำกรดก็ทำอันตรายกับเด็กอย่างร้ายแรง... นี่คือตัวอย่างของคนที่ไม่มีสัมปชัญญะ คือ รู้แบบครึ่งๆ กลางๆ จึงทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เกิดความผิดพลาดขึ้นมา การไม่มีสัมปชัญญะบางทีเราก็เรียกว่า หลง คือทำผิด ๆ ถูก ๆ

    สติและสัมปชัญญะจะทำงานคู่กันเหมือนฝาแฝดอินจัน วิธีพัฒนาสัมปชัญญะก็คือฝึกสตินั่นเอง การฝึกสติทำให้ไม่ลืมตัว เมื่อใจอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้ตัวก็เกิดขึ้น สัมปชัญญะเป็นปัญญาชนิดหนึ่ง เมื่อรู้ตัวก็รู้อะไรควรไม่ควร รู้อะไรถูกอะไรผิด... เรียกว่ามาถูกทาง

    ที่สำคัญคือการรู้เท่าทันในตัวตน อย่าปรุงแต่งให้เกิดมีอัตตาตัวตนขึ้น ภารกิจนี้เป็นงานของสติ หรือ แม้จะเผลอปรุงแต่งเป็นตัวตนขึ้นมาก็อย่าให้มันครอบงำจิตใจ อย่าเปิดให้อัตตาเข้ามาขับเคลื่อนชีวิตเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็เข้าถึงความสงบเย็น
    :- https://visalo.org/article/budNippanTeeNee.htm


     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    พุทธกับไสย : แค่ไหนจึงจะควร
    พระไพศาล วิสาโล
    แต่ไหนแต่ไรมาพุทธศาสนาไม่ได้แยกขาดจากไสยศาสตร์ ถ้าไสยศาสตร์หมายถึงระบบความเชื่อที่ยอมรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ และสิ่งลี้ลับเหนือปกติวิสัย พุทธศาสนาก็มีส่วนหนึ่งเป็นไสยศาสตร์อยู่แล้ว เพราะพุทธศาสนายอมรับว่ามีผีสางเทวดาและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่ถ้าไสยศาสตร์มิได้หมายเพียงเฉพาะความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือสามัญเท่านั้น หากยังรวมถึงการพยายามนำอำนาจของสิ่งเหล่านี้(ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่)มาก่อให้เกิดผลหรือความสำเร็จในทางโลก และอาจรวมถึงผลในโลกหน้า เช่นขอให้ไปเกิดในสวรรค์ พุทธศาสนาไม่จัดว่าเป็นไสยศาสตร์เพราะเชื่อมั่นในผลแห่งการกระทำหรือกรรมของบุคคลเป็นสำคัญ

    อย่างไรก็ตามในอดีตพุทธศาสนาก็ไม่เคยปฏิเสธไสยศาสตร์อย่างหลัง หรือพูดให้ถูกต้องก็คือ พุทธศาสนายอมรับไสยศาสตร์อย่างหลังในบางแง่หรืออย่างมีเงื่อนไข ทั้งนี้เพราะการยอมรับไสยศาสตร์ในบางกรณีไม่ได้หมายความว่าบุคคลจะต้องไปสยบยอมสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสมอไป พระเจ้ากรุงธนบุรีแม้จะทรงเชื่อในอำนาจของเทวดา แต่แทนที่จะอ้อนวอนพึ่งพิงเทวดา พระองค์กลับทรงมีพระราชโองการประกาศเทพารักษ์ให้กำจัดปีศาจ ทั้งนี้เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุข


    เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่พุทธศาสนาในอดีตยอมรับไสยศาสตร์ ก็คือต้องการเอาไสยศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางธรรม ทั้งนี้เพราะความจริงมีอยู่ว่า มนุษย์นั้นตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ในยามเป็นทุกข์อย่างน้อยบางครั้งบางเวลาก็ต้องการสิ่งปลอบประโลมใจยิ่งกว่าเหตุผล การรู้จักใช้ไสยศาสตร์ให้เป็น โดยมีธรรมะเป็นตัวนำย่อมช่วยให้เขาเกิดความอบอุ่นใจ สามารถตั้งหลักใหม่เพื่อแก้ปัญหาของตัวด้วยวิธีการที่ถูกทำนองคลองธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการให้กำลังใจแก่คนที่เพียรพยายามสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต ที่สำคัญก็คือไสยศาสตร์หากใช้ให้ถูกก็สามารถควบคุมกิเลสตัณหาของผู้คนให้อยู่ในขอบเขต เพื่อให้การแสวงหาโชคลาภและความสำเร็จแบบโลก ๆ เป็นไปในทางที่เหมาะสม ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เพราะคนบางประเภทนั้น การสอนด้วยเหตุผลหรือธรรมะล้วน ๆเพื่อให้เกิดหิริ(ความละอายต่อมโนธรรมสำนึกของตน)นั้นยากที่จะประสบผล เพราะปัญญายังไม่มีพลังพอที่จะทัดทานสัญชาตญาณใฝ่ต่ำ จำเป็นต้องเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือนรกเข้ามา ขู่เพื่อให้เกิดโอตตัปปะ (ความกลัวต่อโทษทัณฑ์ที่จะได้รับจากภายนอก) ถึงจะควบคุมพฤติกรรมให้อยู่ในร่องรอยได้ มิไยจะต้องเอ่ยถึงคนอีกมากที่ต้องการทางลัดสู่ความมั่งมีศรีสุข จนง่ายที่จะติดหลงงมงายอยู่กับการอ้อนวอนบวงสรวง หรือเป็นเหยื่อของคนที่เอาไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ส่วนตน คนกลุ่มนี้ก็ต้องการไสยศาสตร์ที่มีพุทธศาสนากำกับเพื่อชักนำให้สู่หนทางที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน
    ด้วยเหตุนี้แม้แต่ท่านพุทธทาสภิกขุก็ยังยอมรับว่า "พุทธศาสตร์นี้ยังต้องอาศัยไสยศาสตร์"

    การเชื่อไสยศาสตร์ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าจะต้องหลงงมงายเสมอไป ประเด็นสำคัญอยู่ว่าเชื่ออย่างไร ถ้าเชื่อจนเลิกพึ่งพิงปัญญาหรือการกระทำของตนเอง ก็ย่อมเป็นความงมงาย แต่เมื่อเชื่อแล้วเกิดกำลังใจที่จะทำความดี เพียรพยายามที่จะกระทำให้เกิดผลสำเร็จด้วยตนเอง จะเรียกว่าเป็นความงมงายได้อย่างไร ในเรื่องนี้พระธรรมปิฎกได้ชี้ว่า การเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นที่ยอมรับได้ในพุทธศาสนาหากว่าไม่ขัดต่อหลักการใหญ่ ๆ ๓ ประการคือ ๑)หลักกรรม กล่าวคือ ความเชื่อนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้เกิดความเพียรพยายามเพื่อให้เกิดผลสำเร็จด้วยการกระทำของตนเอง ๒)หลักสิกขา กล่าวคือ ความเชื่อนั้นสามารถถูกชักนำไปสู่การฝึกฝนพัฒนาตนให้เจริญก้าวหน้า ไม่ติดจมอยู่กับสิ่งปลอบใจภายนอก ๓) ความหมายที่แท้จริงของความศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ เห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงนั้นอยู่ทีคุณธรรมและปัญญา มิใช่ควบคู่ไปกับกิเลสหรือโลภะโทสะโมหะ

    ในทางตรงกันข้าม การเชื่อในเหตุผลและวิทยาศาสตร์นั้น หากเชื่อด้วยความติดยึดหรือเกิดอุปาทานขึ้นมา ก็สามารถเป็นความหลงงมงายได้ง่าย ๆ เพราะเมื่อติดยึดในเหตุผลอย่างฝังแน่นเข้าแล้ว อะไรที่ไม่สอดคล้องกับเหตุผลของตัว (หรือไม่สามารถลำดับเป็นเหตุเป็นผลได้) ก็อาจถูกบอกปัดไปได้ทันทีโดยไม่ทันใช้ปัญญาพิจารณา ในทำนองเดียวกันคนที่เชื่อวิทยาศาสตร์ก็อาจกลายเป็นคนงมงายได้หากว่าเอาวิทยาศาสตร์เป็นเกณฑ์ประทับตราความจริงไปเสียทุกเรื่อง จนถึงขั้นว่าไม่ยอมรับว่าบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดจนกว่าจะมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน หรือปฏิเสธความจริงที่ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถรักษาอาการเจ็บคอได้ตราบใดที่นักวิทยาศาสตร์ยังค้นไม่พบสารออกฤทธิ์ ส่วนอะไรก็ตามที่วิทยาศาสตร์ไม่รับรองหรือยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็โจมตีว่าเป็นของหลอกลวง ไม่มีจริง ทั้งๆที่วิทยาศาสตร์เป็นเพียงวิถีทางหนึ่งเท่านั้นในการบ่งชี้ความจริง มิพักต้องกล่าวว่าทฤษฎีและกรอบของวิทยาศาสตร์นั้นแปรเปลี่ยนเลื่อนไหลตลอดเวลา

    อย่าว่าแต่เหตุผลหรือวิทยาศาสตร์เลย แม้สิ่งที่ประเสริฐกว่านั้นคือพระรัตนตรัย หากเชื่อด้วยความติดยึด พระรัตนตรัยนั้นแหละกลับจะกลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงพุทธศาสนา ความข้อนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวเตือนไว้นานแล้วว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์สามารถเป็น"ภูเขาแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม"ได้

    กล่าวโดยสรุปก็คือ ในทัศนะพุทธศาสนานั้นสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ตรงที่เชื่ออะไร แต่เชื่ออย่างไรต่างหากที่สำคัญกว่า ถ้าเชื่อว่ามีผีสางเทวดาแต่ไม่งมงายกับผีสางเทวดา ย่อมดีกว่าเชื่อวิทยาศาสตร์แต่กลับงมงายใหลหลงจนปฏิเสธบุญบาป ถ้าเช่นนั้นเชื่ออย่างไรถึงจะสอดคล้องกับพุทธศาสนา นอกจากหลัก ๓ ประการของพระธรรมปิฎก ตลอดจนการเชื่อโดยไม่ยึดมั่นหรือเชื่ออย่างงมงายไม่ใช้ปัญญาพิจารณาดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เน้นแล้ว เกณฑ์สำคัญอีกหมวดหนึ่งก็คือหลักตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ นั่นคือไม่ว่าจะเชื่ออะไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เชื่อแล้วนำไปสู่การคลายกำหนัด ส่งเสริมความเพียร เลี้ยงง่าย มักน้อย สันโดษ สงัด ไม่ก่อทุกข์ ลดกิเลส หรือไม่ เป็นต้น ถึงไม่เชื่อผีสางเทวดา หากเชื่ออย่างอื่นที่ดูส่งส่งมีเหตุมีผลกว่า แต่ถ้าก่อให้เกิดสิ่งที่ตรงข้ามกับหลัก ๘ ประการนี้ก็ไม่ถือว่าเข้ากับหลักพุทธ ไม่ว่าความเชื่อเช่นนั้นจะอ้างตัวเป็นวิทยาศาสตร์เพียงใด ก็ไม่อาจเรียกว่าเป็น"พุทธแท้"ได้เลย

    ดังนั้นพุทธศาสนาจึงไม่ควรปฏิเสธไสยศาสตร์อย่างสิ้นเชิง หากพึงยอมรับไสยศาสตร์อย่างจำแนก แต่เกณฑ์ในการยอมรับนั้นไม่พึงให้วิทยาศาสตร์มากำหนด กล่าวคือ จะยอมรับไสยศาสตร์อย่างใดแค่ไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่า ไสยศาสตร์นั้น ๆ มีความไม่เป็นวิทยาศาสตร์มากน้อยเพียงใด หากแต่เอาจุดมุ่งหมายในทางธรรมเป็นตัวตั้ง กล่าวคือรับเอาไสยศาสตร์เข้ามาเพื่อใช้ไสยศาสตร์นั้นเป็นสื่อนำไปสู่ความรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ช่วยให้พึ่งตนเอง และพัฒนาตนให้เจริญก้าวหน้าในทางธรรม จนเป็นอิสระจากไสยศาสตร์ และแก้ปัญหาชีวิตของตนได้ด้วยปัญญาและคุณธรรม
    :- https://visalo.org/article/budBudAndSai.htm

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    viteehangkwamruk.jpg
    ความเป็นมนุษย์ที่แท้ บนวิถีแห่งความรัก

    พระไพศาล วิสาโล
    คนเราไม่ได้อยู่ด้วยข้าวปลาอาหารเท่านั้น เรายังต้องอาศัยสิ่งอื่นด้วย และหนึ่งในบรรดาสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตและต่อความเป็นมนุษย์ของเราก็คือ ความรัก

    ที่จริงแล้ว หากปราศจากความรัก แม้แต่ข้าวปลาอาหารเพื่อความอยู่รอด ก็คงจะเกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตามมนุษย์เราไม่ได้ต้องการแค่มีชีวิตอยู่รอดเท่านั้น หากยังต้องการความสุขและความเจริญงอกงามด้วย

    ความรักนั้นทำให้ความเป็นมนุษย์เกิดขึ้นได้ และเจริญงอกงาม ถ้าปราศจากความรักแล้ว กล่าวได้ว่า ความเป็นมนุษย์ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยซ้ำ

    อานุภาพของความรักจะเห็นได้ชัดก็ต่อเมื่อเรานึกถึงความรักของแม่ ปราศจากความรักของแม่ แม้เราจะเกิดขึ้นมาได้ในโลกนี้ ก็ไม่สามารถจะอยู่รอดได้ หลายชีวิตปฏิสนธิขึ้นมา อาจจะไม่ใช่เพราะความรักของพ่อแม่ แต่เมื่อปฏิสนธิแล้ว ความรักของแม่เป็นพลังสำคัญที่ทำให้อยู่รอดและลืมตาดูโลกได้ในที่สุด

    เมื่อเราถือกำเนิดขึ้นมา เราไม่สามารถรับอาหารอื่นใดได้เลย นอกจากน้ำนมของแม่ ถ้าปราศจากน้ำนมของแม่แล้ว แม้เพียงแค่จะมีชีวิตให้อยู่รอดก็เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามความรัก ไม่เพียงช่วยให้เรามีชีวิตอยู่รอดและเติบโตเท่านั้น นอกจากกายจะเติบใหญ่แล้ว ใจของเรางอกงามได้ ก็เพราะความรักของแม่ ความเอาใจใส่ของแม่ทำให้จิตใจของเราได้รับการเติมเต็ม ใจที่ไม่ได้รับความรักซึ่งมีจุดตั้งต้นจากแม่ ย่อมเป็นใจที่พร่อง ขาดแคลน และหิวโหยอยู่เสมอ

    ความรักของแม่ยังปลุกพลังบวกในใจเรา คนเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีพลังบวกอยู่ในใจ เช่น คุณธรรม ความใฝ่ดี อาตมาเชื่อว่า คุณสมบัติดังกล่าว เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ แต่ว่าคุณสมบัติดังกล่าวไม่สามารถที่จะมีพลังได้ หากปราศจากการปลุกกระตุ้นด้วยความรัก และความรักที่สามารถกระตุ้นพลังบวกในใจเราให้มีอานุภาพอย่างยิ่ง ก็คือ ความรักของแม่

    เมื่อใดก็ตามที่เราขาดความรัก ใจเราย่อมรู้สึกขาดพร่อง โหยหา และเป็นทุกข์ มีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่กำพร้าพ่อ หลายคนกำพร้าแม่ และหากไม่ได้รับความรักจากคนที่เป็นตัวแทนของแม่แล้ว ก็เชื่อได้เลยว่า เขาจะรู้สึกโหยหา อาจจะเป็นความโหยหาที่รบกวนเขาไปตลอดชีวิต ใจของเขาจะเรียกร้องความรักอย่างไม่มีวันหยุดหย่อน ยิ่งไปกว่านั้นจิตที่พร่องความรักสามารถผลักดันให้ทำสิ่งที่เลวร้าย เช่น ทำร้ายผู้อื่นอย่างไร้ความปรานี

    อาชญากรหลายคน หากสืบประวัติจะพบว่า ในวัยเด็กเขาไม่ได้รับความรักจากแม่ ซ้ำยังถูกกระทำจากผู้ที่มีอำนาจมากกว่า มันทำให้เกิดบาดแผลในจิตใจของเขา ทำให้เขาต้องการการเยียวยา และหากไม่มีบุคคลใดที่จะให้ความรักแก่เขา เยียวยาเขาด้วยความรัก เหมือนความรักของแม่แล้ว พลังบวกในใจเขาก็จะอ่อนล้า จิตใจถูกครอบงำด้วยพลังลบที่สามารถผลักดันให้เขาทำร้ายผู้อื่นในที่สุด

    เมื่อขาดความรักที่มีจุดเริ่มต้นจากแม่ คนเราย่อมเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะความโหยหา เป็นทุกข์เพราะความรู้สึกพร่อง หรือเป็นทุกข์เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าเพียงพอที่จะได้รับความรักจากแม่ ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะโบยตีซ้ำเติมจิตใจของเขา หลายคนมีบาดแผลเมื่อพบว่าแม่ได้ทิ้งเขาไปตั้งแต่ยังเด็ก แม่อาจทิ้งเพราะเหตุจำเป็น หรือทิ้งเพราะว่าความตายได้พรากแม่ไป แต่สำหรับเด็กที่ปราศจากความรักของแม่ เขาจะรู้สึกเสมอว่า เขาไม่มีคุณค่าเพียงพอที่แม่จะอยู่กับเขา ดูแลเขา คนที่รู้สึกเช่นนี้ย่อมมีความทุกข์อย่างยิ่ง และต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเยียวยาบาดแผลดังกล่าวได้ หรือสามารถมองเห็นคุณค่าตัวเอง จนมีความมั่นใจที่จะดำเนินชีวิตในโลกนี้

    เมื่อปราศจากความรัก เราย่อมขาดพลังในการทำความดี ความใฝ่ต่ำย่อมครอบงำง่าย คนเราเมื่อเกิดมา แม้มีพลังแห่งความดีติดตัวมาแต่กำเนิด แต่พลังลบหรือพลังแห่งความใฝ่ต่ำก็ตามมาด้วยเหมือนกัน

    ใครก็ตามที่ได้รับความรักจากแม่เป็นจุดเริ่มต้น พลังบวกหรือพลังแห่งความดีก็จะได้รับการกระตุ้นเร้าจนสามารถมีชัยต่อพลังแห่งความใฝ่ต่ำได้ แต่หากปราศจากความรักของแม่เสียแล้ว ก็เป็นการยากที่พลังความดีจะได้รับการกระตุ้นเร้า จนมีกำลังต้านทานพลังใฝ่ต่ำได้

    นั่นก็หมายความว่า ในที่สุดพลังใฝ่ต่ำก็สามารถครอบงำจิตใจเขา ทำให้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน มองโลกทั้งโลกด้วยความรู้สึกลบ และพร้อมที่จะทำร้ายผู้คนหรือเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบเมื่อมีโอกาส

    คนที่เป็นฆาตกรหรือผู้ที่ทำร้ายเด็กตัวเล็กๆ ล่วงละเมิดเยาวชนที่อ่อนแอกว่า คนเหล่านั้นหากสาวประวัติไปก็จะพบว่าเป็นเพราะเขาขาดความรักจากแม่ ดังคนซึ่งเป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ไปล่วงละเมิดเด็กหญิงและฆ่าเด็กไปหลายคน พฤติกรรมดังกล่าวเชื่อว่าเป็นเพราะเขาไม่ได้รับความรักจากแม่ตั้งแต่เล็ก เนื่องจากเป็นเด็กกำพร้า ในวัยเด็กเขาคงถูกกระทำจากผู้ใหญ่ ครั้นโตเป็นผู้ใหญ่ก็หันมาใช้อำนาจกับเด็กอย่างควบคุมตนเองไม่ได้

    ความรักของแม่ทำให้ความดีในใจของเรางอกงามและทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราเบ่งบาน ประดุจดอกบัวที่เบ่งบานยามต้องแสงอรุณ เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเมื่อแม่ได้มอบความรักแก่เรา ใจเราย่อมสัมผัสได้ถึงความเมตตา เราย่อมรู้ชาติแห่งเมตตาว่าซาบซึ้งประทับใจเพียงไร ความซาบซึ้งประทับใจนี่แหละที่สามารถปลุกเร้าบันดาลความเมตตาในใจของเราให้งอกงามขึ้นด้วยเช่นกัน

    เป็นเพราะแม่เป็นแบบอย่างของความดี ความเสียสละและความสุข เราจึงเห็นคุณค่าของการเสียสละ และรู้จักที่จะทำความดี ปราศจากซึ่งแบบอย่างแห่งความดีแล้ว ยากที่ปุถุชนคนเราจะเห็นความดีมากพอที่จะมอบสิ่งนั้นให้กับผู้อื่น หรือเสียสละเพื่อผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องหรือมิตรสหาย

    แม่เป็นผู้ที่สอนให้เรารู้จักผิดชอบชั่วดี เพราะแม่อยากให้เราให้เราเป็นคนดี คำสอนของแม่ทำให้เราเกิดความรู้ผิดรู้ชอบ ความรู้ผิดรู้ชอบนี้แหละนำไปสู่สัมมาทิฐิ เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการทำความดีอย่างต่อเนื่อง

    ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ความรักของแม่ทำให้ใจของเราได้รับการเติมเต็ม และเมื่อใจได้รับการเติมเต็มก็มีความสุข ความสุขนี้เองคือสิ่งชะโลมใจและหล่อเลี้ยงความดีให้เจริญงอกงาม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะแม่อยู่กับเรา ใกล้ชิดเรา แต่ถึงแม้แม่จะจากไป แต่การที่ท่านได้สอนหรือเป็นแบบอย่างก็สามารถเตือนใจให้เราอยากทำความดี และมีกำลังที่จะเอาชนะความชั่วได้

    ...ความรักของแม่ช่วยให้เรารู้จักโลก ทำให้เราเกิดพัฒนาการทางสติปัญญา ไม่ต้องอธิบายมาก ก็เห็นชัดว่า แม่เป็นครูคนแรกของเรา คนเราจะเติบโตได้ต้องมีความงอกงามทั้งอารมณ์และสติปัญญา ความงอกงามทางอารมณ์นั้น ทำให้เราใฝ่ดีและมีความสุข ขณะเดียวกันความงอกงามทางสติปัญญาทำให้เราเข้าถึงความจริงของชีวิตและโลก ซึ่งทำให้เราสามารถอยู่ในโลกและเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งรอบตัวได้อย่างมีคุณค่า มีความหมาย และผาสุก

    ความรักไม่เพียงประเทืองอารมณ์เท่านั้น แต่สามารถหล่อเลี้ยงสติปัญญาของเราให้เจริญงอกงามได้ ความรักของแม่ทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตน ที่จริงไม่เพียงเฉพาะความรักของแม่เท่านั้น ความรักของครูก็ทำให้เราเกิดความใฝ่รู้ มีฉันทะในการเรียนรู้ และกล้าสู้สิ่งยาก ความรักของแม่และครู ย่อมเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกและศิษย์ มีความเพียรพยายาม กล้าเผชิญอุปสรรค และกระตุ้นเร้าให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง

    ในฐานะที่เป็นครูคนแรก แม่ไม่เพียงให้คำแนะนำสั่งสอน แต่ยังให้แรงบันดาลใจ มีคำกล่าวว่า 'ครูธรรมดานั้นแค่สอน ครูที่ดีสาธิต ส่วนครูที่ดีที่สุดให้แรงบันดาลใจ' อาตมาเชื่อว่าหลายคนได้พบแรงบันดาลใจในการที่จะเรียนรู้จากแม่ และจากครู แรงบันดาลใจจะเกิดขึ้นก็เพราะความรัก ทั้งต่อวิชาที่ครูสอนและต่อตัวเด็กเองที่เป็นผู้เรียน หลายคนกลายเป็นครูที่มีความรักในศิษย์ มีความรักในวิชาที่ตัวเองสอนและทำให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจใฝ่รู้ เพราะฉะนั้น ความรักและความรู้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน ความรักไม่เพียงเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทำความดีเท่านั้น แต่ความรักยังนำมาซึ่งความใฝ่รู้และการเติบโตทางสติปัญญา

    ความรักความเมตตาและน้ำใจของผู้คนสามารถปลุกพลังแห่งความดี และทำให้เรามีสติปัญญางอกงาม ไม่เฉพาะแต่วิชาความรู้จากตำราหรือในโรงเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงความรู้เกี่ยวกับชีวิตและโลก เด็กที่หิวโหย หากได้รับน้ำใจ ได้รับอาหารจากคนแปลกหน้า เขาย่อมซาบซึ้งในคุณค่าของเมตตาและย่อมมีน้ำใจต่อคนที่หิวโหยเช่นกัน ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่เคยได้รับความรักความเมตตาหรือใคร ย่อมยากที่เขาจะมีความรักความเมตตาต่อคนอื่นได้

    นี้คือพลังในการทำความดี ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เกิดความเข้าใจในชีวิตมากขึ้นว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีความสุขเมื่อได้รับเมตตา นี่เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่จำเป็นมากสำหรับการมีชีวิตอย่างมีความผาสุกและเกื้อกูลในโลก เพราะหากเราไม่ประสบด้วยตนเองว่าความรักนั้นทำให้มีความสุข เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความเมตตาของเรานั้นสามารถจะก่อความสุขและความซาบซึ้งใจแก่ผู้อื่นได้
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    ความดีของผู้คนช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้หลายอย่าง ไม่ใช่แค่เพียงความประทับใจเท่านั้น อาตมานึกถึงคนๆ หนึ่งที่เป็นข่าวเมื่อสอง-สามเดือนก่อน เขาเป็นนักปั่นจักรยานที่มีชื่อมากของอิตาลีในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อจีโน บาร์ตาลี เราคงทราบดีว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวจำนวนไม่น้อยในยุโรปหรือทั้งในอิตาลีถูกส่งไปยังค่ายนรก จนมีคนตายถึง 6 ล้านคน แต่ก็มีชาวยิวหลายคนที่ได้รับการช่วยเหลือให้ปลอดภัย บาร์ตาลีก็เป็นคนหนึ่งที่ชวยให้ชาวยิวในอิตาลีมีที่พักพิงและสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ เขาช่วยทำพาสปอร์ตปลอม ทำเอกสารปลอมให้ชาวยิวที่กำลังหลบซ่อนสามารถเดินทางไปยังประเทศที่ปลอดภัยหลายคน แต่เขาไม่เคยแพร่งพรายถึงวีรกรรมของเขาเลย แม้สงครามจะสิ้นสุดลง ก็มีไม่กี่คนที่รู้ว่าเขาเคยทำอะไรไว้ มีคนหนึ่งเอ่ยปากชมว่า เขาคือวีรชน แต่เขาปฏิเสธ เขาบอกว่า คนที่เป็นวีรชนที่แท้จริงคือ คนที่เจ็บปวดในจิตวิญญาณ ในหัวใจ ในดวงจิตเพื่อคนที่ตนรัก คนเหล่านี้คือวีรชนอย่างแท้จริง 'ผมเป็นเพียงแค่นักปั่นจักรยาน'

    บาร์ตาลีทำวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ แต่เขาไม่รู้สึกเลยว่าเขาทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ และไม่เคยคิดจะบอกเล่าป่าวประกาศถึงวีรกรรมดังกล่าว อาตมาเชื่อว่าใครที่ได้ฟังเรื่องราวของเขาย่อมรู้สึกประทับใจในตัวเขา ไม่ใช่ประทับใจในความกล้าและความเสียสละของเขาเท่านั้น แต่ยังประทับใจในความอ่อนน้อมถ่อมตนของเขาด้วย

    เรื่องราวของคนเหล่านี้สอนให้เรารู้ว่า มนุษย์ที่แท้เป็นผู้ที่มีน้ำใจ 'หัวใจเขาใหญ่' แต่ 'อัตตาเขาเล็ก' เขามีความสุขที่ได้ทำความดีแต่ไม่คิดโอ้อวด คนทั่วไปนั้น เวลาทำความดี มักอดไม่ได้ที่จะป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ หากไม่มีใครรู้จะรู้สึกเป็นทุกข์อัดอั้นตันใจ แต่บาร์ตาลีกลับไม่มีความรู้สึกแบบนี้เลย เพราะตัวตนเขาเล็กมาก

    การมีหัวใจใหญ่อัตตาเล็ก เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ทำให้เรามีความสุขและอยู่ในโลกนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศตนถึงความยิ่งใหญ่ของเรา

    ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เพื่อชี้ว่า ความรักที่ได้รับจากผู้อื่นช่วยให้ความเป็นมนุษย์ของเราเจริญงอกงามอย่างไรบ้าง แต่นอกเหนือจากการได้รับความรักแล้ว การให้ความรัก ความมีน้ำใจ การเสียสละต่อผู้อื่น ก็ช่วยพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเราให้สมบูรณ์ได้ด้วย

    คนที่อัตตาเล็กหัวใจใหญ่ย่อมพร้อมเสียสละชนิดที่กล้าเอาชีวิตเข้าแลก แต่อีกด้านหนึ่งการเสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็ช่วยทำให้อัตตาของเราเล็กลง หัวใจใหญ่ขึ้น และจิตใจงอกงาม การเสียสละ การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ไม่ได้เป็นประโชน์ต่อคนอื่นเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์แก่ตัวเราด้วย

    เด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 14 ชื่อน้องด้าย เป็นอาสาสมัครช่วยเด็กอ่อนบ้านปากเกร็ด ซึ่งมีเด็กถูกทิ้งตั้งแต่๓ เดือนถึง ๙ ขวบ บางคนพ่อแม่ไม่ได้ทิ้งแต่ไม่มีกำลังเลี้ยงก็มามอบให้บ้านปากเกร็ดดูแล ที่นั่นต้องการจิตอาสาหลายคน น้องด้ายก็ไปเป็นอาสาสมัคร หลังจากน้องด้ายไปเป็นอาสาสมัครพักใหญ่ แม่น้องด้ายก็พบกับความเปลี่ยนแปลงในตัวเธอคือ เธอนิ่ง สุขุม ใช้อารมณ์น้อยลง และรับฟังคนอื่นมากขึ้น รวมทั้งแม่ด้วย ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เกิดจากอะไร แต่เกิดจากการที่เธอได้ไปดูแลเด็ก

    เช่นเดียวกับชายวัย 30 ชื่อโป่ง เขาไปเป็นจิตอาสาบ้านปากเกร็ดเช่นเดียวกัน หลังจากไปดูแลเด็กไม่กี่เดือน เขาสังเกตว่าตัวเองใจเย็นขึ้น และยังส่งผลถึงคนอื่นด้วย เขาพบว่าการพูดจารื่นหูกับลูกน้องไม่ใช่เรื่องต้องฝืนอีกต่อไป เขาอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่า “เมื่อเราดูแลใส่ใจเด็ก เราจะอ่อนโยนไปเองโดยอัตโนมัติ ในขณะที่เราพยายามให้เขามีพัฒนาการที่ดี เขาก็ช่วยขัดเกลาให้เราอ่อนโยนในเวลาเดียวกันด้วย” นี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าความรักที่มอบให้กับผู้อื่นสามารถกลับมาขัดเกลาและพัฒนาจิตใจของเราได้...

    ...ความรักที่เรามีต่อผู้อื่นยังสามารถทำให้เราเอาชนะความโกรธเกลียดได้ แม้กระทั่งเมื่อต้องสูญเสียคนที่รัก....ความเมตตาความมีน้ำใจสามารถยกจิตยกใจของเราให้ออกจากความทุกข์และความเจ็บปวด อีกทั้งสามารถขัดเกลาจิตใจเราให้เจริญงอกงามได้...

    ความเมตตาทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราเจริญงอกงามขึ้นมาได้ จะเห็นว่าความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ต้องมีเมตตาหรือความรักเป็นพลังขับเคลื่อน เพราะความรักความเมตตาทำให้มนุษย์เรายอมลำบาก มีความพากเพียรพยายาม แม้จะต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก แต่เมื่อระลึกถึงประโยชน์ของสรรพสัตว์ก็ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค สามารถก้าวข้ามความลำบากได้ และเมื่อใดที่บรรลุถึงสัจธรรม พัฒนาตนจนถึงที่สุดแล้ว ก็จะหมดซึ่งความเห็นแก่ตัว ทำให้ความเมตตากรุณาแผ่กระจายอย่างไม่มีประมาณ เป็นความเมตตายิ่งกว่าเดิม เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนแล้ว

    ความเมตตากรุณาอย่างแท้จริงเกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลเจริญปัญญาอย่างถึงที่สุด จนเห็นว่าแท้จริงแล้วตัวตนไม่มีจริง ถึงตอนนั้นความเห็นแก่ตัวหรือความยึดมั่นถือมั่นก็หมดสิ้นไป สามารถที่จะเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ได้อย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณและไม่มีที่รักที่ชัง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า พระองค์ทรงมีเมตตาต่อพระราหุลอย่างไร ก็ทรงมีเมตตาต่อพระเทวทัตอย่างเดียวกัน ในใจของพระองค์ ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างพระเทวทัตที่มุ่งปองร้ายเอาชีวิตพระองค์ หรือพระราหุลซึ่งเป็นลูกชายของพระองค์เลย ถึงที่สุดแล้ว ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คือ การมีความรักอย่างไม่มีประมาณ เพราะมีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรมอันลึกซึ้ง

    กรุณาทำให้เราทำความดี ปัญญาทำให้เราเข้าถึงความจริง ทั้งความดีและความจริงทำให้เราเข้าถึงความสุข แม้พระพุทธองค์ทรงมีเมตตาอย่างไม่มีประมาณต่อทุกผู้คน แต่หากผู้คนเหล่านั้นยังมีความทุกข์อยู่ ก็ไม่สามารถทำให้พระองค์ทุกข์ตามไปด้วย เพราะเมตตาของพระองค์เป็นเมตตาที่ไม่ปรารถนาผล ทำเต็มที่ แต่หากว่าไม่สามารถช่วยได้ ใจก็เป็นอุเบกขา

    อย่างไรก็ตาม สำหรับพวกเราซึ่งเป็นปุถุชน การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นแม้เป็นอุดมคติ เข้าถึงได้ยาก แต่ก็ควรถือเป็นจุดหมายแห่งการดำเนินชีวิต เหมือนดาวเหนือที่เป็นสิ่งนำทางผู้เดินทางไกลในยามค่ำคืน การเป็นมนุษย์ที่แท้คือ การมีเมตตา มีปัญญา และสามารถเข้าถึงความสุขได้ มนุษย์ที่แท้คือ ผู้ที่จิตเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำด้วยโลกธรรมใดๆ
    :- https://visalo.org/article/budKwamrak.html
    . EndLineMoving.gif
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    bkkPost5501B.jpg
    พุทธศาสนาไทยในทศวรรษหน้า

    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อสิบกว่าปีก่อน มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ความสนใจปฏิบัติธรรมซึ่งกำลังแพร่หลายในหมู่ชนชั้นกลางเวลานั้นเป็นเพียงแฟชั่นหรือความนิยมชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แต่มาถึงวันนี้การปฏิบัติธรรมก็ยังได้รับได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังแพร่กระจายไปยังทุกแวดวงของชนชั้นกลาง เช่นเดียวกับความสนใจธรรมะในรูปแบบอื่น อาทิ การฟังธรรม การสวดมนต์ ในขณะที่หนังสือธรรมะกลายเป็นหนังสือขายดี มีหลายเล่มที่ติดอันดับ best seller ส่วนซีดีธรรมะและสื่อธรรมะอื่น ๆ ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน

    ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อได้ว่า ความตื่นตัวทางธรรมะในหมู่ชนชั้นกลาง ยังเป็นปรากฏการณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาไทยในทศวรรษหน้า การเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมยังคงได้รับความนิยมจนกลายเป็นรูปแบบหลักรูปแบบหนึ่งของการ “ปฏิบัติศาสนา” ในเมืองไทย หนังสือธรรมะยังคงเป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือไม่กี่ประเภทที่ยังเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง

    อย่างไรก็ตามแนวการปฏิบัติธรรมตลอดจนความเชื่อทางพุทธศาสนาจะมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่จำกัดตัวอยู่กับแนวทางแบบเถรวาทเท่านั้น หากยังได้รับอิทธิพลจากมหายานและวัชรยานด้วย แม้กระทั่งในฝ่ายเถรวาทเอง ก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น อันเป็นผลจากการตีความและการเน้นหนักที่แตกต่างกันไป มีทั้งที่เน้นการถือศีลอย่างเคร่งครัด การทำสมาธิแนวสมถะ การเจริญวิปัสสนา การเจริญสติ การสวดมนต์หรือการทำบุญตามประเพณี แม้กระทั่งการทำสมาธิภาวนาทั้งสมถะและวิปัสสนา ก็ยังแยกออกเป็นแนวทางต่าง ๆ อีกมากมาย

    ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นควบคู่กับการเติบใหญ่ของพุทธศาสนาแบบฆราวาส คือการที่ฆราวาสมีบทบาทมากขึ้นในทางศาสนา รวมถึงการเกิดพุทธศาสนาแบบใหม่ที่มีฆราวาสเป็นแกน แทนที่จะเป็นพระสงฆ์ ดังที่มีกลุ่มฆราวาสจัดอบรมปฏิบัติธรรมกันเองในสถานที่ที่ไม่ใช่วัด โดยมีฆราวาสเป็นผู้นำการปฏิบัติ แม้กระทั่งการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ก็จะมีกลุ่มฆราวาสจำนวนมากขึ้นที่ทำกันเองหรือมีฆราวาสเป็นผู้นำ

    มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ประการแรกได้แก่ ความทุกข์ที่รุมเร้า ชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยประสบความสำเร็จในด้านอาชีพการงาน แต่พบว่าความสุขไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย กลับมีความทุกข์มากขึ้น ทั้งจากอาชีพการงานและจากความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ย่ำแย่ลง โดยที่เงินก็ไม่สามารถบรรเทาความทุกข์นี้ได้ จึงหันเข้าหาธรรมะ

    มีคนจำนวนมากที่เอาธรรมะเป็นที่พึ่งทางใจ หลังจากที่ประสบความล้มเหลวในอาชีพการงานหรือประสบเหตุร้ายในชีวิต เช่น เป็นโรคมะเร็ง หรือสูญเสียคนรัก วิกฤตเศรษฐกิจปี ๔๐ ได้ผลักดันให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาปฏิบัติธรรม แต่ถึงแม้ในอนาคตอาจจะไม่มีวิกฤตเช่นนั้นอีก แต่ระบบเศรษฐกิจสังคมปัจจุบันที่เน้นการแข่งขัน ก็ย่อมส่งผลให้มีคนจำนวนมากกลายเป็นผู้ล้มเหลว ต้องการการเยียวยาทางใจ ยิ่งทศวรรษหน้านอกจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสังคม(และการเมือง)แล้ว ความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้คนหวาดวิตกมีความทุกข์มากขึ้น จนเป็นธรรมดาที่จะเข้าหาธรรมะหรือศาสนาเพื่อความมั่นคงทางใจมากขึ้น

    ประการที่สอง ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่ถูกเร่งเร้าด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการไหลบ่าของวัฒนธรรมตะวันตก ที่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมไทย ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยโหยหาวัฒนธรรมไทยที่คุ้นเคยในอดีต(หรือที่สร้างภาพเอาไว้) หรือไม่ก็ปรารถนาที่จะตอกย้ำความเป็นไทยของตน จึงหันมาสนใจพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรม เพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์แห่งความเป็นไทยให้แก่ตนเอง

    ประการที่สาม ความหลากหลายทางสังคมเศรษฐกิจอันเนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดการแตกตัวทางสังคมอย่างกว้างขวาง ผู้คนไม่เพียงมีอาชีพและวิถีชีวิตที่หลากหลายเท่านั้น หากยังมีรสนิยมและความต้องการที่แตกต่างกันด้วย คนเหล่านี้เมื่อหันมาสนใจพุทธศาสนา ไม่เพียงเลือกรับเอาเฉพาะความเชื่อและแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับจริตของตนเท่านั้น หากยังปรับเปลี่ยนการปฏิบัติและความเชื่อให้ตอบสนองความต้องการของตนเอง รวมทั้งเอาความเชื่อกระแสอื่นมาผสมผสานด้วย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าพุทธศาสนาที่ผู้คนนับถือและปฏิบัติในทศวรรษหน้าจะมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม

    ประการที่สี่ ก็คือ อิทธิพลที่ลดน้อยถอยลงของคณะสงฆ์ นอกจากพระสงฆ์จะจำกัดบทบาททางศาสนาของตนเองจนเหลือแต่พิธีกรรม โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมและชีวิตของฆราวาสน้อยลงแล้ว ความประพฤติที่ไม่น่าเลื่อมใสศรัทธาได้ปรากฏต่อสายตาหรือการรับรู้ของผู้คนมากขึ้น ในขณะที่ผู้นำสงฆ์ก็ไม่สามารถดึงศรัทธาที่ตกไปให้กลับคืนมาได้ ฆราวาสชนชั้นกลางที่สนใจพุทธศาสนาจึงหันไปพึ่งพากันเองมากขึ้น ประกอบกับโอกาสในการศึกษาพุทธศาสนาด้วยตนเองมีมากขึ้น อาทิ พระไตรปิฎกและคัมภีร์สำคัญ ๆ หาอ่านได้ง่ายขึ้น หนังสือ ซีดี เว็บไซต์ และรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับธรรมะ มีมากขึ้น เช่นเดียวกับชั้นเรียนหรือคอร์สปฏิบัติธรรมที่มีฆราวาสเป็นผู้สอน

    แม้ว่าการปฏิบัติธรรมและความสนใจธรรมะในหมู่ชนชั้นกลางจะยังต่อเนื่องหรือเพิ่มขึ้นในทศวรรษหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพุทธศาสนาไทยจะเจริญงอกงามตามไปด้วย เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวจะยังคงเกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความตกต่ำทางด้านจริยธรรมของคนในสังคม ไม่ว่า ปัญหาอาชญากรรม ทั้งฆ่า ลักขโมย ข่มขืน คอร์รัปชั่น ความรุนแรงในครอบครัว การทอดทิ้งทารก เด็กและคนแก่ รวมทั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมและการเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกัน ทั้งหมดนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความล้มเหลวของการปลูกฝังจริยธรรมเท่านั้น หากยังชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลที่ถดถอยของพุทธศาสนาเมื่อมองในภาพรวมของทั้งประเทศ

    อันที่จริง แม้กระทั่งในหมู่ผู้ที่สนใจพุทธศาสนา ก็มีแนวโน้มว่าการปฏิบัติธรรมหรือการนับถือศาสนาจะมีลักษณะปัจเจกนิยมมาก คือ มุ่งตอบสนองประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง โดยไม่สนใจสังคมหรือผู้อื่นเลย หลายคนเข้าหาพุทธศาสนาเพื่อลดความเครียด หรือเพื่อความสงบในจิตใจ จึงไม่สนใจที่จะช่วยเหลืองานส่วนรวมหรือเกื้อกูลผู้อื่น เพราะกลัวว่าจะทำให้จิตใจไม่สงบ จำนวนไม่น้อยเอาจริงเอาจังกับการทำบุญกับพระ เพราะต้องการสะสมบุญเพื่อความมั่งมีศรีสุขในชาตินี้ หรือเพื่อความสุขในชาติหน้า แต่กลับละเลยคนที่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะเข้าใจว่าช่วยคนเหล่านั้นได้บุญน้อยกว่าพระ ยิ่งระยะหลังมีความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมอย่างผิด ๆ เช่น เข้าใจว่า หากเราไปช่วยเหลือคนใกล้ตายให้มีชีวิตรอด จะทำให้เจ้ากรรมนายเวรของคนนั้นมาทำร้ายเราแทน หรือมีความคิดว่า การอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้อื่น จะทำให้บุญของเราลดลง ความคิดความเชื่อดังกล่าวสวนทางกับคำสอนทางพุทธศาสนา แต่นับวันจะแพร่หลายมากขึ้น และเชื่อว่าจะเป็นที่นิยมมากขึ้นในทศวรรษหน้าด้วยเหตุผลที่จะได้กล่าวต่อไป

    การนับถือพุทธศาสนาแบบปัจเจกนิยม ส่วนหนึ่งเกิดจากการสอนพุทธศาสนาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิรูปพุทธศาสนาเมื่อร้อยปีก่อน ทำให้มิติทางสังคมของพุทธศาสนาถูกละเลยไป การนับถือพุทธศาสนาหันมาเน้นที่การปฏิบัติเฉพาะตนเท่านั้น (การทำดีกับผู้อื่น หรือการช่วยเหลือส่วนรวมเป็นเรื่องรองและถูกมองข้ามไป) ยิ่งในระยะหลังทัศนคติแบบปัจเจกนิยมแพร่หลายในสังคมไทยมากขึ้น ผ่านระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและลัทธิบริโภคนิยม ผู้คนจึงคิดแต่ประโยชน์ส่วนตน เอาความต้องการของตนเป็นใหญ่ เมื่อหันมาปฏิบัติธรรม จึงกลายเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขเฉพาะตนในระดับพื้นผิว โดยไม่คิดที่จะปฏิบัติเพื่อลดละกิเลสตัณหาหรือลดความยึดมั่นในอัตตาอย่างแท้จริง การมีน้ำใจช่วยเหลือส่วนรวมหรือผู้อื่นจึงขาดหายไป และนี้คือเหตุผลข้อหนึ่งที่ว่า ทำไมคนไทยปฏิบัติธรรมกันมากขึ้นแต่ปัญหาสังคมไม่ได้ลดลง

    ในทำนองเดียวกัน เมื่อการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อการรู้เท่าทันตนเองจนเห็นลึกไปถึงความยึดติดถือมั่นในตัวตน ดังนั้นจึงง่ายที่จะหลงติดในความดีหรือภาพลักษณ์แห่งความเป็นคนดีของตน ทิฐิมานะจึงเฟื่องฟูมากขึ้น ผลก็คือ ใครที่คิดหรือปฏิบัติต่างจากตน จึงมักถูกมองด้วยสายตาที่เป็นลบ หรือถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่ดี นี้เป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยจึงสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ การปฏิบัติธรรมที่แพร่หลายมากขึ้นจึงไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงในสังคมไทยในทศวรรษหน้าจะลดลง
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    พุทธศาสนาที่นิยมปฏิบัติในทศวรรษหน้า ยังมีลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นคำสอนและแนวปฏิบัติที่กระชับ เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ไม่ยาก และให้ความมั่นใจว่าจะได้ผลเร็ว ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากวิถีชีวิตและจิตนิสัย (mentality)ของคนสมัยใหม่ที่นิยมความรวดเร็ว เน้นความสะดวก และหวังผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม คำสอนที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ซับซ้อนของโลกสมัยใหม่ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ(จนกลายเป็นตื้นเขิน) และไม่เรียกร้องการเสียสละหรือความยากลำบากจากผู้นับถือมากนัก เช่น เพียงแค่บริจาคเงิน หรือทำใจให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือลดละความเห็นแก่ตัว จะเป็นที่นิยมมาก คำสอนเหล่านี้จะมีลักษณะคล้ายกันอย่างหนึ่งคือตอบสนอง (หรือให้ความหวังว่าจะตอบสนอง)ความต้องการแบบโลก ๆ เช่น ความร่ำรวย สถานภาพและเกียรติยศ (ดังมีสำนักหนึ่ง ดึงดูดใจผู้คนด้วยคำขวัญว่า “รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง”) ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความแพร่หลายของลัทธิบริโภคนิยม ที่ไม่เพียงทำให้ศาสนาและธรรมะมีลักษณะเป็นสินค้าที่บริโภคง่ายหาซื้อสะดวกแล้ว ยังหล่อหลอมทัศนคติของผู้คนจนเห็นเงินเป็นอุปกรณ์สำคัญในการบรรลุความสุขและความสำเร็จทางโลก

    ควบคู่กับปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ ความเฟื่องฟูของพุทธพาณิชย์ (หรือที่ถูกคือ “ไสยพาณิชย์”) อันได้แก่การขยายตัวของตลาดวัตถุมงคลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งให้ความหวังว่าจะนำมาซึ่งโชคลาภได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ความพากเพียรพยายาม สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จะมาทั้งในรูปของพุทธศาสนาและลัทธิอื่น ๆ หรือปะปนกันจนแยกไม่ออกว่า อะไรคือพุทธ อะไรคือผี อะไรคือพราหมณ์ แม้ “จตุคามรามเทพ”จะเสื่อมความนิยมไปแล้ว แต่ทศวรรษหน้าก็จะยังมีสินค้าตัวใหม่ออกมาเพื่อสร้างความหวังแก่ผู้คนในยามที่ต้องการสิ่งปลอบประโลมใจท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอนของโลกและชีวิต การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จะยังคงเป็นกระแสหลักที่สะท้อนถึงความเข้าใจและการนับถือพุทธศาสนาของคนส่วนใหญ่

    แม้ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้รู้ด้านพุทธศาสนาที่มองว่า เป็นการสวนทางกับคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่คงยากที่จะเห็นคณะสงฆ์ดำเนินการใด ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะทุกวันนี้คณะสงฆ์อ่อนแอลงมาก และจะอ่อนแอยิ่งกว่านี้ในทศวรรษหน้า เพราะนอกจากจำนวนพระภิกษุสามเณรจะลดน้อยถอยลงอย่างน่าเป็นห่วงแล้ว ความรู้ความเข้าใจในด้านพุทธศาสนาของพระเณรก็มีแนวโน้มว่าจะเสื่อมถอยลง อันเป็นผลจากความล้มเหลวของการศึกษาของคณะสงฆ์ที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเลย ใช่แต่เท่านั้นการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์โดยส่วนรวมก็ไม่สามารถสร้างศรัทธาให้เกิดแก่ญาติโยมได้ เพราะท่านเองก็ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของบริโภคนิยมมิใช่น้อย จึงไม่สามารถเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและสติปัญญาให้แก่สังคมไทยได้ มิหนำซ้ำยังมีส่วนส่งเสริมให้เกิดไสยพาณิชย์มากขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่องค์กรปกครองคณะสงฆ์ คือ มหาเถรสมาคม มีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยอย่างที่เป็นมาแล้วในอดีต อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดมากขึ้นอันเนื่องจากการสูญเสียภาวะผู้นำของมหาเถรสมาคมก็คือ การเกิดสำนัก และ “ลัทธิพิธี”ต่าง ๆ มากมายในคณะสงฆ์ ซึ่งมีการสอนและการปฏิบัติอย่างเป็นอิสระ แตกต่างกันไปคนละทิศละทาง แม้จะขัดกับคำสอนในพุทธศาสนา มหาเถรสมาคมก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ยังไม่ต้องพูดถึงการใช้เส้นสายมากมายในองค์กรปกครองสงฆ์ทุกระดับ ซึ่งซ้ำเติมให้คณะสงฆ์ซวดเซเรรวน ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของญาติโยมได้ ในภาวะเช่นนี้สำนักที่จะมีบทบาทอย่างมากในทศวรรษหน้า ก็คือ สำนักวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีการจัดองค์กรที่เข้มแข็ง มีพระในสังกัดถึง ๓,๐๐๐ รูป ซึ่งผ่านการฝึกฝนอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังมีเงินทุนมหาศาลและเครือข่ายทั่วประเทศทั้งในฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำหลายท่านในมหาเถรสมาคม อิทธิพลทั้งในระดับบน ระดับกลาง และระดับรากหญ้า ของสำนักวัดพระธรรมกาย รวมทั้งการมีสื่อทันสมัยในมือ จะมีผลอย่างมากต่อความคิดความเชื่อและการปฏิบัติของชาวพุทธจำนวนไม่น้อยในทศวรรษหน้า

    ประการสุดท้ายที่ควรกล่าวถึง ก็คือ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิง ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงมีบทบาทในวงการพุทธศาสนามากขึ้น มิใช่ในฐานะผู้อุปถัมภ์พระสงฆ์เท่านั้น หากยังเป็นกำลังสำคัญในแวดวงผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมฝ่ายฆราวาส ทำให้พุทธศาสนายังปรากฏเป็นรูปธรรมในวิถีชีวิตของผู้คนและสังคมสมัยใหม่ ผลสืบเนื่องประการหนึ่งก็คือ การเกิดภิกษุณีและสามเณรีในเมืองไทยเมื่อทศวรรษที่แล้ว แม้ไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์และชาวพุทธจำนวนไม่น้อย แต่เชื่อว่าทศวรรษหน้าจำนวนภิกษุณีจะเพิ่มขึ้น โดยที่คณะสงฆ์ยากที่จะสกัดกั้นได้ และถึงจะพยายามขัดขวางเท่าไร ก็ยากที่จะได้รับความสนับสนุนอย่างเป็นกอบเป็นกำจากชาวพุทธ แม้ว่าภิกษุณีในทศวรรษหน้าคงจะมีไม่มากพอที่จะสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ปกครองสงฆ์ เนื่องจากยังไม่มีองค์กรภิกษุณีที่เข้มแข็งเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ก็จะเป็นทางเลือกให้แก่ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย

    อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภิกษุณีจะเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญในทศวรรษหน้า เช่นเดียวกับประเด็นเรื่อง “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ซึ่งสืบเนื่องมาจากความเสื่อมทรุดของพุทธศาสนาในเมืองไทย อันมีรากเหง้าอยู่ที่ความอ่อนแอภายในของวงการชาวพุทธเอง แต่ถูกมองว่าเกิดจากภัยคุกคามของศาสนาอื่นและความปล่อยปละละเลยของรัฐบาล
    :- https://visalo.org/article/budNextDecade.htm
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เปิดดูไฟล์ 6414337
    เข้าพรรษา เข้าหาธรรม

    พระไพศาล วิสาโล
    ช่วงเข้าพรรษาควรเป็นเวลาและโอกาสที่เราจะเข้าหาธรรมะอย่างจริงจัง ใครที่มีธรรมะรักษาจิตใจอยู่แล้วก็ควรใช้โอกาสนี้พาจิตพาใจเข้าหาธรรมให้เข้มข้นและจริงจังมากขึ้น ส่วนใครที่ห่างไกลจากธรรมะก็ควรให้โอกาสแก่ตัวเองได้สัมผัสกับธรรมะในช่วงสามเดือนนี้ เพราะว่าธรรมะนั้นช่วยให้จิตใจของเราเป็นสุข ผ่อนคลาย โปร่งเบา ชีวิตของเราแต่ละวัน ๆ ไม่ควรเป็นไปเพื่อมีเงินมีทอง หรือมีอำนาจ บริษัทบริวารเท่านั้น แต่เราควรมีชีวิตเพื่อการพบความสุขภายใน มีจิตใจที่โปร่งเบา และช่วงเวลาเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่เราควรพบความสุขแบบนี้


    หลายคนตั้งใจว่า วันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชาจะเข้าวัดเพื่อฟังธรรม ทำบุญ อันนั้นก็ดีอยู่ แต่เราควรทำมากกว่านั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ชีวิตจิตใจของเราได้รับการอาบรดด้วยน้ำแห่งธรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งสามเดือน หรือตลอดพรรษานี้ เช่น การรักษาศีลให้มั่นคง ใครที่ศีล ๕ ยังไม่หนักแน่นมั่นคง ก็ขอให้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕

    อธิษฐานไม่ได้แปลว่าขอ แต่หมายถึงการตั้งจิตแน่วแน่ที่จะทำสิ่งดีงาม ถ้าเราตั้งจิตอธิษฐานแบบนี้เราก็จะสามารถรักษาศีลได้อย่างต่อเนื่องตลอดสามเดือน โดยเฉพาะคนที่ติดอบายมุข ร่างกายถูกอบายมุข โดยเฉพาะสุรา ยาเสพติดหรือแม้แต่บุหรี่กัดกร่อนบั่นทอนทำให้อายุสั้นลง เราควรรักร่างกายของเรา ดูแลร่างกายของเราด้วยการละ เลิก อบายมุขเหล่านี้ สิ่งนี้จะเป็นของขวัญที่เราสามารถจะมอบให้แก่ชีวิตเราได้

    ส่วนคนที่รักษาศีล ๕ ได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ควรใช้เวลาช่วงนี้ ทำสิ่งดีๆ ให้มากกว่าเดิม บางคนรักษาศีล ๕ ได้ดีแล้วแต่ว่าติดอบายมุขแบบใหม่ เช่น ชอบเที่ยวห้าง ติดเกมส์ออนไลน์ หรือติดกาแฟ หรือแม้กระทั่งติดนิสัยไม่ดีบางอย่างเช่น ชอบนินทา ชอบบ่น ชอบจู้จี้ หลายคนก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่ก็เลิกไม่ได้ ที่จริงเลิกได้ถ้าตั้งใจ จึงควรใช้ช่วงเข้าพรรษานี้ตั้งจิตมุ่งมั่นว่า สามเดือนนี้ฉันจะเลิกให้ได้ หรือเกี่ยวข้องกับมันให้น้อยลง

    หลายคนติดเกมส์ หลายคนติดอินเตอร์เน็ต หลายคนติดละครโทรทัศน์ ติดละครเกาหลีจนไม่เป็นอันหลับอันนอน ไม่มีเวลาจะพักผ่อน ก็ควรตั้งจิตว่าในพรรษานี้จะเลิกให้ได้ ใหม่ๆ อาจจะยาก แต่ว่าไม่นานก็จะทำได้ และรู้สึกว่ามันสบาย

    นอกจากการละเลิกสิ่งไม่ดีแล้ว บางคนอาจจะตั้งใจทำความดีให้มากขึ้น เช่นตั้งใจว่าจะสมาทานมังสวิรัติ หรือถือศีล ๘ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา เป็นการเสริมสร้างจิตใจให้เข้มแข็ง และเป็นการบำรุงสุขภาพด้วย

    มีหลายอย่างที่เราสามารถจะทำได้ในช่วงเข้าพรรษาเพื่อทำให้ชีวิตจิตใจโปร่งเบา เช่น บางคนอาจจะตั้งจิตว่า ก่อนนอนทุกคืนตลอดพรรษานี้จะสวดมนต์ บางวันแม้จะเหนื่อย แม้จะกลับบ้านดึกก็จะไม่ทิ้งการสวดมนต์ แต่แทนที่จะสวดยาว สวดสั้นก็ได้แต่ขอให้สวดอย่างที่ตั้งใจ บางคนอาจจะเลือกนั่งสมาธิก่อนนอน อย่างน้อยวันละ ๕ นาทีก็ยังดี หรือว่าถ้าสามารถทำเมื่อตื่นนอนได้ด้วยก็ยิ่งดี

    เราสามารถทำอะไรดีๆ ได้ตั้งหลายอย่างในช่วงเขาพรรษาตลอดสามเดือนนี้ ก็เพื่อให้เราได้เข้าใกล้ธรรมะมากขึ้น เป็นการเติมความสุขให้แก่จิตใจของเรา เปิดโอกาสให้ชีวิตของเรา ซึ่งปกติแล้วก็วุ่นวายกับภารกิจการงาน การทำมาหากิน หรือบางทีก็ถูกสิ่งยั่วยุดึงดูดกระตุ้นเร้าจิตใจจนกระทั่งหาความสงบไม่ได้ แต่ถ้าเราใช้โอกาสนี้สร้างสิ่งดีๆ ให้กับชีวิตของเราเอง เราก็จะพบกับความสงบมากขึ้น เราลองพิจารณาดูนะว่า ที่ผ่านมามีนิสัยอะไรบ้างที่ทำความกังวล ทำความหนักใจให้เรา ไม่ว่าจะเป็นการติดเที่ยว ติดสนุก ติดอบายมุข ติดสุรา หรือว่า ติดความบันเทิงเริงรมย์ ในส่วนลึกของจิตใจเราก็รู้ว่ามันสร้างภาระให้แก่จิตใจ บางทีก็บั่นทอนร่างกาย แต่เราก็ไม่มีกำลังที่จะเลิก เราก็ต้องอาศัยช่วงโอกาสสำคัญ เช่นวันพระ หรือช่วงเข้าพรรษานี้แหละ สามเดือนเป็นโอกาสที่เราจะได้พักผ่อนทั้งกายและใจได้ เรายังทำงานอยู่แต่เราไม่ใช้ร่างกายไปในทางที่บั่นทอน คือเพียงแต่เราไม่ติดอบายมุข ไม่ว่าจะเป็นเหล้า การพนัน ความบันเทิงเริงรมย์ หรืออบายมุขแบบใหม่ เช่น เกมส์ออนไลน์ การเที่ยวห้าง ถ้าเราสามารถที่จะลด ละ หรือเลิกสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะพบกับความสบาย เราเสียเวลาไปกับสิ่งเหล่านี้มากมาย มันบั่นทอนทั้งร่างกาย และจิตใจและถ้าเราไม่รู้จักควบคุมมัน ต่อไปเราก็จะกลายเป็นทาสของมัน

    ที่ประเทศเกาหลีใต้ มีผู้ชายคนหนึ่งติดเกมส์ออนไลน์มาก จนกระทั่งไม่เป็นอันทำงาน สุดท้ายก็โดนไล่ออกจากงาน แทนที่จะเสียใจกลับดีใจว่าต่อไปนี้ฉันจะได้เล่นเกมส์ออนไลน์โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการเรื่องงาน ทันทีที่ถูกไล่ออกจากงาน เขาก็หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมส์ออนไลน์ทั้งวันและทั้งคืนไม่ได้หลับไม่ได้นอน เขาติดมันมากจนถอนใจไม่ออก ปรากฏว่าเล่นเกมส์ออนไลน์ไป ๔๘ ชั่วโมงโดยไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย ในที่สุดก็หัวใจวาย ช็อคตายอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ นี่เรียกว่าเป็นเพราะตกเป็นทาสของมัน ไปหลงคิดว่ามันเป็นสรณะ

    มีครอบครัวชาวเกาหลีใต้อีกครอบครัวหนึ่ง ถูกจับศาลลงโทษจำคุก ๓ ปี เพราะว่าทิ้งลูกอายุ ๓ เดือนให้อดอาหารตายเนื่องจากสามีภรรยาคู่นี้ติดเกมส์ออนไลน์ ไปเล่นที่ร้านอินเตอร์เน็ตนอกบ้าน ซึ่งมีเครื่องเล่นดีกว่าที่บ้าน ติดเกมส์จนกระทั่งนอกจากจะไม่เป็นอันทำงานแล้ว ยังไม่สนใจเลี้ยงดูลูกน้อย กว่าจะกลับถึงบ้านลูกก็หลับแล้ว ให้นมลูกเป็นครั้งเป็นคราว จนลูกขาดอาหารตายเพราะพ่อแม่ไม่ใส่ใจ ที่น่าแปลกใจก็คือเกมส์ที่สามีภรรยาคู่นี้เล่นเป็นเกมส์ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กสาวที่กำลังลำบาก สามีภรรยาคู่นี้ห่วงใยตัวละครในจินตนาการที่กำลังเดือดร้อน อยากช่วยเหลือเขา แต่กลับละเลยลูกสาวของตัวเอง เป็นเพราะอะไร เพราะหลงอยู่ในอบายมุข ถ้าเราไม่รู้จักเป็นนายมัน มันก็จะมาเป็นนายของเรา เราก็ตกเป็นทาสของมันจนกระทั่งเราเองก็แย่ สุขภาพก็ไม่ดี และทำให้คนที่รักต้องมีอันเป็นไป

    นี่คือโทษของอบายมุข ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสุราซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว นั่นเป็นอบายมุขแบบเก่า อบายมุขแบบใหม่นั้นมีอยู่มากมาย เพราะฉะนั้นในช่วงเข้าพรรษา อย่างหนึ่งที่เราควรใส่ใจคือการรักษาศีลให้ดี ศีลในข้อนี้หมายถึงการมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นโทษ รู้จักเสพหรือบริโภคสิ่งต่างๆ ที่ไม่เป็นอันตรายทั้งต่อกายและใจ โดยเฉพาะถ้าเราไม่ไปข้องแวะกับอบายมุขทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ก็จะยิ่งดี

    มีศีลแล้วก็อย่าลืมทาน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เข้าพรรษานี้อาจจะตั้งใจว่า ทุกวันพระเราจะทำบุญ ไม่จำเป็นต้องทำบุญกับพระก็ได้ ทำบุญให้ทานเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนก็ได้ ตั้งใจจะทำอาทิตย์ละครั้งคือวันพระ ตลอดพรรษาหรือว่าการไปช่วยเหลือกิจการส่วนรวม เป็นจิตอาสาอาทิตย์ละครั้ง อาจจะเป็นช่วงวันเสาร์อาทิตย์ก็ได้

    ศีลก็ควรทำ ทานก็ควรทำ และที่ควรทำอีกอย่างก็คือภาวนา สวดมนต์ทุกวัน ทำสมาธิภาวนาทุกวัน ก่อนนอนและหลังตื่นนอน ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาสติ มีสติทุกอิริยาบถในชีวิตประจำวันเท่าที่เราจะทำได้ แต่ถ้าให้ดี ควรจัดเวลาให้กับการเจริญสติทุกวัน เช่น วันละครึ่งชั่วโมง

    นอกจากนี้ ถ้าเรามีนิสัยบางอย่างที่ไม่ดีเช่นชอบจู้จี้ขี้บ่นหรือเป็นคนช่างโกรธ ก็ควรตั้งกติกาให้กับตัวเองในช่วงเข้าพรรษา เช่นตั้งใจว่า ในพรรษานี้ฉันจะหยุดบ่น หยุดวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นสักสามเดือน หรือถ้าวิจารณ์ใครก็จะชมเขาด้วย อันนี้ก็เป็นการฝึกใจของเราด้วย เพราะคนที่จู้จี้ขี้บ่นมักมองเห็นแต่ข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของคนอื่น ถ้าหากว่าเราเห็นแต่แง่นี้ เราก็จะทุกข์มากเลย คนอื่นก็จะทุกข์ด้วย แต่ถ้าหัดมองในแง่บวกบ้าง เราก็จะเห็นว่าเขามีข้อดีที่ควรชมอย่างไร อันนี้ก็ช่วยทำให้นิสัยจู้จี้ขี้บ่นลดลง และเราก็จะมองอะไรในแง่บวกมากขึ้น คนเราถ้าเอาแต่ตำหนิ เอาแต่บ่น ชีวิตจะเป็นทุกข์มาก ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างก็จะแย่ไปด้วย

    ส่วนบางคนก็เป็นคนขี้โกรธ ก็อาจจะตั้งกฎกติกาสำหรับตัวเองว่า วันหนึ่งจะโกรธได้แค่ครั้งหรือสองครั้งอย่างมาก จริงอยู่คนเรามักจะห้ามความโกรธไม่ได้ ก็ควรจะตั้งกติกาให้กับตัวเองว่า จะโกรธได้วันละกี่ครั้ง หรือตั้งกติกาว่าจะไม่โกรธเกลียดข้ามคืน โกรธวันไหนก็ให้จบลงในวันนั้น วันรุ่งขึ้นตื่นมาจิตใจก็จะแจ่มใสแช่มชื่นเบิกบาน

    บางคนเป็นคนนอนดึกตื่นสาย ก็อาจจะตั้งกติกาหรือตั้งอธิษฐานกับตัวเองว่า จะนอนให้เร็วขึ้น และจะตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ถ้าคนเราตื่นขึ้นมาได้เห็นแสงเงินแสงทอง ร่างกายและจิตใจจะกระชุ่มกระชวย หลายคนไม่เคยเห็นท้องฟ้าในช่วงอรุณรุ่งว่างามอย่างไร ช่วงเข้าพรรษานี้เราควรให้โอกาสแก่ตัวเอง ตื่นขึ้นมาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ก่อนที่นกจะทำมาหากิน เราก็จะได้เห็นแสงเงินแสงทอง มันจะช่วยปลุกใจของเราให้สว่างไสวตามไปด้วย ช่วยให้มีชีวิตชีวาและกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่างๆ อีกมากมาย

    จะเห็นว่าในช่วงเข้าพรรษานี้ เราสามารถทำอะไรได้มากมาย ที่อาจจะรู้สึกว่าทำได้ยากในช่วงเวลาปกติ สมัยที่อาตมาเป็นฆราวาส อยากจะอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “พุทธธรรม” ของพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ให้จบทั้งเล่ม แต่ก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าจะทำได้เพราะหนังสือเล่มนี้หนามากกว่าพันหน้า ไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนมาอ่าน แต่ว่าพอถึงวันเข้าพรรษาปีหนึ่งก็ตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ทุกวันวันละ ๑๐ หน้า จะต้องอ่านทุกวันไม่ว่าจะกลับบ้านดึกแค่ไหน บางวันไปต่างจังหวัดหรือไปค้างที่อื่นก็ต้องอ่านตุนเอาไว้ จาก ๑๐ หน้าก็เป็น ๒๐ หน้า ปรากฏว่าไม่ทันถึงวันออกพรรษาก็อ่านได้จบ เกิดความรู้ เกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก และรวมทั้งเกิดความมั่นใจในอานุภาพแห่งธรรมด้วย

    อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทุกท่านสามารถทำได้ในช่วงเข้าพรรษา เราไม่จำเป็นต้องทำตามประเพณี เช่นจำศีลที่วัดก็ได้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้หาโอกาสยาก แต่เราสามารถทำบุญหรือทำความดีที่บ้านได้ อย่าให้มีข้ออ้างว่าเราไปวัดไม่ได้ ก็เลยทำบุญไม่ได้ อันนี้บางทีมันเป็นข้ออ้างของกิเลส กิเลสจะหาข้ออ้างอีกหลายอย่างที่ทำให้เราไม่ทำความดี แต่ช่วงเข้าพรรษานี้เป็นโอกาสที่เราจะเพิ่มพลังฝ่ายบวก ฝ่ายกุศลในใจของเรา จิตใจส่วนลึกของเราต้องการทำความดี แต่ว่ามักพ่ายแพ้ต่อกิเลสเพราะกิเลสมีข้ออ้างที่ดีๆ ทำให้เราละทิ้งธรรมะ เข้าหาสิ่งที่ไม่เป็นกุศล แต่ตอนนี้เป็นช่วงเข้าพรรษา ควรถือเป็นโอกาสให้กับธรรมะในใจเรา เป็นข้ออ้างให้กับพลังฝ่ายดีใในการทำความดี ก็ขอให้เราสนองตอบความปรารถนาของธรรมะในใจเรา เพื่อจะได้ทำความดีให้มากขึ้น ในที่สุดเราจะได้รับความสุข ความโปร่งโล่งแจ่มใสเบิกบานเป็นรางวัล รวมทั้งอาจทำให้เราทำงานสำเร็จ ได้รับสิ่งต่างๆ ที่ควรได้ แต่นั่นก็เป็นของแถมไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน คำยกย่อง หรือว่าชื่อเสียง สิ่งเหล่านั้นเป็นรางวัลที่หาความแน่นอนไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ คือ ใจเราจะเป็นสุข จิตใจเราจะเป็นอิสระจากความทุกข์ ห่างไกลจากความเศร้าหมอง และเราก็จะขอบคุณตัวเองว่า เราตัดสินใจถูกต้องแล้วที่เข้าหาธรรมในช่วงเข้าพรรษา

    สุดท้ายนี้ก็ขอให้ทุกท่านมีความมั่นคง มั่นใจในการทำความดี ไม่ว่าเป็นทาน ศีล ภาวนา ในช่วงเข้าพรรษานี้ เลือกทำดีไม่กี่อย่างก็พอ แต่ขอให้ทำทุกวัน ดีกว่าอยากจะทำหลายอย่างแต่ว่าไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ขอให้ตั้งใจว่าจะทำทุกวัน ตลอดเข้าพรรษา อาตมาเชื่อแน่ว่า ทุกท่านจะได้รับอานิสงส์แห่งบุญนี้ ไม่ใช่แค่ตลอดในพรรษา แต่อาจจะมีอานิสงส์ไปจนตลอดชีวิตเลยก็ได้
    :- https://visalo.org/article/budrabiengBoon.htm


     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ฉลาดทำบุญเข้าพรรษา
    พระไพศาล วิสาโล

    เข้าพรรษาเวียนมาอีกครา ยามนี้ฟ้าดินราวกับจะเป็นใจ สายฝนโปรยปราย แมกไม้เขียวขจี ส่วนข้าวกล้าก็เติบใหญ่ ธรรมชาติทุกหนแห่งงอกงามพร้อมพรั่ง ราวกับจะเรียกร้องเชิญชวนให้ธรรมชาติภายในของเราเจริญงอกงามไปด้วยกัน


    ข้าวงอกงามเพราะฝนฉันใด จิตใจก็งดงามเพราะบุญฉันนั้น มิใช่เรื่องบังเอิญที่เทศกาลเข้าพรรษาเวียนมาในฤดูฝน ฤดูฝนสำหรับชาวพุทธ จึงมิใช่แค่ฤดูกาลสำหรับการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารเท่านั้น หากยังหมายถึงเทศกาลสำหรับการบ่มเพาะชีวิตจิตใจให้งอกงามด้วย

    เข้าพรรษามิได้หมายถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ เพียงวันเดียวเท่านั้น หากยังหมายถึงช่วง ๓ เดือนถัดจากนั้น ๓ เดือนนี้แหละที่ชาวพุทธทุกหนแห่งถือเป็นเทศกาลแห่งการทำบุญสร้างกุศล แต่ไหนแต่ไรมา พระสงฆ์องค์เจ้ามักใช้เวลาตลอด ๓ เดือนนี้บำเพ็ญสมาธิภาวนา ศึกษาพระธรรม และเทศนาสั่งสอนญาติโยม ส่วนญาติโยมก็เข้าวัดฟังธรรมรักษาศีล ใครที่มีศรัทธาแก่กล้า ก็นิยมอุปสมบทกันในช่วงนี้ เพราะถือกันว่าบวชทั้งที ก็ต้องให้ได้พรรษาถึงจะได้บุญมาก

    เดี๋ยวนี้ชีวิตคนสมัยใหม่มีแต่เรื่องเร่งรีบ จึงแทบไม่มีเวลาเข้าวัด แม้แต่จะบวช ก็บวชกันเดือนเดียวเป็นอย่างมาก แต่ถึงจะห่างวัดเพียงใด ก็ไม่ควรห่างบุญ อย่างน้อยก็น่าถือโอกาสช่วงเข้าพรรษานี้ทำบุญกันมาก ๆ เพื่อให้ใจได้แจ่มใส ปีหนึ่ง ๆ เรามีเวลามากมายให้กับร่างกาย เช่น หาหนังดี ๆ มาปรนเปรอตา ฟังเพลงเพราะ ๆ เสนาะหู ซื้อของอร่อย ๆ มาใส่ท้อง ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะให้ใจของเราได้อิ่มบุญบ้าง

    “บุญ” แปลว่าเครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ทำอะไรก็ตาม ถ้าช่วยลดละความโลภ ความเห็นแก่ตัว และอารมณ์เศร้าหมอง ทำให้จิตใจเอิบอิ่ม ก็ถือว่าเป็นบุญ และจะเป็นบุญยิ่งขึ้น หากเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ถ้าทำแล้วสงบเย็น เป็นประโยชน์ ขอให้มั่นใจได้ว่านั่นแหละคือบุญ

    บุญนั้นทำได้หลายอย่างหลายโอกาส โดยเฉพาะในช่วง ๓ เดือนนี้ นี้คือวิธีทำบุญที่คุณทำได้

    ๑. สละทรัพย์อย่างฉลาด
    คนไทยนิยมทำบุญด้วยการให้ทาน ทานที่นิยมกันในช่วงนี้คือสังฆทาน แต่ถ้าอยากจะให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ควรเลือกถวายของที่ท่านจะได้ใช้จริง ๆ มีของหลายอย่างที่คนชอบถวายจนล้นวัด เช่น ผงซักฟอก สบู่ กล่องสบู่ แปรงสีฟัน ผ้าอาบน้ำฝน ของบางอย่างก็ใช้ไม่ได้ เช่น ใบชา น้ำบรรจุขวด เพราะมีกลิ่นผงซักฟอกติดมาด้วย

    ใส่ใจสักนิด แล้วคิดตรองดูว่า อะไรบ้างที่พระท่านจำเป็นต้องใช้ แต่ผู้คนมักจะมองข้าม ถ้ายอมเสียเวลาไปเลือกหาแล้วซื้อถวายท่าน จะได้บุญมาก เพราะผู้ถวายก็อิ่มใจ ผู้รับก็ใช้ประโยชน์ได้

    นอกจากถวายพระแล้ว การให้ทานแก่ผู้อื่นก็เป็นบุญเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ทุกข์ยากลำบาก เช่น เด็กยากจน เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน คนพิการ ช่วยกันเติมความรักและความหวังให้แก่เด็กเหล่านี้ ด้วยการบริจาคหนังสือเรียน เสื้อผ้า อาหาร ยา หรือให้ทุนการศึกษา ผ่านมูลนิธิหรือองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก นอกจากนั้นใกล้บ้านของเราอาจมีเด็กเหล่านี้ที่เราสามารถช่วยเหลือได้โดยตรง

    ๒. ทำชีวิตให้โปร่งเบา
    ไม่มีเงินเลยก็สามารถทำบุญได้เหมือนกัน การทำชีวิตให้ปลอดโปร่งจากสิ่งเสพติดเป็นการทำบุญที่ไม่ต้องใช้เงินเลย แถมมีเงินเหลือเสียอีก แม้ไม่เข้าวัด แต่ถ้างดเข้าบ่อนบาร์หรือสถานเริงรมย์ ก็ได้บุญเต็ม ๆ ถ้ายังละไม่ได้ ลดการดื่ม เล่น และเที่ยวให้น้อยลง ก็ยังดี เป็นบุญทั้งแก่ตัวเองและครอบครัว

    อะไรที่ทำให้ชีวิตยุ่งยาก เป็นภาระแก่ตนเอง สิ้นเปลืองเงินทองและเวลา เช่น ติดนิสัยช็อปปิ้ง จนเป็นหนี้สิน หรือติดอินเตอร์เน็ต จนไม่เป็นอันทำงาน และไม่มีเวลาให้ครอบครัว เข้าพรรษาเป็นโอกาสดีที่จะลดละสิ่งเหล่านี้

    ๓. เกื้อกูลด้วยแรงกาย
    สละเงิน สละพฤติกรรมที่ไม่ดีแล้ว สละอีกอย่างหนึ่งที่เป็นบุญคือสละแรงกาย เห็นใครลำบากก็เข้าไปช่วยเขา อะไรที่เป็นงานส่วนรวม ก็เข้าไปเสริม เช่น เป็นอาสมัครสอนเด็กในชนบท ช่วยงานบ้านพักคนชรา อุ้มเด็กป่วยในโรงพยาบาล ปลูกป่า เก็บขยะตามอุทยาน เป็นต้น

    ที่จริงไม่ต้องไปไกลก็ได้ ชักชวนเพื่อนบ้านร่วมแก้ปัญหาขยะในชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ดูแลเยาวชนให้พ้นภัยยาเสพติด ตรวจตราชุมชนให้ปลอดโจรผู้ร้าย น้ำท่วมก็ช่วยกันแก้ไข ทำได้อย่างนี้ คนก็เปี่ยมบุญ ชุมชนก็เปี่ยมสุข

    ๔. ฝึกจิตชำระใจ
    ไม่ต้องใช้เงินแต่ได้บุญอีกวิธีหนึ่งก็คือ การทำจิตรักษาใจให้เป็นกุศล มีความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ขุ่นเคืองขึ้งเครียด ด้วยการทำสมาธิ สมาธิไม่ใช่เรื่องลึกลับไกลตัว จดจ่อจิตอยู่กับลมหายใจเข้าและออกอย่างสม่ำเสมอ ทำครั้งละ ๑๕ นาทีเช้าและเย็น หรือเวลาเครียดกับงาน ไม่นานจะเห็นผล ถ้าขยันขึ้น ก็ทำให้นาน ๆ เท่า ๆ กับเวลาอาบน้ำแปรงฟัน ใช้เวลาชำระกายนานเท่าไหร่ ก็พึงชำระใจนานเท่านั้น ชีวิตจะสมดุลและโปร่งเบาขึ้น

    แล้วอย่าลืมสดับตรับฟังธรรมบ้าง ถ้าไม่สะดวกเข้าวัด ก็หาเท้ปธรรมะมาเปิดฟังยามว่างหรือตอนรถติด ก็น่าจะดี หรือหาหนังสือธรรมะมาอ่านทุกคืนก่อนนอนตลอด ๓ เดือน

    บุญแบบนี้ทำแล้วย่อมเกิดสุขทั้งแก่ชีวิตและสังคมอย่างแน่นอน
    :- https://visalo.org/article/budChalard.htm

     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    buddhateaching (3).jpg
    บุญที่เมืองไทยต้องการ

    พระไพศาล วิสาโล
    การทำบุญของคนไทยแต่ก่อนนั้น ไม่ได้มีอานิสงส์เพียงแค่ทำให้ใจสงบมีปีติเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นไปด้วยในตัว เมื่อชาวบ้านทอดผ้าป่าหรือทอดกฐิน ปัจจัยไทยทานที่ถวายวัดไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อพระเณรเท่านั้น หากชาวบ้านก็ได้ใช้ด้วย เช่น เวลาจะจัดงานแต่งงานหรือทำบุญบ้าน ก็มายืมจานชามและถ้วยจากวัด เวลาจะประชุมก็มาใช้ศาลาและวิหารของวัด

    ประเพณีบางอย่างดูเผิน ๆ ก็ไม่มีคุณค่านอกไปจากเรื่องของจิตใจ แต่ที่จริงยังก่อให้เกิดผลที่จับต้องได้ เช่น ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์ ลองนึกภาพว่าถนนหนทางในหมู่บ้านชนบทช่วงหน้าร้อนนั้นมักขรุขระหาไม่ก็มีฝุ่นหนา ไม่สะดวกแก่การสัญจร ทรายที่ชาวบ้านช่วยกันขนมาก่อเป็นพระเจดีย์อยู่ริมทางนั้น เมื่อพ้นงานเทศกาลแล้วก็ไม่ได้หายไปไหน เมื่อพระเจดีย์ทลายก็กลายเป็นทรายถมทางไปในที่สุด


    ประเพณีบางอย่างก็เป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นอย่างชัดเจน ในภาคเหนือ มีประเพณีที่เรียกว่า “ทานทอด” คือการนำวัตถุไปมอบให้แก่คนยากไร้ในหมู่บ้าน โดยวางไว้ใกล้ที่อยู่ของเขา หลังจากนั้นจึงจุดประทัดเพื่อเป็นสัญญาณว่ามีคนเอาของมาให้ ชาวบ้านถือกันว่าทำเช่นนี้ก็ได้บุญเช่นเดียวกับการทอดผ้าป่า

    อย่างไรก็ตามมิพึงเข้าใจว่าบุญนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีเทศกาลงานประเพณีหรือเมื่อโอกาสสำคัญมาถึง ในชีวิตประจำวันก็สามารถทำบุญได้ตลอดเวลา การตักน้ำใส่ตุ่มตั้งไว้หน้าบ้านให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาดื่มดับกระหาย ถือเป็นบุญที่ชาวบ้านแต่ก่อนนิยมทำโดยไม่ต้องมีพิธีกรรมใด ๆมาเกี่ยวข้อง แม้แต่การทำนา เขาก็ถือว่าสามารถทำบุญได้เช่นกัน ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเล่าว่า เมื่อท่านยังเด็ก โยมแม่ได้สอนคาถาประจำใจเวลาทำนาว่า “นกกินก็เป็นบุญ คนกินก็เป็นทาน” คาถานี้โยมแม่ของท่านเรียกว่า “คาถากันขโมย” เพราะเมื่อทำใจคล้อยไปตามคาถานี้แล้ว ก็จะไม่เห็นใครเป็นขโมยอีกต่อไป มีแต่ผู้ที่มาช่วยให้เราได้บุญ คาถานี้คงไม่ได้ใช้กับครอบครัวของท่านอาจารย์พุทธทาสครอบครัวเดียว หากยึดถือกันทั่วไปในภาคใต้

    น่าเสียดายที่การทำบุญแบบนี้สูญหายไปเกือบจะหมดสิ้นแล้ว บุญที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเข้าใจจึงมีความหมายแคบลงมาก เหลือเพียงแค่การถวายทานแก่พระเท่านั้น จนเกิดทัศนคติว่าบุญต้องทำกับพระเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่บุญคือความดีที่เราจะทำกับใครก็ได้ทั้งนั้น รวมทั้งทำกับตัวเองด้วย (เช่น ระงับความโกรธ คิดถูกคิดชอบ หรือทำสมาธิภาวนา)

    บุญนั้นมีพลังอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ในอดีตบุญมีบทบาทอย่างมากในการสร้างสรรค์และจรรโลงชุมชนให้มีความสงบสุขท่ามกลางอุปสรรคจากธรรมชาติ บุญเป็นตัวเชื่อมประสานและบันดาลใจให้ผู้คนมาช่วยเหลือกันแม้จะมีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี ทุกวันนี้บุญก็ยังมีพลังสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอยู่ไม่น้อย แต่นั่นหมายความว่าจะต้องมีความเข้าใจแก่นแท้ของบุญให้ถูกต้อง และรู้จักประยุกต์การทำบุญให้สอดคล้องกับยุคสมัย

    ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาได้มีการประยุกต์การทำบุญในหลายลักษณะ ในภาคเหนือ ได้มีการทอดผ้าป่าข้าว เพื่อนำเงินและข้าวที่ได้ไปจัดตั้งหรือสนับสนุนกองทุนข้าวในหมู่บ้าน กองทุนข้าวดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านที่ยากจนกู้ยืมโดยมีดอกเบี้ยต่ำ แต่บางปีที่เกิดความแห้งแล้ง กองทุนข้าวบางหมู่บ้านไม่มีข้าวเพียงพอที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน ดังนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นจึงพร้อมใจกันเข้ามาช่วย วิธีนี้ทำให้หลายหมู่บ้านที่ยากจนสามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีเงินเหลือสำหรับสนับสนุนกองทุนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน เช่น กองทุนการศึกษาสำหรับเยาวชน และกองทุนอาหารกลางวัน มองในแง่หนึ่งนี้ก็คือการสืบทอดประเพณีทานทอดที่กำลังสูญหายไป

    นอกจากการประยุกต์ประเพณีที่มีอยู่แล้ว ยังมีการคิดค้นกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การทำบุญสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น อาทิ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ หลักการประการหนึ่งของกลุ่มดังกล่าวก็คือการย้ำให้เกิดความตระหนักว่าการมาเป็นสมาชิกกลุ่มนั้นเป็นการทำบุญร่วมกัน เพราะเงินที่นำมาฝากนั้น คนที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบปัญหา สามารถมากู้ยืมเอาไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนได้ เท่ากับว่าได้ช่วยสงเคราะห์เขา

    นี้คือการฟื้นฟูคุณธรรมดั้งเดิมขึ้นมาได้แก่การสงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่แทนที่จะต่างคนต่างทำอย่างในอดีต ก็มารวมกลุ่มกันและมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน

    อย่างไรก็ตามการทำบุญด้วยน้ำใจของแต่ละคนก็ยังมีความสำคัญอยู่ น่าดีใจที่ปัจจุบันมีผู้คนเป็นอันมากที่พยายามทำจากจุดของตัวเอง โดยไม่คำนึงว่าจะมีใครทำด้วยหรือไม่ มีตำรวจบางคนในจังหวัดศรีสะเกษทุกเช้ามืดและหลังเลิกงานแล้วจะขนกล้าไม้ไปปลูกบนพื้นดินว่างเปล่ารวมทั้งริมถนนทำเช่นนี้มา ๑๕ ปีรวมต้นไม้ที่ปลูกแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ล้านต้น เขาให้เหตุผลว่า “การปลูกต้นไม้เป็นการทำบุญที่ถูกต้องที่สุด มันยั่งยืนกว่า และช่วยเหลือทุกคนได้ชั่วลูกชั่วหลาน”

    บางคนทำบุญด้วยการเปิดไฟหน้าบ้านยามค่ำคืนเพื่อให้ผู้คนเห็นทางสะดวกขึ้น เห็นสิ่งกีดขวางถนน ก็เก็บไปทิ้งให้พ้นทาง บ้างก็สละเวลาไปอ่านหนังสือใส่เทปให้คนตาบอดฟัง หรือเป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์การการกุศลโดยไม่คิดเงิน หลายคนทำบุญด้วยการสงเคราะห์สัตว์ เช่น พาสุนัขจรจัดไปฉีดยากันโรคพิษสุนัขบ้า หรือพาสุนัขของตนไปทำบุญด้วยการบริจาคเลือดให้แก่สุนัขที่เจ็บป่วย เป็นต้น

    บุญกับน้ำใจนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ลองคิดดูว่าหากคนไทยทำบุญแบบนี้กันทั้งประเทศ เมืองไทยจะน่าอยู่สักเพียงใด
    :- https://visalo.org/article/budBoonteMuang.htm

     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เห็นสัจธรรมจากสรรพสิ่ง
    พระไพศาล วิสาโล
    ตอนนี้เป็นเวลา ๕ ทุ่ม เราปฏิบัติมาได้ครึ่งคืนแล้ว เริ่มจากทำวัตรเย็น ถึงตอนนี้ก็ผ่านไป ๕ ชั่วโมงแล้ว อีก ๕ ชั่วโมงก็ถึงเวลาทำวัตรเช้า เมื่อตอนบ่ายยังนึกภาพว่าเมื่อถึงเวลาที่อาตมาบรรยาย คนคงจะบางตา อาจจะมีแม่ชีอยู่บ้างนิดหน่อย โยม ๔-๕ คน มีพระอยู่บ้าง แล้วก็ตุ๊กแก จิ้งจก ๒-๓ ตัว ไม่คิดว่าจะมีคนอยู่หนาตาอย่างนี้ นี่แสดงว่าพวกเรามีความตั้งใจกันจริง ๆ

    ตอนเช้าวันนี้มีการปลูกป่าที่ภูหลง คนไปกันเยอะ ขากลับอาตมานั่งรถมากับพระใหม่รูปหนึ่ง เจ้าของรถเปิดซีดีคำบรรยายของอาตมา ปกติถ้าอาตมาคุ้นเคยกับเจ้าของรถก็จะขอให้ปิด เพราะไม่ค่อยอยากฟังเท่าไร แต่เพราะว่าไม่คุ้นเคยกับเจ้าของรถ และเห็นว่าท่านอยากจะฟังจึงไม่ได้บอกให้ปิด ระยะทางจากภูหลงมาสุคะโตประมาณ ๓๐ นาที อาตมาก็นั่งฟังไปเรื่อย ๆ แล้วก็เคลิ้มหลับไป เพราะเสียงโมโนโทนมาก ขนาดเจ้าตัวยังหลับเลย ก็เลยเข้าใจคนที่ฟังอาตมาบรรยาย ว่าคงจะรู้สึกอย่างเดียวกับอาตมาหรืออาจยิ่งกว่าก็ได้ คือว่าฟังแล้วจะรู้สึกง่วงมากขึ้น โดยเฉพาะในเวลาและบรรยากาศแบบนี้ ซึ่งหลายคนก็ง่วงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งได้ฟังที่อาจารย์สมใจเล่าเรื่องพระกับโชเฟอร์ว่า พระท่านอยู่ในสวรรค์ชั้นต่ำเพราะพูดให้คนหลับเป็นอาจิณ ไม่เหมือนโชเฟอร์ที่ทำให้คนตื่น แต่ไม่เป็นไรนะ เพราะยังไงก็ยังได้ขึ้นสวรรค์

    การฟังบรรยายนาน ๆ หลายคนอาจจะง่วงมากขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นการฝึกใจ การปฏิบัติธรรมถ้าราบรื่นจะไม่ค่อยก้าวหน้า จะต้องเจออุปสรรคหรือสิ่งที่มารบกวนใจ สิ่งที่มารบกวนใจตัวแรก ๆ คือ นิวรณ์ โดยเฉพาะความง่วง แต่อย่ามองว่าเป็นอุปสรรคเท่านั้น เพราะมันยังเป็นสิ่งที่มาฝึกใจเราด้วย ถ้าเราผ่านมันได้ จะทำให้เรามีความฉลาด มีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่ถ้าง่วงแล้วนอน ผ่านมันไม่ได้เราก็จะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ความง่วงเป็นนิวรณ์ที่เบา มันไม่ได้สร้างปัญหาเท่ากับนิวรณ์ตัวอื่น ๆ เช่น ปฏิฆะหรือพยาบาท ที่อาจทำให้เราป่วยหรือเป็นโรคได้ เช่น ทำให้เส้นเลือดในสมองแตก หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน เช่น โกรธแล้วไปฆ่าคน ไปทำร้ายคน

    ความง่วงเป็นนิวรณ์เบื้องต้น ที่เราควรจะเรียนรู้ และผ่านมันไปให้ได้ ถ้าเราผ่านไปได้เราก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น ฉลาดมากขึ้นในการรับมือกับนิวรณ์ตัวต่อ ๆ ไป นิวรณ์ตัวอื่น ๆ ก็เหมือนกัน อย่าไปมองว่ามันมาขัดขวางรบกวนจิตใจเรา สำหรับคนที่ต้องการฝึกเพื่อให้จิตสงบตามแนวทางสมถกรรมฐาน จะรู้สึกเป็นลบกับนิวรณ์ ว่าเป็นตัวมาขัดขวางความสงบ ไม่ให้ใจมีสมาธิ แต่สำหรับนักปฏิบัติที่มุ่งให้เกิดปัญญา และการหลุดพ้น นิวรณ์มีประโยชน์มาก เวลามันเกิดแล้วเราไม่เพียงแต่รู้ว่ามันเกิด เวลามันดับเราไม่เพียงแต่รู้ว่ามันดับ แต่ยังรู้ต่อไปว่า มันเกิดเพราะอะไร มันดับเพราะอะไร อะไรเป็นเหตุให้มันเกิด อะไรเป็นเหตุให้มันดับ ถ้าเรารู้อย่างนี้แสดงว่าเรามีความก้าวหน้าในการเจริญสติปัฏฐานขั้นที่ ๔ คือ ธัมมานุปัสสนา

    ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการเห็นธรรมในธรรม ธรรมที่ว่าได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ และอริยสัจ ๔ ถ้ารู้อริยสัจ ๔ อย่างถ่องแท้ก็สำเร็จ จบกิจแล้ว แต่จะมาถึงตรงนี้ได้ก็ต้องผ่านด่านแรกคือนิวรณ์ก่อน การผ่านนิวรณ์ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีนิวรณ์มารบกวนเลย มีนิวรณ์ได้แต่ต้องเห็นชัดว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันดับเพราะอะไร เมื่อเราเข้าใจตรงนี้ก็เท่ากับว่า เริ่มเห็นธรรมในธรรมแล้ว

    การเจริญสติปัฏฐานมี ๔ ขั้น ขั้นแรกเห็นกายในกาย เมื่อกายเคลื่อนไหวก็รับรู้ หรือรู้สึก ขั้นที่ ๒ เห็นเวทนาในเวทนา สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี เมื่อเกิดขึ้นก็รู้ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนพูดว่า “เห็น ไม่เข้าไปเป็น” มีความปวดความเมื่อยก็เห็นมัน แต่ไม่เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย มีความสบาย ก็เห็นมัน แต่ไม่เป็นผู้สบาย เมื่อกินอาหารอร่อยเกิดสุขเวทนาขึ้น ก็เห็นความเอร็ดอร่อย ไม่ใช่เป็นผู้เอร็ดอร่อย ขั้นที่ ๓ เห็นจิตในจิต คือเห็นความเป็นไปของจิต เห็นอาการของใจ ซึ่งหลวงพ่อคำเขียนสรุปย่อ ๆ “เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก” นี้เป็นเบื้องต้นของการเจริญสติปัฏฐาน

    เมื่อเราเห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก เมื่อเห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น มันก็จะทำให้เราก้าวสู่ขั้นที่ ๔ คือการเห็นธรรมในธรรม ไม่เพียงแต่รู้ว่ามีนิวรณ์เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเห็นต่อว่ามันมีเหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิด ทำให้ดับ ในขณะที่เรากำลังปฏิบัติแล้วมีความง่วงเกิดขึ้น ให้มองว่าความง่วงเป็นของดี เป็นการบ้านที่มาฝึกเรา ไม่ใช่ฝึกความอดทนเท่านั้น แต่ฝึกสติ ให้เราเห็น ไม่เข้าไปเป็น หลังจากที่เห็นว่า มันเกิดขึ้น และดับไป ก็จะเห็นความจริงต่อไปว่า นิวรณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่อาศัยเหตุปัจจัยจึงจะเกิดได้ ถ้าเหตุปัจจัยดับ มันก็ดับ อันนี้แหละคือความจริงที่นิวรณ์เหล่านี้แสดงให้เราเห็น

    นิวรณ์สามารถสอนธรรมหรือแสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้ เหมือนที่หลวงพ่อคำเขียนพูดว่า “แม้กระทั่งความโกรธก็สอนธรรมให้เราได้ แสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้” ท่านพูดถึงขั้นว่า “แม้ถูกด่าก็เห็นสัจธรรมได้” เห็นสัจธรรมนี่เห็นได้หลายแง่ เบื้องต้นเลยก็คือเห็นโลกธรรม ๘ ได้แก่ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญมีนินทา มีสุขมีทุกข์

    เวลาถูกด่า สัจธรรมก็ปรากฏแก่เราแล้ว นั่นคือ มีคนชมก็ต้องมีคนต่อว่า เราไม่ค่อยตระหนักเรื่องนี้เท่าไร ดังนั้นเวลาคนชมก็ปลื้ม ครั้นถูกคนด่าก็ไม่พอใจ แต่ที่จริงถ้าเราตั้งสติเวลาถูกด่า คนที่ด่าเรา เขากำลังแสดงสัจธรรมให้เห็นว่า มีสรรเสริญก็มีนินทา แต่ต้องตั้งสติให้ดี จึงจะเห็นว่าเขากำลังแสดงธรรมให้เราดู

    หลวงพ่อทองรัตน์ กันตสีโล เป็นลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ของหลวงปู่มั่น ท่านมีนิสัยโผงผาง ดูจากภายนอกไม่ค่อยเรียบร้อย บางครั้งเวลาท่านบิณฑบาต ท่านก็จะเรียกให้โยมมาใส่บาตร โดยเฉพาะโยมที่ไม่ค่อยใส่บาตร แต่พอเขาถวายท่านก็ไม่ฉันเพราะรู้ว่ามันเป็นอาบัติ เพราะตามวินัยแล้ว พระไม่สามารถขออาหารจากโยมได้ ถ้าได้มา ฉันก็เป็นอาบัติ ท่านรู้แต่ท่านทำเช่นนั้นก็เพื่อสอนให้เขารู้จักใส่บาตร แต่โยมบางคนไม่เข้าใจ วันหนึ่งก็มีคนเขียนบัตรสนเท่ห์ลงไปในบาตร ท่านเห็นก็รู้เลยว่ามันเป็นบัตรสนเท่ห์ พอท่านกลับถึงวัดก็พาดสังฆาฏิอย่างดี แล้วเรียกพระเณรมารวมกัน แล้วบอกว่า "เอ้าลูกอ่าน อมฤตธรรมนะนี่ เทวดาเขาใส่บาตรมา หาฟังยากนะ” ระหว่างที่เณรอ่าน ท่านก็พนมมือฟัง

    ข้อความในบัตรสนเท่ห์มีว่า “พระผีบ้า เป็นพระเป็นเจ้า ไม่สำรวม ไม่มีศีล ไม่มีวินัย ประจบสอพลอขอของจากชาวบ้าน พระแบบนี้ถึงจะเหาะเหินเดินอากาศได้ก็ไม่นับถือเป็นพระ ให้รีบออกจากวัดไป ถ้าไม่ไปจะเอาลูกตะกั่วมาฝาก”

    ผู้เขียนคงปรารถนาดีต่อพุทธศาสนา อยากเห็นพระดี และพระดีที่เขาเข้าใจคือพระที่เรียบร้อย พอเห็นหลวงพ่อทองรัตน์ขอข้าวชาวบ้าน ก็ไม่พอใจ อยากขับไล่ออกไป แต่หลวงพ่อทองรัตน์ไม่โกรธเลย พอเณรอ่านจบก็บอกว่า "เอาเก็บไว้ใต้แท่นบูชาพระนะ โลกธรรมแปดมันเป็นอย่างนี้เอง แต่ก่อนได้ยินแต่ชื่อว่า มีลาภ-เสื่อมลาภ มียศ-เสื่อมยศ มีสรรเสริญ-มีนินทา มีสุข-มีทุกข์ ของดีนะนี่ สาธุ ได้ฟังแล้วแก่นธรรมเพิ่งมาถึงวันนี้เอง เก็บไว้ เก็บไว้”

    หลวงพ่อทองรัตน์ถูกด่า แต่นอกจากท่านจะไม่ทุกข์ไม่โกรธแล้ว ท่านยังเห็นว่าเป็นของดีที่จะมาสอนพระเณรได้ ได้โอกาสสอนพระเณรเลยว่า โลกธรรม ๘ เป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่าคำต่อว่าด่าทอสอนธรรมได้ ท่านถึงกับเรียกว่าอมฤตธรรมจากเทวดาเลย

    ถ้าเราตั้งจิตแบบนี้บ้างก็ดีนะ เวลาใครมาต่อว่าด่าทอ ก็ให้ระลึกว่าเขากำลังแสดงธรรม เป็นอมฤตธรรมเสียด้วย ส่วนคนที่แสดงอมฤตธรรมให้เรา ต้องยกให้เป็นเทวดาเลยนะ แต่ถ้าเราตามไม่ทัน ถูกเขาด่าแล้วโกรธ ตั้งสติสักหน่อยแล้วลองพิจารณาดูว่า เราโกรธเพราะอะไร ก็อาจจะเห็นสัจธรรมที่ลึกลงไปอีกว่า เราโกรธเพราะยึดมั่นหวงแหนในภาพลักษณ์หน้าตา นี่คืออุปาทาน ถ้าเรามองเห็นว่าที่เราโกรธเพราะเรามีความยึดมั่นถือมั่นในหน้าตาภาพลักษณ์ ก็จะเห็นสัจธรรมอีกขั้นหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น พอถูกด่าก็โกรธแล้วก็ตวาดใส่เลย ตั้งใจจะทำให้เขาเจ็บ อย่างนี้เรียกว่าส่งจิตออกนอกเต็มที่ อย่างนี้ไม่เห็นสัจธรรมหรอกเพราะว่าเป็นผู้โกรธเสียแล้ว

    เราสามารถเห็นสัจธรรมได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ ว่า ทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น หรือเพราะกิเลสในใจ เมื่อถูกด่า แล้วความโกรธเกิดขึ้น ถ้ามีสติทัน แทนที่จะเป็นผู้โกรธ ก็เห็นความโกรธ ใจก็จะไม่ทุกข์ จากนั้นก็ลองสาวหาต่อไปว่าโกรธเพราะอะไร ทุกข์เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะเขาว่าเรา แต่เพราะเรายึดมั่นถือมั่นในตัวตนต่างหาก รู้สึกว่าตัวกูถูกด่า รู้สึกเสียหน้าเสียภาพลักษณ์ ถ้าเห็นอย่างนี้ก็เท่ากับว่ามันแสดงสัจธรรมให้เราเห็นแล้ว อะไรเกิดขึ้นกับเราถ้าเรามองดี ๆ มองให้ถูก มองให้เป็น มันสอนธรรมเราได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดต่อหน้าเรา หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเราก็ตาม

    สมัยพุทธกาลมีหลายท่านที่บรรลุธรรม เพราะเห็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำให้เห็นธรรมขึ้นมาได้ เช่นพระลกุณฏกภัททิยะ ท่านเป็นพระตัวเล็ก ๆ หลายคนนึกว่าท่านเป็นเณร วันหนึ่งท่านกำลังเดินบนถนนก็มีรถม้าแล่นผ่าน คนที่นั่งอยู่ในรถม้าเป็นหญิงคณิกา พอเห็นท่าน รู้สึกว่าท่านน่ารักก็ยิ้มให้จนเห็นฟันขาว ท่านลกุณฏกภัททิยะเห็นแล้วแทนที่จะเกิดราคะ ท่านกลับเห็นว่านี่คือบ่วงแห่งมาร นี่คือสิ่งที่ล่อให้คนหลงติดในกาม ทำให้เห็นถึงโทษของรูปอย่างชัดเจน ปัญญาจึงลุกโพลง ปรากฏว่าท่านบรรลุธรรมเป็นอนาคามีบนถนนเลย ทั้งที่สำหรับคนทั่วไปแล้ว ภาพหญิงสาวยิ้มให้มีแต่จะกระตุ้นราคะ แต่ท่านกลับเห็นอีกแบบหนึ่ง

    เรื่องของท่านลกุณฏกภัททิยะ มีเกร็ดเล่าต่อว่า ไม่นานหลังจากนั้นท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ วันหนึ่งมีพระกลุ่มหนึ่งมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เห็นท่านลกุณฏกภัททิยะเดินสวนออกไป ขณะที่พระเหล่านั้นเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า พวกท่านรู้ไหม พระที่เดินสวนออกไปไหมเมื่อสักครู่ ได้ฆ่าแม่ฆ่าพ่อแล้ว พ้นทุกข์ ถึงนิพพาน พระกลุ่มนี้ก็เกิดความสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร พระองค์จึงตรัสอธิบายว่า ฆ่าแม่ฆ่าพ่อ ก็คือฆ่าตัณหาและอัสมิมานะนั่นเอง ที่พระองค์ตรัสเช่นนี้ก็เพราะ ตัณหาและอัสมิมานะทำให้เกิดภพชาติ คือการเกิดทางจิต เปรียบได้แก่แม่และพ่อที่ทำให้ลูกเกิดมา

    กลับมาเรื่องการเห็นสัจธรรมจากทุกสิ่ง มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ พระติสสะ ขณะที่ท่านกำลังเดินอยู่บนถนนก็ได้ยินเสียงนางทาสีกำลังร้องเพลงเกี่ยวกับความไม่เที่ยงของชีวิต ท่านฟังแล้วพิจารณาตาม ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เลย ท่านบรรลุธรรมเพราะได้ยินเสียงเพลงของนางทาสี ไม่ใช่เพราะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เรื่องเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า อะไรก็ตามที่เราได้ยิน ได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่เห็นทางตา เสียงที่ได้ยินทางหู ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบก็สามารถแสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้

    ขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรา เช่นความโกรธหรือนิวรณ์ ขอแต่เราอย่าเข้าไปเป็นมันก็แล้วกัน ไม่ว่าจะเป็นความง่วง ความโกรธ ความเบื่อหน่าย เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นมัน เริ่มจากเห็นว่ามันเกิดขึ้น คือเห็นด้วยสติ ต่อมาเมื่อมีสติเห็นมันเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็จะเห็นธรรมชาติหรือลักษณะของมัน คือ เห็นว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เห็นว่ามันมีเหตุจึงเกิด เมื่อเหตุดับ มันก็ดับไปด้วย ตรงนี้ถ้าเห็นบ่อย ๆ ก็จะรู้ว่ามันเป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก แล้วก็เห็นต่อไปว่า มันไม่มีตัวตนของมันเอง ต้องอาศัยสิ่งอื่นถึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้น มันก็เกิดไม่ได้ และถ้าสิ่งนั้นดับ มันก็เสื่อมสลายไป นั่นแสดงว่ามันไม่มีตัวตนของมันเอง คือเป็นอนัตตา

    หลวงพ่อคำเขียนเน้นบ่อยว่า อะไรเกิดขึ้นกับเราก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความทุกข์ มันล้วนแล้วแต่สอนธรรมให้กับเราได้ทั้งสิ้น ท่านพูดไว้ตอนหนึ่งว่า "เมื่อความโกรธเกิดขึ้น มันก็สอนธรรมให้แก่เราได้ แต่ถ้าเป็นผู้โกรธแล้ว ก็ไม่สามารถเห็นธรรมจากมันได้เลย" หมายความว่าเราอย่าไปหัวเสีย หงุดหงิด รำคาญใจ เวลามีอารมณ์อกุศลเกิดขึ้น นักปฏิบัติธรรมหลายคนเวลาภาวนาก็อยากให้ใจสงบ พอความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิด ความง่วงเกิดขึ้น ก็ไม่พอใจ อย่างนี้เรียกว่าพลาดโอกาสที่จะได้เห็นสัจธรรมจากสิ่งเหล่านี้ สำหรับนักภาวนาที่บำเพ็ญวิปัสสนา กุศลหรืออกุศลล้วนมีค่าเสมอกัน คือสอนสัจธรรมอย่างเดียวกัน นั่นคือ สอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน แต่ถ้าเน้นสมถะ อยากได้ความสงบก็จะชอบฝ่ายกุศล ไม่ชอบฝ่ายอกุศล ถ้ามีปีติ เอา มีปัสสัทธิ เอา แต่ถ้ามีนิวรณ์ ไม่เอา

    ใจที่ไม่เป็นกลางต่อสภาวธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะเห็นสัจธรรมจากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และภายในคือ นิวรณ์หรือว่าอกุศลธรรมต่าง ๆ รวมไปถึงเวทนา ทุกขเวทนา ความปวดความเมื่อย อย่าไปมองว่ามันเป็นศัตรู มันสามารถแสดงสัจธรรม สอนเราได้มากมาย ไม่ใช่แค่สอนให้มีความอดทน ทำให้จิตใจเราเข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังสามารถเผยสัจธรรมให้เราเห็นด้วย

    เพราะฉะนั้นนักภาวนาต้องพร้อมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจากภายนอกหรือภายใน แดดร้อนอากาศหนาว ยุงเยอะ ก็ไม่รังเกียจไม่ผลักไส ถือว่ามันเป็นการบ้านที่มาฝึกเรา เป็นโอกาสที่จะฝึกสติให้เกิดมีขึ้น
    :- https://visalo.org/article/Bud_HenSujjadham.html
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    asalhapucha.jpg
    พุทธพ้นลัทธิ

    พระไพศาล วิสาโล
    สตีเฟน แบทชเลอร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เคยบวชในนิกายวัชรยานและมหายานที่เกาหลี เป็นคนที่มีความรู้เรื่องทิเบตมาก หนังสือที่เขาเขียนเกี่ยวกับทิเบตก็เป็นหนังสือที่ได้รางวัล หนังสือเรื่องพุทธพ้นลัทธิ นี้เขามีวัตถุประสงค์อยู่ในใจ 2 ประการ ซึ่งเราสามารถรับรู้ได้จากการอ่านคือ 1. เขาพยายามจะแนะนำพระพุทธศาสนาให้แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะไม่สนใจพุทธศาสนามาเลย หรือว่าไม่มีความรู้มาก่อน รวมทั้งกลุ่มที่สำคัญคือ พวกที่อาจจะปฏิเสธศาสนาด้วยซ้ำ ประการที่ 2. เขาต้องการที่จะวิจารณ์และท้าทายพุทธศาสนาแบบที่เรารู้จักกัน คือแบบที่สืบทอดต่อกันมาเป็นประเพณี ประเด็นหลังนี่ เขาต้องการท้าทายว่าอย่างไร เขาต้องการท้าทายคนรุ่นเก่าและขณะเดียวกันก็บอกแก่คนรุ่นใหม่ว่า พุทธศาสนาหรือ Buddhism นั้นไม่ใช่ศาสนา แต่ว่าทุกวันนี้หลังจากผ่าน 2,500 ปี พุทธศาสนาหรือที่อาตมาขอใช้คำว่า “ธรรมวินัย”นั้นได้กลายเป็นศาสนาไปแล้ว ศาสนาหมายถึงอะไร ก็หมายถึงระบบความเชื่อที่คุณต้องน้อมรับเข้ามา ศาสนาจะต้องประกอบไปด้วยพิธีกรรม มีนักบวช และสถาบันที่สืบทอดและพิทักษ์รักษาศาสนานั้นมา รวมทั้งอาจจะมีความเชื่อในทางอภิปรัชญาและสิ่งที่ดูเหมือนศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับหรือพ้นโลก

    แบทชเลอร์บอกว่า ธรรมวินัยนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา ตัวธรรมวินัยกับพุทธศาสนาที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ทำไมเขาถึงพูดเช่นนั้น เขาให้เหตุผลโดยเริ่มต้นจากปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าว่า ในปฐมเทศนาหรือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อพระพุทธเจ้าได้เปิดเผยอริยสัจจ์ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงเน้นว่าอริยสัจจ์นี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง ภาษาพระเรียกกิจในอริยสัจจ์


    อริยสัจจ์ 4 ประการนี้ไม่ใช่เพื่อเชื่อ ไม่ใช่เพื่อจำ แต่เพื่อปฏิบัติ แล้วเขาก็ไล่มาเลย เช่น ทุกข์ เราต้องเกี่ยวข้องอย่างไร คำตอบคือเราต้องทำความเข้าใจทุกข์ สมุทัย เราต้องเกี่ยวข้องให้ถูก คือละสมุทัย ส่วนนิโรธ เราต้องเกี่ยวข้องให้ถูกคือ ต้องทำให้นิโรธบังเกิดขึ้น เขาใช้คำว่า reallization ซึ่งบางทีเราแปลว่าความเข้าใจ แต่ที่จริงมันหมายถึงการทำให้ประจักษ์แจ้งแก่ตนเองหรือต้องทำให้เกิดขึ้น ให้เข้าถึงและบรรลุ และประการที่ 4 คือ มรรค เราต้องเกี่ยวข้องกับมรรคอย่างไร ไม่ใช่ท่องจำมรรค แต่ต้องปฏิบัติหรือทำให้เจริญงอกงามในมรรคมากขึ้น เรียกว่า ภาวนา ตรงนี้เขาชี้เลยว่า พุทธศาสนิกชนสมัยนี้ไม่เข้าใจ นึกว่ามีไว้จำ หรือมีไว้เชื่อ เมื่อคุณเชื่ออริยสัจจ์ 4 ก็หมายถึงว่าคุณเป็นพุทธแล้ว ...ไม่ใช่ คุณต้องเกี่ยวข้องกับอริยสัจจ์ ๔ อย่างถูกต้อง เริ่มตั้งแต่คุณต้องทำความเข้าใจอริยสัจจ์ข้อแรกว่าทุกข์นั้นคืออะไร ถ้าจำเฉยๆ ไม่ใช่ แต่เมื่อธรรมวินัยกลายเป็นศาสนา อริยสัจจ์ 4 กลายเป็นเรื่องที่ต้องท่องจำ มันก็ถูกผนวกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาไป

    ในเรื่องอริยสัจจ์นี้ อาตมาขอพูดสักหน่อย คือว่า หนังสือเล่มนี้เขาพยายามที่จะสื่อกับคนสมัยใหม่ เขาพยายามบอกว่าธรรมวินัยหรือพุทธธรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่อภิปรัชญา แต่เป็นสิ่งที่สัมผัสเชื่อมโยงอยู่กับชีวิตโดยตรง เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเขียนหนังสือเล่มนี้ เขาจึงพยายามใช้ภาษาร่วมสมัยโดยไม่อ้างถึงภาษาบาลีเลย ในภาคภาษาอังกฤษ หนังสือเล่มนี้มีคำบาลีสันสกฤตอยู่คำเดียว คือ Dharma practice หรือธรรมปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก คุณจะแปลปฏิจจสมุปบาทโดยที่ไม่ใช้คำบาลีได้ยังไง แต่เขาก็พยายามแปล ซึ่งตรงนี้ก็กลายเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของเขา จุดแข็งคือ เขาสามารถที่จะทำให้หลักธรรมหลายๆ ข้อ เช่น อริยสัจจ์ 4 กลายเป็นคำศัพท์ที่ร่วมสมัย แต่จุดอ่อนก็คือ คำบางคำที่มีความหมายลึกซึ้งมากในภาษาบาลีนั้น เมื่อแปลหรือแปลงเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ความลุ่มลึกก็ถูกลดทอนไป ความหมายจะเริ่มเจาะจงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเขาเอาธรรมข้อต่าง ๆ ในปฏิจจสมุปบาทมาแปล ความหมายเปลี่ยนไปเลย มันถูกทำให้ง่ายขึ้นแต่ขณะเดียวกันความลุ่มลึกก็ถูกลดทอน

    นอกจากการใช้ศัพท์ร่วมสมัยแล้ว เขายังทำให้เนื้อหาดูง่ายขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนาสื่อกับคนร่วมสมัยได้ อย่างเช่น เขาชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราเรียกว่านิโรธ หรืออริยสัจจ์ข้อที่ 3 นั้น เราอย่าไปเข้าใจว่ามันหมายถึงนิพพาน หรือปรมัตถธรรม นิโรธหรือนิพพานในพุทธศาสนาเขาใช้คำว่า awakening หรือการตื่นรู้ ความรู้แจ้ง แต่อย่าไปเข้าใจว่ามันหมายถึงอาการสว่างวาบทางปัญญาหรือการบรรลุธรรมจนพ้นทุกข์ ...ไม่ใช่ awakening ในหนังสือเล่มนี้หมายถึงความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นสภาวะที่ตัณหาหรือความอยากจางคลายไป แต่เป็น การจางคลายชั่วขณะ เขาพยายามทำให้นิโรธกลายเป็นเรื่องสามัญ เขาเปรียบนิโรธว่า เหมือนกับเวลาที่ก้อนเมฆทึมทึบเกิดรอยแยก จนแสงอาทิตย์ส่องผ่านลงมาได้ แต่สักพักรอยแยกของเมฆนั้นก็หายไป แสงอาทิตย์ก็ไม่สามารถส่องผ่านมาได้ ทำให้มืดครึ้มหรือตกอยู่ในม่านหมอกแห่งความทุกข์อีกครั้งหนึ่ง ภาวะสว่างชั่วขณะนี้คือ awakening ซึ่งคนธรรมดาก็สามารถประจักษ์ได้

    ตรงนี้ก็อาจจะคล้ายกับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสอธิบายเรื่อง นิพพานชั่วขณะ แต่ว่าอาจารย์พุทธทาสได้พูดไปถึงนิพพานที่เป็นการดับทุกข์สิ้นเชิงด้วย แต่แบทชเลอร์จะไม่ก้าวไปถึงตรงนั้น จุดนี้เองที่อาจทำให้ผู้ที่ศึกษาพุทธศาสนาแบบเถรวาทมา รู้สึกนึกค้านอยู่ในใจ เพราะเราเรียนมา เรารู้ว่านิโรธคือการดับทุกข์สิ้นเชิง แต่ของแบทชเลอร์ นิโรธคือการตื่นรู้ คืออาการสว่างวาบชั่วขณะ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ปัญหาคือเขาขีดเส้นเอาไว้แค่นี้ เขาจะไม่พาคนอ่านก้าวไปไกลกว่านั้น เพราะฉะนั้น ในหนังสือเล่มนี้เราจะไม่พบแนวคิดเรื่องความหลุดพ้นสิ้นเชิง ที่เรียกว่า วิมุตติ จะไม่มีการพูดถึงบุคคลที่เข้าการหลุดพ้นสิ้นเชิงที่เรียกว่าพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะแก่การเป็นพุทธศาสนาสำหรับคนทั่วไป ซึ่งเป็นข้อดี เป็นจุดแข็งของเขา แต่จุดอ่อนก็คือว่า มันไปไม่ถึงสภาวะสูงสุด

    เมื่อไม่มีการพูดถึงพระอรหันต์ ไม่มีการกล่าวถึงความหลุดพ้นสิ้นเชิง มีแต่การตื่นรู้เป็นช่วงๆ ก็ไม่น่าแปลกใจ ที่ว่า เวลาที่เขาพูดถึงความสัมพันธ์ของอริสัจจ์ทั้ง 4 ข้อ เขาจะบอกว่า เมื่อคุณรู้จักทุกข์ คุณก็จะเห็นสมุทัย เมื่อคุณเข้าใจสมุทัยคุณก็จะถึงนิโรธ คือ awakening และไปสู่มรรค แต่ผู้ที่ศึกษาเถรวาทจะเกิดคำถามขึ้นว่า เอ๊ะ... จากข้อสามแล้วจะไปข้อสี่ได้อย่างไร มันต้องข้อสี่ก่อนแล้วถึงจะมาข้อสาม คือมรรคจะพาไปสู่นิโรธ แต่ที่แบทชเลอร์อธิบายนั้นหมายความว่า เมื่อคุณได้ถึงความสว่างวาบขึ้นชั่วขณะแล้ว คุณก็จะเกิดความเพียร เกิดความตระหนักว่ามรรคนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาขึ้น คนที่เรียนมาทางเถรวาทฟังอย่างนี้แล้วจะสะดุดอยู่ในใจว่ามันไม่ใช่ มันต้องย้อนเข้ามาคือจากข้อสี่มาข้อสาม นี่คือประเด็นที่อาจจะเป็นดูเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่ที่นำมาพูดเพราะต้องการบอกว่า เมื่อเขาพยายามลดระดับของพุทธศาสนาให้กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนสัมผัสได้ ปฏิบัติได้ ในแง่หนึ่งความลุ่มลึกมันหมดไป หายไป หรือไม่ได้รับการให้ความสำคัญเพียงพอ

    กลับมาตรงจุดที่เขาบอกว่า ธรรมวินัย หรือ Buddhism ไม่ใช่ศาสนา แล้วมันคืออะไร เขาเสนอว่ามันไม่ใช่ศาสนา แต่คือวัฒนธรรมแห่งการตื่นรู้ เขาใช้คำนี้แทน ซึ่งให้ความรู้สึกที่ดีกว่าคำว่าศาสนา เพราะคำว่าศาสนามันเป็นเรื่องของพิธีกรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีนักบวช มีสถาบัน มันกลาย เป็นเรื่องของรูปแบบไปมาก แต่พอเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมแห่งการตื่นรู้ มันให้ความรู้สึกของวิถีชีวิต กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมให้เราดำเนินวิถีชีวิตที่มุ่งสู่ความตื่นรู้ได้ ตรงนี้คือจุดที่แบทชเลอร์เขาเสนอ ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ดูท้าทาย เขาบอกว่า พุทธศาสนานั้น โดยสาระสำคัญแล้วมีความเป็นศาสนาน้อยกว่าสิ่งที่เรียกว่าความคิดแบบโลกๆ (secularism) พูดอีกอย่างก็คือ ธรรมวินัยมีความเป็นโลกียะมากกว่าความเป็นศาสนา ตรงนี้นับว่าน่าสนใจ เขาเขียนไว้เลยว่าธรรมวินัยนั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกับแนวคิดแบบโลก ๆ ที่ไม่เชื่อพระเจ้า ( godless secularism)มากกว่าศาสนาด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้เขาจึงพยายามนำเสนอพุทธศาสนาในเชิงที่เป็นแนวคิดแบบโลกียวิสัยซึ่งเป็นอิทธิพลแบบตะวันตกที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วง 2-3 ศตวรรษที่แล้ว

    การที่เขาเห็นพุทธศาสนาใกล้เคียงกับ secularism นี้ ทำให้เขาพยายามที่จะเสนอพุทธศาสนาในแง่ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เข้าใจได้ และปฏิบัติได้ ขณะเดียวกันก็มีลักษณะเหตุผลนิยมด้วย เขาถึงกับท้าทายเลยว่า ความคิดเรื่องกรรม เรื่องเวียนว่ายตายเกิดมันไม่ใช่สาระสำคัญของพุทธศาสนา สามารถตัดทิ้งไปได้ เขาท้าทายว่า พุทธศาสนาสำหรับโลกสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องมีความคิดเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด ตรงนี้ก็อีกเช่นเดียวกันที่ทำให้เราเกิดความสงสัย เพราะเขาเห็นว่ากรรมเป็นเรื่องของแนวคิดแบบอภิปรัชญาของอินเดีย ซึ่งมันไม่มีความจำเป็น แต่อาตมารู้สึกว่าตรงนี้เขาให้ความสำคัญกับเรื่องกรรมน้อยไปหน่อย ไปมองว่ากรรมเป็นเรื่องของอภิปรัชญาแบบอินเดียซึ่งเป็นเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด เป็นเรื่องของอัตตาซึ่งก็เลยมองว่าตัดทิ้งไปได้ แต่ความจริงแล้วหลักคำสอนเรื่องกรรมในพุทธศาสนามีความหมายมากกว่าเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นส่วนหนึ่งของหลักอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจมุปบาท ถ้าปฏิเสธเรื่องกรรม ก็เท่ากับปฏิเสธอิทัปัจจยตาหรือปฏิจจมุปบาท

     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)

    พูดมาอย่างนี้เหมือนกับเป็นการค้านนะ แต่ว่าไม่ใช่ เพียงแต่บอกว่า การที่เขาตีกรอบพุทธศาสนาว่าเป็นเรื่องของ secularism ในแง่หนึ่งมันทำให้พุทธศาสนานั้นมีสีสันของศาสนาน้อยลงหรือไม่มีเลย เขา demystify หมายความว่าทำให้พุทธศาสนาหมดความลึกลับไป เวียนว่ายตายเกิดตัดทิ้ง ประเพณีพิธีกรรมตัดทิ้ง วิมุตติหลุดพ้นสิ้นเชิงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึงมาก อรหันต์ไม่ต้องพูดถึงเลย น่าสังเกตว่าแม้แต่คำว่า spiritual ก็ไม่มีในหนังสือเล่มนี้ เท่าที่อ่านพบอยู่คำเดียว Spiritual Technology ซึ่งเขาใช้ในเชิงวิพากษ์วิพากษ์หรือเชิงลบมากกว่าเชิงบวก การที่เขาตั้งใจไม่ใช้คำนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะว่า ฝรั่งเวลานี้สนใจเรื่อง spiritual มาก แต่จงใจที่จะไม่พูดถึงคำนี้เลย เหมือนกับว่าเขาต้องการสื่อกับคนที่เรียนมาทางโลกสูงๆ เช่น พวกที่เรียนในฮาร์วาร์ด เยล ออกซ์ฟอร์ด หรือเรียนมาทางปรัชญา พวกนี้อาจไม่สนใจเรื่อง spiritual เขาก็เลยเสนอพุทธศาสนาแบบที่ไม่ใช่ Spiritual ให้แก่คนเหล่านี้ ซึ่งอาตมาเข้าใจว่าเขาทำได้สำเร็จเสียด้วย ถ้าเปิดเว็บไซต์ amazon.com จะพบว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับคำชมจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก มีการให้ดาว ๔-๕ ดาว เท่าที่อ่านดู คนวิจารณ์ทั้งหมดเป็นพวกปัญญาชน มีการศึกษาสูง


    หนังสือเล่มนี้ สำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องพุทธศาสนาเลยก็สามารถจะเข้าใจได้มาก และมีหลายบทมากที่เขาถ่ายทอดได้อย่างมีเสน่ห์ เช่น บทที่ว่าด้วยเรื่องของความตาย ทุกบทในภาคที่ 2 คือเรื่องความระลึกรู้ (awareness) เรื่องภพ (becoming) และความว่าง (emptiness) โดยเฉพาะบทหลัง เขาอธิบายความว่างได้น่าสนใจมาก ยกตัวอย่างหลายตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ล้วนเป็นผลของกระแสแห่งความสืบเนื่อง ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นเรื่องของปรัชญามาก แต่เขาก็อธิบายได้เข้าใจ อาตมาว่าตรงนี้เป็นจุดที่เขาทำได้น่าสนใจ แล้วก็เอาประสบการณ์ชีวิตของคนมาอธิบายมาอธิบายเรื่องสติหรือความระลึกรู้ได้เป็นอย่างดี

    แต่ก็อย่างที่อาตมาบอก เนื่องจากแบทชเลอร์พยายามที่จะทำให้พุทธศาสนาหรือธรรมวินัยไม่มีสีสันของศาสนาเลย ถ้าเช่นนั้นเขาจะอธิบายพุทธศาสนาด้วยวิธีอะไร สำหรับเราคนไทยก็อาจอธิบายด้วยการใช้คำบาลี แต่เขาปฏิเสธวิธีนี้ แล้วเขาจะทำอย่างไร ประเด็นนี้แบทชเลอร์เขาพูดไว้ในเชิงอรรถท้ายเล่ม แต่ในฉบับแปลเป็นภาษาไทยไม่มี เขาบอกว่าเขาได้อิทธิพลจากนักคิดแนวโพสต์โมเดิร์นคนหนึ่งคือ ริชาร์ด รอตี้ ซึ่งช่วยให้เขาอธิบายพุทธธรรมได้ด้วยภาษาร่วมสมัยและไม่อิงศาสนา ดูเผิน ๆ วิธีนี้ก็น่าจะอธิบายพุทธศาสนาได้ดีกว่า แต่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อเขาเลือกเอาวิธีคิดแบบโพสต์ โมเดิร์นมาอธิบาย ก็ทำให้ พุทธศาสนากลายเป็นเรื่องของปรัชญาไปเลย บางตอนอ่านแล้วก็งง โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึง freedom หรือความหลุดพ้น แบทชเลอร์บอกว่าเมื่อคุณปฏิบัติไปๆ คุณจะเป็นอิสระจากการยึดติด เป็นอิสระจากความทุกข์ แต่ถึงที่สุดแล้ว คุณก็จะมีคำถามกับสิ่งรอบตัว ซึ่งในทางเถรวาทแล้วไม่ใช่อย่างนั้น

    เมื่อเข้าถึง freedom หรือที่เถรวาทใช้ว่าวิมุตติหลุดพ้นแล้ว คุณก็จะพบ ศานติ ไม่ใช่สภาวะที่มีคำถามไปกับทุกเรื่อง จนมาถึงจุดที่รู้ว่าฉันไม่รู้อะไรเลย freedom ของเขานี่คือการไม่รู้อะไรเลย ซึ่งสำหรับคนที่เชื่อเรื่องปรัชญาอาจจะน่าสนใจ แต่ในทางพุทธ ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่รู้หรือไม่รู้ แต่อยู่ที่ว่า เมื่อคุณรู้แล้วคุณละ เมื่อคุณละแล้วคุณประศานติ คุณสงบลงได้ เท่าที่อ่านดูเหมือนในหนังสือเล่มนี้จะไม่มีคำว่า peace เลยแม้แต่คำเดียว ดูเหมือนว่าจุดสูงสุดของการหลุดพ้นหรืออิสรภาพ ในหนังสือเล่มนี้คือการตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ซึ่งต่างกับพุทธศาสนาที่ท่านติช นัท-ฮันห์ กับองค์ทะไล ลามะ และท่านอื่นๆ พูด ท่านนัท-ฮันห์กับทะไล ลามะ ใช้ peace เป็นจุดขายเลยก็ว่าได้ เพราะฝรั่งเขาไม่มี peace แต่ในหนังสือของแบทชเลอร์ คำว่าpeace ไม่มีที่ยืน ไม่มีการเน้น ไม่มีการพูดถึง ซึ่งตรงนี้อาตมาคิดว่ามันทำให้พุทธศาสนากลายเป็นเรื่องปรัชญาไปเลย และนี่คือจุดอ่อนหรือข้อจำกัดของการเอาโพสต์ โมเดิร์น มาอธิบายพุทธศาสนา

    เมื่อเขาใช้แนวคิดแบบโพสต์ โมเดิร์นแล้วนี่ มันก็มีปัญหาตามมาอีกเรื่องความคิดเรื่องผิดและถูก ทำให้ความคิดเรื่องผิดและถูกนั้นไม่มีความชัดเจน เพราะโพสต์ โมเดิร์นนั้น ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด ในขณะที่พุทธศาสนามีการแบ่งแยกเป็นสัมมาหรือมิจฉา มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นเรื่องสัมมาล้วนๆ เมื่อเอาโพสต์ โมเดิร์นมาอธิบายพุทธศาสนา เวลาแปลคำว่า สัมมาทั้งหลายในมรรคมีองค์ ๘ เขาจึงไม่ยอมใช้คำว่า right แต่เลือกใช้คำว่า authentic หรือ จริงแท้ แทน ทำให้ความหมายมันเลือนไป ไม่ลุ่มลึก หรือคำว่าอวิชชา เขาก็ไม่ใช้คำว่า ignorance หรือไม่รู้ แต่จะใช้คำว่า confusion คือ สับสน ซึ่งแตกต่างกัน ไม่รู้กับสับสนนี่ไม่เหมือนกันทีเดียว เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาพยายามเลี่ยงบาลี ยิ่งมาพูดถึงปฏิจจสมุปบาท คำที่เขาใช้แปลข้อธรรมต่าง ๆ ในปฏิจจสมุปบาท จึงขาดความลุ่มลึกไป อันนี้เป็นจุดอ่อนของเขา อย่างไรก็ตามในฉบับแปลไทย ยังใช้คำบาลีอยู่ ซึ่งก็ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของตัวผู้เขียนเท่าใดนัก

    ความคิดพื้นฐานในการเขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือ แบทชเลอร์มองว่าโลกปัจจุบันมันมีความเป็นโลกียวิสัยมากขึ้น แต่อาตมาไม่เห็นด้วย เพราะเราก็เห็น ๆ อยู่ไม่ใช่หรือว่าโลกปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องศาสนากำลังมาแรงทั่วทั้งโลก แม้แต่จะก่อการร้ายก็ก่อการร้ายในนามของศาสนา นามพระเจ้า บุชเองก็ทำสงครามในนามพระเจ้า ความคิดติดยึดในเรื่องศาสนาและพระเจ้าตอนนี้กำลังระบาดไปทั่วโลก จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทุกวันนี้คนไม่ได้ละทิ้งพระเจ้าหรือศาสนาอย่างที่แบท์ชเลอร์พูด มันหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง มนุษย์ทุกวันนี้ต้องการศาสนามาก ส่วนหนึ่งต้องการศาสนาเพื่อปลอบประโลมใจ อีกส่วนก็เพื่อมีที่ยึดเหนี่ยวในสถานการณ์ที่ผันผวนไม่แน่นอนยิ่งขึ้นทุกที ตามธรรมดาของโลกยุคโลกาภิวัตน์ ดังนั้นสิ่งที่แบทชเลอร์เชื่อว่า หากนำเสนอพุทธศาสนาในแบบโลกๆ หรือโลกียวิสัยมันจะมีเสน่ห์มากขึ้นนั้น จริงเพียงส่วนเดียว

    อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อาตมาคิดว่าน่าสนใจมากอีกประเด็นหนึ่งก็คือในบทสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรม แบทชเลอร์ได้ทำให้พุทธศาสนามีความเป็นองค์รวมมากขึ้น ก่อนถึงสองหน้าสุดท้ายนี้เราจะเห็นว่าแบทชเลอร์มองพุทธศาสนาแบบปัจเจกนิยม ก็คือ เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างปฏิบัติ ไม่ต้องไปผูกติดลัทธิพิธีกรรม ไม่ต้องขึ้นอยู่กับองค์กร ไม่ต้องขึ้นอยู่กับศาสนาหรือลัทธินิกายใดๆ คุณปฏิบัติไปในชีวิตส่วนตัว

    น่าสังเกตว่าไม่มีคำว่า community หรือว่าสังฆะ หรือชุมชนเลยในหนังสือเล่มนี้จนกระทั่งสองหน้าสุดท้าย ซึ่งที่จริงแล้วมันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะพุทธศาสนาให้คุณค่ากับสังฆะหรือชุมชนมาก การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นการมารวมกันเป็นกลุ่มโดยอาศัยกัลยาณมิตรมาคอยช่วยเกื้อกูลด้วย ชุมชนนั้นเป็นหน่วยหนึ่งของการปฏิบัติธรรมด้วย จะเป็นหมู่บ้าน สังฆะ หรือสมาคมก็แล้วแต่ ยิ่งหากคุณต้องการให้พุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมของการตื่นรู้ด้วยแล้ว คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีชุมชน สถาบัน และพิธีกรรมเพื่อที่จะสืบทอดพุทธศาสนาจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ถ้าต่างคนต่างทำ แล้วใครจะเป็นผู้สืบทอด ผู้เผยแผ่ ผู้นำพุทธศาสนาไปสู่คนในวงกว้าง อย่าลืมว่าพิธีกรรมไม่ใช่เรื่องของความฟุ้งซ่านงมงายหรือความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ยังเป็นพยายามจะทำให้ผู้คนมีแบบแผนการปฏิบัติอย่างเดียวกัน ทำให้ชุมชนมีความรู้สึกร่วมกัน และสำนึกในคุณค่าอย่างเดียวกัน จะต่างคนต่างทำไม่ได้แน่นอน
    "แต่ว่าในสองหน้าสุดท้ายเขาจะเน้นมากในเรื่องของชุมชน ความเป็นชุมชน จำเป็นจะต้องมีวิถีของการปฏิบัติธรรมแบบชุมชนด้วย

    ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจมาก แบทชเลอร์ได้กล่าวว่า พุทธศาสนากำลังมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพุทธศาสนามาสู่โลกปัจจุบัน พุทธศาสนาก็กำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายสองประการ คือ ถ้าหากว่าพุทธศาสนายังเก็บตัวอยู่ ไม่ไปมีปฏิสัมพันธ์กับใคร ไม่ไปเรียนรู้จากลัทธิความเชื่อหรือศาสนาอื่น หรือโลกภายนอก พุทธศาสนาก็จะกลายเป็นกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ เรียกว่า พวกชายขอบ ขณะเดียวกันถ้าพุทธศาสนาไปสัมพันธ์กับสิ่งอื่นมากโดยขาดความเป็นตัวของตัวเอง พุทธศาสนาก็จะกลายเป็นแค่เทคนิคจิตบำบัด เป็นแค่องค์ความรู้เพื่อการบำบัดทางจิตอย่างหนึ่งเท่านั้น! ในเรื่องพุทธศาสนาอาจถูกผลักไปอยู่ชายขอบนี้ พระธรรมปิฎกได้เตือนเช่นเดียวกับแบทชเลอร์ว่า ถ้าพุทธศาสนาจำกัดตัวเองแค่การปฏิบัติส่วนบุคคล ไม่ไปมีส่วนในการปรับปรุงสังคมหรือจัดสรรระเบียบแบบแผนทางสังคมให้สมสมัยแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ “เขตแดนแห่งการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาหรีอวงการดำเนินชีวิตแบบพุทธจะรัดตัวแคบเข้าและจะเป็นแต่ฝ่ายรับ ไม่ได้เป็นฝ่ายรุกเลย ทำให้ชุมชนชาวพุทธถอยร่นห่างออกไปจากสังคมมนุษย์ยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนหนีไปรวมกันอยู่บนเกาะที่ถูกน้ำล้อมรอบ ขาดจากชาวมนุษย์อื่น”

    ตรงนี้คือสิ่งที่ท้าทายว่าพุทธศาสนาจะทำอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนาได้รับอานิสงส์จากโลกสมัยใหม่ก็คือว่า พุทธศาสนานั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการจัดการกับโลกภายนอกด้วย อิสรภาพส่วนบุคคลไม่อาจจะแยกจากสังคมที่เป็นธรรม หรือสังคมที่มีอิสระได้ ขณะเดียวกันสังคมสมัยใหม่ก็ได้คุณูปการจากพุทธศาสนา เพราะสังคมสมัยใหม่มัวแต่ไปเน้นเรื่องอิสรภาพทางสังคม อิสรภาพทางกฎหมาย แต่ไม่เน้นเรื่องอิสรภาพทางจิตใจ อันนี้เป็นสิ่งที่พุทธศาสนาจะช่วยได้ เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาก็มีโอกาสที่จะรุ่มรวยขึ้นได้ในสังคมสมัยใหม่ ถ้าหากรับเอาแนวคิดเรื่องเสรีภาพทางสังคม หรือเสรีภาพอันเกิดจากสังคมที่ยุติธรรม และให้หลักประกันทางด้านสิทธิสิทธิเสรีภาพแก่ปัจเจกบุคคล พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องทำให้เสรีภาพในพุทธศาสนามีมิติทางสังคมด้วย

    ที่จริงเรื่องมิติทางสังคมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะว่าพุทธศาสนามีตรงนี้มาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว เพียงแต่ว่าคนที่ศึกษาพุทธศาสนามักเข้าใจไปเองว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องของความหลุดพ้นส่วนตัว แบทชเลอร์ก็คิดแบบนี้เหมือนกันด้วย เขาจึงเสนอให้ไปหยิบยืมเอามิติทางสังคมมาจากแนวคิดสมัยใหม่ แต่ที่จริงเรื่องนี้มันมีอยู่แล้วในแนวคิดแบบพุทธ เช่น ศีล ก็ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล แต่เพื่อการสร้างสังคมที่เหมาะแก่การครองธรรมด้วย ที่จริงนอกจากมิติทางสังคมจะมีอยู่ในหลักธรรมทางพุทธศาสนาแล้ว ในส่วนที่เรียกว่า “วินัย” ก็มีมิติทางสังคมอยู่ไม่น้อย แต่คนมักจะมองข้ามส่วนนี้ไป ก็เลยไม่ค่อยเห็นมิติทางสังคมของพุทธศาสนา ในเรื่องนี้พระธรรมปิฎกได้พูดเตือนเอาไว้ว่า “ผู้ศึกษาพุทธศาสนาในสมัยปัจจุบันมักจะมองข้ามวินัยไป ถ้าเข้าใจสาระของวินัยแล้ว จะมองเห็นแนวความคิดของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภายนอกในระดับสังคมได้ ขอย้ำว่าถ้าไม่ศึกษาพระวินัยปิฎก (เฉพาะอย่างยิ่งส่วนนอกปาติโมกข์)จะไม่อาจเข้าใจแนวความคิดทางสังคมของพระพุทธศาสนาได้เลย” มองในแง่นี้ งานเขียนของแบทชเลอร์ก็มีจุดอ่อนตรงที่ไม่ได้ศึกษาหรือพูดถึงพระวินัยปิฎกเลย

    ถึงแม้แบทชเลอร์มองเห็นมิติทางสังคมของพุทธศาสนาอย่างรางๆ แต่ข้อเสนอของเขาในท้ายที่สุดนั้น น่าสนใจมาก เขาบอกว่าพุทธศาสนาจะต้องเป็นศาสนาหรือวัฒนธรรมเพื่อการสร้างตน (self creation)และการสร้างโลก (world creation) ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งก็ตรงกับนักคิดทางพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อยในปัจจุบัน และที่จริงก็ตรงกับแนวคิดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้มานานแล้ว เพียงแต่เป็นสิ่งที่หลงลืมกันไป

    อย่างไรก็ตาม นี่เป็นหนังสือที่น่าอ่านมากเล่มหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อแบทชเลอร์ตั้งใจเขียนเพื่อนักอ่านที่เป็นปัญญาชน หรือคนรุ่นใหม่ที่เติบโตและเรียนรู้โลกผ่านกรอบคิดแบบเหตุผลนิยมโดยใช้สมองอย่างเดียว แต่ขาดมิติทางด้านจิตวิญญาณ เพียงแต่มีปัญหาอยู่ตรงที่แบทชเลอร์ไม่ควรไปกล่าวว่า สิ่งที่เขาอธิบายผ่านหนังสือเล่มคือทั้งหมดของพุทธศาสนาที่แท้ หรือตำหนิพุทธศาสนาแบบอื่นๆ ที่เขาปฏิบัติกันว่าได้สูญเสียแก่นแก้ของพุทธธรรมไปแล้ว เพราะยังมีอีกสาระสำคัญของพุทธศาสนาหลายจุดที่เขาไม่ได้พูด หรือพูดไม่ถึง อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ก็ "เขย่าความคิดของเราได้ดีเหลือเกิน"
    :- https://visalo.org/article/budPonLatti.htm

     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ทางสองแพร่ง.jpg
    ดาบสองคม

    พระไพศาล วิสาโล

    การสังหารหมู่ที่นอรเวย์เมื่อเดือนกรกฎาคม ศกก่อน ซึ่งเป็นเหตุให้มีคนตายถึง ๗๗ คนนั้น เป็นข่าวสะเทือนขวัญคนทั้งโลก ฆาตกรคือแอนเดอรส์ บรีวิก ให้เหตุผลว่าที่ทำเช่นนั้นก็เพราะโกรธแค้นรัฐบาลที่มีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม เท่ากับเป็นการทำลายสังคมนอรเวย์ เพราะเปิดช่องให้พวกมุสลิมมา “รุกราน”ประเทศ


    ในระหว่างการพิพากษา บรีวิก ได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เขาสังหารเหยื่อที่มาเข้าค่ายเยาวชนของพรรครัฐบาลในเกาะอุโทยา ส่วนใหญ่ถูกจ่อยิงที่หัว ใครที่ยังไม่ตายเขาก็ยิงซ้ำจนแน่นิ่ง รวมแล้วเป็นจำนวน ๖๙ คน เขายอมรับว่านั่นเป็นเรื่องที่ “โหดร้าย” และ “ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์” แต่เขาจำเป็นต้องทำ ดังนั้นจึงพยายามบังคับตัวเองให้ลงมือสังหารคนเหล่านั้น

    เขาเปิดเผยว่าเขาใช้เวลาเป็นแรมปีในการฝึกสมาธิ เพื่อจะได้กดข่มอารมณ์ของตัวไว้ไม่ให้หวั่นไหวในยามที่ต้องปลิดชีวิตผู้คน แล้วเขาก็ทำได้สำเร็จเพราะเขาสามารถฆ่าเหยื่อทีละคนได้โดยไม่สะทกสะท้าน

    คำสารภาพของเขาได้สร้างความตกตะลึงแก่ผู้คนจำนวนไม่น้อย ส่วนหนึ่งก็เพราะสมาธิในสายตาของคนทั่วไปนั้นเป็นเรื่องของการแสวงหาความสงบในจิตใจ เป็นวิสัยของศาสนิกหรือผู้รักสงบ ไม่น่าจะเกี่ยวพันกับการสังหารโหดเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองแต่อย่างใด

    ความเข้าใจเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะสมาธิมักถูกผูกโยงกับศาสนา โดยเฉพาะศาสนาทางตะวันออกเช่น พุทธศาสนา แต่ที่จริงแล้วสมาธิหรือความตั้งมั่นแน่วแน่ในจิตใจนั้นเป็นสิ่งกลาง ๆ คือ สามารถใช้ในทางที่ดีหรือชั่วก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อจุดมุ่งหมายทางศาสนาเท่านั้น จะใช้เพื่อจุดมุ่งหมายทางโลกหรือแบบโลกย์ ๆ ก็ได้ เช่น ในการแข่งกีฬา ที่จริงแม้กระทั่งขโมยเวลาถอดรหัสตู้เซฟก็ต้องใช้สมาธิมาก จะว่าไปแล้วสมัยก่อนเวลาเพชฌฆาตจะตัดคอคน ก็ต้องใช้สมาธิอย่างมากเพื่อให้แน่ใจว่าขวานที่เหวี่ยงลงไปจะตัดกลางลำคอ ไม่คลาดไปทางอื่น อันจะเป็นการสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ต้องโทษ

    ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงมีการแยกแยะระหว่างมิจฉาสมาธิ กับ สัมมาสมาธิ สมาธิอย่างหลังนั้นเป็นไปเพื่อการทำจิตให้สงบ เป็นกุศล และเอื้อต่อการเข้าถึงความสุขประณีต (เช่น ฌาน) หรือเพื่อการพิจารณาให้เห็นความจริงของกายและใจ (ที่เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน) ซึ่งนำไปสู่การลดละกิเลส หรือละวางความยึดติดถือมั่นในตัวตน อันมีความพ้นทุกข์เป็นจุดหมายสูงสุด

    ในยุคที่ผู้คนมีความทุกข์ทางใจมาก ทั้ง ๆ ที่มีความสะดวกสบายและความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ความสงบใจกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนโหยหาและเสาะแสวงมากขึ้น การฝึกสมาธิจึงได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศตะวันตก แต่ส่วนใหญ่แล้วหวังเพียงแค่ให้ใจสงบ ลดความฟุ้งซ่าน เพื่อจะได้คลายความวิตกกังวลหรือหายจากโรคนอนไม่หลับ ขณะที่จำนวนไม่น้อยต้องการจิตที่เป็นสมาธิเพื่อเรียนให้เก่งหรือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างหลังนี้เป็นสิ่งที่นักธุรกิจต้องการมากเพราะหวังทำกำไรให้มากขึ้นกว่าเดิม

    อย่างไรก็ตามสมาธิหรือความสงบใจอย่างนี้ให้ความสงบหรือความสุขแค่ชั่วคราวเท่านั้น ตราบใดที่กิเลสหรือความเห็นแก่ตัวยังไม่ลดลง ก็ต้องมีเรื่องกระทบใจให้เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง เช่น ร้อนใจที่เห็นคนอื่นร่ำรวย เลื่อนตำแหน่ง หรือประสบความสำเร็จมากกว่าตน ขุ่นเคืองใจเมื่อถูกตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ เศร้าโศกเสียใจเมื่อสูญเสียทรัพย์ สถานะ หรือคนรัก กล่าวอีกนัยหนึ่งตราบใดที่ยังมีความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู การทำสมาธิก็ไม่ต่างจากแอสไพรินหรือยาระงับปวดชั่วคราวเท่านั้น

    การฝึกจิตที่ก่อให้เกิดความสงบใจหรือความสุขอย่างแท้จริงนั้น ต้องเป็นไปเพื่อลดละกิเลสและความเห็นแก่ตัว ด้วยการน้อมใจให้เห็นชัดว่า วัตถุสิ่งเสพ อำนาจ และเกียรติยศนั้น แม้ให้ความสุข แต่ก็เจือไปด้วยทุกข์ โดยที่ทุกข์มักจะมากกว่าสุข เพราะต้องเหนื่อยในการแสวงหา(และแย่งชิง) ครั้นได้มาก็ต้องเป็นภาระในการรักษา แต่สุดท้ายก็ต้องพลัดพรากสูญเสีย โดยที่ระหว่างที่มันยังอยู่กับตนนั้น เสน่ห์หรือความสุขที่ได้จากมันก็มักจืดจาง ทำให้อยากได้ของใหม่หรือมากกว่าเดิม จึงต้องดิ้นรนแสวงหามาอีก เป็นเช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้น หลายคนเมื่อใกล้ตายถึงได้รู้ว่าเสียเวลาไปทั้งชีวิตเพื่อสิ่งเหล่านี้โดยหาสาระอะไรไม่ได้เลย แต่ถึงตอนนั้นก็สายเกินกว่าที่จะเริ่มต้นใหม่เสียแล้ว

    ความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูนั้นเป็นที่มาแห่งความทุกข์ เพราะแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่ยึดมั่นเป็นตัวกูของกูได้เลยสักอย่าง แต่เพราะความหลงจึงยึดอะไรต่ออะไรว่าเป็นตัวกูของกู ไม่แต่ทรัพย์สมบัติ อำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียงเท่านั้น หากยังรวมถึงความคิดหรืออุดมการณ์ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเลื่อนไหลแปรเปลี่ยน หากยึดติดถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะเป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยงของมันแล้ว ยังเป็นทุกข์เมื่อมีอะไรมากระทบมัน เช่น เจอคนที่คิดต่างเห็นต่าง ก็ไม่พอใจ จนเกิดความคับแค้น นำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นประหัตประหาร ดังสงครามระหว่างศาสนาหรือการฆ่าฟันในนามอุดมการณ์ทางการเมือง

    สมาธิจะเป็นสัมมาสมาธิได้ก็ต่อเมื่อช่วยให้เกิดปัญญาแลเห็นถึงโทษของความยึดติดถือมั่นดังกล่าว ไม่ว่า สิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์ อำนาจ เกียรติยศ หรืออุดมการณ์ก็ตาม แลเห็นกระทั่งว่าไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นเป็นตัวกูของกูได้เลย สัมมาสมาธิเช่นนี้แหละที่จะทำให้จิตใจสงบเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง แม้จะต้องประสบกับความผันผวนปรวนแปรหรือความพลัดพรากสูญเสียอันเป็นธรรมดาโลก แต่ก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใด เพราะไม่มีตัวกูผู้ทุกข์อีกต่อไป ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไม่มีความยึดมั่นในตัวกูของกู ความเห็นแก่ตัวก็หายไป จิตใจเปิดกว้างเปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา จึงสามารถเกื้อกูลผู้คนได้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

    ในทางตรงข้าม สมาธิที่มุ่งเพียงแค่ความสงบใจหรือข่มอารมณ์นั้น อาจกลายเป็นโทษได้ เพราะสามารถถูกนำไปใช้เพื่อตอบสนองความหลงและก่อความพินาศอย่างน่าสะพรึงกลัว ดังกรณีของบรีวิกเป็นตัวอย่างอันชัดเจน
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255510.htm

     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เมื่อถูกกลายเป็นผิด
    พระไพศาล วิสาโล
    ในหนังสือเรื่อง Mindful Politics ซึ่งรวบรวมทัศนะชาวพุทธอเมริกันเกี่ยวกับสังคมและการเมือง ริชาร์ด รีออค (Richard Reoch) ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในอเมริกา ซึ่งให้แง่คิดอย่างน่าสนใจ

    เรื่องของเรื่องก็คือ สำนักปฏิบัติธรรมแห่งนั้นเห็นว่าควรมีการอบรมให้สมาชิกมีความรู้และทักษะการระงับความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เพราะเห็นว่าสอดคล้องกับคำสอนทางพุทธศาสนา จึงได้เชิญวิทยากรผู้หนึ่งมาจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในช่วงเสาร์อาทิตย์ วิทยากรผู้นี้ไม่ใช่ชาวพุทธ แต่ก็เข้าใจแนวคิดและอารมณ์ความรู้สึกของคนกลุ่มนี้พอสมควร

    วันที่สองของการอบรมซึ่งจัดในห้องสวดมนต์ วิทยากรชวนทำกิจกรรม “สวมบทบาท” โดยให้สมาชิกสองคนรับบทเป็น “ตัวประกัน” ซึ่งถูกผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งจับตัวไป คนที่เหลือสวมบทบาทเป็นผู้เจรจาเพื่อให้สองคนนั้นได้รับอิสรภาพ ส่วนวิทยากรรับบทเป็นผู้ก่อการร้าย เมื่อชี้แจงบทเรียบร้อยแล้ว เขาก็ควักบุหรี่ออกมาสูบ

    หนึ่งในผู้อบรมประท้วงทันทีว่า “ขอโทษครับ ห้ามสูบบุหรี่ในห้องสวดมนต์” แต่เขาทำทีไม่สนใจ ยังคงสูบต่อไป ครั้นถูกทักท้วงหนักเข้า เขาก็พูดด้วยสีหน้าเฉยเมยว่า “ กฎระเบียบอะไรของคุณ ผมไม่สนใจหรอก คุณอยากเจรจาเรื่องสูบบุหรี่ หรืออยากให้เพื่อนของคุณได้อิสรภาพ?”

    “เราจะไม่เจรจากับคุณจนกว่าคุณจะเคารพห้องสวดมนต์ของเรา” อีกคนหนึ่งยืนกราน

    “โอเค หยุดสูบก็ได้” ว่าแล้วผู้ก่อการร้ายก็เดินไปที่แท่นบูชา สูบบุหรี่เฮือกใหญ่ แล้วก็ขยี้ก้นบุหรี่บนพระเพลา(ตัก)ของพระพุทธรูป

    ทุกคนในห้องนิ่งอึ้งไปหมด ตอนนี้ไม่มีใครสนใจการสวมบทบาทแล้ว ต่างวิ่งไปดูว่าพระพุทธรูปเสียหายหรือไม่

    “คุณรู้ไหมว่าทำอะไรลงไป”มีคนหนึ่งตะโกนขึ้นมา “นี่พระพุทธรูปนะ”

    “ผมไม่สนใจ นี่ไม่ใช่พระพุทธรูปของผม และนี่ก็ไม่ใช่ห้องสวดมนต์ของผม ตอนนี้ผมหยุดสูบบุหรี่แล้ว พวกคุณอยากเจรจาเรื่องเพื่อนของคุณหรือเปล่า ไม่งั้นผมก็จะออกจากห้องนี้ไป”

    ตอนนี้ทุกคนพากันเดือดดาล ไม่มีใครสนใจเรื่องการเจรจาปล่อยตัวประกันแล้ว เพราะโกรธเคืองที่เขาดูหมิ่นพระพุทธรูป ชายคนหนึ่งเดินไปหาเขาแล้วพูดว่า “เราเชิญคุณมาที่นี่เพื่อจัดอบรม เรารู้ว่าที่นี่ไม่ใช่สถานที่ของคุณและคุณก็ไม่ได้นับถือพุทธ แต่นี้คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเรา เราขอให้คุณเคารพสถานที่แห่งนี้”

    “คุณอยากรู้ว่าผมเคารพสถานที่นี้แค่ไหนหรือ?” ว่าแล้วเขาก็เดินไปมุมห้องแล้วฉี่ใส่พื้น

    เท่านั้นแหละทุกคนอดใจไม่อยู่ กรูไปหาเขา แล้วกลุ้มรุมทำร้ายเขา บ้างก็เตะ บ้างก็ต่อย จนเขาล้มลง แต่ก็พาตัวหนีออกมาได้ พร้อมกับบอกให้ “ตัวประกัน” เป็นอิสระ ก่อนที่เขาจะออกจากห้องสวดมนต์นั้น แล้วไม่กลับมาอีกเลย

    การอบรมครั้งนั้น แทนที่จะทำให้ผู้คนเชื่อมั่นและมีทักษะทางด้านสันติวิธีมากขึ้น กลับลงเอยด้วยความรุนแรง นักปฏิบัติธรรมซึ่งรักสงบเคร่งในศีล บางคนกินมังสวิรัตินานนับสิบปีด้วยซ้ำ แต่เหตุใดกลับลงมือเตะต่อยทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน?

    อันที่จริงเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มขึ้นจากเรื่องสมมุติ พฤติกรรมของวิทยากรผู้นั้นก็เป็นแค่การแสดง แต่ทำไมจึงกลายเป็นเรื่องจริงจังจนเกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นมาได้ คำตอบก็คือ เป็นเพราะความลืมตัวของผู้เข้าอบรม และที่พวกเขาลืมตัวก็เพราะเห็นความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ซ้ำร้ายเป็นความไม่ถูกต้องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตนสักการะบูชาเสียด้วย

    คนเหล่านี้เคารพสักการะพระพุทธเจ้า(และสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้อง)เป็นอย่างมาก จนเห็นว่าเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ ครั้นมีคนแตะต้องสิ่งเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นแค่การแสดง เขาก็รู้สึกถูกกระทบอย่างรุนแรง เกิดความโกรธจนลืมตัว

    คนเหล่านี้เห็นว่าความรุนแรงไม่ดี สวนทางกับคำสอนของพระพุทธองค์ จึงเห็นความสำคัญของการฝึกฝนสันติวิธี แต่เมื่อลืมตัวเพราะถูกความโกรธครอบงำเสียแล้ว ก็ลืมไปเลยว่ากำลังอบรมเรื่องสันติวิธีอยู่ พร้อมจะทำอะไรก็ได้ แม้กระทั่งทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือขัดกับคำสอนของพระองค์ ทั้งนี้เพื่อรักษา “ความถูกต้อง” เอาไว้

    ความถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่ถ้ายึดติดถือมั่นมาก ก็สามารถผลักดันให้ทำสิ่งที่ผิดได้ เพราะยิ่งยึดติดถือมั่นมากเท่าไร ก็ยิ่งโกรธเกลียดได้ง่ายจนลืมตัว เมื่อสิ่งที่ยึดติดถือมั่นถูกกระทบ หรือเมื่อเจอสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่ยึดติดถือมั่น และเมื่อลืมตัวเสียแล้ว ก็พร้อมจะทำสิ่งที่เลวร้ายหรือตรงข้ามกับสิ่งที่ตนเชื่อ

    อันที่จริงถ้ามีสติ ก็จะรู้ว่าสิ่งที่วิทยากรผู้นั้นทำก็คือ การสร้างสถานการณ์ยั่วยุเพื่อฝึกให้เขาเหล่านั้นคิดหาทางออกอย่างสันติ วิทยากรผู้นั้นเลือกที่จะใช้โจทย์ยาก ๆ คือเรื่องที่กระทบกับความเชื่อหรือทิฐิของคนเหล่านั้น ชนิดที่กระเทือนไปถึงอัตตา แต่เป็นเพราะผู้เข้าอบรมนั้นมัวแต่ส่งจิตออกนอก จอจ่ออยู่กับการกระทำที่ “ไม่ถูกต้อง” จนลืมกลับมาดูจิตของตน จึงถูกความโกรธเล่นงาน ผลก็คือแทนที่จะเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างสันติ กลับทำสิ่งเลวร้ายซึ่งสวนทางกับหลักธรรมในพุทธศาสนา พูดอีกอย่างก็คือ สมาชิกสำนักปฏิบัติธรรมเหล่านั้นล้วนสอบตก ทั้งในฐานะชาวพุทธและผู้ใฝ่สันติวิธี

    ในความเป็นจริง โจทย์ดังกล่าวมิใช่เรื่องเกินเลย ข่าวคราวทำนองนี้เกิดขึ้นเนือง ๆ อันเป็นธรรมดาของยุคนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายทางความคิดความเชื่อ รวมทั้งมีการปะทะทางศาสนาและวัฒนธรรมอยู่เสมอ ความรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเคารพเทิดทูนถูกละเมิดหรือจ้วงจาบ นับวันจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี้คือโจทย์ประเภทหนึ่งที่คนทุกฝ่ายทุกความเชื่อจะต้องเตรียมตัวรับมือ สำหรับชาวพุทธ การตอบโต้พฤติกรรมดังกล่าวมิอาจเป็นอื่นได้ นอกจากการใช้สันติวิธี เพราะนั่นคือสิ่งที่ยืนยันความเป็นชาวพุทธอย่างแท้จริง

    อย่าว่าแต่การกล่าวร้ายหรือจ้วงจาบสิ่งที่เรารักเลย แม้กระทั่งเมื่อมีผู้ทำร้ายเรา พระพุทธองค์ก็ได้ให้ข้อธรรมเตือนใจว่า “หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีด้ามสองข้าง เลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีจิตคิดร้ายแม้ในโจรพวกนั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ จักหวังอนุเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์ มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน แผ่เมตตาจิตไปถึงบุคลนั้น”

    การจ้วงจาบพระพุทธรูป ทำลายวัดวาอารามนั้น ไม่สามารถทำให้พุทธศาสนาคลอนแคลนได้ ตราบใดที่ชาวพุทธยังมั่นคงในหลักธรรม แต่เมื่อใดที่ชาวพุทธประพฤติตนคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมแล้ว แม้มีพระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในโลก มีวัดวาอารามที่งดงามมาก สถานะของพุทธศาสนาก็นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

    ความเคารพในพระพุทธรูปหรือสัญลักษณ์ในพุทธศาสนา เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธ สามารถน้อมใจให้เป็นกุศล เกิดศรัทธาในการทำความดีได้ แต่ถ้ายึดติดถือมั่นในสิ่งนั้นจนกลายเป็น “ตัวกู ของกู”ขึ้นมา มันก็สามารถผลักดันให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ แทนที่จะทำเพื่อปกป้องศาสนา อาจกลายเป็นการทำเพื่อปกป้อง “ตัวกู ของกู”ก็ได้ ซึ่งลงท้ายกลายเป็นการบั่นทอนศาสนาหรือสิ่งที่ตนเทิดทูนสักการะ ดังที่กำลังเกิดขึ้นโดยพระพม่าและศรีลังกาที่ใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมในนามของการปกป้องพุทธศาสนาในเวลานี้

    ไม่ใช่แต่พุทธศาสนาเท่านั้น อุดมการณ์อันสูงส่งใด ๆ หากยึดติดถือมั่นเสียแล้ว ก็สามารถส่งผลให้ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับอุดมการณ์เหล่านั้นก็ได้ ในทำนองเดียวกันยิ่งยึดมั่นในความดีความถูกต้องมากเท่าไร ก็อาจลืมตัวจนทำสิ่งที่ผิดก็ได้ นี้ใช่ไหมที่ทำให้คนดี ๆ เห็นด้วยกับการฆ่าตัดตอนพ่อค้ายาเสพติด หรือเข้าไปรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาฆ่าข่มขืนจนตายคาที่ รวมทั้งทำให้ผู้รักชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ พากันกลุ้มรุมทำร้ายและทรมานนักศึกษาในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ฯ ๒๕๑๙จนถึงตาย

    “ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้ มันก็ผิด” คำสอนสั้น ๆ ของหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต จังหวัดระยอง สามารถเตือนใจทุกคนได้เป็นอย่างดี ไม่เฉพาะกับชาวพุทธเท่านั้น
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255610.htm
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    ออกจากกรงที่ขังตนเอง
    พระไพศาล วิสาโล
    “ความรู้คืออำนาจ” ข้อความดังกล่าวมีส่วนจริงไม่น้อย แต่อะไรที่มีมาก ๆ ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป หาไม่คงไม่มีสำนวนว่า“ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” แสดงว่าถึงจะมีความรู้มากก็อาจไม่ช่วยอะไร บางครั้งกลับกลายเป็นปัญหาด้วยซ้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น การมีข่าวสารข้อมูลมาก ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเสมอไป

    จะว่าไปแล้วปัญหาของคนในยุคนี้ก็คือมีข่าวสารข้อมูลมากเกินไปจนไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไรดี ทุกวันนี้ข่าวสารข้อมูลมาจากทุกทิศทุกทาง แค่จากโทรทัศน์ซึ่งมีอยู่นับร้อยช่องก็เกินพอแล้ว แต่นั่นเป็นส่วนน้อยของข่าวสารข้อมูลที่เราได้รับในแต่ละวัน นอกจากหนังสือพิมพ์และนิตยสารแล้ว ยังมีเว็บไซต์นับสิบที่อยากอ่าน อีเมล์มากมายที่ต้องตอบ Facebook หลายเพจที่ต้องเปิด รวมทั้งวีดีโอ YouTube นับสิบคลิปที่ชวนดู ยังไม่นับข่าวสารทางโทรศัพท์ที่มาในรูปของเสียงและsms แล้วก็ tweeter อีกด้วย ที่ว่านี้เฉพาะข่าวสารข้อมูลที่เราอยากรับรู้ ยังมีอีกมากที่ไม่สนใจแต่ก็โผล่มาให้เห็นตามป้ายโฆษณานับร้อย ๆ ที่ผ่านตาในแต่ละวัน แล้วข้อมูลที่ต้องอ่านต้องเจอระหว่างการทำงานอีกล่ะ ไม่ผิดหากจะพูดว่าคนเมืองทุกวันนี้กำลังถูกข้อมูลท่วมทับ

    มีการสำรวจพบว่า ๒ ใน ๓ ของผู้จัดการในประเทศต่าง ๆ เชื่อว่าการมีข้อมูลล้นเหลือเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีความสุขกับการทำงานน้อยลงหรือไม่ก็ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นแย่ลง ๑ ใน ๓ เชื่อว่ามันทำให้สุขภาพของเขาเสื่อมโทรมลง นอกจากนั้นยังมีการสำรวจพบว่าผู้จัดการส่วนใหญ่คิดว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่ตนได้รับนั้นไร้ประโยชน์

    พูดอีกอย่าง “ความรู้คืออำนาจ”ก็จริง แต่การมีข่าวสารข้อมูลมาก ๆ กลับทำให้ผู้คนรู้สึกไร้อำนาจมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองน้อยลง ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังจึงมีการสรรหาวิธีการต่าง ๆ มากมายเพื่อแก้ปัญหาข่าวสารข้อมูลท่วมทับ วิธีหนึ่งก็คือ การคิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยกรองข่าวสารข้อมูลเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้รับ

    เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราเลย แต่กำลังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรามากขึ้น ทุกวันนี้มันอาจกำลังทำงานให้เราอยู่ก็ได้ หนึ่งในนั้นคือ Google มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หากคุณโทรศัพท์บอกเพื่อนที่อยู่ในต่างประเทศให้ถาม Google ด้วยการพิมพ์คำใดคำหนึ่งในเวลาเดียวกันกับคุณ คำตอบที่คุณและเพื่อนได้นั้นจะแตกต่างกันกัน ทั้งนี้ก็เพราะGoogle จะเอาข้อมูลเกี่ยวกับคุณ เช่น สถานที่ การค้นหาคำในอดีต รวมทั้งความสนใจส่วนตัว มาใช้ในการหาคำตอบ พูดอีกอย่างหนึ่ง มันจะให้ผลที่สอดคล้องกับตัวคุณ

    Amazon เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่า คุณจะชอบหนังสือเล่มใด หรืออัลบั้มเพลงใดบ้าง รวมทั้งให้คำแนะนำที่ตรงกับรสนิยมของคุณ ในทำนองเดียวกัน Facebook ก็จะอัพเดทข้อมูลของเพื่อนที่คุณติดต่อบ่อยที่สุด ขณะเดียวกันก็กรองเอาคนที่คุณติดต่อน้อยที่สุดออกไป

    แน่นอนว่าเทคโนโลยีแบบนี้ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น แทนที่จะต้องเสียเวลาค้นหาข้อมูลที่เราสนใจ มันกลับเป็นฝ่ายคัดเลือกมาให้เราเอง ราวกับรู้ใจเรา อย่างไรก็ตามในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย นี้เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง เพราะแสดงว่าข้อมูลส่วนตัวของเรานั้นไม่ได้เป็นส่วนตัวอีกต่อไป แต่ถูกเก็บสะสมไว้อย่างละเอียดในคลังข้อมูลของเทคโนโลยีเหล่านี้ จนไม่เพียงบ่งบอกหากยังทำนายได้อย่างแม่นยำว่าเราจะชอบอะไรบ้าง

    แต่สิ่งที่น่าห่วงใยมีมากกว่านั้น การที่มันสามารถนำเสนอข้อมูลที่ตรงกับความสนใจของเรา ในด้านหนึ่งก็หมายความว่ามันกำลังตีกรอบการรับรู้ของเราให้แคบลงด้วย คือรับรู้แต่เฉพาะเรื่องที่ถูกใจเราเท่านั้น หากเราถูกแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีเหล่านั้น ซึ่งรู้ว่าเราชอบข่าวประเภทไหน ไม่ใช่แค่รู้ว่าชอบข่าวการเมือง เศรษฐกิจ กีฬา หรือบันเทิงเท่านั้น แต่ยังรู้ถึงขนาดว่าเราชอบข่าวการเมืองแบบใด แนวไหน อนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยม ขวาหรือซ้าย “เหลือง” หรือ “แดง” เราก็จะได้รับแต่ข่าวสารข้อมูลแนวนั้นแนวเดียว ซึ่งก็เท่ากับตอกย้ำความเข้าใจหรือความเชื่อเดิม ๆ ที่มีอยู่แล้วในใจเราให้ฝังลึกแน่นแฟ้นขึ้น แทนที่จะมีโอกาสรับฟังข่าวสารข้อมูลหรือความเห็นที่ต่างออกไปบ้าง ผลก็คือเกิดความเชื่อฝังหัวยิ่งกว่าเดิม มีผู้เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “การโฆษณาฝังหัวตนเอง” (autopropaganda)

    ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีที่รู้ใจเรานั้นยังไม่ได้พัฒนาถึงขั้นที่ห้อมล้อมตัวเราอย่างแน่นหนาก็ตาม แต่ “การโฆษณาฝังหัวตนเอง” กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังเห็นได้ว่าทุกวันนี้ผู้คนพากันเข้าหาและตามติดแหล่งข่าวสารข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อและรสนิยมของตัวมากขึ้นทุกที อันที่จริงนี้เป็นธรรมดาของมนุษย์ เป็นแต่ว่าในยุคนี้แหล่งข่าวสารข้อมูลที่ตรงใจตัวเองนั้นหาได้ง่ายขึ้น เข้าถึงได้สะดวกขึ้น อีกทั้งยังมีให้เลือกอย่างล้นเหลือ รวมทั้งมีทุกแนวทุกแบบและทุกเฉดสี แม้แต่ความคิดที่สุดโต่งก็เข้าถึงได้ง่าย เพราะการเผยแพร่ข่าวสารเหล่านี้ทำได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก เพียงแต่เปิดเว็บไซต์ขึ้นมาหรือไม่ก็ใช้อีเมลเป็นสื่อก็สำเร็จประโยชน์แล้ว แหล่งข้อมูลเหล่านี้เน้นสื่อสารกับคนที่คิดเหมือนกัน คอเดียวกัน ดังนั้นจึงมักให้ข้อมูลและความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยไม่สนใจข้อมูลหรือความคิดเห็นที่ต่างออกไป มิหนำซ้ำยังใส่อารมณ์ได้เต็มที่ จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้รับสื่อนั้นมีความคิดสุดโต่งมากขึ้น โดยเชื่อมั่นเต็มร้อยว่าความรับรู้และความเห็นของตนนั้นถูกต้องที่สุด และดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะมองคนที่เห็นต่างจากตนเป็นพวกที่ “ไม่รู้จริง” “งี่เง่า” หรือ “เลวทราม”ไปเลย
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    (ต่อ)
    Facebook เป็นตัวอย่างหนึ่งของสื่อที่สามารถทำให้คนมีความคิดเห็นที่แคบลงหรือถึงกับสุดโต่งไปเลยได้ง่ายขึ้น เพราะผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกรับคนที่มีความคิดเห็นหรือรสนิยมคล้ายกันมาเป็นเพื่อน ใครที่แสดงความเห็นต่างจากตน หากต่างอย่างสุดขั้ว(หรือต่างเพียงแค่บางเรื่องบางประเด็นหรือบางระดับ)ก็ถูกตัดออกไปได้ง่าย ๆ คงเหลือแต่เพื่อนที่คิดเหมือนกันหรือมองในแนวเดียวกัน จึงเท่ากับตอกย้ำความเชื่อที่มีอยู่จนมั่นใจว่าเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง อันที่จริงถึงแม้ไม่ตัดคนที่คิดต่างออกจากความเป็นเพื่อนใน Facebook แต่หากไม่ค่อยได้ติดต่อสื่อสารกับเขาเลย โปรแกรมในFacebookก็สามารถกันเขาออกไปได้ ดังมีนักเขียนแนวเสรีนิยมบางคนตั้งข้อสังเกตว่า จู่ ๆ เพื่อนที่มีหัวอนุรักษ์นิยมหรือเอียงขวาก็หายไปจากหน้าFacebookของเขา

    การนำเสนอข้อมูลและความเห็นไปในแง่ใดแง่หนึ่งเป็นหลักนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับสื่อสมัยใหม่หรือสื่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น แม้แต่สื่อดั้งเดิมเช่น หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ ก็มีแนวโน้มไปในทางนั้นด้วยเช่นกัน ในอดีตสื่อเหล่านี้มักเสนอข้อมูลและความเห็นที่หลากหลาย มีทั้งข่าวการเมือง เศรษฐกิจ กีฬา บันเทิง วัฒนธรรมในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน ส่วนความเห็นก็มีแทบทุกแนว (ยกเว้นความเห็นที่สุดโต่ง) ยิ่งสื่อขนาดใหญ่ที่มีผู้อ่านหรือผู้ชมทั่วประเทศ ก็จะยิ่งมีเนื้อหาที่หลากหลาย โดยที่ความเห็นนั้นมักจะแสดงออกมาแบบกลาง ๆ ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่งชัดเจน ทั้งนี้เพราะต้องการดึงผู้คนซึ่งมีความต้องการและความเห็นที่หลากหลายให้มาเป็นลูกค้าของตน หากสื่อฝักใฝ่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งแล้ว ก็จะทำให้ผู้อ่านหรือผู้ชมส่วนหนึ่งหันหลังให้ ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อยอดขายแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือรายได้จากโฆษณาก็จะลดลง จะว่าไปแล้วบริษัทโฆษณานั้นมีอิทธิพลไม่น้อยในการทำให้สื่อขนาดยักษ์มีจุดยืนแบบกลาง ๆ เพื่อดึงดูดคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพราะนั่นหมายความว่าบริษัทเหล่านี้สามารถโฆษณาสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง มองในแง่นี้ความเป็นกลางของหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เป็นประโยชน์ทั้งต่อเจ้าของสื่อ คนทำงานสื่อ และบริษัทโฆษณา แต่ผลพลอยได้ก็ตกมาถึงผู้อ่านผู้ชมด้วย ตรงที่ได้รับข้อมูลและความเห็นที่หลากหลาย ไม่เอนเอียงทางใดทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามข้อเสียก็คือสื่อแบบนี้ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้แก่ความเห็นที่ทวนกระแสหรือท้าทายความเชื่อพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ (radical) ต้องอาศัยสื่อขนาดเล็กซึ่งมีผู้อ่านผู้ชมเฉพาะกลุ่ม

    อย่างไรก็ตามแนวโน้มนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะทุกวันนี้สื่อดั้งเดิมนอกจากจะเน้นเนื้อหาข่าวสารเฉพาะด้านมากขึ้นแล้ว ยังมีความเป็นกลางน้อยลง แต่ “เอียงข้าง”ชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อแข่งกับสื่อชนิดใหม่ที่นับวันจะดึงลูกค้าของสื่อดั้งเดิมออกไป การเอียงข้างในที่นี้หมายถึงการแสดงความเห็นหรือจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แทนที่จะเสนอข้อมูลล้วน ๆ ให้ผู้อ่านผู้ชมตัดสินเอาเอง อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การนำเสนอข้อมูลแต่เพียงแง่ใดแง่หนึ่ง มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นตามมามากขึ้นเพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการเสพสื่อที่มีความเห็นและจุดยืนสอดคล้องกับตน

    ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนนับวันจะอยู่ในโลกแห่งข่าวสารข้อมูลที่ตนเลือกเฟ้นขึ้นเอง และเหินห่างจากความเป็นจริงมากขึ้น เพราะมองเห็นและยึดติดอยู่แต่ความจริงด้านเดียว (หรือแย่กว่านั้นก็คือยึดติดกับความเท็จความลวง) ขณะเดียวกันก็ปิดกั้นตัวเองจากข่าวสารข้อมูลและความเห็นที่ไม่ถูกใจตน ผลเสียที่ตามมาอีกประการหนึ่งก็คือ เกิดช่องว่างทางความคิดกับคนอื่น ๆ มากขึ้น เหมือนกับคนตาบอดที่คลำช้างคนละส่วนแล้วหลงคิดว่าแต่ละส่วนนั้นเป็นความจริงทั้งหมด ผลที่เกิดขึ้นก็คือการทะเลาะเบาะแว้งเพราะต่างยึดมั่นใน “ความจริง”ของตน จนถึงกับเห็นซึ่งกันและกันเป็นศัตรู ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยึดติดถือมั่นกับความเชื่อของตน โดยสนใจรับฟังความเห็นที่ต่างจากตนเลย

    น่าแปลกที่ว่าในยุคข่าวสารข้อมูล ผู้คนแทนที่จะมีความรู้และมุมมองกว้างขวางขึ้น กลับมีทัศนะที่แคบลง ไม่ใช่เพียงเพราะสื่อเลือกข้างกันมากขึ้นเท่านั้น หากยังเป็นเพราะผู้คนเลือกที่จะโฆษณาฝังหัวตนเองด้วย ในแง่นี้จึงไม่ต่างกับการสร้างกรงขังทางด้านสติปัญญาให้แก่ตนเองโดยไม่รู้ตัว วิธีหนึ่งที่จะช่วยทลายกรงขังดังกล่าวก็คือ การพยายามเปิดใจรับรู้ข่าวสารข้อมูลและความเห็นที่หลากหลาย ด้วยการเข้าหาแหล่งข้อมูลที่มีจุดยืนหรือความเห็นไม่ตรงกับตนเองบ้าง ไม่ใช่เพื่อรู้ว่าเขาคิดอะไรเท่านั้น แต่เพื่อรับฟัง ไตร่ตรอง และเทียบเคียงกับข้อมูลที่ตนมี รวมทั้งเพื่อตรวจทานความเห็นของตนด้วย ในเวลาเดียวกันก็ควรขยายแวดวงผู้ที่ตนติดต่อสื่อสารให้กว้างขวางขึ้น ไม่ใช่แค่รับคนที่คิดเหมือนกันเป็นเพื่อนใน Facebook เท่านั้น แต่ควรรวมไปถึงคนที่คิดต่างจากเราด้วย

    จริงอยู่การเปิดใจรับฟังคนที่คิดต่างจากเราไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในบรรยากาศที่การเมืองแยกขั้วอย่างชัดเจน ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องเจอความเห็นที่สุดโต่งและการด่าทอซึ่งกำลังแพร่ระบาดโดยเฉพาะในสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อประเภท social media แต่นั่นเป็นผลข้างเคียง หากเราพยายามอดทนและรู้จักทำใจ ก็ย่อมได้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลและความเห็นที่ไม่ถูกใจตน อย่าลืมว่าหากเรารับรู้แต่สิ่งเดิม ๆ ที่ตรงกับความคิดความเชื่อของเราอยู่แล้ว สติปัญญาของเราจะงอกเงยได้อย่างไร มีอะไรอีกหรือที่เราจะเรียนรู้เพิ่มเติมหากเราอ่านและฟังแต่สิ่งที่ตรงใจเราหรือยืนยันความเชื่อเดิม ๆ ของเรา

    ยุคข่าวสารข้อมูลไม่ได้ช่วยให้เราเข้าถึงความจริงได้ง่ายขึ้นเท่านั้น หากยังช่วยให้ความเท็จและข่าวลือแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วเท่า ๆ กับความเร็วแสง ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันว่าข้อมูลที่เรามีนั้นเป็นความจริงจนกว่าจะได้สอบทานเทียบเคียงกับหลาย ๆ แหล่ง การเปิดหูเปิดตาและเปิดใจรับฟังข้อมูลที่หลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันก็จำต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ แม้จะถูกใจเราหรือตรงกับความเห็นของเราก็ตาม ในข้อนี้พระพุทธองค์ได้ให้ข้อคิดที่เตือนใจเราได้ดีมาก นั่นคือ หลักกาลามสูตร ซึ่งมีตอนหนึ่งกล่าวว่า “อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะฟังตามกันมา หรือเพราะเข้าได้กับความเชื่อความเห็นของตน หรือเพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าน่าจะเป็นไปได้” แต่ควรเชื่อต่อเมื่อได้ไตร่ตรองด้วยเหตุผลและด้วยสติปัญญาของตน

    แม้กระนั้นตราบใดที่ยังไม่รู้ชัดหรือเห็นกับตา ก็ควรตระหนักว่านั่นยังเป็นแค่ความเชื่อ ยังสรุปว่าเป็นความจริงไม่ได้ ดังนั้นใครที่เชื่อต่างจากเราหรือมีความเห็นต่างจากเรา ก็อย่าเพิ่งสรุปว่าเขาผิด เราถูก ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ได้ให้หลักอีกข้อหนึ่งคือ “สัจจานุรักษ์” หรือการคุ้มครองความจริง หมายถึงการที่บุคคลมีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง แม้คิดตรองด้วยเหตุผลอย่างดีแล้ว ก็ไม่ลงความเห็นเด็ดขาดหรือ “ฟันธง”ว่า ความเชื่อของตนเท่านั้นที่จริงหรือถูกต้อง อย่างอื่นนั้นเหลวไหล ไม่ถูกต้อง หากจะกล่าวก็กล่าวเพียงว่า ฉันมีความเชื่ออย่างนี้ ๆ ไม่ก้าวล่วงไปสู่การตัดสินหรือปรามาสความเชื่อของคนอื่น

    ยุคข่าวสารข้อมูลให้เสรีภาพมากมายแก่เราอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้รวมถึงเสรีภาพและสมรรถภาพในการสร้างกรงขังปิดล้อมสติปัญญาของเราเองด้วย หากเราไม่มีสติรู้เท่าทันความยึดติดถือมั่นในความคิดความเชื่อของตน เราก็จะติดอยู่ในกรงขังดังกล่าวอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งแม้จะทำให้เราสบายใจเพราะหลงเพลินในความถูกต้องของตน แต่แท้จริงใจหาได้เป็นอิสระไม่ ต่อเมื่อเราตระหนักถึงข้อจำกัดของความคิดความเชื่อของตน และกล้าเปิดใจรับข่าวสารข้อมูลที่แม้จะไม่ถูกใจเรา เราก็จะสามารถเป็นนายเหนือความคิดความเชื่อของตนได้ แทนที่จะปล่อยให้มันครอบงำเรา เราก็ปรับปรุงแปรเปลี่ยนให้มันสอดคล้องกับความจริง หรือใช้มันเป็นพาหะพาเราเข้าถึงความจริง ด้วยวิธีนี้เท่านั้นเราจึงจะเป็นอิสระจากกรงขังดังกล่าวได้ หากปราศจากอิสรภาพดังกล่าวแล้วไซร้ ข้อมูลข่าวสารที่ได้มามากมายก็หาเป็นประโยชน์ไม่
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255411.htm
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
    พระไพศาล วิสาโล
    ย้อนหลังไปเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ หลังจากการค้นพบรังสีเอ็กซ์ อีเล็กตรอน กัมมันตภาพรังสี ซึ่งเปิดพรมแดนแห่งความรู้เกี่ยวกับอะตอมอย่างไม่เคยมีมาก่อน นักฟิสิกส์จำนวนมากมั่นใจว่าไม่มีเรื่องใหญ่ ๆ ให้ค้นพบอีกต่อไปแล้ว ในปีค.ศ.๑๘๙๙ อัลเบิร์ต ไมเคิลสัน นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ถึงกับประกาศว่า “กฎพื้นฐานและข้อเท็จจริงของวิทยาศาสตร์กายภาพที่สำคัญ ๆ ได้ถูกค้นพบหมดสิ้นแล้ว ทั้งหมดนี้ได้รับการยืนยันอย่างมั่นคงจนกล่าวได้ว่าโอกาสที่มันจะถูกแทนที่ด้วยการค้นพบใหม่ ๆ มีน้อยมาก ๆ” นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายคนในเวลานั้นเชื่อว่า แม้ยังมีปัญหามากมายที่ยังไม่พบคำตอบ แต่มันไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สามารถท้าทายความรู้ทางฟิสิกส์ที่มีอยู่ในเวลานั้นได้เลย

    แต่ความเชื่อมั่นดังกล่าวได้มลายไปเมื่อไอน์สไตน์ได้เปิดเผยทฤษฎีสัมพัทธภาพ และมักซ์ พลังค์ประกาศทฤษฎีควอนตัมซึ่งต่อยอดโดยนีลส์ บอหร์ การค้นพบดังกล่าวรวมทั้งความก้าวหน้าที่ตามมาอีกมากมายทำให้ฟิสิกส์แบบเก่าถึงแก่กาลอวสาน และเป็นจุดเริ่มต้นของฟิสิกส์แบบใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้ก่อให้เกิดคำถามใหม่ ๆ ที่สำคัญอีกมากมาย ตั้งแต่ระดับอะตอมไปจนถึงเอกภพ (หรือพหุภพ ?) ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไขได้ไม่หมด กล่าวอีกนัยหนึ่งแม้มันจะขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กว้างขึ้น แต่ก็ทำให้เห็นว่าพรมแดนแห่งความไม่รู้ของมนุษย์นั้นใหญ่โตมโหฬารกว่าที่คิดมาก

    หลังจากการค้นพบยาปฏิชีวนะและวัคซีนนานาชนิด โรคติดเชื้อซึ่งเคยคร่าชีวิตมนุษย์ผู้คนนับล้านได้ถูกกำราบจนบางชนิดถึงกับสูญพันธุ์ ในปี ๑๙๕๔ ที.พี.แมกิล แพทย์อเมริกันได้ประกาศกลางที่ประชุมประจำปีของสมาคมนักวิทยาศาสตร์ภูมิคุ้มกันอเมริกันว่า “เรามีความยินดีที่สามารถหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงจากความคิดเรื่องวิญญาณอันชั่วร้าย เราภูมิใจที่จะอวดอ้างถึงความรู้ของเราเกี่ยวกับเชื้อโรค เรามั่นใจว่าความหลุดพ้นและความรู้ดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถกำจัดโรคติดเชื้อได้อย่างสิ้นเชิง”

    คำพูดดังกล่าวสะท้อนความมั่นใจของแพทย์จำนวนไม่น้อยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วว่า อวสานของโรคติดเชื้อกำลังจะมาถึง อีกไม่นานจะไม่มีใครตายเพราะโรคดังกล่าวอีกต่อไป แต่มาถึงวันนี้ไม่มีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์คนใดกล้าพูดเช่นนี้อีกแล้ว เพราะนอกจากผู้คนจำนวนมากมายยังคงล้มตายด้วยเชื้อโรคใหม่ ๆ ที่ไม่มีทางรักษา เช่น เอดส์ และอีโบล่า แล้ว โรคเก่า ๆ ที่เคยฝ่อลงก็กลับมาระบาดใหม่แถมดื้อยาเสียด้วย เช่น วัณโรค มาลาเรีย ขณะที่ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่เวลานี้ก็ทำอะไรไม่ได้เลยกับแบคทีเรียชนิดใหม่ (super bug) ที่กำลังคร่าชีวิตผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วโลก

    ในปี ๑๙๖๘ ปีเตอร์ เบอร์เกอร์ นักสังคมวิทยาชื่อก้องโลก ได้ทำนายว่า “เมื่อถึง ศตวรรษที่ ๒๑ มีแนวโน้มว่าพวกที่เชื่อ ในศาสนาจะพบเห็นได้ตามลัทธินิกายเล็ก ๆ ซึ่งกระจุกอยู่ด้วยกันเพื่อ ต่อต้านวัฒนธรรมแบบโลกย์ ๆ ที่แพร่ ไปทั่วโลก” ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับแอนโทนี วัลเลซ นักมานุษยวิทยาศาสนา ซึ่งประกาศอย่างมั่นใจว่า อนาคตของศาสนากำลังวิวัฒน์สู่ความดับสูญ ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติที่ฝืนกับกฎธรรมชาติจะเสื่อมถอย และกลายเป็นเพียงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเท่านั้น......ความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติมีแต่จะสาบสูญไปทั่วโลก อันเป็นผลจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายและพอเหมาะพอสมมากขึ้นทุกที...กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

    แต่มาถึงวันนี้ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ศาสนานอกจากจะไม่มีแนวโน้มสาบสูญหรือแม้แต่จะเสื่อมถอยแล้ว กลับมีบทบาทอย่างมากในโลกปัจจุบันโดยเฉพาะในทางการเมือง บางประเทศถึงกับถูกปกครองด้วยแนวทางศาสนา อย่างอิหร่าน หรืออัฟกานิสถานในสมัยหนึ่ง ขณะที่ในบางประเทศกลุ่มศาสนามีพลังมากพอที่จะตัดสินผลการเลือกตั้งผู้นำประเทศได้ เช่น สหรัฐอเมริกา ไม่จำต้องพูดถึงการก่อการร้ายอันมีศาสนาเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งสร้างผลสะเทือนไปทั่วทั้งโลกมานานกว่าสองทศวรรษแล้ว

    การคาดการณ์อนาคตนั้นย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้เสมอ เพราะอนาคตนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความผิดพลาดทั้งสามกรณีมีสาเหตุสำคัญมาจากความมั่นใจในความรู้ของตนมากเกินไป เมื่อเชื่อมั่นว่าตนเองรู้เห็นความจริงได้อย่างถี่ถ้วนและทั่วถึง จึงสามารถ “ฟันธง”ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยไม่ตระหนักเลยว่าความจริงนั้นมีความซับซ้อนและลึกซึ้งกว่าที่ตนเข้าใจมาก เมื่อกาลเวลาผ่านไปและความจริงคลี่คลายออกมามากขึ้น กลับกลายเป็นว่า การคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความรู้อันจำกัดของผู้พยากรณ์ยิ่งกว่าอะไรอื่น มาถึงวันนี้คงไม่มีใครคิดว่าครั้งหนึ่งนักวิชาการชั้นนำจะหาญกล้าพยากรณ์เช่นนั้น

    ทั้งสามกรณีชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญรู้มานั้นนับว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความไม่รู้ของตน ผู้รู้ที่แท้จริงจะตระหนักเสมอว่าความรู้ที่ตนมีนั้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความจริงที่มีพรมแดนกว้างขวางมาก แม้ความรู้ที่ตนมีจะมากมาย แต่ก็ยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมายหลายเท่าตัว ดังนั้นจึงมีความถ่อมตนและเปิดใจเรียนรู้อยู่เสมอ นอกจากจะไม่พยากรณ์อนาคตด้วยความมั่นอกมั่นใจแล้ว ยังไม่ด่วนสรุปว่าสิ่งที่ตนรู้เท่านั้นที่จริง สิ่งที่คนอื่นรับรู้มาแม้จะต่างจากตน ก็อาจจะจริงด้วยเช่นกัน

    ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคสารสนเทศ ใคร ๆ ก็เข้าถึงความรู้และข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ดังนั้นจึงง่ายที่ใครต่อใครจะเข้าใจว่าตนเองรู้มาก จนลืมไปว่าความรู้ของคนเรานั้นถึงอย่างไรก็มีน้อยกว่าความไม่รู้เสมอ หากเราตระหนักถึงความข้อนี้ จะฟังคนอื่นมากขึ้น ไม่ด่วนปฏิเสธข้อมูลหรือความเห็นของคนอื่นที่ต่างจากตนว่าผิด ไม่ถูกต้อง

    เป็นเพราะมนุษย์มีความรับรู้ที่จำกัด พระพุทธเจ้าองค์จึงทรงแนะนำให้เรามีท่าทีที่เรียกว่า “สัจจานุรักษ์” กล่าวคือ เมื่อเชื่อหรือรับรู้อะไรมา ก็ไม่ควรปักใจว่า ความจริงต้องเป็นอย่างที่ตนเชื่อหรือรับรู้มาเท่านั้น ดังมีพุทธพจน์ว่า “บุรุษผู้เป็นวิญญู เมื่อจะคุ้มครองสัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล”

    สาเหตุที่ผู้คนมีความขัดแย้งกันมากมายทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมั่นใจในความถูกต้องของตน จนกลายเป็นการผูกขาดความจริงไป ใครที่คิดต่างจากตน ก็ด่วนสรุปทันทีว่า เหลวไหล โง่เขลา จึงเกิดการทะเลาะวิวาทกันได้ง่าย หากเพียงแต่ผู้คนตระหนักว่าสิ่งที่ตนไม่รู้นั้นยังมีอีกมากแม้ในเรื่องที่ตนศึกษามาก็ตาม ความเห็นต่างนอกจากจะไม่นำมาซึ่งการวิวาทบาดหมางแล้ว ยังอาจเพิ่มพูนสติปัญญาและขยายพรมแดนแห่งความรู้ของตนให้กว้างขวางขึ้นอีกด้วย

    แม้นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เราจึงควรเผื่อใจไว้เสมอว่าสิ่งที่เรารู้หรือเชื่ออาจผิดได้
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255708.htm
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,714
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,047
    เหนือความยากคือความง่าย
    พระไพศาล วิสาโล

    อตุล กูวานเด (Atul Guwande) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน เล่าถึงคนไข้ผู้หนึ่งซึ่งมีเลือดออกมากระหว่างผ่าตัดเพื่อรักษาริดสีดวงทวารและนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แม้จะห้ามเลือดได้แต่ตับได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ไม่กี่วันต่อมาเขามีอาการทรุดหนักจนต้องย้ายเข้าห้องไอซียู ร่างกายของเขาสั่นเทา ไข้ขึ้นสูง หัวใจเต้นเร็วมาก และมีออกซิเจนในเลือดต่ำ


    ผลจากห้องแล็บพบว่าเขามีอาการตับวาย และติดเชื้อ นอกจากนั้นถุงปัสสาวะที่ว่างเปล่ายังบ่งชี้ด้วยว่าไตของเขาก็วาย ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาความดันเลือดได้ตกลง การหายใจแย่ลง และเขาเริ่มไม่รู้สึกตัว เห็นได้ชัดว่าร่างกายของเขาทุกระบบ รวมทั้งหัวใจ กำลังจะหยุดทำงาน

    ถึงตอนนี้แพทย์และพยาบาลระดมกำลังช่วยเขาอย่างสุดความสามารถ ท่อไม่น้อยกว่า ๓ท่อถูกแทงเข้ากับร่างกายของเขา ทั้งที่คอ ข้อมือ และหน้าอก อุปกรณ์นานาชนิดรวมทั้งเครื่องช่วยหายใจและเครื่องฟอกไตถูกนำมาใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มออกซิเจนในเลือดและรักษาความดันเลือดให้คงที่ รวมทั้งปรับสารต่าง ๆ ในร่างกายเช่น เกลือแร่ โดยเฉพาะโปตัสเซียมให้เป็นปกติด้วย

    ผ่านมาได้ ๑๐ วัน เขามีอาการดีขึ้น ความดันเลือดกลับมาเป็นปกติ ไข้ลดลง ความต้องการออกซิเจนก็ลดลง แต่พอถึงวันที่ ๑๑ ขณะที่แพทย์เตรียมปลดเครื่องช่วยหายใจ จู่ ๆ เขาก็มีไข้สูงขึ้นอย่างฉับพลัน ความดันเลือดตก ออกซิเจนในเลือดก็ลดลง ร่างกายสั่นหนาว

    แม้แต่แพทย์เองก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เขาติดเชื้อแน่นอน แต่ไม่มีใครรู้ว่ามีสาเหตุจากอะไร เครื่องเอ็กซเรย์และเครื่องซีทีสแกนก็ตอบไม่ได้ แม้แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะไป ๔ ชนิด ไข้ยังขึ้นสูง มีช่วงหนึ่งหัวใจของเขาเต้นระรัว จนแพทย์ต้องช็อคหัวใจด้วยไฟฟ้าจนกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติ

    คณะพยาบาลใช้เวลาถึง ๒ วันกว่าจะรู้ว่าความผิดปกติมาจากไหน มีการสันนิษฐานว่าท่อที่ใส่ไปในร่างกายของเขา คงมีท่อใดท่อหนึ่งติดเชื้อ จึงมีการใส่ท่อใหม่ แล้วเอาท่อเก่าไปเพาะเชื้อในห้องแล็บ ๔๘ ชั่วโมงต่อมาผลก็ออกมา ทุกท่อล้วนติดเชื้อ การติดเชื้ออาจเริ่มต้นที่ท่อใดท่อหนึ่งก่อน อาจเกิดขึ้นตอนใส่ท่อเข้าไป จากนั้นเชื้อก็เข้าสู่กระแสเลือด และลามไปยังท่อที่เหลือ

    จากประสบการณ์ของอตุล การติดเชื้อในท่อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากจนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาพบว่า หากอยู่ในห้องไอซียูเกิน ๑๐ วัน ร้อยละ ๔ ของท่อที่ต่อเข้ากับผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อ แม้ตัวเลขจะไม่สูง แต่ก็สามารถทำให้ถึงตายได้ถึงร้อยละ ๒๘ นอกจากนั้นยังพบอีกว่า คนที่อาศัยเครื่องช่วยหายใจเกิน ๑๐ วัน ร้อยละ ๖ จะติดเชื้อที่ปอด ซึ่งสามารถทำให้ถึงตายได้ถึงร้อยละ ๔๐-๕๕ แต่คนไข้แต่ละคนไม่ได้อาศัยแต่เครื่องช่วยหายใจเท่านั้น หากยังต้องพึ่งพาอุปกรณ์อีกหลายอย่าง ซึ่งล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อมองในภาพรวมแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยในห้องไอซียูลงเอยด้วยการป่วยด้วยโรคแทรกซ้อน และหากเกิดขึ้นแล้ว โอกาสรอดมีน้อยมาก

    การติดเชื้อจนถึงตายนั้น เป็นแค่หนึ่งในบรรดาปัญหานับร้อยนับพันที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยในห้องไอซียู โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าวันหนึ่ง ๆ มีการดูแลรักษาหรือทำหัตถการกับคนไข้นับร้อยครั้ง (มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อ ๑๐ ปีก่อนระบุว่า คนไข้ในห้องไอซียูแต่ละคนต้องการการทำหัตถการโดยเฉลี่ย ๑๗๘ ครั้งต่อวัน มีตั้งแต่การให้ยา ไปจนถึงการดูดเสมหะ) แต่ละครั้งก็มีความเสี่ยงทั้งนั้นหากมีอะไรผิดพลาด

    ด้วยเหตุนี้การรักษาชีวิตของผู้ป่วยในห้องไอซียูจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ยิ่งมีโรคใหม่ ๆเกิดขึ้นขณะที่เทคโนโลยีก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ย่อมทำให้การเยียวยารักษาคนไข้ในห้องไอซียูซับซ้อนตามมาด้วย (อย่าลืมว่า ๑๗๘ ครั้งเป็นตัวเลขเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ปัจจุบันอาจเพิ่มกว่า ๒๐๐ แล้วก็ได้) เราจะทำอย่างไรเมื่อเผชิญกับความซับซ้อนอย่างนี้ สำหรับการแพทย์สมัยใหม่ วิธีการที่นิยมก็คือการเน้นความชำนาญเฉพาะทาง ด้วยเหตุนี้แพทย์เฉพาะทางจึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการรักษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤตในห้องไอซียู

    อย่างไรก็ตามอตุลได้ชี้ว่า ทุกวันนี้ความซับซ้อนในการรักษาได้เพิ่มขึ้นมากจนถึงจุดที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดประจำวันได้ แม้จะดูแลโดยแพทย์ซึ่งเป็นอภิผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (super-specialist) ก็ตาม เพราะยิ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดปัญหาก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วยจนเกินความสามารถของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะรับมือได้

    กรณีผู้ป่วยที่เล่ามาข้างต้นเป็นตัวอย่างของปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับคนไข้ทุกคนที่อยู่ในห้องไอซียูนานหลายวัน จะว่าไปแล้วการที่ท่อติดเชื้อนั้นไม่ใช่ปัญหาที่ซับซ้อนพิสดารเลยเมื่อเทียบกับปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถเกิดได้กับผู้ป่วยหนัก แต่กว่าจะรู้ว่ามันคือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกือบตาย ก็ใช้เวลานาน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เมื่อรู้แล้วจะป้องกันมิให้ปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

    มีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้มานานแล้ว รวมทั้งการใช้วิทยาการที่ล้ำยุคเพื่อจัดการกับเชื้อโรคที่แปดเปื้อนและพร้อมจู่โจมร่างกาย แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้อย่างได้ผล จวบจนเมื่อแพทย์เฉพาะทางผู้หนึ่งได้เสนอวิธีที่ง่ายมาก โดยใช้กระดาษ ๑ แผ่นและปากกา ๑ ด้ามเท่านั้น ปีเตอร์ โปรโนวอสท์ ( Peter Pronovost) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลจอห์นฮอปกินส์ (Johns Hopkins Hospital) เขาได้ทำเช็คลิสต์หรือรายการขั้นตอนที่แพทย์จะต้องทำทั้งก่อนและหลังจากใส่ท่อผู้ป่วย มีทั้งหมด ๕ ขั้นตอน คือ ๑. ล้างมือด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ ๒. ทำความสะอาดผิวหนังผู้ป่วยด้วยยาฆ่าเชื้อคลอเฮกซิดิน (chlorhexidine) ๓. เอาผ้าปลอดเชื้อคลุมร่างผู้ป่วยบริเวณที่จะทำหัตถการ ๔. สวมหน้ากาก หมวก เสื้อกาวน์ และถุงมือปลอดเชื้อ ๕. เมื่อใส่ท่อแล้วให้ทำแผลที่ใส่ท่อนั้นด้วยเทคนิคปราศจากเชื้อ สิ่งที่แพทย์ต้องทำคือตรวจสอบกับเช็คลิสต์นี้เพื่อให้แน่ใจว่าได้ทำทุกขั้นตอนจนครบ

    วิธีนี้ง่ายมาก ไม่ต้องใช้สมองเลยก็ทำได้ อีกทั้งเป็นวิธีการที่รู้และสอนกันมานานหลายปีแล้ว ดังนั้นการนำเสนอวิธีนี้ให้แพทย์ทำจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องปัญญาอ่อน แต่โปรโนวอสต์ยืนยันที่จะให้ทดลองใช้วิธีนี้ เขาได้ขอให้พยาบาลในห้องไอซียูของเขาสังเกตแพทย์ว่าได้ทำตามขั้นตอนดังกล่าวหรือไม่ หลังจากสังเกตอยู่หนึ่งเดือนก็พบว่ามีผู้ป่วยถึง ๑ ใน ๓ ที่แพทย์ได้ข้ามขั้นตอนอย่างน้อย ๑ ขั้นตอน

    เดือนต่อมาเขาได้ขอให้ผู้บริหารโรงพยาบาลออกคำสั่งอนุญาตให้พยาบาลหยุดแพทย์ได้หากพบว่าแพทย์ได้ข้ามขั้นตอนในเช็คลิสต์นั้น อีกทั้งพยาบาลยังมีหน้าที่ถามแพทย์ด้วยว่ามีท่อใดที่ควรถอด เพื่อไม่ให้ท่อถูกคาไว้นานเกินไป นี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะพยาบาลมักไม่กล้าเตือนแพทย์ตรง ๆ อย่างไรก็ตามเขาบอกพยาบาลไปว่า หากแพทย์ไม่ฟังพยาบาล พยาบาลสามารถขอให้ฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงได้

    โปรโนวอสท์และคณะได้ตามผลเป็นเวลา ๑ ปีเต็ม สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเหนือความคาดหมาย จนแม้แต่เขาก็ไม่เชื่อว่ามันเป็นความจริง นั่นคือ อัตราการติดเชื้อจากท่อลดลงจากร้อยละ ๑๑ จนเหลือศูนย์ ดังนั้นจึงทดลองทำอีก ๑๕ เดือน ปรากฏว่ามีการติดเชื้อจากท่อแค่ ๒ รายเท่านั้น จากการคำนวณของเขา การทำเช็คลิสต์ช่วยป้องกันมิให้ติดเชื้อ ๔๓ ราย ป้องกันมิให้มีคนตาย ๘ คน และประหยัดเงินได้ถึง ๒ ล้านดอลลาร์

    ความสำเร็จดังกล่าวทำให้เขาทำเช็คลิสต์อย่างอื่นอีก เช่น ทำเช็คลิสต์เพื่อให้แน่ใจว่าพยาบาลไปตรวจคนไข้ที่มีปัญหาความเจ็บปวดทุก ๔ ชั่วโมงและให้ยาระงับปวดตรงเวลา วิธีนี้ช่วยให้คนไข้ที่ไม่ได้รับการบรรเทาความปวดลดลงจากร้อยละ ๔๑ เหลือร้อยละ ๓ นอกจากนั้นเขายังทำเช็คลิสต์สำหรับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้แน่ใจว่าเตียงคนไข้เอียงขึ้นอย่างน้อย ๓๐ องศา เป็นการป้องกันมิให้เสลด น้ำลายหรือเศษอาหารเข้าไปในหลอดลม เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ปอด รวมทั้งให้ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันโรคแผลในกระเพาะ ปรากฏว่าคนไข้ที่ไม่ได้การรักษาอย่างถูกต้องลดลงจากร้อยละ ๗๐ เหลือร้อยละ ๔ การป่วยด้วยโรคปอดติดเชื้อลดลงถึง ๑ ใน ๔ คนตายลดลง ๒๑ คนเมื่อเทียบกับปีก่อน

    การวิจัยพบว่า เพียงแค่แพทย์และพยาบาลในห้องไอซียูทำเช็คลิสต์ของตัวว่า ควรทำอะไรบ้างในแต่ละวัน การดูแลคนไข้จะมีคุณภาพดีขึ้นมาก ถึงขั้นว่า เพียงชั่วไม่กี่อาทิตย์ ระยะเวลาที่คนไข้อยู่ในห้องไอซียูลดลงถึงครึ่งหนึ่ง

    ต่อมาเขาได้รับเชิญให้นำวิธีการนี้ไปใช้กับห้องไอซียูในรัฐมิชิแกน เพียงแค่ ๓ เดือนแรก การติดเชื้อในห้องไอซียูของทั้งรัฐลดลงร้อยละ ๖๖ ห้องไอซียูหลายแห่งซึ่งเคยมีการติดเชื้อถึง ๑ ใน ๔ ลดลงเหลือศูนย์ เมื่อทดลองครบ ๑๘ เดือน พบว่านอกจากจะป้องกันมิให้มีคนเสียชีวิตถึง ๑,๕๐๐ คนแล้ว ยังประหยัดเงินถึง ๑๗๕ ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดนี้เพียงเพราะเช็คลิสต์ธรรมดา ๆ เท่านั้น

     

แชร์หน้านี้

Loading...