--- ธรรมะจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า ---

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 25 พฤษภาคม 2016.

  1. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,295
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    --- ธรรมะจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า ---
    .
    " โสดาบัน... เป็นได้ ไม่ยาก
    ทำไมต้องเป็น โสดาบัน ? "
    .
    โสดาบัน คืออริยบุคคลชั้นต้น เป็นผู้ไม่ลงสู่ภพต่ำอีก เป็นผู้พ้นจาก นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย
    ทำไมถึงต้องเป็นโสดาบัน... พระพุทธเจ้าตรัสว่าการได้เกิดในภพของมนุษย์หรือเทวดานั้นยากมาก สัตว์(สัตตา)ส่วนใหญ่จะไปสู่ภพที่ต่ำกว่า มีเพียงการได้โสดาบัน และอริยบุคคลที่สูงกว่าเท่านั้น จึงจะพ้นจาก นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย ได้อย่างแน่นอน และโสดาบันยังเป็นผู้มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า เป็นผู้ที่กำลังมุ่งสู่นิพพานในอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ผู้ที่ยังไม่เป็นโสดาบันก็จะต้องเวียนว่ายในสังสารวัฏต่อไปไม่รู้จบ
    .
    นัยยะส่วนหนึ่งของการเป็นโสดาบัน
    * โสดาบันเป็นผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘
    * หรือ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการและรู้แจ้งในญายธรรม คือ
    - เป็นผู้มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า (เชื่อในการตรัสรู้ของพระองค์)
    - เป็นผู้มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม (อริยสัจ ๔)
    - เป็นผู้มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ (ตามพระธรรมวินัย)
    - เป็นผู้มีศีลของอริยบุคคล (ศีล ๕)
    - เป็นผู้รู้แจ้งในญายธรรม (อิทัปปัจยตาและปฏิจจสมุปบาท)
    .
    พระไตรปิฎก (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙ หน้า ๓๔๙
    [๑๔๓๒] ดูกรสารีบุตร ที่เรียกว่า โสดาบันๆ ดังนี้ โสดาบันเป็นไฉน?
    สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้ใดประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ผู้นี้เรียกว่า พระโสดาบัน ท่านผู้นี้นั้น มีนามอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้
    [๑๔๓๓] พ. ถูกละๆ สารีบุตร ผู้ซึ่งประกอบด้วยอริยมรรค ๘ นี้ เรียกว่า โสดาบัน ท่านผู้นี้นั้น มีนามอย่างนี้
    .
    * อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการเป็นไฉน
    ดูกร คฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ๑
    เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ๑
    เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ๑
    เป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ ๑
    อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการนี้ ฯ
    .
    พระไตรปิฎก (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๔ หน้า ๑๕๗
    [๙๒] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า
    * ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุที่อริยสาวกเข้าไประงับภัยเวร ๕ ประการเสียได้แล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการ และเป็นผู้เห็นแจ้งแทงตลอดญายธรรมอันเป็นอริยะด้วยปัญญา อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติและวินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบันมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในภายหน้าดังนี้

    ภัยเวร ๕ ประการที่อริยสาวกเข้าไประงับแล้วเป็นไฉนคือ
    บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวร ทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย บุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมไม่ประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปใน ปัจจุบันทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ บุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตแล้ว เป็นอันระงับภัยเวรด้วยประการฉะนี้
    บุคคลผู้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ...
    บุคคลผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ...
    บุคคลผู้กล่าวคำเท็จ ...
    บุคคลผู้ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปในทางใจ บุคคลผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท ย่อมไม่ประสบภัยเวรทั้งที่เป็นไปในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นไปในสัมปรายภพ ไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสแม้ที่เป็นไปทางใจ บุคคลผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาทแล้ว เป็นอันระงับภัยเวรนั้นด้วยประการฉะนี้ ภัยเวร ๕ ประการนี้ ย่อมสงบระงับไป ฯ
    .
    * ก็ญายธรรมที่เป็นอริยะ อันอริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญาเป็นไฉน ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
    (อิทัปปัจจยตา)
    เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
    เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด
    เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
    เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ

    คือ (ปฏิจจสมุปบาท)
    เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย
    เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
    เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
    เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
    เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
    เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
    เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
    เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
    เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
    เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
    เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้
    .
    ก็เพราะอวิชชาดับโดยสำรอกหาส่วนเหลือมิได้ สังขารจึงดับ
    เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
    เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
    เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
    เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
    เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
    เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
    เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
    เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
    เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
    เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้
    ญายธรรมที่เป็นอริยะนี้อันอริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ฯ
    .
    ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุที่อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุกระแสนิพพาน ๔ ประการนี้ และเป็นผู้เห็นแจ้งแทงตลอดญายธรรมที่เป็นอริยะด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นเมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้วมีอบาย ทุคติและวินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในภายหน้า ฯ
    .
    พระไตรปิฎก (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙ หน้า ๓๔๔
    คุณธรรมของพระอริยสาวก
    [๑๔๑๑] พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิเสวยราชสมบัติเป็นอิสราธิบดีในทวีปทั้ง ๔ สวรรคตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ คือ ได้เป็นสหายของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ท้าวเธอแวดล้อมไปด้วยหมู่นางอัปสร เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ ณ สวนนันทวัน ในดาวดึงส์พิภพนั้น ท้าวเธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็จริง ถึงอย่างนั้น ท้าวเธอก็ยังไม่พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จากปิตติวิสัย และจากอบาย ทุคติ วินิบาต

    [๑๔๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเยียวยาอัตภาพอยู่ด้วยคำข้าวที่แสวงหามาด้วยปลีแข้ง นุ่งห่มแม้ผ้าที่เศร้าหมอง เธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอก็พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จากปิตติวิสัย และจากอบาย ทุคติ วินิบาต ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน?

    *อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

    *ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

    *ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของ พระผู้มีพระภาค ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

    *ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ
    อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้
    .
    ช่วยกันเผยแผ่พุทธวจนะ คำสอนจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า เปิดธรรมที่ถูกปิด เพื่อความตั้งมั่นแห่งพุทธศาสนา
    www.facebook.com/Dhammaannouncer
     

แชร์หน้านี้

Loading...