เรื่องเด่น คำสอนของหลวงตาม้า : อธิษฐานสัจจะบารมี

ในห้อง 'หลวงปู่ดู่ และ หลวงตาม้า' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 1 มกราคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,351
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +70,463
    ?temp_hash=3f1c2e839872038e0c24e1eb9db34ed8.jpg


    ?temp_hash=ad9a951de4937355bbebe898d636ed53.jpg

    1 มกราคม 2020 ·
    คำสอนของหลวงตาม้า : อธิษฐานสัจจะบารมี
    หลวงตาท่านเมตตาสอนว่า “เราทั้งหลายควรหมั่นอธิษฐานสัจจะไว้บ้าง แต่ต้องดูเค้าของตัวเองก่อนว่าจะทำได้ไหม โดยให้อธิษฐานจากสิ่งรอบกายที่พอจะทำได้ก่อน เมื่อทำได้แล้ว ก็ให้ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น การอธิษฐานสัจจะบารมีนี้ เป็นการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง เพราะสัจจะบารมีที่เราอธิษฐานนี้ เราสามารถทำได้แล้ว จะได้บารมีอื่นๆ อีกหลายบารมีตามมา เช่น ขันติบารมี ทานบารมี ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว ยังทำให้เราเกิดกำลังใจในการปฏิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้นอีก เวลาจะตั้งอธิษฐานจิตให้กล่าวว่า “อิมัง สัจจะวาจัง อธิษฐานมิ”
    หลวงตายังบอกอีกว่า “นักปฏิบัติควรจะมีการตั้งจิตอธิษฐาน แต่ก่อนที่จะเริ่มตั้งจิตอธิษฐานนั้น อย่าลืมพิจารณาก่อนว่า สิ่งนั้นๆ เราต้องแน่ใจว่าเราสามารถทำได้ เราต้องเข้มแข็งพอกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และการตั้งจิตอธิษฐานนี้ ท่านให้เริ่มจากทีละน้อยก่อน เช่น เริ่มจาก ๓-๗ วันก่อน แล้วค่อยเพิ่มเป็น ๑-๓ เดือน แล้วค่อยเป็นปี ถ้าเราสามารถปฏิบัติได้ ตามที่เราตั้งจิตอธิษฐานแล้ว บารมีของเราก็เพิ่มมากขึ้นมหาศาลนะ ถ้าทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ ก็ต้องไปเริ่มต้นที่ ก ไก่ ใหม่ คือทุกอย่างที่เราเคยสร้างไว้ ทำไว้ เป็นอันว่าสูญนะ แต่ทุกคนต้องทำนะ อย่ามัวแต่รอช้า
    เริ่มจากง่ายๆ ก่อน อย่างเช่น เราตั้งจิตอธิษฐานขอถือธรรมะตลอดชีวิต ข้อนี้นักปฏิบัติต้องทำกันได้อยู่แล้ว หรือจะตั้งจิตอธิษฐานว่าชาตินี้เราจะไม่แต่งงาน อันนี้สำคัญนะ เวลาตั้งจิตอธิษฐานข้อนี้ดูเอาเองแล้วกัน ไม่รู้ใครต่อใครมาจากที่ไหนๆ มาหากันเป็นโขยงเลย รับกันไม่หวาดไม่ไหว ไม่เชื่อก็ไปลองทำดูเอง แรงอธิษฐานและบารมีเป็นสิ่งสำคัญ เช่น คน ๒ คน อธิษฐานด้วยกันอย่างไร ก็ต้องเจอกัน เพราะการอธิษฐานนี้เป็นการเชื่อมต่อจิตให้ถึงกัน การอธิษฐานนี้ให้เลือกช่วงที่เรามีจิตใจที่สบาย ปลอดโปร่ง จะช่วยให้การอธิษฐานนี้สำเร็จผล เหมือนกับการที่เราทำบุญ พอเริ่มตั้งจิตอธิษฐานตอนที่เราทำบุญนั้น เราเกิดความศรัทธา ความสบายใจ มันพร้อมไปหมด คำอธิษฐานนั้นก็ได้ผล อย่างหลวงตาพอเริ่มอธิษฐานปั๊ป ให้สังเกตเลย ไม่รู้คนมาจากไหน จนสร้างไม่ทัน เดี๋ยวก็มีโน่น เดี๋ยวก็มีนี่ ด้วยแรงอธิษฐานผู้ที่เกี่ยวพัน เกี่ยวข้อง จะต้องมาช่วยกัน ที่เห็นๆ อยู่นี้ ก็ด้วยแรงอธิษฐานทั้งนั้น ไม่ใช่เที่ยวไปหา ไปแจกซอง ใช้แรงอธิษฐานจากผู้ที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวพันเท่านั้น แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันทั้งหลายก็ต้องมา ไม่งั้นอยู่ได้ที่ไหน เร่าร้อน หงุดหงิด ต้องมา”
    หลวงตาเล่าว่า “เคยให้พระชัชวาลท่านลองอธิษฐานจิตดู ตอนที่ท่านจะกลับไปบ้านท่าน โดยบอกให้ท่านอธิษฐานถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับท่าน ให้มาหาท่าน หลังจากนั้น พระชัชวาลได้กลับมาเล่าให้หลวงตาฟังว่า เห็นผลเลย เขาอยู่กันไม่ได้ อยากจะมาหา แล้วก็จะมาหาอีก เพื่อนท่านจากกรุงเทพฯ อยู่ๆ ก็ต้องขับรถมาเลย”
    หลวงตาบอกว่า “หลวงปู่ดู่ท่านให้อธิษฐานโดยตั้งบารมี ๑๐ ได้แก่
    ๑. ทานบารมี ความพอใจในการให้ทานอยู่เสมอ เป็นการตัดโลภ
    ๒. ศีลบารมี พยายามรักษาศีลให้ครบ เป็นการป้องกันอบายภูมิ
    ๓. เนกขัมมบารมีพยายามระงับนิวรณ์ในเบื้องต้น ป้องกันความวุ่นวายของจิต
    ๔. วิริยะบารมี ความพากเพียรต่อสู้กับกิเลส
    ๕. ปัญญาบารมี การทรงปัญญายอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง
    ๖. ขันติบารมี ต้องมีความอดทน
    ๗. สัจจะบารมี ความตั้งใจจริง
    ๘. อธิษฐานบารมี
    ๙. เมตตาบารมี
    ๑๐.อุเบกขาบารมี อดทนต่อความอดกลั้นทั้งหลาย และให้รู้จักละวาง
    ลูกศิษย์ถามว่า “ถ้าเราอธิษฐานตามใครสักคน ก็ต้องตามตลอดเลยหรือ”
    หลวงตาบอกว่า “แน่นอนอยู่แล้ว เรื่องของบารมี ไม่ใช่ว่าบารมีคนจะเท่ากัน อย่างเช่น เราเกิดมาในภพนี้ เราอัดบุญกัน ๒ คน พร้อมๆ กัน บุญที่ได้ยังไม่เท่ากันเลย บารมีคือกำลังใจ อย่างคนนั่งสมาธิ ๒ คน คนหนึ่งนั่งแค่ ๒ นาทีก็เมื่อยแล้ว ส่วนอีกคนหนึ่งนั่ง ๒ ชั่วโมง ไม่เป็นไร นั่งเหมือนกัน ปฏิบัติเหมือนกัน ยังได้ไม่เหมือนกันเลย บุญที่ได้ก็ไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องของการพิจารณา ให้พิจารณาให้รอบคอบ พิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ลึกๆ ในคำสอนแต่ละข้อๆ ลูกศิษย์ ๕ คน สอนในบทเดียวกันยังใช้ไม่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะอยู่ที่ความตั้งใจ เจตนา และความเชื่อของแต่ละบุคคล
    ผลออกมาจึงย่อมไม่เท่ากัน ต้องรู้หลักอธิษฐานและหลักของการทำบุญ ผู้ที่ไปแล้วก็เยอะแยะ ผู้ที่ยังตามอยู่นี่ก็มี พวกที่ไปแล้ว อย่านึกว่าจะตามอีก บางคนก็ไม่ตาม เขาไม่ตามก็เพราะเขาถึงแล้ว เขารู้แล้วว่า เกิดนี่ทุกข์ขนาดไหน เขาก็ไม่ตามอีก” (คำว่า “ถึง” ในที่นี้ หลวงตาหมายถึง พระนิพพาน)
    ลูกศิษย์ถามว่า “ถ้าเราอธิษฐานขอถึงพระนิพพานนี่เรามีโอกาสจะถึงไหม”
    หลวงตาบอกว่า “ถ้าเราปฏิบัติจริงก็ถึง ถ้ากำลังใจเราถึง ดูอย่างพระมหาวีระ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) สิ พอท่านละสังขาร ลูกศิษย์ท่านมาเยอะเลย หลวงตาพูดจริงไหมละ การลานี่ไม่ใช่ลากันง่ายๆ เพราะความผูกพันกับพรรคพวก หมู่คณะ ไหนๆ มาด้วยกันไม่รู้กี่ภพต่อกี่ชาติ กี่ชาติต่อกี่ชาติ ก็ตามกันมา เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ศึกษาศรัทธา ศีล ทาน การศึกษา ปัญญา หลวงปู่ดู่ท่านสอนไว้อย่างนี้แหละ ว่ามีครบ ปรารถนาไปไหนก็ได้”
    ๑. ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อว่านรก สวรรค์มีจริง เชื่อเรื่องมีเกิด มีแก่ มีตาย
    ๒. ทาน คือ การให้
    ๓. ศีล คือ การรักษา
    ๔. อศิตะ คือ การศึกษาจากพระไตรปิฎก หนังสือ คณาจารย์
    เวลาไปวัดไหนก็ตาม ท่านสอนก็ฟัง ฟังแล้วก็เอามาพิจารณาว่าเท็จจริงอย่างไร ถูกไหม แล้วก็รวมเข้าเป็นปัญญาทั้งหมด ตั้งแต่ข้อแรก อย่างเราเชื่อว่าเราต้องตายแน่ เมื่อตายแล้วเราต้องเกิด เมื่อเกิดแล้วเราอยากสวย อยากหล่อ อยากรวย อยากเป็นใหญ่ เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องรักษาศีล ไม่เป็นคนขี้โกรธ หมั่นให้ทาน เกิดมาก็สวย ไม่โกรธ เพราะโกรธแล้ว ให้ไปส่องกระจกดู หน้าจะหงิก เมื่อหน้าหงิกเพราะความโกรธ จิตก็อัดเข้าไปแล้ว ยิ่งโกรธบ่อยเท่าไร เกิดใหม่ก็ไม่สวยเท่านั้น ถ้าไม่โกรธ เกิดอีกทีก็เป็นใหญ่ สวย รวย นี่มีในพระไตรปิฎก อย่างนางวิสาขา ในพระไตรปิฎกมีอยู่ ๗ นาง ที่ปรารถนาพร้อมกัน ตั้งแต่นางอุบลวรรณา นางเขมา นางผกาจารา ฯลฯ พอถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ดูซิทุกข์ไม่เหมือนกันเลย เพราะช่วงที่เวียนว่ายตายเกิด ไปทำกรรมไว้ นางผกาจารานี่ทุกข์กว่าใครเพื่อน ทั้งๆ ที่ปรารถนาพร้อมกัน นางวิสาขาสบายกว่าเพื่อน ฉะนั้น เมื่อเรารู้หลีกแล้วจะทำอย่างไร ก็เลือกกันเอาเอง เกิดมานี่ทุกข์มากเห็นๆ กันอยู่ ถ้าเรามองว่าเกิดมาแล้วเป็นอย่างไร แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ก็ใกล้เคียงกัน เวลาเขาให้ทาน ก็ไปกินเหล้าซะ ไม่โมทนา แค่โมทนาเท่านั้น หรือเวลาเขาทำบุญ ก็มัวแต่ไปขัดซะ ให้ดูเราโชคดีเท่าไร หลวงปู่ดู่ท่านสอนให้เตรียมตัวไว้ เพราะเราตายแน่ๆ ตายแล้วจะไปไหนนั่นคือปัญหา เราจะเอาพ้นทุกข์ หรือตามหลวงปู่ หรือจะปรารถนาสูงกว่านั้นก็ได้ ให้เราตั้งความปรารถนาไว้ ตั้งไว้แล้วก็ต้องทำ ไม่ใช่ตั้งแล้วก็ไม่ทำ อย่างนี้ก็จบกันเท่านั้น”
    ลูกศิษย์ถามว่า “ถ้าอย่างนี้เราอธิษฐานไว้สองอย่างได้ไหม คือ ถ้าเราไปไม่รอด ก็ขอตาม แต่ถ้าเราไปรอดก็ขอแยก”
    หลวงตาบอกว่า “ได้ เราต้องเผื่อขาดเผื่อเหลือไว้ หลวงปู่ดู่ท่านก็สั่งพระเล็กกับหลวงตาไว้ว่า ถ้าไปได้ให้ไปเลย และหลวงปู่ดู่ยังสั่งอีกว่า ให้ลูกศิษย์ทุกคนรีบปฏิบัติกลัวไม่ทันกัน หลวงปู่ดู่บอกว่า “ให้รีบทำเข้าไว้” โลกกำลังเปลี่ยนแปลง เราจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้”
    หลวงตาท่านยังบอกอีกว่า “การตั้งสัจจะอธิษฐานอย่างที่ทำกันทุกวันนี้ถูกแล้ว ให้ทำกันอย่างจริงจัง จะได้ทั้งวิริยะ ได้ทั้งศีล ได้ทั้งทาน ได้ทั้งขันติ ได้ทั้งอธิษฐาน ได้เกือบครบบารมี ๑๐ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องทำให้ได้จริงๆ เอาเท่าที่กำลังใจเราจะทำได้ การตั้งสัจจะอธิษฐานในการนั่งสมาธินั้น ให้อธิษฐานว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ภายใน ๗ วัน ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิทุกวัน แล้วก็ว่า อิมัง สัจจะวาจัง อธิษฐานมิ แต่อย่าบอกว่ากี่ชั่วโมง อย่าเจาะจงจนกว่าเราจะแน่น"
    ลูกศิษย์ถามว่า “ถ้าเราตั้งสัจจะอธิษฐานอะไรก็แล้วแต่ เกิดเราทำไม่ได้นี่ขอลาได้ไหม”
    หลวงตาบอกว่า “การตั้งสัจจะอธิษฐานนี้ ถ้าเราทำได้ เป็นการเพิ่มกำลังใจ ถ้าเราเสียสัจจะ เราก็เสียกำลังใจนะ ถ้าขอลาก็ได้ แต่กำลังใจเราจะคงที่หรือ การเสียสัจจะนี่ ทำให้บารมีไม่เต็ม ถ้าเราตั้งสัจจะอธิษฐานสมมุติตั้งไว้ว่า เราจะนั่งสมาธิ พอถึงเวลาเราก็ต้องนั่งนะ ถึงแม้ว่าเราจะนอนก็ต้องคิดว่าเรานั่งสมาธิอยู่ หมายถึงเอากายใน (กายทิพย์) นั่งก็ได้ เพราะเราไม่ได้ระบุว่า เราจะใช้กายไหนนั่งสมาธิ นอนเราก็นึกว่าเรานั่ง ถ้าเราอธิษฐานว่าใช้กายนอก (กายเนื้อ) นั่ง เราก็ต้องนั่ง แต่ถ้าเรากลัวก็ให้อธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะภาวนาทุกวัน นี่คือการใช้วิจารณญาณเป็นที่ตั้ง ถ้าเราทำได้ กำลังใจเราจะเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเกิดบารมี ก็เกิดสัจจะและกำลังใจ เวลาเราภาวนาเราก็ใช้กายใน (กายทิพย์) ภาวนา ไม่ใช่กายนอก (กายเนื้อ) หลับตาก็นึกว่าเรากำลังนั่งภาวนาข้างหน้าพระ ทำไปเรื่อยๆ จิตกับกายจะสัมพันธ์กันตลอด จะไม่ละเมอ เพราะช่วงที่จิตกับกายปฏิสนธิอยู่จะติดคำภาวนา จะไม่มีการละเมอ ถ้าละเมอจะรู้เลย ถ้าเอาสติคุม จะรู้ทันทีว่านี่คือความฝัน จิตยังมีกิเลสตัณหา แต่กายนี้สามารถแยกได้ เราเอากายออกมาแล้ว เอาศีลคุมกรรมฐาน หลวงปู่ดู่ท่านว่า “พอตื่นขึ้นให้ทำเลย” คือลืมตาขึ้นทำเลย จะเอาวิปัสสนา หรือจะเอากรรมฐาน ๔๐ เราก็ต้องทำจนกว่าจะหลับ ให้คุมอยู่ตลอด มันจะโผล่บ้างก็ช่วงที่เราคุยกันอยู่”
    (พระเดชพระคุณหลวงตาม้า)

    กำลังจักรพรรดิ์หลวงปู่ดู่พรหมปัญโญ-หลวงตาม้าวิริยธโร

    กำลังจักรพรรดิ์หลวงปู่ดู่พรหมปัญโญ-หลวงตาม้าวิริยธโร
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...