ใครที่ยังไม่มีพื้นฐานการปฏิบัติกรรมฐานมาก่อน หลวงปู่ดู่ท่านก็ให้บริกรรมภาวนา ไตรสรณคมณ์ ( พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ) แต่หากมีพื้นฐานมาแล้ว ท่านก็มักจะให้ปฏิบัติอย่างเดิมต่อไป ตัวอย่างเช่น มีเด็กนักศึกษาคนหนึ่งไปกราบท่านครั้งแรก ท่านถามว่า "เคยภาวนาไหม ?" เขาตอบว่า "เคยครับ โดยใช้คำบริกรรมภาวนาว่า สัมมา อะระหัง ครับ" หลวงปู่กล่าวว่า "ใช้ได้ ทำต่อไป หลวงพ่อสดท่านดี" เท่าที่สัมผัสกับท่าน ยังไม่เคยเห็นหลวงปู่บังคับ หรือ โน้มน้าวให้ใคร ต้องเปลี่ยนกรรมฐานเดิม มาบริกรรมไตรสรณคมน์ ใครจะคุ้นเคยกับการดูลม ก็ดูลม ใครชอบดูการเคลื่อนไหวของกาย ก็ทำไป ขอให้อยู่ในแบบที่พระพุทธเจ้าวางไว้ เป็นใช้ได้ทั้งนั้น จุดใหญ่ที่ท่านเน้นก็คือ การทำจริง ทำให้สม่ำเสมอ ทำให้ใจเราได้สัมผัสปฏิเวธ คือ ธรรมอันเป็นผลแห่งการปฏิบัติ เช่น ความสงบ ความปีติ และความสลดสังเวชจากการพิจารณา จนกระทั่งได้น้ำตาร่วง เป็นต้น ไม่อย่างนั้น ทำไป ๆ มันจะท้อแท้เบื่อหน่าย เพราะไม่มีผลความคืบหน้ามาเป็นกำลังใจให้กับเจ้าของ ดังนั้น ท่านจึงเน้นความสม่ำเสมอในการปฏิบัติ ดังที่ว่า "สีไม้ให้เกิดไฟ" แต่อย่างไรก็ดี หลวงปู่ท่านให้เราขวนขวายสร้างเหตุ คือ ให้ขยันปฏิบัตินั่นเอง ส่วนผล จะสงบเมื่อใร จะปีติ จะเกิดสลดสังเวชใจเมื่อไร ไม่ต้องคาดหวัง ไม่ต้องกังวล ให้มั่นใจว่า หากได้ลงมือสร้างเหตุที่ถูกต้อง ผลย่อมตามมาเอง อย่างน้อยที่สุด ก็บอกกับตัวเองเพื่อเป็นกำลังใจให้ตัวเอง (ในระยะแรกที่ผลการปฏิบัติยังไม่ปรากฏชัด) ว่า "ลูก ขอปฏิบัติเพื่อ บูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณครูบาอาจารย์ มีหลวงปู่ดู่ หลวงปู่ทวด เป็นที่สุดนี้" แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเรื่อยไป ***เรียบเรียงจากบทความของ คุณสิทธิ์ ที่มา Luangpudu.com / Luangpordu.com การสอนกรรมฐานของ...หลวงปู่ดู่