** ไม่ว่าจะหลีกหนีให้ไกลเพียงใด เราทุกคนก็หนี "ความตาย" ไม่พ้น ** (พระไพศาล วิสาโล)

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย ihappiness, 13 ธันวาคม 2012.

  1. ihappiness

    ihappiness เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2012
    โพสต์:
    164
    ค่าพลัง:
    +920
    " ไม่ว่าจะหลีกหนีให้ไกลเพียงใด
    เราทุกคนก็หนีความตายไม่พ้น
    ในเมื่อจะต้องเจอกับความตายอย่างแน่นอน
    แทนที่จะวิ่งหนีความตายอย่างไร้ผล
    จะไม่ดีกว่าหรือหากเราหันมาเตรียมใจรับมือกับความตาย "


    ความตายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็จริง แต่ใครบ้างที่ยอมรับความจริงข้อนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้คนเป็นอันมากจึงพยายามหนีห่างความตายให้ไกลที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามไม่นึกถึงมัน โดยทำตัวให้วุ่น หาไม่ก็ปล่อยใจเพลิดเพลินไปกับความสุขและการเสพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีชีวิตราวกับลืมตาย ดังนั้นจึงไม่พอใจหากมีใครพูดถึงความตายให้ได้ยิน ถือว่าเป็นอัปมงคล คำว่า “ความตาย”กลายเป็นคำอุจาดที่แสลงหู ต้องเปลี่ยนไปใช้คำอื่นที่ฟังดูนุ่มนวล เช่น “จากไป” หรือ “สิ้นลม”

    * ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะต้องตายไม่ช้าก็เร็ว แต่แทนที่จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้า คนส่วนใหญ่เลือกที่จะ “ไปตายเอาดาบหน้า” คือ ความตายมาถึงเมื่อไร ค่อยว่ากันอีกที แต่วันนี้ขอสนุกหรือขอหาเงินก่อน ผลก็คือเมื่อความตายมาปรากฏอยู่เบื้องหน้า จึงตื่นตระหนก ร่ำร้อง ทุรนทุราย ต่อรอง ผัดผ่อน ปฏิเสธผลักไส ไขว่คว้าขอความช่วยเหลือ แต่ถึงตอนนั้นก็ยากที่จะมีใครช่วยเหลือได้ เตรียมตัวเตรียมใจเพียงใด ก็ได้รับผลเพียงนั้น ถ้าเตรียมมามากก็ผ่านความตายได้อย่างสงบราบรื่น ถ้าเตรียมมาน้อย ก็ทุกข์ทรมานแสนสาหัสกว่าจะหมดลม หากความตายเปรียบเสมือนการสอบ ก็เป็นการสอบที่ยุติธรรมอย่างยิ่ง



    ทำใจให้คุ้นชินกับ "ความตาย"

    การเตรียมใจรับมือกับความตายที่ดีที่สุดคือ การทำใจให้คุ้นชินกับมันเป็นเบื้องแรก เพื่อมิให้มันเป็นสิ่งแปลกหน้าสำหรับเราอีกต่อไป เราสามารถทำใจให้คุ้นชินกับความตายได้ด้วยการระลึกนึกถึงความตายอยู่เสมอ นั่นคือเจริญ “มรณสติ” อยู่เป็นประจำ

    การเจริญมรณสติ คือ การระลึกหรือเตือนตนว่า

    ๑) เราต้องตายอย่างแน่นอน

    ๒) ** ความตายสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ อาจเป็นปีหน้า เดือนหน้า พรุ่งนี้ คืนนี้ หรืออีกไม่กี่นาทีข้างหน้าก็ได้ **

    เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องสำรวจหรือถามตนเองว่า

    ๓) เราพร้อมที่จะตายหรือยัง เราได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง และพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งทั้งปวงแล้วหรือยัง

    ๔)หากยังไม่พร้อม เราควรใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เร่งทำสิ่งที่ควรทำให้เสร็จสิ้น อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า หาไม่แล้ว เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้

    ข้อ ๑) และ ๒) คือความจริงหรือเป็นกฎธรรมชาติที่เราไม่อาจปฏิเสธหรือขัดขืนต้านทานได้ ส่วนข้อ ๓) และ ๔) คือสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่เราจะจัดการได้ เป็นการกระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราโดยตรง

    การระลึกหรือเตือนใจเพียง ๒ ข้อแรกว่า เราต้องตายอย่างแน่นอน และจะตายเมื่อไรก็ได้ หากทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราตื่นตระหนกน้อยลงเมื่อความตายมาปรากฏอยู่เบื้องหน้า เพราะเตรียมใจไว้แล้ว

    * แต่ทันทีที่เราตระหนักว่าความตายจะทำให้เราพลัดพรากจากทุกสิ่งที่มีอยู่อย่างสิ้นเชิง ในชั่วขณะนั้นเอง หากเราระลึกขึ้นมาได้ว่ามีบางสิ่งบางคนที่เรายังห่วงอยู่ มีงานบางอย่างที่เรายังทำไม่แล้วเสร็จ หรือมีเรื่องค้างคาใจที่ยังไม่ได้สะสาง ย่อมเป็นการยากที่เราจะก้าวเข้าหาความตายได้โดยไม่สะทกสะท้าน

    ยิ่งความตายมาพร้อมกับทุกขเวทนาอันแรงกล้า หากไม่ได้ฝึกใจไว้เลยในเรื่องนี้ ก็จะทุรนทุรายกระสับกระส่ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไหนจะถูกทุกขเวทนาทางกายรุมเร้า ไหนจะห่วงหาอาลัยหรือคับข้องใจสุดประมาณ ทำให้ความตายกลายเป็นเรื่องทุกข์ทรมานอย่างมาก




    ที่มา : http://www.visalo.org/book/raluktung2.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 ธันวาคม 2012
  2. ihappiness

    ihappiness เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2012
    โพสต์:
    164
    ค่าพลัง:
    +920
    ประโยชน์ของการเจริญมรณสติ กล่าวโดยสรุป มี ๓ ประการคือ

    ๑.ทำให้ขวนขวายใส่ใจในสิ่งที่ชอบผัดผ่อน

    ดังได้กล่าวแล้วว่า " มรณสติ " ทำให้เราตระหนักว่าเรามีเวลาเหลืออยู่ในโลกนี้อย่างจำกัด และจะตายไปเมื่อใดก็มิอาจรู้ได้ (“ชาติหน้าหรือวันพรุ่งนี้ อะไรจะมาก่อน ไม่มีใครเลยที่รู้ได้”เป็นภาษิตธิเบตที่ย้ำเตือนความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี)

    ดังนั้นจึงกระตุ้นให้เราต้องเร่งรีบทำสิ่งสำคัญก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้ทำ โดยทั่วไปสิ่งสำคัญเหล่านี้เรามักชอบผัดผ่อน เนื่องจากเห็นว่าจะทำเมื่อไรก็ได้ ไม่มี “เส้นตาย” เช่น การปฏิบัติธรรม การสร้างสมบุญกุศล การให้เวลากับครอบครัวหรือพ่อแม่ ในขณะที่กิจวัตรประจำวันของเรานั้นมีเรื่องอื่น ๆ มากมายที่ดูเหมือนเร่งด่วนกว่า เพราะมีเส้นตายชัดเจน จึงบังคับอยู่ในทีให้ต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว เช่น ส่งลูกไปโรงเรียน หาลูกค้าให้ถึงเป้า ส่งงานตามกำหนด ผ่อนรถ ไปงานศพ ฯลฯ บางอย่างแม้ไม่สำคัญเลย แต่ดึงดูดใจมากกว่า และมีกำหนดเวลาชัดเจน เช่น ไปเที่ยวห้างที่กำลังจัดเทศกาลลดราคา ชมภาพยนตร์ซึ่งใกล้จะออกจากโรง หรือดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก

    กิจกรรมเหล่านี้มักแย่งเวลาไปจากเราจนไม่มีเวลาเหลือสำหรับสิ่งสำคัญที่ไม่เร่งด่วน ผลก็คือต้องเลื่อนการเข้าอบรมปฏิบัติธรรมไปเรื่อย ๆ หรือไม่มีเวลาให้กับครอบครัวเสียที ส่วนการไปเยี่ยมพ่อแม่หรือบวชให้ท่านก็ต้องผัดแล้วผัดอีก มีหลายคนที่ต่อเมื่อป่วยหนักกะทันหันจึงค่อยรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ในขณะที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ บางคนมาได้คิดเมื่อใกล้จะตายแต่ถึงตอนนั้นก็สายเสียแล้วที่จะทำอะไรได้


    ๒. ทำให้ปล่อยวางสิ่งที่ชอบยึดติด

    ความยึดติดคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราไม่พร้อมเผชิญกับความตาย เพราะความตายหมายถึงการพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ คนเรายึดติดหลายอย่างทั้งบุคคลและสิ่งของ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ความห่วงหาอาลัยสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากทุรนทุรายกระสับกระส่ายเมื่อความตายมาถึง ในแง่ของพุทธศาสนา ความยึดติดไม่เพียงทำให้ทุกข์ใจทั้งในยามปกติและในยามไม่ปกติ คือเมื่อแก่ชรา เจ็บป่วย และสิ้นชีวิตเท่านั้น หากยังเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเมื่อตายไปแล้วด้วย

    การระลึกว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย และอาจตายอย่างไม่สงบหากใจยังยึดติดกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทำให้เราเห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนการปล่อยวาง การฝึกฝนที่ให้ได้ผลนั้นไม่ควรทำต่อเมื่อรู้ว่าใกล้จะตาย แต่ควรทำเป็นอาจิณในขณะที่ยังมีชีวิตเป็นปกติ

    การปล่อยวางนั้นไม่ได้หมายถึงการไม่รับผิดชอบ ตรงกันข้ามยิ่งเห็นความสำคัญของการปล่อยวาง ก็ยิ่งเร่งทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้สมบูรณ์ เพราะเมื่อทำเสร็จแล้วย่อมเราย่อมปล่อยวางได้ง่ายขึ้น พ่อแม่ที่เตรียมพร้อมทุกอย่างให้ลูก ทั้งเงินทอง วิชาความรู้ ศีลธรรมจรรยา รวมทั้งความรักความอบอุ่น ย่อมห่วงลูกน้อยกว่าพ่อแม่ที่ยังทำหน้าที่ไม่ดีพอ หากจะต้องตายก็พร้อมจะตายได้มากกว่า


    ๓. ทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน

    คนเรามักไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่มีอยู่กับตัว แต่กลับไปจดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองยังไม่มี จึงหาความสุขได้ยาก เพราะจะถูกรบกวนด้วยความอยากได้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ต่อเมื่อสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ไป จึงค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์สมบัติ คนรัก หรือสุขภาพร่างกาย ใช่หรือไม่ว่าต่อเมื่อเจ็บป่วยเราจึงตระหนักว่าการมีสุขภาพดีนั้นเป็นโชคอันประเสริฐแล้ว ต่อเมื่ออวัยวะบางอย่างสูญเสียหรือพิการไป เราจึงเห็นว่าอวัยวะดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งกว่าเงินทองชื่อเสียงที่เคยอยากได้ ต่อเมื่อคนรักจากไป จึงได้คิดว่าเขามีความหมายกับชีวิตของเราอย่างไร แว่นตา หรือนาฬิกาที่เราไม่ค่อยเห็นความสำคัญ ต่อเมื่อมันหายไป จึงรู้ว่ามันมีประโยชน์กับเราเพียงใด

    มรณสติช่วยเตือนใจให้เราตระหนักว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ขณะนี้ ไม่ช้าก็เร็วย่อมจากเราไป การระลึกว่าสิ่งเหล่านี้อยู่กับเราเพียงชั่วคราวเท่านั้น จะช่วยให้เราหันมาชื่นชมกับสิ่งนั้นมากขึ้น ไม่มองข้ามหรือปล่อยให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อเรารู้ว่าในที่สุดเราต้องเจ็บป่วยและแก่ชรา เราจะเห็นคุณค่าของสุขภาพและวัยเยาว์ จะไม่ปล่อยปละละเลยสุขภาพหรือใช้วัยเยาว์ไปในทางที่ไร้สาระ

    ** เมื่อเราตระหนักว่าเรามีเวลาอยู่ในโลกนี้จำกัด เราจะเห็นคุณค่าของทุกเวลานาทีที่ยังเหลืออยู่ ไม่ปล่อยทิ้งไปอย่างไร้คุณค่า ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาเราจะรู้สึกเป็นสุขที่ยังมีชีวิตอีกหนึ่งวัน แต่ละวันนั้นจะมีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีวันพรุ่งนี้สำหรับเราหรือไม่

    ** ในทำนองเดียวกัน เพียงแค่รู้ว่า พ่อแม่ ลูกหลาน สามีภรรยา ยังอยู่กับเรา เราก็มีความสุขแล้ว เพราะไม่มีหลักประกันเลยว่าเขาจะจากเราไปเมื่อใด แม่บ้านผู้หนึ่งเล่าว่าทุกเย็นเพียงแค่ได้เห็นสามีและลูก ๆ อยู่กันพร้อมหน้าที่บ้าน เธอก็มีความสุขแล้ว เพราะไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะมีโอกาสแบบนี้หรือไม่ มรณสติจึงทำให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้น เพราะตระหนักว่าเรามีสิ่งดี ๆ ที่ทรงคุณค่าอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าหาความสุขจากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ไกลตัวเลย

    ...
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 ธันวาคม 2012
  3. AnattaAnan

    AnattaAnan Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    4
    ค่าพลัง:
    +37
    คนเราก็เท่านี้
    เกิดขึ้น .... ตั้งอยู่ .... ดับไป ....
     
  4. llilliilliiill

    llilliilliiill เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    589
    ค่าพลัง:
    +2,741
    คิดว่าจริงๆแล้วส่วนใหญ่อาจจะไม่กลัวตายครับ แต่ลึกๆ.. กลัวความเจ็บปวดทางกาย และทางใจ มากกว่า

    อย่างถ้าถามว่าผมกลัวตายมั้ย? บอกเลยว่า "ไม่"
    แต่กลัวว่าตายไปแล้วไม่มีใครดูแลแม่ ที่เค้าเรียกกันว่า "ยังมีห่วง"

    ประมาณนี้ครับ...


    .
     
  5. ตึงได

    ตึงได เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 กรกฎาคม 2012
    โพสต์:
    99
    ค่าพลัง:
    +730
    สาธุในธรรม
    อันความตาย ชาย นารี หนีไม่พ้น
    เกิดมาแล้วทำอย่างไรก็ต้องตายวายชีวี
    แล้วจะกลัวตายกันไปทำไม พิจารณาความตายกันดีกว่ามั้ย
    อยากมาเกิดกันอีกทำไม เมื่อรู้ว่าเกิดมาแล้วก็ต้องตาย
    วันนี้ไม่ตาย พรุ่งนี้ก็ต้องตายแล้ว
    ขอเป็นผู้ที่ปรารถนาไม่กลับมาเกิดอีกแล้วในทุกภพชาติ
    แม้มนุษย์โลก เป็นผู้ร่ำรวย
    แม้เทวโลก เป็นเทวาผู้มีฤทธิ์
    แม้พรหมโลก เป็นพรหมผู้ให้ผู้สร้างก็ตาม
    ขอเป็นผู้ที่ปรารถนาไม่กลับมาเกิดอีกแล้วในทุกภพชาติ
     

แชร์หน้านี้

Loading...