ไตรลักษณ์คืออะไร

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ปลายสายน้ำ, 24 กุมภาพันธ์ 2007.

  1. ปลายสายน้ำ

    ปลายสายน้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    76
    ค่าพลัง:
    +730
    ไตรลักษณ์คืออะไร "ไตร" แปลว่า สาม "ลักษณ์" ก็คือลักษณะนั่นเอง ไตรลักษณ์คือลักษณะ 3 ประการ ซึ่งมีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ เราเรียกว่า สามัญลักษณะ คือลักษณะพื้น ๆ ทั่วไป มีอยู่ในทุกอย่าง ดอกไม้อาจจะต่างจากไมโครโฟน คนอาจจะต่างจากวัตถุสิ่งของ แต่ทุกสิ่งมีลักษณะร่วมกัน นั่นคือ ทุกสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลง เป็นอนิจจัง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นทุกข์ และไม่มีแก่นสารที่ถาวร เป็นอนัตตา ทั้งหมดนี้เรียกว่า สามัญลักษณะ นี่คือกฎทั่วไปในจักรวาลนี้ พระพุทธองค์ทรงค้นพบและประกาศว่า นี่คือสัจธรรมที่มีอยู่ก่อนพระองค์


    ไตรลักษณ์มี 3 ข้อ คือ 1. ไม่เที่ยง 2. เป็นทุกข์ และ 3. ไม่ใช่ตัวตน


    ไม่เที่ยงคืออะไร ไม่เที่ยงก็คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและดับไปทุกขณะ ปรากฎขึ้นมาแล้วก็หายวับไป ทุกสิ่งทุกอย่างเกิด-ดับ ทุกขณะ เปรียบเหมือนกับกระแสน้ำที่ไหลไปไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ นักอภิธรรมบอกว่า จิตของเราเกิด-ดับทุกขณะ จิตเกิด-ดับเร็วมาก ไวยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ จิตที่เกิด-ดับไวขนาดนี้ เกิดสิบเจ็ดขณะ จะเท่ากับปรมาณูหรือเซลล์ของสิ่งต่าง ๆ เกิด-ดับ หนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งเปลี่ยนไปตามกระแส


    ทำไมเราจึงไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ให้ดูไฟฟ้าดวงนี้ที่ส่องสว่างมันมีพลังงานเข้ามาในดวงไฟ ไปดูมิเตอร์ ปรากฎว่าตัวเลขมันขึ้น แต่เราดูไฟมันเหมือนคงที่ เหมือนกับว่าไม่มีกระแสไฟฟ้าหมุนเวียน แท้ที่จริงแล้วพลังงานไฟฟ้าถูกใช้ไปและพลังงานใหม่เข้ามาแทนที่ทุกขณะ จนกระทั่งเราเห็นเป็นดวงไฟที่ส่องสว่าง เพราะฉะนั้นทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงทุกขณะ แต่เราไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเพราะอะไร เพราะมันมีการสืบต่อกัน ตัวนี้ดับไป ตัวใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ เขาเรียกว่า สันตติ หรือการสืบต่อทุกสิ่งทุกอย่างถูกแทนที่ อย่างเซลล์ที่มือเราสึกหรอไปทุกวัน เซลล์ใหม่ก็เกิดขึ้นมาแทน นี่คือความไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นบางคนจึงบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลง คนคนเดียวไม่สามารถจะข้ามแม่น้ำสายเดิมได้สองครั้ง ข้ามแม่น้ำไปแล้วข้ามกลับมา ปรากฎว่าน้ำตรงนั้นไม่ใช่น้ำเดิมที่ตนเองข้าม แต่เป็นน้ำใหม่ที่ไหลมาแทนที่


    ในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเมื่อเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องกันอย่างนี้ มันก็เป็นกระแส ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นกระแส คือไม่มีอะไรคงที่ มันเป็นทุกข์ ให้เข้าใจคำว่าทุกข์ ในไตรลักษณ์มีความหมายถึง 3 ประการด้วยกัน


    ประการที่หนึ่ง ท่านใช้คำบาลีว่า ทุกขทุกขตา หมายถึง ความรู้สึกเจ็บปวดในกายหรือในใจ ใครปวดใจนั่นก็ทุกข์ ปวดกายก็ทุกข์ ความรู้สึกอย่างนี้ที่เรียกว่าทุกขเวทนา คือ ความรู้สึกในใจที่เราส่วนมากรู้สึกกัน


    แต่ยังมีทุกข์ข้อสอง ก็คือว่า วิปริณามทุกข์ หมายถึง ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะความเปลี่ยนแปลง พูดง่าย ๆ ก็คือ สุขกลายเป็นทุกข์ น้ำผึ้งขมเคยมีความสุขอยู่ พอสุขนั้นหายไปตามกฎอนิจจัง เราทุกข์ขึ้นมา อันนั้น เรียกว่า วิปริณามทุกข์ - สุขที่กลายเป็นทุกข์


    ข้อที่สาม สังสารทุกข์ หมายถึง สิ่งที่ถูกบีบคั้นจนทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อันหมายถึงทุกข์ในไตรลักษณ์


    ทุกข์มาจากภาษาบาลีว่า ทุ กับ ขมะ ทุ แปลว่า ยาก ขมะ แปลว่า ทน ทุกขะก็คือสิ่งที่ทนได้ยาก คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อย่างข้อแรกที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเป็นกระแส มันไม่หยุดอยู่ตามเดิม ทำไมเพราะมันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อย่างเช่น เราโยนก้อนหินไปบนท้องฟ้า มันไม่ลอยค้างอยู่ในอากาศ แต่ตกลงมาเพราะทนอยู่ที่เดิมไม่ได้นั่นคือเป็นทุกข์


    อีกตัวอย่างหนึ่ง คนที่เกิดมาจะต้องเปลี่ยนแปลง จะเป็นเด็กแบเบาะอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ จะต้องโตขึ้น โตขึ้นจะต้องแก่ลง นี่เป็นกฎเพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้


    ข้อสุดท้ายในไตรลักษณ์ อนัตตาที่แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน หมายความว่า สิ่งทั้งหลายไม่มีแก่นสารถาวรคงที่ มีการเปลี่ยนแปลง ตัวคนเราประกอบด้วยส่วนประกอบหลาย ๆ อย่าง หาแก่นที่เป็นตัวคนไม่ได้ ลองวาดภาพถึงเสื้อผ้าที่เราใส่ อะไรคือเสื้อ พอเลาะตะเข็บออกแล้ว ดึงด้ายออกไป แผ่นผ้าหายไป เหลือแต่ด้าย เสื้อหายไปหมดแล้ว


    ตัวคนเราก็เช่นเดียวกัน มาจากส่วนประกอบที่เรียกว่า เบญจขันธ์ คือ รูป-ร่างกาย เวทนา-ความรู้สึก สัญญา-ความจำ สังขาร-ความดีชั่วในใจ และวิญญาณ-ความรู้อารมณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างปรุงแต่งเข้ามาเป็นตัวคน พอดึงออกมาแต่ละอย่าง ความเป็นคนก็กระจายออกไป เพราะฉะนั้นจึงไม่มีตัวเราที่เที่ยงแท้ถาวร แต่เราก็ยึดกันเข้าไป มีทิฐิมานะกันเข้าไป นี่ตัวฉันนะ มีตำแหน่งนั่นตำแหน่งนี่นะ นี่ของฉันนะ เมื่อตัวฉันไม่มี ของของฉันก็ไม่มีด้วย เมื่อตัวฉันที่ถาวรไม่มี บ้านก็ไม่ใช่ของฉัน อะไรก็ไม่ใช่ของฉัน นี่กล่าวโดยถึงที่สุด โดยธรรมะที่ลึกซึ้ง


    ทำไมคนเราจึงไม่เห็นทั้งสามลักษณะ คือ ไม่เที่ยง-เป็นทุกข์-ไม่ใช่ตัวตน เพราะเรามองแบบนิมิต คือมองแบบรวม ๆ เช่น นี่ดอกไม้ นี่โต๊ะ นี่เก้าอี้ เมื่อเรามองรวมๆ เราจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงหรือเห็นได้ช้ามาก กว่าเด็กจะโต กินข้าวหมดไปหลายจาน เราไม่เห็นเด็กโตกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน แต่ที่จริงนั้นเด็กเปลี่ยนแปลงทุกขณะ ร่างกายเราก็เปลี่ยนแปลงทุกขณะ เพราะมองแบบรวม เราจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง


    นี่เป็นการมองแบบคนธรรมดา แต่ถ้ามองแบบพระพุทธเจ้าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะท่านมองแบบอนุพยัญชนะ คือแยกธาตุเป็นชิ้น ๆ แล้วก็ส่องกล้องจุลทรรศน์ทางใจของเราแยกมองเป็นชิ้น ๆ แต่ละส่วน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ความสืบต่อจะหลอกตาเราไม่ได้


    เพราะฉะนั้นใน อนัตตลักขณสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ว่า "เบญจขันธ์มีอะไรบ้าง"
    "มีรูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ"
    "รูปเที่ยงไหม"
    "ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า"
    "เวทนา"
    "ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า"
    "สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ทั้งหมดนี้"
    "ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า"

    พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ คือเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่มีแก่นสาร"

    นี่คือไตรลักษณ์ที่ทรงประกาศในอนัตตลักจณสูตรเป็นคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา

    เมื่อเราได้รู้ไตรลักษณ์อย่างนี้ ผลคืออะไร ถ้าเรารู้แบบชาวบ้าน คือรู้บ้าง หลงบ้าง ลืมบ้าง มันก็ทำให้เราอยู่ในโลกอย่างไม่มีติดโลก อยู่อย่างเข้าใจว่าชีวิตของเราดำเนินไปอย่างไร อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ปญญาชีวิ ชีวิตมาหุ เสฏฐ-บัณฑิตกล่าวว่า ชีวิตของคนที่อยู่ด้วยปัญญานั้น เป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด"

    คนโบราณเขาผูกนิทานเล่าไว้ว่า
    มีพ่อตากับลูกเขยที่ไม่ค่อยกินเส้นกัน ปกติพ่อตากับลูกเขยจะต้องไปหาปลาคนละแห่ง ไปตกเบ็ดคนละทาง พ่อตาไปทางเหนือ ลูกเขยไปทางใต้ บังเอิญวันนั้นเหลือเรืออยู่ลำเดียว ทั้งคู่จะไปตกเบ็ดก็เลยต้องไปด้วยกัน ลูกเขยถามว่า "พ่อ จะไปทางไหนดี ไปตกเบ็ดทางไหน" พ่อตาตอบว่า "ไปทิศเดิม ทิศเหนือที่พ่อเคยไป"
    ลูกเขยบอก "โอ๊ย ไม่แน่หรอก ปลาอาจจะไม่กินเบ็ดก็ได้ ไปทำไม ไปทิศใต้ดีกว่า มันไม่แน่หรอก"
    พ่อตาพูดว่า "ทำไมมันจะไม่แน่ ข้าไปทุกวันแล้วก็ได้ปลาทุกวันต้องแน่สิ"
    ตกลงลูกเขยร่วมพายเรือไปตามทิศทางที่พ่อตาบอก พอไปถึงที่ตกปลาของพ่อตา ลูกเขยก็พูดว่า "ดูทำเลวันนี้ท่าจะไม่ได้ปลา"
    ทั้งคู่นั่งตกปลาตั้งแต่เช้า ปลาไม่กินเบ็ด ลูกเขยได้ทีพูดว่า "บอกแล้วไม่เชื่อว่ามันไม่แน่นะพ่อ อะไร ๆ มันก็อนิจจัง ปลามันไม่กินเบ็ด"
    พ่อตายืนกรานว่า "มันต้องกินสิ"
    บ่ายแล้วปลาก็ยังไม่กินเบ็ด ลูกเขยก็บ่นว่าอนิจจังไม่เที่ยงอยู่นั่นแหละ พ่อตาชักหงุดหงิด พอชักบ่ายคล้อย ปลาตัวใหญ่กินเบ็ดดิ้นไปดิ้นมา พ่อตาบอกว่า "นั่นไงไอ้ทิด ข้าว่าแล้ว มันแน่สิ" ลูกเขยเตือนว่า "สายเบ็ดอาจจะขาดก็ได้นะพ่อ"
    พ่อตาวัดเบ็ดได้ปลาตัวใหญ่ พ่อตารีบจับปลา ลูกเขยไม่ช่วยแถมยังพูดว่า "ไม่แน่นะ ปลาอาจจะหลุดมือตกน้ำไปก็ได้" พ่อตารีบจับปลายัดใส่ข้องปิดฝาแน่น พูดว่า "นี่แน่ะ ปลาอยู่ในข้อง จะไปไหนให้มันรู้ไปสิ มันไม่แน่ได้ยังไง"
    ทั้งคู่นั่งตกปลานานเท่าไร ปลาก็ไม่มากินเบ็ด "กลับกันดีกว่า กลับบ้านไอ้ทิด" พ่อตาชวนลูกเขยพายเรือกลับบ้าน พอกลับมาถึงบ้าน ลูกเขยก็ถามว่า "เอาไปทำอะไรกินนี่พ่อ"
    "ก็เอาไปต้มยำ"
    ปรากฎว่า พ่อตาขอดเกล็ดและทำเองหมดทุกอย่าง พลางพูดว่า "จะซดให้ถนัดวันนี้"
    ลูกเขยก็บอกว่า "อาจจะไม่ได้กินก็ได้พ่อ มันไม่แน่ อะไร ๆ มันก็ไม่เที่ยง" พ่อตาก็ตอบกลับว่า "มันจะไม่เที่ยงได้ไง นี่ข้าขอดเกล็ดแล้วนะนี่ มันจะหนีไปไหน ดิ้นก็ไม่หลุดแล้วนี่" พอขอดเกล็ดได้ก็ใส่หม้อต้มยำ
    ลูกเขยบอกว่า "ไม่แน่พ่อ อาจจะไม่ได้กินก็ได้" พ่อตาก็ย้อนกลับว่า "จะไม่ได้กินได้อย่างไร นี่เดือดปุด ๆ แล้วนี่" พอสุกก็ยกลงมาตั้ง เตรียมเอาจานคดข้าวมากิน
    ลูกเขยกล่าวว่า "พ่อ อะไร ๆ มันก็ไม่แน่นะพ่อ อาจจะไม่ได้กินก็ได้" พ่อตาว่า "ก็ตักแล้วนี่ จะซดอยู่แล้วนี่ จะไม่ได้กินได้อย่างไร มันจะไม่แน่ได้อย่างไร" ลูกเขยก็บอกว่า "ไม่แน่พ่อ อาจจะใส่พลาดไม่เข้าปากก็ได้" ทีนี้พ่อตาโกรธเลยพูดว่า "นี่แน่ะ ไม่แน่ ๆ อยู่ได้" แล้วยกหม้อทุ่มหัวลูกเขย ลูกเขยหลบ หม้อตกแตก ลูกเขยได้ทีเลยพูดว่า "บอกแล้ว มันไม่แน่ มันไม่แน่ พ่อกับฉันเลยอดกินไปเลย"

    ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้ อะไร ๆ มันก็ไม่ได้ดังใจ ที่นี้เมื่อสิ่งต่าง ๆ มันไม่ได้ดังใจ สำหรับสิ่งที่ผ่านไปแล้วในอดีตที่ปล่อยผ่านไป สมมุติว่าในขณะนี้สภาพของเราย่ำแย่ มีปัญหามาก เราจะทำอย่างไร ให้มองว่าสิ่งต่าง ๆ มันไม่เที่ยง คือถ้าเราทุกข์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทุกข์อยู่ตลอดศก สักวันหนึ่งฟ้าจะต้องสว่างสำหรับเราบ้าง เราจะต้องดีขึ้น

    และสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไม่ใช่เปลี่ยนทันที มันต้องมีองค์ประกอบหลายประการที่จะมาช่วยกันทำให้เกิดเรื่องขึ้น หรือทำให้เรื่องมันหายไป ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ก็ใช้มนต์มหัศจรรย์มาช่วย มันจะต้องเปลี่ยนแปลงเพราะองค์ประกอบหลายประการ สิ่งต่าง ๆ อาศัยกันและกันเกิดขึ้นตามหลักปฏิจจสมุปบาท เมื่ออาศัยกันและกันเกิดขึ้น เราจะแก้ปัญหาได้ดีขึ้นถ้าดูองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างก่อนแก้ปัญหา

    อนิจจังไม่ได้สอนให้คนงอมืองอเท้าหรือไม่ทำอะไรเลยในเวลาเกิดปัญหา แต่สอนให้คนมีความหวังในขณะที่มีปัญหาว่า สักวันหนึ่งเมื่อเรารู้จุดเกิดของปัญหา เราจะแก้ปัญหาได้ และทำอะไรให้ดีขึ้น เราจะต้องควบคุมสถานการณ์ ไม่ใช่งอมืองอเท้า และเมื่อเราได้ดีขึ้นจะต้องไม่ประมาทเพราะสิ่งต่าง ๆ มันเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเราได้ดีก็ตกต่ำได้ มันไม่เที่ยง

    ข้อนี้ฉันใด ชีวิตของเราก็เหมือนกัน เมื่อเราอยู่ในสภาพที่ดี เราจะต้องระวังเหมือนกัน วันหนึ่งอาจจะตก ฉะนั้นเมื่อยังไม่ตก เราจะทำอย่างไร เราตรวจดูองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง การงานของเราบกพร่องไหม คนข้างเคียงเป็นอย่างไร เพื่อที่จะเสริมฐานะของเราให้ดีขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุปัจจัย มิใช่หมายความว่าเราได้ดีแล้วจะคงกระพันชาตรีทุกอย่างเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นหรือเลวลงนั้น มันอยู่ในกำมือของเรา เราต้องทำงาน ต้องประกอบกรรมที่เป็นกุศล ถ้าเราเข้าใจกฏของอนิจจัง เราต้องทำงานเพื่อให้ตัวเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดียิ่งขึ้น นี่คืออนิจจังในชีวิตประจำวัน

    (มีต่อนะค่ะ ยังไม่จบค่ะ ว่าง ๆ จะมาลงให้อ่านกันอีกนะค่ะ)
     
  2. magic power

    magic power เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2006
    โพสต์:
    33
    ค่าพลัง:
    +200
    อ่านแล้วได้ความรู้มากเลยครับ
    บางครั้งสิ่งที่ผ่านตาแล้วก็อาจลืมไปได้ แต่ถ้ามีโอกาสได้อ่านเตือนใจอีกครั้ง
    ความรู้ที่ลืมไปก็ได้คืนมา.......ขออนุโมทนาบุญด้วยความเต็มใจ (verygood)(f)(f)(f)

     
  3. ปลายสายน้ำ

    ปลายสายน้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    76
    ค่าพลัง:
    +730
    มาถึงข้อสอง ทุกขัง-ความทุกข์ ความทุกข์คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ แต่ละคนไม่ชอบความลำบาก บางครั้งเราหลีกเลี่ยงปัญหา หนีทุกข์ แต่ความทุกข์นั้นมีอยู่ทั่วไปในทุกหนทุกแห่ง ทุกคนต้องเจอทุกข์ เราหนีทุกขืไม่พ้น ทุกข์เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ว่ามันเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ทุกข์เป็นสิ่งที่เราจะต้องกำหนดรู้ รู้ว่ามีปัญหา อย่าหนีปัญหา อย่าหนีทุกข์ ชีวิตที่หนีทุกข์เป็นชีวิตที่อ่อนแอ ว่าวจะสูงขึ้นต้องมีแรงลม คนจะได้ดีนั้นเพราะเผชิญอุปสรรค ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยาชูกำลัง ถ้าท่านเลี้ยงเด็ก อย่าเลี้ยงแบบลิง ลิงเลี้ยงลูกอย่างไร ลูกที่มันรักแม่ลิงจะเอาไว้ข้างหลัง ลูกชังเอาไว้ข้างหน้า ตัวหนึ่งจะเกาะข้างหน้า ตัวหนึ่งจะเกาะด้านหลัง แล้วแม่ก็จะกระโดดไปตามกิ่งไม้ ลูกรักที่อยู่ข้างหลังจะสบาย ไม่ค่อยถูกกิ่งไม้ปะทะ ลูกที่ชังอยู่อกโดนกิ่งไม้ปะทะ มันก็ต้องคอยหลบคอยหลีกตามจังหวะลีลา เวลาได้ผลไม้มา แม่ก็ให้ลูกข้างหลังก่อน เพราะเลี้ยงลูกแบบนี้ ลูกที่อยู่ข้างหลังสบายจริง แต่พอสิ้นแม่แล้ว ลูกที่ชังที่หลบหลีกภัยมาตั้งแต่อยู่ในอ้อมกอดของแม่นั้นจะแกร่งขึ้น รู้จักหาอาหารกิน รู้จักหลบหลีกศัตรู พรานมาก็หลบเป็น แต่ลูกรักซึ่งถูกพะเน้าพะนอกันอย่างสบาย พอสิ้นแม่แล้ว หาอาหารหรือช่วยตัวเองไม่ได้ เวลาพรานมาก็ไม่รู้จักหลบหนี
    ฉะนั้นพ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักเผชิญปัญหา ให้เขาทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง การเผชิญปัญหาทำให้ชีวิตแกร่ง ชีวิตที่ไม่มีปัญหาเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ อย่าหลบปัญหา เคยเห็นกระท้อนไหม กระท้อนหวานตอนช้ำ กระท้อนจะให้หวานก็ต้องทุบให้ช้ำก่อน ชีวิตที่หวานไม่ต้องทุบ แต่ว่าชีวิตที่ฉลาดจะต้องเผชิญความทุกข์ กระท้อนยิ่งช้ำก็ยิ่งหวาน ชีวิตยิ่งทุกข์ก็ยิ่งฉลาด เพราะฉะนั้นเขาจึงผูกคำกลอนว่า
    "หวานกระท้อนตอนช้ำทำให้คิด
    แต่ชีวิตชอกช้ำไม่ฉ่ำหวาน
    กลับชุ่มชื้นชลนาอุราราญ
    เชิญวิจารณ์กันบ้างเถอะพวกเรา"
    ความทุกข์นั้นเหมือนอุณหภูมิในด้านร้อน คือมันเป็นปฏิภาคกับความสุข หรืออุณหภูมิในด้านเย็น ร้อนกับเย็นจะตรงกันข้าม เหมือนทุกข์จะตรงข้ามกับความสุข นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ความเย็นไม่มีมีแต่ความร้อนน้อย เย็นคือร้อนน้อย ความสุขในตัวเองไม่มี สุขคือทุกข์น้อยหรือไม่มีทุกข์
    คนเราแสวงหาความสุข การจะหาความสุขนั้น เราต้องทราบว่าสุขมีกี่อย่าง สุขมี 2 อย่าง คือ 1. สามิสสุข และ 2. นิรามิสสุข
    สามิสสุข คือสุขที่มีอามิส หรือเหยื่อล่อ นั่นคือการที่คนเราจะมีสุขนั้น เพราะว่ามีสิ่งที่ล่อตาล่อใจมาเป็นองค์ประกอบ ทำให้เราสบายใจอย่างเช่น มีความสุขเพราะคนรัก เพราะมีคนที่เราพอใจมาเป็นองค์ประกอบให้เรามีความสุข สุขแบบนี้ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาล่อ ถ้าไม่มีสิ่งอื่นที่พอตาพอใจเรา เราจะทุกข์ เพราะฉะนั้นสุขแบบนี้จึงเป็นสุขที่อาศัยเหยื่อล่อ พอไม่มีเหยื่อล่อก็ทุกข์ทันที นี่เรียกว่า อามิสสุข เปรียบเหมือนความสุขที่เกิดจากการเกา สุขที่มีเหยื่ออันเกิดจากความพอตาพอใจอยู่ไม่ได้นาน
    ส่วนความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม สะอาด สว่าง สงบนั้น เป็นสุขถาวร พระพุทธเจ้าจึงเลือกความสุขแบบนี้ เรียกว่า นิรามิสสุข คนเรานั้นเลือกความสุขไม่เหมือนกัน บางคนที่เห็นคุณค่าของนิราสิสสุขเขาก็เลือกทางนี้
    อย่างเรื่องของแม่ชีญี่ปุ่น ชื่อริโยเนน ก่อนบวชชีเธอเป็นคนสวยและเก่งในด้านกาพย์กลอนต่าง ๆ พออายุได้ 17 ปี ก็ได้มาเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของพระราชินีญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นคนเก่งและสวยอยาคตน่าจะรุ่งโรจน์ ต่อมาพระราชินีเสด็จสวรรคต ริโยเนนจึงเห็นความไม่เที่ยงของชีวิต เกิดความเบื่อหน่ายในความสวยของตนเอง เห็นว่าไม่คงทนเพราะว่าสักวันหนึ่งก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป อย่างคำกลอนที่ว่า
    "อันงามกายมันไม่จีรัง ถึงจะอำพรางจะพอกจะพัน
    ด้วยเครื่องสำอางอย่างทันสมัย ชุดบันไดสามขั้นแปดขั้น
    จากฝรั่งอังกฤษอเมริกัน อีกไม่กี่วันมันต้องโรยรา"

    ริโยเนนเห็นความจริงนี้ จึงคิดจะออกบวช แต่พ่อแม่บอกให้แต่งงานมีลูกสืบตระกูลก่อนแล้วค่อยออกบวช ริโยเนนก็แต่งงานได้บุตร 3 คน ก็ขอลาไปบวช เธอไปหาอาจารย์เซนคนแรก อาจารย์เซนคนแรกไม่รับเพราะสวยเกินไป ถ้าบวชจะทำให้พระอกหักกันหมด เธอไปอีกสำนักหนึ่ง อาจารย์ที่สองก็ไม่รับเพราะเธอสวยเกินไป เธอเสียใจมากคิดว่าความสวยนี้เป็นปัญหา เธอจึงเอาเหล็กไปเผาไฟจนแดงแล้วนาบแก้มทั้งสองข้างทำลายโฉม แล้วก็ไปหาอาจารย์เซนท่านที่สอง อาจารย์รับให้บวชอยู่ปฏิบัติธรรมะ แม่ชรริโยเนนได้เขียนกลอนเอาไว้ที่กระจกว่า
    "เคยอยู่กับราชินีสะคราญ เผาธูปกำยานหอมหวน
    อบประทิ่นอาภร์ชวน รื่นรื่นชื่นหฤทัย
    บัดนี้สละกิเลส ถือเพศบรรพชิตแจ่มใส
    พักตร์รวยความสวยเอาไฟ นาบไหม้ร้อนดิ้นทรมาน
    เหลือแต่รอยขี้ริ้วขี้เหร่ แล้งแรงเสน่หาน่าสงสาร
    หวังตรัสรู้พระนิพพาน ปฏิบัติกัมมัฏฐานเป็นเซนเอย"

    ( มีต่อค่ะ รออ่านในตอนต่อไปนะค่ะ)
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 กุมภาพันธ์ 2007
  4. ปลายสายน้ำ

    ปลายสายน้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    76
    ค่าพลัง:
    +730
    มาถึงข้อสุดท้าย
    ข้อสามคือ อนัตตาในชีวิตประจำวัน อนัตตาที่ว่าไม่ให้ยึดมั่นในตัวตน ถ้าพูดกันโดยความเป็นจริง เราไม่มีตัวตนที่ถาวร ที่เป็นแก่นแท้ ตัวเราอาศัยสิ่งต่าง ๆ ปรุงแต่งขึ้นมา ทำไมเราจึงรู้สึกว่าเป็นเราเป็นคนนั้นคนนี้เพราะอะไร เพราะความหลงผิดคิดว่าเรามีตัวตนที่ถาวร เราใส่ความยึดถือมาก ๆ เข้าไป ผลก็คือเราไม่เห็นใจคนอื่น คิดแต่เรื่องของตัวเอง ไม่เคยคิดถึงหัวอกคนอื่นเลย เรากลายเป็นคนเห็นแก่ตัว

    คนที่เข้าใจเรื่องอนัตตานั้น เป็นคนที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว ศาสนาพุทธมีความดีข้อหนึ่งตรงที่สอนให้คนไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเราปฏิบัติตามจริง ๆ เราเสียสละ เช่น ถวายทานเพื่ออะไร เพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัวนี่เอง เห็นแก่ตัวแล้วมีปัญหา เราก็รู้อยู่

    ศาสนาคริสต์มีความดีตรงที่ว่า สอนเรื่องความรัก รักใคร รักพระเจ้า รักพระเจ้าได้อะไร รักพระเจ้านั้นทำให้เรารวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้า คือลืมตัวเราเองเสีย ละลายตัวเข้าไปกับพระเจ้า แล้วทุกคนนั้นเป็นบุตรของพระเจ้า พระเจ้าโปรดปราน รักทุก ๆ คน ถ้าพระเจ้ารักใครเราก้ต้องรักคนนั้น เพราะฉะนั้นความเห็นแก่ตัวมันหายไป เรารักทุกคน เราลืมตัวเอง คนที่จะรักคนอื่น จะต้องเห็นแก่ตัวให้น้อยลง ความรักจะต้องแจกจ่าย พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีความรักต่อสรรพสัตว์เพราะอะไร มีกรุณาเพราะอะไร ก็เพราะพระองค์ตัดการยึดมั่นในอัตตา เข้าใจคนอื่นมองเห็นปัญหาคนอื่นเหมือนกับปัญหาของพระองค์ จึงออกไปโปรดสัตว์ด้วยมีพระมหากรุณาธิคุณ

    คนที่จะรักคนอื่น จะต้องเห็นแก่ตัวน้อยลง คนที่เห็นแก่ตัวมากนั้น คิดถึงแต่เรื่องของตนเองจนเข้ากับใครไม่ได้ เขารักใครไม่ได้ เขารักคนอื่นเพียงจะเอามาเป็นทาสของตน เพื่อเอามาเป็นข้าช่วงใช้ในแผนการของเขา ความหลงตัวเอง ภาษาอังกฤษเรียกว่า นาร์ซิสซิสม์ คำนี้มาจากเทพนิยายกรีก

    เทพบุตรกรีกคนหนึ่งชื่อ นาร์ซิสซัส มีรูปร่างงาม แต่ค่อนข้างจะหยิ่งยโส หลงในรูปโฉมของตัวเอง ทำให้เทพบุตรต่าง ๆ หมั่นไส้ไปตาม ๆ กัน มีเทพธิดาองค์หนึ่งมาหลงรักนาซิสซัส เทพธิดานั้นชื่อเอ๊คโค่ (Echo) เอ๊คโค่เฝ้าหลงรัก แต่เนื่องจากตัวเองเป็นใบ้ ไม่สามารถที่จะบรรยายความรู้สึกนึกคิดที่ฉ่ำหวานออกมาได้ ผลก็คือความรักไม่ได้รับสนองตอบ เพราะนาซิสซัสนั้นรักแต่ตัวเอง จนกระทั่งเอ๊คโค่นั้นตรอมใจตาย สลายกลายเป็นเสียงที่ก้องสะท้อน เวลาคนพูดในหุบเขา เสียงเอ๊คโค่จะสะท้อนกลับมา

    บาปที่นาซิสซัสทำนี้ ผลเป็นอย่างไร เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่บันดาลให้นาซิสซัสไปดื่มน้ำที่น้ำพุ พอดื่มน้ำที่น้ำพุก็เห็นเงาตัวเองสวยงาม พอเห็นแล้วเกิดหลงรักตัวเอง วันหนึ่ง ๆ ก็ดูแต่เงาตัวเอง ในที่สุดก็ตรอมใจตาม ไปเกิดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่ง ที่ฝรั่งเขาเรียกว่าดอกนาซิสซัส

    เรื่องนี้สอนว่า คนที่หลงตัวเองและสมบัติของตัวเองอย่างนี้ เข้ากับใครไม่ได้ อยู่ในโลกก็อยู่ในโลกของตัวเอง ไม่เปิดโลกออกมา ยึดอัตตามากเกินไป เพราะฉะนั้นคนเราต้องทำใจกว้าง เรากำจัดความเห็นแก่ตัว ทำให้เรามีความกรุณา มีความเข้าใจคนอื่น มีเมตตา มีความรัก

    การเข้าใจเรื่องอนัตตายังมีข้อดีอีกคือ ทำให้เรายอมรับความมีอยู่ของคนอื่น ว่าเขาเป็นคนเท่า ๆ เรา ความคิดเห็นของเขาก็น่าที่จะเคารพ ในโลกประชาธิปไตยนั้น คนเราจะต้องยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน เพราะฉะนั้นลดทิฐิมานะ บางคนทิฐิมานะมาก ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของใคร ฉันเท่านั้นที่ถูก คนอื่นผิดหมด คนอย่างนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

    มีพราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า บ่นว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี ไม่น่าพอใจ ในที่สุดก็พูดออกมาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทัศนะของคนอื่นนั้น ข้าพระองค์ไม่ชอบใจไปหมด" พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า แม่แต่ทัศนะของพราหมณ์ที่กล่าวนี้ก็ควรไม่เป็นที่ชอบใจของพราหมณ์ด้วย คือทัศนะที่ว่าไม่ชอบใจทัศนะของคนอื่นถูกลบไปด้วย ถ้าไม่ชอบทัศนะจริง ๆ แล้ว ทำไมจะมาชอบทัศนะของตัวเอง ความเห็นแตกแยกกันได้ ยึดมั่นเกินไปก็เกิดปัญหา

    เมื่อเราเข้าใจเรื่องต่าง ๆ แล้ว เราไม่ยึดมั่น เมื่อเข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็ทำให้เราอยู่ในโลกอย่างไม่ติดกับโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้น เรียกว่าใช้ชีวิตอย่างผู้มีปัญญา ซึ่งเป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด ชีวิตคือการแสดงละครใช่ไหม ตัวละครออกมาแสดงแล้วเข้าโรงไปเมื่อถึงเวลาฉะนั้นชีวิตก็เหมือนละคร เราจริงจังกับละครมากก็ไม่ได้ จริงจังในชีวิตมากก็ไม่ดีเหมือนกัน มีบทกลอนสอนไว้ว่า

    "โลกนี้คือโรงละคร ปวงนิกรเราท่านเกิดมา ต่างร่ายรำ ทำท่าที ตามลีลาของบทละคร บางครั้งก็เศร้า บางคราวก็สุข บางครั้งก็ทุกข์ หัวอกสะท้อน มีร้างมีรัก มีจากมีจร พอจบละครชีวิตก็ลา"

    พอจบละครเราลาเข้าโลง แต่จบละครชีวิตนั้น เราลาลงโรง เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ จะใช้ชีวิตอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นเกินไป และข้อสำคัญก็ตือว่า อย่าคิดเป็นเพอร์เฟ็คชั่นนิสต์ เป็นพวกที่ทำอะไรสมบูรณ์ที่สุด ฉันดีที่สุดคนเดียว นั่นยึดมั่นในตัวตนเกินไป ควรปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้

    คนที่ทำความดีแล้วแบกความดีไปข่มขู่ผู้อื่นนั้น ไม่มีความสุข ความดีเป็นพิษ คิดว่าฉันดีที่สุดนะ คือดีก็ดีไปเถิด อย่าเอาดีไปข่มคนอื่น คือฉลาดแล้วอย่าคิดว่าคนอื่นจะฉลาดเหมือนตัวอย่างนั้น อย่ายึดมั่น ทำดีแล้วอย่าถือดีอวดตัว มิฉะนั้นก็จะเป็นเหมือนกับเรื่องนิทานหลวงจีนหวงศีล

    ในประเทศจีนมีหลวงจีนท่านหนึ่งเพิ่งบวชใหม่ เคร่งในศีลมากทำตัวเหมือนสะใภ้ใหม่ ปกติสะใภ้เมื่อไปอยู่ตระกูลที่ขอไป แรก ๆ นี่ทำตัวเรียบร้อย ไม่ทำอะไรให้เป็นที่ขัดหูขัดตา เดี๋ยวพ่อผัวแม่ผัวจะอัปเปหิไล่ออกมา เพราะฉะนั้นสะใภ้ไหม่นี่ทำตัวเรียบร้อย พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า พระภิกษุนั้นควรทำตัวเหมือนสะใภ้ใหม่ตลอดเวลา ระมัดระวังสำรวมอยู่ในศีล อะไรอย่างนี้

    หลวงจีนเรียบร้อย อยู่ในศีลในธรรม สวดมนต์ ลงทำวัตรทั้งเช้าทั้งเย็น ทำให้บำเพ็ญธรรมะสาธยายมนต์คล่อง รักษาศิลได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ทำมา 20 ปี

    วันหนึ่งก็ไปนั่งทำสมาธิอยู่ในพุ่มไม้ ปรากฏว่า ข้างพุ่มไม้นั้นมีคนต้อนหมูฝูงหนึ่งจะเอาไปฆ่า ต้อนเฉียดพุ่มไม้มา คนที่ต้อนก็ไม่ได้ดูอะไร เห็นผ่านพุ่มไม้ก็ไล่ ๆ หมุตัวสุดท้ายมันฉลาด มันเห็นพุ่มไม้ มันหลบแวบเข้าไป แล้วก็ทะลุออกทางหนึ่งหนีไปเลย คนต้อนก็ไล่ไปโรงฆ่าสัตว์ อ้าว หมุหายไปหนึ่งตัว เลยย้อนกลับมาดูว่ามันน่าจะหายไปตรงไหนบ้าง มาเห็นพุ่มไม้ ก็ตรงนี้แหละ หายในพุ่มไม้นี้ เขาเข้าไปในพุ่มไม้ปรากฏว่า หลวงจีนนั่งสมาธิอยู่ ก็ปลุกหลวงจีนขึ้นมา ถามว่าเห็นหมูผ่านมาทางนี้บ้างไหม

    หลวงจีนก็ไม่รู้ว่านั่งสมาธิท่าไหน คงจะลืมตาบ้าง ปรากฎว่าเห็นหมูผ่านมา จะตอบยังไงดี รู้ว่าเขาต้อนหมูไปฆ่า ถ้าบอกว่าเห็นก็จะเสียธรรมะ คือ เมตตา กรุณา ไม่สงสารหมู ให้เขาเอาไปฆ่าต่อหน่าต่อตา ถ้าบอกว่าไม่เห็นก็เสียศีล ผิดข้อมุสา โกหกเขา จะเลือกเอาอย่างไรดีระหว่างศีลกับธรรม

    หลวงจีนคิดว่าศีลกับธรรม อะไรมันรักษายากกว่ากัน ศีลรักษายากกว่า ยี่สิบปีแล้ว ศีลยังไม่เคยขาด จะมาขาดข้อมุสาเอาวันนี้ มันยังไงอยู่ เพราะฉะนั้นเอาศีลไว้ดีกว่า ยอมเสียธรรมะ

    หลวงจีนก็เลยต้องบอกว่า เห็นหมูวิ่งอยู่ทางนี้ คนไล่หมุก็ตามไปไล่จับหมุเอาไปฆ่า เรื่องมันไม่จบแค่นั้น วิญญาณหมูไปฟ้องเงี่ยมล่ออ๋องหรือยมบาลว่า หลวงจีนนี้เป็นพระเป็นเจ้ายังไงไม่รู้ บอกให้ฆ่าเราได้ ไม่มีธรรมะ

    ยมบาลนี่ก็ดีนะ เห็นว่าเป็นเรื่องเป็นราวก็พยายามไกล่เกลี่ย นิมนต์หลวงจีนมาไกล่เกลี่ยว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร คือพยายามที่จะยอมความก่อนขึ้นศาล ว่างั้นเหอะ ถามเรื่องจริงหรือเปล่า หลวงจีนบอกว่าจริง ถ้าจริงจะทำอย่างไรดี ให้แก้ปัญหา

    หมูก็บอกเอาอย่างนี้ ขอแบ่งบุญของหลวงจีนสัก 10เปอร์เซ็นต์ หลวงจีนบอกว่า อั๊วไม่ยอม เรื่องอะไรทำมาแทบตาย ชุบมือเปิบ ยมบาลก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นหลวงจีนต้องไปเกิดเป็นหมูนะ ชาติต่อไปถึงจะได้ขึ้นสวรรค์

    เป็นหมูก็เป็นหมุ ไม่ยอมเสียเปรียบ หลวงจีนซะอย่าง คิดเล็กคิดน้อยไปเสียหมด หลวงจีนตายไปเกิดเป็นหมุ แต่เป็นหมูศักดินาระลึกชาติได้ เพราะทำบุญไว้มาก เที่ยวซมซานหาอาหารไป รู้ว่าชาติก่อนตัวเองเคยเป็นหลวงจีน แต่ว่าเกิดอุบัติเหตุ อะไรมันก็ไม่แน่ พลาดไปนิดเดียว ต้องมาเกิดเป็นหมู เบื่อหน่ายอึดอัดรำคาญอยุ่ซึ่งอัตภาพแห่งหมุนั้น ชีวิตนี้ไม่ดีแล้ว รีบตายไปอยู่บนสวรรค์ดีกว่า ถ้าเป็นคนก็ออกบวชแต่เป็นหมูไม่รู้จะไปไหน ตายดีกว่า ขึ้นไปบนยอดเขาคลานตุ๊บตั๊บ ๆ ขึ้นไปถึงยอดเขา เห็นหน้าผาก็ลงเลย โดดดิ่งลงมา ตกพลั่ก ตายสมใจ

    แต่ว่าเจ้ากรรม ตกไปบนรังไก่ ทับลูกไก่อีก 12 ตัวตายไปพร้อมกันด้วย แห่กันไปพร้อมหน้า วิญญาณลูกไก่ 12 วิญญาณเจี๊ยวจ๊าวไปหมด ยมบาลจำได้ ก็บันทึกเอาไว้นี่ มีพาสปอร์ตอยู่ กดคอมพิวเตอร์ก็รู้แล้ว คราวก่อนเข้ามาทีหนึ่งเป็นหลวงจีน คราวนี้มาเป็นหมุแล้ว ก้เลยสำทับว่า เห็นไหมหลวงจีน เรื่องมันลุกลามไปใหญ่แล้ว เพราะไม่ยอมเสียบุญ 10 เปอรืเซ็นต์ ยึดมั่นในบุญเกินไป ไม่ยอมแบ่งให้เขาก็เลยมีปัญหา เพราะฉะนั้นทำอย่างไรเล่าครั้งนี้

    ลูกไก่บอกขอบุญ 50 เปอร์เซ็นต์ หลวงจีนไม่ยอมอีกตายไปเกิดเป็นลูกเจี๊ยบ 12 ตัว เที่ยวไล่กินแมลงอะไรต่ออะไรสารพัดสารพัน เจอไหนก็กินนั่น ระลึกชาติไม่ได้แล้วนี่ พอตายไป แมลงต่าง ๆ ก็พากันไปเฝ้าเงี่ยมล่ออ๋อง เงี่ยมล่ออ๋องก็บอกว่า หลวงจีนนี้มันสุดวิสัยที่จะแก้แล้วนะ ครั้งนี้ครั้งสุดท้ายแล้วนะ ทำยังไงดี แมลงก็บอกขอบุญ 90 เปอร์เซ็นต์

    หลวงจีนก็ไม่ยอมอีก หวงศีล หลวงจีนไม่ยอมให้ 90 ก็ไม่ยอมในที่สุดต้องไปเกิดเป็นแมลงอยู่ในปา ร้องระงมประสานเสียงกัน อาศัยบารมีที่เคยเป็นหลวงจีน สวดมนต์ภาวนามาตลอด ทำให้มีการเสพคุ้นเป็นนิสัย มาเกิดเป็นแมลงก็ร้องเป็นเสียงสวดมนต์ ปรัชญาปารมิตาสูตร

    ช่วงนั้นหลวงจีนโพธิธรรมเดินผ่านมา ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ ได้ยินเสียงสวดมนต์มนป่าก็เงี่ยหูฟัง ปรากฏว่าเป็นเสียงแมลง ก้เข้าฌาณหยั่งรู้ ก็เลยเทศนาเอาจิตต่อจิตคุยกัน ให้เห็นว่าอดีตเคยเป็นยังไง เคยเข้าใจผิดเพราะยึดมั่นถือมั่น ทำดีแล้วยึดมั่นในดี ถือดี ไม่ปล่อยวาง แบกความดีไปทำให้คนอื่นเขารำคาญตา เพราะฉะนั้นปล่อยวางเสียบ้าง แมลงก็เข้าใจจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ดับจิต ตายไปเกิดในสวรรค์

    ฉะนั้นทำดีแล้วก็ทำของเราไปเถอะ อย่ามีอัตตา ทำความดีเพื่ออะไร เพื่อลดกิเลส ยิ่งไปเพิ่มทิฐิมานะขึ้นไป มันตรงกันข้ามกับความดีที่เราทำ เช่นเราเข้าวัดตลอดเวลา คนโน้นไม่เข้าก็ไปว่าเขา อย่างนี้ไม่ถูก ทำดีก็ทำดีไป อย่าให้คนอื่นเขามาบาปเพราะว่าต้องมาด่าเราเลย

    ฉะนั้นการเข้าใจกฏของอนิจจัง-ไม่เที่ยง ทุกขัง-เป็นทุกข์ และอนัตตา-ความไม่มีตัวตนนั้น ถ้าเรานำไปใช้ปรับปรุงในชีวิตประจำวันแล้วจะทำให้เราอยู่ในชีวิตอย่างมีปัญญา เข้าใจกฏของชีวิต เขาเรียกว่าสร้างเกราะคุ้มกันให้กับชีวิต ทำให้เราอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุขมากขึ้น กฏของไตรลักษณ์เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจ เรามองชีวิตไม่ใช่มองอย่างรวม ๆ ต้องมองแบบแยกพิจารณา คือโดยอนุพยัญชนะบ้าง จะทำให้เราอยู่ในโลกนี้ดีขึ้น มีความสุขขึ้น อยู่ในโลกโดยไม่ติดกับโลก ชีวิตของเราจะเป็นชีวิตที่ประเสริฐ

    ฮ้า กว่าจะจบ อาจจะพิมพ์ผิดบ้างก็ขออภัยนะค่ะ และขอบคุณสำหรับทุกท่านที่เข้ามาอ่านและให้กำลังใจนะค่ะ

    คัดลอกจาก "ปลุกปลอบใจในยามวิกฤต" โดย พระเทพโสภณ
     

แชร์หน้านี้

Loading...