หลวงพ่อเทียนสอนเจริญสติตราบจนลมหายใจสุดท้าย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 16 สิงหาคม 2009.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    หลวงพ่อเทียนสอนเจริญสติตราบจนลมหายใจสุดท้าย

    [​IMG]



    พระมหาบัวทอง พุทธโฆสโก แห่งทับมิ่งขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดเลย ได้บันทึกเหตุการณ์ในวันแห่งการ "ล่วง" ของพระอาจารย์(หลวงพ่อเทียน) ไว้ค่อนข้างละเอียด
    นั่นก็คือ เหตุการณ์ในวันอังคารที่ 13 กันยายน 2531 อันตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน สิบ ปีมะโรง ในทางจันทรคติ มีรายละเอียดดังนี้คือ
    เวลา 16.00 น. ท่านได้พูดกับหลานชายคือ "โยมพ่ออุ่น" ว่า
    "ให้เตรียมตัวได้แล้ว"
    เณรก็วิ่งไปบอกอาตมาว่า หลวงพ่อเป็นหนัก ให้เตรียมตัวกันได้แล้ว
    ในวันนั้น มีศิษย์อาวุโสเพียง 2 รูปเท่านั้น คือ "หลวงพ่อบุญธรรม" และ"อาจารย์สมหมาย" จากแก้งคร้อ อาตมากับท่านทั้ง 2 พร้อมด้วยพระเณรในวัดทั้งหมด 21 รูป ญาติโยมผู้หญิง 25 คน ผู้ชาย 9 คน แม่ชี 4 ชี พราหมณ์ 2 รวมทั้งหมดประมาณ 60 คน
    อาตมามาถึงดูนาฬิกาเป็นเวลา 17.20 น. หลวงพ่อยังยกมือได้อยู่ตามปกติ อาตมาลองเอามือแตะดูที่ขาท่าน ปรากฎว่าเย็นขึ้นไปถึงบั้นเอวแล้ว มีลมเดินอยู่ตั้งแต่ช่วงท้องขึ้นไป

    พอถึงเวลา 17.24 น. หลวงพ่อก็ยกมือไปไว้ที่สะดือได้ ท่านเอามือขวาทับมือซ้ายไว้ แล้วก็เลื่อนมือซ้ายไปไว้ที่หน้าอก เอามือซ้ายออกไปวางไว้ข้าง ๆ ส่วนมือขวาเลื่อนลงไปไว้ที่สะดือ แล้วจึงเอามือซ้ายไปทับมือขวาไว้อีก เลื่อนมือซ้ายออกไปวางไว้ข้าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง

    ท่านทำจังหวะมาถึงตอนนี้ อาตมาดูนาฬิกาเป็นเวลา 17.30 น.มือขวาของท่านยังอยู่ที่สะดือตามเดิม เพราะมือขวานี้หนักมากจริง ๆ ยกยากเนื่องจากแขนบวมมาก หลวงพ่อท่านก็ยังพยายามยกขึ้นลงได้อยู่ ตอนนี้จึงเลื่อนมือซ้ายไปทับมือขวา แล้วเลื่อนมือขวาขึ้นไปที่หน้าอก ส่วนมือซ้ายก็เลื่อนตามไปเหมือนเดิม เลื่อนมือทั้งสองข้างออกไปข้าง ๆ เอามือขวาไปไว้ที่สะดือ ส่วนมือซ้ายยังวางอยู่ข้างลำตัวในท่านนอนหงาย ต่อจากนั้นท่านก็ลืมตาดูทุกคนที่อยู่ข้าง ๆ ท่าน
    เวลา 17.40 น. หลวงพ่อยกมือซ้ายไปไว้ที่หน้าอก แล้วเลื่อนลงไปไว้ที่สะดือในลักษณะเดียวกันกับมือขวา เลื่อนขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ตามปกติ
    เมื่อเวลา 17.42 น. ท่านก็วางมือซ้ายและมือขวาไว้ข้างลำตัว ท่อนแขนขนานกับลำตัว แล้วท่านก็ลืมตาดูผู้ที่เฝ้าอยู่รอบ ๆ ท่านเป็นครั้งที่สาม อาตมาดูเวลาได้ 17.45 น. พอดีคุณยุ่นมาจากกรุงเทพฯ ทันเวลาที่หลวงพ่อได้ทำวิธีตายให้ทุก ๆ คนได้เห็นพร้อมกันหมด
    ต่อจากนั้นท่านก็ยกมือขึ้นไปประกบกันไว้ที่หน้าอกแล้วก็เลื่อนลงมาไว้ที่สะดือ แล้วท่านก็คู้ขาขวามาชันเข่าไว้ สักครู่ก็เหยียดลงไป เปลี่ยนเป็นขาซ้ายบ้าง คู้เข่ามาชันไว้ถึงสองครั้งสลับกัน พร้อมกับลือมตาดูผู้คนที่มาเฝ้าดูอาการของท่าน ขณะนั้นเป็นเวลา 17.50 น.
    ครั้นถึงเวลา 17.55น. ท่านก็ยกมือซ้ายขึ้นไปไว้ที่สะดือแล้วเลื่อนออกไปวางไว้ข้าง ๆ จนถึงเวลา 18.00 น. ท่านก็เอามือซ้ายขึ้นไปทับมือขวาในท่าสงบ เมื่อเวลา 18.05น.ท่านก็เลื่อนมือซ้ายห่างมือขวาเล็กน้อยเหนือสะดือ จนถึงเวลา 18.14 น. จึงเลื่อนมือไปกุมกันไว้ที่หน้าอกแล้วเลื่อนลงมาที่สะดือ แล้วท่านก็ลืมตากว้าง มือยังอยู่ที่เดิม เคลื่อนไปเคลื่อนมาเหมือนเราทำจังหวะธรรมดานี้เอง
    พอถึงเวลา 18.15 น.ท่านก็เลื่อนมือทั้งสองข้างลงวางไว้ข้างลำตัวทอดแขนตามปกติ พร้อมกับหมดลมหายใจไปพร้อมกันอย่างสงบเย็นจริง ๆ


    คัดจากหนังสือ เทียนธรรม.. โดยนามกาย สำนักพิมพ์ มติชน 2542

    -------
    ^_^
    ไม่มี url เพราะโหลดเป็นไฟล์มาอ่าน(นานแล้วค่ะ จำแหล่งที่โหลดมาอ้างอิงไม่ได้)
     
  2. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    นิพพาน โดย หลวงพ่อเทียน (๑)

    คัดมาจากหนังสือเรื่อง นิพพาน ของ หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ


    [​IMG]

    นิพพาน คือความเย็นอกเย็นใจ
    นิพพานคืออะไร?
    ว่าโดยย่อ “นิพพาน” หมายถึง ความพยศหมดไป
    หรือความมีมานะทิฎฐิหมดไป หรือความมีโทสะ โมหะ โลภะ หมดไป
    หรืออีกคำหนึ่งว่า กิเลส ตัณหา อุปาทาน หมดไป
    มีแต่ความเป็นปกติ หรือว่า “ว่าง” นี่แหละคือ “นิพพาน”
    สรุปนิพพานแปลว่า หมดความร้อน มีแต่ “ความเย็นอกเย็นใจ” ไม่ใช่อื่นไกล นิพพานมีอยู่ในทุกคนไม่ยกเว้น จะเป็นผู้หญิงก็มีนิพพาน
    คนไทย คนจีน คนฝรั่งเศส คนอังกฤษ คนอเมริกัน
    คนเขมร คนญวน คนลาว ก็มีนิพพานเช่นเดียวกัน
    จะถือศาสนาไหนลัทธิอะไรก็ตามมีนิพพานเช่นเดียวกัน
    คนโบราณจึงพูดว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ
    พระนิพพานอยู่ที่ใจ
    เพียงแต่ว่าคนคนนั้นแหละจะทำให้มรรคผล นิพพาน ปรากฏเกิดขึ้นหรือไม่เท่านั้นเอง

    ปฏิบัติด้วยการเจริญสติ กำหนดรู้ทุกอิริยาบถ
    ปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้ถึงซึ่งกระแสพระนิพพาน?
    ตามที่หลวงพ่อปฏิบัติอยู่อาจจะไม่เหมือนกับที่คนอื่นพูดมา
    สำหรับหลวงพ่อเอง เคยให้ทาน รักษาศีล ทำกัมมัฏฐานมาพอสมควร
    แต่ไม่รู้ว่านิพพานอยู่ที่ไหน? คืออะไร? ไม่รู้ เพราะไม่ได้ปฏิบัติอย่างนี้
    การปฏิบัติอย่างนี้หมายถึง ปฏิบัติให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถ
    แม้จะยกมือ ยกเท้าก็ให้มีสติรู้
    ที่หลวงพ่อทำอยู่เป็นประจำ หลวงพ่อสร้างจังหวะขึ้นเพื่อปฏิบัติ

    คือพลิกมือขึ้น-ให้รู้สึก คว่ำมือลง-ให้รู้สึก ยกมือไป- ให้รู้สึก เอามือมา-ให้รู้สึก
    และอิริยาบถในชีวิตประจำวัน เช่น เอียงซ้าย เอียงขวา-ให้รู้สึก กะพริบตา-ให้รู้สึก
    ตาเหลือบซ้าย และขวา-ให้รู้สึก หายใจเข้า หายใจออก-ให้รู้สึก
    ให้มีสติติดตามความรู้สึกนี่เอง
    จิตใจมันนึกมันคิด-ให้รู้สึก
    เมื่อรู้สึกแล้วไม่ต้องยึดถือ
    ปล่อยวางไป ทำอย่างนี้แหละ
    ความรู้สึกนั้นท่านว่าสัญญา คือความหมายรู้จำได้
    เมื่อมีสัญญาความหมายรู้จำได้ ญาณก็เข้าไปรู้
    “ญาณ” แปลว่าเข้าไปรู้
    เมื่อญาณเข้าไปรู้แล้วปัญญาก็รอบรู้
    ทั้งสามอย่างนั่นแหละประกอบกันเข้าเรียกว่าญาณของวิปัสสนา
    เมื่อทำความรู้สึกอยู่ทุกอิริยาบถ ญาณของวิปัสสนาก็เกิดขึ้นแก่ผู้กระทำเช่นนั้น
    เมื่อญาณของวิปัสสนาเกิดขึ้นแล้ว
    ก็เห็นแจ้งรู้จริงตามความเป็นจริง
    เพราะศึกษาอยู่กับธรรมชาติ
    ศึกษาอย่างนี้แหละจึงจะได้กระแสพระนิพพาน

    ทำไมจึงว่าได้กระแสพระนิพพาน?
    บางคนอาจจะสงสัย
    ก็เพราะรู้รูป รู้นาม รู้รูปธรรม นามธรรม
    รู้รูปโรค รู้นามโรค
    รู้ทุกขัง รู้อนิจจัง รู้อนัตตา
    รู้สมมติ สมมติอะไรรู้ให้ครบให้จบให้ถ้วน
    แล้วก็รู้ศาสนา รู้พุทธศาสนา
    รู้บาป รู้บุญ รู้ได้จริงๆ
    ถ้าทำอย่างนี้ไม่ยกเว้นใครเลย
    ใครทำก็รู้ทั้งนั้น ทำเมื่อไหร่ก็ได้ อยู่ที่ไหน ก็ทำได้
    อย่างนี้เรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม
    เพราะเห็นตัวเรา กำลังนึก กำลังคิด กำลังพูด กำลังทำ
    นี่เรียกว่าเห็นธรรม เห็นอย่างนี้เห็นธรรมแท้ๆ ไม่แปรผัน

    ----------------
    ขอบคุณที่มาจาก คุณชงโค
     
  3. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    นิพพาน โดย หลวงพ่อเทียน (๒)

    [​IMG]


    ได้ต้นทาง คือ เห็นจิตใจมันนึกมันคิด
    เครื่องวัดว่าได้ต้นทางแล้วมีอยู่อย่างไร?
    มีอยู่คือ เห็นจิตใจมันนึกมันคิด
    มองด้วยตาไม่เห็น จับไม่ถูกด้วยมือ
    แต่รู้ได้ เห็นได้ ด้วยตาปัญญา เรียกว่า จักษุปัญญา
    เราเคยกะพริบตามาตั้งแต่เล็กๆ ไม่ใช่เกิดมาแล้วไม่กะพริบตา เพิ่งมากะพริบตาเอาวันนี้ ไม่ใช่
    แต่เราไม่เคยรู้ ไม่มีสติมาตามรู้ได้ทัน
    ถ้ามีจักษุปัญญาแล้วกะพริบตา มันก็รู้
    หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้
    กลืนน้ำลายลงในลำคอก็รู้
    จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้
    รู้แล้วก็สบาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ลดน้อยลงไป
    หรือถึงกับจะหมดไปก็ได้
    นี่ละคำว่าได้ต้นทาง
    คือรู้จิตใจมันนึกมันคิด
    เห็นจิตเห็นใจมันนึกมันคิดเรียกว่าได้ต้นทาง
    เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้จากการกระทำทางจิตใจ
    เราก็ต้องรู้จิตรู้ใจ เห็นจิตเห็นใจตนเอง ที่กำลังคิด จึงเรียกว่าได้ต้นทาง
    เป็นเครื่องหมายบอกผู้ปฏิบัติรู้ได้อย่างนี้
    เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา
    ผู้ที่ได้ต้นทางแล้วจะไม่ไหว้ผี ไม่เชื่อเรื่องฤกษ์งามยามดี
    ไม่เชื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
    เราจะรู้จะเห็นจะเข้าใจแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
    ซึ่งจะก่อให้เกิดมรรคผลนิพพาน
    มีภาษิตบทหนึ่งว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
    จะไปพึ่งคนอื่นไม่ได้ พึ่งผีก็ไม่ได้ พึ่งเทวดาก็ไม่ได้
    แม้พระพุทธเจ้าก็พึ่งไม่ได้เช่นเดียวกัน
    การดูจิตดูใจ เป็นการปฏิบิติที่ลัดสั้น
    ปฏิบัติต่อไปอย่างไรจึงจะลัดสั้นสำหรับผู้ที่ได้ต้นทางแล้วนั้น?
    การปฏิบัติก็ ดูจิตดูใจที่มันนึกมันคิดนี่เอง
    เคลื่อนไหวไปมาโดยวิธีไหนก็ตาม เข้าห้องน้ำห้องส้วมก็ตาม
    ปฏิบัติได้ทุกลมหายใจเข้าออก
    กินข้าวกินน้ำก็ปฏิบัติได้
    ทำการทำงานก็ปฏิบัติได้ เพราะมือทำงาน – ใจดูใจ
    มันนึกมันคิด เห็น รู้ เข้าใจ ผ่านไป ไม่ต้องไปยึดถือ อย่างนี้แหละลัดสั้นที่สุด
    เพราะเราเป็นคนทำ อยู่ที่ไหนก็เราเองเป็นคนทำ
    การพูดก็เราเป็นคนพูด อยู่ที่ไหนเราก็พูดได้
    การดูจิตดูใจมันนึกมันคิดก็เราเองเป็นคนดู
    อยู่ที่ไหนก็ดูได้
    จึงพูดว่าลัดสั้นที่สุด ไม่เลือกกาลเวลา ทำที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้
    และเป็นการกระทำที่ตรงเข้าไปสู่จิตใจ ต้องลัดตรงเข้าไปอย่างนั้น
    --------------
    ขอบคุณบทความจาก:คุณชงโค
    �Ծ�ҹ ��� ��ǧ������¹ (2)
    รูปประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต
     
  4. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    นิพพาน โดยหลวงพ่อ เทียน (๓)
    ที่สุดแห่งการเดินทาง คือความสิ้นไปแห่งกิเลส

    [​IMG]

    หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

    ที่สุดแห่งการเดินทางมีอะไรเป็นเครื่องหมายว่า ไม่ต้องไปไม่ต้องมาอีกแล้ว?
    เครื่องหมายอันนี้มองไม่เห็นด้วยตา จับไม่ถูกด้วยมือ
    คือมันขาดออกจากกันนั่นเอง ไม่มีการติดต่อกัน จึงว่า ไม่ต้องไปและไม่ต้องมา
    เพราะติดต่อกันไม่ได้
    อาตมาเคยทำให้ดู เคยพูดให้ฟังหลายครั้งหลายหน ใครมาก็ต้องพูดเรื่องนี้
    เพราะทุกคนต้องประสบอย่างนี้
    คือสมมติให้ฟังว่า เอาเชือกมาผูกไว้ 2 ต้น หรือ 2 เสา หรือ 2 หลัก
    ดึงปลายทั้งสองข้างให้ตึง ภาษาหลวงพ่อว่า มันเค้ง ให้มันตึง ดึงอย่างแรง แล้วผูกไว้
    แล้วเอามีดมาตัดตรงกลาง พอตรงกลางมันขาด
    มันกระเด็นหรือมันหดเข้าไปถึงเสาหรือหลักนั้น
    อีกเส้นก็หดเข้าไปถึงเสาหรือหลักนั้น
    มันจึงติดต่อกันไม่ได้ จึงไม่ต้องไปและไม่ต้องมา
    แต่ถ้ายังไม่เป็นอย่างในขณะนี้
    พอจวนจะหมดลมหายใจ มันเป็นอย่างนี้ทุกคนไม่ยกเว้น
    ต้องประสบจริงๆ มันจึงจะเข้าสู่สภาพเดิมของมันได้
    อันนี้แหละเป็นเครื่องวัดเป็นเครื่องหมาย
    แต่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา จับไม่ถูกต้องด้วยมือ เรียกอีกอย่างว่า “หมดเชื้อ” นั่นเอง
    เราคงเคยได้ยินได้ฟังเขาพูดกันว่าพระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียว
    ผมของพระองค์ไม่ยาวอีกต่อไป (ยาวอยู่แค่ 2 ข้อมือ)
    ก็เป็นเรื่องเดียวกัน
    ที่สุดแห่งการเดินทางนี้เป็นสิ่งเดียวกัน
    และสำคัญที่สุดทุกคนต้องประสบอย่างเดียวกัน
    เพราะทุกคนต้องตายแน่นอนที่สุด
    จึงพูดว่าธรรมะแท้เป็นสิ่งเดียวกัน
    จะถือศาสนาไหนก็ต้องเข้าถึงจุดนี้
    แล้วแต่ใครจะทำ แล้วแต่ใครจะไม่ทำ
    นี่แหละการดูจิตดูใจจึงเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่สุด
    คำว่าอัศจรรย์ก็คือสิ่งที่ไม่เคยเป็นก็เป็น สิ่งที่ไม่เคยมีก็มี
    การเป็นการมีอย่างนี้เป็นของที่อัศจรรย์มาก
    เพียงดูจิตดูใจเท่านั้นเอง
    ดังนั้นธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงมีอยู่ในคนทุกคนไม่ยกเว้น
    จะถือศาสนาไหนลัทธิใดก็มี
    เพราะทุกคนมีจิตมีใจ
    นี่แหละเป็นเครื่องวัดของนิพพาน
    นิพพานไม่ใช่การเข้าฌานอย่างนั้น การเข้าฌานอย่างนี้
    ออกจากฌานอย่างนั้น ออกจากฌานอย่างนี้
    นั่นเป็นคำพูดของคนทั่วไป ใจความสั้นๆ ก็มีเพียงเท่านี้
    ถ้าขยายความออกไป การปฏิบัตินั้นต้องมีสติกำหนดรู้
    เรียกว่ารู้สึกตัวตื่นอยู่เสมอ
    เพราะพระองค์สอนไว้แล้วว่า
    ให้มีสติกำหนดรู้ ในอิริยาบถทั้ง 4 ยืนก็ให้รู้ เดินก็ให้รู้ นั่งก็ให้รู้ นอนก็ให้รู้
    4อย่างนี้ก็ยังไม่พอ
    ท่านยังย้ำให้มีสติเข้ามารู้ในอิริยาบถย่อย เช่น คู้เหยียด เคลื่อนไหว
    อย่างไรก็ตาม โดยวิธีใดก็ตาม ให้มีสติรู้
    การมีความรู้สึกตัวนี่แหละเรียกว่า มีสติรู้
    เมื่อมีสติรู้ก็เรียกว่าสัญญา สัญญา – ความหมายรู้จำได้
    อันสัญญานั่นแหละทำให้ญาณของวิปัสสนาเกิดขึ้น
    เมื่อสัญญามีมากขึ้นๆ มันเคลื่อนไหว ก็รู้มากขึ้นๆ
    ญาณปัญญาเรียกว่าญาณของวิปัสสนา
    เข้าไปรู้เข้าไปเห็น เข้าไปสัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น
    เรียกว่า สัญญา – ความหมายรู้จำได้ ไม่หลงไม่ลืม ไม่ต้องไปขึ้นอยู่กับตำรับตำรา
    เพราะมันมีอยู่ในตัวเรา เรียกว่า สัญญาความหมายรู้จำได้ เพราะมีญาณเข้าไปรู้
    เมื่อญาณสมบูรณ์แล้วปัญญาก็รอบรู้
    อันนี้เป็นการฝึกจิตใจให้ผ่องแผ้ว ว่องไว
    เมื่อจิตใจผ่องแผ้วว่องไวสะอาดดีแล้ว
    การตัดสินใจในการคิด พูด ทำอะไรๆ ก็ไม่ผิดพลาด
    เพราะปัญญารอบรู้ดีแล้ว นี่แหละคำพูดคำสอนง่ายๆ
    การกระทำอย่างนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาศีล
    ไม่เกี่ยวข้องกับการให้ทาน
    ไม่เกี่ยวกับการทำสมถกัมมัฎฐาน
    เพราะเป็นการทำความรู้สึกตัว
    รวมความแล้วอยู่ในความรู้สึกตัวทั้งหมดเลย
    คนเราถ้าไม่รู้สึกตัวแล้วจะมีศีลไหม? ไม่มี
    จะเป็นการทำบุญไหม? ไม่เป็น
    เพราะไม่รู้สึกตัวนั่นเอง
    ดังนั้นวิปัสสนากับสมถกัมมัฎฐานจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ตรงกันข้ามกัน
    ทำไมจึงพูดว่าวิปัสสนากับสมถะกัมมัฎฐานเป็นปฏิปักษ์ตรงกันข้ามกัน
    เพราะทุกคนว่าก่อนที่จะเจริญวิปัสสนาต้องทำสมถกัมมัฎฐานก่อน
    อันนั้นก็จริง พระพุทธเจ้าของเรานี้ไปศึกษากับครูอาจารย์จนได้สมาบัติแปด
    แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นทางมรรคผลนิพพานอะไร
    จากนั้นพระองค์ก็ไปกับพวกปัญจวัคคีย์ทั้งห้า
    ไม่ฉันข้าวไม่ฉันน้ำ กลั้นลมหายใจ เอาสำลีอุดหูอุดจมูก
    กลัวว่าวิญญาณของสัตว์ต่างๆ จะมาเข้าจมูก จะมาเข้าหู เข้าตา เข้าที่ไหนก็ไม่รู้ละ
    อดข้าว อดน้ำ พระองค์ทำถึงขนาดนั้นก็ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า
    ทุกคนก็เคยได้ยินเรื่องนี้มาแล้ว
    อันนี้แหละพระพุทธเจ้าว่าทางมิใช่ทาง
    เพราะพระองค์ทำเช่นนั้นแล้วก็ไม่ได้ก่อให้เกิดมรรคผลนิพพาน
    เราทุกคนคงเคยได้ยินมาแล้วไม่มากก็น้อยว่า
    ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
    ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัยที่ตถาคตบัญญัติ ไม่ควรศึกษา ไม่ควรปฏิบัติตาม
    พระองค์สอนไว้อย่างนั้น
    ทั้งหมดนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องคนอื่นหรอก
    พูดเฉพาะเรื่องของตัวหลวงพ่อเอง
    เคยไปนั่งภาวนาหลับตาขัดสมาธิเพชร มือขวาทับมือซ้าย เจ็บเอว ปวดมึนไปหมด
    ก็ไม่ยอมพลิกไม่ยอมเปลี่ยน นั่งทรมานอยู่อย่างนั้นแหละ
    ดูว่ามันเจ็บปวดตรงไหน เพราะไม่เข้าใจ ก็ดูอยู่นั่นแหละ
    มันเป็นการทรมานตัวเอง เบียดเบียนตัวเอง แต่เราก็ยังทำ – เพราะเราไม่เข้าใจ
    พระองค์สอนไว้ทุกแง่ทุกมุม
    ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อการไม่เบียดเบียนตนเองและไม่เบียดเบียนผู้อื่น
    นั่นแหละเป็นธรรมเป็นวินัยเป็นคำสอนของตถาคต ควรศึกษาและควรปฏิบัติ
    ท่านสอนอย่างนั้นแต่เราไม่เข้าใจ
    เมื่อไม่เข้าใตแล้วก็ทำกันไปตามครูอาจารย์สอน
    การนึก การคิด คิดอิจฉาพยาบาท มีพยศ ถือเนื้อถือตัว
    นั่นแหละเป็นการเบียดเบียนตนเอง นั่นแหละเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น
    คิดอยู่ไม่หยุดไม่สร่างซา
    แม้จะกำลังทำบุญก็ตาม ไปทอดกฐินวัดนั้น ไปบังสุกุลวัดนี้
    แต่ถ้าจิตใจยังคิดอิจฉาพยาบาท ถือเนื้อถือตัวฯลฯ อยู่
    มันก็เป็นการเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่นอยู่นั่นแหละ
    เมื่อไม่ได้สมหวัง ไม่ได้สมใจ แล้วคิดไม่พอใจโกรธเกลียดกันขึ้นภายในจิตใจ
    นั่นแหละเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น
    แม้คิดจะทำบุญก็ตาม เพราะจิตใจยังไม่เป็นปกติ
    ทุกคนคงเคยได้ยินเรื่องพระวักกลิ
    พระวักกลิชอบดูรูปทรงของพระพุทธเจ้า ว่ารูปสวย รูปงาม ชอบดู
    แต่พระวักกลิไม่เคยดูจิตใจตัวเอง
    พระพุทธเจ้าก็เลยไล่ให้พระวักกลิหนี หนี อย่ามาอยู่ที่นี่
    พระวักกลิเสียอกเสียใจเดินไป จะไปกระโดดเหวตาย
    พระองค์ก็ไปเตือนสติเอาไว้
    ถามพระวักกลิว่า “เธอเข้าใจว่า รูปกายนี้คือพระพุทธเจ้าจริงๆ หรือ?”
    พระวักกลิตอบว่า เข้าใจว่าเป็นพระพุทธเจ้า
    “รูปกายนี้ตายได้ไหม?” - ตายได้
    “ตายแล้วเน่าเหม็นไหม?” – เน่าเหม็น
    “ถ้าตายได้ เน่าเหม็นได้ แล้วจะเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร?”
    พอพูดอย่างนี้พระวักกลิเกิดมีความสนใจอยากเห็นพระพุทธเจ้า
    พระพุทธเจ้าชี้เข้าไปที่ตัวความคิด
    บอกว่าพระวักกลิก็มี พระพุทธเจ้าคือจิตใจที่มันปกติ หรือสะอาด สว่าง สงบ หรืออุเบกขา
    เท่านี้พระวักกลิก็เกิดเข้าใจขึ้นมา นี่แหละแสดงว่าเราไปจับเป็นบุคลาธิษฐาน
    เราไม่ได้ใช้สติปัญญาพิจารณาโดยเหตุผล
    พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า อย่าเชื่อถือโดยเขาพูดตามๆ กันมา
    อย่าเชื่อถือโดยเห็นว่ามันมีอยู่ในตำรา คัมภีร์
    อย่าเชื่อถือโดยการเดา นึกคิด เอาเอง ..
    มี 10 ข้อ ไปดูเอาเองในหนังสือกาลามสูตร
    มีเขียนไว้หลายที่หลายทาง
    คำว่าพระองค์ไล่พระวิกกลิหนี หมายถึง
    หลวงพ่อคิดเอาเองนะอันนี้
    พระวักกลิไปให้พ้น หนีไปให้พ้น
    หมายถึงหนีจากความคิดปรุงแต่งนั่นเอง
    ไปให้ถึงที่สุดของทุกข์ ไปให้พ้น
    อย่าให้ความคิดมาปรุงแต่ง
    จิตใจมันนึกมันคิดมันปรุงมันแต่ง
    เพราะไม่มีสัญญา
    ญาณจึงเกิดขึ้นไม่ได้
    เมื่อญาณเกิดขึ้นไม่ได้
    ปัญญาจึงไม่รอบรู้
    สัญญานี้ไม่ได้หมายถึงสัญญาทางโลกนะ
    ไม่ใช่สัญญาว่าเอาของไว้ตรงนั้น เอาเสื้อไว้ตรงนี้ เอากางเกงไว้ตรงนั้น
    มีเงินเท่านั้นบาท มีทองคำเท่านั้นสลึง มีรถยนต์เป็นอย่างนั้น มีนา มีสวน
    อันนั้นมันเป็นสัญญาของคนธรรมดาหรือของสัตว์
    สัญญาอันนี้จึงไม่จัดเข้าใน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
    ในตัวนี้ คำว่า เวทนา – เสวยอารมณ์ – ไม่ทุกข์
    สัญญา – ก็เห็น รู้ ไม่หลงลืม
    สังขาร – ไม่ถูกปรุง หยุดได้
    วิญญาณ – รู้
    อันนี้แหละเป็นเครื่องวัด อันนี้แหละเป็นเครื่องหมาย
    อันนี้แหละเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ เป็นทางเดินเข้าไปสู่นิพพาน
    นิพพานจึงไม่เป็นบ้านไม่เป็นเมือง มันอยู่ในคนนี่เอง
    -------------------
    รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 สิงหาคม 2009
  5. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    นิพพาน โดยหลวงพ่อ เทียน (๔)
    สมถะได้ความสงบ วิปัสสนาได้ปัญญา



    [​IMG]


    สมถะได้ความสงบ วิปัสสนาได้ปัญญา
    พระพุทธเจ้าจึงสอนให้คนรู้นิพพาน เอานิพพานไปใช้กับการงานได้ทุกอย่างทุกวิธี
    แม้จะทำการงานโดยวิธีใดก็ตาม
    นิพพานเป็นลูกตุ้มหรือเป็นเบรครถ
    หรือเป็นสมอเรือ คอยถ่วงไม่ให้รถให้เรือวิ่งไปเร็ว
    และตาชั่งเมื่อมันหนักก็เอาลูกตุ้มถ่วงไว้
    คนอยู่กับนิพพานแต่ไม่รู้จักนิพพาน
    จึงปรารถนาอ้อนวอนขอร้องจะเอานิพพานที่อยู่นอกตัว
    ไม่เคยรู้ว่านิพพานคืออะไร? อยู่ที่ไหน? ไม่เคยรู้เลย
    นี่แหละเป็นเครื่องวัดของนิพพาน ถ้าไม่มีนิพพานอยู่ คนก็ตายเร็ว โกรธขึ้นมาก็ช็อคตาย ตายเร็ว
    ดังนั้น นิพพานจึงเป็นลูกตุ้ม ดูลงไปซิ ขณะที่ฟังเทศน์ก็ตาม หรือทำอะไรก็ตาม
    จิตใจมันว่างๆ อยู่ สบายๆ ไม่ได้นึกไม่ได้คิดอะไร นั่นแหละท่านว่าอุเบกขา
    จิตว่างๆ นั่นแหละท่านว่า อุเบกขา
    วางเฉย คือจิตใจของคนหรือชีวิตของคนมันว่างๆ เฉยๆ แต่เราไม่เคยเห็นไม่เคยเข้าใจ
    จึงไม่รู้รสชาติของนิพพาน
    ไม่เฉพาะมีแต่คนนะ สัตว์เดรัจฉานก็มีเช่นเดียวกัน
    เราจะมองเห็นได้ด้วยตาของเรา
    สัตว์เดรัจฉานอย่างเช่น สุนัข หรือ หมา แมว
    เวลามันนอนสบายๆ ว่างๆ ก็มี
    แม้วัว ความยก็เหมือนกัน มันก็มีว่างๆ
    สัญญามันก็มี
    ดูอย่างสุนัขหรือหมา พอพรรคพวกมันเห่า มันลุกขึ้นไปเลย เพราะมันไม่มีสัญญาชนิดฝึกอบรมขึ้น
    มันมีแต่สัญญาตามสัญชาตญาณ
    เป็นสัญญาคนละชนิดกัน
    มันไม่มีสัญญาความว่าง
    ก็ไปกับสัญญาเสียงนั่นเอง ซึ่งเป็นสัญญาเดิมของคนและสัตว์
    สัตว์ก็มีสัญญาเหมือนกัน
    แต่สัตว์ไม่สามารถฝึกอบรมให้เกิดสัญญาอีกอย่างหนึ่งได้
    เพราะไม่สามารถเจริญสติได้
    สัญญาตัวนั้นจึงเจริญขึ้นไม่ได้
    ส่วนคนสามารถทำได้ทุกคน
    หากแต่เพราะไม่เข้าใจ
    จึงไปทำความสงบแบบสมถกัมมัฎฐาน
    ซึ่งเป็นความสงบเหมือนกับเราอยู่ในถ้ำ
    เราเข้าไปในถ้ำจุดไฟขึ้น เราคิดว่าความมืดหายไป
    แต่จริงๆ แล้ว ความมืดไม่ได้หายไป ความมืดอยู่ในเรานี่เอง มันไม่ได้หายไปไหน
    เอาไฟมาข้างหน้ามันมืดมาข้างหลัง เอาไฟมาข้างหลัง มืดมันมาข้างหน้า
    เอาไฟมาทางซ้าย มืดมันมาทางขวา
    ความสงบอย่างนี้เป็นความสงบแบบไม่รู้ หรือรู้อย่างไม่รู้ นี่ท่านสอนไว้อย่างนั้น
    รู้อย่างไม่รู้ ความสงบอย่างนั้น รู้แต่ไม่รู้จริง เรียกว่า สงบแบบสมถกัมมัฎฐาน
    ส่วนสงบแบบวิปัสสนากัมมัฎฐานนั้น
    มันเหมือนกับที่เราออกจากถ้ำ ไม่ต้องใช้ไฟ อยู่ที่แจ้ง ความมืดไม่มี
    มองเข้าไปในถ้ำ เห็นรูปร่างลักษณะสัณฐานของถ้ำ เห็นรูปทรงของถ้ำ
    เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกแง่ทุกมุม อันนี้เรียกว่าความสงบของวิปัสสนา
    วิปัสสนาจึงแปลว่ารู้แจ้งเห็นจริงต่างจากภาวะเดิม
    เพราะหมดความสงสัย เพราะสัญญาตัวนั้นเกิดขึ้น
    ท่านว่าอย่างนั้น
    เมื่อจิตใจมันนึกมันคิดขึ้นมา มันเห็น มันรู้ มันเข้าใจ มันสัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น
    ความโลภ เรียกว่า โลภะ
    ความโกรธ เรียกว่า โทสะ
    ความหลง เรียกว่า โมหะ
    โลภ โกรธ หลง ว่าอย่างนั้น เช่น
    อยากได้ของของคนอื่น อยากได้ของที่ไม่มี – ก็หมดอยาก
    เพราะเรารู้แจ้งเห็นจริงแล้วนั่นเอง
    การไปก็ไม่มี การมาก็ไม่มี เรียกว่า สงบแบบวิปัสสนา

    -----------
    ขอบคุณที่มา:
     
  6. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    นิพพาน โดยหลวงพ่อ เทียน (๕)
    สมถะได้ความสงบ วิปัสสนาได้ปัญญา


    [​IMG]


    หลวงพ่อจะสมมติเปรียบเทียบเรื่องญาณเกิดขึ้นเป็นลำดับให้ฟัง
    เราจะพูดกันอย่างง่ายๆ สมมติเรื่องคนตกน้ำ บ้านหลวงพ่อ เรียกคนตกน้ำ
    คนที่ 1 กระโจนลงไปก็จมปุ๋มลงไปทีเดียว
    ลงไปถึงพื้อนยันพื้นดินลอยโผล่หน้าขึ้น ไม่ได้มองไปทิศทางใดก็จมลงไปอีก
    ตายเลย คนประเภทนี้เรียกว่า คนไม่รู้จักชีวิตจิตใจของตนเอง
    คนที่ 2 กระโจนน้ำลงไปปุ๋มลงไปถึงพื้นดิน
    ยันพื้นดินขึ้นมาแรงๆ มองเห็นทิศทางว่าฝั่งอยู่ตรงนั้น
    แล้วก็พยายามว่ายตะเกียกตะกายเข้าหาฝั่ง
    คนประเภทนี้เรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม
    ได้กระแสพระนิพพาน เพราะรู้จัก่าฝั่งอยู่ทิศทางไหน
    คนที่ 3 พอกระโจนน้ำลงไปจมดิ่งลงไป
    ยันพื้นดินโผล่ขึ้นมาได้แล้วลอยไป
    น้ำลึกแค่เอวก็ลอยไปบ้าง เดินไปบ้าง
    คนที่ 4 กระโจนน้ำลงไปจมดิ่ง
    ลอยขึ้นมา ลอยไป
    ถึงที่น้ำแค่เข่าเดินไปได้สบาย
    ขึ้นไปสู่ฝั่งเดินไป เดินไป เป็นอย่างนั้น
    คนที่ 5 กระโจนน้ำลงไปแล้วก็ยันพื้นขึ้นมา
    น้ำลึกเพียงแค่กลางหน้าแข้ง
    เดินไปสู่ฝั่ง นั่งสบายอยู่ใต้ร่มไม้
    ลมพัดเย็นๆ ก็แปลว่า หยุด น้ำไม่มีแล้ว ไปนั่งอยู่สบายแล้ว
    เพราะผ่านไปแล้ว (ผ่านจากน้ำลึก – น้ำตื้น)

    นี่สมมติให้ฟังมาเป็นขั้นเป็นตอนไปอย่างนั้น
    อาตมาไม่รู้เรื่องหนังสือ เพราะไม่เคยเรียนหนังสือ
    อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าพูดกับพระวักกลิว่า
    ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเรา
    แม้จะจับชายจีวรหรือนิ้วมือเราอยู่ ก็ไม่เห็นเรา เพราะไม่เห็นธรรม
    เห็นธรรมก็เห็นตัวเรา กำลังนึก กำลังคิด กำลังพูด กำลังทำ
    นี่แหละ อย่างนี้เรียกว่าเห็นธรรมแท้
    เรื่องการปฏิบัติธรรมต้องรู้ไปเป็นขั้นเป็นตอน
    เป็นขั้นเป็นตอนไปอย่างนี้
    ที่ว่าพระพุทธเจ้าว่าพระวิกกลิ ให้พระวักกลิหนี
    พระวักกลิก็ไม่เข้าใจ หนีไป หนีไป
    ไม่ใช่หนีเดินไปก้าวไป
    แต่หนีจากความคิด
    แต่หนีไม่ได้เพราะไม่มีปัญญา
    พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ว่า
    ทุกข์ให้กำหนดรู้
    สมุทัยต้องละ
    มรรคต้องเจริญ
    นิโรธทำให้แจ้ง
    พวกเราพูดกันติดปากมานานแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่าทุกข์กำหนดรู้อย่างไร?
    เช่น ก้มลง เงยขึ้นมา มันทำได้ พลิกมือขึ้นคว่ำมือลงมันทำได้ คนอื่นมองเห็น
    บัดนี้มันคิดปุ๊บขึ้นมา
    ถ้าเราไม่มีญาณปัญญา หรือปัญญาของเรายังไม่แข็งแรง
    หรือปัญญายังไม่แหลมคม
    เราก็เข้าไปในความคิด
    มันก็รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้
    แต่พอเรามาเจริญสติ
    โดยการสร้างจังหวะเคลื่อนไหวเพื่อให้มีสติ – ความรู้สึกตัว มากขึ้นๆ
    เช่น พลิกมือขึ้น – รู้สึก เป็นต้น
    พอมันคิดขึ้นมา
    เรามาอยู่ที่ความรู้สึกตัว
    ความคิดมันก็หยุดไป มันก็หายไปจางไป
    ความคิดจะสั้นเข้าๆ
    พอมันคิดเรื่องอะไรขึ้นมา ก็ให้รู้มัน เห็นมัน
    แล้วให้สติกลับมาอยู่ที่การเคลื่อนไหวของกายนี้เอง
    อันนี้แหละ ทุกข์ต้องกำหนดรู้
    สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ต้องละ
    ทำอย่างนี้มันละได้จริงๆ
    มรรคต้องเจริญ เจริญก็ทำบ่อยๆ ทำมากๆ
    นิโรธทำให้แจ้ง เพราะทำถูกจุด ก็รู้แจ้งเห็นจริง
    ดังนั้น วิปัสสนากัมมัฎฐานกับสมถกัมมัฎฐานจึงแยกทางกันเดิน
    เมื่อคนใดทำสมถกัมมัฎฐานได้ความสงบ หรือนิมิตต่างๆ
    ครูอาจารย์สอนให้นั่งเงียบนิ่งอยู่ไม่กระดุกกระดิกก็เรียกว่าสงบ
    มันสงบอยู่แบบนั้น
    เหมือนกับที่เรามีโรคทางเนื้อหนัง หรือทางใดก็ตามเถิด
    กินยาระงับ ยาแก้ปวดหาย หมอเอายามาให้กินก็หายไปชั่วคราว
    แต่โรคมันยังไม่หาย เป็นการระงับไว้ชั่วคราวเท่านั้นเอง
    แล้วก็เป็นใหม่อีก เมื่อยาหมดฤทธิ์
    ส่วนวิปัสสนากัมมัฎฐานนั้นมันต้องผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกไปทิ้ง
    สมมติเราเป็นโรคที่นิ้วมือ
    มันจะลุกลามเข้าไปในส่วนลึก ก็ให้ตัดนิ้วนั้นทิ้ง ท่านว่าอย่างนั้น
    วิปัสสนากัมมัฎฐานตรงกันข้ามกับสมถกัมมัฎฐานอย่างนี้เอง
    คนที่เคยนั่งสงบ พอบอกให้พลิกมือขึ้น ยกมือไป
    ให้มีความรู้สึก เขาไม่ชอบ ชอบนั่งสงบจิต สงบใจอยู่อย่างนั้นเอง
    มันก็สงบดี แต่มันตรงกันข้ามมันเป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกันกับวิปัสสนา
    คนทำสมถกัมมัฎฐานนั้นชอบนั่งให้สงบ และคิดว่าตัวเองได้ทำวิปัสสนา
    เมื่อนั่งสงบจิต สงบใจแล้วก็มาพิจารณา ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา
    อันนั้นเป็นการพิจารณานึกคิดเอาเอง
    ไม่ใช่สัญญาที่กล่าวถึง เป็นสัญญาจากการพิจารณาเอา
    สัญญาจากการศึกษาเล่าเรียน จากการอ่าน การฟัง
    สัญญาอย่างนั้นไม่สามารถจะทำให้ญาณวิปัสสนาเกิดขึ้นมาได้
    เกิดขึ้นไม่ได้จริงๆ ปัญญาก็ไม่รอบรู้จริงๆ
    เพราะเกิดจากการพิจารณาเอาเอง
    ฉะนั้นการทำความรู้สึกนี่แหละมันจะทำให้ญาณปัญญาเกิดขึ้น
    ทำให้ปัญญารอบรู้ รู้สึกมากขึ้น
    พลิกมือก็รู้ คว่ำมือก็รู้ เอียงซ้ายก็รู้ เอียงขวาก็รู้
    ก้มก็รู้ เงยก็รู้ กระพริบตาก็รู้ ตาเหลือบซ้ายแลขวาก็รู้
    กลืนน้ำลายเข้าไปในลำคอก็รู้
    จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้
    จึงไม่ต้องนั่งเงียบๆ
    ตามีหน้าที่ดู หูมีหน้าที่ฟัง จมูกมีหน้าที่ดมกลิ่น เหม็น หอม
    ลิ้นมีหน้าที่รู้รส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม
    กายของเรามีหน้าที่สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง จิตใจมีหน้าที่คิด – นึก
    ญาณเข้าไปรู้ เข้าไปรู้ความคิด
    เพราะสัญญามันเข้าไปรู้แล้ว
    กายเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็รู้
    จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้
    การรู้จิตใจที่มันนึกมันคิดนี่แหละ เขาเรียกว่า นามรูป
    รูปของความคิดคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
    มันไม่มีรูป เรียกว่านามรูป มันคิดขึ้นมา
    ------
    ขอบคุณที่มา:
     
  7. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    นิพพาน โดยหลวงพ่อ เทียน (๖)
    สมถะได้ความสงบ วิปัสสนาได้ปัญญา

    [​IMG]

    เมื่อตัวของหลวงพ่อปฏิบัติ หลวงพ่อรู้อย่างนี้
    จึงไม่เชื่อใคร แม้ใครจะพูดอย่างไรก็ตาม
    เราต้องเชื่อประสบการณ์และอุดมการณ์ของเรา
    เพราะได้ฝึกหัดอบรมมาดีแล้วนี่
    นี่แหละมันจึงเหนือทุกข์ เหนือสุข เหนือบาป เหนือบุญ เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง
    เป็นได้จริงๆ เรื่องนี้

    เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็เห็น รู้ เข้าใจ เพราะอาศัยเวทนา
    แต่ไม่ต้องอาศัยหรอกมันมีแล้ว
    พลิกขึ้นก็รู้ คว่ำลงก็รู้
    จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้
    เพราะว่ามันมีสัญญาอันนั้น
    สัญญานั้นของมัน มันต้องแสดงตัวของมันออกมาเอง
    บัดนี้ญาณเข้าไปรู้ ญาณเข้าไปรู้ไม่ใช่เอาหัวมุดเข้าไป
    ตัวความรู้มันเข้าไปรู้ หรือมันรู้เอง เรียกว่า
    สันทิฎฐิโก อันผู้รู้พึงเห็นได้ด้วยตนเอง
    มันรู้เองเป็นเอง
    เมื่อมันสมบูรณ์แล้วก็เรียกว่า วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว
    เพราะว่าสัญญารู้ ญาณเข้าไปรู้ สัญญารู้จำได้ไม่หลงไม่ลืม
    เพราะอาศัยญาณเข้าไปรู้ ปัญญาจึงรอบรู้ จึงเห็นวัตถุ เห็นปรมัตถ์
    เห็นอาการ เห็นโทสะ โมหะ โลภะ สิ่งเหล่านี้ก็จางคลายไป
    จะสมมติให้ฟังว่าแต่ก่อนผ้าเรามีสีขาว
    เอาสีมาย้อมสีเพียงกระป๋องเดียว แต่คุณภาพมันดี ปริมาณของมันก็เต็มกระป๋อง
    เราเอาไปย้อมผ้าขาว ผ้าผืนนั้นจะติดสีทั้งผืนเลย
    ถ้าเป็นสีดำผ้าก็ต้องดำ ถ้าเป็นสีแดงผ้าก็ต้องแดงหมดผืนเลย
    เมื่อมีญาณปัญญาหรือสัญญาอันนี้เกิดขึ้น
    ญาณปัญญาเข้าไปรู้วิปัสสนา เรียกว่า ปัญญาเข้าไปรอบรู้ดีแล้ว
    เหมือนสีเต็มกระป๋อง แต่คุณภาพมันเสื่อมกลายไปเป็นน้ำเยื่อไม้
    เอาไปย้อมผ้าขาว ผ้าจะไม่ติดสี
    อันนี้แหละเป็นเครื่องวัดเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า
    ไม่ต้องไปไม่ต้องมา
    เวทนามีอยู่แต่ไม่ทุกข์
    สัญญามีอยู่แต่ไม่ทุกข
    สังขารมีอยู่แต่ไม่ทุกข์
    วิญญาณมีอยู่แต่ไม่ทุกข์
    เพราะทำลายโทสะ โมหะ โลภะ ให้ลดน้อยหรือเบาบางลงไปแล้ว
    เมื่อเห็นอย่างนี้อย่างแจ่มแจ้ง
    เห็น รู้ เข้าใจ สัมผัส แนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้แล้ว
    มันสมบูรณ์แล้ว
    รู้มากเข้า สัญญามีมากเข้า ญาณของวิปัสสนาเข้าไปรู้
    เรียกว่าปัญญารอบรู้
    เห็นกิเลส เห็นตัณหา เห็นอุปาทาน เห็นกรรม
    สิ่งเหล่านั้นก็จางไปเหมือนกับน้ำสีมันเสื่อมคุณภาพของมันเอง
    ย้อมผ้าไม่ติด
    เมื่อสิ่งเหล่านี้จางหายไปแล้ว
    ศีลจึงปรากฏ ไม่ใช่ศีล5 ศีล8 ศีล10 ศีล227
    ไม่ใช่ศีลอย่างนั้น
    ศีลก็คือความปกตินี่เอง
    ตาเป็นปกติ เรียกว่า – ตาทิพย์
    หูปกติเรียกว่า – หูทิพย์
    กายปกติ – กายทิพย์
    มันสมบูรณ์แบบ อยู่ที่ตรงนี้เอง
    แต่เราไม่ศึกษาที่ตรงนี้ก็เลยไม่รู้ไม่เข้าใจ เป็นอย่างนี้
    เมื่อศีลปรากฏแล้ว ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ (สมัยนั้นตอนหลวงพ่อรู้ – หลวงพ่อเรียกอย่างนี้)
    มันเกิดขึ้นมาภายในสำนึกของจิตใจ
    หลวงพ่อเข้าใจอย่างนี้
    สมมติว่า ถ้าขันดีเอาไปตักน้ำ – ได้กิน
    ถ้าขันแตกเอาไปตักน้ำ – ไม่ได้กิน
    ถ้าขันดีเอาไปตักบาตรให้พระก็น่าเอา
    ถ้าขันแตกมันสกปรกเอาไปตักข้าวใส่บาตรให้พระก็ไม่สวย ไม่งาม
    ขันธ์ แปลว่า หมวด หมู่ กลุ่ม กอง
    ตาก็เป็นขันธ์หมวดตา หูก็เป็นขันธ์หมวดหู จมูกก็เป็นขันธ์หมวดจมูก
    ลิ้น กินอาหารหวาน เค็มเข้าไป รู้รสก็เป็นขันธ์หมวดลิ้น
    กายสัมผัสก็เป็นขันธ์หมวดกาย
    จิตใจมันนึกคิดก็เป็นขันธ์หมวดใจ
    ขันธ์ก็คือหมวด หมู่ กลุ่ม กอง ก็เลยเข้าใจว่า ขันธ์แปลว่า ต่อสู้ รองรับ
    รองรับได้ ตากแดด ตากฝนก็ได้ ฝนตกก็ไม่เดือดร้อน แดดออกก็ไม่เดือดร้อน
    เพราะขันธ์เราดี จึงว่าขันธ์ – ตำราว่าอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
    ตำราว่าอย่างนั้น สิกขา แปลว่าถลุง ทำให้มันแหลกลงไป
    สมมติคือโรงสีเรานี่เอง เอาข้าวไปโยนให้โรงสี โรงสีมันบดออกมาเป็นเม็ดข้าวสาร
    บางทีก็เป็นเม็ดข้าวหักออกมา บางทีก็เป็นแกลบ เป็นรำไป
    สิกขา แปลว่า บดถลุง
    อาตมาไม่เคยเรียนหนังสือ จึงเอามาเปรียบเทียบอย่างนี้
    ขันธ์ แปลว่า ต่อสู้ รองรับ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ แปลว่า เห็นแจ้ง รู้จริง
    ก็เลยรู้จักสมถกัมมัฎฐานขึ้นมา
    สมถกัมมัฎฐานจะไม่รู้พวกนี้ (ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์)
    เพราะสมถกัมมัฎฐานมีแต่พิจารณาเอาเอง
    ก็เลยเห็นรู้เข้าใจเรื่อง กาม – จำพวกกาม : กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
    การทำความสงบแบบสมถะ
    ญาณหรือสัญญาปัญญาไม่รอบรู้
    ส่วนการเจริญวิปัสสนานั้นมีสัญญาญาณเข้าไปรู้
    แล้วญาณของวิปัสสนาก็เกิดขึ้น
    ปัญญาก็รอบรู้
    มันเข้าไปรู้ไม่ใช่มุดหัวเข้าไป
    สมถกัมมัฎฐานตกอยู่ในอำนาจของกามารมณ์ (กาม + อารมณ์) คือยินดีในอารมณ์อันนั้น
    นี่แหละว่า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนเองและเบียดเบียนผู้อื่น
    นั่นแหละไม่เป็นธรรม นั่นแหละไม่เป็นวินัย นั่นแหละไม่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
    ไม่ควรศึกษาและไม่ควรปฏิบัติ
    ท่านสอนเอาไว้ มันตกอยู่ในอำนาจของกาม มันสงบอยู่กับกามนั่นเอง
    เรียกว่า กามาสวะ: อาสวะ คือ กิเลส ภวาสวะ มันตกอยู่ในภพชาติของความทุกข์
    ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตกอยู่ภายใต้ โมหะ
    การทำสมถกัมมัฎฐานจึงไม่สามารถทำความสว่างขึ้นมาได้
    เพราะตกอยู่ในความมืด คืออยู่ในถ้ำนั่นเอง
    แม้เราจะสงบก็ตาม แต่ความมืดมันก็อยู่ในเรา
    เพราะเราอยู่ในถ้ำจึงไม่รู้จัก อวิชชาสวะ (อาสวะ คือกิเลส อวิชชาคือความไม่รู้)
    แต่มันรู้ – รู้อย่างไม่รู้
    รู้อย่างผู้รู้ – รู้อย่างผู้รู้ต้องเห็นแจ้งรู้จริง
    รู้อย่างไม่รู้ก็สงบอยู่อย่างนั้นไม่มีสัญญา ไม่กระดุกกระดิก ไม่เคลื่อนไหว มันเบียดเบียนตนเองขนาดนั้นแต่ไม่รู้
    นี่พูดเรื่องตัวเองนะไม่ได้พูดเรื่องคนอื่น

    ------
    ขอบคุณที่มา:
     
  8. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    นิพพาน โดยหลวงพ่อ เทียน (๗)
    สมถะได้ความสงบ วิปัสสนาได้ปัญญา

    [​IMG]


    เคยพูดว่าใครต้องการความสงบจะสอนให้
    แต่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า จะสอนให้ไม่เกิน 30 วัน ทำติดต่อกันจริงๆ
    อาตมาจะแนะนำให้ แต่นั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้านะ
    เป็นคำสอนของฤาษีชีไพรที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้า เรียกว่าสมถกัมมัฎฐาน
    สมถกัมมัฎฐานมีมาก่อนวิปัสสนา
    วิปัสสนาแปลว่ารู้แจ้งเห็นจริง ต่างเก่าล่วงภาวะเดิม จึงเรียกว่ามีศีลสมบูรณ์ ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ
    สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง : พวกกามารมณ์ ยินดี พอใจ รักใคร่ในอารมณ์เหล่านั้น
    นี้แหละกิเลสอย่างกลาง
    ปัญญาจำกัดกิเลสอย่างละเอียด ก็เพราะเห็นแจ้งรู้จริง ถ้าจะพูดไปก็มากมายยาวยืด รับรองได้จริงๆ เรื่องนี้
    ตอนนี้ก็มาพูดกันเรื่องสุดท้ายไม่ต้องพูดตามขั้นตอน
    ก่อนที่จะตัดสินใจว่า ไม่ต้องไปไม่ต้องมา
    หลวงพ่อทำความรู้สึก เดินกลับไปกลับมาตอนเช้า
    มันคิดก็รู้ มันเคลื่อนไหววิธีใดก็รู้
    ดูอยู่แค่นั้นเอง
    เอาแต่ความรู้สึกตัวเท่านั้น
    มันนึกมันคิดอะไรก็รู้เท่ารู้ทัน รู้จักกัน รู้จักแก้ เรียกว่าเอาชนะได้
    นี่แหละรู้เท่า รู้ทัน รู้จักกัน รู้จักแก้
    พอดีเดินกลับไปกลับมา คล้ายเราถอดเสื้อหรือถอดของในตัวเรานี่ออกหมด
    แล้วก็เบากายเบาใจ มันเป็นขณะเดียวนะนี่
    พูดให้ฟังแต่มันเร็ว
    ขาดออกเป็นช่วงเลย
    แต่ไม่ใช่เป็นนิมิตอย่างนั้นอย่างนี้นะ
    มันเห็นตัวของตัวเองขาดออกจากกัน
    มันขาดอย่างเชือก
    คือธรรมชาติมันขาดออกจากกัน
    ติดต่อกันไม่ได้
    จึงได้เปรียบเอาไว้ว่า
    เอาเชือกไนลอนหรืออะไรก็ตามผูกปลายทั้งสองข้าง ดึงให้ตึง แล้วตัดตรงกลาง
    เมื่อตัดแล้วจะดึงเข้าหากัน มันไม่ถึง
    จึงว่าการไปก็ไม่มี การมาก็ไม่มี
    มันเข้าสู่สภาพของมัน
    รูปนี้มันก็เข้าสู่สภาพของมันแล้ว
    ใจนึก ใจคิด มันก็เข้าสู่สภาพของมันแล้ว
    อันนี้แหละที่ในตำรับตำราว่าถึงที่สุดแล้ว
    ญาณย่อมมี
    เพราะสัญญาความหมายรู้และจำได้
    ญาณวิปัสสนาเข้าไปรู้
    ปัญญาเข้าไปรอบรู้
    ทั้ง 3 อันนี้ มันแว๊บเดียวเท่านั้นเอง
    เรื่องนี้ไม่ต้องถามใคร
    เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วรู้เองเห็นเอง
    ถ้าปฏิบัติอย่างที่แนะนำมา
    หากเรายังไม่พบเห็นในขณะนี้ ก็ต้องได้ประสบแน่นอน
    อย่างช้าก็ตอนใกล้จะหมดลมหายใจ
    อย่างนี้ท่านเรียกว่า มืดมาสว่างไป
    แต่ก่อนเราไม่รู้ บัดนี้เรารู้แล้ว
    จะไปไหนมาไหน จะทำจะพูดจะคิดเราก็สว่างแล้ว
    อีกพวกหนึ่งมืดมามืดไป เพราะไม่สนใจจึงไม่รู้ เข้าโลงก็มืด มามืดไปมืด
    อีกพวกหนึ่งสว่างมาสว่างไป คือพวกที่เกิดมาไม่เคยทำชั่ว
    เคยทำแต่ความดีความงาม
    แล้วก็เจริญวิปัสสนา รู้แจ้งเห็นจริง จิตใจไม่เศร้าหมอง
    เรียกว่า สว่างมาสว่างไป เพราะจิตใจรู้จริงเห็นจริงนี่เอง
    อีกพวกสว่างมามืดไป
    เขาเกิดในตระกูลอันดี พ่อแม่เคยฝึกเคยสอน
    สอนให้ให้ทานรักษาศีล ให้มีจิตใจผ่องใส
    แต่ไม่เคยเจริญวิปัสสนา
    จึงไม่รู้แจ้งเห็นจริงไปจนตาย ท่านว่า สว่างมามืดไป
    เราคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว
    ครูอาจารย์ท่านสอนว่า คนเกิดมา 100 ปี
    ถ้ายังไม่รู้ไม่เห็นสภาพหรือภาวะอาการเกิดดับของชีวิตจิตใจ
    เป็นชีวิตที่ไม่มีค่าไม่มีราคา เรียกว่าชีวิตเป็นหมันก็ได้
    แต่คนเกิดมาเพียงวันเดียว รู้แจ้งเห็นจริง เข้าใจจริง ซาบซึ้งอยู่กับสิ่งนั้น
    ชีวิตของคนนั้นประเสริฐยิ่ง ประเสริฐยิ่งกว่าบุคคลผู้มีอายุเป็น 100 ปีที่ว่าเสียอีก
    เกิดเพียงวันเดียวนะ
    และมันจะพลิกเป็นดีได้อย่างไร คนเกิดมาเพียงวันเดียว
    บางคนอาจจะสงสัย
    ก็หมายความว่าเราฟังธรรมะ คำสอนของท่านผู้รู้ เกิดซาบซึ้งเข้าใจแล้วนำเอาไปปฏิบัติ
    ที่ท่านว่ามืดมาสว่างไป เพราะเข้าใจนั่นเอง
    เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ก็ตาม บวชมา 100 พรรษา
    หากไม่รู้แจ้ง ไม่เห็นไม่เข้าใจสภาพ หรือภาวะ การเกิดดับของรูปของจิตใจนี้
    การบวชของผู้นั้นก็เป็นหมัน ไม่มีราคาอะไรเลย
    แต่บุคคลผู้มาบวชเพียงวันเดียว
    เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องอาการเกิดดับของรูป – นาม
    รูป เข้าสู่สภาพของรูป
    ใจ เข้าสู่สภาพของใจ
    เปรียบเหมือนเอามีดโกนตัดผมให้ขาดออกไปเลย
    ชีวิตของบุคคลนี้แหละดีกว่า ประเสริฐกว่าของบุคคลผู้บวชมา 100 พรรษา
    ท่านว่าอย่างนั้น เรื่องนี้ครูอาจารย์ พ่อ แม่ ปู่ยา ตายาย เคยเล่าสู่กันฟังก็จำได้
    ฉะนั้นการคิด พูด ทำ ต้องศึกษาจริงๆ จึงจะรู้ จึงจะเห็น จึงจะเข้าใจ
    ทุกคนหนีไม่พ้นเรื่องความตาย เกิดมาคนหนึ่ง ตายคนหนึ่ง
    เกิดมา 2 คน ตาย 2 คน
    คนรวยก็ตาย คนทุกข์ก็ตาย คนเรียนหนังสือก็ตาย คนไม่เรียนหนังสือก็ตาย
    ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด
    จึงไม่ต้องกลัวตาย
    แต่ผู้ที่ปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว จะเข้าสู่สภาพที่เรียกว่า ไม่ต้องเกิดไม่ต้องตาย
    คือไม่ต้องไปไม่ต้องมาแล้วนั่นเอง
    เพราะมันขาดออกจากกัน ไม่ติดต่อกันแล้ว
    ไม่ไปไม่มา ก็คำเดียวกัน
    อายตนะภายใน 6 อายตนะภายนอก 6 ก็คำเดียวกัน
    แต่เข้าถึงกันไม่ได้
    ดูคนให้เห็นเป็นสภาพ สภาวะ
    ไม่รู้สึกว่าเป็นผู้หญิง ไม่รู้สึกว่าเป็นผู้ชาย
    ไม่รู้สึกว่าสวย ไม่รู้สึกว่าไม่สวย
    ได้ยินเสียงก็ไม่รู้สึกว่า เพราะหรือไม่เพราะ เพราะมันขาดออกจากกันแล้ว
    ดังที่พระพุทธเจ้าท่านว่า
    สัตว์ทั้งหลายคือเราตถาคต
    สัตว์ทั้งหลายเหมือนเราตถาคต
    เมื่อไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ ไม่สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้
    ก็พยายามแสวงหาในการคิดการพูดการทำ เหมือนคนอยู่ในถ้ำ
    เหมือนคนตกน้ำโผล่หัวขึ้นมาไม่ได้ หรือโผล่ขึ้นมายันขึ้นมาได้ แต่แล้วกลับจมดิ่งตายไปเลย
    ท่านว่าอย่างนั้น
    ท่านกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลาย เราผู้เป็นตถาคตไปถึงแล้วแห่งนั้น
    แล้วจึงนำมาสอนพวกเธอทั้งหลาย
    ให้พวกเธอทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามเราตถาคตนี้
    ก็จะรู้ จะเห็น จะเป็น จะมี อย่างเราตถาคตนี้
    ต้องรู้เหมือนกัน เห็นเหมือนกัน
    เป็นเหมือนกัน มีเหมือนกันกับพระพุทธเจ้า ไม่ผิดกันเลย
    ***จบ***
    ------
    ขอบคุณที่มา:
     
  9. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    นิพพาน โดยหลวงพ่อ เทียน (๘)
    อยู่กับปัจจุบัน ด้วยสติปัญญา


    [​IMG]

    พระพุทธเจ้าเป็นคนอินเดียพูดภาษาอินเดีย
    สำหรับหลวงพ่อเป็นคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พูดภาษาสำเนียงภาคกลางไม่เพราะ
    เพราะว่าตัวของหลวงพ่อมีบ้านเกิดเมืองนอนอยู่โน่น “ริมแม่น้ำโขง”
    เรียกว่า บ้านบุโฮม ต.บุโฮม อ.เชียงคาน จ.เลย ติดฝั่งลาว พูดภาษาสำเนียงภาคกลางไม่เป็น
    เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่เคยเรียนหนังสือ จึงพูดภาษาภาคกลางไม่ได้ แต่สำเนียงพื้นบ้านพูดได้
    พระพุทธเจ้าพูดกับคนอินเดียฟังรู้เรื่องกันทันที
    คนไทยพูดให้ฟังแล้วไม่สนใจ
    เพราะมันมืดอยู่ในใจ จึงไม่สนใจ
    เพราะมันมีโทสะ โมหะ โลภะ
    เมื่อพูดไปไม่ถูกใจก็โกรธ เกลียดกันขึ้นมา
    สิ่งเหล่านี้แหละที่พระพุทธเจ้าสอนว่า
    ทำให้มันหมดไปจากจิตใจ
    เมื่อสิ่งเหล่านี้จืดจางหมดไปแล้ว
    นั่นแหละคือไปหาพระพุทธเจ้า
    พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ก็จะรู้ จะเห็น จะเข้าไปสัมผัสได้
    จิตใจของคนเรามันมีความสงบ มันเป็นอุเบกขาอยู่แล้ว
    อย่างที่ได้พูดมา สัตว์เดรัจฉานเวลามันนอนสบาย จิตใจมันว่าง มันเป็นอุเบกขา
    ตามความเป็นจริงแล้ว คนทุกคนศึกษาเรื่องนี้ได้
    ถ้ามีคนพูดคนสอน
    เราเอาจิตใจที่ว่าง ที่สะอาดนี่แหละไป คิด พูด ทำการงาน
    ทำไปทุกสิ่งทุกอย่างได้
    เป็นพ่อเป็นแม่ก็รู้จักหน้าที่ของพ่อแม่
    เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็รู้จักหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน
    เป็นครูไปสอนหนังสือก็รู้จักหน้าที่ของครู
    เป็นตำรวจทหารก็รู้จักหน้าที่ของตำรวจทหาร
    เป็นนักเรียนไปเรียนหนังสือ ก็รู้จักหน้าที่ของการเป็นนักเรียน
    อุเบกขา – วางเฉย ไม่ต้องยึดไม่ต้องถือ
    ความคิดมันคิดแล้วก็ผ่านไป คิดมาแล้วก็ผ่านไป
    ต้องอยู่ในปัจจุบัน ไม่ไปอยู่ในอดีต ไม่ไปอยู่ในอนาคต
    ต้องอยู่กับปัจจุบัน
    และปัจจุบันก็ไม่อยู่ด้วยโมหะ แต่อยู่ด้วยสติปัญญา
    กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด เกิดขึ้นที่จิตที่ใจ
    กิเลสพันห้าที่เกิดในอดีต 500 เกิดในอนาคต 500 เกิดในปัจจุบัน 500
    ก็เป็น 1,500
    เพราะไม่เคยเห็นจิตใจนั่นเอง
    ตัณหา108 เกิดในอดีต 36 เกิดในอนาคต 36 เกิดขึ้นในปัจจุบัน 36
    ก็เป็นตัณหา 108
    เพราะอยู่ด้วยโทสะ โมหะ โลภะ
    ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันด้วยสัญญา ด้วยญาณปัญญา ปัญญารอบรู้
    กิเลสเกิดขึ้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนให้แก้ที่ปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันด้วยสติปัญญา
    เท่าที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว
    หลวงพ่อหรืออาตมาขออ้างเอาคุณของพระพุทธเจ้า และพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์
    และคุณของพระอรหันต์สาวกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    มาเตือนจิตสะกิดใจพวกเราทั้งหลาย
    ให้ได้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า
    สัตว์ทั้งหลาย เราผู้เป็นตถาคตไปถึงแล้วแห่งนั้น แล้วจึงนำมาสอนพวกเธอทั้งหลาย
    ให้พวกเธอทั้งหลายจงประพฤติปฏิบัติ ตามอย่างเราตถาคตนี้
    ก็ จะรู้ จะเห็น จะป็น จะมี อย่างเราตถาคตนี้
    ขอให้พวกเราทุกคนจงประสบพบเห็นในชีวิตนี้จงทุกๆ คน เทอญ

    ------
    ขอบคุณที่มา:
     
  10. itdch

    itdch Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    21
    ค่าพลัง:
    +33
    สมัยนี้เราอยากได้พยานบุคคลกัน เรื่องมรรค ผล นิพพาน
    หลวงพ่อเป็นคนหนึ่ง ที่ในคนยุคสมัยเรา ที่เราได้มีโอกาสเห็นครับ
    ขออนุโมทนา
     
  11. itdch

    itdch Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    21
    ค่าพลัง:
    +33
    วันนี้ครบ 21 ปีแล้ว วันที่หลวงพ่อเทียนแสดงธรรม
    ที่แสน องอาจ สามารถ สติ มหาสติ ความรู้ตัว
    เหนือสุข ทุกข์ เหนือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย
    สาธุ อนุโมธนา
     
  12. wuttichai0329

    wuttichai0329 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    1,015
    ค่าพลัง:
    +741
    สตินทรีย์ สติวินโย มหาสติ มหาปัญญา
    อนุโมทนาครับ ครับ แฮ่ แฮ่ ๆ
     
  13. itdch

    itdch Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    21
    ค่าพลัง:
    +33
    มีเสียงธรรมของหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ พูดถึงสติ
    อย่ากให้เพื่อน ได้ลองฟังดู
    ชื่อหัวข้อว่า พบกัน ณ ที่มีสติ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 11.mp3
      ขนาดไฟล์:
      4.9 MB
      เปิดดู:
      38

แชร์หน้านี้

Loading...