การรักษาคุณภาพจิต โดยการทำสมาธิภาวนา

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 8 มีนาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,877
    [​IMG]


    การรักษาคุณภาพจิต โดยวิธีทำสมาธิภาวนา มนุษย์ทุกคนรวมทั้งตัวเราเอง ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ ทุกวันนี้คนส่วนมากจะเอาใจใส่เฉพาะการระวังรักษากาย มีวิธีการออกกำลังกายหลายแบบ เช่น การเดิน การวิ่ง รำมวยจีน โยคะ การบริหาร และ Aerobic dance เป็นต้น

    ในกรุงเทพฯ ยามเช้า ตามสวนสาธารณะบางแห่ง เราจะเห็นคนออกกำลังกายกันมาก บางคนพิสดารไปกว่านั้น เมื่อออกกำลังกายแล้ว ก็บำรุงด้วยอาหารแปลก ๆ ซึ่งอ้างว่าทำให้มีสุขภาพดีอายุยืน รวมความว่าพวกเราส่วนมาก เป็นห่วงกังวลอยู่กับการบำรุงรักษาร่างกายเท่านั้น แต่ลืมเรื่องจะระวังรักษาจิตใจ และลืมด้วยว่าคนเรานั้นมีจิตใจ และจิตใจนั้นต้องการการระวังรักษาให้ถูกต้องด้วยเหมือนกัน

    [​IMG]

    คนที่มีสุขภาพจิตเสียนั้นสังเกตได้ไม่ยาก ตื่นเช้าขึ้นมาจะรู้สึกใจคอหงุดหงิด บางครั้งก็โกรธโดยไม่มีเหตุผล เห็นหน้าคนในครอบครัวซึ่งเป็นที่รักกลับโกรธ บางคนเป็นเอามาก เห็นอะไรขวางหน้าเป็นไม่พอใจทั้งนั้น แม้แต่เห็นนกบินในอากาศก็ยังโกรธ คนที่มีสุขภาพจิตเสียเหล่านี้ เป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย เรียกว่า เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่ค่อยมีเหตุมีผล ไม่ค่อยยอมรับความเป็นจริงในชีวิต คนที่มีสุขภาพจิตเสีย นอกจากตัวของตัวเองจะมีความรู้สึกไม่สบายแล้ว ส่วนมากจะทำให้ผู้อยู่ใกล้เคียงเดือดร้อนตามไปด้วย เราจะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ผิดปกติของพวกที่มีสุขภาพจิตเสียมาก มาย คนเหล่านี้เราจะพบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน ลูกน้องหรือญาติพี่น้องของเราก็ได้ แม้แต่ตัวของเราเอง ถ้าปล่อยปละละเลย ไม่ระวังรักษาสุขภาพจิต บางครั้งอยู่ในเหตุการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีเป็นเวลานานสุขภาพจิตก็เสียได้

    สังคมทุกวันนี้พัฒนาในทางวัตถุอย่างรวดเร็วมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความต้องการในด้านวัตถุมีมากขึ้น การแข่งขันในชีวิตประจำวันรุนแรงขึ้น ความเครียดของจิตมีมากขึ้น ฉะนั้น สุขภาพจิตของคนทุกวันนี้จึงเสื่อมทรามลงเป็นอันมาก และอาการวิกฤตทางจิตนี้ สามารถติดต่อหรือส่งผลกระทบไปยังบุคคลที่อยู่ข้างเคียงอย่างง่ายดาย

    มีโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกายหลายอย่าง ที่มีสาเหตุมาจากอาการทางจิตที่ไม่ปกติ ซึ่งทางแพทย์เรียกว่า Psychosomatic disease เช่น ปวดหัว โรคกระเพาะ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคประสาท เป็นต้น ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นสำหรับทุกคนที่จะต้องระวังรักษาสุขภาพจิตของตนให้ดี

    [​IMG]

    การทำสมาธิภาวนา เป็นวิธีการรักษาสุขภาพจิตได้อย่างดี การทำสมาธิมีหลายแบบหลายวิธี แต่ละวิธีมีวัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน บางวิธีเหมาะสำหรับพักจิตเท่านั้น บางวิธีเหมาะสำหรับให้เกิดอิทธิฤทธิ์ แต่ละแบบล้วนแต่มีผลข้างเคียง คือ Side effect ที่เป็นอันตรายหลายอย่างที่มีการทำสมาธิ ที่ใช้คำบริกรรมอย่างเดียว สมาธิอย่างนี้เหมาะสำหรับพักจิตอย่างเดียว ทำง่ายและในขณะที่ทำ จิตจะมีความสบาย แต่ถ้าทำมากเกินไปจะมี Side effect เช่น การพักผ่อนนอนหลับเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายก็จริงอยู่ แต่ถ้าเราเอาแต่พักผ่อนนอนหลับอยู่ตลอดเวลา หรือมากเกินกว่าปกติ ร่างกายของเราจะอ่อนแอลง ระบบการต่อต้านภัยของร่างกาย คือ Immune system จะอ่อนแอลงไป โรคภัยไข้เจ็บจะทำอันตรายต่อเราได้ง่าย จิตใจของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเอาแต่พักจิตมากเกินไป เราจะรู้สึกสบายในเวลาทำสมาธิ แต่เมื่อเราออกไปอยู่กับโลก เราจะรู้สึกไม่สบาย หงุดหงิดผิดปกติ ที่เป็นเช่นนี้เปรียบเหมือนเราอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นประจำจนเคยชิน เมื่อเราอยู่ในห้องจะรู้สึกสบาย แต่เมื่อเราออกจากห้อง เราจะรู้สึกไม่สบาย แล้วก็จะเจ็บไข้ได้ป่วยง่ายกว่าปกติ เพราะอากาศข้างนอกเป็นอากาศธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งก็ร้อนจัด หนาวจัด มีลม มีฝน มีแดด มีฝุ่น เป็นธรรมดา แต่ร่างกายของเราไม่เคยชิน จึงไม่สบายหรือเจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย

    เรื่องราวในชีวิตประจำวันหรือเรื่องของโลกก็เช่นเดียวกัน โดยปกติตามธรรมชาติก็เต็มไปด้วยกิเลส โลภ โกรธ หลง มีอารมณ์ภายนอกที่พอใจบ้างไม่พอใจบ้างมากระทบจิตของเราตลอดเวลา แต่ถ้าสุขภาพจิตของเราดี ระบบการควบคุมจิตของเราดีแล้ว เราก็สามารถทนได้ เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าสุขภาพจิตของเราไม่ดี เราจะไปโทษโลก โทษสังคม หรือไปโทษผู้อื่นว่าไม่ดีอย่างโน้นว่าไม่ดีอย่างนี้เป็นต้นเหตุ ทำให้เราไม่สบาย ถ้าอาการนี้มีมากจะหงุดหงิด ผิดปกติ แล้วหลบตัวจากสังคมประฌามสังคมว่ามีแต่คนเลว

    ฤาษีจะต้องปลีกตัวออกจากสังคมไปอยู่ในที่โดดเดี่ยว แต่พระภิกษุในพุทธศาสนาต้องอยู่กับสังคม ต้องขอปัจจัย ๔ มีอาหาร เป็นต้น จากสังคม

    [​IMG]

    การภาวนาแบบฟังเทป ใช้เสียงเป็นเครื่องเกาะของจิต ก็อยู่ในประเภทพักจิตเหมือนกัน ทำน้อย ๆ ไม่เป็นไร ถ้าทำมากเกินไปวันละหลาย ๆ ชั่วโมง จะเกิดอาการเช่นนี้เหมือนกัน ยกเว้นการฟังเทศน์แบบพิจารณาเนื้อความ เป็นปัญญา

    ส่วนการทำสมาธิภาวนาบางระบบ ที่ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์นั้น Side effect มีมาก ทำให้เกิดการหลงผิด วิปลาส Perversion ได้ง่าย บางครั้งกลับมีกิเลสมากกว่าปกติ ก่อนที่เราจะปฏิบัติสมาธิภาวนา จะต้องมีจุดหมายที่แน่นอนก่อน แล้วจึงเลือกวิธีการภาวนาให้ถูกต้อง เหมาะสมกับวัตถุประสงค์นั้น มิฉะนั้นเราจะได้รับความลำบาก เกิดปัญหาต่าง ๆ มาก คล้ายกับว่าเราต้องการจะไปเชียงใหม่ แต่ขึ้นรถผิดไปสงขลา กว่าจะรู้ตัวแก้ไขได้ก็ลำบากมาก

    นักจิตวิทยาสมัยใหม่ ได้ทำการทดลองวิธีการภาวนาหลายวิธีทั้งของพุทธและของฮินดู ปรากฏว่าวิธีการที่ดีที่สุด ที่ทำให้สุขภาพจิตดี คือ การกำหนดลมหายใจ หรือ อานาปานสติ


    [​IMG]

    การทำสมาธิภาวนาโดยวิธีกำหนดลมหายใจ มีข้อดีคือ จิตจะได้พักพอสมควร และเป็นระบบที่ฝึกการควบคุมจิตได้เป็นอย่างดี จิตของเรานอกจากจะต้องการพักผ่อนแล้ว ยังต้องมีการฝึกให้อยู่ในควบคุมด้วย เพราะมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ ทั้งที่พอใจและไม่พอใจ เราก็สามารถจะควบคุมจิตของเราให้เป็นปกติได้

    ทำไมเราจึงต้องออกกำลังกาย เช่น วิ่งหรือเดิน ก็เพราะว่า เราต้องการให้ร่างกายของเรามีสุขภาพดี สามารถต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ดี ในขณะที่ออกกำลังกาย เช่น วิ่ง เราจะรู้สึกเหนื่อย บางครั้งเราต้องบังคับตัวเองให้วิ่งต่อไป แต่ผลที่ได้รับก็คือ เราจะมีร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี

    จิตใจก็เช่นเดียวกัน นอกจากการพักผ่อนแล้ว เราจะต้องฝึกการควบคุมตัวเองด้วย ในขณะที่เราต้องการควบคุมตัวเอง ขณะที่นั่งทำสมาธิภาวนา บางครั้งเราจะรู้สึกเหนื่อย แต่ผลที่ได้ คือ เราจะมีสุขภาพจิตดี สามารถจะเผชิญโลกต่อชีวิตประจำวันได้อย่างดี

    ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพจิตดี กล่าวโดยย่อ ๆ ก็คือ นับตั้งแต่ตื่นนอน เราจะรู้สึกว่ามีความสุข มองธรรมชาติและบุคคลโดยรอบในแง่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรค และช่วยเหลือผู้อื่น สามารถที่จะทำงานด้วยจิตที่มีสมรรถภาพสูง ข้อสำคัญเกี่ยวกับการทำสมาธิภาวนาก็คือ ต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเช้าเย็น ก่อนอาหาร ครั้งละประมาณ ๓๐ นาที หรืออย่างน้อยที่สุดวันละ ๓๐ นาที

    ถ้าหากนาน ๆ ทำครั้ง จะไม่ได้ผลตามต้องการ การทำสมาธิภาวนาโดยวิธีกำหนดลมหายใจนี้ เป็นระบบควบคุมจิต ทำมากก็ไม่เป็นอันตรายนอกจากบางครั้งจะเหนื่อยมากหน่อย

    [​IMG]

    ต่อไปนี้เป็นแบบฝึกหัดเบื้องต้นของการทำภาวนาแบบกำหนดลมหายใจ

    นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หลับตาตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น คือนึกถึงกายที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ ตั้งแต่เท้าจรดหัว หัวจรดเท้า นึกถึงขาก่อน ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นึกถึงกายท่อนล่างที่สัมผัสกับพื้น นึกเรื่อยขึ้นมาจนกระทั่งถึงท่ามกลางหน้าอก ถึงคอ ถึงหัว กลับลงไปจากหัวลงไปคอ ลงไปท่ามกลางหน้าอก ลงไปกายท่อนล่าง ถึงมือ มือขวาทับมือซ้าย ถึงขา ขาขวาทับขาซ้าย แล้วก็กลับไปกลับมา ภาษาบาลีท่านเรียกว่า เป็นอนุโลมปฏิโลม ทำเช่นนี้อยู่ประมาณ ๒-๓ นาที ทำความรู้สึกทางกายให้ชัด

    จากนั้นเราก็ตั้งต้นมาใหม่ นึกถึงขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย กายท่อนล้างที่สัมผัสกับพื้น นึกเรื่อยขึ้นมาจนกระทั่งถึงท่ามกลางหน้าอก ถึงคอ ถึงหัว ต่อไปก็นึกถึงบริเวณใบหน้า นึกถึงบริเวณปลายช่องจมูก สมมุติว่าลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกบริเวณปลายช่องจมูก หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ไม่ต้องตามลมหายใจออกเวลาเราหายใจออก ไม่ต้องตามลมหายใจเข้าเวลาเราหายใจเข้า เฝ้าดูเฉพาะปลายช่องจมูก ทำความรู้สึก ๓ อย่างให้ชัด

    ๑. บริเวณปลายช่องจมูกให้ชัด
    ๒. ลมหายใจเข้า
     
  2. พระเมตตาธัมโม

    พระเมตตาธัมโม สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    31
    ค่าพลัง:
    +20
    ขออนุโมทนาด้วยนะ คุณ vanco ที่นำเรื่องราวดี ๆ มีประโยชน์มาเสนออยู่เป็นประจำ
     
  3. nui_sirada

    nui_sirada เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 มกราคม 2008
    โพสต์:
    399
    ค่าพลัง:
    +371
    a nu mo ta na sa tuu sa tuu ka!
     
  4. จิตใต้สำนึกบวก

    จิตใต้สำนึกบวก สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    18
    ค่าพลัง:
    +12
    ดีมากมายค่ะ ดีมากมาก ชื่นชม และมีความสุขที่ได้อ่าน และปฎิบัติตามค่ะ ^_^
     

แชร์หน้านี้

Loading...