บริจาคอวัยวะ-มหากุศลสร้างชีวิตใหม่ผู้ป่วย

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 15 มกราคม 2007.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    บริจาคอวัยวะ-มหากุศล'สร้างชีวิตใหม่ผู้ป่วย'

    บริจาคอวัยวะ มหากุศล "สร้างชีวิตใหม่ผู้ป่วย"

    สกุณา ประยูรศุข



    [​IMG]

    การทำบุญทำทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น ในพระพุทธศาสนาเชื่อว่า การบริจาคชีวิต หรือ บริจาคอวัยวะ เป็นการทำบุญที่ได้บุญกุศลอย่างสูงสุด

    แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ก่อนจะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสวยพระชาติสุดท้ายเป็น "พระเวสสันดร" ก็ทรงบริจาคภริยา และบุตร อันเป็นทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ 1 ใน มหาบริจาค 5 ประการ อันได้แก่ บริจาคทรัพย์ บริจาคอวัยวะ บริจาคชีวิต บริจาคบุตร และ บริจาคภรรยา

    ซึ่งเป็นการแสดงถึงความไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งใด สิ่งหนึ่ง และผลบุญแห่งทานนั้น ทำให้ทรงพบหน ทางแห่งความสำเร็จ ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    มาถึงปัจจุบัน จากความเชื่อในพุทธศาสนา การทำบุญทำทานด้วยการบริจาคอวัยวะ หรือแม้แต่บริจาคชีวิต ยังเป็นการทำบุญที่ได้มหากุศลอันยิ่งใหญ่

    เพราะการทำบุญด้วยวิธีนี้ สามารถทำให้ผู้เจ็บป่วยที่กำลังหมดลมหายใจ สามารถมีชีวิตยืนยาวอยู่ต่อไปได้อีก เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำอวัยวะของผู้บริจาค ไปใช้ประโยชน์ในผู้ป่วยที่กำลังเจ็บป่วยด้วยโรคนั้นๆ

    ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สามารถช่วยให้คนที่อวัยวะภายในบางอย่างเสื่อมสมรรถภาพไปแล้วสามารถมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกับคนทั่วไปด้วยวิธีการ "ปลูกถ่ายอวัยวะ"

    นายแพทย์เกษม ตันติผลาชีวะ จิตแพทย์จากสถาบันจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องของการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนไว้ว่า

    จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการปลูกถ่ายอวัยวะมีอยู่มาก แต่จำนวนผู้บริจาคอวัยวะมีน้อย และยังต้องให้ตายเสียก่อนจึงจะเอาอวัยวะของผู้บริจาคมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้ ยกเว้นเพียงอวัยวะเดียวคือ ไต ซึ่งมีอยู่ 2 ข้าง จึงอาจผ่าตัดมาให้กันได้ขณะมีชีวิตอยู่ โดยผู้บริจาคต้องเป็นญาติร่วมสายโลหิต หรือคู่สมรสที่แต่งงานกันมาอย่างน้อย 3 ปี

    ประชากรของไทยมีกว่า 61 ล้านคน แต่มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะเพียงแสนกว่าคน ซึ่งโอกาสที่จะได้อวัยวะจากผู้บริจาคเหล่านี้มีน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่มักมีอายุยืน กว่าจะตายก็อาจมีอวัยวะที่ชราภาพมากแล้ว ใช้งานได้ไม่ค่อยดี ต้องเป็นผู้ที่ตายจากอุบัติเหตุในวัยหนุ่มสาวจึงมีอวัยวะที่ค่อนข้างเหมาะสมต่อการปลูกถ่ายให้ผู้อื่น

    เรื่องนี้หากพิจารณาให้ดี จะเห็นว่าเป็นการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอวัยวะของคนเราเมื่อตายแล้ว ก็มีแต่จะเน่าเปื่อยสลายไปโดยเปล่าประโยชน์ สู้เอามาให้คนที่เขาสามารถใช้ประโยชน์จากอวัยวะนั้นจะมิดีกว่าหรือ

    "อย่างนี้จึงจะเรียกว่าตายอย่างมีคุณค่า" คุณหมอว่าไว้อย่างนั้น

    ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) สภากาชาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆ อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดโครงการรณรงค์บริจาคอวัยวะเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นตลอดทั้งปี 2550

    โดยจะรณรงค์การบริจาคอย่างต่อเนื่องในช่วงวันที่ 15 มกราคม ถึง 15 เมษายน 2550

    โครงการดังกล่าว นอกเหนือจากให้ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะตามสื่อต่างๆ การเปิดรับบริจาคอวัยวะจากผู้มีจิตศรัทธาอยากสร้างบุญอันยิ่งใหญ่ในชีวิตแล้ว ยังรณรงค์ให้มีการบริจาคอวัยวะผ่านใบขับขี่ของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมได้ด้วย

    การบริจาคอวัยวะ คือ การให้อวัยวะเพื่อนำมาปลูกถ่าย เป็นการช่วยเหลือต่อชีวิตใหม่ให้เพื่อนมนุษย์ เป็นการให้ด้วยความสมัครใจของตัวเองหรือญาติ ไม่มีการบังคับไม่มีการซื้อขายหรือหวังผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

    ถือว่าเป็นการบริจาคให้เป็น "ทาน" เสมือนหนึ่งเป็นการให้ชีวิต หรือของขวัญแห่งชีวิต

    นายแพทย์เกษมเล่าอีกว่า ในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละหลายร้อยคน แต่ไม่สามารถนำอวัยวะของเขามาใช้ได้ เพราะไม่ได้พกบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะ ซึ่งอาจเป็นเหตุจากที่เขาไม่เคยบริจาคหรือมีบัตรบริจาคแต่ถูกผู้ร้ายลอกคราบไประหว่างที่เกิดอุบัติเหตุ

    "ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศเดียวที่มีข่าวเมื่อไม่นานนี้ว่ามีกฎหมายอนุญาตให้แพทย์นำอวัยวะของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องมีหนังสือยินยอมล่วงหน้า นับเป็นความกล้าหาญของผู้บริหารประเทศที่กล้าตัดสินใจรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม จากทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด โดยไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะมีใครมากล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน"

    สำหรับในประเทศไทยคุณหมอเกษมบอกว่า สาเหตุที่คนไทยยังบริจาคอวัยวะกันน้อย เป็นเพราะปัจจัยหลายอย่าง อย่างแรกเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์

    "เพราะเรื่องแบบนี้คนมักให้ความสนใจน้อย และไม่ขวนขวายที่จะไปบริจาค จึงจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก และต้องให้ความสะดวกแก่เขา อาจต้องไปบริการถึงที่หรือให้ส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นหนุ่มสาวหรือวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุมากพอควร อาจนำไปพ่วงกับนักเรียนอาชีวะที่ไปรับการฝึกทหารก็ได้ เป็นการส่งเสริมให้เขาทำความดีและมีความเสียสละเพื่อสังคม"

    การบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยเตือนสติให้คนเห็นสัจธรรมของชีวิตว่า ไม่มีใครหลีกหนีความตายได้พ้น จะมาถึงเร็วหรือช้าเท่านั้นซึ่งก็ไม่อาจรู้ได้

    ดังนั้นคนเราจึงควรดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท และเตรียมตัวไว้บ้าง

    แต่เมื่อหากต้องตายลง ศพจะกลายเป็นภาระให้ต้องจัดการ-การเอาศพไปเผาก็กลับกลายเป็นการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีก ทั้งเขม่า, ควัน, ความร้อน และก๊าซที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

    คุณหมอเกษมบอกว่า การเอาศพไปฝังจะสลายไปตามธรรมชาติได้ ก็ต้องไม่ใส่โลงเพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสายให้เป็นดิน เป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ต่อพืช ถ้าใช้โลงก็ต้องตัดไม้ เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอีก

    ชนบางเผ่าที่เอาศพไปทิ้งให้แร้งกิน เป็นวิธีการที่กลมกลืนกับธรรมชาติมาก ตามหลักการของห่วงโซ่อาหาร (food chain) ซึ่งเป็นแบบเดียวกับการรีไซเคิล (recycle) นั่นเอง

    ฉะนั้น การบริจาคอวัยวะจึงเป็นแบบอย่างของการนำกลับมาใช้ (reuse) เมื่อไม่มีประโยชน์สำหรับคนหนึ่งแล้ว ก็นำกลับมาให้อีกคนหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากอวัยวะนั้นได้

    หากคิดในเชิงบวก เราอาจมองได้ว่าการที่อวัยวะของเราได้รับการนำไปปลูกถ่ายให้คนอื่นเมื่อเราตายไปแล้วก็เท่ากับว่า เรายังไม่ได้ตายไปหมดทั้งคน แต่ยังมีบางส่วนของเราอยู่รอดต่อไป โดยไปฝากเลี้ยงไว้ในร่างของอีกคนหนึ่ง

    อย่างนี้ก็เท่ากับต่ออายุอวัยวะของเราเอง

    "คนไทยส่วนใหญ่ชอบทำบุญ แต่บางคนทำบุญแล้ว ยังไม่เห็นมีความสุข ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะทำบุญมากเกินตัว หรือต้องผ่อนส่งค่าทำบุญ และที่แย่ที่สุดคือ ทำบุญโดยหวังผลตอบแทนเหมือนกับลงทุนในตลาดหุ้น จึงเกิดอาการหน้าเหี่ยวหน้าแห้งจิตใจไม่เป็นสุข

    การทำบุญที่ถูกวิธีต้องทำโดยไม่คาดหวังผลตอบแทน เพราะการให้โดยไม่ต้องการรับนั้น เป็นการละกิเลสทำให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง

    การบริจาคอวัยวะเป็นการทำบุญที่มีประโยชน์ต่อโลกเป็นอย่างยิ่ง เป็นการช่วยชีวิตคนอื่นให้อยู่รอดต่อไป โดยผู้ให้ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย คนตายแล้วทิ้งไว้ก็เน่าเปื่อยไปโดยเปล่าประโยชน์ สู้บริจาคให้เขานำไปใช้จะดีกว่า..."

    สำหรับอวัยวะที่สามารถบริจาคได้ในปัจจุบัน ได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ ไต

    หัวใจ เป็นอวัยวะที่สำคัญมากของร่างกาย ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อนำออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ผู้ที่เป็นโรคหัวใจระยะสุดท้ายด้วยสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพ และไม่สามารถรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดทั่วไปได้ จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ ผู้ป่วยบางรายทำให้เกิดอาการทางปอดด้วย ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการปลูกถ่ายหัวใจพร้อมกับปอด

    ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจไปแล้ว และหัวใจยังทำงานได้ดีถึงปัจจุบันนานที่สุด คือ 26 ปี

    ปอด มีหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ โดยหายใจเอาก๊าซออกซิเจนเข้าและเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ในผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดอย่างรุนแรง เช่น ถุงลมโป่งพอง สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายปอด ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายปอดไปแล้ว และปอดยังทำงานได้ดีนานที่สุดคือ 18 ปี

    ตับ เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในช่องท้อง เป็นแหล่งสะสมพลังงานของร่างกาย และทำลายสารพิษต่างๆ ที่ร่างกายได้รับ ผู้ที่เป็นโรคตับระยะสุดท้าย หรือตับวายเฉียบพลันที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีทั่วไปได้ ต้องได้รับการปลูกถ่ายตับใหม่

    หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยร้อยละ 70-80 สามารถอยู่ได้เกิน 1 ปี ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายตับไปแล้ว และตับยังทำงานได้ดีนานที่สุด คือ 35 ปี

    ไต มีรูปร่างคล้ายถั่วเหลือง อยู่บริเวณบั้นเอวข้างกระดูกสันหลังทั้งสองข้าง มีหน้าที่ขับถ่ายของเสีย ยา หรือสารแปลกปลอมออกทางปัสสาวะ ผู้ป่วยไตเรื้อรังหากไม่ได้รับการปลูกถ่ายไตก็จะต้องได้รับ การฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตไปแล้วและไตยังทำงานได้ดีนานที่สุด คือ 42 ปี

    อวัยวะที่นำมาปลูกถ่ายดังที่กล่าวนี้ได้มาจากผู้บริจาค 2 ประเภท คือ ผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว

    "ผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่" มักเป็นการบริจาคอวัยวะที่มีสองข้าง เช่น การบริจาคไต 1 ข้าง ซึ่งผู้ให้กับผู้รับบริจาคจะต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เช่น แม่ให้ลูก พี่ให้น้อง หรือหากไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดจะต้องเป็นสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาไม่น้อยกว่า 3 ปี

    ส่วน "ผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว" มักได้จากผู้เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตาย โดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย จะเป็นหน่วยงานที่เป็นสื่อกลางและดำเนินกระบวนการบริจาคอวัยวะระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาค

    ปัจจุบันมีผู้ป่วยในระยะสุดท้ายอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ทนทุกข์ทรมานจากการที่อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ตับ ไต ปอดฯลฯ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งการรักษาผู้ป่วยเหล่านั้นที่ดีที่สุดคือ การปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ด้วยอวัยวะของผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายมีชีวิตอยู่ เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมต่อไปได้

    อวัยวะเป็นสิ่งที่มีค่าแต่ไม่ควรมีราคาโดยการซื้อขาย หากแต่สามารถร่วมทำบุญด้วยการบริจาค ซึ่งเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ไม่มีการทำบุญทำทานอย่างอื่นมาเทียบได้

    ---------------------------------
    ที่มา:มติชน
    http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra04150150&day=2007/01/15
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย



    เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรอคอยรับน้ำใจที่มนุษย์มีต่อมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนได้ทำความดีแม้ในยามที่ชีวิตสูญเสียไปแล้ว

    ศูนย์รับริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย มีนโยบายหลักในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการบริจาคอวัยวะให้มากเพียงพอต่อการปลูกถ่ายภายในประเทศ และจัดสรรอวัยวะที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาอย่างเป็นกลางเสมอภาคถูกต้องตามหลักวิชาการ

    โดยไม่มีการซื้อขายและให้ได้รับประโยชน์สูงสุดต่อการนำอวัยวะต่างๆ ไปใช้ รวมถึงการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะและประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะกับสถาบันต่างๆ

    ผู้ที่สามารถบริจาคอวัยวะได้ต้องมีข้อกำหนดคือ อายุไม่เกิน 60 ปี ต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย ด้วยสาเหตุต่างๆ ปราศจากโรคติดเชื้อและโรคมะเร็ง

    ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคตับ และไม่ติดสุรา

    อวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายต้องทำงานได้ดีปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิด บี ไวรัสเอดส์ ฯลฯ

    ในช่วงระยะเวลา 11 ปี ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายและญาติลงนามยินยอมบริจาคอวัยวะให้สภากาชาดไทยจำนวน 605 คน ซึ่งสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับอวัยวะได้ทั้งหมด 2,111 คน

    โดยแยกเป็นไต 1,086 คน ตับ 177 หัวใจ 58 คน หัวใจและปอด 30 คน ปอด 22 คน ลิ้นหัวใจ 248 คน กระดูก 32 คน

    สำหรับผู้ที่ต้องการแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ สามารถติดต่อได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 1666 และ 0-2256-4045-6 เพื่อแจ้งชื่อที่อยู่ให้เจ้าหน้าที่ส่งแบบฟอร์มผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไปให้ท่านถึงบ้านโดยทางไปรษณีย์

    หรือหากสะดวกเดินทางมาเองที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวรฯ ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ เขตปทุมวัน กทม.


    --------------------------
    Ref. http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra05150150&day=2007/01/15
     
  3. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    อนุโมทนาสาธุ....ด้วยจ๊ะ
     
  4. sithiphong

    sithiphong เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    45,445
    ค่าพลัง:
    +141,948
  5. winbin

    winbin สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    6
    ค่าพลัง:
    +15
    กระผมได้บริจาคทั้งร่างกายแล้วอย่างมีความสุขที่สุดในชีวิต
    แต่ว่าเราจะได้บุญหรือไม่ ในเมื่อเรายังไม่ตายและอวัยวะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์
    กรุณาช่วยตอบทีเถิดนะขอรับ.....
     
  6. jip26565

    jip26565 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    56
    ค่าพลัง:
    +231
    อยากลงนามบริจาคบ้างแต่ยังเด็กอยู่อ่ะ 15ปีเอง แต่ก็คิดอยู่ตลอดนะว่าตัวเองอาจจะตายตอนไหนก็ได้ แต่ยังอยากอยู่สร้างกุศลเยอะๆก่อน
     
  7. TIP..PPP

    TIP..PPP Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    12
    ค่าพลัง:
    +38
    บริจาค ดวงตา แล้ว ทั้งครอบครัว 5 คน
    บริจาค เป็น อาจารย์ ใหญ่ ตั้งแ 2540
    บริจาคโลหิต ทุก 3 เดือน
    1-10-2551 บริจาค รอบ 17 แล้ว มีความสุข ที่ได้ ทำ

    ผู้ให้ ของดี ย่อมได้ ของดี
    ผู้ให้ ของเลิศ ย่อมได้ ของเลิศ
     

แชร์หน้านี้

Loading...