เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 6 เมษายน 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ เป็นวันที่ระลึกจักรีบรมราชวงศ์ อาตมภาพในฐานะพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และส่วนหนึ่งของพสกนิกรไทย ขอน้อมถวายกุศลจากทาน จากศีล จากภาวนา ที่สมสร้างมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ แด่พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันทุก ๆ พระองค์ ขอทรงสถิตอยู่ในสิริราชสมบัติตามภพภูมิแห่งตน และเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกพระองค์ด้วยเทอญ

    สำหรับวันนี้ เมื่อพระภิกษุภายในวัดได้ส่งภาพการนำสามเณรภาคฤดูร้อนการทำกิจกรรมต่าง ๆ มาให้ กระผม/อาตมภาพได้ส่งภาพหนึ่งย้อนกลับไป ก็คือภาพที่พระซึ่งเป็นวิทยากร อยู่ในห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารของวัดท่าขนุน กำลังบรรยายเรื่อง "โทษของยาเสพติดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง" แก่เหล่าสามเณร แต่ว่าพระท่านเอามือข้างหนึ่งค้ำอยู่กับตั่งที่ตนเองนั่ง ซึ่งถ้าหากว่าเรื่องนี้ ส่วนของเสขิยวัตร จะมีกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนว่า "เราจะไม่เอามือค้ำกายเมื่อเข้าไปในบ้าน" "เราจะไม่เอามือค้ำกายเมื่อนั่งอยู่ในบ้าน"

    เรื่องนี้จะว่าไปแล้ว ก็ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่พระท่านกระทำ เพราะว่าท่านเอามือค้ำอยู่ในห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร แปลว่าท่านกระทำอยู่ภายในวัด แต่เนื่องจากว่าในเรื่องของศีลนั้น เราจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง ถ้าหากว่ามีสติถึงขนาดว่า เราทำสิ่งนี้ในวัดแล้วไม่ผิด เราทำสิ่งนี้ในบ้านถึงจะผิด ถ้าอยู่ในลักษณะแบบนั้น ก็ถือว่าหลอกลวงชาวบ้าน ตรงกับภาษิตไทยที่ว่า "ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก"

    หรือว่าไปค้านกับบาลีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า "ยถาวาที ตถาการี พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ยถาการี ตถาวาที ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น" ก็คือไม่มีนอกไม่มีใน ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดก็กระทำเหมือนกัน

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เรื่องนี้กระผม/อาตมภาพจึงได้ว่ากล่าวตักเตือนไป เพราะว่าถ้าเราไปประมาทว่าเรื่องนี้อยู่ในวัดแล้วเราทำได้ เมื่อถึงเวลาเข้าไปในบ้าน ด้วยความเคยชินเราก็อาจจะพลาดได้ สิ่งหนึ่งประการใดที่เรากระทำแล้ว ขาดความละเอียด ขาดความรอบคอบ นอกจากจะทำให้เสียศีลแล้ว ยังทำให้เสียธรรมด้วย คำว่า "เสียศีล" ในที่นี้ก็คือเราพลาด ทำให้ต้องอาบัติได้ แสดงออกถึงจิตของตนที่ยังหยาบอยู่

    คำว่า "เสียธรรม" ในทีนี่ก็คือ ในเมื่อสภาพจิตของเรายังหยาบอยู่ ก็ไม่คู่ควรกับการรองรับธรรมะที่ละเอียดขึ้นไป จึงกลายเป็นเรื่องที่อยู่ในลักษณะของ "งูกินหาง" ก็คือถ้าหากว่าศีลไม่ดี สมาธิก็ไม่ทรงตัว ในเมื่อสมาธิไม่ทรงตัว สติไม่ตั้งมั่น ความรอบคอบที่จะระมัดระวังในเรื่องของศีลก็ไม่มี
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เราท่านทั้งหลายจะเห็นว่า อย่างในปัจจุบันนี้บางทีสิ่งที่พระสงฆ์บางรูปท่านทำ ก็ไม่ได้คำนึงถึงสมณสารูป อย่างเช่นเมื่อวานนี้ มีคลิปหนึ่งที่พระสงฆ์ท่านขับรถยี่ห้อดาวสามแฉกออกบิณฑบาต แล้วก็ไปพูดกับชาวบ้านว่า "อาตมภาพรวย ขับรถได้" ซึ่งเรื่องนี้ถ้าหากว่าจะปรับอาบัติกัน ก็สามารถที่จะปรับได้อย่างแน่นอน เพราะว่าอันดับแรกเลย ก็คือ "กระทำอาการประหนึ่งฆราวาส" ประการที่สองก็คือ "ไม่เอื้อเฟื้อในพระวินัย"

    ส่วนในเรื่องของกฎหมายนั้น ท่านก็ห้ามพระขับรถอยู่แล้ว ถามว่ามีกฎหมายข้อไหนห้ามพระขับรถ ? ก็คือมติของมหาเถรสมาคม ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าห้ามพระภิกษุสงฆ์ขับรถ ในเมื่อเป็นมติของมหาเถรสมาคม แปลว่าต้องบังคับใช้ในหมู่พระสงฆ์ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายส่วนหนึ่งนั่นเอง

    ในเมื่อเป็นเช่นนี้ก็แปลว่า ท่านนอกจากจะขาดความระมัดระวังในศีลแล้ว ยังไปล่วงเอากฎหมายเข้าไปอีก กลายเป็นโลกวัชชะ ก็คือผิดศีลแล้วยังโดนโลกติเตียนอีกด้วย แต่ท่านเองอาจจะไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นความผิด ประมาณว่าในเมื่อเรามีรถดี ๆ ราคาแพง เราก็อยากที่จะขับออกไปอวดชาวบ้านเขา..!

    ตรงจุดนี้ท่านกำลังวางตนผิดไปจากหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องเพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางฐานะของพระภิกษุไว้ในฐานะของผู้ขอ ก็แปลว่ามีสถานภาพเดียวกับขอทาน ขอทานนั้นจะต้องต่ำต้อย ลำบากยากจน คนถึงจะสงสารและอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้ ถ้าหากว่าเป็นขอทานแล้วทำตัวอวดร่ำอวดรวย คาดว่าคงไม่มีใครอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้ ดีไม่ดีก็จะพาให้พรรคพวกอดอยากไปด้วย เพราะชาวบ้านจะเหมารวมกันว่าพวกเดียวกัน..!

    ส่วนอีกรายหนึ่งนั้น จิตหยาบหนักกว่านั้นเข้าไปอีก ก็คือมีการทำน้ำอสุจิให้เคลื่อนโดยเจตนา ก็คือสำเร็จความใคร่ให้กับตัวเอง ถ้าแค่นั้นยังถือว่าโทษหนักสาหัสแล้ว ท่านยังมีโทษหนักเข้าไปอีก ก็คือถ่ายคลิปเอาไว้ แล้วยังส่งไปให้คนอื่นเขารู้เห็น เมื่อถึงเวลามีผู้เข้าไปสอบถาม ท่านก็ยังเถียงอีกว่ามีใครที่ไม่เคยทำบ้าง ?

    ในลักษณะนี้ นอกจากท่านจะล่วงอาบัติหนักแล้ว สภาพจิตของท่านยังหยาบหนา ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นความผิด โดยเฉพาะผิดในอาบัติหนัก ที่ถึงขนาดขาดความเป็นพระชั่วคราว จนกว่าจะได้รับการลงโทษ ที่เรียกได้ว่าอยู่ปริวาส ครบถ้วนตามจำนวนที่พระวินัยกำหนดเอาไว้แล้ว ต้องมาขอให้พระสงฆ์อย่างน้อย ๒๐ รูป สวดคืนความเป็นพระให้ ท่านถึงจะกลับคืนเป็นพระมาอีกครั้งหนึ่ง
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    แล้วในส่วนที่ท่านทำนั้น ยังมีการถ่ายคลิปแล้วไปโพสต์ลงโซเชียล ในลักษณะอวดวีรกรรมของตนเองอีกต่างหาก ถ้าหากว่าพระพุทธศาสนาของเรามีแต่บุคคลที่จิตหยาบในลักษณะแบบนี้ โอกาสที่ท่านทั้งหลายจะเข้าถึงธรรมในส่วนที่ละเอียดนั้นย่อมไม่มี

    ดังนั้น..ในส่วนของอาบัติ หรือว่าการละเมิดศีลของพระ จึงไม่มีคำว่าเล็กน้อย เนื่องเพราะว่าอันดับแรก ถ้าเรายังละเมิดศีลอยู่ ต่อให้เป็นอาบัติเล็กน้อยขนาดไหนก็ตาม แปลว่าสภาพจิตของท่านหยาบ ไม่สามารถที่จะรองรับหลักธรรมที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้นได้

    ถ้าทุกท่านพิจารณาดูจะเห็นว่า แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะตรัสกับพระอานนท์เอาไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย พระสุตตันปิฎกว่า "อานันทะ ดูก่อนอานนท์ สืบต่อไปในกาลเบื้องหน้า หากสงฆ์พึงหวัง จักสวดถอนสิกขาบทเล็กน้อยบางสิกขาบท ที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย ก็สามารถที่จะทำได้"

    แต่ว่าในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก บรรดาพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปเถรเจ้าเป็นประธานในการทำสังคายนา พิจารณาแล้วให้คงเอาไว้ทุกสิกขาบทครบถ้วนสมบูรณ์ ก็คือศีลทุกข้อที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดเอาไว้ว่า เรื่องนี้ห้ามทำ เรื่องนี้ต้องทำนั้น ถือว่าสำคัญทุกข้อ

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า
    ในสภาพจิตที่ละเอียดของพระอรหันตเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ท่านไม่เห็นเลยว่ามีสิกขาบทใดเล็กน้อย เนื่องเพราะว่าทุกสิกขาบทล้วนแล้วแต่สำคัญทั้งสิ้น ก็คือถ้าไม่ใช่สำคัญต่อคณะสงฆ์ เพราะว่าล่วงละเมิดแล้ว ทำให้พระธรรมวินัยนี้เศร้าหมอง ทำให้คนขาดความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา แล้วทำให้คนไม่ศรัทธา ไม่เข้ามาค้ำจุนพระพุทธศาสนา จนกระทั่งพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ไม่ได้ หรือกลายเป็นว่าสิกขาบทนั้น เมื่อล่วงละเมิดแล้ว แสดงออกถึงสภาพจิตที่ยังหยาบอยู่ของผู้ล่วงละเมิด ย่อมทำให้ไม่สามารถเข้าถึงธรรมในส่วนที่ละเอียดได้

    ในเมื่อท่านทั้งหลายพิจารณามาถึงตรงจุดนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า คำว่าสิกขาบทก็คือศีลต่าง ๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง ไม่มีคำว่า "ต่อหน้าทำอย่างหนึ่ง ลับหลังทำอย่างหนึ่ง" ไม่มีคำว่า "จงทำตามในสิ่งที่ข้าพเจ้าพูด แต่อย่าทำตามในสิ่งที่ข้าพเจ้าทำ" หรือไม่มีคำว่าเล็กน้อยนั่นเอง
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,394
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,530
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าท่านทั้งหลายเคยฟังสิ่งที่กระผม/อาตมภาพพูดมานานแล้ว หลายต่อหลายวาระด้วยกัน ก็จะได้ยินกระผม/อาตมภาพบอกว่า "ท่านทั้งหลายต้องปฏิบัติในศีล จนกระทั่งถึงระดับที่ขยับตัว ก็รู้ว่าเราจะศีลขาดหรือไม่ ถึงจะใช้ได้"

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้นก็แปลว่า สิ่งที่พระท่านทำนั้น แม้ว่าจะไม่ต้องอาบัติ ไม่ผิดศีล ยกเว้นว่าไปทำในบ้าน หรือว่าไปนั่งในบ้าน แต่ว่าสิ่งที่ท่านทำนั้น จะเป็นโอกาสให้ท่านพลาดได้ในครั้งหน้า หรือว่าในโอกาสหน้า ถ้าท่านไปในบ้านแล้วทำเช่นนั้น ก็แปลว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ต่อไปต้องระมัดระวังให้มากกว่านี้

    แม้แต่ญาติโยมทั้งหลายก็ตาม ถ้าหากว่าท่านปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา เพื่อหวังความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม หวังให้สภาพจิตของตนละเอียดยิ่งขึ้น เข้าถึงธรรมในส่วนที่ละเอียดมากขึ้น ท่านทั้งหลายต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง อย่าให้ละเมิดศีล โดยเฉพาะในส่วนของศีล ๕ นอกจากเราจะไม่ละเมิดด้วยตนเองแล้ว ยังต้องระมัดระวังไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดในศีลทั้ง ๕ ข้อ

    และขณะเดียวกัน ถ้าเราระมัดระวังรักษาไม่ให้ผิดพลาดด้วยตนเอง ระมัดระวังไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเกิดความผิดพลาดไปละเมิดศีลทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ท่านยังต้องระมัดระวังอีกว่า เมื่อเห็นผู้อื่นกระทำแล้ว เราไม่ยินดีด้วย ถ้าสามารถทำได้ดังนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีศีลสิกขานั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์


    อย่าลืมในสิ่งที่กระผม/อาตมภาพบอกว่าสิกขาบทนั้น ก็แปลว่าข้ออื่น ๆ ถ้าหากว่าท่านยังมีส่วนในการละเมิดลักษณะนี้ ก็แปลว่าศีลของเรายังไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ถ้าอย่างนั้นการก้าวขึ้นสู่ความเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้น ก็คือพระโสดาบัน ก็ไม่อาจเกิดขึ้นกับท่านทั้งหลายได้

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...