เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 1 มีนาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ของพวกเราที่มีนาคเพิ่มเข้ามานั้น ความจริงเขาจะบวชกันเอง แต่กระผม/อาตมภาพเป็นคนไม่ค่อยมีเวลา แม้แต่การนั่งพระอุปัชฌาย์ที่เขาถือว่าเป็น "ช่องทางทำเงิน" ก็ไม่เคยรับกับใครเหมือนกัน เพราะว่าส่วนใหญ่ก็บวชให้ฟรี ก็เลยขอให้ไปบวชพร้อมกันในวันที่ ๖ มีนาคมนี้ทีเดียว

    ดังนั้น..การอุปสมบทหมู่เพื่อปฏิบัติธรรมช่วงสัปดาห์วันมาฆบูชาของพวกเรา มีนาครวมกับสามเณรแล้ว ๑๒ รูป แบ่งได้ ๔ ชุดพอดี แต่คราวนี้นาคเมื่อจับคู่เข้าไปแล้ว ต้องซักซ้อมในระหว่างชุดของตนเองให้คล่องเข้าไว้ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วพอถึงเวลารวมกันทีเดียว ๑๐ กว่าราย เรามักจะว่าได้คล่อง แต่พอเหลือ ๓ คน ใครสะดุดสักคนหนึ่ง อีก ๒ คนก็มักจะร่วงไปด้วย..!

    แบบเดียวกับการสวดมนต์ทำวัตรของพวกเรา ที่กระผม/อาตมภาพเคยเน้นว่าให้ทุกคนว่าจนได้คล่องตัวด้วยตนเอง เพราะว่าถ้าคนอื่นสวดผิด เราจะไม่ล่มตามเขาไปด้วย แต่ถ้าไม่สามารถว่าให้คล่องได้ด้วยตนเอง ถึงเวลาคนอื่นสวดผิด เราที่ไม่มีความมั่นใจก็จะล่มตามเขาไปด้วย อย่าคิดว่าเรื่องของการสวดมนต์ล่มจะมีแค่ระดับพวกเรา ขนาดวัดใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ก็ยังล่มมาแล้ว

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ทุกคนขาดสติในระหว่างที่สวดมนต์ เมื่อว่าคล่องปากตามกันไปก็พอไปได้ แต่พอมีใครสะดุดหรือว่าผิดแม้แต่คนเดียว ที่เหลือก็พลอยร่วงกันหมด..!

    นาคของพวกเราเมื่อรวมเข้าชุดละ ๓ รูปแล้ว ก็ให้ซักซ้อมระหว่างชุดให้คล่อง แล้วก็อย่าลืมซ้อมรวมทั้ง ๑๒ รูปด้วย เพราะว่ามีบางขั้นตอนที่เราต้องว่าพร้อมกัน ยกเว้นสามเณรที่จะไปเริ่มในการ "ขอนิสัย" เลยเพราะว่าเป็นสามเณรแล้ว ก็ถือว่าเบาแรงไปเยอะ

     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    คราวนี้ก่อนที่จะถึงเวลาบวช นาคทั้งหลายก็จะต้องตามพระออกบิณฑบาต อันดับแรกเลยก็คือ เดินเท้าเปล่าให้เคยชิน อันดับที่สอง พูดแบบไม่น่าฟัง ก็คือให้รู้ว่าทำมาหากินทางไหนบ้าง อันดับที่สามก็คือ ดูความคล่องตัวในการทำงานของพวกเรา สิ่งที่ทุกคนทำจะอยู่ในสายตาของครูบาอาจารย์ ตลอดจนกระทั่งพระรุ่นพี่ อย่างวันนี้ที่พวกเราไปเดินบิณฑบาตกับพระ ต่อให้โง่ขนาดไหนก็ต้องมองเห็นว่าพระเดินเป็นแถวเดียวกัน แต่ว่านาคเดินกระจัดกระจายไปหมด แค่เดินเข้าแถวตามกันนั้นลำบากมากใช่ไหม ?

    แล้วการเก็บกับข้าวที่ญาติโยมเขาใส่บาตร ให้รู้จักใช้ไหวพริบของตนเองด้วยว่าเก็บอย่างไรที่จะไม่ขวางการใส่บาตรของคนอื่น หรือว่าถ้าหากว่าพระท่านเดินต่อแล้วเราจะเก็บได้สะดวก ไม่ใช่ถึงเวลาก็เอื้อมผ่านหน้าโยมที่กำลังใส่บาตรอยู่ ทำให้เขาใส่บาตรไม่ได้ แล้วจากการที่พวกเราส่วนใหญ่ลงไปเดินบนพื้นผิวจราจร คือบนถนน มั่นใจได้เลยว่าไม่เคยขับรถยนต์กัน เพราะว่าถ้าคนที่เคยขับรถยนต์ จะรู้ว่าที่เราลงไปเดินนั้นสร้างความลำบากให้กับคนขับขนาดไหน ?!

    ถนนในอำเภอทองผาภูมิเป็นถนนที่ทั้งแคบและเล็ก เพราะว่ามาทีหลังบ้านเรือน ไม่สามารถที่จะขยายได้อีกแล้ว เมื่อคนขับรถขับมาแล้วเราเดินอยู่ ในสายตาของเราก็คือห่างจากรถตั้งเยอะ แต่คนขับรถเขาจะมีมุมอับที่มองไม่เห็น ทำให้รู้สึกเหมือนอย่างกับว่าขับติดกับตัวเราหรือว่าอาจจะชนเราเข้า กลายเป็นว่าพวกเราไปเดินเกะกะเต็มถนนไปหมด ทำให้คนอื่นเขาขับรถลำบาก
    บาทวิถีเขาก็มีให้ ถ้าหากว่าเดินตามกันไปก็จบแล้ว
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    พอถึงเวลาก็คอยดูไว้ ถ้ามีญาติโยมจะใส่บาตร คนหน้าสุดที่ต้องทำหน้าที่รับก็ตรงเข้าไปได้เลย ที่เหลือก็เดินแถวไปตามปกติ พอคนหน้าสุดรับเสร็จก็ไปต่อท้าย คนที่สองก็ขึ้นมารอจังหวะกันใหม่ ก็จะดูเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ไม่ใช่เหมือนทหารแตกทัพอย่างเมื่อเช้านี้..!

    การที่เรามาบวช เพื่อที่จะขัดเกลา กาย วาจา และใจ ของเราให้ดีกว่านี้ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นเรื่องที่เราต้องฝึกหัดทั้งนั้น ไม่ใช่อยากสบายทำอะไรตามใจตัวเอง ถ้าหากว่าอยากทำอะไรตามใจตัวเองก็กลับบ้านไป..ไม่ต้องมาบวช..!

    เรื่องง่าย ๆ ที่ดูเหมือนกับ "หญ้าปากคอก" แต่กลายเป็นเรื่องยากของพวกเรา เพราะว่าสองสาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกก็คือขาดปฏิภาณไหวพริบอย่างแรง ไม่รู้ว่าควรที่จะทำตัวอย่างไร ประการที่สองก็คือ ทำอะไรตามสบายด้วยความเคยชิน ซึ่งความเคยชิน ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมก็คือ "ทรงฌานสมาบัติ" แต่ความเคยชินของชาวบ้านคือ "สันดานเสีย" ทำอะไรตามใจตนเองอยู่ตลอดเวลา พอมาโดนตีกรอบเข้าก็อกจะแตกตาย..!

    นี่ยังไม่ใช่เรื่องที่พวกเราจะลำบากใจในขณะที่บวช บวชเข้ามาแล้วจะลำบากใจมากกว่านี้อีก เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราเคยทำได้ตอนเป็นฆราวาส จะโดนตีกรอบด้วยศีลของพระ กระผม/อาตมภาพเคยเปรียบเทียบว่า ชีวิตฆราวาส ถ้าเปรียบกิเลสเป็นเสือตัวหนึ่งในป่า เราเดินเข้าป่าไปบางทีทั้งปีก็ไม่เจอเสือ แต่ชีวิตของความเป็นพระ เขาเอาเสือตัวนั้นขังไว้ในกรงแคบ ๆ กับเรา เสือก็จะฟัดเราอยู่ทุกวัน เพราะว่าขยับไปทางไหนก็ผิด จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้สติ สมาธิ และปัญญาเป็นอย่างสูง ว่าทำอย่างไรที่เราจะรักษาศีลของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้

    เป็นเรื่องที่นาคทั้งหลายเมื่อบวชเข้ามาแล้วต้องปรับตัวกันเอง ต้องพยายามระมัดระวังจนตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับศีล จะคิดเมื่อไร จะพูดเมื่อไร จะทำเมื่อไร แค่ขยับตัวก็รู้แล้วว่าศีลจะขาดหรือไม่ ? ถ้าลักษณะนั้นถึงจะเอาตัวรอดได้ แต่ก็ยังไม่แน่ว่าพอ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ระดมเข้ามาแล้วเราจะอยู่ได้ไหม ?
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,373
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ดังนั้น..สมัยก่อนจึงนิยมว่า "ให้บวชก่อนเบียด" ก็คือบวชแล้วค่อยไปแต่งงานมีครอบครัว แล้วการบวชสมัยก่อนก็นิยมบวชเอาพรรษา เพราะว่าการที่เราต้องอดทนอดกลั้นอยู่ในกรอบ อยู่ในระเบียบตลอดระยะเวลาหนึ่งพรรษา ถ้าสามารถผ่านพ้นไปด้วยดี เขาจึงจะเชื่อว่าเรามีวุฒิภาวะและความอดทนอดกลั้นเพียงพอที่จะมีครอบครัวได้

    ในสมัยที่กระผม/อาตมภาพยังเด็กอยู่ ถ้าคนไหนไม่บวช ก็คงได้แต่ไปขอเมียต่างบ้านต่างเมืองโน่น คนหมู่บ้านเดียวกัน ตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน ไม่ต้องไปหวัง เขาใช้คำว่า "คนดิบ" ก็คือยังไม่สุกพอที่เขาจะยกลูกยกเมียให้ไปดูแล

    เรื่องของการที่พวกเรามาฝึกฝนตนเอง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพบกับการกระทบกระทั่งอยู่ตลอดเวลา ใหม่ ๆ ก็เหมือนกับสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ โยนโครมลงไปก็ตายนิ่งอยู่ตรงนั้น เราต้องค่อย ๆ ขัดเกลาตัวเอง จนกระทั่งเหลี่ยมมุมเล็กลงไปเรื่อย ๆ ถ้าสามารถขัดจนกระทั่งกลายเป็นกลมเกลี้ยง กลิ้งไปทางไหนก็ได้ ถ้าอย่างนั้นถึงจะถือว่าใช้ได้ เพียงแต่ว่าของเรามีศีลเป็นกรอบ กลิ้งไปถึงกรอบก็กลับมาเสียดี ๆ ละเมิดกรอบเมื่อไร ความซวยจะมาเยือน..!

    ในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือว่าเป็นพระภิกษุสามเณรก็ตาม ทำอย่างไรที่เราจะรักษาใจของตนเองให้ได้เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัวหรือใบบอน ไม่ว่าจะกลิ้งไปมุมไหนก็ไม่ได้ติดอยู่เลย เป็นเรื่องที่พวกเราต้องหามุม หาที่ หาทาง เข้าถึงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ประมาณว่า "วางได้ก่อนก็สบายก่อน" แต่อย่าไป "วางใส่หัวคนอื่น" ต้องระมัดระวังอยู่เสมอว่า กาย วาจา ใจ ของเราจะเป็นทุกข์เป็นโทษแก่คนอื่นเขาหรือเปล่า ? ยิ่งถ้าใครมีเป้าหมายว่าบวชแล้วจะอยู่นาน ก็ยิ่งต้องขัดเกลาตนเองให้ดีที่สุด

    เคล็ดลับอยู่ตรงคำว่า "ธรรมดา" กระทบกระทั่งกับใครก็ตาม ให้รู้สึกทันทีว่าธรรมดาของการเกิดมาต้องเจอกับเรื่องอย่างนี้ หรือถ้าหากว่ายังโกรธอยู่ ก็ธรรมดาที่กูเกิดมาเจอกับมึง จึงต้องเจอเรื่องอย่างนี้ ทำอย่างไรให้ลงคำว่าธรรมดาให้ได้ ถ้าสามารถเข้าถึงคำว่าธรรมดาได้ สามารถเป็นได้ตั้งแต่ปุถุชนยันพระอริยเจ้าเลย..!

    เพียงแต่ว่าธรรมดาของแต่ละระดับนั้นไม่เท่ากัน ธรรมดาของปุถุชนอาจจะอยู่ระดับแค่นี้ ของกัลยาณชนสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ของอริยชนสูงขึ้นไปกว่านั้นอีก จนกระทั่งของพระอรหันต์ ถึงจะธรรมดาจริง ๆ เพราะว่าวางทิ้งหมดทุกอย่างแล้ว

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...