เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 26 พฤษภาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ งานสำคัญในวันนี้ก็คือไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล เนื่องในโอกาส ๙๙ ปีวันอาภากร ที่พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปเป็นองค์ประธาน

    บรรดาพระเถระที่เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกทั้ง ๘ รูปก็ล้วนแล้วแต่คุ้นเคยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะท่านเจ้าคุณหลวงตา (พระราชภาวนาพัชรญาณ วิ.) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสระบุรี เจ้าอาวาสวัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) หรือว่าพระครูปลัดสมนึก สุธมฺมถิรสทฺโธ เจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) ซึ่งเป็นพระพี่พระน้องเกิดมาจากโบสถ์เดียวกัน

    อีกหลายท่านที่รู้จักมักคุ้น เพราะว่าออกงานทีไรก็เจอกัน อย่างเช่นท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิสุทธิโสภณ วิ. หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันในนามหลวงพ่อสุรศักดิ์ วัดประดู่ (พระอารามหลวง) หรือว่าท่านพระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (หลวงพ่ออิฏฐ์) วัดจุฬามณี เป็นต้น

    งานนี้ที่ไปพุทธาภิเษกนั้น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อมฺพรมหาเถร) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ การพุทธาภิเษกวัตถุมงคลก็เป็นไปตามปกติ คือว่า ถ้าพระท่านสงเคราะห์ และไม่ใช่วัตถุมงคลที่ออกนอกพระพุทธศาสนาไปไกล ก็จะใช้เวลาไม่มาก


    เมื่อเป็นเช่นนั้น กระผม/อาตมภาพจึงเป็นรูปแรกที่กราบลาพระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถ และบอกกล่าวกับหม่อมราชวงศ์จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานกรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากร ว่าขออนุญาตเดินทางไปพิธีปิดการอบรมเจ้าอาวาสใหม่ที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ซึ่งคุณหญิงท่านก็ยังปรารภว่า "ไกลอยู่นะคะ"

    ต้องบอกว่าการออกก่อนเวลานั้น ท่านที่เข้าใจว่า ถ้าหากว่าพระท่านอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้เต็มที่แล้ว ก็เหมือนกับน้ำเต็มแก้ว เติมเท่าไรก็ไม่ลง นั่งต่อไปก็ไร้ประโยชน์ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ถ้าหากว่าเป็นท่านที่ไม่เข้าใจ ก็จะเห็นว่ากระผม/อาตมภาพนั้นเสียมารยาท ขณะที่ท่านอื่นยังนั่งสงบนิ่งอยู่ แต่เรากราบลาพระออกจากงานมาเสียแล้ว ก็เป็นเรื่องของนานาจิตตัง
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    เมื่อไปร่วมพิธีปิดการอบรมเจ้าอาวาสใหม่ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่อบรมที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ต้องถือว่าเจ้าอาวาสรุ่นนี้โชคดีมาก เพราะว่ามาเป็นรุ่น ๑ ของคณะสงฆ์ภาค ๑๔
    ก่อนหน้านี้การอบรมเจ้าอาวาสใหม่นั้น ถ้าหากว่าเป็นของคณะสงฆ์หนกลาง ๒๐ กว่าจังหวัด จะรวมกันไปอบรมที่ศาลาอบรมสงฆ์วัดสามพระยาวรวิหาร ซึ่งการอบรมนั้นก็เป็นมายาวนานหลายสิบปี จนกระทั่งมามีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ต่างภาคต่างหาก็ต้องสถานที่อบรมของตนเอง

    ทางวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) นั้น เมื่อพระเดชพระคุณพระเทพศาสนาภิบาล (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค ๑๔ ท่านก็เริ่มจัดอบรมที่วัดของท่านเอง ซึ่งเป็นความสะดวกด้วยประการทั้งปวง เพราะไม่ว่าจะสิ่งหนึ่งประการใด วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ก็ล้วนแล้วแต่มีพร้อมสมบูรณ์ทั้งสิ้น ก็เหลืออยู่อย่างเดียวคือว่า จะได้รับความร่วมมือจากทางคณะสงฆ์และหน่วยราชการต่าง ๆ แค่ไหน ?

    แต่ปรากฏว่าหลวงพ่อแย้มของเราท่านทำได้ดีเหลือเกิน คือสามารถดึงเอาคณะสงฆ์ทุกระดับชั้น ตลอดจนกระทั่งหน่วยราชการทุกหน่วย โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาทั้ง ๔ จังหวัด ก็คือ นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และ สมุทรสาคร มาได้โดยพร้อมเพรียงกัน

    เมื่อเสร็จจากพิธีปิด ซึ่งมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช ป.ธ.๖) เจ้าคณะใหญ่หนกลางเป็นประธานแล้ว กระผม/อาตมภาพก็เดินทางกลับที่พัก แต่ไม่ได้กลับเฉย ๆ เป็นการกลับมาโดยการเข้าร่วมงานสัมมนา ผ่านระบบ Zoom Meeting Online
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ตรงจุดนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่ากระผม/อาตมภาพเหน็ดเหนื่อยมาตั้งแต่เช้าจนบ่าย แล้วยังมีกำลังใจที่จะมาเข้างานอบรมอยู่อีกหรือ ? ก็ขอยืนยันว่าเรื่องแค่นี้เป็นเรื่องเล็ก เพราะว่างานนี้เป็นโครงการพระสงฆ์ไม่ทิ้งประชาชน ของเพื่อนพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่ง คือหลวงพ่อแดง วัดอินทาราม หรือท่านพระครูพิศิษฎ์ประชานาถ, ดร. ซึ่งท่านเป็นพระเกจิอาจารย์มีชื่อเสียง และได้ศึกษาจนจบปริญญาเอกสาขาเดียวกัน คือการจัดการเชิงพุทธจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยที่กระผมอาตมภาพจบเป็นรุ่นที่ ๒ หลวงพ่อแดงท่านจบเป็นรุ่นที่ ๗ เมื่อท่านมานำในการสัมมนา กระผม/อาตมภาพก็ต้องเข้ามาช่วยกัน

    ถ้าหากว่าบอกว่าช่วยเพื่อน กระผม/อาตมภาพก็ค่อนข้างจะบังอาจอยู่นิดหนึ่ง เพราะว่าหลวงพ่อแดงท่านอายุมากกว่าเป็น ๑๐ ปี แต่ถ้าหากนับในฐานะเพื่อนพระเกจิอาจารย์ หรือว่าเพื่อนในการเรียนปริญญาเอก ต่อให้อายุมากเท่าไร เพื่อนก็ยังคงเป็นเพื่อนอยู่วันยันค่ำ

    แล้วท่านเองท่านก็ยังย้ำในที่ประชุมว่า "กับหลวงพ่อเล็กนี่ ผมคุยด้วยอยู่ทุกวัน" คำว่าคุยด้วยทุกวันก็คือ ต่างคนต่างส่งงานลงในกลุ่มไลน์ ต่างคนต่างส่งงานลงในเฟซบุ๊ก เราคุยกันด้วยงาน งานส่วนไหนของหลวงพ่อแดงที่ท่านทำ แล้วกระผม/อาตมภาพยังไม่ได้ทำ ถ้าเห็นว่าดี มีประโยชน์ต่อชุมชน กระผม/อาตมภาพจะใช้วิธีลัด ก็คือลอกโครงการของหลวงพ่อแดงไปทำเลย

    เพียงแต่ว่าถ้าเป็นการช่วยเหลือประชาชนทั่วไป ในฐานะที่เราเรียน มจร.(มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) มาด้วยกัน สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธเช่นกัน เมื่อต้องไปทำการสาธารณสงเคราะห์ เราจึงนิยมทำในสิ่งที่ผู้รู้ท่านบอกว่า "ส่วนใหญ่รัฐบาลให้ปลา แต่พระราชาของเราให้เบ็ด"

    ก็หมายถึงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ หรือว่าในปัจจุบันนี้ก็คือสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ท่านได้คิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมา สอนให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเอง โดยไม่ต้องแบมือขอคนอื่นอยู่ตลอดเวลา การแบมือขอคนอื่น ถ้าเราหยิบยื่นให้ แม้ว่าจะเป็นการดี แต่ถึงเวลาหมดแล้ว เขาหาเองไม่เป็น ก็ต้องมาขอใหม่
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงแนะนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการพระราชดำริอีกเป็นร้อยเป็นพัน เพื่อให้ประชาชนหรือพสกนิกรของพระองค์ท่านได้เห็นและทำตาม ถ้าเป็นเช่นนั้นเขาทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่ต้องขอใคร แต่หากินเองได้ ดังนั้น...บางคนที่วาจาร้ายหน่อยก็จะบอกว่า "รัฐบาลให้ปลา พระราชาให้เบ็ด" ฟังดูแล้ว "น้ำตาจิไหล..!" แต่กระผม/อาตมภาพก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน เพราะว่าเราเรียนมาตำราเดียวกัน

    ท้ายที่สุดทฤษฏีทั้งหลายทั้งปวงของฝรั่ง ก็สู้หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้แม้แต่กระบวนท่าเดียว แล้วหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่องค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ถอดออกมาเป็นทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นทฤษฎีที่รอบคอบ สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งถ้าว่าไปแล้วก็คือ เหมาะกับภาวะของประเทศชาติในขณะนี้มากที่สุด


    ดูได้จากประชาชนชาวทองผาภูมิ ทุกคนล้วนแต่มีเรือกสวนไร่นาเป็นของตนเอง แม้แต่บุคคลที่มีกิจการร้านค้า ร้านอาหาร ประกอบอาชีพต่าง ๆ อยู่ในตลาด ก็ยังมีเรือกสวนไร่นาของตน ระยะเวลาส่วนหนึ่งก็คือแบ่งไปดูเรือก ดูสวน ดูไร่ ดูนาของตนเอง

    ดังนั้น...ในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ระบาด พี่น้องชาวทองผาภูมิจึงเดือดร้อนกันน้อยมาก เพราะว่าเขาทั้งหลายเหล่านั้นพึ่งพาตนเองได้ ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙

    พี่น้องท่านอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้อาจจะเพิ่งตื่น หรือว่ายังไม่ตื่นก็ตาม ขอให้ท่านรู้ไว้ว่า ในภาวะที่โรคระบาดยังไม่เบาลงสักเท่าไร แล้วโรคฝีดาษลิงก็เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ประกอบกับภาวะศึกสงครามที่มีโอกาสขยายตัวใหญ่ต่อไปข้างหน้า ข้าวของทุกอย่างจะแพงมากขึ้น ตามที่คนโบราณตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "หลังการระบาดของโรค หรือว่าหลังศึกสงคราม จะเกิดข้าวยากหมากแพง" เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าประชาชนไม่มีโอกาสที่จะทำไร่ทำสวน ทำให้ไม่มีผลผลิตออกมาสู่ตลาด
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,374
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,527
    ค่าพลัง:
    +26,366
    ท่านทั้งหลายซึ่งมีที่มีทางของตนเองอยู่ รีบขยับตัวตอนนี้ก็ยังทัน พยายามศึกษาเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ส่วนไหนที่เราพอที่จะนำมาปรับใช้ได้ ให้รีบทำ ถึงเวลาเราจะได้พึ่งพาภายนอกให้น้อยที่สุด พึ่งพาตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    อีกส่วนหนึ่งก็คือ ระยะนี้ทางด้านทองผาภูมิของเรา พืชผักผลไม้เริ่มออกสู่ตลาดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมังคุด เงาะทองผาภูมิ ตลอดจนกระทั่งถึงทุเรียนที่เริ่มปรากฏผลผลิตขึ้นมา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะทุเรียน เราได้รับรางวัลที่ ๑ ในการประกวดทุเรียนโลก ชนะแม้กระทั่งทุเรียนเมืองนนท์ และทุเรียนจันทบุรี ชนะแม้กระทั่งทุเรียนลับแลอุตรดิตถ์

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมีเวลา อีกประมาณ ๒ อาทิตย์ข้างหน้า ในส่วนของทุเรียน ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาด ส่วนมังคุดและเงาะก็น่าจะเริ่มลดน้อยลง เพราะว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมาได้ประมาณ ๑ อาทิตย์แล้ว ลองไปชิมดูว่าเงาะทองผาภูมิที่หน้าตาไม่สวย แต่ว่ารสชาติอร่อยประทับใจนั้นเป็นอย่างไร ทุเรียนทองผาภูมิที่ชนะการประกวดทุเรียนโลกนั้น มีรสชาติเป็นอย่างไร

    ถ้าหากว่าท่านไปในวันเสาร์อาทิตย์อาจจะหาซื้อไม่ได้ เพราะว่าส่วนใหญ่จะโดนพ่อค้าบุกไปเหมาหมดทั้งสวนแล้ว กระผม/อาตมภาพกำลังติดต่อไร่ที่รู้จัก ให้นำเอาผลผลิตมาลงในร้านค้าชุมชน ภายในวันที่ทางด้านเว็บเพจกิฟท์จังพลังเวทย์นำเอาแรลลี่ทัวร์เที่ยวชุมชนยลวิถีไป ซึ่งถ้าหากว่าท่านทั้งหลายที่ไปร่วมงานเที่ยวชุมชนยลวิถี ก็น่าจะมีสิทธิ์ที่ได้ซื้อได้ชิม ในผลผลิตอันมีชื่อเสียงของทองผาภูมิเรานี้

    ดังนั้น...ในวันนี้ที่เหนื่อย หลังจากกลับมาแล้วยังวิ่งไปช่วยงานสัมมนาของหลวงพ่อแดงก็ดี เหตุผลของการที่หลวงพ่อแดงช่วยคนอื่น ด้วยการช่วยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็ดี การที่ชาวทองผาภูมิของเรายืนหยัด ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์รุนแรงมาได้ ด้วยการที่มีเรือกสวนไร่นาของตนเองก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นต้นแบบให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาและปฏิบัติตาม แล้วท่านทั้งหลายจะสามารถพึ่งพาตนเองได้

    ท้ายสุดนี้ กระผม/อาตมภาพขอยกวลีที่หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระบิดาแห่งสหกรณ์ของไทยได้กล่าวเอาไว้ว่า "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาจึงเป็นของจริง" ซึ่งเป็นอมตวาจาที่พิสูจน์ได้ในทุกยุคทุกสมัย เอามาปิดท้ายบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนในวันนี้


    จึงขอเรียนถวายต่อพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...