เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 11 พฤษภาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ จากที่สังเกตการเรียนบาลีของพวกเรามีคำถามน้อย จะถือว่าดีก็ใช่ จะถือว่าไม่ดีก็ใช่ การเรียนบาลีในเบื้องต้นนั้น เขาให้เชื่อไปก่อน เหตุที่ให้เชื่อไปก่อน เพื่อที่ไม่ให้เราฟุ้งซ่านไปคิดมาก จนเสียสมาธิในการจดจำเนื้อหาที่มากมายมหาศาล โดยเฉพาะในส่วนของไวยากรณ์

    แต่คราวนี้ที่ท่านเรียนอยู่วันนี้ก็คือ การแจกอิการันต์ในปุงลิงค์ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ตรงจตุตถีวิภัตติกับฉัฏฐีวิภัตติ หน้าตาจะเหมือนกันทุกประการ ถ้าตรงจุดนี้ท่านทั้งหลายควรที่จะมีคำถามว่า แล้วเราจะแยกแยะออกได้อย่างไร ว่าคำไหนเป็นจตุตถีวิภัตติ (แก่ เพื่อ ต่อ แด่) หรือว่าเป็นฉัฏฐีวิภัตติ (แห่ง ของ เมื่อ)

    ก็คงต้องรอจนพวกเราเรียนไปอีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งเริ่มหัดแปลแล้ว คำแปลมคธเป็นไทยแต่ละอย่าง เราต้องดูบริบทของประโยคนั้น ๆ แล้วถึงจะคาดเดาได้ว่า ควรที่จะเป็นจตุตถีวิภัตติหรือว่าเป็นฉัฏฐีวิภัตติกันแน่ ?

    ดังนั้น...ในเรื่องของการเรียนบาลี จึงเป็นเรื่องที่..อันดับแรกเลยคือ เชื่อตามไปก่อน อันดับที่สองก็คือ ต้องมีความรอบคอบอย่างยิ่ง ในการที่จะต้องดูรูปประโยคให้ออก เพราะว่าบาลีนั้นสามารถตั้งวิเคราะห์ได้ทุกตัว ไม่ใช่คำเดียวโดด ๆ แล้วไม่สามารถที่จะตั้งวิเคราะห์ หรือว่าแปลออกมาเป็นความหมายได้ ก็แปลว่าเราทั้งหลายต้องมีความเพียรในการซักซ้อมทำข้อสอบให้มากเข้าไว้

    อย่าลืมว่า การเรียนบาลีก็คือการทำสมาธิอย่างหนึ่ง สมาธิคือการทำซ้ำ ก็คือการกำหนดลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งอารมณ์ใจของเราปักมั่นอยู่เฉพาะหน้า ทำแล้วทำเล่า ซ้อมแล้วซ้อมอีก เบื่อไม่ได้ หน่ายไม่ได้ จนกว่าที่จะเกิดความเชี่ยวชาญ ซึ่งตรงนี้ท่านใช้คำว่า ทักษะ

    แต่จะว่าไปแล้วทักษะเป็นภาษาสันสกฤต ก็คือเกิดความชำนาญขึ้น ถ้าหากว่าเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Skill ถ้าเป็นบุคคลที่ฝึกฝนในเรื่องของการต่อสู้ หรือว่าเกี่ยวกับนาฏศิลป์ดนตรีต่าง ๆ ก็คือฝึก "แม่ไม้" จนสามารถแปรสภาพเป็น "ลูกไม้" ได้

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นเรื่องที่สืบเนื่องเกี่ยวโยงกันทั้งหมด การเรียนบาลีก็เท่ากับเป็นการทำสมาธิไปในตัว เพียงแต่ว่าเพิ่มการกำหนดจดจำขึ้นมาเท่านั้นเอง หรือถ้าหากว่าไปเปรียบกับกรรมฐานหมวดกสิณ ก็ลักษณะเดียวกับการจดจำภาพกสิณ แต่นี่เรามาจดจำเนื้อหาบทเรียน โดยมีหลักเกณฑ์ว่า ตอนแรกให้เชื่อไปก่อนว่าแปลแบบนี้ หลังจากนั้นเมื่อมีความชำนาญก็จะแปลได้ลึกยิ่งขึ้น แล้วถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว จะแปลได้ตรงตามความเป็นจริงที่สุด
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ในเมื่อเรื่องของสมาธิภาวนาเป็นการทำซ้ำ ท่านทั้งหลายจะเบื่อไม่ได้ จะล้าไม่ได้ พวกเราส่วนใหญ่มีข้อบกพร่องก็คือทำตัวเป็นคนเบื่อง่าย แล้วในเมื่อทำตัวเป็นปลาตายลอยน้ำ เดี๋ยวก็ล้า..หมดกำลังใจที่จะทำต่อ

    ไม่ต้องอะไรมากมาย แค่กรรมฐานช่วงเช้า ถ้าเป็นบุคคลที่ทรงกำลังใจมั่นคงจริง ๆ จะมาก่อนเวลาเสมอ ไม่ใช่กรรมฐานจบแล้วค่อยโผล่มาทำวัตรเช้า หรือไม่ใช่หมดไปตั้งครึ่งตั้งค่อนแล้วค่อยโผล่มา การวัดกำลังใจของตัวเรา แค่นี้ก็จะรู้แล้วว่าเราจะมีความก้าวหน้าในพระพุทธศาสนา หรือว่าท้ายสุดก็กลายเป็นซากศพที่โดนคลื่นซัดสู่ฝั่ง..!
    เพราะว่าในเรื่องของการบรรพชาอุปสมบทนั้น สิ่งทดลองต่าง ๆ ที่มาในรูปลักษณ์ของ รัก โลภ โกรธ หลง แตกแขนงออกไปเป็นล้าน ๆ แบบ ถ้าเราประมาทแม้แต่นิดเดียว ก็จะเปิดโอกาสให้กิเลสทำอันตรายเราได้ แล้วเราก็จะกลายเป็นผู้แพ้ โดนคัดออก..!


    อย่างที่ "หลวงปู่ไดโนเสาร์" ท่านใช้คำว่า "สอบตก" เดี๋ยวพวกท่านก็จะบอกอีกว่า "สอบได้เป็นของตลก สอบตกเป็นของธรรมดา" จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องจริง แต่ว่าสอบตกก็คือพลาด ผิดพลาดตรงไหน ต้องเอามาเป็นบทเรียนแล้วแก้ไข จนกว่าเราจะไม่พลาดอีก เราจึงต้องทำซ้ำแล้ว ๆ เล่า ๆ อยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะเกิดความคล่องตัว สติแหลมคม ปัญญาว่องไว ทำให้รู้ตัวแล้วระงับยับยั้งกิเลสได้ทัน ไม่ใช่ไปเปิดทางให้กิเลสเอง


    อย่างเช่นว่าถ้าเรานอนอยู่ แล้วหมากัดกัน บางทีกระผม/อาตมภาพเองก็เหมือนกับโดนแกล้ง นอนหลับอยู่ เสียงโครม ๆ ๆ ดัง หมาขึ้นไปวิ่งเล่นกันบนแผ่นสังกะสี พอกระผม/อาตมภาพตื่นขึ้นมาก็เลิก แต่ถ้ากระผม/อาตมภาพไม่ลุกขึ้นมาดูก็วิ่งไม่เลิก กระผม/อาตมภาพเคยบอกไว้เสมอว่า มารสามารถใช้คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว ในการทดสอบเรา คนที่เรารักที่สุดจะเป็นคนที่สร้างความสะเทือนใจให้เราได้มากที่สุด[/B]


    แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายรู้จักคิด รู้จักใช้ปัญญา เราจะสรุปลงตรงคำว่า "ธรรมดา" ธรรมดาของหมา ซึ่งไม่รู้เรื่องว่าสิ่งที่ทำเป็นการรบกวนพวกเรา ก็เลยทำไปแบบหมา ๆ ถ้าหมาไม่เห่า หมาไม่ซน จะใช่หมาหรือเปล่า ? ในเมื่อเราเห็นธรรมดาของหมา ว่าปกติของหมาเป็นอย่างนั้น เราก็จะเริ่มวางได้ ไม่ไปแบกเอาไว้ ความโกรธก็จะน้อยลงหรือว่าหมดไปเลย
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    หรือไม่ก็พรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ร่วมกัน ทำสิ่งหนึ่งประการใดไม่ถูกตา ไม่ถูกใจเรา เราก็ไปโกรธ บางคนก็โกรธจนความดันขึ้น ขณะที่อีกฝ่ายไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะว่าท่านทำหน้าที่ไปตามปกติ

    แต่ถ้าเราเห็นคำว่าธรรมดาได้ เราก็จะรู้ว่าธรรมดาของคนที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้น ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจา หรือว่าทางใจ ก่อให้เกิดทุกข์โทษเวรภัยต่อคนอื่น ในเมื่อเขาไม่รู้ว่ากาย วาจา ใจของตนเป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่น คนโง่ขนาดนั้น เราควรที่จะให้อภัยหรือควรจะไปโกรธเขา ?


    คิดเป็น ใจจะสงบ คิดไม่เป็น ใจจะฟุ้งซ่าน เห็นธรรมดาได้ สามารถอาศัยกินไปได้ตลอดชีวิตและกินต่อไปอีกหลายชาติ


    แต่ว่าธรรมดาของบุคคลแต่ละระดับไม่เท่ากัน ปุถุชนเห็นธรรมดาได้ระดับหนึ่ง ก็จะปล่อยวางได้เล็กน้อย กัลยาณชนเห็นได้อีกระดับหนึ่ง ปล่อยวางได้มากขึ้น พระอริยเจ้าแต่ละระดับ ก็ปล่อยวางได้มากขึ้นไปเรื่อยตามลำดับของตน ไปถึงพระอรหันต์ก็ปล่อยวางได้ทั้งหมด ก็ต้องค่อย ๆ ขัดเกลาตัวเราเองไป

    แรก ๆ อย่างหยาบเลย ปล่อยวางได้ยากก็ "ช่างหัวโคตรพ่อโคตรแม่มัน" พอพยายามฝึกฝนขัดเกลา ก็จะปล่อยวางได้มากขึ้น ก็อาจจะเหลือแค่ "ช่างหัวแม่มัน" เพิ่มความพยายามเข้าไปอีกหน่อย เกลาลงไปลึกอีกนิดก็เหลือแค่ "ช่างหัวมัน" ลึกเข้าไปอีกหน่อยก็ "ช่างมัน" ถ้าลึกถึงที่สุดก็เลิกช่าง ในเมื่อไม่มีอะไรให้ช่าง ก็เบา สบาย คนที่ไม่มีอะไรถ่วงแล้วจะไปไหน ? ก็ไปในที่ซึ่งไม่มีอะไรกระทบเราได้เลย


    ดังนั้น...ท่านทั้งหลายต้องพยายามใช้สติ สมาธิ ที่ตนเองมีอยู่ พินิจพิจารณาจนก่อเกิดปัญญา พยายามให้เห็นจริงว่าธรรมดาของโลกเป็นอย่างนี้ แล้วท่านทั้งหลายจะอยู่สุขอยู่เย็นมากขึ้น ถ้าตราบใดที่ยังเข้าไม่ถึง ก็ยังคงต้องดิ้นรนเหมือนกับมดที่อยู่บนกระทะร้อน ๆ ต่อไป

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...