เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 เมษายน 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,736
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,558
    ค่าพลัง:
    +26,399
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,736
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,558
    ค่าพลัง:
    +26,399
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ที่พวกเราเพิ่งจะบวชรับศีล ๘ ไป ไม่ใช่ศีลอุโบสถ ศีล ๘ กับศีลอุโบสถ สิกขาบทเท่ากัน เหมือนกันทุกประการ แต่ศีลอุโบสถนั้นรักษาแค่ ๑ วันกับ ๑ คืน ดังนั้น...จะมีบาลีกำกับท้ายว่า อิมัญจะ รัตติง อิมัญจะ ทิวะสัง วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง แต่ว่าศีล ๘ นั้นเป็นการรักษาตามใจผู้ปฏิบัติ

    ถ้าหากว่านับศีลอุโบสถ ก็มีอยู่ ๓ ประเภทด้วยกัน คือปกติอุโบสถรักษา ๑ วันกับ ๑ คืน ปฏิชาครอุโบสถ รักษา ๓ วันก่อนวันพระ รวมวันพระ ๑ วัน และรักษาเลยวันพระไปอีก ๓ วัน รวมแล้วเป็น ๗ วันกับ ๗ คืน ส่วนประการสุดท้ายคือปาฏิหาริยอุโบสถ ส่วนมากก็คือรักษากันตลอดทั้งชีวิต ในส่วนที่พวกเรารับศีล ๘ ไปนั้น จัดอยู่ในส่วนของปาฏิหาริยอุโบสถ แม้ว่าบางคนจะไม่สามารถรักษาได้ตลอดชีวิต แต่ก็รักษามากกว่า ๑ วัน ๑ คืน และงานนี้ของพวกเราก็ปฏิบัติธรรมกันถึง ๕ วัน ๔ คืน

    ในส่วนของศีลอุโบสถนั้น ปกติแล้วเป็นคุณสมบัติของพระอริยเจ้าระดับสูง คือพระอนาคามี ถ้าหากว่าปุถุชนเข้าถึงความเป็นพระอนาคามี จะถือศีล ๘ เองโดยอัตโนมัติ คราวนี้การที่เรารักษาศีล ๘ ถ้าข้อใดข้อหนึ่งขาดตกบกพร่อง เขาถือว่าขาดหมดทั้ง ๘ ข้อ ไม่เหมือนกับศีล ๕

    ศีล ๕ นั้น ถ้าหากว่าเราขาดข้อใดข้อหนึ่ง อีก ๔ ข้อยังสมบูรณ์อยู่ ดังนั้น...เวลาขอศีล ๕ เขาถึงใช้คำว่า วิสุง วิสุง ก็คือเป็นส่วน ๆ เป็นข้อ ๆ แต่ในการขอศีล ๘ ไม่มีคำนี้ เนื่องจากว่าศีล ๘ เป็นศีลของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าหากว่าด่างพร้อยแม้แต่ข้อเดียว ถือว่าพรหมจรรย์บกพร่อง แปลว่าขาดตกบกพร่องทั้งหมด ตรงส่วนนี้หลายคนอาจจะไม่ทราบแล้วก็ไม่เข้าใจอีกต่างหาก

    เรื่องของศีล ๘ นั้น มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับนักปฏิบัติธรรม เพราะว่าเสริมเติมในส่วนละเอียด ระมัดระวังป้องกันเราเอาไว้ จากการที่เราทั้งหลายจะไปดูการละเล่น ขับร้อง ฟ้อนรำ ตกแต่งร่างกายด้วยของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา และเครื่องประดับต่าง ๆ ซึ่งตรงจุดนี้ ถ้าหากว่าเราสามารถละเว้นได้ ก็แปลว่าเราได้ตัดในส่วนของสักกายทิฏฐิออกไปมาก
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,736
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,558
    ค่าพลัง:
    +26,399
    คำว่า สักกายทิฏฐิ ก็คือเห็นว่าตัวเราเป็นเรา ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ตัวเราหรือร่างกายนี้เป็นแค่เครื่องอาศัยชั่วคราวเท่านั้น เรามีหน้าที่ดูแลรักษา บำรุงไปตามอัตภาพ เพื่อเก็บกายสังขารนี้เอาไว้ปฏิบัติธรรม จนกว่าที่จะก้าวล่วงจากกองทุกข์

    แต่คนเราส่วนใหญ่แล้ว เมื่อมาอาศัยร่างกายนี้อยู่ ก็มายึดว่าตัวกูของกู ในเมื่อตัวกูของกู ก็ต้องดูดีที่สุด ดูสวยที่สุด บางคนไม่แต่งหน้านี่ออกจากบ้านไม่ได้เลย กระผม/อาตมภาพเคยเจอสุภาพสตรีบางท่าน แต่งหน้าที ๒ ชั่วโมงครึ่ง ๓ ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของเขา


    ตรงจุดนี้ตำหนิกันไม่ได้ เพราะว่าตราบใดที่เรายังยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้อยู่ เราก็จะมีอาการเช่นเดียวกับเขา เพียงแต่ว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้นมีมากน้อยกว่ากันเท่าไร คนที่ยึดถือมาก การแสดงออกก็มาก คนที่ยึดถือน้อย การแสดงออกก็น้อย

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าเราสามารถรักษาศีล ๘ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างสูง เพราะว่าเพิ่มเติมจากศีล ๕ มาอีก ๔ ข้อ เพียงแต่ว่าข้อที่ ๗ กับข้อที่ ๘ เราจับมารวมกัน แล้วดึงข้อที่ ๙ ในศีล ๑๐ มาเป็นข้อที่ ๘

    ในเมื่อสิกขาบทมีมาก สิ่งที่ต้องระมัดระวังมีมาก การที่เราตั้งสติระมัดระวังไม่ให้ผิดศีล จึงสร้างสมาธิให้เกิดโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น...ถ้าเรารักษาศีลได้สมบูรณ์บริบูรณ์ เมื่อมาภาวนา จึงทรงสมาธิได้เร็วเป็นพิเศษ เพราะว่าศีลนั้นเอื้อต่อการมีสมาธิ และสมาธินั้นเอื้อต่อการมีปัญญา


    ถ้าหากว่าเป็นญาติโยมผู้ชายที่เคยบวช พระอุปัชฌาย์อาจารย์ท่านจะบอกอนุศาสน์ มีคำที่ว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส อานิสงส์ใหญ่ของศีลก็คือก่อให้เกิดสมาธิ อานิสงส์ใหญ่ของสมาธิ คือก่อให้เกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาแล้วก็ย่อมทำให้ท่านทั้งหลายนั้นชำระจิตของตนให้ก้าวข้ามกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ทั้ง ๓ ประการ หลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,736
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,558
    ค่าพลัง:
    +26,399
    แต่ว่าพระอุปัชฌาย์อาจารย์ส่วนใหญ่ท่านบอกเป็นภาษาบาลี พอถึงเวลาเราฟังเป็นภาษาบาลีก็ไม่เข้าใจ ท่านบอกว่า กามาสวา ภวาสวา อวิชชาสวา ตัตถะ อัปปมาเทนะ สัมภาเทถาติ พระใหม่ก็ "สาธุ" แต่ไม่รู้ว่าครูบาอาจารย์บอกอะไร

    แต่ขอให้รู้ว่า อานิสงส์ใหญ่ของศีล คือก่อให้เกิดสมาธิ อานิสงส์ใหญ่จากการสร้างสมาธิคือก่อให้เกิดปัญญา เพราะว่าสมาธิทำให้สภาพจิตของเรานิ่ง สงบ เมื่อสมาธิทำให้สภาพจิตของเรานิ่ง สงบ ไม่ส่งส่ายวุ่นวาย การใช้ปัญญาพิจารณาธรรม ก็สามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอดได้ง่าย

    ดังนั้น...ท่านทั้งหลายที่รับศีล ๘ ไป จึงเป็นโอกาสดี ที่ท่านทั้งหลายจะได้ประคับประคองรักษาเอาไว้เพื่อก่อให้เกิดสมาธิ ในช่วงที่เราบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรตินี้ หลังจากที่จบสิ้นโครงการแล้ว ใครจะรักษาต่อ หรือว่าจะเลิกลาไป กลับไปยึดถือศีล ๕ เหมือนเดิมก็ได้ เพียงแต่ว่ากฎเกณฑ์กติกานั้นก็คือ ต่ำสุดศีล ๕ ต้องครบถ้วนบริบูรณ์ ศีล ๘ จะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ก็ไม่เป็นไร

    ตัวกระผม/อาตมภาพเองนั้น จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับรักษาศีล ๘ มาก่อนบวชเป็น ๑๐ ปี เพียงแต่ว่าเสียเวลากินข้าวเย็น ๑๐ กว่านาทีเท่านั้น จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง ได้ถวายการรับใช้พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ อยู่ที่บ้านสายลม ในช่วงกรรมฐานตอนค่ำ หลังจากการเจริญพระกรรมฐานแล้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเมตตาเล่าว่า "วันนี้พระท่านมาสงเคราะห์ บอกว่าบุคคลทั้งหมดที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในที่นี้ มี ๘๐ คนที่สามารถรักษาศีล ๘ เป็นสมุจเฉทได้ ก็คือรักษาได้โดยเด็ดขาดเลย"

    กระผม/อาตมภาพได้ยินดังนั้น ความรู้สึกแรกก็คือ ปกติเราก็เหมือนกับถือศีล ๘ อยู่แล้ว แค่เสียเวลาไปกินข้าวเย็น ๑๐ กว่านาทีเท่านั้น ถ้าเลิกกินก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร จึงตัดสินใจว่าเราคือ ๑ ใน ๘๐ คนนั้น เมื่อตัดสินใจดังนี้แล้ว ก็เหมือนกับคนคอหอยตัน คือความรู้สึกหิวต่าง ๆ หายไปหมด
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,736
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,558
    ค่าพลัง:
    +26,399
    เพียงแต่ว่าในวันรุ่งขึ้นนั้น แม้ว่าตั้งใจรักษาศีล ๘ แล้วก็ตาม ด้วยอุปาทานทำให้คิดว่า ถ้าเราไม่กินข้าวเย็นน่าจะหิว จากที่เคยกินข้าวกลางวัน ๑ จานจึงเพิ่มเป็น ๒ จาน แต่ปรากฏว่าเป็นแค่อุปาทานจริง ๆ เพราะว่าหลังเพลแล้วก็เหมือนกับคนคอหอยตัน ไม่รับอาหารทั้งปวง ยกเว้นแต่น้ำเปล่า

    ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ก็คือประมาณปี ๒๕๒๗ จนป่านนี้ ก็ไม่ได้มีความอยากกินข้าวเย็นกับใครเลย ถ้าญาติโยมสังเกตจะเห็นว่า หลังทำวัตรค่ำซึ่งมีการถวายน้ำปานะแก่พระภิกษุสามเณร กระผม/อาตมภาพไม่เคยรับกับใคร แต่ตรงนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ และคาดว่าญาติโยมก็ลืมไปแล้วว่าสาระสำคัญอยู่ตรงไหน สาระสำคัญอยู่ตรงการตัดสินใจว่าเราจะทำอะไร

    สมัยพุทธกาลบุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงวิธีการปฏิบัติธรรม ตรัสถึงหลักการการปฏิบัติเพื่อพ้นจากกองทุกข์ ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็ตัดสินใจเลยว่า "สิ่งนี้เราทำได้ เราจะรับมาทำตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"

    ดังนั้น...ท่านทั้งหลายจึงกลายเป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง พระอรหันต์บ้าง เพราะว่ามีการตัดสินใจที่เด็ดขาด ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า สมุจเฉทปหาน ก็คือตัดกันอย่างเด็ดขาดทีเดียว ดังนั้น...การปฏิบัติธรรมของพวกเรา ถ้ายังไม่มีสิ่งหนึ่งประการใดให้ต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด โอกาสที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลก็ยังไม่มี

    แม้กระทั่งการรักษาศีลเบื้องต้น ถ้าหากเรามีโอกาสละเมิดศีล สมมติว่าไปเห็นสิ่งของที่เราอยากได้สุดขีด เงินมีไม่พอซื้อ แต่ของนั้นมาอยู่ใกล้มือของเรา ผู้คนก็ไม่ได้มองเห็นว่าเราจะหยิบหรือไม่หยิบอย่างไร ถ้าเราสามารถตัดใจไม่หยิบฉวยมา นั่นถึงจะนับได้ว่าเราเป็นผู้มีศีลจริง ๆ แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่มีการทดสอบในลักษณะแบบนี้ เราก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเราเป็นบุคคลผู้ที่มีศีลอย่างแท้จริง

    ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน สมัยนี้พวกเราบกพร่องตรงการตัดสินใจให้เด็ดขาด เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเกรงใจคนรัก เกรงใจครอบครัว ทำให้ห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่กล้าตัดสินใจ
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,736
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,558
    ค่าพลัง:
    +26,399
    แต่ตัวกระผม/อาตมภาพไม่ใช่คนเช่นนั้น เมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านต้องการพระบวช ๓ รูป ครั้นกระผม/อาตมภาพตัดสินใจบวช บอกกล่าวแก่โยมแม่ โยมแม่ซึ่งปกติแล้วขอให้อาตมภาพบวช ตั้งแต่อายุเพิ่งจะครบ ๒๐ แต่ละปีขอเป็นสิบ ๆ ครั้ง แต่พอถึงเวลาบอกกับท่านว่าจะบวชจริง ๆ ท่านก็บอกว่า "ถ้ามึงบวชแล้วกูจะอยู่กับใคร ?"

    กระผม/อาตมภาพบอกว่า "แม่มีลูกตั้ง ๑๓ คน ถ้าขาดผมไปสักคน แล้วไม่มีใครเลี้ยงดู แม่ก็ยอมอดตายไปเถอะ..! ผมไปละ..!" นี่คือลักษณะของการตัดสินใจที่เด็ดขาด ไม่ยอมให้สิ่งหนึ่งประการใดมาถ่วง มาเป็นห่วง มาให้เราห่วงหน้าพะวงหลัง

    แต่การตัดสินใจตรงจุดนี้ กำลังสมาธิของเราต้องสูงพอ เพราะว่าเป็นการทวนกระแสกิเลส ถ้าท่านกำลังไม่ดีพอ ท่านจะทวนกระแสไม่ไหว ในเมื่อทวนกระแสไม่ไหว ตัดกระแสไม่ได้ ก็ย่อมข้ามกระแสไม่พ้น ยังคงต้องเวียนว่ายตายเกิดกันไม่รู้จบ


    ดังนั้น...ในส่วนที่ท่านทั้งหลายมาถือศีลปฏิบัติธรรมตามที่ทางวัดจัดครั้งนี้ ระยะเวลาในการปฏิบัติธรรมไม่ได้มีมาก เพราะว่าเป็นช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ทำอย่างไรที่พวกเราจะรักษากำลังใจของเราให้สูงที่สุด ให้มั่นคงที่สุด เพื่อที่จะได้มีกำลังเพียงพอในการตัดกระแสโลกได้


    สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือต้องรักษากำลังเหล่านั้นเอาไว้ให้ได้ วิธีรักษากำลังทั้งหลายเหล่านั้นก็คือ ต้องสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


    ตา อยากเห็นรูป บังคับมันว่าเอ็งอย่าเพิ่งดู

    หู อยากได้ยินเสียงเพลงเพราะ ๆ บังคับมันว่าเอ็งอย่าเพิ่งฟัง

    จมูก อยากได้กลิ่นหอม ๆ ไปดม บอกมันว่าเอ็งอย่าเพิ่งไปดม

    ลิ้น อยากได้รสอร่อย บังคับมันว่ามีอะไรก็กินเท่านั้น

    กาย อยากได้สัมผัสที่ดี อยากได้ที่นอนอ่อนนุ่มสูงใหญ่ที่ตนเองต้องการ อยากได้เครื่องปรับอากาศ บอกมันว่ารอไปก่อน ถ้าไม่ตายเสียก่อน กลับบ้านไปจะหาให้

    ใจ อยากจะครุ่นคิดฟุ้งซ่านสารพัดเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องตัวเอง เรื่องครอบครัว เรื่องทางบ้าน เรื่องลูก เรื่องผัว เรื่องเมีย บอกมันว่าอยู่ที่นี่เอ็งคิดไปก็ไม่มีประโยชน์ ให้เลิกคิดเสียชั่วคราว

    ถ้าเราสามารถรักษากำลังเอาไว้ ไม่ให้รั่วออกทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ ถ้าเราสะสมกำลังได้เพียงพอ ก็ย่อมสามารถที่จะก้าวข้ามกระแสไปได้เช่นกัน
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,736
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,558
    ค่าพลัง:
    +26,399
    เพียงแต่ว่าพวกเรานั้น มักจะปฏิบัติไปแล้วก็ทิ้งเลย ไม่มีการประคับประคองรักษาอารมณ์ใจเอาไว้ให้ต่อเนื่อง ให้นิ่งสงบเหมือนตอนที่นั่งปฏิบัติอยู่ บางคนนั่งภาวนาครึ่งชั่วโมง แล้วก็ไปนั่งเขี่ยไลน์เสีย ๒ - ๓ ชั่วโมง สิ่งที่ทำได้กับสิ่งที่ใช้ไปก็ไม่ได้คุ้มกันอยู่แล้ว ถึงเวลาก็ไปนั่งส่องเฟซฯสักอีก ๒ ชั่วโมง อัพสเตตัส กดไลค์ กดแชร์ให้ยุ่งไปหมด

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแต่ทำให้กำลังของเรารั่วไปทั้งนั้น ถ้าไม่ใช่บุคคลที่ฝึกฝนจนกำลังใจทรงตัวแล้วจริง ๆ จะไม่มีวันที่เราบ่มเพาะกำลังได้เพียงพอที่จะก้าวข้ามกระแสกิเลสไปได้เลย

    วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า ปฏิบัติธรรมมาก็หาความก้าวหน้าไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองพลาดตรงไหน แล้วต่อให้รู้ว่าตัวเองพลาดตรงไหนก็ตัดใจไม่ได้ กลัวว่ากิเลสจะเศร้าหมอง..! ถึงเวลามันต้องการอะไรก็หาให้มัน ดังนั้น...การปฏิบัติธรรมของเราจึงสูญเปล่า


    เมื่อทุกคนรู้แล้วว่าตัวเองบกพร่องอย่างไร ช่วงเวลา ๕ วันที่อยู่วัดนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่เราจะสั่งสมกำลังของเราให้ได้มากที่สุด เผื่อว่าบุญพาวาสนาช่วย ข้ามกระแสได้สักระดับหนึ่ง ได้เป็นพระโสดาบันก็ยังดี

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จะมีขึ้น จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อท่านทั้งหลายต้องมีความพากเพียร มีความอดทน เห็นประโยชน์อย่างแท้จริงในการปฏิบัติธรรม จนไม่สนใจเรื่องทางโลก ใครจะว่าอย่างไร ใครจะล้อเลียนอย่างไร เรื่องของมัน ถึงเวลาเราไม่ได้ตกนรกไปกับมันด้วย..! ให้เราตั้งหน้าตั้งตาสร้างสรรค์หนทางแห่งสวรรค์ หนทางแห่งพรหม หนทางแห่งนิพพานของเราต่อไป


    เรื่องของการฟังธรรมก็เหมือนกับกินอาหาร กินมากเกินไปอาหารไม่ย่อยก็จะเดือดร้อน สำหรับวันนี้จึงขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...