เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 11 มกราคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ กระผม/อาตมภาพไปงานฉลองตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอไทรโยคของพระครูกาญจนสุตาภรณ์ (ณัฐพล ปสนฺโน ป.ธ.๔) แล้วก็เลยไปเยี่ยมพระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร.ที่วัดอุทยาน ถนนริมคลองบางกอกน้อย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

    บังเอิญได้พบกับเจ้าคุณหลวงตา (พระราชภาวนาพัชรญาณ วิ.) วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) เจ้าคุณหลวงตาท่านเห็นว่ากระผม/อาตมภาพ ไปเยี่ยมยามพรรคพวกเพื่อนฝูงลูกศิษย์ลูกหาในลักษณะนั้น ก็บอกว่าดีใจที่เห็นพวกรักกัน ถึงเวลาไปมาหาสู่กัน แล้วท้ายที่สุดก็เลยร่วมกันวางโครงการว่า ส่วนใหญ่แล้วเจ้าอาวาสใหม่มักจะไม่ได้รับการยอมรับจากในพื้นที่

    ตรงจุดนี้กระผม/อาตมภาพเคยกล่าวเสมอในการประชุมคณะสงฆ์ว่า เป็น "วงจรอุบาทว์" ก็คือถ้าหากว่าสิ้นเจ้าอาวาสเก่าลงไป เจ้าอาวาสใหม่มา ถ้าความสามารถน้อยกว่า วัดจะโทรมทันตาเห็นเลย


    ดูตัวอย่างวัดท่าขนุนนี้ก็แล้วกัน พอผ่านสมัยหลวงปู่สายมาถึงท่านอาจารย์สมเด็จ ท่านอาจารย์สมพงษ์ วัดวาอารามโทรมจนดูไม่ได้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเทพเมธากร เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีในสมัยนั้น ต้องให้ผมมากู้ชีวิตวัดท่าขนุนไปรอบหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นพอมาเป็นเจ้าอาวาสเองก็ต้องมากู้อีกรอบหนึ่ง เพราะว่าสิ่งที่ทำเอาไว้ในรอบแรกก็เริ่มโทรมลงไปอีกแล้ว

    แต่ว่าต่อให้เจ้าอาวาสใหม่มีความสามารถเท่าเทียมหรือเก่งกว่าเจ้าอาวาสเก่า ญาติโยมทั้งหลายก็ยังคงนึกถึงคนเก่าอยู่ดี เพราะว่าเขาอยู่ด้วยกันมานาน ก็เหลืออยู่อย่างเดียวคือ เจ้าอาวาสใหม่ต้องอดทนทำความดีไปเรื่อย จนกว่าจะเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน ซึ่งก็มักจะเป็นช่วงท้าย ๆ ของชีวิตแล้ว พอสิ้นท่านไป เจ้าอาวาสใหม่ก็เจอปัญหาเดิมอีก


    กระผม/อาตมภาพ
    ถึงได้ใช้คำว่า "วงจรอุบาทว์" ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากจะใช้ เจ้าคุณหลวงตาท่านบอกว่า ให้เราจัดกิจกรรมอะไรซึ่งแสดงออกซึ่ง Power ก็คือพลังของญาติโยมที่จะไปสนับสนุนวัดนั้น ท้ายสุดก็ตกลงกันว่าจะจัดการสวดพระคาถาเงินล้าน เนื่องจากว่าเดือนกุมภาพันธ์

    กระผม/อาตมภาพ
    หาวันเหมาะที่จะสวดพระคาถาเงินล้านที่วัดท่าขนุนไม่ได้ เนื่องจากว่าไม่มีวันหยุดต่อเนื่อง ก็เลยย้ายไปสวดที่วัดอุทยานแทน ญาติโยมจะได้ไม่ต้องเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรไปวัดท่าขนุน

    เมื่อไปร่วมงานกันที่นั่น จำนวนคนหลายร้อยหรือถึงหลายพันคน ก็จะทำให้ชาวบ้านแถวนั้นเห็นว่า อย่างน้อยเจ้าอาวาสใหม่ก็มีผู้สนับสนุนอยู่ ซึ่งตรงนี้กระผม/อาตมภาพเห็นด้วย จึงได้ตกลงกันว่าเป็นวันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๕ โดยให้ประกาศบอกญาติโยมแต่เนิ่น ๆ จะได้รู้ว่าควรจะไปที่ไหน ส่วนเดือนมีนาคมเราค่อยมาพิจารณากันอีกทีว่า มีวันเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ?

    พระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร. ถามว่า "แล้วเจ้าคุณหลวงตาจะมาไหมครับ ?" ท่านตอบว่า "มาสิวะ..พี่น้องเพื่อนฝูงกัน เพิ่งจะหัดตั้งไข่ ก็ต้องมาช่วยกันประคับประคองไปก่อน ถ้าเอ็งเดินแข็งเมื่อไร แล้วถึงจะปล่อยให้ไปเอง" ตรงจุดนี้เราจะได้เห็นน้ำใจกันระหว่างพี่น้อง ครูบาอาจารย์ หรือสหธรรมิก ที่มีกำลังใจจะทำความดีเพื่อส่วนรวมจริง ๆ แม้ว่าจะไม่ใช่งานของตน แม้ว่าร่างกายไม่ไหว อายุมาก อย่างน้อยไปเป็น "กองเชียร์" ก็ยังดี
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ตรงจุดนี้ควรที่จะมีเอาไว้ เพราะอย่างที่กระผม/อาตมภาพตั้งโครงการกฐินปลดหนี้ปีละ ๑ วัดก็เหมือนกัน ก็ด้วยแนวคิดที่ว่า ถ้าหากว่าวัดไหนมั่นคงเพียงพอแล้ว ก็ควรที่จะช่วยวัดที่เขายังไม่ไหว แต่ว่าในการช่วยนี้ กระผม/อาตมภาพก็มีทีมงานที่ต้องไปสำรวจตรวจตราบรรดาวัดต่าง ๆ ที่เขามาขอเข้าบัญชีรอรับการช่วยเหลืออยู่ ว่าเป็นวัดที่สมควรช่วยจริง ๆ หรือเปล่า ? เจ้าอาวาสมีความประพฤติสมควรที่เราจะช่วยหรือว่าไม่สมควร

    เนื่องจากว่าบางวัด เป็น ๑๐ ปีแล้ว การสร้างอาคารก็มีแต่เสา ถามว่า "ทำไมไม่สร้างให้เสร็จ ?" ท่านตอบว่า "ถ้าสร้างเสร็จก็ไม่รู้ว่าจะหาเงินอย่างไร ?" ถ้าลักษณะอย่างนี้มาขอให้ผมช่วย ก็คงไม่ช่วยหรอก แล้วบางวัดไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรเลย แต่มาขอให้ช่วย โดยโยนภาระทั้งหมดมาให้ กระผม/อาตมภาพก็ไม่ช่วยเหมือนกัน คืออย่างน้อย ๆ คุณจะต้องขยับขยายทำอะไรด้วยตัวเองได้บ้าง ไม่อย่างนั้นแล้วการช่วยเหลือพวกนี้ก็จะไม่รู้จบ ก็คือได้แต่ขอ ๆ ๆ โดยที่ไม่ได้คิดจะทำอะไรด้วยตนเองเลย

    ดังนั้น...ทุกวัดที่ขอมา ไม่ใช่ว่าจะได้ทั้งหมด แต่ว่าอยู่ในลักษณะที่ว่า ถ้าใครตั้งใจทำความดีเพื่อศาสนาจริง ๆ ตั้งใจทำเพื่อส่วนรวมจริง ๆ ต่อให้ไม่รู้จักมักคุ้นกัน ถ้าหากว่าถึง "คิว" กระผม/อาตมภาพก็เต็มใจที่จะไปช่วย

    ตอนแรกพอตั้งโครงการว่าปีละ ๑ วัด ญาติโยมหลายท่านก็ทักท้วงว่า "ในเรื่องของบุญกฐินเป็นบุญใหญ่มาก ทำไมไม่ทอด ๗ วัด ๙ วัดไปเลย จะได้อานิสงส์มหาศาล ?" ได้ตอบกลับไปว่า "อานิสงส์นั้นมาก แต่ว่าเงินน้อย ถ้าหากว่าทอดกฐิน ๙ วัด ได้วัดละ ๒ - ๓ แสนบาท ไม่พอทำอะไร กลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่ถ้าเราเทไปวัดเดียว ก็จะเห็นหน้าเห็นหลังไปเลย"

    ปีที่ผ่านมาไปทอดกฐินปลดหนี้ที่วัดท่าโขลง จังหวัดลพบุรี ก็สามารถที่จะปลดหนี้ของเขาได้ แล้วก็มีเงินเหลือให้บรรดาเด็กนักเรียนชาวเขาสามารถที่จะใช้ในการศึกษา และขณะเดียวกันก็มีค่าข้าวปลาอาหารที่จะรองรับ ไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นลำบากจนเกินไป
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ตรงจุดนั้นก็มีเรื่องอัศจรรย์ก็คือ มี "สามเณร ๑๐๐ ศพ" อยู่ตรงนั้นด้วย คำว่าสามเณร ๑๐๐ ศพ ไม่ได้ไปฆ่าแกงใคร แต่ว่าท่านทำหน้าที่สัปเหร่อคอยเผาศพ ก็เลยแนะนำวิชาการอะไรต่าง ๆ ไปตามสมควร โดยเฉพาะสามเณรทำเหรียญหลวงพ่อหนึ่งมา ให้กระผม/อาตมภาพช่วยเสกให้ ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่เคยเสกให้ใครในลักษณะอย่างนั้น เพราะว่าไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน อยู่ ๆ ก็ผ่ากลางมาเลย แต่เห็นว่าสามเณรมีความตั้งใจจริง จึงสงเคราะห์ไปเต็มที่ สามเณรได้ถวายเหรียญมา ๑๐๐ เหรียญ ไม่ทราบเหมือนกันว่าหมดหรือยัง ? เพราะจำได้ว่าให้ไอ้ตัวเล็กเอาไปลงในกระทู้ทำบุญ ใครอยากรู้ว่ามีอะไรพิเศษก็ต้องไปหาบูชากันเอาเอง

    ตรงจุดนี้ที่ทำโครงการกฐินปลดหนี้ ก็แนวคิดเดียวกับเจ้าคุณหลวงตาวัชรชัย ก็คือถ้าเราเอาตัวรอดวัดเดียว พระศาสนาจะอยู่ไม่ได้ พวกคุณลองนึกดูว่า ถ้าหากว่าเราแข็งแรงแล้วก็เดินไปลิบเลย หันกลับมาข้างหลังจะเจอใครบ้างไหม ? เราจะไม่เหลือใครเลย แต่ถ้าหากว่าเราช่วยเหลือกัน ประคับประคองกัน ถึงแม้ว่าไม่สามารถทำให้พุทธศาสนาเจริญพร้อมเพรียงกันทั้งหมด แต่อย่างน้อย ๆ ความรักความสามัคคีในหมู่คณะที่เกิดขึ้น ถ้าหากว่าจุดประกายให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อยืนหยัดได้มั่นคงแล้วนำไปทำต่อ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็จะช่วยให้พุทธศาสนาของเราเจริญมั่นคงขึ้นมาได้อีกวาระหนึ่ง

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น แนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของ
    กระผม/อาตมภาพกับเจ้าคุณหลวงตา แม้ว่าจะไม่ได้นัดแนะกันไว้ ก็ออกมาในแนวเดียวกัน ก็เลยว่าถ้าหากว่าในช่วงที่วัดท่าขนุนไม่สะดวกที่จะจัดการสวดพระคาถาเงินล้าน ๑๐๘ จบตามที่ตั้งใจไว้ ก็คือทุกเดือน เดือนไหนไม่สะดวกก็จะยกให้ทางวัดอุทยานไป แล้วทางเราก็ไปร่วมงานด้วย ปัจจัยไทยธรรมอะไรที่เกิดขึ้นตรงนั้น ก็จะได้เอาไว้ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอุทยาน

    จะว่าไปแล้ว วัดอุทยานเป็นวัดที่ใหญ่มาก ๆ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่หลวงพ่อศรี (พระครูนนทมงคลวิศิษฐ์) อดีตเจ้าอาวาสท่านทำเอาไว้ เป็นที่ชอบใจของกระผม/อาตมภาพมาก โดยเฉพาะตัวอาคารต่าง ๆ เน้นทรงไทย การสร้างอาคารทรงไทยนั้นแพงมาก เอาแค่ของวัดท่าขนุนก็พอ ถ้าหากว่าพวกคุณดูอาคารตั้งพระชำระหนี้สงฆ์ที่หน้าวัดท่าขนุน เฉพาะค่าแรงในการดัดเหล็กเพื่อทำหลังคาทรงไทยหลังละสี่แสนบาท..! เพราะว่าช่างที่จะดัดเหล็กให้เป็นทรงไทยได้สวยงามลงตัวนั้นหายากมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้ช่างที่มีฝีมือจริง ๆ

    พระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี สมัยยังเป็นพระราชวิสุทธิเมธี เป็นเจ้าคณะจังหวัดได้ไม่นาน มาเห็นแล้วชอบใจ อยากจะสร้างบ้าง ถามว่าราคาเท่าไร ? กราบเรียนถวายไปว่า "เฉพาะค่าแรงทำหลังคาอย่างเดียวสี่แสนบาทครับ" ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดบอกว่า "คงมีแต่พระอาจารย์เล็กจ่ายไหวอยู่คนเดียว" ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่นเลย แค่ค่าแรงทำโครงหลังคาอย่างเดียวล้วน ๆ เจอไปหลังละสี่แสนบาท..!

    แต่หลวงพ่อศรีสามารถทำอาคารทุกหลังเป็นทรงไทยได้ ต้องบอกว่าท่านเป็นศูนย์รวมใจของญาติโยมพุทธศาสนิกชนที่บริเวณนั้น วัดวาอารามที่ท่านทำเอาไว้ก็ใหญ่โตมาก แล้วยังมีการซื้อที่ดินเพิ่มอีก ๒๐ - ๓๐ ไร่ เพื่อที่จะทำเป็นพุทธอุทยานไว้ปฏิบัติธรรม
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ตรงจุดนี้กระผม/อาตมภาพเห็นด้วย เนื่องเพราะว่าวัดอยู่ใจกลางความเจริญ ถ้ามีสถานที่สงบ ร่มเย็น ให้ญาติโยมที่เครียดจากการทำงานต่าง ๆ ได้ไปพักผ่อนอิริยาบถ ได้ไปปฏิบัติธรรมสั่งสมความดี ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐและเหมาะสม แต่ว่าก็เป็นภาระหนักของเจ้าอาวาสใหม่ เพราะว่าสมัยนี้การก่อสร้างแต่ละอย่าง ก็ล้วนแล้วแต่ราคาแพงหูดับตับไหม้

    ดูแค่ตัวอย่างหอพักนักเรียน ๒ ชั้น ที่กระผม/อาตมภาพเพิ่งจะมอบให้กับทางโรงเรียนทองผาภูมิวิทยาไปเมื่อวันเด็ก ก็คือ ๓ วันที่แล้วมา นั่นขนาดประหยัดวัสดุอย่างสุดชีวิตแล้ว หมดไป ๑ ล้าน ๔ แสนบาท..! ตอนแรกตั้งงบประมาณไว้ที่ ๘ แสนบาท แต่ปรากฏว่าท่านผู้อำนวยการยงยุทธ สงพะโยม ผู้อำนวยการโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา ไปได้แบบของทาง สพฐ.มา ก็คือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบบมาตรฐานของเขา วิศวกรประเมินราคาอยู่ที่ ๑ ล้าน ๒ แสนบาท

    กระผม/อาตมภาพก็ว่า เอาเป็นว่าทางชมรมรักษ์ธรรมรักษ์ไทยรับผิดชอบไป ๘ แสนบาท อีก ๔ แสนบาท กระผม/อาตมภาพรับผิดชอบเอง ปรากฏว่าเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ อาละวาดพอดี ทำให้ผู้รับเหมาทุกรายไม่มีใครกล้ารับเหมาในราคา ๑ ล้าน ๒ แสนบาท กระผม/อาตมภาพจึงต้องหาช่างมาทำเอง แม้ว่าประหยัดวัสดุสุดชีวิตแล้ว ออกมาที่ ๑ ล้าน ๔ แสนบาท เพราะว่าเหล็กขึ้นราคารายวัน ญาติโยมที่เดือดร้อนเพราะหมูขึ้นราคาโปรดทราบว่า..ของขึ้นหมดทุกอย่าง..!

    สมัยก่อนเราเป็นเด็กอาจจะคิดว่า "โตขึ้นทำงานแล้ว เราจะซื้อของดี ๆ ของแพง ๆ มากินมาใช้" ตอนนี้ซื้อได้ทุกอย่าง..แพงหมด แม้กระทั่งไข่ไก่ ก็ต้องถือว่ารัฐบาลบริหารงานได้ประสบความสำเร็จ คือทำให้พวกเราทุกคนสามารถซื้อของแพงมากินมาใช้ได้..!
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    แต่ถ้าหากบอกว่าไข่ไก่บ้านเราแพง กระผม/อาตมภาพขอคัดค้าน เพราะว่าได้ไปประเทศเนปาลมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะไปเพื่อใช้เป็นทางผ่านเข้าไปทิเบต หรือว่าไปเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนกระทั่งไปทำบุญกฐินปลดหนี้

    แรก ๆ เมื่อไปที่พัก อาหารทุกมื้อที่เขามาเสิร์ฟจะต้องมีไข่ ไม่ใช่ไข่ต้มก็ไข่ดาว ไม่ใช่ไข่ดาวก็ไข่ทอด ไม่ใช่ไข่ทอดก็เป็นไข่เจียวฝรั่งที่เรียกว่าออมเล็ต กระผม/อาตมภาพยังคิดว่า "สงสัยว่าเขาไม่มีอย่างอื่นจะให้กิน ?" ปรากฏว่าไปรู้ความจริงแล้วจะเป็นลม เพราะว่าตอนนั้นเขาพาไปเที่ยวหมู่บ้าน ในลักษณะของการท่องเที่ยวธรรมชาติ แล้วมัคคุเทศก์ไปซื้อไข่จากชาวบ้าน ฟองละ ๖ บาทไทย..! หลายปีแล้วนะ น่าจะถึง ๑๐ ปีแล้ว ฟองละ ๖ บาทไทย เนื่องจากว่าเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ไม่ใช่ในกาฐมาณฑุ ในกาฐมาณฑุที่มัคคุเทศก์เขาทำงานอยู่ ไข่ไก่ฟองละ ๑๑ บาท..!

    ตอนแรกก็สงสัยว่าทำไมต้องหากระป๋องลูกกวาดซึ่งเป็นโลหะ เอาฟางบุอย่างดี แล้วค่อย ๆ จัดเรียงไข่ลงไป ไปไหนก็กลายเป็น "คุณนายประคองศรี" ค่อย ๆ ประคับประคอง กลัวว่าไข่จะแตก พอรู้ราคาแล้ว ที่ทางโรงแรมเขาจัดอาหารให้เราทุกมื้อแล้วมีไข่ แปลว่าเขาตั้งใจบริการเราอย่างเต็มที่ พอรู้ราคาไข่แล้วฉันได้อร่อยกว่าเดิมเยอะเลย..! ตอนแรกเริ่มจะบ่นกันแล้ว เช้าก็ไข่ กลางวันก็ไข่ อะไรกันหนักหนาวะ..ทุกวันมีแต่เมนูไข่ ? แต่เราลองไปดูว่าถ้าเป็นชาวบ้านจะไหวไหม ? ไข่ฟองหนึ่งราคาเป็น ๑๐ บาท

    บ้านเรายังอุดมสมบูรณ์พอ เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะต้องมีความสามารถมากกว่านี้ ในการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของเราให้ไปได้ ในการที่จะแก้ไขปัญหาของแพง และตัวเราเองก็จำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โดยการประหยัดอดออมตามที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงไว้จนโด่งดังไปทั่วโลก ถ้ารู้จักขยัน ประหยัด อดออม เราจะยังไปได้ เพราะว่าประเทศอื่นลำบากกว่าเรามาก

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา ตลอดจนบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...