เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 5 มกราคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เกือบทั้งวันก็หมดไปกับการทำรายงานส่ง เนื่องเพราะว่าสิ้นเดือนแต่ละครั้ง สารพัดรายงานจะต้องส่งให้ทางคณะสงฆ์ ยิ่งสิ้นปียิ่งมากเข้าไปใหญ่ ช่วงที่วิ่งไปวิ่งมาไม่มีเวลาที่จะทำ อาศัยวันนี้ที่มีงานช่วงเช้า ช่วงบ่ายก็ยังได้ทำงานตรงนี้ แล้วที่โชคดีก็คือพรุ่งนี้งานยกเลิก เพราะว่ากลัวเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ อาละวาด ทำให้มีเวลาเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ วัน

    ในเรื่องของการทำงาน ถ้าหากว่าเราทิ้งค้างคาเอาไว้ ที่โบราณเขาเรียกว่า ดินพอกหางหมู ก็จะทำให้ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นทีหลัง เพราะว่าเวลาเจองานมาก ๆ หลายคนก็ท้อไปเลย พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสเอาไว้ว่า อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง การทำงานต้องไม่คั่งค้าง จึงจะเป็นอุดมมงคล

    คราวนี้ในเรื่องของการทำงานนั้น ต้องถือว่าเป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น หลักสำคัญ ๆ เลยสำหรับพวกเราทั้งหลายก็คือ ทำอย่างไรจะรักษาใจตัวเองเอาไว้ให้ผ่องใสให้มากที่สุดได้ในแต่ละวัน ?


    ในส่วนนี้ต้องบอกว่า พวกเราต้องหาเทคนิคเฉพาะของตนเอง เราจะทำวิธีไหนก็ได้ให้ใจยอมสงบ อยู่กับลมหายใจเฉพาะหน้า ต่อให้หมดท่าขึ้นมา ต้องดำน้ำกลั้นลมหายใจก็เอา คือสภาพจิตของเราเหมือนอย่างกับลิง ถึงเวลาก็กระโดดโลดเต้นพล่านไปหมด แต่พอใกล้ตายจิตจะต้องรวมตัว เพราะว่าเป็นห่วงร่างกาย ดังนั้น...เวลาที่จิตรวมตัว กำลังก็จะมีมาก


    โบราณให้เราใช้คาถา ก็มักจะมีอยู่จำนวนมากด้วยกันที่ให้พวกเรากลั้นใจภาวนา กลั้นใจว่าคาถา ๓ คาบ ๕ คาบ ๗ คาบ ๙ คาบ แล้วแต่ความ "โหด" มากน้อยของครูบาอาจารย์ ที่กระผม/อาตมภาพเจอ มากที่สุดคือ ๑๐๘ คาบในชั่วอึดลมหายใจหนึ่ง..! พวกท่านถ้าหากว่าสมาธิน้อยน่าจะทำไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าสมาธิสูงหน่อย เราสามารถที่จะทำได้ ด้วยเหตุ ๒ ประการ

    ประการแรกก็คือ ลมหายใจละเอียด ร่างกายได้รับออกซิเจนเพียงพอ ทำให้ช่วงลมหายใจของเรายาวมาก ถ้าถามว่ายาวขนาดไหน ? ก็ยาวขนาดกระผม/อาตมภาพไปแช่พุน้ำร้อน ภาวนาพระคาถาเงินล้านได้ ๘ จบแล้วถึงโผล่ขึ้นมา หลวงพ่อสมคิด (พระครูบวรกาญจนธรรม) โวยเลย คิดว่าผมตายไปแล้ว บอกว่าถ้าไม่เห็นว่ายังขยับอยู่ มั่นใจได้เลยว่าจมน้ำตายไปแล้ว..!

    จะลองดูก็ได้ เอาสักจบหนึ่งก่อน ปัจจุบันนี้ที่กระผม/อาตมภาพเอาแค่ ๘ จบ เพราะว่าไม่มั่นใจในสภาพร่างกายตัวเอง เนื่องจากว่าความชราปรากฏมากแล้ว ถ้าหากว่าอยู่นานไป ร่างกายรับไม่ไหว อาจจะเป็นลมจมน้ำตายไปจริง ๆ..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    คราวนี้การที่โบราณาจารย์ให้เรากลั้นหายใจว่าคาถา อันดับแรกเลยก็คือ พอเรากลั้นหายใจก็คือใกล้ตาย สภาพจิตจะรวมตัวทำให้เกิดสมาธิสูงขึ้น คาถาก็จะมีผลมากขึ้น แต่ว่ามีข้อเสียก็คือ ถ้าหากว่าเราทำจนชิน แล้วจะมาภาวนาปกติทั่วไป เผลอเมื่อไรก็จะไปกลั้นหายใจอีก

    ดังนั้น...ให้ใช้วิธีภาวนาตามปกติของเราจะดีที่สุด เพราะว่าเรื่องของการกลั้นหายใจภาวนานั้น ส่วนใหญ่ใช้ในเหตุฉุกเฉิน ประเภทอยู่ ๆ โดน "จิ๊กโก๋" รุมตีอะไรประมาณนั้น ถ้าหากว่าทั่ว ๆ ไปก็เข้าสมาธิของเราไป ว่าคาถาไป เรื่องของคาถา ชอบใจบทไหนก็ทำไปเลย เอาให้เกิดผลจริง ๆ แล้วเราค่อยขยับไปใช้คาถาอื่น


    สมัยก่อนหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านสอนกระผม/อาตมภาพมาก็ลักษณะอย่างนี้

    กระผม/อาตมภาพ
    โดนท่านหลอกอย่างชนิดที่ไม่รู้ตัวว่าโดน เพราะว่าท่านจะปรารภว่าคาถาบทนี้ดีอย่างนี้ ดีอย่างนี้ กระผม/อาตมภาพก็รับมา ตั้งใจจะไปทำ ท่านก็จะสำทับไปว่า "ภาวนาอย่างน้อยให้ต่อเนื่องครึ่งชั่วโมงนะ ถ้ารักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์ คาถาจะยิ่งเกิดผลเร็ว"

    เมื่อทำได้แล้ววิ่งไปรายงาน ท่านก็ "เออ...ดี ๆ ลูก..เอาบทนี้ไป..บทนี้เป็นอย่างนี้ ๆ มีผลแบบนี้" กว่าจะรู้ตัว โดนท่านหลอกภาวนาและรักษาศีลจนชินแล้ว เมื่อดึงกลับมาปฏิบัติกรรมฐานตามหลักวิสุทธิมรรค ก็เลยกลายเป็นของง่าย เพราะว่ามีสมาธิเป็นปกติแล้ว
    ในชีวิตมีคาถาบทเดียวที่ท่านไม่ให้ คือคาถาหัวใจปลาไหลเผือก ท่านเล่าว่าสมัยวัยรุ่นท่านเคยลองให้เด็กภาวนาคาถาหัวใจปลาไหลเผือก ผู้ใหญ่ ๗-๘ คน จับไม่อยู่ ท่านบอกว่ามันดิ้นแผลบ ๆ ๆ หลุดไปได้เรื่อย ก็เลยกราบเรียนว่า "ผมขออนุญาตเรียนคาถานี้ครับ" ท่านบอกว่า "ไม่เอา..ลูกข้าถ้าต้องหนีเขามันขายหน้า เอาหัวใจหนุมานไปดีกว่า" สรุปก็คือของท่านนี่ห้ามหนี..บอกให้สู้อย่างเดียว..!

    คราวนี้ถ้าพวกเราภาวนา สิ่งที่ปรากฏอยู่เสมอก็คือว่า ระหว่างภาวนาก็ยังฟุ้งซ่านได้ ถ้าใครมีอาการอย่างนี้ จงดีใจเถอะว่า พื้นฐานในอดีตชาติของเราในเรื่องการปฏิบัติธรรมมีมามาก เพราะว่าถ้าบุคคลที่ฟุ้งซ่านระหว่างภาวนาไปด้วย แปลว่าสามารถแยกจิตทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้ แบบเดียวกับที่
    กระผม/อาตมภาพทำให้ดูอยู่ทุกวัน ทำวัตรไปอ่านหนังสือไป ส่วนที่ยากที่สุดก็คือ ทำอย่างไรที่จะไม่ยินดี รัก โลภ โกรธ หลง ไปตามเนื้อหาในหนังสือ
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วิธีแก้ไขง่ายที่สุดเลยก็คือ กลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็คือสลัดเรื่องอื่นออกไปให้หมด ตอนนี้ขออยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้าเท่านั้น หลุดไปเมื่อไรก็ดึงกลับมาใหม่ หลุดไปเมื่อไรก็ดึงกลับมาใหม่ พอสภาพจิตเริ่มเคยชินก็จะยอมอยู่นิ่ง ไม่เผลอไปคิดเรื่องอื่นในระหว่างที่ภาวนาอีก

    ครูบาอาจารย์หลายท่านบอกว่า ถ้าทรงฌานระดับสูง ๆ แล้วคิดไม่ได้ ต้องคลายออกมาที่อุปจารสมาธิ ถึงจะคิดพิจารณาได้ ตรงนี้
    กระผม/อาตมภาพขอคัดค้านครับ ถ้ามีความคล่องตัวในการทรงฌานแล้ว จะระดับไหนก็คิดได้ ยิ่งการคิดในขณะที่ทรงฌานระดับสูงเท่าไร ความชัดเจน ความผ่องใสของจิตมีมาก ก็สามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอดได้ง่ายกว่า การลดลงมาที่อุปจารสมาธิ ถ้ากำลังฌานคุมไม่อยู่ก็จะฟุ้งซ่านได้ง่าย ยิ่งถ้าหากว่าเราเผลอคิด หลุดออกจากหลักธรรมเมื่อไร ก็จะกลายเป็น รัก โลภ โกรธ หลง ทันที

    แต่ว่าใหม่ ๆ ก็ต้องเอาแบบนี้ไปก่อน เพราะว่าหลายท่านทรงได้แค่ปฐมฌานหยาบ เผลอเมื่อไรก็หลับ จึงต้องคลายสมาธิออกมาเป็นอุปจารสมาธิ คืออารมณ์ปกติแล้วค่อยคิด แต่พวกเราก็มักจะมีจุดบอด ก็คือพิจารณาวิปัสสนาไม่ค่อยเป็นกัน มักจะถนัดแต่ในเรื่องของสมถะ เข้าสมาธินั่งเงียบ ๆ ดีกว่า

    ตรงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตำหนิ เพราะว่าสภาพจิตของเรา ถ้าต้องการความสงบ เราก็ปล่อยให้จิตสงบไป แค่ตามดูตามรู้เฉย ๆ แต่ถ้าต้องการจะคิดเมื่อไร ต้องระวังให้มาก รีบหาวิปัสสนาญาณให้คิด ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะฟุ้งซ่านทันที

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าเราเข้าสมาธิอย่างเดียว จะมีโอกาสตัดกิเลสได้ไหม ? ตัดได้..เพราะว่าช่วงที่จิตทรงสมาธิอยู่ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดไม่ได้ ถ้าสามารถทรงตัวได้นานพอ กิเลสก็ตายได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าอันตราย เพราะถ้าเผลอหลุดจากสมาธิเมื่อไร ก็โดนกิเลสงัดหงายท้อง ในเรื่องของวิปัสสนาญาณก็เหมือนกัน ถ้าเราเอาแต่พิจารณาอย่างเดียวโดยที่กำลังสมาธิไม่พอ ก็ตัดอะไรไม่ได้สักที

    เพราะว่าในเรื่องของสมถะ คือการภาวนา เหมือนอย่างกับคนเพาะกาย มีกำลังมาก วิปัสสนาภาวนาเหมือนอย่างกับอาวุธที่มีความคมมาก คนที่แข็งแรง มีอาวุธที่แหลมคม จะตัดจะฟันอะไรก็ง่าย ดังนั้น...ทั้งสองอย่างควรที่จะทำควบคู่กันไป ไม่เช่นนั้นแล้วในการภาวนาอย่างเดียว โอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนั้นยาก เพราะเราไม่รู้ว่าต้องใช้ระยะเวลายาวนานเท่าไรจึงจะกดกิเลสให้ตายคามือไปได้
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ส่วนของวิปัสสนานั้น เราพิจารณาได้ แต่ถ้ากำลังสมาธิไม่พอ ก็ตัดกิเลสไม่ได้ เหมือนกับคนมองเห็นเงาในน้ำ เอื้อมมือลงไปเมื่อไร เงานั้นก็แตกกระจายหมด ไม่สามารถที่จะหยิบจะจับขึ้นมาได้

    การปฏิบัติในบ้านเราบางสาย เน้นเรื่องวิปัสสนาภาวนาอย่างเดียว ทำให้ตัวเองต้องไปทุกข์ยากลำบาก เพราะว่าถึงเวลา รัก โลภ โกรธ หลง กินขึ้นมา วิปัสสนาก็รับมือไม่ไหว ดังนั้น...ถ้ามีโอกาส เราก็แอบเข้าสมถะของเรา อย่าทำตัวเป็นคนโง่ ให้ถอดเครื่องป้องกันทั้งหมดแล้วขึ้นไปต่อยกับแชมเปี้ยนโลกเฮฟวี่เวท ก็มีสิทธิ์ตายคาเวทีได้..! ต้องพกเครื่องป้องกันขึ้นไปให้เต็มที่ อาวุธมีเท่าไรขนไปให้หมด ถ้าลักษณะอย่างนั้น ถึงจะมีโอกาสชนะได้


    ดังนั้น...ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติมาตลอด แล้วหนักใจว่าเราไม่ได้พิจารณาวิปัสสนาญาณ เราจะมีโอกาสบรรลุมรรคผลไหม ? ขอยืนยันว่ามี แต่ถ้าเผลอเมื่อไร โดนกิเลสตีก็หงายท้องเอาง่าย ๆ

    ฝ่ายที่พิจารณาวิปัสสนาญาณอย่างเดียว จะหวังให้กำลังเพียงพอในการตัดกิเลสก็ยาก ควรที่จะเข้าสมาธิภาวนาอย่างเป็นทางการบ้าง จะเป็นเช้า ๑ รอบ กลางวัน ๑ รอบ เย็น ๑ รอบ ในระหว่างวัน แล้วเราค่อยพิจารณาของเราก็ตามใจ

    วันนี้ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมที่ฟังอยู่แต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...