อัลบั้มพระ ประวัติ และวัตถุมงคล

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย ปู ท่าพระ, 26 ธันวาคม 2013.

  1. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    13.jpg


    พรญามังราย(๕)
    พระญามังราย, พ่อขุนเมงราย, พ่อขุนเม็งราย

    ในตอนนี้ลองมาฟังเรื่องราวของพระญามังราย จากมุมมองของนักวิชาการหลายๆท่านที่ได้มาร่วมกันถก การอ่านประวัติศาสตร์นั้นจำเป็นต้องเปิดใจฟังในหลายๆมุม เพราะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นแต่อดีต ไม่มีใครเกิดทัน แต่ละคนที่บันทึกประวัติศาสตร์ก็จะใส่ความไปตามมุมมอง ความคิด ของตน หรืออาจจะบันทึกไปตามคำสั่งของใครบางคนก็อาจเป็นได้ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ตอน จะแบ่งเป็น 2 โพส นะครับ โพสละ 4 ตอน

    ***********************

    ปริศนาโบราณคดี : เสวนา 777 ปีชาตกาล"พระญามังราย"
    กับภารกิจการชำระสะสางประวัติศาสตร์ล้านนา

    โดยเพ็ญสุภา สุขคตะ และนักวิชาการอีกหลายท่าน

    เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ (ประเทศไทย) ได้จัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “777 ปี ชาตกาลพระญามังราย : การสร้างเมือง การบริหารรัฐ นโยบายรัฐสัมพันธ์ และมรดกทางประวัติศาสตร์” ณ ห้องประชุม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    เนื่องในโอกาส “ส่งท้ายปีชาตกาลของพระองค์ ที่เวียนมาบรรจบ 777 ปีในศักราชนี้” อาจเป็นงานสุดท้ายที่ลูกหลานชาวล้านนาร่วมรำลึกถึงท่านในรอบปี 2559
    หากคงมิใช่ภารกิจสุดท้ายแห่งการชำระสะสางประวัติศาสตร์ที่เราต่างก็ยังคงค้างคาใจเป็นแน่
    หรืออีกนัยหนึ่ง การเสวนาครั้งนี้อาจเป็นเพียงปฐมบทแห่งการชี้ประเด็นตั้งคำถามเกี่ยวกับพระญามังราย ที่เคยอมพะนำกันมานานเป็นครั้งแรกๆ มากกว่าด้วยซ้ำ

    พระญามังรายสำคัญอย่างไร ความที่พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรล้านนามานานกว่า 50 ปี มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเมืองต่างๆ ทั่วภาคเหนือ กล่าวคือ เกิดที่เชียงราย ยกทัพมาตีเมืองลำพูน แล้วจบลงด้วยการสร้างเมืองเชียงใหม่
    และยังเป็นกษัตริย์สองราชวงศ์ คือเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หิรัญนครเงินยาง และเป็นกษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์มังราย (อาณาจักรล้านนา)
    ดังนั้น จึงมีเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญทั้งเชิงบวกเชิงลบ ร้าวรันทดระคนพิสดารพันลึกเกิดขึ้นอย่างมากมายในรัชสมัยของพระองค์

    พระญามังรายเป็น “ลัวะ” จริงหรือ?
    “ลาวจง” VS “ลาวจก” ไผเป็นไผ


    วิทยากรร่วมเสวนาในเวทีนี้มีมากถึง 7 คน แต่ละคนต่างนำเสนอมุมมองใหม่ ที่มีต่อพระญามังราย และ/หรือประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในยุคของพระองค์ โดยเริ่มต้นจากผู้ที่เดินทางมาไกลที่สุด
    นายอภิชิต ศิริชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านเชียงรายศึกษา คนหนุ่มไฟแรง ได้เปิดประเด็นแรกด้วยการยิงคำถามเปรี้ยงว่าด้วยเรื่องชาติกำเนิดของพระญามังรายว่า
    “ตามที่เชื่อกันว่าพระญามังรายเป็นชาวลัวะนั้น ท่านเป็นลัวะจริงๆ ล่ะหรือ?”

    “อ้าว! แล้วเหตุผลใดเล่า ที่จะทำให้เราไม่อาจเชื่อได้ว่าพระญามังรายมิได้มีเชื้อสายลัวะ?” นี่คงเป็นคำถามที่นักวิชาการด้านล้านนาศึกษาหลายคนในห้องประชุม ตะโกนก้องในใจขณะรอฟังคำอธิบาย ที่อยากย้อนถามอภิชิตกลับอย่างตงิดๆ
    พระญามังรายเป็นโอรสของ “ลาวเม็ง” (ลาวเมง) กษัตริย์องค์ที่ 24 ของราชวงศ์ลาว ฝ่ายมารดาชื่อ “นางเทพคำขร่าย” ภาษาล้านนาออกเสียง “คำก๋าย”

    เอกสารฝ่ายสยามเล่มหนึ่งคือ พงศาวดารโยนก อภิชิตเห็นว่าเป็นตัวสร้างปัญหาในการแปลงชื่อของนางเทพคำขร่าย ให้กลายเป็น “นางเทพคำขยาย” ส่งผลให้แบบเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นยุคหลัง นำเอาหลักฐานของพงศาวดารโยนกนี้ไปใช้ต่อแบบผิดๆ ทั้งๆ ที่เอกสารฝ่ายพื้นเมืองล้านนาทุกฉบับไม่เคยปรากฏการใช้ตัว “ย” แทนตัว “ร” แต่อย่างใด
    นางเทพคำขร่าย เป็นราชธิดาของกษัตริย์เมืองเชียงรุ่ง ซึ่งเป็นชาวไทลื้ออย่างไร้ข้อกังขา
    พระญามังรายจึงเป็นลูกครึ่งที่มีเชื้อสายผสมระหว่างสองชาติพันธุ์อย่างแน่นอน กล่าวคือ สายแม่เป็นไทลื้อ หรืออาจเรียกลื้อเฉยๆ ส่วนฝ่ายพ่อนั้นเล่า เดิมเคยฟันธงกันว่า เป็นชาติพันธุ์ลัวะ
    อภิชิตตั้งคำถามว่า “ราชวงศ์ลาว” ของฝ่ายพ่อลาวเม็ง ในที่นี้ควรเป็นชาติพันธุ์ใดกันแน่ จะใช่ “ลัวะ” ตามความเข้าใจเดิมๆ กันอยู่ไหม?

    เขาได้ยกตัวอย่างผลงานของนักวิชาการระดับชาติคือ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนเรื่อง “ไทใหญ่ ไทน้อย ไทยสยาม” ที่ได้กล่าวว่า
    “ถ้ายึดตำนานแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ขุนเจื๋อง และพระญามังราย มีเชื้อสายลัวะอย่างแน่นอน เหตุเพราะสืบวงศ์มาจากปู่จ้าวลาวจก และลวจังกราชที่มาจากดอยตุง” อีกทั้งย้ำว่า “พระญามังรายไม่ใช่คนไททั้งในด้านวงศ์ตระกูลและชาติกำเนิด”

    อภิชิตยอมรับว่า ประวัติความเป็นมาของพระญามังรายนั้น มีความสัมพันธ์กับชาวลัวะอย่างแนบแน่น ดังมีตัวอย่างให้เห็นหลายเหตุการณ์ อาทิ ตอนที่พระญามังรายจะทำการยึดหริภุญไชย (ลำพูน) ก็มอบหมายให้ “อ้ายฟ้า” ขุนนางชาวลัวะเป็นผู้ดำเนินการ อาจเป็นเพราะชาวเมืองหริภุญไชยส่วนหนึ่งเป็นประชากรชาวลัวะ (อีกส่วนหนึ่งเป็นเม็งหรือมอญ) ก็เป็นได้ ทำให้ง่ายต่อการกลมกลืน

    “กำเนิดและล่มสลายเมืองโบราณเหนือแผ่นดินสยาม จากอดีตถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์เรื่องบ้านเมืองสำคัญของไทย” เขียนโดย “ภาสกร วงศ์ตะวัน” หน้า 81 เป็นอีกเล่มหนึ่งที่เชื่อว่า พระญามังรายเป็นชาวลัวะ โดยอ้างอิงงานของอาจารย์ศรีศักรว่า

    “ลาวจง ก็คือ ลวะ หมายถึงชาติพันธุ์ลัวะ ดังปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงแสนว่า ปู่จ้าวลาวจก เป็นขุนลัวะที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณดอยตุง เป็นพวกที่สูง ซึ่งมีความเจริญอยู่ก่อนแล้ว โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้แสดงความเห็นว่า พวกลัวะที่ว่านี้มีความเคลื่อนไหวและมีบทบาทสำคัญทำให้เกิดการสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นในแอ่งเชียงรายเชียงใหม่”

    อภิชิตกล่าวว่า แนวคิดเช่นนี้ถูกผลิตซ้ำมานานกว่า 40-50 ทศวรรษ พร้อมกับอ่านเนื้อหาที่อาจารย์ศรีศักรเขียนในเล่มดังกล่าวต่อไปอีกว่า
    “ในขณะที่อีกฝ่าย คงเสียดายความยิ่งใหญ่ของพระญามังราย เลยพยายามจะให้พระองค์เป็น “ไท” หรือไม่ก็ใกล้เคียงให้ได้ จึงได้ใช้หลักฐานที่กล่าวถึง ลาวจง ปฐมกษัตริย์ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์พร้อมบริวาร 1,000 คน ซึ่งก็สันนิษฐานกันว่า น่าจะคือเผ่าไทที่อพยพเข้าไปในดินแดนของลัวะ ว่างั้น (สะท้อนถึงความไม่เชื่อ) และมีบางท่านกล่าวว่า ลาวจง หรือลาวจก เป็นชื่อที่ตำนานเก่าแก่ใช้และมีการแปลงเป็นบาลี กลายเป็นลวจักราช หรือลาว ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับ อ้ายลาว อาณาจักรโบราณ”

    การที่อภิชิตหยิบยกข้อความที่อาจารย์ศรีศักรเขียนมานี้ เพื่อจะบอกว่า อาจารย์ศรีศักรไม่เห็นด้วยกับผู้ที่พยายามอธิบายว่าพระญามังรายเป็นคนไท เพราะเชื่อว่าพระองค์เป็นชาวลัวะ
    อภิชิตกล่าวต่อไปว่า ชุดความรู้เหล่านี้ เริ่มต้นมาจากการเขียน พงศาวดารเล่มที่ 61 พิมพ์ครั้งแรกในปี 2479 โดยมีการนำต้นฉบับจากเชียงแสน เชียงใหม่ และหลายๆ ที่ไปรวบรวม และเรียบเรียงจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อให้อ่านเป็นภาษาไทยกลางแบบง่ายๆ
    ในประชุมพงศาวดารเล่มที่ 61 นี้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของอาณาจักรโบราณในเมืองเชียงราย 2 เมือง

    1. เมืองโยนกนาคพันธุ์ ปรากฏในตำนานสิงหนวัติกุมาร
    และ 2. เมืองหิรัญนครเงินยาง ปรากฏในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ซึ่งอภิชิตมีคำถามต่อการตั้งชื่อตำนานทั้งสองเล่มที่ผลิตขึ้นมาใหม่
    เล่มแรก ชื่อตำนานสิงหนวัติกุมารนี้มีข้อน่าเคลือบแคลงใจ เพราะตำนานเนื้อหาเดียวกันในล้านนาทุกฉบับล้วนแต่เรียกว่า “สิงหนติ” ไม่มีฉบับไหนเรียก “สิงหนวัติ” ทำไมจึงต้องเปลี่ยนชื่อในคราวเขียนประชุมพงศาวดารเล่มที่ 61?
    เนื้อหาใน ตำนานสิงหนวัติ กล่าวถึงเจ้าชายสิงหนวัติ (ซึ่งอภิชิตขอเรียกว่า สิงหนติ ทุกคำ) ได้มาสร้างเมืองโยนก (ในอดีตเรียก “สิงหนนคร”) มีกษัตริย์สืบต่อมาคือ “พันธนติ” และ “อชุตราช” ผู้ที่เราคุ้นหูกันดี เนื่องจากมีชื่อท่านปรากฏในตำนานพระธาตุดอยตุง
    จากจุดตรงนี้นี่เองที่ทำให้เกิดคำว่า “ลาวจก” แบบมีตัวมีตนขึ้นมา ว่าใน พ.ศ.561 พระเจ้าอชุตราช ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานที่พระธาตุดอยตุง โดยไปซื้อที่ดินของ “ปู่จ้าวลาวจก” อชุตราชได้ขอให้ปู่จ้าวลาวจกและย่าเฒ่าลาวจกเป็นผู้เฝ้าดูแลพระธาตุ ในตำนานเกริ่นว่า ปู่จ้าลาวจกเป็นผู้มีฐานะดี เป็นหัวหน้าคล้ายๆ Land Lord มีจก “จอบ” (ขอบก) ถึง 500 ด้าม แสดงถึงอิทธิพลด้านเกษตรกรรม มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยในยุคนั้น
    เรื่องราวของปู่จ้าวลาวจก ไม่ได้กล่าวถึงอะไรอีกมากนัก บอกแค่ว่ามีลูกสามคนที่แบ่งให้ครองเมืองต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจคือมีการกล่าวว่า ปู่จ้าวลาวจกไล่ให้คนที่ทำไร่ทำนาบนพื้นที่สูงนำพืชผลลงมาขายให้แก่คน “ไทโยน” แห่งคว้นโยนกนาคพันธุ์ ที่อยู่ทางด้านล่าง อภิชิตเชื่อว่าจากข้อความทั้งหมดบ่งชี้ว่า “ปู่จ้าวลาวจก” น่าจะเป็นชาวลัวะ

    กรณีของ “ลาวจง” ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ลาว ขึ้นปกครองเมือง “เชียงลาว” ในปีที่พระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งพุกาม ตัดศักราช ตรงกับ จ.ศ.1 หรือ พ.ศ.1181
    อนึ่ง ในช่วงแรกนั้น ราชธานีของราชวงศ์ลาวยังไม่ใช่เมืองหิรัญนครเงินยาง หรือที่ประชุมพงศาวดารเล่มที่ 61 เขียนว่า “เงินยางเชียงแสน” แต่อย่างใด เพราะเมืองหิรัญนครเงินยาง สร้างขึ้นภายหลังโดยลาวเคียง กษัตริย์องค์ที่ 8 แล้ว อีกทั้งเมืองเงินยางก็ไม่ได้มีทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณเมืองที่เรียกว่าเชียงแสนแต่อย่างใดด้วย

    นับจากกษัตริย์ลาวจง ถึงกษัตริย์ลาวเม็ง ราชวงศ์ลาวมีกษัตริย์ 23 องค์ คือนับจาก พ.ศ.1181 ถึง 1782 ก็ถือว่ามีความสมเหตุสมผล เพราะเฉลี่ยแล้วกษัตริย์แต่ละพระองค์ครองราชย์ประมาณองค์ละ 28 ปี

    กระทั่งลาวเม็งสวรรคต พ.ศ.1802 พระญามังรายได้ขึ้นครองเมืองหิรัญนครเงินยาง (อยู่ในเชียงราย ไม่ใช่เชียงแสน) สืบต่อในปีนั้น
    สรุปแล้ว “ลาวจก” กับ “ลาวจง” มีอายุห่างกันถึง 620 ปี จึงย่อมเป็นคนละคนกัน คนละยุคสมัยกัน แล้วไฉนอาจารย์ศรีศักร จึงกล่าวว่า “พระญามังรายเป็นชาวลัวะที่สืบมาจากบรรพบุรุษที่ชื่อว่า ปู่จ้าวลาวจก?”

    การตีความดังกล่าวถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการชำระสะสาง ทั้งๆ ที่ในภาษาบาลีเขียนแยกกันไว้ชัดเจนว่า ลาวจก = ลวจักราช ส่วน ลาวจง=ลวจังกราช
    ส่วนคำว่า ลาว ลว และ ลัวะ ในอักษรธัมม์ล้านนาหรือตั๋วเมือง ก็เขียนกันคนละอย่าง และอ่านแตกต่างกัน ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะอ่าน “ลว” (ละวะ) ให้เป็น “ลัวะ” ได้ สะท้อนว่ารากศัพท์คำเหล่านี้เป็นคนละคำกัน
    หลังจากนครโยนกนาคพันธุ์งมี “สิงหนติ” เป็นต้นวงศ์ล่มสลาย เริ่มมีการปรึกษาหารือกันเรื่องการตั้งเมืองใหม่ เรียกบริเวณนั้นว่า “เวียงปรึกษา” อุปมาอุปไมยคล้ายกับเป็นหมุดหมายแห่งประชาธิปไตยครั้งแรกบนแผ่นดินสยาม?

    กรณีเกิดแผ่นดินไหวจนเวียงโบราณต้องล่มสลายไปในเขตพื้นที่เชียงรายนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเขตภาคเหนือตอนบน ยังคงมีปรากฏเรื่องแผ่นดินไหวให้เห็นเป็นปกติจนทุกวันนี้ แต่อภิชิตเชื่อว่าประชากรไม่ได้ล้มหายตายจากไปเสียทั้งหมด กลุ่มหนึ่งรอดตายจึงไปตั้งเวียงปรึกษา
    ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มของ “ลาวจง” ได้ไปสร้างเวียง “เชียงลาว” แต่การที่จะให้ใครก็ไม่ทราบ ไร้หัวนอนปลายเท้าขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ จำเป็นต้องเพิ่มความชอบธรรมของพระองค์ ตำนานจึงผูกเรื่องว่าการขึ้นเป็นกษัตริย์ของลาวจงได้นั้น เพราะทรง “ก่ายเกิ๋น” หรือไต่บันไดสวรรค์ลงมาจากชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ไปบำเพ็ญบารมีมานานถึง 200 ปี เป็นการเขียนเพื่อเพิ่มเกียรติยศและศักดิ์ศรีให้ท่าน ว่าไม่ได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ลอยๆ โดยปราศจากที่มาที่ไป
    ทว่า ชินกาลมาลีปกรณ์ หลักฐานที่เขียนขึ้นในยุคล้านนา ราว พ.ศ.2000 ต้นๆ ไม่มีเรื่องของ เกิ๋น หรือบันไดสวรรค์ ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ระบุว่า ลาวจง จุติมาแบบ โอปปาติกะ

    โอปปาติกะ ในความหมายของชินกาลมาลีปกรณ์ หมายถึง การที่ “ลาวจง” สามารถหนีรอดชีวิตมาได้จากแคว้นโยนกนาคพันธุ์ที่ล่มสลายไป และประชากรมากกว่า 90% ต้องเสียชีวิต แต่ “ลาวจง” ถือว่าเป็นผู้เกิดใหม่ จึงมีความชอบธรรมที่จะตั้งตัวเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ใหม่ได้
    หากเป็นดังนี้ “ลาวจง” ย่อมจะเป็นชาว “โยนก” หรือ “ไทโยน” ที่หนีตายมาได้ ย่อมไม่ใช่ชาวลัวะดังที่ใครๆ เข้าใจกัน

    ส่วนกรณีที่พระญามังราย ให้ความสำคัญแก่พิธีกรรมตามฮีตฮอยของชาวลัวะนั้น อาจไม่สามารถใช้เป็นเครื่องชี้วัดได้ทั้งหมดว่าท่านต้องมีเชื้อสายลัวะ เพราะยุคสมัยของพระองค์เกิดการหลอมรวมประชากรในลักษณะ พหุสังคม หรือพหุชาติพันธุ์ ดังนั้นการหยิบยืมเอาจารีตประเพณีของชาวลัวะมาใช้บ้างก็ย่อมเกิดขึ้นได้
    ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวจากการศึกษาของ อภิชิต ศิริชัย นักวิชาการอิสระรุ่นใหม่ ที่โยนระเบิด (นี่เพียงแค่ลูกแรก) ให้วิทยากรที่เหลืออีก 6 คน ต้องเตรียมงัดเหตุผลมาสนับสนุนหรือคัดง้าง
    ***********

    พระญามังรายสนใจเรื่องการค้ามากกว่าศาสนา?
    วิทยากรคนถัดไป คือ อ.ดร.สุวิภา จำปาวัลย์ นักวิจัยชาวลำพูน ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมล้านนา สังกัดสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมาเปิดประเด็นเรื่องพระญามังรายยึดเมืองลำพูน
    อันที่จริงในงานเสวนา ดร.สุวิภา พูดเป็นลำดับที่ 3 ต่อจาก อ.เกริก อัครชิโนเรศ ซึ่งพูดเรื่องการที่พระญามังรายเตรียมสร้างเมืองเชียงใหม่
    แต่ในที่นี้ ดิฉันขอสลับเอามุมมองของ ดร.สุวิภา มานำเสนอเป็นลำดับที่ 2 ก่อน เพื่อให้ภาพเหตุการณ์ชีวประวัติของพระญามังรายเรียงตามลำดับอย่างต่อเนื่อง
    คือเริ่มจากการที่พระองค์กำเนิดที่เชียงราย ต่อมาได้วางแผนยึดเมืองลำพูน และจากนั้นจึงไปสร้างเมืองเชียงใหม่

    ดร.สุวิภา มองว่า ชาวลำพูนและเอกสารต่างๆ ของเมืองลำพูนมักไม่ค่อยพูดถึงพระญามังรายเท่าใดนัก แม้ว่าปีนี้จะครบรอบชาตกาล 777 ปีของพระองค์ เมื่อเทียบกับการตื่นตัวของชาวเชียงรายและชาวเชียงใหม่ เนื่องจากประวัติศาสตร์ของลำพูน มีวีรสตรีที่โดดเด่นเป็นที่ยกย่องเชิดชูของชาวลำพูนอยู่แล้ว นั่นก็คือ “พระนางจามเทวี”

    ซ้ำร้าย หากมองในแง่ลบ พระญามังรายอาจคล้ายผู้ร้ายในสายตาชาวลำพูนก็เป็นได้ ในฐานะที่มาทำลายอาณาจักรหริภุญไชยจนล่มสลาย (ข้อความนี้ ดร.สุวิภา ไม่ได้กล่าวในที่ประชุม หรืออาจคิดในใจอยู่บ้าง ดิฉันจึงนำมาขยายความแทน)

    เหตุผลที่พระญามังรายอยากได้นครหริภุญไชยนั้น ดร.สุวิภา มองว่าเพราะพระญามังราย “มีนิสัยพ่อค้า” คือให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เหตุที่พระองค์ได้ฟังเหล่าพ่อค้าวาณิชที่เพิ่งเดินทางกลับจากการไปค้าขายที่เมืองลำพูนมาเล่าบ่อยครั้งว่า
    “หริภุญไชยนี้มีอานุภาพนัก มีพระธาตุสถิตอยู่กลางเวียง ในเมืองมีกาด (ตลาด) มากมาย ผู้คนสนใจการค้าขาย”

    ด้วยเหตุนี้พระญามังรายจึงมอบหมายให้ “อ้ายฟ้า” ขุนนางชาวลัวะวางแผนไปปฏิบัติการยึดเมืองลำพูนนานถึง 7 ปี ทั้งนี้ทั้งนั้นหากได้เมืองลำพูนก็สามารถขยายเส้นทางการค้า จากเมืองบนภูเขาซึ่งไม่มีทางออกทะเล ไปสู่ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง ซึ่งสามารถตัดผ่านแม่สอดออกเมืองท่าที่อ่าวเมาะตะมะได้

    พระญามังรายมีวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนที่แตกต่างไปจากชาวหริภุญไชย คือเคยนับถือผีบรรพบุรุษมาก่อน ดังนั้น เมื่อยึดลำพูนได้ซึ่งเป็นเมืองพุทธแบบฝังรากลึกมานานกว่า 600 ปี พระญามังรายจึงไม่สามารถอยู่ที่เมืองลำพูนได้โดยสนิทใจ จำต้องออกไปแสวงหาการสร้างเวียงใหม่แทน นั่นคือเวียงกุมกาม
    แม้กระนั้นภายหลังพระญามังรายก็หันมาเข้ารีตนับถือศาสนาพุทธ ตำนานในยุคหลังหลายเล่ม ก็พยายามเขียนในเชิงสร้างภาพให้พระญามังรายเป็นพุทธศาสนิกชนผู้อุปภัมภกพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าในทำนองว่า

    พระญามังรายโปรดให้ทำนุบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจ้าหริภุญไชยบ้าง หรือตอนไปอยู่เวียงกุมกามแล้ว ได้พบกับพระภิกษุชาวลังกา บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จนได้รับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากพระภิกษุลังกาแล้วนำไปประดิษฐานไว้ในพระธาตุกู่คำบ้าง
    ทั้งๆ ที่ในเอกสารสำคัญหลายฉบับที่เขียนราว 500 ปีก่อน เช่น ตำนานมูลศาสนา กล่าวแต่เพียงว่าหลังจากที่พระญามังรายสละเมืองลำพูนออกไปสร้างเวียงใหม่แล้ว โปรดให้พระเถรานุเถระดำเนินการบูรณะพระธาตุหริภุญไชยกันเอง
    ชีวประวัติของพระญามังรายสมัยประทับอยู่เวียงกุมกาม มีการระบุว่าโปรดให้ขุดดินจากหนองมาสร้างกู่คำ
    จากนั้นพระองค์ได้ยินเรื่องราวอานิสงส์ของ “การต่อนิ้วพระพุทธรูป” จากพระภิกษุชาวลังกา ทำให้พระญามังรายไปบนบานสานกล่าวว่าหากไปทำสงครามแล้วได้ชัยชนะ จะกลับมาต่อนิ้วให้พระเจ้า (การยืดอายุให้พระพุทธรูป)
    ครั้นเมื่อพระญามังรายได้รับชัยชนะจริง เสร็จสงครามกลับมาจึงสร้างพระพุทธรูปตามสัจจะ คล้ายการแก้บน สะท้อนว่าพระญามังรายมีความเชื่อเรื่องบนบานสานกล่าว (ที่อาจตกค้างมาจากชาวลัวะ?)

    ส่วนเรื่องเจดีย์กู่คำ (เจดีย์เหลี่ยม) นั้น เอกสารหลายเล่มกลับเขียนแบบขัดแย้งกันเองว่า เป็นกู่สถูปบรรจุอัฐิของพระมเหสีพระญามังรายองค์หนึ่ง ทำให้เกิดปริศนาตามมาว่า ความพยายามสร้างภาพให้พระญามังรายมีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้านั้น เป็นการมาแต่งเติมเนื้อหาขึ้นในภายหลังหรือไม่
    (เรื่องที่พระญามังรายพบพระภิกษุลังกาก็ดี มีการเอาพระธาตุมาบรรจุในกู่คำ กับที่วัดกานโถมก็ดี)

    การอุปโลกน์เอาพระญาเบิก
    ไปรวมกับศาลเจ้าพ่ออุโมงค์ขุนตาน
    ดร.สุวิภา ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่ง คือตอนที่พระญามังรายตีลำพูนแตก พ.ศ.1824 ขณะนั้นกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรหริภุญไชยมีชื่อว่า “พระญาญีบา” ได้แตกหนีข้ามขุนตานไปทางลำปาง เพื่อไปขอกองกำลังช่วยเหลือจากราชโอรสซึ่งเป็นกษัตริย์นั่งเมืองเขลางค์นคร หรือลำปางให้ยกทัพมาช่วย
    โอรสพระองค์นั้นมีนามว่า “พระญาเบิก”

    พระญาเบิกต้องต่อสู้กับโอรสของพระญามังราย นามว่า “ขุนคราม” (ต่อมาคือ พระญาไชยสงคราม กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 2 ต่อจากพระญามังราย) เส้นทางการหลบหนีของพระญาเบิกคือไปทางหนองหล่ม ทาสบเส้า ดอยบาไห้ จนบาดเจ็บ และในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ที่ดอยขุนตานนั้น

    ชาวบ้านจึงตั้งศาลบนดอยขุนตานเพื่อบูชาดวงพระวิญญาณของพระญาเบิก ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นชื่อที่เรียกกันว่า “เจ้าพ่อขุนตาน” ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูและความกล้าหาญ
    เรื่องของพระญาเบิกนี้ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงท่านละเอียดพิสดารออกไปมากกว่าเอกสารฉบับอื่น คือให้ข้อมูลว่า การสู้รบระหว่างพระญาเบิกกับขุนครามนั้นไม่ได้สิ้นสุดลงง่ายๆ แค่เพียงปีเดียว แต่พระญาเบิกได้ไปซ่องสุมผู้คนและเสบียงนานถึง 14 ปี หลังจากนั้นพยายามยกทัพมาเพื่อตีเอาเมืองลำพูนคืนจากพระญามังราย แต่ในการรบกับขุนครามนั้น พระญาเบิกเพลี่ยงพล้ำ

    แม้พระญาเบิกรู้ว่าความพ่ายแพ้กำลังมาเยือน ก็ยังสั่งให้แม่ทัพนายกองถอยหนีไปทางฝั่งลำปาง แพร่ เพื่อดูแลพระราชบิดาของตน ด้วยการเอาร่างทอดนอนขวางเส้นทาง
    ในหมู่นักรบนั้น จะมีกติกาลูกผู้ชายอยู่ข้อหนึ่งคล้าย “ไม้ล้มอย่าข้าม” ว่า เมื่ออีกฝ่ายแพ้แล้ว ทหารฝ่ายชนะจะไม่ข้ามศพแม่ทัพอีกฝ่ายหนึ่ง การทอดร่างของพระญาเบิกครั้งนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารฝ่ายขุนคราม ยกกองทัพตามไปตีพระญาญีบาผู้เป็นพระราชบิดา
    ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว หากจะมีการนับถือพระญาเบิกในฐานะวีรบุรุษหรือเจ้าพ่อแห่งขุนตาน ซึ่งรถทุกคันเมื่อข้ามผ่านซูเปอร์ไฮเวย์ตรงรอยต่อดอยขุนตาน จุดชนแดนระหว่างลำพูน-ลำปาง มักแสดงการคารวะต่อท่านด้วยการบีบแตร
    ปัญหาก็คือ บริเวณข้างล่างตรงอุโมงค์รถไฟขุนตาน ก็ได้มีการบูชาศาล “เจ้าพ่อพระญาเบิก” ด้วยอีกแห่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น อุโมงค์แห่งนี้เพิ่งก่อสร้างในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 นี่เอง

    ผู้ควบคุมการก่อสร้างคือ ดร.ไอเซนโฮเฟอร์ วิศวกรชาวเยอรมัน ซึ่งในระหว่างนั้นได้รวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญหลายชิ้นที่คณะวิศวกรอ้างว่า อาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากแรงสั่นขณะสร้างอุโมงค์ จึงไปเอาพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ มาไว้รวมกัน
    ต่อมาเมื่อสร้างอุโมงค์เสร็จ โบราณวัตถุหลายชิ้นยังตกค้างไม่ได้รับการลำเลียงส่งกลับคืนวัด ดังเช่นพระพุทธรูปสององค์ องค์หนึ่งได้มาจากวัดทากู่แก้ว และอีกองค์ได้มาจากวัดเจ้าพ่อขุนตาน ชาวบ้านได้นำพระพุทธรูปสององค์นี้ไปตั้งไว้ในศาลใกล้อุโมงค์ขุนตาน
    แล้วเรียกศาลนั้นว่า “ศาลบูชาเจ้าพ่อพระญาเบิก” แถมในแต่ละปียังมีการประกอบพิธีบวงสรวงโดยร่างทรงจากทั่งทุกสารทิศมาทำพิธีอะไรต่อมิอะไรมากมาย
    ทั้งๆ ที่เรื่องราวเกี่ยวกับการล้มตายเสียสละชีวิตของผู้สร้างอุโมงค์รถไฟขุนตานนั้น ล้วนเป็นคนงานหรือกรรมการชาวจีนสูบฝิ่น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับวีรกรรมของพระญาเบิก
    เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตราบที่ประวัติศาสตร์ยังไม่มีการชำระสะสางแล้วเรียบเรียงเผยแพร่ให้ถูกต้อง ปล่อยให้คลุมเครืออยู่แบบนั้น อนุชนรุ่นหลังย่อมฉกฉวยนำเอาเหตุการณ์ที่ต่างกรรมต่างวาระมาจับแพะชนแกะ อุปโลกน์เชื่อมโยงให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อหวังผลประโยชน์บางประการได้เสมอ

    ยิ่งยุคสมัยหนึ่ง ราว 4-5 ทศวรรษที่แล้ว ได้มีนักเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบางท่าน เช่น สงวน โชติสุขรัตน์ กับ มหาสิงฆะ วรรณสัย พยายามดึงเอา “ตำนานพื้นเมือง” กับ “มุขปาฐะ” หรือเรื่องเล่า มาผนวกเข้าด้วยกัน แล้วเขียนย่อยให้เป็น “ประวัติศาสตร์เสมือนจริง” โดยไม่ได้อ้างอิงหลักฐานต้นฉบับของตำนานยุคก่อน แต่ดึงข้อมูลมาเพียงบางส่วนบางตอนที่ตนสนใจ จากนั้นก็ตั้งสมมติฐานเพิ่ม จินตนาการต่อว่าเรื่องควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
    มุมมองของ ดร.สุวิภา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทุกวันนี้ ที่เราไม่ควรทำแค่เพียงนั่งชำระเอกสารในห้องสี่เหลี่ยม แต่ต้องหมั่นลงพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์ชาวบ้าน จะได้รู้แน่ชัดว่าคนในแต่ละพื้นที่มีพื้นฐานการรับรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนกันอย่างไร ได้ยินได้ฟังอะไรมาบ้างแล้ว
    ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้มาจากชุมชน ก็ยังมิใช่สิ่งที่น่าเชื่อถือได้ทั้งหมด นอกจากจะตรวจสอบความจริง-เท็จแล้ว เรายังต้องนำมาไต่สวนอีกด้วยว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในชุมชนพร้อมที่จะเชื่อเช่นนั้น
    **********
    อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ปราชญ์ล้านนาด้านภาษาและประวัติศาสตร์คนสำคัญ ได้เปิดประเด็นเรื่อง “การสร้างเมืองเชียงใหม่” ของพระญามังราย ว่าเหตุการณ์ตอนนั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
    ไม่อยากให้ทุกคนมองข้ามด้วยการอ่านผ่านๆ ลวกๆ
    ทั้งหมดปรากฏอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” แล้ว
    ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เขียนต้นฉบับเป็นอักษรธัมม์ล้านนา มีผู้ปริวรรตเป็นภาษาไทยกลางหลายสำนวน อาทิ ฉบับของ ดร.ฮันส์ เพนธ์ แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับของศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ปริวรรตร่วมกับ ดร.เดวิท เค. วัยอาจ ฉบับของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคณะของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร มีแม้กระทั่งฉบับภาษาฝรั่งเศส ของอดีตกงสุลทูต “กามีย์ นอตอง” (Camille Notton)
    แต่งานที่อาจารย์เกริก จะนำมา Review Literature ในที่นี้ ขอใช้ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เวอร์ชั่น ฉบับครบรอบเชียงใหม่ 700 ปี
    เพราะเป็นเวอร์ชั่นที่ปริวรรตโดย ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ผู้ที่อาจารย์เกริกให้ความเคารพนับถือ เสมือนเป็นบิดาทางวิชาการของเขานั่นเอง
    “แรงขับ” ของพระญามังราย

    ตามทฤษฎี “ซิกมันด์ ฟรอยด์”
    อาจารย์เกริก กล่าวว่า เมื่อพินิจพิเคราะห์ถึงมูลเหตุหรือวัตถุประสงค์ของการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพระญามังรายนั้น เกิดขึ้นด้วย “แรงขับ” ตามทฤษฎีของนักจิตวิเคราะห์ชื่อก้องโลกกล่าวไว้ถึงสัญชาตญาณ หรือปมความต้องการของมนุษย์นั้นมีอยู่สามประการจริง คือ
    หนึ่ง ความต้องการทางเพศ
    สอง ความต้องการด้านวัตถุสิ่งของ
    สาม ความมักใหญ่ใฝ่สูง ในยศถาบรรดาศักดิ์

    ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้ หากโยงกับทางหลักของพุทธศาสนาแล้ว อาจจะใช้คำว่า “ธาตุอกุศลมูล” สามประการก็ย่อมได้ กอปรด้วย โลภะ โทสะ และโมหะ
    เพราะหากปราศจากเสียซึ่งความปรารถนาหรือแรงขับในด้านใดด้านหนึ่งแล้ว เชื่อว่าพระญามังรายคงไม่สามารถสร้างเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ
    อาจารย์เกริกกล่าวว่า ความปรารถนาในด้านที่สองกับด้านที่สาม คือด้านชื่อเสียงเกียรติยศและเงินตรานั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดกันดีอยู่แล้ว สำหรับขัตติยราชะทั้งหลาย
    ในที่นี้จึงขอถอดรหัสของแรงขับแรกที่คนทั่วไปมองไม่เห็น นั่นคือด้าน “แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา” ของพระองค์ เพราะอาจารย์เกริกสงสัยในพฤติกรรมของพระญามังรายมานานแล้วว่า
    “บุรุษที่อายุ 57 ปี มีลูก มีชายามาแล้วหลายองค์ ไฉนจึงยังนอนฝันถึงสาวอยู่?”
    เหตุการณ์เกิดขึ้นใน พ.ศ.1834 เมื่อพระญามังรายอายุได้ 57 ปี ขณะประทับอยู่ที่เวียงกุมกาม (ราชธานีชั่วคราวหลังจากที่ตีลำพูนได้) เริ่มมีแนวคิดเสาะแสวงหาสถานที่สร้างราชธานีแห่งใหม่แทนที่เดิมซึ่งน้ำท่วมถึง
    จึงค่อยๆ พาบริวารมาตั้งพลับพลาชั่วคราวทางทิศตะวันตกเหนือของเวียงกุมกาม เริ่มจาก “บ้านแหน” เพื่อเล็งหาไชยภูมิสถานที่เหมาะสม ให้พวกบริวารเอา “หน่าง” ภาษาล้านนาหมายถึง “ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ๆ” มากางเป็นรั้วให้เรียกบริเวณนั้นว่า “รั้วหน่าง” (ปัจจุบันคือบริเวณที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่)

    พระญามังรายยั้งนอนที่นั่น 3 คืน ก็ไม่เห็นนิมิตอันใด จึงย้ายสถานที่เขยิบออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออีกหน่อย ให้ไพร่พลช่วยกันขุดคันดินขึ้นมาเป็นรั้วป้องกัน เรียกบริเวณนั้นว่า “เจียงเฮือก” (หรือเชียงเรือก อยู่แถววัดอู่ทรายคำ) ยั้งนอนอีก 3 คืนก็ไม่บังเกิดนิมิตใดๆ อีกเช่นเคย แสดงว่ายังไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมจะสร้างบ้านแปลงเมือง จึงเขยิบมาที่ราวป่าแห่งหนึ่ง
    ราวป่าแห่งนี้น่าประหลาดใจยิ่ง ด้วยพระญามังรายนิทราทั้ง 3 คืน ได้นิมิตเห็นสตรีรูปโฉมงามยิ่งนักมายิ้มหวานยั่วยวน แต่ในตำนานบอกว่าพระญามังรายไม่สนพระทัย จุดที่พระญามังรายฝันเห็นสาวงามเรียกกันว่า “เชียงโฉม” (อยู่บริเวณประตูป่อง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่)

    พระญามังรายย้ายสถานที่อีกครั้ง เพื่อยั้งนอน 3 คืนเผื่อว่าจะเห็นนิมิตอื่น แต่แล้วแม่ญิงงามนางเดิมหวนกลับมาปรากฏให้เห็นในฝันอีกเป็นคำรบสองทั้ง 3 คืน (หลักฐานทั้งหมดปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี หน้า 31) พระญามังรายก็ยังใจแข็งไม่ใส่ใจต่อสิ่งเย้ายวนนั้นอีก

    บริเวณที่ฝันเห็นแม่ญิงรูปโฉมโนมพรรณอันสะคราญครั้งหลังนั้น มีชื่อว่า “เชียงทุม” แต่แล้วพระญามังรายตัดใจเดินทางกลับมายังเวียงกุมกาม ขบวนหยุดพักใต้ต้นลาน จึงสร้าง “เชียงลาน”
    นัยจากข้อความนี้ ต้องการจะบอกกับผู้อ่านว่า ทั้งๆ ที่พระญามังรายฝันเห็นแม่ญิงงามมาตามตื๊อถึงหกคืนซ้อน แต่ความงามของอิตถีเพศก็หาได้มีอำนาจ มิอาจเอามาล่อดึงความสนพระทัยของพระองค์ให้เบี่ยงเบนไปจากปณิธานอันแรงกล้า ในการที่จะสร้างเมืองใหม่นั้นได้เลย
    แต่แท้จริงแล้ว นิมิตนี้กลับเป็นนัยสำคัญ ที่ผลักดันให้พระญามังรายต้องหวนกลับมาเลียบๆ เคียงๆ บริเวณเดิมนั้นอีก เพียงแต่ว่าการกลับมาครั้งใหม่นี้ จำเป็นต้องอ้าง “สิ่งอื่นที่ดูศักดิ์สิทธิ์” กว่าแทน เพื่อเบี่ยงเบนมิให้ใครล่วงรู้ถึงแรงปรารถนาด้านเพศรสของพระองค์
    เมื่อกวางเผือกชนะหมาไล่เนื้อ
    ลอมคานี้ย่อมคือที่ของข้า
    พระญามังรายกลับคืนสู่เวียงกุมกามจนผ่านพ้นไปอีกหนึ่งเหมันต์ ก็ทรงช้างคู่บารมีชื่อ “พลายมังคละ” พร้อมหมู่โยธาบริวาร เดินทางลัดเลาะเลียบแม่ปิงมาถึงตีนดอยสุเทพ หรือชื่อภาษาบาลีว่า “ดอยอุจฉุปัพพตะ” (อุจฉุ หรืออุสุ แปลว่า อ้อยช้าง, ปัพพตะ คือบรรพต แปลว่าภูเขา)
    คราวนี้พระญามังรายได้เห็นสิ่งอัศจรรย์บังเกิดขึ้นต่อสายตาของตัวเองชัดๆ นั่นคือ ที่ลอมคาน้อยแห่งหนึ่ง ล้อมรอบด้วย “หญ้ามุ้งคะต่าย” มีฟานเผือก (กวางเผือก) 2 แม่ลูกอาศัยอยู่ ขณะออกมาหาอาหารจากลอมคา มีหมาไล่เนื้อจำนวนมากคอยเฝ้าแหนห้อมจะรุมทำร้าย แต่กวางเผือกก็มีความกล้าไม่กลัวเกรงต่อฝูงหมา ซ้ำไล่สัตว์ที่ดุร้ายกว่าเสียกระเจิดกระเจิง

    พระญามังรายครุ่นคิดว่า ไชยภูมิบริเวณลอมคาของกวางแห่งนี้ สมควรสร้าง “คุ้มวังมณเฑียรหอนอน” ดีแท้เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล จากนั้นจึงให้พลทหารจับเอากวาง 2 แม่ลูก ย้ายไปอยู่ทิศเหนือใกล้น้ำแม่หยวก สร้างรั้วล้อมให้เป็นที่อาศัยเรียก “เวียงฟาน”
    จากเหตุการณ์วีรกรรมอันกล้าหาญของกวาง 2 แม่ลูก พระญามังรายจึงทำนายว่า ในอนาคตภายหน้า เมืองนี้จักมี “พระญาแม่ลูกอยู่เสวยราชสมบัติสืบไป” อาจารย์เกริกตีความว่า กษัตริย์สองแม่ลูกที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งราชวงศ์มังราย ก็น่าจะได้แก่คู่ของ กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 ผู้มีพระนามว่า พระเมืองแก้ว และพระมหาเทวีหรือพระราชมารดาของพระองค์ผู้มีพระนามว่า พระนางโป่งน้อย

    คำทำนายตอนนี้ อาจารย์เกริกเชื่อว่าเป็นการมาเขียนเพิ่มต่อเติมขึ้นภายหลังในยุคพระเมืองแก้ว เพื่อเสริมสร้างบารมีของพระองค์เองให้ยิ่งใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นนั่นเอง
    เมื่อย้ายกวางออกจากบริเวณลอมคาเดิมที่ได้ต่อสู้กับสุนัขจนได้รับชัยชนะนั้นแล้ว พระญามังรายให้คนลงไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวอย่างละเอียด เพราะต้องการใช้พื้นที่นี้ก่อตั้งราชมณเฑียรจริง สืบไปสาวมาได้ความว่า สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า “เหล่าคาสวนขวัญ” เคยเป็นที่อยู่ของผู้ปกครองหัวหน้าชุมชนมาแต่ก่อน
    สะท้อนให้เห็นว่า บริเวณเมืองเชียงใหม่ก่อนหน้าที่พระญามังรายจะเลือกสร้างให้เป็นราชธานีถาวรนั้น เคยมีชุมชนชาวบ้านอาศัยกันมาก่อนแล้ว อาจเป็นชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง (ลัวะ หรือเม็ง?) หรือหลากหลายชาติพันธุ์? แต่ความเป็นอยู่ยังไม่เจริญมากนัก เพราะขณะนั้นศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่ลำพูนหรือหริภุญไชย แต่ก็ยังมีหัวหน้าชนเผ่า และบริเวณลอมคาที่กวาง 2 แม่ลูกมาอาศัยนี้เองก็เคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของพวกผู้นำชุมชนมาก่อน
    ยิ่งรู้อย่างนี้พระญามังรายยิ่งยินดีโสมนัสพระทัย เสมือนเครื่องตอกย้ำว่า ไชยภูมิแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มซ้ำซ้อน เหมาะสมที่จะก่อสร้างคุ้มหลวงเวียงแก้ว หรือหอนอนของพระองค์ ในลักษณะ “เอาฤกษ์เอาชัย” จองแผ่นดินผืนนี้ไว้ก่อนที่จะสร้างนครเชียงใหม่ให้ยิ่งใหญ่
    พระญามังรายได้ฤกษ์เคลื่อนย้ายเข้าสู่ไชยภูมิอันมงคลนี้ ในวันพฤหัสบดี เดือน 7 เหนือ ออก 8 ค่ำ จุลศักราช 654 ตรงกับเดือน 5 กลาง หรือเมษายน ขึ้น 8 ค่ำ พ.ศ.1835 ถือเป็นการสร้างราชมณเฑียรส่วนพระองค์ ขึ้นกลางเวียง ก่อนที่จะสร้างราชธานีเชียงใหม่แบบสมบูรณ์นานถึง 4 ปีเต็ม

    บริเวณที่สร้างราชมณเฑียรแห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า “เชียงหมั้น” (เชียงมั่น) ซึ่งต่อมาพระญามังรายได้อุทิศถวายแด่พุทธศาสนาให้สร้างเป็นวัดเชียงหมั้น พระอารามแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่
    แต่ในระหว่าง 4 ปีที่ยังประทับ ณ ราชมณเฑียรนั้น โปรดให้พสกนิกรทยอยตั้งบ้านเรือนน้อยใหญ่บนภูมิสถานสูงๆ ต่ำๆ สลับกันไป ตามทำเลเนินเขาที่เทลาดจากตีนดอยสุเทพค่อยๆ ลงสู่ที่ราบ

    หมู่บ้านเหล่านี้เรียก “บ้านต่ำสูง” ตำนานระบุว่าภาษาม่าน (พม่า) เรียก “เมียงซูยวา” หรือเมียงชราว ส่วนบริเวณทิศตะวันออกของเมืองที่ให้ขุดแผ้วถางนั้น ได้ชื่อว่า เชียงถาง (ต่อมาเรียกเชียงถาน)
    กว่าพระญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ได้นั้น อาจารย์เกริกบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่จะอธิบายรายละเอียดไว้หมดแล้วทุกฉาก แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะได้อ่าน และถึงแม้จะมีโอกาสอ่านก็คงยากที่จะเข้าใจ เพราะเป็นเอกสารที่อ่านยากมาก ใช้ทั้งภาษาบาลีปนสันสกฤต กับภาษาล้านนาโบราณ
    แถมบางช่วงบางตอนก็ปนภาษาพม่ามาเป็นระยะๆ ต้องค่อยๆ ถอดรหัส แปลงคำเขียนยุคก่อนมาเป็นคำอ่านร่วมสมัย แปลภาษาบาลี สันสกฤต ล้านนา และพม่า มาเป็นภาษาไทยกลาง ทีละถ้อยคำ ทีละบรรทัด ทีละประเด็น
    บทความนี้จึงดำเนินความไปตามคำอธิบายของอาจารย์เกริกอย่างละเลียด และละเมียดละไม (ทั้งนี้ เพื่อไม่อยากให้ตกหล่นประเด็นสำคัญ)
    **********
    เป็นบทความจาก อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ต่อจากตอนที่แล้ว

    กว่าราชธานีจะเสร็จสมบูรณ์
    พระญางำเมือง 2,000 วา มากไปไหม
    พระญาร่วงลดสะบั้นเหลือ 500 วา

    พระญามังรายมีความตั้งใจที่จะสร้างเมืองใหม่ โดยใช้ศูนย์กลางวัดจากราชมณเฑียร หรือสถานที่ที่เป็นลอมคาเดิมของกวางเผือกสองแม่ลูกผู้กล้าหาญสามารถปราบฝูงสุนัขได้ ขยายออกไปทุกทิศ คือเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ด้านละ 1 พันวา รวมแล้วกำแพงสี่เหลี่ยมแต่ละด้านจะมีขนาดใหญ่กว้างใหญ่มากถึงด้านละ 3,000 วา คิดแบบให้เข้าใจง่ายก็คือ เท่ากับ 6 กิโลเมตร
    แต่แล้วพระญามังรายมาใคร่ครวญคิดดูอีกรอบ คงเห็นว่าใหญ่โตมโหฬารเกินไป จึงลองลดลงให้เหลือด้านละ 2,000 วา หรือ 4 กิโลเมตรก็น่าจะพอ เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็เชิญสองพระสหายมาขอคำปรึกษาหารือ

    อาจารย์เกริกมองว่า พระญามังรายคงไม่ได้ต้องการแค่อยากฟัง “ความเห็น” หรือ “มุมมอง” จากสหายทั้งสองเท่านั้น แต่การเชิญมาครั้งนี้ น่าจะเป็นการ “ขอกำลังให้กษัตริย์ทั้งสองเมืองช่วยขนเอาสมัครพรรคพวกหรือบรรดาลูกน้องของแต่ละองค์มาช่วยกันสร้างบ้านแปรงเมืองด้วยต่างหาก”
    การหารือคราวนี้ตำนานเขียนว่า เป็นไปในลักษณะคล้ายระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก นั่นคือการ “ตั้งสภาวินิจฉัยแบบเปิดสนามดีเบต” กันเลยทีเดียว พระญามังรายเริ่มเสนอโปรเจ็กต์ตัวเลขกลมๆ 2,000 วาถ้วนๆ ของกำแพงเมืองแต่ละด้านตามที่ตนวาดฝันไว้
    พระญางำเมือง สหายจากเมืองภูกามยาว (พะเยา) ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติสนิทกันด้วยนั้น ได้ขอออกความเห็นก่อน สั้นๆ ง่ายๆ แค่ว่า
    “สหายจักตั้งเวียงแลด้านแล 2 พันวา บ่ควรแล ว่าอั้น” คือกล่าวแต่เพียงลอยๆ ว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่นัก แต่ไม่ให้เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ผิดกับสหายอีกคนหนึ่งที่ชักแม่น้ำทั้งห้ามาสาธยายเสียจนพระญามังรายเริ่มเขว

    พระญาร่วงแห่งสุโขทัย หรือที่คนไทยนิยมเรียกพระนามท่านว่า “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ผู้เป็นสหายกับพระญางำเมืองมาก่อนในฐานะศิษย์ร่วมสำนักเขาสมอคอน ละโว้ด้วยกัน และต่อมากลายมาเป็นสหายของพระญามังรายโดยปริยาย ภายหลังจากเกิดกรณี “พระร่วงมีชู้กับชายาของพระญางำเมือง แล้วพระญามังรายต้องเข้าไปช่วยตัดสินความ”
    พระญาร่วงกล่าวแบบหนักแน่นว่า
    “สหายเจ้าพระญางำเมืองว่านั้นก็หากแม่นแล เท่าว่าเป็นฉันทาคติเสีย” คือรับอ้างว่าพระยางำเมืองก็ไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกับตน จึงรวบหัวรวบหางให้เห็นว่า นี่คือเสียงส่วนใหญ่ (ฉันทาคติ) ซ้ำพระญาร่วงยังกล่าวสำทับตามว่า
    “ควรร่ำเพิง (รำพึง, คำนึง) กาลสัมปัตติแลกาลวิปัตติแล ภายหน้าปุคละผู้มีประหญา (ปัญญา) จักดูแคลน ว่าบ่รู้ร่ำเพิงภายหน้าภายหลัง… ภายหน้าหลอน (หาก) อมิตตะ (อมิตร-ศัตรู) ข้าเสิกมาแวดวังขัง หาปุคละผู้จักเฝ้าแหนบ่ได้ บ่อ้วน บ่เต็ม ก็จักยากแก่อนาคตกาละแล ข้ามักใคร่ตั้ง แต่ไชยภูมิไปวันตก วันออก ใต้ เหนือ พุ่น 500 วา แล”

    คำว่า กาลสัมปัตติ อาจารย์เกริกไม่ขอแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาล้านนา แต่ขอแปลเป็นภาษาอังกฤษไปเลยว่าหมายถึง the best scenario ส่วน กาลวิปัตติ ก็หมายถึง the worst scenario ด้วยเช่นกัน
    กล่าวโดยสรุปก็คือ พระญางำเมืองกล่าวแต่เพียงสั้นๆ ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่กว้าง-ยาว 2,000 วา แต่ไม่ได้บอกว่าจะขอปรับลดลงเหลือสักเท่าไหร่
    ในขณะที่พระญาร่วง กลับเกทับกึ่งข่มขวัญตัดกำลังใจอย่างไม่ไว้หน้ากันบ้างเลยว่า “เอาให้เหลือแค่ด้านละ 500 วาก็คงพอละมั้ง ขืนดันทุรังสร้างใหญ่เกินตัว เกินสติปัญญา อนุชนภายหน้าจะเยาะหยันดูแคลนเอาได้ เกิดข้าศึกศัตรูมาล้อมกำแพง จะหาไพร่พลหรือทหารที่ไหนไปเฝ้าระวังกำแพงแต่ละด้านให้เต็ม”

    พระญามังรายเจอมุขนี้ ก็ยังพอกลั้นใจสงบสติอารมณ์ไว้ได้บ้าง เพราะอยู่ดีๆ ก็ไปเชิญเขามาให้ความเห็นเอง แต่ก็ไม่วายยังขอแอบเหน็บพระญาร่วงเสียหน่อยว่า สิ่งที่พูดมานั้นดูออกจะเจือแฝงไปด้วยแรงโกรธเคียดอะไรหรือเปล่า
    “สหายเจ้าพระญาร่วงว่านั้นก็ดีแท้แล เท่าว่าเป็นโทสาคติเสียหน้อย ๑”
    จากนั้นพระญามังรายก็เปิดสภาซาวเสียงเสนามาตย์ทุกฝ่ายว่ามีความเห็นโน้มเอียงหนักไปทางใดกันบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้คือ
    “เสนามาจจ์ทังหลายเพิงใจคำพระญางำเมืองนั้น 3 ปูน มีปูน 1 เพิงใจคำพระญาร่วงแคลน (ขาด) มาก”

    ปูนในที่นี้หมายถึง ส่วน หมายความว่าผู้เข้าประชุมหากนับเป็นเปอร์เซ็น จำนวน 75% เห็นด้วยกับพระญางำเมือง (คือ 2,000 อาจจะยาวไป ขอลดลงมาบ้าง) และอีก 25% ยกมือให้กับพระญาร่วง
    สองฤๅษีบุคคลในตำนานคือคาถาของพระญาร่วง
    ในเมื่อสถานการณ์ไม่เป็นใจ ก่อนที่พระญาร่วงจะหน้าแตกมากไปกว่านี้ จึงรีบขอยกมืออภิปรายแก้เก้ออีกสักยกหนึ่งว่า
    “สุเทวรสีและสุกกทันตรสี ก็ยังได้ฌานสมาปัตติอภิญญาณมีเตชอานุภาวะ แม่นจักหื้อกว้างหมื่นโยชน์แสนโยชน์ก็ได้ดาย เพื่อเล็งหันอนาคตภัย เมื่อภายลูนแล สร้างเวียงละพูนจิ่งเอาหน้าหอยควบเอาเป็นประมาณดายว่าอั้น”
    อาจารย์เกริกอธิบายว่า พระญามังรายเล่นใช้วิธีนับคะแนน ข้อเสนอของพระญาร่วงก็อาจเป็นหมัน จำเป็นต้องงัดไม้เด็ด ในเมื่อตนสู้แบบซึ่งหน้าไม่ได้ ก็ต้องกล่าวอ้างเอาบุคคลในตำนาน หรือ Mythical Figure มาเพิ่มความขลังความศักดิ์สิทธิ์แทน ในทำนองว่า
    ขนาดระดับสุเทวฤษี และสุกกทันตฤษี ผู้มีฤทธิ์อำนาจเข้าถึงฌานสมาบัติ จะสามารถนฤมิตเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ให้ใหญ่กว่านี้อีกกี่เท่าก็ได้ ท่านทั้งสองยังยับยั้งความโอ้อวดนั้นไว้เลย ทำแค่ใช้ไม้เท้าขีดๆ เขี่ยๆ ตามรอยขอบเปลือกหอยสังข์เท่านั้น เหตุเพราะทั้งสองท่านนี้เล็งเห็นการณ์ไกล ว่าหากปัจจามิตรล่วงล้ำมา ชาวหริภุญไชยจะมีกองกำลังรักษาบ้านเมืองไว้ได้แค่ไหน

    แล้วก็ได้ผลตามที่พระญาร่วงอุตส่าห์ออกแรงดีเบต พระญามังรายแม้จะขุ่นเคืองพระญาร่วงอยู่ลึกๆ ที่ชอบมาเบรกอยู่เรื่อย แต่ก็ยังเห็นแก่สุเทวฤษีและสุกกทันตฤษีอยู่บ้าง จึงตัดสินใจคำนวณบวกลบคูณหาร ตัวเลขระหว่าง 2,000 กับ 500 ได้ผลต่าง เป็นตัวเลขแปลกๆ คือ 900 วา กับ 1,000 วา (ซึ่งก็ไม่ทราบว่าท่านใช้สูตรใด)
    พระญามังรายจึงกล่าวสรุปปิดประชุมสภาแบบรวดรัดว่า ถ้าเช่นนั้น
    “เราจักตั้งลวงแปพันวา ลวงขื่อ 9 ร้อยวา” คำว่า “แป” กับ “ขื่อ” ก็คือด้านกว้างกับด้านยาว
    หากเป็นตามนี้หมายความว่าผังเมืองเชียงใหม่ในยุคเริ่มแรกนั้น ย่อมไม่ใช่สี่เหลี่ยมจัตุรัสเป๊ะเท่ากันสี่ด้าน แต่เหลื่อมกันอยู่ 100 วา คือเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ดูเผินๆ แล้วคล้ายจัตุรัส
    หนองใหญ่ ไม้เสื้อเมือง แม่ระมิงค์

    เมื่อตกลงเรื่องความกว้างยาวของกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่มีผัง (เกือบ) จัตุรัสลงตัวแล้ว พระญามังรายและสองสหายก็ลงมือสร้างเมืองตามคติความเชื่อของคนล้านนา
    กล่าวคือ หันขื่อและแป ในแนวแกนเหนือ-ใต้ ไม่ใช่แกนตะวันออก-ตะวันตก
    หัวเวียงอยู่ทางเหนือคือประตูช้างเผือก และใต้เวียงอยู่ที่ประตูเชียงใหม่ ไม่ได้หันหน้าเมืองสู่ทิศตะวันออก เพราะเป็นการขวางตะวัน
    ต่อมา ได้มีการสร้าง “ไม้เสื้อเมือง” ตามนิมิตที่จู่ๆ พระญามังรายและพระสหายทั้งสองก็เห็น หนูเผือกตัวใหญ่เท่าดุมเกวียนพร้อมบริวาร 4 ตัว วิ่งออกมาจากไชยภูมิทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ กระโดดเข้าสู่โพรงไม้ที่ภาษาถิ่นเหนือเรียก “ผักเฮือด” ภาษาบาลีเรียก ไม้นิโครธ ภาษาพม่าเรียก ไม้พิงยอง กษัตริย์สามสหายจึงนำเอาข้าวตอกดอกไม้ไปบูชาต้นไม้ดังกล่าว และยึดถือเป็น ไม้เสื้อเมือง

    นอกจากนิมิตเรื่องกวางเผือก หนูเผือกแล้ว พระญามังรายยังชวนชี้ให้สหายทั้งสองเห็นสิ่งที่ปรากฏเป็นอัศจรรย์ในไชยภูมิที่พระองค์ตัดสินใจจะสร้างเมืองเชียงใหม่นี้อีก คล้ายเป็นการตอกย้ำแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ว่า

    “อยู่ที่นี้ หันน้ำตกแต่อุจฉุปัพพตะดอยสุเทพ ไหลลงมาเป็นแม่น้ำ”

    น้ำตกที่ว่านั้นก็คือ น้ำตกห้วยแก้วและน้ำตกสาขาย่อยอื่นๆ อีกหลายสาย ที่ไหลลงมาจากดอยสุเทพไปทางทิศเหนือ อ้อมไปตะวันออก วกลงใต้ แล้วไหลไปตะวันตกอีกรอบ เกี่ยวกระหวัดยังเวียงกุมกาม มีแม่ข่า แม่โท เป็นสาขาย่อย
    ประการต่อมา แผ่นดินนี้ยังมี “หนองใหญ่” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นนาหนองเขียว ซึ่งก่อน พ.ศ.2500 ชาวเชียงใหม่ยังคงเคยเห็นกันอยู่ แต่ปัจจุบันถูกถมขายเปลี่ยนไปหมดแล้ว อาจารย์เกริกบอกว่านี่คืออัจฉริยภาพของพระญามังราย ที่กำหนดให้หนองใหญ่หรือหนองเขียวแห่งนี้เป็นสถานีการค้าหรือ Parking Area สามารถรองรับจุดพักวัวต่างม้าต่างของพ่อค้าวาณิชได้จำนวนมหาศาล

    จุดเด่นประการสุดท้ายคือ การที่ไชยภูมิแห่งนี้มีสายน้ำแม่ระมิงค์ (แม่น้ำปิง) ไหลมาจากอ่างสรงเชียงดาว โดยตำนานอ้างว่า อ่างสรงนี้เป็นมหาสระที่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาลได้มาอาบสรงในสระนี้ ดังนั้นแม่ระมิงค์จึงเป็นดั่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลผ่านยังทิศตะวันออกของเมือง
    ว่าแล้วพระสหายทั้งสาม ก็นั่งเอนหลังพิงกันร่ำสุราแถวหน้าประตูเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เฉกเดียวกับฉากเดิมที่สามสหายก็เคยหันหลังอิงกันที่น้ำแม่อิง (แม่น้ำขุนภู) เมืองพะเยา เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่พระญามังรายได้รับการประสานจากพระญางำเมืองให้มาตัดสินคดีชู้พระร่วงกับนางอั้วเชียงแสน

    ตำนานระบุว่าเชียงใหม่มีประตูเมือง 5 ประตูมาตั้งแต่แรกสร้าง แต่ไม่ได้ระบุชื่อประตูแต่ละทิศ ทำให้ไม่ทราบว่าในปัจจุบันจะใช่ชื่อดั้งเดิมหรือไม่ ทิศตะวันออก ปัจจุบันชื่อประตูท่าแพ ทิศตะวันตกมีประตูสวนดอก ทิศเหนือมีประตูช้างเผือก ส่วนทิศใต้นั้นมีความพิเศษคือ มีถึง 2 ประตู ได้แก่ ประตูสวนปรุง กับประตูเชียงใหม่
    เห็นได้ว่าพระญามังรายพกกำลังใจและความเชื่อมั่นในการสร้างราชธานีมาเกินร้อย เมืองเชียงใหม่สร้างเสร็จในวันพฤหัสบดี เดือน 8 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 658 หรือตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.1839 (หากคำนวณตามปฏิทินระบบจูเลียน) หรือ 19 เมษายน พ.ศ.1839 (หากคำนวณตามปฏิทินระบบเกรโกเรียน)
    สร้างเมืองเสร็จ ให้มีการแสดงมหรสพ 3 วัน 3 คืน พร้อมเฉลิมนามนคราว่า “นพบุรีสรีนครพิงค์เชียงใหม่” จำเนียรกาลผ่านถึงปรัตุยุบัน เมืองเชียงใหม่จึงมีอายุครบ 720 ปีในปี 2559 และพระญามังรายก็ครบรอบชาตกาล 777 ปีในศักราชนี้


    ที่มา: https://www.matichonweekly.com/column/article_18712
    https://www.matichonweekly.com/culture/article_19545
    https://www.matichonweekly.com/culture/article_20352
    https://www.matichonweekly.com/column/article_20918
     
  2. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    14.jpg


    พรญามังราย(๖)
    พระญามังราย, พ่อขุนเมงราย, พ่อขุนเม็งราย

    เนื้อหาในโพสนี้ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ในมุมมองของนักวิชาการต่อจากข้างบน เพื่อไม่เสียเวลามาต่อกันเลยครับ

    *****************
    ตำนานลักลั่นไม่ลงตัว
    อาจารย์ภูเดช แสนสา จากภาควิชาวัฒนธรรมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยากรคนที่ 4 เปิดประเด็นว่า
    พระญามังรายเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีตัวมีตนจริง ไม่ใช่บุคคลในตำนาน แม้ว่าหลักฐานที่บันทึกถึงท่านนั้น จะไม่มีชิ้นไหนเก่าแก่ร่วมสมัยกับพระองค์แม้แต่เพียงชิ้นเดียว ล้วนเป็นจารึกวรรณกรรมที่บันทึกย้อนหลังทั้งสิ้น อาทิ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พื้นเมืองเชียงแสน ชินกาลมาลีปกรณ์ ฯลฯ

    ชิ้นที่ใกล้เคียงกับยุคสมัยของพระญามังรายมากที่สุดก็คือ ศิลาจารึกวัดพระยืนที่ลำพูน พ.ศ.1912 แต่เมื่อเทียบกับศักราชปีประสูติของพระญามังราย พ.ศ.1772 แล้ว ก็จะเห็นว่ามีช่องว่างที่ห่างกันมากถึง 140 ปี

    ดังนั้น เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวถึงพระญามังราย มักเต็มไปด้วยความคลาดเคลื่อน ขัดแย้งไม่ลงตัวกันเลย ขึ้นอยู่กับว่า เหตุการณ์ตอนไหน เอกสารชิ้นใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าชิ้นอื่นๆ
    ตัวอย่างเช่น “เวียงแม” ตำนานเวียงแม ระบุว่าเป็นเวียงที่พระญามังรายสร้างให้พระราชมารดาประทับ คล้ายกับการที่เจ้าอนันตยศ โอรสของพระนางจามเทวีที่เขลางค์ สร้างเวียงอาลัมพางค์ให้พระราชมารดา แต่ต่อมา “แม่” แผลงเป็น “แม” (“เวียงแม” อยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่) ในขณะที่นักโบราณคดียุคหลังตีความใหม่ว่า เวียงแม น่าจะหมายถึงปีมะแม เป็นเวียงบริวาร 12 นักษัตรของหริภุญไชย มากกว่า

    กรณีชื่อ “มังราย” ก็เช่นกัน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บอกว่า มาจากชื่อของบิดา คือ “เมง” ผสม (สมาส) กับชื่อของตา คือ “รุ่ง” (ท้าวรุ่งแก่นชาย หรือท้าวฮุ่งแก่นจาย เจ้าเมืองเชียงรุ่ง) นำมารวมกัน จึงกลายเป็น “มังราย” แต่ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนกลับบอกว่า ตอนตั้งชื่อได้นำนามคำว่า “มัง” ของ “ฤษีปัทมังกร” มาเป็นมงคลนามด้วย ตำนานฝ่ายสิบสองปันนา ระบุว่าชื่อมังรายมาจากนามเต็ม “มังคละนารายณ์” แล้วย่อเป็น “มังราย”
    อาจารย์ภูเดชจึงสรุปว่า ทั้งหมดนี้เป็นการตีความภายหลัง ล้วนเอาความรู้สึกนึกคิดของพระภิกษุผู้จารตำนานมาใส่เป็นความเห็นทั้งสิ้น ทุกฉบับจึงเกิดความลักลั่นคลาดเคลื่อนกัน

    พระญามังรายเป็น “ลัวะ” หรือไม่
    จากการโยนคำถามของ “อภิชิต ศิริชัย” วิทยากรคนแรก ที่ไม่เชื่อว่าพระญามังรายมีเชื้อสาย “ลัวะ” นั้น อาจารย์ภูเดชเอง ก็มีความสงสัยข้อมูลส่วนนี้เช่นกัน จึงเปิดประเด็นว่า
    คำว่า “ลัวะ” นั้น อาจจะไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งโดยตรงก็เป็นได้ แต่อาจเป็นคำเรียกกลุ่มคนดั้งเดิมหลากหลายชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างไปจากกลุ่มคน “ไท” และ “เม็ง” (ต่อมาเรียกมอญ)
    คำว่า “ลัวะ” อาจเป็นสัญลักษณ์ เป็นสิ่งสมมติขึ้นมา เพราะบางครั้งมีการเรียกกลุ่มคนโบราณที่เข้าใจว่าเป็นลัวะนี้แทนด้วยคำอื่นๆ อีกหลายคำ เช่น แจ๊ะ มิลักขุ มิลักขะ ทะมิละ อาฬาวี เนียะกูน ฯลฯ

    กล่าวโดยสรุป อาจารย์ภูเดชเชื่อว่า คำว่าลัวะเป็นกลุ่มชนที่ถูกมองว่ามีวัฒนธรรมต่ำต้อย
    แต่ความที่กลุ่มชนที่ถูกเรียกว่า “ลัวะ” คือเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิม พระญามังรายจึงจำเป็นต้องเล่นการเมืองอย่างแยบยล คือใช้อัตลักษณ์บางอย่างของ “กลุ่มชนที่ถูกเรียกว่าลัวะ” ผสมกับอัตลักษณ์บางอย่างของ “ไท” (ตามเชื้อสายฝ่ายแม่ ที่เป็นชาวไทลื้อ)
    นั่นคือใช้ความเป็นลัวะในการดำเนินวิเทโศบายยึดแผ่นดินและสร้างบ้านแปลงเมืองในช่วงแรก เช่น ใช้อ้ายฟ้าขุนนางลัวะยึดลำพูน ใช้ขุนนางลัวะอีกคนวางแผนยึดเชียงตุง
    ทำไมจึงต้องใช้คนลัวะในช่วงเวลานั้น ไฉนจึงไม่ใช้คนชาติพันธุ์อื่น
    แสดงว่าพระญามังรายต้องเห็นนัยสำคัญ ว่าลัวะเป็นกลุ่มคนที่ท่านติดต่อสัมพันธ์ได้ และสามารถไว้ใจได้จริงๆ ถึงขนาดยกให้กินเมืองสำคัญที่ลัวะช่วยขยายดินแดนให้เลยทีเดียว
    กล่าวคือ ให้อ้ายฟ้าเป็นแสนฟ้ากินเมืองลำพูน ให้แสนเสนากินเมืองลำปาง ให้มังกุมมังเคียนขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงตุง

    ขุนศึกยุคแรกล้วนแล้วแต่เป็นลัวะ เสมือนแขนขาช่วยค้ำบัลลังก์อำนาจให้กับพระญามังราย
    แต่จะให้สรุปว่าพระญามังรายเป็นลัวะหรือไม่นั้น ไม่อยากฟันธงเสียทีเดียว เหตุที่ลัวะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมาแต่ดั้งเดิม ดังนั้น ตอนสร้างเชียงใหม่ พระญามังรายจำเป็นต้องใช้พิธีกรรมของลัวะหลายอย่างมาเป็นแบบแผนและแก่นแกนก่อน
    เช่น การใช้ลัวะจูงหมาเดินนำพระองค์เข้าเมืองเชียงใหม่ หรือการบูชาเสาสะกั้ง (อินทขีล) ก็เป็นประเพณีลัวะ การเลี้ยงผีที่เสา ให้ลัวะลงจากดอยสุเทพ และดอยคำ แม่เหียะ ลงมาทำพิธี ทั้งหมดนี้อาจสนับสนุนแนวคิดที่ว่า พื้นที่นี้ชาวลัวะอาศัยมาเนิ่นนาน ฉะนั้น พระญามังรายจะทำอะไรต้องบวงสรวงเซ่นสังเวยให้เกียรติชุมชนดั้งเดิมที่มีมาก่อน
    สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ลัวะเป็นผู้ควบคุมการผลิตวัตถุ พระญามังรายจึงไม่ปฏิเสธพิธีกรรมการเลี้ยงผี 300 ตน เหตุเพราะลัวะเป็นผู้ควบคุมเหล็ก อาวุธสำคัญ เหล็กเป็นจุดเปลี่ยนยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เมื่อ 2,500 ปีก่อน
    ตามที่ตำนานกล่าวว่า “พระญาลวจักราช” ครอบครองอาวุธเหล็กมากถึง 500 ด้ามนั้น เท่ากับสามารถควบคุมการผลิตหรือควบคุมเศรษฐกิจในมือไว้ได้นั่นเอง

    พ่อลัวะ-แม่ไท-เมียเม็ง-ชื่อม่าน
    แม้ไม่อยากฟันธงว่าพระญามังรายมีเชื้อสายลัวะหรือไม่ แต่จากรูปการณ์หลายอย่าง อาจารย์ภูเดชก็พอจะประมวลคร่าวๆ เบื้องต้นได้ว่า พระญามังรายน่าจะมีสายสัมพันธ์กับ “กลุ่มคนที่เรียกว่าลัวะ” อย่างแนบแน่นจากสายพ่อ (ลาวเมง) ค่อนข้างแน่นอน
    และพระญามังรายมีความชาญฉลาดพอที่จะใช้ความเป็นลัวะในตอนสร้างบ้านแปลงเมือง เพราะความเป็นลัวะสามารถนำมาใช้ในสถานการณ์นั้นได้ คือช่วงที่พระญามังรายต้องการมือเท้า หรือหาผู้ที่สามารถ “รองมือรองเท้า” ในทำนองคำว่า “ข้ารองบาท” ของคำที่ใช้กันในปัจจุบัน
    ซึ่งกลุ่มคนเหล่านั้นหากปราศจากสายสัมพันธ์กันทางสายเลือดก็อาจจะ “เรียกใช้งานไม่ได้ง่ายๆ นัก”
    แต่หลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชาติพันธุ์กลับมีมากขึ้น เห็นได้จากตำนานการสร้างเสาอินทขีล ระบุว่าได้หล่อรูปปั้นคนตระกูลต่างๆ มีลัวะ ยาง (กะเหรี่ยง) ร้อยเอ็ดเจ็ดสาย จะให้พระญามังรายใช้ความเป็นลัวะสายพ่อมาหล่อหลอมจิตใจชุมชนในวงกว้างร้อยพ่อพันแม่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ต้องใช้ความเป็น “ไท” จากทางสายแม่แทน เพราะพระญามังรายต้องเป็นผู้นำเหนือกลุ่มคนอันหลากหลาย
    นอกจากนี้แล้ว ยังต้องอาศัยความเป็น “เม็ง” เข้ามาเกี่ยวข้องด้านอารยธรรมอันสูงส่งอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระญามังรายได้ชายาองค์ใหม่เป็นราชธิดามอญหรือเม็ง (นางอุสาปายโค จากเมืองพะโค หงสาวดี) ทำให้มีการเปลี่ยนอักษรมอญโบราณหริภุญไชย มาเป็นอักษรธัมม์ล้านนา ซึ่งมีรากฐานของอักขระมอญ
    พระญามังรายจึงถือว่าเป็นบุคคลที่ค่อนข้าง “อินเตอร์” มากๆ เพราะนอกจากจะมีเชื้อสายลัวะทางพ่อ เชื้อสายไททางแม่ และได้ชายาเป็นมอญแล้ว ชื่อ “มังราย” ยังไปคล้ายกับทาง “พม่า” อีกด้วย

    วีรบุรุษทางการเมืองและวีรบุรุษทางวัฒนธรรม
    พระญามังรายได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “วีรบุรุษทางการเมืองและวีรบุรุษทางวัฒนธรรม” เพราะเป็นบุคคลสำคัญผู้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ภาคเหนือ มีความยิ่งใหญ่ทัดเทียมกับการบุกเบิกแผ่นดินสยามตอนบนของพระนางจามเทวี แต่ขอบเขตของพระญามังรายนั้นกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่า
    อาจารย์ภูเดช นำเสนอชีวประวัติพระญามังราย ตามศักราชที่ระบุใน ชินกาลมาลีปกรณ์ แบ่ง timeline (แน่นอนว่าศักราชย่อมขัดแย้งกับตำนานเล่มอื่นๆ) คร่าวๆ ให้เห็นเส้นทางชีวิตของพระองค์ดังนี้

    พ.ศ.1772 ประสูติ, พ.ศ.1804 ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองเงินยาง, พ.ศ.1805 อายุ 23 สร้างเมืองเชียงราย, พ.ศ.1812 อายุ 30 ยึดเมืองเชียงของ สร้างเมืองเล็กเมืองน้อยตลอดลุ่มแม่น้ำโขง, พ.ศ.1816 สร้างเมืองฝางเพื่อใช้เป็นฐานขยายอาณาเขตมายังหริภุญไชย เพราะเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญอยู่ติดแม่น้ำปิง
    พ.ศ.1819 ครอบครองอาณาเขตตอนบนทั้งหมด คือเชียงราย ฝาง เชียงของ เชียงคำ เมืองสาด หาง พยาก เลน เชียงตุง แล้วจึงขยายลงมาทางลำพูน ลำปาง ลอง แพร่
    พ.ศ.1830 เกิดสัญญาสามกษัตริย์ (พระญามังราย พระญางำเมือง และพระญาร่วง) เป็นการตกลงกันให้ลงตัวระหว่างกษัตริย์หนุ่ม ว่าจะแบ่งเค้กพื้นที่พรมแดนของแต่ละรัฐกันอย่างไร พิจารณาให้ดีว่ารัฐของพระญามังรายไม่ใช่ว่าจะลงสู่แม่น้ำปิงได้ง่ายๆ เพราะมี “ภูกามยาว” (เมืองพะเยา) ของพระญางำเมืองกั้นขวางอยู่
    ดังนั้น ปี 1839 เมื่อพระญามังรายมีแนวคิดจะขยายดินแดน จำเป็นต้องตกลงกับพระญางำเมืองให้ได้เสียก่อน เพราะพระญางำเมืองนั้นไม่ธรรมดา ถ้าพระญางำเมืองขัดขวางก็จบเห่ พระญามังรายได้ส่งลัวะผู้หนึ่งเป็นทูตไปเจรจาขอเมืองเพื่อเปิดเส้นทางจากพระญางำเมืองก่อน แล้วจึงลงไปฝาง ไชยปราการ พร้าว จากนั้นก็ยึดเมืองลำพูน
    อีกทั้งตอนสร้างเชียงใหม่หากพระญามังรายไม่ดึงพระญางำเมืองกับพระญาร่วงมาร่วมรับรู้และขอร้องให้มีส่วนร่วมสร้าง อาจจะเกิดปัญหาเรื่องพรมแดนภายหลังได้ ครั้นเมื่อสร้างเชียงใหม่เสร็จ พระญามังรายก็มีความเป็นลูกผู้ชายพอที่จะคืนเมืองเชียงชื่น และเมืองพานให้กับพระญางำเมือง

    พระญามังรายเสด็จสวรรคตปี พ.ศ.1854 สิริรวมพระชนมายุ 82 ปี
    จากการศึกษาชีวประวัติของพระญามังรายในทุกมิติ อาจารย์ภูเดชลงความเห็นว่า พระญามังรายเป็นกษัตริย์นักวางแผนและนักพัฒนาตัวฉกาจ เห็นได้จากทันทีที่นั่งเมืองเงินยางสืบต่อจากลาวเมง พระองค์รีบสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ด้วยการทำพิธีมูรธาภิเษก และการสำแดงว่าเป็นผู้ครอบครองดาบสะหลีกัญไชย (พระขรรค์ชัยศรี) เหมือนกับการประกาศพิธีพระบรมราชาภิเษก ข่มขวัญเมืองเล็กเมืองน้อยอื่นๆ เหตุเพราะลูกหลานของลวจังกราชนั้นได้กระจายไปตั้งเมืองกันหลายตระกูล
    สำหรับด้านศาสนาและวัฒนธรรม พระญามังรายดึงพระพุทธศาสนาจากหริภุญไชยมาใช้ หลอมรวมกับการบูชาผีอารักษ์หลวง 28 จุด พิธีบูชาเสาสะกั้ง เสาอินทขีล เป็นการรวมความเชื่อระหว่าง พุทธและผี แต่ภายหลังได้เปลี่ยนให้เป็นเรื่องของพราหมณ์และพระอินทร์
    พระญามังราย จึงไม่ใช่บุคคลที่ตายไปกับประวัติศาสตร์ แต่เป็นบุคคลที่ยังมีชีวิตโลดแล่น มีความโดดเด่นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ส่งผลสะเทือนมาจนถึงวิถีชีวิตชาวล้านนาตราบปัจจุบัน
    ทุกวันนี้ยังมีร่างทรงม้าขี่เจ้าพ่อที่อ้างว่าสืบทอดมาจากพระญามังรายให้ชาวล้านนาได้อุ่นใจ ในคราวประกอบพิธีสักการะช่วงเทศกาลปีใหม่เมือง ชาวล้านนาไม่เคยตัดขาดจากพระญามังราย เสมือนว่าท่านยังไม่ตาย เว้นแต่ว่าใครจะนำชีวิตของท่านไปใช้ประโยชน์ในด้านไหน

    ********************

    ชาวไทลื้อมองพระญามังรายอย่างไร
    อาจารย์เรณู วิชาศิลป์ อดีตอาจารย์ด้านภาษาวรรณกรรมและจารึกล้านนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารคัมภีร์ใบลานฝ่ายไทเหนือ หรือกลุ่มชน “ไท” (ไทลื้อ ไทขึน ไทใหญ่ ไทเหนือ ฯลฯ) นอกแผ่นดินล้านนา เปิดประเด็นเรื่อง ชาวไทลื้อมีมุมมองต่อพระญามังรายอย่างไร ในฐานะที่ฝ่ายมารดาของพระญามังราย เป็นชาวไทลื้อ
    เอกสารที่อาจารย์เรณูได้ศึกษาและนำมาวิเคราะห์ประกอบการเสวนาครั้งนี้ ได้แก่ ตำนานพื้นเมืองสิบสองปันนา ปริวรรตโดย ทวี สว่างปัญญากูร, พับพื้นเมืองสิบสองพันนา 3 ฉบับ 1.ฉบับของ Gao Li Shi 2.ฉบับของตาวหย่งหมิงและอ้ายคัง 3.ฉบับตาวซูเหริน, เอกสารพับสาฉบับบ้านมอง, พื้นเมืองสีป้อ, เชื้อเครือเจ้าแสนหวีสิบสองพันนา และพื้นเมืองแสนหวีฉบับหอคำเมืองใหญ่ สองชิ้นสุดท้ายนี้ปริวรรตโดยอาจารย์เรณู วิชาศิลป์ เอง
    มารดาของพระญามังรายที่เรารู้จักกันในนามของ นางอั้วมิ่งเมือง หรือเทพคำขร่าย ก็ดี นามเดิมตามเอกสารฝ่ายไทลื้อระบุว่ามีหลายชื่อ อาทิ “อั้วมิ่งไข่ฟ้า” ตอนเด็กๆ มีนิสัยชอบเล่นอกไก่ จึงมีชื่อว่า “นางหง(ส์)แอ่น” หรือ “นางอกแอ่น” ก็มี
    นางเป็นธิดาของ “ท้าวรุ่งแก่นชาย” เจ้าเมืองเชียงรุ่ง (เกิด พ.ศ.1764) มีบางฉบับบอกว่าเป็นน้องสาว ท้าวรุ่งได้ส่งธิดานางนี้มาเป็นเทวีของ “พระญาลาว” หรือ “แสงดาวหยาดเชียงราย” ทว่า คนไทยรู้จักในนาม “ลาวเมง” (บิดาของพระญามังราย) จากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “นางคำก๋าย” หรือ เทพคำขร่าย และอั้วมิ่งเมือง (อั้วมิ่งจอมเมือง)
    พร้อมกันนั้นท้าวรุ่งแก่นชายยังได้ให้ของขวัญแก่ลูกเขย คือเมืองสำคัญสองเมือง เมืองพยาก และเมืองหลวงภูคา สามารถเก็บส่วยกินได้ตลอดชีวิต
    ในสายตาของชาวไทลื้อ มองพระญามังรายแบบลากเข้าทางฝ่ายแม่คือให้ท่านเป็นชาว “ไทลื้อ” โดยไม่ได้รู้สึกว่าท่านเป็นชาวลัวะ หรือไทโยนแต่อย่างใดเลย

    ศูนย์รวมความเก่ง King of the King
    ชาวไทลื้อเทิดทูนพระญามังรายว่าเป็นวีรบุรุษนักปราชญ์ ทั้งเก่งกาจ มีปัญญา (ผะหญา) ปกครองดี เป็นนักพัฒนา เป็นนักกฎหมาย และยังเป็นครูอีกด้วย
    ความเป็นครู เป็นปราชญ์ของพระญามังรายนั้น ชาวไทลื้อกล่าวว่า เพราะพระญามังรายสามารถเขียนคำสอน และตรากฎหมายมังรายศาสตร์ ชาวไทลื้อโดยเฉพาะชาวเมืองแรมระบุชัดว่า ชาวเมืองนี้ยังคงใช้คำสอนและหลักกฎหมายของพระญามังรายสืบมาจนกาละบัดนี้
    ส่วนภาพลักษณ์ความเป็นฮีโร่ เป็นนักรบที่อยู่ในความทรงจำของชาวไทลื้อ ก็เนื่องมาจากการที่พระญามังรายได้ไปรบที่เมืองเชียงรุ่งถึง 2 ครั้ง กรณีนี้อาจารย์เรณูเกิดข้อขัดข้องใจส่วนตัวว่า ปกติพระญามังรายก็มีความเคารพรักในแผ่นดินแม่คือเชียงรุ่งเป็นทุนเดิม เห็นได้จากทุกปีจะส่งช้างพลายใส่จามรคำ (ทอง) ช้างพังใส่จามรเงิน ขันคำ น้ำต้น คนที ผ้าเทศ ไปให้เชียงรายทุกปี แล้วท้าวรุ่งแก่นชายก็ส่งของแลกเปลี่ยนให้แก่หลานเช่นกัน

    แล้วเหตุไฉนพระญามังรายยังต้องยกทัพไปตีเชียงรุ่ง?
    ศักราชที่พระญามังรายไปตีเชียงรุ่ง พบว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ.1840 หลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จได้เพียง 1 ปีเท่านั้น หนังสือประวัติศาสตร์ล้านนาของ ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล แห่งหลักสูตร “ล้านนาศึกษา” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า การขึ้นไปครั้งนั้นเป็นการช่วยเชียงรุ่งรบกับชาวมองโกลมากกว่า
    เหตุที่เชื่อว่าพระญามังรายเป็นคนเก่ง เป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูง ชาวไทลื้อจึงนิยมเอาชื่อพระญามังรายไปอ้าง ประกอบคำอ่านในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่ในชีวิตประจำวัน
    ดังเช่น ตอนทำพิธีหลอนเดือน (เข้าอู่ หรืออยู่ไฟ) พิธีเรียกขวัญเขยใหม่ สะใภ้ใหม่ จะมีการอ้างชื่อพระญามังรายปรากฏอยู่ในคำอ่านเสมอ ในทำนองว่า วันนี้เป็นวันดี เป็นวันที่พระญามังรายได้นั่งเมือง เป็นวันที่พระญามังรายได้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ แล้วโยงเข้ากับเหตุการณ์จริงของผู้ประกอบพิธีกรรม
    มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตเมืองเชียงรุ่ง มีชื่อว่าบ้านมอง หรือบ้านมังราย มีการตั้งศาลหรือหอพระญามังรายสำหรับบูชา เดิมเป็นหอไม้ ปัจจุบันก่ออิฐถือปูน
    นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่า คำว่ามองน่าจะมาจากชื่อเครื่องดนตรีคล้ายฆ้อง ดังที่เรียกโดยรวมว่า “ตีฆ้องตีมอง”
    แต่เอกสารของชาวไทลื้อระบุว่า คนที่นี่มีบรรพบุรุษสืบสายตระกูลมาจากพระญามังรายโดยตรง

    พระญามังรายเป็นนักดนตรี
    ไม่เคยปรากฏในเอกสารฝ่ายล้านนา
    ตอนที่ท้าวรุ่งแก่นชายมาเยี่ยมหลานชายซึ่งเพิ่งคลอดออกมาใหม่ๆ กำลังทำพิธีหลอนเดือน พบว่าพระญามังรายมีความสนใจในด้านดนตรีและการท่องอักขระ ถึงกับท้าวรุ่งแก่นชายต้องเอาทองมาหล่อเป็นปี่ (บางฉบับบอกว่าแคน) ส่งมาเป็นของขวัญให้พระญามังรายเป่าอีกด้วย
    นอกจากนี้ เอกสารฝ่ายเชียงรุ่งยังระบุว่า พระญามังรายนอกจากจะเป่าปี่เก่งแล้ว ยังมีความสามารถในการแต่งเพลง เขียนบทกวีได้ไพเราะอย่างเยี่ยมยอดอีกด้วย
    ข้อเท็จจริงส่วนนี้เป็นอย่างไรไม่มีใครทราบได้ จะว่าฝ่ายไทลื้อต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้พระญามังรายโรแมนติกเหมือนอุปนิสัยชาวลื้อฝ่ายแม่โดยปราศจากพื้นฐานความจริงก็ไม่ถูกนัก
    อาจารย์เรณูตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารฝ่ายล้านนาไม่เคยกล่าวถึงอารมณ์สุนทรีย์ของพระญามังรายในด้านนี้เลย มีแต่ด้านบู๊และบุ๋น คือเป็นนักรบนักปกครองเท่านั้น ดูคล้ายเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์และเด็ดขาด จนขาดมิติของความเป็นมนุษย์ปุถุชน ผิดกับเอกสารฝ่ายไทลื้อ
    อย่างไรก็ดี ในสายตาชาวลื้อ แม้จะยกย่องพระญามังรายว่าเก่งกาจเพียงใดก็ตาม แต่ลึกๆ แล้วก็ยังมองว่าล้านนามีส่วนเป็นลูกของสิบสองปันนาอยู่นั่นเอง
    เวลากล่าวถึงสองอาณาจักร ตำนานฝ่ายเชียงรุ่งจะวางสถานะของล้านนาและสิบสองปันนาไว้ในระนาบเดียวกัน ไม่ได้มองว่าล้านนายิ่งใหญ่กว่า (ผิดกับมุมมองของนักประวัติศาสตร์ล้านนาในประเทศไทย) และมักตอกย้ำว่า ทั้งสิบสองปันนา และล้านนาต่างก็ต้องส่งบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนไม่แตกต่างกันเลย
    บทบาทของล้านนาต่อชาวไทลื้อสิบสองปันนา ในยุคต้นราชวงศ์มังราย ล้านนากลายเป็นดินแดน “ลี้ภัย” ของเจ้าเมืองสิบสองปันนาที่หนีศึกจากจีนหรือแย่งชิงบัลลังก์กัน มักลงมาแอบมากบดานตัวในล้านนา
    ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสิบสองปันนา มีทั้งแนบแน่น ห่างเหิน บางครั้งถึงกับแค้นอาฆาต

    “พระญาติโลกล้านนา” ในเอกสารฝ่ายไทเหนือ

    อาจมิได้หมายถึง “พระญาติโลกราช”
    อาจารย์เรณูกล่าวว่า เมื่ออ่านเอกสารฝ่ายไทเหนือที่เขียนโดยคนไทนอกแผ่นดินล้านนา ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการตีความ หากพบคำว่า “พระญาติโลกล้านนา” อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่าจะต้องหมายถึง “พระญาติโลกราช” เสมอไป
    ตัวอย่างเช่น ข้อความกล่าวว่า “พ.ศ.1840 พระญาติโลกล้านนา เอากำลังมารบฟันถึงเมืองลื้อ” หากอ่านแบบเผินๆ อาจคิดว่า นักบันทึกข้อมูลคงระบุศักราชผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปกระมัง เพราะห้วงเวลาที่พระญาติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 9 ครองล้านนาอยู่ระหว่าง พ.ศ.1984-2030
    แต่จากข้อความดังกล่าวย้ำชัดว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1840 ยังอยู่ในยุคสมัยของพระญามังราย (ครองเชียงใหม่ระหว่าง 1839-1854)
    หรืออีกกรณีหนึ่ง เขียนว่า “ปี พ.ศ.1855 เจ้าไอ่และพระญาติโลกล้านนา ก็ได้แต่งคนเอาช้างม้าแลครอบครัวไปกั่นทอเจ้าแย้นซ้าว” (เจ้าไอ่เป็นกษัตริย์เมืองเชียงรุ่ง พร้อมกษัตริย์ล้านนา ไปดำหัวขอขมาคารวะกษัตริย์มองโกลราชวงศ์หยวนที่ครอบครองจีน)
    ในที่นี้ศักราช 1855 ตรงกับยุคของพระญาชัยสงคราม โอรสของพระญามังราย ผู้ครองอาณาจักรล้านนาสืบต่อเป็นลำดับที่ 2 ก็ยังถูกเรียกว่า “พระญาติโลกล้านนา” เช่นเดียวกัน
    จากการศึกษาของอาจารย์เรณู ได้ข้อสรุปว่าคนที่เขียนประวัติศาสตร์เมืองลื้อ จะเรียกกษัตริย์ล้านนาแค่เพียงสองชื่อเท่านั้น

    1. ในยุคแรก ตั้งแต่ 1839-2101 ไม่ว่าใครก็ช่าง เขาจะบันทึกว่า “ติโลกล้านนา” หรืออ่านว่า “ติละกะล้านนา” เหมือนกันหมดทุกองค์
    2. ยุคที่ล้านนาปลดแอกจากพม่าแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2348 เป็นต้นมา ไม่ว่าเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จะชื่ออะไรก็แล้วแต่ เขาจะเรียกเพียง “กาวิละล้านนา” ชื่อเดียว
    ยกเว้นกษัตริย์ล้านนาองค์หนึ่ง คือพระญาสามฝั่งแกน พระราชบิดาของพระญาติโลกราช เอกสารฝ่ายไทลื้อเรียก “เท่าเจ้าซ่าน” (ท้าวเจ้าสาม) แทรกมาพิเศษเพียงองค์เดียว
    ดังนั้น เมื่ออ่านเอกสารฝ่ายไทลื้อ แล้วพบคำว่า ติโลกล้านนาก็ดี กาวิละล้านนาก็ดี จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องศักราชให้ถี่ถ้วนว่าตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์องค์ใดกันแน่
    หลังจากยุค พระญาติโลกราช (ติละกะล้านนา ตัวจริง) เป็นต้นมา เอกสารฝ่ายไทลื้อเริ่มมองล้านนาว่าเป็น “คู่ศึก” หรือ “ศัตรู” ทางการเมืองอย่างแท้จริง ความสัมพันธ์ฉันเครือญาติแทบจะไม่มีเหลืออีกต่อไป บางช่วงบางตอนชาวไทลื้อยังยกทัพไปช่วยชาวจีนมารบล้านนาด้วยซ้ำ
    ส่วนเอกสารของคนไทกลุ่มอื่นๆ อาจารย์เรณูกล่าวว่าชาวไทใหญ่ ไม่ค่อยกล่าวถึงพระญามังรายนัก ในรัฐฉาน ประเทศพม่า มีเมืองที่สามารถใช้เป็นเกณฑ์แบ่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐล้านนากับรัฐไทใหญ่ ได้แก่ เมืองปั่น เมืองลุง และเมืองนาย
    เหนือขึ้นไปทางตอนบนจากสามเมืองนี้ จะไม่มีการกล่าวถึงพระญามังรายเลย แต่ใต้ลงมาจากสามเมืองนี้ โดยเฉพาะเมืองปองใต้ พอจะมีการกล่าวถึงล้านนาอยู่บ้าง
    แต่บุคคลที่ถูกเอ่ยถึงก็ไม่ใช่พระญามังรายอยู่นั่นเอง กลายเป็นพระญาติโลกราชมากกว่า (ติโลกล้านนาตัวจริง) มีการแทนคำเรียกกษัตริย์ล้านนาว่า “น้องฟ้า” และแทนกษัตริย์ไทใหญ่ว่า “พี่ฟ้า”
    งานวิจัยด้าน “มังรายศึกษา” ในสายตาชาวไทลื้อของอาจารย์เรณู วิชาศิลป์ เชื่อว่าน่าจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ต่อมหาราชพระองค์นี้ไม่น้อยเลย

    *******************
    ร้อยเอก ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา นักวิชาการอิสระด้านการบริหารจัดการมรดกทางศิลปสถาปัตยกรรม มีเชื้อสายฝ่ายมารดา ซึ่งเป็นชาวบ้านแม่กุ้งบก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งสาย “ลัวะ” และ “ลื้อ” ในตัวเอง (ฝ่ายบิดาเป็นคนกรุงเทพฯ)
    4-5 ปีที่ผ่านมา ดร.อัครินทร์ ลงพื้นที่วิจัยเก็บข้อมูลเรื่องชาติพันธุ์ลัวะอย่างเข้มข้น เพราะเห็นว่าลัวะคือกลุ่มชนดั้งเดิม ส่วนลื้อคือผู้อพยพมาใหม่
    มีงานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลื้อมากมาย ในขณะที่ชาวลัวะในล้านนากำลังจะสูญหาย
    ชาว “ละเวือะ” กับเมือง “ชวงฮมัลล์”
    ดร.อัครินทร์ เปิดประเด็นเรื่องผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมของเชียงใหม่ ว่าหากพินิจร่องรอยให้ลึกซึ้งจะเห็นว่าสร้างขึ้นทับแผนผังเมืองเก่าที่เป็นรูปวงกลม
    จากการสัมภาษณ์คุณลุงเก๊อะเมือง งามจารุเกรียงไกร ปราชญ์ชาวลัวะบ้านแม่ละอูบ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ท่านเล่าให้ ดร.อัครินทร์ ฟังว่า
    เดิมชาวลัวะเคยอาศัยกลางเมืองเชียงใหม่ เรียกเชียงใหม่ว่า ชวงฮมัลล์/โชงฮไม เป็นคำที่ออกเสียงค่อนข้างยาก เพราะเป็นกลุ่มภาษาออสโตรเอเชียติก ตระกูลมอญ-ขแมร์ เช่นเดียวกับชาวมอญที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ก็เรียกเชียงใหม่ว่า ชวงฮไมลล์
    ชวงฮมัลล์ แปลว่าภาชนะรูปวงกลมที่สานด้วยไม้รวก (ตระกูลไผ่ชนิดหนึ่ง) ใช้รองก้นหม้อไม่ให้โยกเยก ตรงตามผังเมืองเชียงใหม่ในอดีตยุคลัวะ ก่อนพระญามังรายจะสร้างเมืองทับรูปทรงกลมแล้วเปลี่ยนเป็นรูปเหลี่ยม สอดคล้องกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่กล่าวว่าเชียงใหม่เป็นเวียงของท้าวพระญาอยู่มาแต่เดิม

    ดังนั้น เชียงใหม่จึงไม่ได้มีอายุเพียงแค่ 720 ปี แต่ต้องมีอายุยาวไปถึงเป็นพันๆ ปี น่าจะร่วมสมัยหรืออาจก่อนสมัยหริภุญไชย (เริ่ม พ.ศ.1204) ด้วยซ้ำ
    ถือว่าลัวะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
    ชาวลัวะที่บ้านละอูบ และบ้านดง แม่ฮ่องสอนยืนยันว่าชาติพันธุ์ของตนไม่ได้ออกเสียงว่า “ลัวะ” ตามที่เรานิยมเขียนกัน คำดังกล่าวมาเรียกขานในภายหลังเพื่อให้ง่ายต่อการออกเสียง
    อันที่จริงพวกเขาเรียกเผ่าพันธุ์ตัวเองว่า “ละเวือะ” (ตัว ว. ออกเสียงคล้าย V ในภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ W คือมีการลั่น vibration เล็กน้อย)
    ชาวล้านนาพยายามจะออกเสียง ละเวือะ ให้คล้ายคลึงกับคำนี้มากที่สุด แต่ออกได้แค่ ละ หละ ละวะ (เวลาออกเสียงต้องแบะปากยกลิ้นขึ้นนิดหน่อย) ในที่สุดก็เขียนได้แค่ ลัวะ
    ในขณะที่ภาคกลางใช้คำว่า “ละว้า” ส่วนในพม่า ลาว จีน เรียก “ว้า” เพียงสั้นๆ พยางค์เดียว และมักมีเรื่องเล่าถึงชนเผ่าว้าจากประเทศเพื่อนบ้านในทำนองว่า พวกว้าชอบตัดคอคนหรือล่าหัวมนุษย์ สะท้อนว่าเป็นชนเผ่าที่ชอบทำสงครามการต่อสู้นั่นเอง
    ความสัมพันธ์ระหว่าง ลัวะ-เม็ง-ไท
    ในตำนานน้ำเต้าปุง กล่าวว่ามนุษย์กลุ่มแรกที่ออกมามีผิวดำ หมายถึงชาวลัวะ ต่อมาจึงเป็นกลุ่มเม็ง ยาง ไท ฯลฯ มาลา คำจันทร์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนรางวัลซีไรต์ เคยเล่าให้ ดร.อัครินทร์ ฟังว่า มีคำพูดหนึ่งเขียนไว้ใน ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ว่า “ลัวะเป็นอ้าย ไทเป็นน้อง”

    เรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวลัวะจากปราชญ์ชาวบ้านละอูบยังกล่าวต่อไปว่า หลังสมัยขุนหลวงวิลังคะ ยังมีผู้ครองเวียงชาวลัวะสืบต่อมาอีกถึง 9 รัชกาล เพียงแต่ไม่ได้ตั้งเมืองอยู่ในเชียงใหม่ ต้องย้ายออกไปนอกเมือง เพราะอิทธิพลชาวมอญ (เม็ง) ฝ่ายพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชยแผ่ไปยึดครองถิ่นดั้งเดิมของชาวลัวะตลอดดอยสุเทพ
    ลัวะจึงต้องอพยพไปอยู่แถวฮอด แม่แจ่ม แม่สะเรียง อมก๋อย และต่อมาหลังจากชาวมอญที่เข้ามาปะปน (หรือขับไล่) ชาวลัวะแล้ว ก็เริ่มมีคนไท(ย) เข้ามาขออาศัยอยู่ด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง คนไทกลุ่มนี้มาจากไหน
    ดร.ฮันส์ เพนธ์ นักจารึกวิทยาชาวเยอรมันผู้ล่วงลับ ให้ความเห็นว่า คนชาติพันธุ์ไท เริ่มเข้ามาปรากฏตัวตนในสมัยหริภุญไชยจริงๆ ก็ตอนปลายอาณาจักรแล้ว เนื่องจากตำนานได้กล่าวถึงบุคคลชื่อ “ไทยอำมาตย์” มาจากเขลางค์นคร ยกทัพมาตีหริภุญไชยแล้วปราบดาตนขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองลำพูน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17
    ดร.ฮันส์ เพนธ์ จึงตีความว่าไทยอำมาตย์น่าจะเป็นคนไท แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเชื้อสายใด ระหว่าง ไทลื้อ ไทยวน ไทยสุโขทัย ไทใหญ่ หรือไทน้อย?
    ตั้งแต่เหตุการณ์ ไทยอำมาตย์ สะท้อนว่าชาวลัวะ มอญ และไท ได้อาศัยอยู่ด้วยกันตั้งแต่นั้นมานานหลายศตวรรษแล้ว

    พระญามังรายตีลำพูน ลัวะรบมอญ หรือ ไทรบไท?
    ดร.อัครินทร์ ตั้งคำถามว่า เหตุไฉนเมื่อพระญามังรายตีเมืองหริภุญไชยแล้วต้องยึดและเผาทันที ไม่มีการอะลุ้มอล่วยปรานีปราศรัยต่อเจ้าเมืองเดิมแต่อย่างใดเลย
    เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะพระญามังรายเป็นชาวลัวะนั่นเอง จึงมีสำนึกด้านชาติพันธุ์ค่อนข้างรุนแรง ทำไมชาวลัวะมองลำพูนเป็นศัตรู เหตุที่ฝังใจจำนานกว่าพันปี ตั้งแต่ครั้งที่ขุนหลวงวิลังคะถูกชาวมอญหริภุญไชย (พระนางจามเทวี) มารุกล้ำแผ่นดินลุ่มแม่ระมิงค์ของชาวลัวะ
    การยึดหริภุญไชยได้จึงเท่ากับเป็นการทวงเกียรติภูมิกลับคืนจากชาวมอญสู่ชาวลัวะ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตอนพระญามังรายประกาศว่าอยากได้เมืองหริภุญไชย ก็ไม่เห็นมีใครที่คิดจะอาสามาทำหน้าที่ช่วยเป็นแม่ทัพหน้าในการยึดเมืองให้พระองค์เลย จะมีก็แต่อ้ายฟ้าชาวลัวะผู้เดียวที่ขันอาสา และตั้งปณิธานว่าจักต้องยึดเมืองมอญหริภุญไชยให้จงได้
    พฤติเหตุเช่นนี้สะท้อนถึงความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวลัวะที่ถูกชาวมอญเหยียบย่ำนานกว่า 6 ศตวรรษ หรือไม่?
    สอดรับกับสิ่งที่ ดร.ฮันส์ เพนธ์ กล่าวว่า คนไทเมื่อเข้ามาสู่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน แล้วสามารถผสมกลมกลืนวัฒนธรรมของตนกับเผ่าลัวะได้ดีกว่าเผ่ามอญ
    สงครามระหว่างฝ่ายพระญายีบา (หรือยี่บา กษัตริย์มอญองค์สุดท้ายแห่งหริภุญไชย) พระญาเบิก (พระโอรสของพระญายีบา กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งเขลางค์นคร) กับฝ่ายของพระญามังราย และราชโอรส พระญาไชยสงคราม ซึ่งใช้อ้ายฟ้าเป็นไส้ศึกนั้น
    เป็นไปได้หรือไม่ว่า เกิดจากแรงขับที่พระญามังรายมีเชื้อสายผสมระหว่างลัวะ (ฝ่ายพ่อ) กับไทลื้อ (ฝ่ายแม่)?
    อาจเป็นมุมมองที่เห็นต่างไปจาก อาจารย์อภิชิต ศิริชัย วิทยากรคนแรกที่เปิดประเด็นว่าพระญามังรายไม่ได้มีเชื้อสายลัวะ?

    กรณีของพระญายีบาเอง ก็ยังเป็นที่สงสัยอยู่ไม่น้อยว่า มีเชื้อสายอะไรแน่ แม้จะนั่งเมืองมอญหริภุญไชย แต่จากชื่อ ยี่หรือยี หมายถึงสอง เป็นคำภาษาไทย และตามที่ ดร.ฮันส์ เพนธ์ ได้ศึกษาไว้แล้วว่า กษัตริย์ในราชวงศ์หริภุญไชยตอนปลายๆ ตั้งแต่ไทยอำมาตย์เป็นต้นมา น่าจะเปลี่ยนมาเป็นชาติพันธุ์ไทกันหมดแล้ว
    หากเชื่อว่าพระญายีบา พระญาเบิก เป็นมอญ และพระญามังรายเป็นลัวะ สงครามตีหริภุญไชย ก็เท่ากับเป็นการรบระหว่างมอญกับลัวะ
    แต่หากเชื่อว่า พระญายีบา เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่งแล้ว โดยสืบเชื้อสายมาจากไทยอำมาตย์ และพระญามังรายก็มีพ่อเป็นไทโยนก (ตามที่อาจารย์อภิชิตเสนอไว้) อีกทั้งแม่เป็นไทลื้อ สงครามปี 1824 ครั้งนั้น ก็เท่ากับเป็นการรบกันระหว่างเผ่าไทด้วยกันเอง!
    ปริศนาเวียงมโน กับการย้ายเมืองหลว'มาอยู่ทิศตะวันตกของพระญามังราย
    เมื่อสร้างเวียงเชียงใหม่เสร็จ พบว่าพระญามังรายได้ฟื้นฟู “เวียงบริวาร” ดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชยจำนวนหลายแห่ง
    ดร.อัครินทร์ ตั้งคำถามว่า ทำไมเวียงบริวารเดิมของลำพูน จึงตั้งอยู่อย่างหนาแน่นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงมากกว่าฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย เวียงฮอด เวียงแม เวียงเถาะ เวียงท่ากาน เวียงมโน เวียงกุมกาม ฯลฯ

    ดร.อัครินทร์ จึงพยายามหาคำตอบจากด้านภูมิศาสตร์ พบว่ามีการหักเหทิศทางของแม่น้ำปิงหลายครั้ง จนทำให้เวียงบริวารต่างๆ ต้องร้างไป เวียงโบราณเหล่านี้มีความน่าสงสัยอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เวียงมโน” ที่ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง
    เวียงมโน เป็นเวียงที่แปลก ไม่มีการกล่าวถึงเลยว่าเคยชื่อเวียงอะไรในยุคหริภุญไชย เรื่องราวหายไปจากเอกสารตำนานต่างๆ ผิดกับเวียงอื่นๆ พบแต่เพียง “จารึกแม่หินบดเวียงมโน” เพียงชิ้นเดียวที่พอจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเวียงนี้
    ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ ดร.อัครินทร์ จึงนำเสนอเงื่อนงำดังกล่าว ด้วยการลองลากเส้นเชื่อมโยงดูจากเวียงแม่กุ้งบก (อำเภอสันป่าตอง) ไปยังเวียงมโน ตัดตรงไปเรื่อยๆ จากตะวันตกสู่ตะวันออก จะลากไปพบเวียงหริภุญไชยในลำพูนพอดี
    พบว่าที่ตั้งของเวียงมโน อยู่กึ่งกลางแอ่งลำพูน-เชียงใหม่ ระหว่างเทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาผีปันน้ำ จากนั้น ดร.อัครินทร์ ลองลากเส้นอีกเส้นหนึ่งแกนเหนือใต้ คือจากเวียงกุมกาม (อำเภอสารภี) ลงไปสู่เวียงท่ากาน (อำเภอสันป่าตอง) กระทั่งถึงเวียงเถาะ (อำเภอดอยหล่อและจอมทอง) และเวียงฮอด ล่างสุด ก็ยังเห็นว่าศูนย์กลางของแอ่งนี้ไปตัดที่กึ่งกลาง ณ เวียงมโนอีกเช่นกัน

    ดร.อัครินทร์ จึงตั้งคำถามขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า เวียงมโนตรงบริเวณอำเภอหางดง ณ ปัจจุบันนี้ เคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรหริภุญไชยมาแต่ดั้งเดิม
    และต่อมาเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่าง ทำให้มีการย้ายเวียงหริภุญไชย (จากหางดง) ไปอยู่ในที่แห่งใหม่ นั่นคือบริเวณคูเมืองลำพูนปัจจุบัน
    เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการมาของพระนางจามเทวี ไม่แน่ใจนัก อาจเป็นอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ที่ผู้คนล้มตาย มีการขุดขยายลำน้ำปิงใหม่ทำให้แม่ระมิงค์เปลี่ยนสายไปใช้น้ำจากแม่กวงแทน
    กล่าวโดยสรุปคือ ดร.อัครินทร์ เชื่อว่า แต่เดิมการตั้งเวียงหริภุญไชย น่าจะอยู่บริเวณเวียงมโนมาก่อน เพราะอยู่กึ่งกลางเวียงบริวารทั้งหมดอย่างลงตัว จากนั้นจึงย้ายมาอยู่ที่ลำพูน
    ทำไมตอนที่พระญามังรายยึดลำพูนแล้วไม่ยอมอยู่ลำพูน ต้องการย้ายเมือง แม้ตำนานหลายฉบับอ้างว่าเพราะลำพูนเป็นเมืองพระธาตุขยายให้ใหญ่กว่านี้ไม่ได้แล้ว
    แต่ในความเป็นจริง น่าจะมาจากลำพูน ไม่มีเวียงบริวารที่ตั้งอยู่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงเพื่อรองรับความเป็นศูนย์กลางของลำพูนเลย เวียงบริวารทั้งหมดล้วนตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกทั้งสิ้น ทำให้พระญามังรายมีความคิดว่าจำเป็นจะต้องย้ายศูนย์กลางจากตะวันออกไปยังตะวันตกแทน
    นั่นคือการตัดสินใจทิ้งลำพูนไปสร้างเวียงกุมกามและเชียงใหม่ในที่สุด ทำเลดังกล่าวสะดวกต่อการฟื้นฟูเวียงบริวารทางฝั่งนี้ เพื่อใช้เป็นปราการปกป้องนครเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์

    ******************
    เรื่องราวของพระญามังรายมาถึงตอนสุดท้าย
    ในเมื่อตอนแรกเริ่มต้นด้วย “ปริศนาเรื่องชาติกำเนิด”
    ฉะนั้น ตอนจบก็คงหนีไม่พ้นปม “ปริศนาเรื่องการสวรรคต” เช่นกัน
    “ฟ้าผ่า” อวสานพระญามังราย?

    อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการด้านภาษาโบราณ เปิดประเด็นเรื่องการสวรรคตของพระญามังรายว่า
    เอกสารหลักๆ เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ล้วนระบุเวลาที่พระญามังรายสวรรคตเพียงแค่ปีศักราช แล้วไฉนเราจึงฟันธงว่าพระญามังรายสิ้นพระชนม์ในวันที่ 26 มกราคม
    ที่ทราบเช่นนี้เนื่องมาจากมีการค้นพบเอกสารใบลานฉบับหนึ่งโดย รศ.ดร.มังกร ทองสุขดี อดีตผู้บริหารสถานศึกษาหลายสถาบัน ได้ส่งเอกสารชิ้นนั้นไปให้นักวิชาการที่แคนาดาทำการปริวรรต ได้รับการการันตีว่าเอกสารชิ้นนี้ค่อนข้างสมบูรณ์กว่าเอกสารฉบับอื่น เหตุเพราะได้ระบุวันเดือนปีที่พระญามังรายสวรรคตอย่างละเอียด

    ในขณะที่เอกสารทั่วไประบุเพียงแค่ปีศักราชการสวรรคตเท่านั้น คือตรงกับปี จ.ศ.679 (พ.ศ.1860) ซ้ำยังกล่าวว่า พระญามังรายสิ้นพระชนม์เมื่ออายุ 80 พรรษา
    แต่เอกสารชิ้นที่ ดร.มังกร ค้นพบนั้นระบุว่า พระญามังรายเสียชีวิตตอนอายุ 78 ปี
    นอกจากประเด็นปริศนาเรื่องวันเดือนปีที่เสียชีวิตแล้ว อาจารย์เกริกยังตั้งข้อสังเกตอีกประเด็นหนึ่งว่า เอกสารทุกฉบับระบุว่า พระญามังรายถูกฟ้าผ่า มันจะย้อนแย้งหรือไม่ ในเมื่อวันที่ 26 มกราคมนั้นเป็นหน้าแล้ง ไม่ใช่ช่วงที่ฝนตกฟ้าคะนอง เหตุไรจึงมีฟ้าผ่าในฤดูนี้?
    อย่างไรก็ดี ตามหลักวิทยาศาสตร์มีการอธิบายถึงความเป็นไปได้ถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อาจทำให้เกิดฟ้าผ่าผิดฤดูกาลได้ด้วยเช่นกัน เกิดจากในก้อนเมฆชนิดหนึ่งมีรูปร่างเป็นแท่งยาวๆ เป็นเมฆที่มีประจุไฟฟ้า 2 ขั้ว ตอนบนของเมฆมีประจุไฟฟ้าบวก ทำปฏิกิริยากับเมฆที่มีประจุไฟฟ้าขั้วลบที่อยู่ตอนล่างใกล้พื้นดิน
    กรณีเช่นนี้ชาวล้านนาไม่เรียก “อสุนีบาต” แต่เรียกว่า “ไอศวรยิง” หรือ “อสูรยิง”
    เมื่อผีกลายเป็นพุทธ จุดจบย่อมพิสดาร
    อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ เป็นชาวล้านนาโดยกำเนิด มาร่วมงานเสวนาครั้งนี้
    ได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจยิ่งว่า
    ปริศนาการสวรรคตของพระญามังราย แม้จะเขียนว่าเกิดจากฟ้าผ่า แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่ฟ้าผ่าก็ได้

    ขอตั้งข้อสังเกตถึงกรณีการเสียชีวิตของปฐมกษัตริย์ในอุษาคเนย์หลายพระองค์ที่ครองราชย์ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการนับถือผีมาเป็นพุทธ มักมีฉากอวสานในลักษณะพิเศษหรือที่เรียกว่าตายแบบพิสดารในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
    พระญามังรายสมัยอยู่เชียงรายและเมืองฝาง ยังนับถือผี แต่เมื่อปราบลำพูนได้ กระทั่งสถาปนาราชวงศ์มังรายขึ้น ก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ถือเป็น “สภาวะที่สร้างความขัดแย้งท่ามกลางสังคมขุนนางเก่าแก่ที่ยังปรับตัวไม่ทันอย่างสูง” เป็นการกระทำที่หักหาญล้มเลิกความเชื่อเก่าอย่างรุนแรง ความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่นี้ มาลงเอยด้วยการพรรณนาฉากการตายให้ถูกฟ้าผ่า
    พระเจ้าฟ้างุ้ม ผู้เปลี่ยนอาณาจักรล้านช้างแห่งหลวงพระบาง จากผีให้กลายเป็นพุทธเช่นเดียวกัน ฉากสุดท้ายของพระเจ้าฟ้างุ้มคือการถูกอัปเปหิ (ขับไล่) ออกจากหลวงพระบางให้ไปตายเมืองน่าน
    พระเจ้าอโนรธามังช่อ หรืออนิรุทธมหาราช เดิมนับถือผี พอตีอาณาจักรมอญได้ ก็เปลี่ยนเป็นพุทธ ฉากจบเขียนว่าอโนรธาถูกควายขวิดตาย
    พระร่วง (ศรีอินทราทิตย์) เปลี่ยนการนับถือผีมาเป็นพุทธ สุดท้ายพระร่วงจมน้ำตายที่แก่งหลวง
    นี่คือประเด็นปัญหาที่ต้องขบคิดตีความ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับการตายแบบพิสดารหรือไม่ปกติของเหล่าปฐมกษัตริย์ผู้เป็นมหาราชเหล่านี้
    เมื่อตำนานเขียนว่าพระญามังรายสวรรคตด้วยการถูกฟ้าผ่า และหากเราเชื่อเช่นนั้นก็จบ ทว่า เราต้องดูบริบทของอาณาจักรล้านนาต่อไปด้วยว่า เกิดอะไรขึ้นภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระญามังราย
    นั่นคือคำถามที่ว่า เหตุไรพระญาไชยสงคราม ผู้เป็นพระโอรส จึงไม่ยอมประทับ ณ เมืองเชียงใหม่ แต่ย้ายราชธานีกลับไปประทับที่เมืองเชียงราย
    แม้จะมีเหตุผลมาอธิบายมากมาย อาทิ พระญาไชยสงครามจำเป็นต้องกลับไปรับศึกสายเลือดป้องกันพรมแดนเชียงราย-พะเยาก็ดี หรือต้องขึ้นไปต้านทานอำนาจจีนมองโกล ก็สุดแท้แต่จะคิด

    อาจารย์สมฤทธิ์ถามต่อไปว่า แล้วทำไมพระญาแสนภูกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 3 ก็ยังไม่ยอมกลับเชียงใหม่ แถมไม่อยู่เชียงราย แต่ย้ายไปสร้างเชียงแสน จนกระทั่งถึงสมัยของพระญาคำฟู ก็ยังประทับที่เชียงแสน
    แสดงว่าเชียงใหม่ต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างแน่ๆ ตั้งแต่พระญามังรายสิ้นพระชนม์ไม่มีกษัตริย์รัชทายาทองค์ไหนยอมประทับที่เชียงใหม่อีกเลย ยาวนานมากกว่า 4-5 รัชกาลหรือเกือบหนึ่งศตวรรษเลยทีเดียว
    ฉะนั้น การสวรรคตของพระญามังราย ต้องไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ
    กู่พระเจ้าเม็งรายมาได้อย่างไร
    อภิชิต ศิริชัย นักวิชาการอิสระชาวเชียงราย อภิปรายในประเด็นการสวรรคตของพระญามังรายว่า
    ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า เมื่อพระญาไชยสงครามทราบข่าวว่าพ่อของตนตายกลางกาด (ตลาด) ที่เชียงใหม่ ก็ได้เดินทางพร้อมด้วยบริวารมากระทำพิธีส่งสการศพ ก่อกู่ (บรร)จุดูกพ่อตนกลางกาดเชียงใหม่นั้นแล และยังปลูกต้นโพธิ์ไว้เป็นหมุดหมายอีกด้วย
    เอกสารทุกฉบับต่างเขียนในทำนองเดียวกัน แต่แล้วอยู่ๆ ที่จังหวัดเชียงรายกลับปรากฏ “กู่พระเจ้ามังราย” อยู่ที่วัดงำเมือง (ที่ถูกต้องควรเป็น “วัดงามเมือง”) ผู้คนพากันไปคารวะกราบไหว้โดยไม่มีการตั้งคำถามว่า

    ใช่กู่อัฐิของพระญามังรายจริงล่ะหรือ และหากใช่ กู่แห่งนี้มีที่มาอย่างไร?
    ทางจังหวัดเชียงรายให้การส่งเสริมความเชื่อดังกล่าว กอปรกับตอนที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถานปี 2478 เขียนคำอธิบายว่า “กู่พระเจ้าเม็งราย” อย่างชัดเจน
    อภิชิตสนใจเรื่องนี้มาก ในเมื่อจากประวัติระบุว่าพระญามังรายสวรรคตที่เชียงใหม่ ซ้ำพระญาไชยสงครามก็สร้างกู่อัฐิของพระราชบิดาที่นั่น ยังไม่เคยพบหลักฐานเล่มใดกล่าวว่าพระญาไชยสงครามนำอัฐิพระญามังรายมาไว้ที่เชียงรายมาก่อน
    อภิชิตจึงสืบค้นได้ความว่า คำว่า “กู่พระเจ้าเม็งราย” นี้มีการเรียกครั้งแรกในหนังสือ “ตำนานเมืองเหนือ” ของ “สงวน โชติสุขรัตน์” พิมพ์ครั้งแรกปี 2497 เขียนไว้ 8 บรรทัดในหน้า 384 กล่าวว่า
    เมื่อพระญาไชยสงคราม มาส่งพระบรมศพพระราชบิดาที่เชียงใหม่แล้ว ท่านได้นำพระอัฐิของพระราชบิดากลับมาไว้ที่เชียงราย และนำมาบรรจุไว้ที่เจดีย์หน้าวัดงำเมือง โดยไม่อ้างอิงเชิงอรรถว่าเอามาจากต้นฉบับเล่มไหน
    หลังจากปี 2497 ชุดความรู้ดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ออกไป สอดคล้องกับข้อมูลที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่เมื่ออภิชิตได้ไปสอบถามบุคคลที่มีชีวิตร่วมสมัยกับ สงวน โชติสุขรัตน์ คนเฒ่าคนแก่เหล่านั้นเฉลยข้อมูลส่วนนี้ให้ฟังว่า
    อาจารย์สงวนได้ข้อมูลดังกล่าวมาจาก ส.ส.บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ อีกต่อหนึ่ง ส.ส.บุญช่วยเคยกล่าวถึงบนดอยแห่งหนึ่งไม่ไกลจากวัดงำเมือง มีกู่อัฐิของใครบางคนอยู่ น่าจะเป็นผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์พอสมควร
    กล่าวคือ ส.ส.บุญช่วย คือผู้เปิดประเด็นลอยๆ ถึงกู่ปริศนา แต่ยังไม่ได้ฟันธงว่าคือกู่อัฐิของพระญามังราย เมื่ออาจารย์สงวนทราบข้อมูลนี้ จึงเป็นคนแรกที่เชื่อมโยงกู่ร้างกับพระญามังรายเข้าด้วยกัน

    กระทั่งปี 2535 นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ได้เป็นประธานอัญเชิญกู่ร้างจากดอยลงมาไว้ที่วัดงำเมือง แล้วสร้างกู่อัฐิพระญามังรายขึ้นมาใหม่เพื่อให้สมจริง ปี 2549 มีคณะศรัทธาร่วมบริจาคปัจจัยเพื่อก่อสร้างฐานใหญ่โอ่อ่าพร้อมเติมยอดฉัตรทองเหลืองอย่างสวยงาม จนคนที่ผ่านไปมาต่างเชื่อกันว่านี่คือ กู่อัฐิของพระญามังรายจริงๆ
    นอกจากการอุปโลกน์ให้มีกู่พระญามังรายแล้ว ยังมีวัดอีกแห่งหนึ่งที่ระบุว่าสร้างโดยพระนางอุสาปายโค ธิดาหงสาวดี ชายาชาวมอญของพระญามังราย ซึ่งไม่เคยปรากฏหลักฐานส่วนนี้ในเอกสารใดๆ มาก่อนเลย

    การประเมินคุณค่าของผู้นำในอดีต
    สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เคยเสนอให้ไร่แม่ฟ้าหลวง ก่อตั้ง “อาศรมพระญามังรายหลวง” กล่าวสรุปว่า กรณีการศึกษาเรื่องพระญามังรายควรใช้กระบวนการศึกษาแบบสหวิทยา เห็นด้วยอย่างยิ่งในการค้นคว้าของ อาจารย์เรณู วิชาศิลป์ ที่ใช้เอกสารพงศาวดารของฝ่ายจีน ฝ่ายไทลื้อ แสนหวี ไทขึน ไทใหญ่ ฝ่ายมอญ ฝ่ายลาว ไม่ควรใช้เอกสารเฉพาะของไทฝ่ายเดียว เพื่อจะได้ตรวจสอบว่าตกลงแล้วพระญามังรายคือใครกันแน่
    เดิมนั้นเวลาพูดถึงพระญามังราย เรามักเห็นภาพแค่เพียงลุ่มน้ำกก กับลุ่มน้ำปิง แต่ในความเป็นจริง เราตกหล่นแม่น้ำคง (สาละวิน) ไปอีกหนึ่งสาย อย่าลืมว่าพระญามังรายเคยตีได้เมืองขนาดใหญ่เหนือฝั่งสาละวินหลายเมืองมาครอบครอง ได้แก่เมืองนาย เมืองปั่น และเชียงตุง
    โดยเฉพาะเมืองนายเป็นเมืองใหญ่มาก ที่ยุคต่อมาเมื่อพม่ายึดล้านนาได้ ได้ใช้เมืองนายเป็นจุดยุทธศาสตร์คุมล้านนามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ตองอู มาจนถึงราชวงศ์คองบอง ฉะนั้น พระญามังรายจึงไม่ได้เป็นกษัตริย์แค่เชียงราย-เชียงใหม่ หรือลุ่มน้ำกก-น้ำปิง เท่านั้น แต่ยังข้ามไปไกลถึงแม่น้ำสาละวิน
    แต่การพูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าจะให้เราไปเคลมเอาดินแดนเหล่านั้นกลับคืนมาขึ้นกับสยาม เหมือนกับทฤษฎียุคหลวงวิจิตรวาทการแต่อย่างใดไม่
    ต้องการบอกแค่ว่า เราอย่าใช้พงศาวดารฉบับฝ่ายเราเพียงเล่มเดียว ตอนนี้การศึกษาประวัติศาสตร์ต้องวิเคราะห์ว่า “ใครเขียน” “เขียนเพื่อรับใช้ใคร” “มีจุดประสงค์อย่างไร”
    นอกจากนี้แล้ว ไม่อยากให้มองพระญามังรายเป็นเทพหรือวีรบุรุษเพียงด้านเดียว เพราะจะเป็นการบิดเบือนต่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ต้องศึกษาและตีความใหม่ว่าพระญามังรายเป็นมนุษย์ไม่ใช่เทพ

    พระญามังรายก็มีกิเลส มีอารมณ์ มีความอยาก มีบาดแผล มีความเห็นแก่ตัว มีความทะเยอทะยาน ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาไม่ควรลืมกรณีที่ขุนเครื่อง โอรสองค์โตของพระญามังรายเคยคิดจะสังหารพระราชบิดา พระญามังรายจึงวางแผนฆ่าขุนเครื่องเสียก่อน
    อภิชิต ศิริชัย ปิดประเด็นการเสวนาว่า กรณีตัวเลข 777 ที่ระบุว่าครบรอบชาตกาลพระญามังราย ทางเชียงใหม่เห็นว่าตรงกับปี 2559 แต่ทางเชียงรายกลับจัดไปก่อนล่วงหน้าในปี 2558 เนื่องจากปีนั้นมีคณะผ้าป่าชุดใหญ่เดินทางมาทำบุญพอดี ทำให้ทุกวันนี้ชาวเชียงรายเกิดคำถามว่า
    อ้าว! ทำไมชาวเชียงใหม่เพิ่งจะจัด 777 ปีชาตกาลพระญามังรายในปี 2559 ก็ในเมื่อทางเชียงรายจัดไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 มิใช่หรือ

    สิ่งเหล่านี้ควรมีบรรทัดฐานที่ถูกต้องเป็นหนึ่งเดียว เนื่องจากพระญามังรายพระองค์นี้คือองค์เดียวกัน ไม่สามารถแบ่งแยกภาคได้เหมือนพระนารายณ์ 10 ปาง
    เชียงใหม่ เชียงราย ควรจับมือชำระประวัติศาสตร์ร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้นำท้องถิ่น หรือหัวหน้าส่วนราชการเข้าใจประวัติศาสตร์แบบจับแพะชนแกะ ไปกันคนละทิศละทาง ฝ่ายท่องเที่ยวไม่ควรหากินกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์แบบบิดเบือนและมักง่าย
    เห็นได้จาก แม้จะรู้ว่า “พระญามังราย” เป็นคำที่ถูกต้อง แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขป้ายชื่อสถานที่ที่เกี่ยวข้อง เรายังคงพบเห็นคำว่า ห้าแยกพ่อขุนเม็งราย งานเทศกาลพ่อขุนเม็งราย ฯลฯ
    ด้วยเหตุนี้อภิชิตจึงเขียนหนังสือขึ้นมาใหม่เล่มหนึ่ง ชื่อ “รู้เรื่องเมืองเชียงราย” หากผู้สนใจต้องการไขปริศนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนาเชิงลึก เป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฏในแบบเรียน หลักสูตรการศึกษาเล่มใดๆ

    *******************
    ที่มา: https://www.matichonweekly.com/column/article_21759
    https://www.matichonweekly.com/column/article_22691
    https://www.matichonweekly.com/column/article_23678
    https://www.matichonweekly.com/column/article_24241
     
  3. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    15.jpg


    พรญามังราย(๗)
    พระญามังราย, พ่อขุนเมงราย, พ่อขุนเม็งราย

    หลักฐานที่มาพระนาม พระญามังราย มาจากหลักศิลาจารึก และบันทึกต่างๆ จะปรากฏพระนาม พรญามังรายหลวง ชัดเจน ส่วนเนื้อความจะเห็นว่าเป็นสำนวนโบราณต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตีความ
    ***********************
    เรียน ชาวเชียงราย ทุกท่าน
    ผมเป็นชาวเชียงรายคนหนึ่งที่รักแผ่นดินถิ่นฐานบ้านตนเอง บ้านเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน สามารถบอกกล่าวอวดอ้างให้ใครต่อใครได้โดยไม่อาย แต่มีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นประเด็นขึ้นมาในโลกออนไลน์หลายครั้ง คือการถกเถียงถึงเรื่อง “พระนามของกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงราย” ซึ่งส่วนตัวเรียนรู้และเข้าใจมานานแล้ว เมื่อพิจารณาจากประเด็นที่โต้กันไปมาและประมวลผลจากการอธิบาย ปรากฏว่าชาวเชียงรายส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลความผิดเพี้ยนของพระนามกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงรายอย่างถูกต้อง จึงจำเป็นขอรวบรวมข้อมูลโดยสังเขปเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ต่อชาวเชียงรายต่อไป
    .
    เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ผู้สร้างเมืองเชียงราย และเมืองเชียงใหม่ ต่อมาก่อเกิดเป็นอาณาจักรล้านนานั้น คือกษัตริย์พระองค์เดียวกัน ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ทั้งศิลาจารึกและใบลาน พับสา ที่จารจดกันไว้ในอดีตล้วนแล้วแต่บันทึกพระนามกษัตริย์พระองค์นี้ว่า “พระญามังราย”
    .
    แต่เหตุใด ที่เชียงรายถึงมีพระนาม “พ่อขุนเม็งราย” เพียงแห่งเดียวที่เรียกเช่นนี้ แล้วเหตุใดที่เชียงใหม่ไม่เรียกเช่นนี้ ทั้งๆ ที่เป็นบุคคลเดียวกัน แล้วทำไมปัจจุบันจึงมีผู้คนมาทักท้วงมากมายว่า “พ่อขุนเม็งราย” เป็นพระนามที่ผิด? แล้วมันจะผิดได้อย่างไร? ในเมื่อส่วนราชการก็ระบุชัดเจนทุกที่ว่า “พ่อขุนเม็งราย” ทั้งที่ฐานอนุสาวรีย์ฯ ที่ห้าแยกฯ ก็ระบุ “พ่อขุนเม็งราย” ผมขออธิบายให้พิจารณาดังต่อไปนี้
    .

    หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แก่
    .
    1. ศิลาจารึกวัดพระยืน ลำพูน พ.ศ.1913 จารด้วยอักษรสุโขทัย ภาษาสุโขทัย พบที่วัดพระยืน อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ปัจจุบันยังอยู่ที่เดิม กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งที่พระสุมนเถระเดินทางมาสู่เมืองลำพูนตามคำอาราธนาของพระญากือนา ในด้านแรก บรรทัดที่ 2-4 มีข้อความว่า “อนนวาพระเสลาจาริกเจาทาวสองแสนนาอนนธรรมิกราชผูเปนลูกรกกแกพรญาผายูเปนหลานแกพระญาฅำฟูเปนเหลนแกพรญามงงรายหลวงเจทาวนีเ”
    .
    คำอ่านปัจจุบัน “อันว่าพระเสลาจารึกเจ้าท้าวสองแสนนาอันธรรมิกราช ผู้เป็นลูกรักแก่พระญาผายู เป็นหลานแก่พระญาฅำฟู เปนเหลนแก่พระญามังรายหลวงเจ้าท้าวนี้”
    http://www.sac.or.th/data…/inscriptions/inscribe_detail.php…
    .
    2. จารึก ลพ.9 จารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย จารด้วยอักษรฝักขาม ภาษาไทยวน จ.ศ.773 (พ.ศ.1954) พบที่ อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน กล่าวถึงพระนามกษัตริย์ราชวงศ์มังรายไปถึงองค์ที่ 7 กล่าวถึงเจ้าสี่หมื่นผู้ครองเมืองพะเยาและการถวายกัลปนาไว้กับวัดพระสุวรรณมหาวิหาร ในบรรทัดที่ 6-7 ว่า “งัแต(อาทิ)มงัรายกินเมิงเนิงมาเถิงคราม(ตาม)ตอเถิงทาวแสน”
    .
    คำอ่านปัจจุบันว่า “ตั้งแต่(อาทิ)มังรายกินเมือง เนื่องมาเถิงคราม(ตาม)ต่อเถิงท้าวแสน”
    http://www.sac.or.th/data…/inscriptions/inscribe_detail.php…
    .
    3. ชินกาลมาลีปกรณ์ (ชินกาลมาลินี) ซึ่งพระรัตนปัญญาเถระ ชาวเชียงราย ต่อมาไปอยู่ที่วัดสีหลารามหรือวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ท่านรจนาคัมภีร์นี้เมื่อ พ.ศ.2060 และเสร็จบริบูรณ์ใน พ.ศ.2071 จารว่าพระนามกษัตริย์พระองค์นี้ด้วยภาษาบาลี ว่า “มํราโย” (มังราโย)
    .
    4. ศิลาจารึกวัดเชียงหมั้น (เชียงมั่น) เชียงใหม่ พ.ศ.2124 จารด้วยอักษรฝักขาม ภาษาไทยวน กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่และการบริจาคทานไว้กับวัดเชียงหมั้น ในด้านแรกบรรทัดที่ 1-4 มีข้อความว่า “สกราช 658 ปีรวายสนั เดือนวิสาข ออก 8 ฅ่ำ วนั 5 ไทเมิงเปล้า ยามแตรรุ่งแล้วสองลูกนาทีปลายสองบาด นวลคัคนาเสวิยนวางปรหสัในมีนยราศี พรญามงัรายเจ้า แลพรญางำเงืองพรญาร่วงทงัสามตนตงั้หํนอนในที่ไชยภูมราชมนเทียรขุดฅืก่อตรีบูณทงัสี่ดาน้แลก่อพรเจติยทดัที่”
    .
    คำอ่านปัจจุบันว่า “ศักราช 658 (พ.ศ.1839) เดือนวิสาขะ ออก 8 ฅ่ำ วัน 5 (พฤหัสบดี) ไทเมิงเปล้า ยามแตรรุ่งแล้วสองลูกนาทีปลายสองบาท นวลัคนาเสวยนวางค์พฤหัสในมีนยราศี พระญามังรายเจ้าแลพระญางำเมืองพระญาร่วง ทั้งสามตนตั้งหอนอนในที่ไชยภูมิราชมนเทียร ขุดฅือก่อตรีบูรทั้งสี่ด้าน แลก่อพระเจติยะทัดที่”
    http://www.sac.or.th/data…/inscriptions/inscribe_detail.php…
    .
    5. นอกจากนี้ ใบลาน พับสา ทุกฉบับ เช่น มูลศาสนา, พื้นเมืองเชียงใหม่, พื้นเมืองเชียงแสน, พื้นเมืองพยาว, พื้นเมืองน่าน, พื้นเมืองสิบสองพันนา, ตำนานเมืองเชียงตุง, เชื้อเครือเจ้าแสนหวีสิบสองพันนา, พงศาวดารไทอาหม, กฎหมายมังรายศาสตร์, ตำนานพระธาตุดอยตุง, โคลงนิราศหริภุญไชย, ตำนานสิบห้าราชวงศ์, โคลงมังรารบเชียงใหม่ ฯลฯ ต้นฉบับที่ พงศาวดารโยนก นำไปแปลและเรียบเรียงขึ้นโดยพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ทั้งหมดจารว่า มังราย หรือ พระญามังราย ทั้งสิ้น
    .
    ที่มาของคำว่า “เมงราย” ถูกเผยแพร่มากที่สุดก็ใน พงศาวดารโยนก ซึ่งเรียบเรียงโดยพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) โดยที่ท่านได้รวบรวมและเรียบเรียงขึ้นให้ตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณโดยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในช่วง พ.ศ.2441-2 ต่อมาได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มเพื่อเผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2450 และได้มีการตีพิมพ์ต่อมาเป็นระยะ ดังเช่นที่สำนักพิมพ์แพร่พิทยา ตีพิมพ์ครั้งที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2515 จำนวน 1,000 เล่ม ท่านเปลี่ยนคำว่า “มัง” เป็น “เมง” ทั้งหมด แต่ครั้งนี้ท่านยังใช้คำว่า “พระยา” ซึ่งอาจเขียนตามชื่อตำแหน่งยศในยุคอยุธยาแลtรัตนโกสินทร์ต้นต้น ซึ่ง “พระยา” ต่ำกว่า “เจ้าพระยา” หากเขียนให้ถูกต้องควรเป็น พระญา หรือ พญา เป็นตำแหน่งสูงสุดของกษัตริย์ล้านนาในยุคนั้น
    .
    “พ่อขุน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 อธิบายว่า “พ่อขุน” (โบ) น.กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในสมัยสุโขทัย การใช้คำนำหน้าพระนามกษัตริย์ในอาณาจักรล้านนา ย่อมไม่เป็นการถูกต้องตามคตินิยม และไม่ถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทั้งนี้ปรากฏจากหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยเรียกคำนำหน้าพระนามว่า “พ่อขุน” เพียงไม่กี่พระองค์ นอกนั้นใช้คำว่า “พระญา” เช่นกัน
    .
    การเรียก “พ่อขุนเมงราย” ในเชียงราย เริ่มจากการจัดสร้างเหรียญพ่อขุนเมงราย รุ่นแรก ในปี พ.ศ.2496 (ที่รู้จักกันในวงการว่าเหรียญพ่อขุนเมงรายรุ่นแรก หลังพระพุทธฯ) เป็นหลักฐานที่แพร่หลายกันในยุคนี้ เพราะก่อนหน้านั้นที่เข้าใจว่า พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ท่านได้ทำผิดเพี้ยนไว้ แต่หากว่าในพงศาวดารโยนกยังใช้คำว่า “พระยา” อยู่ทุกคำ ไม่มีคำว่า “พ่อขุน” (จะผิดไปเฉพาะ มังราย เป็น เมงราย เท่านั้น) นี่เป็นมูลเหตุที่ทำให้ต่อมาถูกนำมาใช้เป็นพระนามกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงรายอย่างเป็นทางการนับแต่นี้เป็นต้นมา
    .
    ในศิลาจารึก “พรญา” ซึ่งเขียนตามภาษาไทยในปัจจุบันว่า “พญา” (อนุโลม) นั้นมีความหมายว่า King หรือ “กษัตริย์” รวมทั้งที่ใช้ในโลกอื่นด้วย เช่น พญาอินทร์ พญายม พญานาค ส่วนคำว่า “พระยา” (ภาษาเขียนในปัจจุบัน) เป็นตำแหน่งขุนนาง (ยศต่ำกว่า เจ้าพระยา) นิยมใช้สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมิได้หมายถึง “กษัตริย์”
    .
    การที่ใช้คำนำหน้าพระนามกษัตริย์ทางล้านนาเป็น “พ่อขุน” จะทำให้สับสนและผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นการฝืนคตินิยมและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวล้านนา การจำแนกคำนำหน้ากษัตริย์ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ของชนรุ่นหลังได้มีแนวทางยึดถือปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามคตินิยม เช่น อาณาจักรล้านนา ใช้ พระญา, อาณาจักรสุโขทัย ใช้ พ่อขุน (บางพระองค์), อาณาจักรอยุธยา ใช้ สมเด็จ, ยุครัตนโกสินทร์ ใช้ พระบาทสมเด็จ เป็นต้น
    .
    อนุสาวรีย์พ่อขุนเมงราย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2507 ในขณะนั้นยังไม่มีการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างแพร่หลาย จึงทำให้เหมือนเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ชาวเชียงรายทั้งหลายคุ้นชินและเชื่อว่าพระนามนี้ถูกต้องแล้ว หลังจากนี้ พ.ศ.2526 ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้สร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ขึ้น โดยหนึ่งในนั้นคือกษัตริย์พระองค์เดียวกันที่สร้างเมืองเชียงราย ในการนั้นทางจังหวัดเชียงใหม่มีการประชุมชำระประวัติศาสตร์และค้นหาหลักฐานที่มาของพระนามกษัตริย์ทั้งสามพระองค์อย่างละเอียดถูกต้องจนสิ้นสุดที่การจารึกใต้ฐานอนุสาวรีย์ฯ ว่า พญามังราย พญาร่วง พญางำเมือง
    .
    สรุป
    - พระนามกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงรายตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือ “พระญามังราย”
    - พระนามที่ถูกเปลี่ยนจาก มังราย เป็น เมงราย อย่างเป็นทางการและแพร่หลายเมื่อ พ.ศ.2450
    - คำว่า “พ่อขุน” ปรากฏการใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2496
    .
    ดังนั้น เราจะเลือกใช้ “พระญามังราย” ให้ถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ หรือ จะเลือกใช้ “พ่อขุนเม็งราย” จากการเปลี่ยนแก้ เพิ่มเสริมแต่ง จากราชการส่วนกลางฯ กำหนดมา ตรองดูครับ

    อภิชิต ศิริชัย

    106047768_1947450082052622_8117735715628605234_o.jpg

    106076979_1947459215385042_1273324501870374918_n.jpg
    คำนำหน้าที่ชาวล้านนาเรียกยศตำแหน่งสูงสุดของกษัตริย์ว่า พระญา (พรญา) คำๆ นี้ปริวรรตหรือถ่ายรูปอขระจากอักษรธัมม์ล้านนา หรืออักษรสุโขทัย เป็นอักษรไทยกลาง ว่า พรญา (ศิลาจารึกวัดพระยืน จ.ลำพูน พ.ศ.1912, ศิลาจารึกวัดเชียงหมั้น จ.เชียงใหม่ พ.ศ.2124 และหลักอื่นๆ) ซึ่งต่างจากคำว่า “พระยา” ที่เป็นชั้นยศขุนนางในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พระยา ต่ำกว่า เจ้าพระยา) แม้ว่า พระญา ไม่ถูกบัญญัติในพจนานุกรมของไทย (บัญญัติเป็น พญา มีความหมายเดียวกัน แต่ไม่คงรูปอขระ) เพื่อเป็นการรักษารูปเขียนและความหมายนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์หลายท่านในปัจจุบันหันมาใช้คำว่า “พระญา” ด้วยเหตุผลข้างต้น
    .
    อย่างไรก็ตาม คติและการใช้คำว่า พ่อขุน ไม่มีในล้านนา 100%
    .
    ภาพประกอบ : รูปอขระ พรญา ศิลาจารึกวัดพระยืน
    .
    อภิชิต ศิริชัย


    106201989_1947461198718177_1142688232749722641_o.jpg
    พระญามังรายเจ้า
    ศิลาจารึกวัดเชียงหมั้น


    ที่มา: https://www.facebook.com/rekkrub.rek/posts/10207588193061879
     
  4. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    16.jpg


    พรญามังราย(๘)
    พระญามังราย, พ่อขุนเมงราย, พ่อขุนเม็งราย

    ตอนที่๘ นี้ก็จะเป็นตอนสุดท้ายสำหรับประวัติของพระญามังราย จะพูดถึง เหตุการณ์สำคัญๆในราชวงศ์มังรายตั้งแต่ยุคต้นสมัยสร้างอาณาจักร ยุคกลางที่เป็นยุคทองคือเจริญสุดๆ และยุคเสื่อมถอยจนล่มสลายลง ได้สรุปไว้ในตอนนี้

    *******************
    ประวัติศาสตร์ล้านนา - ล้านนาสมัยรัฐอาณาจักร (ราชวงศ์มังราย พ.ศ. 1804 – 2101)
    ที่มา: เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

    ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ดินแดนล้านนาได้พัฒนาการจากแว่นแคว้น – นครรัฐมาสู่รัฐแบบอาณาจักร มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง รัฐแบบอาณาจักรสถาปนาอำนาจโดยรวบรวมแว่นแคว้น – นครรัฐมาไว้ด้วยกัน อาณาจักรล้านนาเริ่มก่อรูปโดยการรวมแคว้นโยนและแคว้นหริภุญชัย หลังจากนั้นก็ขยายอาณาจักรไปสู่ดินแดนใกล้เคียง ได้แก่ เมืองเชียงตุง เมืองนายในเขตรัฐฉาน และขยายสู่เมืองเขลางคนคร เมืองพะเยา ในยุคที่อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองสามารถขยายอำนาจไปสู่เมืองแพร่และ เมืองน่านตลอดจนรัฐฉานและสิบสองพันนา
    ในพุทธศตวรรษที่ 19 เกิดปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของภูมิภาคนี้ คือการสลายตัวของรัฐโบราณที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน ดังเช่น กัมพูชา ทวารวดี หริภุญชัย และพุกาม การเสื่อมสลายของรัฐโบราณเปิดโอกาสให้เกิดการสถาปนาอาณาจักรใหม่ของชนชาติ ไทยที่ผู้นำ ใช้ภาษาและวัฒนธรรมไทย อาณาจักรใหม่ที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 ที่สำคัญคือ ล้านนา สุโขทัย และอยุธยา อาณาจักรทั้งสามมีความเชื่อในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทนิกายลังกาวงศ์เช่นเดียว กัน ความเชื่อดังกล่าวสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการแข่งสร้างบุญบารมีของกษัตริย์ จึงนำไปสู่การทำสงครามระหว่างอาณาจักร รัฐสุโขทัยสลายลงก่อน โดยถูกผนวกกับอยุธยา หลังจากนั้นสงครามระหว่างอยุธยาและล้านนามีอย่างต่อเนื่อง สงครามครั้งสำคัญอยู่ในสมัยของพระเจ้าติโลกราชและพระบรมไตรโลกนาถ
    ประวัติศาสตร์ล้านนาใน สมัยรัฐอาณาจักรแบ่งตามพัฒนาการเป็น 3 สมัย คือสมัยสร้างอาณาจักร สมัยอาณาจักรเจริญรุ่งเรือง สมัยเสื่อมและการล่มสลาย

    1. สมัยสร้างอาณาจักร (พ.ศ. 1939 – 1989) การก่อตั้งอาณาจักรล้านนา เป็นผลจากการรวมแคว้นหริภุญชัยกับแคว้นโยน แล้วสถาปนาเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางอาณาจักรพระญามังรายปฐมกษัตริย์เริ่ม ขยายอำนาจตั้งแต่ พ.ศ. 1804 ซึ่งเป็นปีแรกที่เสวยราชย์ในเมืองเงินยาง ปีแรกที่พระญามังรายครองเมืองเงินยางนั้น ปรากฏว่าเมืองต่าง ๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำกกแตกแยกกัน มีการแย่งชิงพลเมืองและรุกรานกันอยู่เสมอ สร้างความเดือดร้อนแก่คนทั่วไป พระญามังรายจึงรวบรวมหัวเมืองน้อยมาไว้ในพระราชอำนาจ โดยอ้างถึงสิทธิธรรมที่พระองค์สืบเชื้อสายโดยตรงจากปู่เจ้าลาวจง และพระองค์ได้รับน้ำมุรธาภิเษกและได้เครื่องราชาภิเษกเป็นต้นว่า ดาบไชย หอก และมีดสรีกัญไชย สิ่งเหล่านี้เป็นของปู่เจ้าลาวจง ซึ่งตกทอดมายังกษัตริย์ราชวงศ์ลาวทุกพระองค์ พระญามังรายอ้างว่าเจ้าเมืองอื่น ๆ นั้นสืบสายญาติพี่น้องกับราชวงศ์ลาวที่ห่างออกไป ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสผ่านพิธีมุรธาภิเษกและได้เครื่องราชาภิเษกเหมือน พระองค์
    วิธีการที่พระญามังราย รวบรวมหัวเมืองมีหลายวิธี เช่น ยกทัพไปตี ในกรณีที่เจ้าเมืองนั้นไม่ยอมสวามิภักดิ์ ได้แก่ เมืองมอบ เมืองไล่ เมืองเชียงคำ เมืองเหล่านี้เมื่อตีได้ จะให้ลูกขุนปกครอง ส่วนเมืองที่ยอมสวามิภักดิ์ พระญามังรายคงให้เจ้าเมืองปกครองต่อไป นอกจากนั้นยังใช้วิธีเป็นพันธมิตรกับพระญางำเมือง ซึ่งพระญางำเมืองได้มอบที่ให้จำนวนหนึ่ง มี 500 หลังคาเรือน เป็นต้น
    หลังจากรวบรวมหัวเมือง ใกล้เคียงเมืองเงินยางได้แล้ว พระญามังรายก็ย้ายศูนย์กลางลงมาทางใต้ โดยสร้างเมืองเชียงรายใน พ.ศ. 1805 และสร้างเมืองฝาง พ.ศ. 1816 จากนั้นพระญามังรายได้รวบรวมเมืองต่าง ๆ บริเวณต้นแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และริมแม่น้ำโขง พระญามังรายสามารถรวบรวมเมืองต่าง ๆ (ซึ่งต่อมาคือเขตตอนบนของอาณาจักรล้านนา) สำเร็จประมาณ พ.ศ. 1830 ซึ่งเป็นปีที่พระญามังราย พระญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ทำสัญญามิตรภาพต่อกัน ผลของสัญญามี 2 ประการ ประการแรกคงมีส่วนทำให้พระญามังรายมั่นใจว่าการขยายอำนาจลงสู่แม่น้ำปิง เพื่อผนวกแคล้นหริภุญชัยจะไม่ได้รับการจัดขวางจากพระญางำเมืองและพ่อขุนราม คำแหง ประการที่สอง สามกษัตริย์ร่วมมือกันป้องกันภัยอันตรายจากมองโกลซึ่งกำลังขยายอำนาจลงมาใน ภูมิภาคนี้
    เมื่อพระญามังรายรวบรวม เมืองต่าง ๆ ในเขตทางตอนบนแถบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน โดยยึดครองแคว้นหริภุญชัยได้ในราว พ.ศ. 1835 พระญามังรายประทับที่หริภุญชัยเพียง 2 ปี ก็พบว่าไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร พระญามังรายจึงทรงย้ายมาสร้างเวียงกุมกาม ความเหมาะสมของนครเชียงใหม่ คือตัวเมืองตั้งอยู่ระหว่างที่ราบลุ่มน้ำปิงและดอยสุเทพ พื้นที่ลาดเทจากดอยสุเทพสู่น้ำปิง ทำให้สายน้ำจากดอยสุเทพไหลมาหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ตลอดเวลา เมืองเชียงใหม่จึงมีน้ำอุดมสมบูรณ์
    การก่อตั้งเมือง เชียงใหม่หรือนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ใน พ.ศ. 1839 มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสืบเนื่อง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา ทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้จึงให้ความสำคัญต่อเมืองเชียงใหม่เป็นพิเศษ นับตั้งแต่พยายามเลือกทำเลที่ตั้ง การวางผังเมือง และการสร้างสิทธิธรรม การสร้างเมืองเชียงใหม่ถือเป็นความสำเร็จอย่างสูง เพราะเชียงใหม่ได้รับการยอมรับในฐานะศูนย์กลางดินแดนล้านนาตลอดมา ครั้นฟื้นฟูบ้านเมืองได้ในสมัยราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน พระเจ้ากาวิละซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เวียงป่าซาง 14 ปี ก็ยังเลือกเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางล้านนา เชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางความเจริญในภาคเหนือสืบมาถึงปัจจุบัน การสร้างเมืองเชียงใหม่ พระญามังรายเชิญพระญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงมาร่วมกันพิจาณาทำเลที่ตั้ง พระญาทั้งสองก็เห็นด้วยและช่วยดูแลการสร้างเมืองเชียงใหม่ ด้วยเหตุที่พ่อขุนรามคำแหงมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ ทำให้ผังเมืองเชียงใหม่ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย เมื่อแรกสร้างกำแพงเมืองมีขนาดกว้าง 900 วา ยาว 1,000 วา และขุดคูน้ำกว้าง 9 วา กำแพงเมืองเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลสมัย ปัจจุบันเปลี่ยนรูปสี่เหลี่ยมยาวด้านละ 1,600 เมตร

    ในสมัยอาณาจักรเป็นช่วง สร้างความเข้มแข็งอยู่ในสมัยราชวงศ์มังรายตอนต้น มีกษัตริย์ปกครอง 5 พระองค์ ได้แก่ พระญามังราย พระญาไชยสงคราม พระญาแสนพู พระญาคำฟู และพระญาผายู การสร้างความเข้มแข็งในช่วงต้นนี้สรุปได้ 3 ประการ

    • ประการแรก การขยายอาณาเขตและสร้างความมั่นคงในอาณาจักร ในสมัยพระญามังรายได้ผนวกเขลางคนครเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร เนื่องจากเขลางคนครมีความสัมพันธ์กับเมืองหริภุญชัยในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง เมื่อยึดครองหริภุญชัยสำเร็จก็จำเป็นต้องรุกคืบต่อไปยังเขลางคนคร หลังจากนั้นความคิดขยายอาณาเขตไปยังทางด้านตะวันออกสู่เมืองพะเยาซึ่งเกิด ขึ้นในสมัยพระญามังรายแล้ว แต่ติดขัดที่เป็นพระสหายกับพระญางำเมือง เมืองพะเยาและเชียงใหม่มีความสัมพันธ์ฐานะเครือญาติในวงศ์ลวจังกราช เมืองพะเยาซึ่งเป็นรัฐเล็ก ต่อมาจึงถูกยึดครองสำเร็จในสมัยพระญาคำฟู (พ.ศ. 1877 – 1879) การยึดครองพะเยาได้เป็นผลดีต่ออาณาจักรล้านนาเพราะนอกจากเมืองเชียงรายจะ ปลอดภัยจากพะเยาแล้ว เมืองพะเยายังเป็นฐานกาลังขยายไปสู่เมืองแพร่และเมืองน่านต่อไป ความคิดขยายอำนาจสู่เมืองแพร่มีในสมัยพระญาคำฟูแต่ไม่ประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าการรวมหัวเมืองล้านนาตะวันออก ซึ่งเป็นรัฐในหุบเขาไม่ใช่จะกระทำได้โดยง่าย เพราะกว่าจะรวมเมืองแพร่และเมืองน่านสำเร็จก็อยู่ในช่วงอาณาจักรล้านนามี ความเจริญสูงสุดในสมัยพระเจ้าติโลกราช
    การสร้างความมั่นคงในเขต ทางตอนบนของอาณาจักรเด่นชัดในสมัยราชวงศ์มังรายตอนต้น ดังปรากฏว่าเมือสิ้นสมัยพระญามังราย พระญาไชยสงครามครองราชย์ต่อมา ได้เสด็จไปประทับที่เมืองเชียงราย ส่วนเมืองเชียงใหม่ให้โอรสครองเมืองลักษณะเช่นนี้มีสืบมาในสมัยพระญาแสนพู และพระญาคำฟู โดยสมัยพระญาแสนพูสร้างเมืองเชียงแสนในบริเวณเมืองเงินยาง การสร้างเมืองเชียงแสนก็เพื่อป้องกันศึกทางด้านเหนือ เพราะเมืองเชียงแสนตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ใช้แม่น้ำโขงเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีตัวเมืองกว้าง 700 วา ยาว 1,500 วา มีป้อมปราการ 8 แห่ง ที่ตั้งเมืองเชียงแสนคุมเส้นทางการคมนาคมเพราะเป็นช่องทางไปสู่เมืองต่าง ๆ เช่น เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ่ง เมืองนาย เมืองยอง เมืองเชียงแสนจึงเป็นศูนย์กลางของเมืองตอนบน หลังจากสร้างเมืองเชียงแสนแล้ว พระญาแสนพูประทับที่เชียงแสนสืบต่อมาถึงสมัยพระญาคำฟู สถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นเมื่อผนวกพะเยาเข้ากับอาณาจักรล้านนาในสมัยพระญา คำฟู ส่วนเมืองเชียงตุงพระญาผายูสถาปนาอำนาจอันมั่นคง โดยส่งเจ้าราชบุตรเจ็ดพันตูไปปกครองและพระญาผายูสร้างความผูกพันโดยอภิเษก กับธิดาเจ้าเมืองเชียงของ การสร้างความมั่นคงเขตตอนบนมีเสถียรภาพพอสมควร ในสมัยพระญาผายูจึงย้ายมาประทับที่เชียงใหม่ ให้เมืองเชียงราย เชียงแสนเป็นเมืองสำคัญทางตอนบน

    • ประการที่สอง การปกครองมีโครงสร้างแบ่งเป็น 3 เขต
    1. บริเวณเมืองราชธานี ประกอบด้วยเมืองเชียงใหม่และลำพูน เนื่องจากทั้งสองเมืองตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบเดียวกันและอยู่ใกล้กัน กษัตริย์จึงปกครองโดยตรง
    2. บริเวณเมืองข้าหลวง อยู่ถัดจากเมืองราชธานีออกไป กษัตริย์จะแต่งตั้งข้าหลวงไปปกครอง เจ้าเมืองซึ่งเป็นข้าหลวงนี้ส่วนใหญ่เป็นเชื้อพระวงศ์ ขุนนางที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ก็มีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย เมืองสำคัญจะปกครองโดยเจ้าเชื้อพระวงศ์ ที่ใกล้ชิด เช่น เมืองเชียงราย กษัตริย์มักส่งโอรสหรือพระอนุชาไปปกครองเมืองอุปราช เจ้าเมืองมีอำนาจสูงสุดในการจัดการภายในเมืองของตน เช่น การแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งต่าง ๆ การจัดตั้งพันนา การค้าภายในเมือง การควบคุมกำลังไพร่ ความสัมพันธ์ระหว่างข้าหลวงและกษัตริย์เป็นเพียงความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เมื่อเปลี่ยนรัชกาล ความสัมพันธ์ก็อาจเปลี่ยนไปด้วย
    3. บริเวณเมืองประเทศราช เป็นเขตเจ้าต่างชาติต่างภาษา ปกครองตนเองตามประเพณีท้องถิ่น เมืองประเทศราชเป็นรัฐตามชายขอบล้านนา เช่น เมืองเชียงตุง เมืองนาย เมืองยอง เนื่องจากประเทศราชอยู่ห่างไกลจึงผูกพันกับเมืองราชธานีน้อยกว่าเมืองข้า หลวง ครั้นมีโอกาสเมืองประเทศราชมักแยกตนเป็นอิสระหรือไปขึ้นกับรัฐใหญ่อื่น ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองราชธานีกับเมืองประเทศราชเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ อาจอาศัยระบบเครือญาติหรือการเกื้อกูลกัน
    ภายใต้การปกครองที่อาศัยความสัมพันธ์ทางเครือญาติของรัฐ โบราณ เจ้าเมืองมักเป็นเชื้อพระวงศ์ที่กษัตริย์ส่งไปปกครองเมืองต่าง ๆ ลักษณะเช่นนี้คลี่คลายมาจากธรรมเนียมการสร้างบ้านแปลงเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงแรกเมื่อรัฐขยายตัวการปกครองแบบนี้เป็นการรวมตัวอย่าง หลวม ๆ ของเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของอาณาจักรล้านนา เพราะลักษณะทางกายภาพอาณาจักรล้านนาเป็นรัฐในหุบเขา เมืองต่าง ๆ จะตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหุบเขาซึ่งกระจายตัว ดังนั้นรัฐล้านนาจำเป็นต้องสร้างเสถียรภาพตลอดมา โดยให้เมืองต่าง ๆ ที่กระจายตัวตามหุบเขายอมรับอำนาจศูนย์กลาง ความพยายามจะปรับการปกครองรัฐในหุบเขาจากการใช้ระบบข้าหลวงหรือระบบเครือ ญาติ ซึ่งพึ่งพาความสัมพันธ์ส่วนบุคคลไปสู่ระบบข้าราชการที่เป็นสถาบันไม่ประสบ ความสำเร็จในล้านนา ปัญหาโครงสร้างรัฐแบบหลวม ๆ นี้เป็นข้อจำกัดอย่างอย่างหนึ่งที่นำไปสู่ความเสื่อมของอาณาจักรล้านนา

    • ประการที่สาม การรับวัฒนธรรมความเจริญ จากหริภุญชัย แคว้นหริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรืองในเขตที่ราบลุ่มน้ำปิงมาช้านาน เมื่อพระญามังรายยึดครองหริภุญชัยสำเร็จ ได้นำความเจริญต่าง ๆ มาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาต่อไป เชื่อกันว่าอิทธิพลจากหริภุญชัยมีหลายอย่าง เช่น กฎหมายล้านนาอย่างมังรายศาสตร์คงรับความคิดมาจากกฎหมายธรรมศาสตร์ของมอญหริ ภุญชัย อย่างไรก็ตามหลังจากรับมาแล้ว รัฐล้านนาได้พัฒนาต่อไปมากเป็นลักษณะเฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะตัวอักษรธรรมล้านนา หรือตัวเมืองมีต้นแบบมาจากอักษรมอญโบราณ ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรมหริภุญชัยพบว่าได้รับรูปแบบสถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงสี่ เหลี่ยม และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งมักสร้างในสมัยราชวงศ์มังรายตอนต้น เช่น เจดีย์กู่คำ เวียงกุมกามรับอิทธิพลจากกู่กุด
    อิทธิพลที่ชัดเจนมาก คือพระพุทธศาสนาของหริภุญชัย เพราะพระพุทธศาสนานิกายเดิมรับจากหริภุญชัยมีบทบาทในล้านนาสูง นับตั้งแต่พระญามังรายยึดครองหริภุญชัย ได้รับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทหริภุญชัย จนถึงสมัยพระญากือนามีความคิดจะสถาปนานิกายรามัญวงศ์ โดยอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยเข้ามาเผย แพร่พุทธศาสนาในล้านนา และในสมัยพระญาสามฝั่งแกนได้เกิดนิกายสิงหล หรือลังกาวงศ์ใหม่มาจากลักกาอีกระลอกหนึ่ง พระพุทธศาสนาในล้านนาจึงมี 3 นิกายด้วยกัน อย่างไรก็ตามนิกายเดิมหรือนิกายพื้นเมืองที่ปริมาณพระภิกษุมากกว่านิกายอื่น พระพุทธศาสนาแนวหริภุญชัยมีบทบาทในล้านนาอย่างน้อยจนถึงสิ้นราชวงศ์มังราย

    2. สมัยอาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง (พ.ศ. 1898 – 2068) ความ เจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนาพัฒนาการขึ้นอย่างเด่นชัดในราวกลางราชวงศ์ มังราย นับตั้งแต่สมัยพระญากือนา (พ.ศ. 1898 – 1928) เป็นต้นมา และเจริญสูงสุดในสมัยพระเจ้าติโลกราชและพระญาแก้วหรือพระเมืองแก้ว ซึ่งเป็นช่วงยุคทอง หลังจากนั้นอาณาจักรล้านนาก็เสื่อมลง
    ตั้งแต่สมัยพระญากือนา กิจการในพุทธศาสนาได้รับการสนับสนุนมาก เห็นได้จากการรับนิกายรามัญจากสุโขทัยเข้ามาเผยแผ่ในล้านนา ทรงสร้างวัดสวนดอกให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของเมืองทางตนบน จึงมีพระสงฆ์ชาวล้านนาได้ให้ความสนใจศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้นตามลำดับ ซึ่งนำไปสู่การศึกษาที่ลึกซึ้ง โดยในสมัยพระญาสามฝั่งแกนมีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งไปศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกา แล้วกลับมาตั้งนิกายสิงหลหรือลังกาวงศ์ใหม่ มีศูนย์กลางที่วัดป่าแดงในเมืองเชียงใหม่ พระสงฆ์กลุ่มนี้ได้ไปเผยแพร่ศาสนายังเมืองต่าง ๆ ภายในอาณาจักรล้านนา ตลอดจนขยายไปถึงเชียงตุง เชียงรุ่ง สิบสองพันนา
    พระสงฆ์ในนิกายรามัญและนิกายสิงหลขัดแย้ง กันในการตีความพระธรรมวินัยหลายอย่าง แต่ก็เป็นแรงผลักดันนำไปสู่การศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะพระสงฆ์ในนิกายสิงหลเน้นการศึกษาภาษาบาลี ทำให้ศึกษาพระธรรมได้ลึกซึ้ง ดังนั้นหลังจากการสถาปนานิกายใหม่แล้ว พระพุทธศาสนาในล้านนาเจริญเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าติโลกราชถึงสมัยพระญาแก้ว ดังปรากฏการสร้างวัดวาอารามทั่วไปในล้านนาและผลจากภิกษุล้านนามีความรู้ความ สามารถสูง จึงเกิดการทำสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2020 สิ่งที่สำคัญในระยะนี้ คือการเขียนคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา คัมภีร์จากล้านนาได้แพร่หลายไปสู่ดินแดนใกล้เคียง เช่น ล้านช้าง พม่า อยุธยา งานเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ในล้านนาประเภทตำนาน แพร่หลายตามท้องถิ่นต่าง ๆ โดยอาศัยสำนึกประวัติศาสตร์ที่เป็นจารีตเดิม ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากงานเขียนจากสำนักลังกาที่พระสงฆ์นำเข้ามา งานเขียนประวัติศาสตร์สกุลตำนานในยุคนี้มีมากมาย เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พื้นเมืองน่าน ตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานมูลสาสนา จามเทวีวงศ์ และชินกาลมีปกรณ์ เป็นต้น
    ผลงานวรรณกรรมพุทธศาสนาของพระสงฆ์ล้านนา ที่สำคัญได้แก่ พระโพธิรังสี แต่งจามเทวีวงศ์ และสิหิงคนิทาน รัตนปัญญาเถระ แต่งชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นงานเขียนที่มีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา พระสิริมังคลาจารย์ แต่งวรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น เวสสันดรทีปนี จักรวาลทีปนี สังขยาปกาสกฎีการ และมังคลัตถทีปนี พระพุทธเจ้าและพระพุทธพุกาม แต่งตำนางมูลสาสนา
    นอกจากนั้นยังมีปัญญาสชาดก (ชากด 50 เรื่อง) ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เข้าใจว่าในสมัยพระญาแก้ว ปัญญาสชาดกเป็นงานวรรณกรรมพุทธศาสนาที่แต่งทำนองเลียนแบบชาดกในพระไตรปิฎก แต่มีเนื้อเรื่องไม่เหมือนกัน เพราะเป็นชาดกนอกไตรปิฎก ปัญญาสชาดกเป็นต้นกำเนิดของวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น สมุททโฆสชาดก (นำมาแต่งเป็นสมุทรโฆษคำฉันท์) สุธนชาดำ (นำมาแต่งเป็นบทละครเรื่องมโนราห์) ปัญญาสชาดกแพร่หลายมากไปถึงพม่า มีการแปลเป็นภาษาพม่าในสมัยพระเจ้าโพธพระยา เมื่อ พ.ศ. 2224 พ ม่าเรียกปัญญา สชาดกว่า ซิมแม่ปัณณาสชาดก (เชียงใหม่ปัณณาสชาดก)
    ในช่วงสมัยรุ่งเรืองนี้พระพุทธศาสนาเจริญ ยิ่งดังปรากฏการสร้างวัดแพร่หลายทั่วไปในดินแดนล้านนา ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ได้สร้างวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน และตามเมืองมีวัดหนาแน่ดังพบว่า เขตเมืองเชียงใหม่มีวัดนับร้อยแห่ง ปริมาณวัดที่มากมายในยุครุ่งเรืองนั้นมีร่องรอยปรากฏเป็นวัดร้างมากมายใน ปัจจุบัน ความเจริญในพุทธศาสนายังได้สร้างถาวรวัตถุในพุทธศาสนา ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมล้านน้า วัดสำคัญ ได้แก่ วัดเจ็ดยอด วัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์ วัดสวนดอก วัดบุพพาราม เป็นต้น การสร้างวัดมากมายนอกจากแสดงความเจริญในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังสะท้อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของล้านนาในยุครุ่งเรืองด้วย
    ในยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง ล้านนามีความมั่งคั่งด้วยความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีพัฒนาการร่วมไปกับความเจริญรุ่งเรืองโดยรวมของรัฐ เพราะพบว่านับตั้งแต่สมัยพระญากือนาเป็นต้นมา การค้าระหว่างรัฐมีเครือข่ายก้าวขวางไปไกล ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้ สะท้อนการค้าว่ามีหมู่พ่อค้าเมืองเชียงใหม่ไปค้าขายถึงเมืองพุกาม ในยุคนั้นเมืองเชียงใหม่มีฐานะเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญ เพราะตำแหน่งที่ตั้งเมืองนั้นคุมเส้นทางการค้า คือ เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ตอนบนขึ้นไป เช่น รัฐฉาน สิบสองพันนา เชียงแสนจะนำสินค้าผ่านสู่เมืองเชียงใหม่แล้วจึงผ่านไปเมื่ออื่น ๆ ที่อยู่ทางใต้และทางตะวันตก ดังนั้น จึงพบหลักฐานกล่าวถึงพ่อค้าจากทุกทิศมาค้าขายที่เชียงใหม่มีทั้งเงี้ยว ม่าน เม็ง ไทย ฮ่อ กุลา เมืองเชียงใหม่คงมีผลประโยชน์จากการเก็บภาษีสินค้าสูงทีเดียว สินค้าออกเชียงใหม่สู่ตลาดนานาชาติคือของป่า เมืองเชียงใหม่ทำหน้าที่รวบรวมสินค้าของป่าจากเมืองต่าง ๆ ทางตนบนแล้วส่งไปขายยังเมืองท่าทางตอนล่างในดินแดนกรุงศรีอยุธยาและหัวเมือง มอญ กษัตริย์มีบทบาทในการค้าของป่า โดยอาศัยการเก็บส่วยจากไพร่และให้เจ้าเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรส่งส่วนให้ราชธานี ด้วยพระราชอำนาจจึงออกกฎหมายบังคับให้ทุกคนในอาณาจักรนำส่วยสินค้าของป่ามา ถวาย รูปแบบการค้าของป่า คือกษัตริย์จะส่งข้าหลวงกำลับดูแลสินค้าชนิดต่าง ๆ เพราะพบตำแหน่งแสนน้ำผึ้ง ข้าหลวงดูแลการค้าส่วยน้ำผึ้ง และมีพ่อค้าจากอยุธยาเดินทางเข้าซื้อสินค้าในเมืองฮอด
    ในยุคที่อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง รัฐมีความเจริญทางการค้ามากและสภาพเศรษฐกิจดี จึงมีกองกำลังเข้มแข็งดังพบว่า ในยุคนี้อาณาจักรล้านนามีอำนาจสูงได้แผ่อิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง เช่น เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองนาย เมืองน่าน และยังขยายอำนาจลงสู่ชายขอบรัฐอยุธยา ดังทำสงครามติดต่อกันหลายปีระหว่างพระเจ้าติโลกราชและพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งในครั้งนั้นทัพล้านนาสามารถยึดครองเมืองศรีสัชนาลัยได้

    3. สมัยเสื่อมและอาณาจักรล้านนาล่มสลาย (พ.ศ. 2068 – 2101) ความ เสื่อมของอาณาจักรล้านนาเกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยราชวงศ์มังราย นับตั้งแต่พระญาเกศเชษฐาราชขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2068 จนกระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าใน พ.ศ. 2101 ข่วงเวลา 33 ปี ในช่วงเวลานั้นมีระยะหนึ่งที่ว่างเว้นไม่มีกษัตริย์ปกครองถึง 4 ปี (พ.ศ. 2091 – 2094) เพราะขุนนางขัดแย้งกันตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นกษัตริย์ กษัตริย์สมัยเสื่อมจะครองเมืองระยะสั้น ๆ การสิ้นรัชสมัยของกษัตริย์เกิดจากขุนนางจัดการปลงพระชนม์ หรือขุนนางปลดกษัตริย์ หรือกษัตริย์สละราชสมบัติ
    ปัจจัยความเสื่อมสลาย เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐในหุบเขา ที่ทำให้เมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรมีโอกาสแยกตัวเป็นอิสระ เมืองราชธานีจึงพยายามสร้างเสถียรภาพให้ศูนย์กลางมีความเข้มแข็งตลอดมา โดยกษัตริย์อาศัยการสร้างสายสัมพันธ์กับเจ้าเมืองต่าง ๆ ในระบบเครือญาติ ซึ่งระบบนี้ใช้ได้ในระยะแรก ในที่สุดเมื่อรัฐขยายขึ้นจำเป็นต้องสร้างระบบราชการที่มีประสิทธิภาพแทนที่ ระบบเครือญาติ อาณาจักรล้านนาสถาปนาระบบราชการไม่ได้ รัฐจึงอ่อนแอและเสื่อมสลายลง ในช่วงนี้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอลง ขุนนางมีอำนาจเพิ่มพูน นอกจากนั้นขุนนางยังขัดแย้งกัน โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือขุนนางเมืองราชธานีและขุนนางหัวเมือง แย่งชิงความเป็นใหญ่ ต่างสนับสนุนคนของตนเป็นกษัตริย์ ปัญหาการเมืองภายในล้านนาที่แตกแยกอ่อนแอมีผลต่อเศรษฐกิจ เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจตกต่ำมาก ความเสื่อภายในล้านนาเป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญ และมีปัจจัยภายนอกคือการขยายอำนาจของราชวงศ์ตองอูเป็นตัวเร่งให้อาณาจักร ล้านนาล่มสลายลง ในพ.ศ. 2101

    ที่มา: http://www.openbase.in.th/node/6405
    https://www.facebook.com/.../a.812873.../917245344999109/...
     
  5. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    รวมภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พญามังราย

    17.jpg

    18.jpg

    119582764_190682989107304_7401875538595034729_n.jpg
    (ภาพห้าแยกพระญามังรายในอดีตเทียบกับปัจจุบัน ภาพจากเพจล้านนาประเทศ)

    119646823_190700689105534_8464740658001227149_o.jpg


    145981000_10215040231038171_3442375387349692505_o.jpg
    ภาพการเคลื่อนย้ายพระบรมราชานุสาวรีย์ ภาพจากสำนักพิมพ์ล้อล้านนา เชียงราย

    146141435_10215040231278177_6184538575975624454_o.jpg
     
  6. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    10.jpg

    วัดร่องเสือเต้น อ.เมือง จ.เชียงราย

    เมื่อพูดถึงแลนด์มาร์คในจังหวัดเชียงราย ผู้คนส่วนใหญ่คงนึกถึงพิพิธภัณฑ์บ้านดำของอาจารย์ถวัลย์ หรือ วัดร่องขุ่นของอาจารย์เฉลิมชัย แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดสถาปัตยกรรมแห่งใหม่ที่โดดเด่นสะดุดตาคือวัดร่องเสือเต้น ตั้งอยู่หมู่บ้านร่องเสือเต้น ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก ฝั่งด้านซ้ายทางทิศตะวันออกของเทศบาลนครเมืองเชียงราย ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงรายมากนัก
    ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดร้าง เมื่อ 80-100 ปีก่อน จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ในสมัยนั้นยังไม่มีบ้านเรือนและผู้คนอาศัยอยู่มากนัก สัตว์ป่าจึงมีจำนวนมากโดยเฉพาะเสือ ชาวบ้านที่ผ่านแถวนั้นมักชอบเห็นเสือกระโดดข้ามร่องน้ำไปมา จึงเรียกบริเวณนี้ต่อๆกันมาว่า “ร่องเสือเต้น” รวมทั้งได้เรียกหมู่บ้านใกล้เคียงบริเวณนี้ว่า “บ้านร่องเสือเต้น” อีกด้วย
    วัดร่องเสือเต้นถูกสร้างขึ้นเนื่องจากชาวบ้านร่องเสือเต้นไม่มีที่ทำบุญในหมู่บ้าน เวลาทำบุญในวันสำคัญต้องไปทำบุญที่วัดอื่น ทำให้คนในหมู่บ้านต่างกระจัดกระจายกันไป จึงได้ร่วมกันบูรณะวัดร้างแห่งนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านร่องเสือเต้น และเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาใน วันสำคัญ จึงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นและให้ชื่อว่า “วัดร่องเสือเต้น”
    ความโดดเด่นของวันร่องเสือเต้นที่เห็นได้ชัดคือ วิหารวัดร่องเสือเต้น สร้างและออกแบบโดยศิลปินพื้นบ้านชาวเชียงราย นายพุทธา กาบแก้ว หรือที่คนรู้จัดในนาม สล่านก หลังจากที่จบการศึกษาใหม่ๆก็มีโอกาสได้มาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในการสร้างวัดร่องขุ่น จนได้ซึมซับศิลปะแนวพุทธศิลป์มาจากอาจารย์เฉลิมชัย เรียกว่า ศิษย์ก้นกุฏิเลยก็ว่าได้ การสร้างวิหารวัดร่องเสือเต้น สร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 27 ตุลาคม 2548 โดยมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 48 เมตร สร้างเสร็จเมื่อ วันที่ 22 มกราคม 2559 ร่วมใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จถึง 11 ปี


    ที่มา: https://www.museumthailand.com/.../%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0.../


    11.jpg

    12.jpg

    13.jpg


    ภายในวิหารมีผลงานจิตรกรรมภาพวาดฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ โดยใช้เฉดสีน้ำเงินฟ้ามีลวดลายที่อ่อนช้อยงดงาม โดยมีพระประธานสีขาวมุก หน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 6.50 เมตรเป็นอีกหนึ่งความงดงาม มีพระนามว่า “พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ" โดยมีพระรอดลำพูน จำนวน 84,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งถูกฝังอยู่ ใต้พระพุทธรูปองค์นี้ รวมทั้งบริเวณพระเศียรก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จ พระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก รวมทั้งยังได้รับพระราชทานนามพระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ มีหมายความว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคลเจ้าในความเป็นราชา เป็นที่พึ่งในสามโลก”

    ที่มา:
    https://www.paiduaykan.com/.../chiangrai/watrongsuaten.html


    15.jpg

    16.jpg

    14.jpg


    วัดร่องเสือเต้น หรือ วัดล้องเสือเต้น

    นักวิชาการทางล้านนาคุณ อภิชิต ศิริชัย ได้แสดงความเห็นว่าชื่อจริงๆของวัดร่องเสือเต้นควรจะเป็น วัดล้องเสือเต้น ดังบทความนี้


    ชื่อนั้นสำคัญไฉน วัดล้องเสือเต้น ตอนนี้กำลังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองเชียงราย โดยฝีมือศิลปินลูกศิษย์ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ยอมรับว่า "สวยมาก" ใครได้ผ่านมาเชียงราย แวะเยี่ยมชมได้
    .
    แต่ทว่า ก่อนอื่นผมต้องขอเรียนชี้แจงว่า ชื่อวัดในปัจจุบัน ผิดเพี้ยนไปจากอดีต ด้วยคำว่า "ร่อง" กับ "ล้อง" เป็นคนละความหมายกัน จึงนำเรียนมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ หากมีการแก้ไขให้ถูกต้องในโอกาสต่อไป จะเป็นการดีมากๆ
    .
    การเปลี่ยนทางเดินของแม่กกทำให้เกิดมีสันทรายยาวเกิดขึ้นตั้งแต่บ้านน้ำลัดล่องลงมาตามทางน้ำ ชาวบ้านเรียกสันดอนทรายที่เกิดขึ้นใหม่ว่า “สันทรายใหม่” ต่อมาเมื่อมีชาวบ้านเข้าไปตั้งรกรากถาวรจึงเรียกว่า “บ้านสันทรายใหม่” ชื่อนี้ใช้มาเป็นเวลาร่วมร้อยปี เมื่อความเจริญมาถึงมีถนนหนทางและสะพาน (ขัวแตะในอดีต) ชื่อสันทรายใหม่จึงกร่อนมาเหลือเพียงแค่ “บ้านใหม่” (ส่วนชื่อวัด ยังคงเดิม วัดสันทรายใหม่)
    .
    แอ่งน้ำสัณฐานกลม ไม่กว้างใหญ่เกินไป มีน้ำขังอยู่ไม่ลึกนัก มีปลาหรือสัตว์น้ำเล็กๆ อาศัยอยู่ได้เรียกว่า “บวก” (ปลักควาย เรียก บวกควาย) “น้ำลัด” เรียกอีกอย่างว่า “น้ำหลง” หรือ “หลง” ส่วนคำว่า “ล้อง” หมายถึง หนองน้ำที่เคยเป็นทางเดินของลำน้ำมาก่อน แล้วแห้งขอดมีสันดอนมาขึ้นเป็นช่วงๆ เพราะพื้นดินที่มีความแข็งไม่เท่ากัน ถ้าทางน้ำดังกล่าวเป็นแนวโค้ง ถูกน้ำกัดเซาะลึกและยาว มักจะเรียกว่า “ขุ๊ก” ถ้าหนองน้ำกว้างมีช่องเว้ากว้างเหมือนอ่าว กว้างและลึก เรียกว่า “จอ” ถ้าบริเวณหนองน้ำหรือคุ้งแม่น้ำกว้างมากๆ ขนาดตะโกนกันไม่ได้ยินหรือได้ยินน้อยจนไม่รู้เรื่อง เรียกว่า “กว๊าน” อย่างเช่น กว๊านพะเยา กว๊านหนองหลวง เป็นต้น
    .
    ลัดเลาะฝั่งกกไปตามแนวทางน้ำปัจจุบันเป็นทางน้ำเก่ากลายเป็นหนองเพราะมีขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันถูกลดขนาดเพราะการถมไปเรื่อยๆ หรือบางแห่งตื้นเขินเต็มขึ้นมาเอง มีชื่อดังนี้ “บวกแช่ฟาก” “หนองปลาสะลาก” และ “ล้องเสือเต้น”
    .
    “บ้านล้องเสือเต้น” อยู่ที่เชิงสะพานแม่น้ำกก ฝั่งตำบลริมกก ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะสมัยก่อนเป็นป่าทึบอยู่ มีการไล่เหล่าและล้อมยิงเสือในที่ลุ่มแอ่งน้ำดังกล่าว “เสือเต้น” คือกริยาของเสือที่ตกใจหนีจากการถูกไล่ล่า ส่วน “ล้อง” คนสมัยใหม่ไม่ค่อยรู้จักกัน ผู้มีอำนาจหน้าที่ทางราชการสมัยนั้นซึ่งไม่ใช่คนพื้นถิ่น เขาได้กรุณามาเปลี่ยนให้เป็น “ร่องเสือเต้น” ผิดภาษาไปเสียแล้ว
    .
    ล้อง ไม่ใช่ ร่อง
    .

    บ่าหล้าคำคึ ล้อล้านนา รายงาน

    ที่มา:


    17.jpg

    18.jpg
     
  7. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    10.jpg

    11.jpg

    12.jpg


    วัดห้วยปลากั้ง อ.เมือง จ.เชียงราย

    เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2544 โดยคณะศรัทธาวัดห้วยปลากั้งเริ่มกันก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ จนกระทั่งวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 ได้มีพระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโสได้เดินทางมาปฏิบัติธรรมและเริ่มมีการก่อตั้งศาสนวัตถุ เริ่มตั้งแต่กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอฉัน เจดีย์และเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ทางสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีประกาศแต่งตั้งให้เป็นวัดโดยชื่อว่า วัดห้วยปลากั้ง โดยมีพระอธิการพบโชค ติสฺสวํโส เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ปัจจุบันวัดห้วยปลากั้งเป็นวัดที่มีศรัทธาจากต่างจังหวัด ต่างประเทศ เข้ามากราบไหว้นมัสการ และปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ถือเป็นจุดกำเนิดพุทธศาสนาในเชียงรายแห่งหนึ่งที่สำคัญ ภายในวัดยังมีพระมหาพบโชคธรรมเจดีย์ 9 ชั้น ภายในมีพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมจำลองแกะสลักจากไม้หอม และแต่ละชั้นจะมีพระพุทธรูปประจำชั้นประดิษฐานอยู่

    ที่มา: https://www.museumthailand.com/.../%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0.../



    13.jpg

    14.jpg

    15.jpg


    “กวนอิมไต้ซือ ซี่สื่อ ฮกลกหงีเทียนสื่อ”

    จุดเด่นของวัดห้วยปลากั้งที่สามารถมองเห็นเด่นมาแต่ไกลคือองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือเจ้าแม่กวนอิม องค์สีขาวขนาดใหญ่ตัดกับท้องฟ่า องค์เจ้าแม่มีขนาดสูง ๗๙ เมตร หรือประมาณตึก ๒๕ ชั้น(บางเว็บว่าสูง ๖๙ เมตร หรือประมาณตึก ๒๒ ชั้น) และองค์เจ้าแม่ตั้งอยู่บนเนินเขายิ่งขับให้องค์ท่านเป็นสง่ายิ่งขึ้น โดยภายในองค์เจ้าแม่กวนอิมมีลิฟท์ สมารถขึ้นไปชมวิวตัวเมืองเชียงรายได้
     
  8. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    11.jpg

    10.jpg

    12.jpg

    13.jpg

    14.jpg

    15.jpg


    พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร วัดห้วยปลากั้ง จ.เชียงราย

    ขอบารมีแห่งองค์พระโพธิสตว์ ขอได้โปรดขจัดโรคโควิด-19
    ให้มลายหายสิ้นพลันด้วยเทอญ



    สมาธิกวนอิม

    อักขระหกคำศักดิ์สิทธิ์แห่งพระกวนอิม
    เกื้อหนุนวิถีแห่งการบำเพ็ญโพธิสัตว์
    ***ขอนอบน้อมต่อพระมหาการุณย์โพธิสัตว์กวนอิม
    ***โอม มณี ปัทเมโฮง(3ครั้ง)


    ขอนอบน้อมพระกวนอิมเป็นสรณะ
    พระผู้ทรงมีมหาโพธิจิตโปรดสัตว์ทั้งปวง
    ผู้สมบูรณ์ในพรหมวิหารธรรมสี่ประการ***

    สมาธิแปรเปลี่ยนโลกธรรมให้สว่างอย่างอัศจรรย์
    พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ทรงประทานฝนรัตนะมงคล
    วารีจึงขจัดซึ่งอัตตาสู่ธรรมอันว่างเปล่า***

    สัทธรรมทั้งปวงคืออากาศธาตุ
    สภาวะทั้งหลายดุจวังโปตลกะที่ประทับแห่งความว่าง
    สว่างกระจ่าง ส่องไสวด้วยกำลังแห่งปัญญา***

    กายสังขารนี้จงสำเร็จเป็นวรกายกวนอิม
    บริสุทธิ์สะอาด เปล่งจรัสในความสว่างแห่งปัญญา
    ผิวพรรณวรรณะเมื่อแลดูก็เป็นสุขร่มเย็น***

    รูปธรรมกายอริยะกวนอิม
    พระเนตรการุญสอดส่องสรรพสัตว์
    สี่กรทรงมุทราแห่งความบรรลุสิทธิ***

    สองกรหน้านมัสการพุทธทศทิศ
    สองกรหลังทรงประคำและปุณฑริก
    สำเร็จซึ่งการหลุดพ้น และบุญกุศลอันไม่มีประมาณ***

    พระเกศาสีน้ำเงินดุจปัญญาแห่งตถาคตทั้งมวล
    สยายลงสู่บ่าเพื่อแผ่ปัญญาไพศาลไปสู่สรรพสัตว์
    เหนือเศียรประดับมงกุฏพระอมิตาภะ***

    วรกายประดับด้วยแพรไหมและรัตนะ
    หนังกวางปิดอกสื่อถึงมหากรุณา
    รัตนะมณีล้ำค่าทั้งสาม ดั่งธรรมกาย สัมโภคกาย
    และนิรมาณกาย ที่ได้แผ่ขยายไปในตรีกาล***

    หนึ่งรูขุมขนดุจหนึ่งพุทธเกษตร
    บริสุทธิ์แต่ดั้งเดิมไม่มีประมาณ
    ให้เหล่าโพธิสัตว์ต่างได้พึ่งพิง
    ด้วยความสุขสันติตราบนิรันดร์***

    ทั้งเสียงนอกเสียงในแห่งอักขระ
    กายทั้งสามท่องโอม มณี ปัมเม โฮงไปพร้อมกัน
    สรรพสำเนียงดุจกระแสคลื่นในมหาสมุทร
    ปลุกจิตอันหลับไหลให้ตื่นขึ้นด้วยธรรม***

    แต่เดิมก็ว่างเปล่าไร้ซึ่งการกระทำ
    จิตจึงก่อเกิดมหากรุณา
    สรรพสัตว์ทั้งหลายในหกภูมิก็ดุจบุตรมิแตกต่าง***

    ในกลางดวงเดือนปรากฏอักขระ ฮรี สีขาวบริสุทธิ์
    แปรเปลี่ยนเป็นกวนอิมขัดสมาธิเพชร
    รัศมีจึงส่องสว่างไปทั่วทั้งอดีตกาล ปัจุบันกาลและอนาคตกาล***

    โอม สีขาวปรากฏที่ หน้าผาก
    อา สีแดงปรากฏที่ ลำคอ
    โฮง สีน้ำเงินปรากฏที่ หัวใจ
    ต่างส่องสว่างครบสมบูรณ์
    ชำระอกุศลมูลอันเกิดจากกาย วาจา ใจ***

    สรรพชีวิตต่างต้องแสงแห่งความบริสุทธิ์
    ปัญญาแห่งพระพุทธเจ้าดุจเมล็ดฝน
    ตกต้องสู่ต้นหญ้าอันแห้งแล้ง
    ซึมซับสภาวะสมาธิแต่ดั้งเดิม***

    บัดนี้ตถาคตโพธิจิตปรากฏเหนือกระหม่อม
    รุ่งเรืองด้วยแสงสว่างแห่งปัญญาญาณ
    สรรพธรรมทั้งมวลต่างถูกอภิเษก
    กุศลทั้งมวลปรากฏขึ้นด้วยการกระทำอันไร้อุปสรรค
    ขอนอบน้อมต่อมหาการุณย์โพธิสัตว์กวนอิม

    โอม มณี ปัทเม โฮง
    โอม มณี ปัทเม โฮง
    โอม มณี ปัทเม โฮง


    แปลจากบทสรรเสริญพระโพธิสัตว์กวนอิม
    โดยพระธรรมจารย์ไห่เทา
    แปลถวายเป็นพุทธบูชาโดย อี้จู๋หลิน

    #ทุกภพภูมิต่างสุขสงบ
    #ผลแห่งสมาธิแปรเปลี่ยนโลก
    #ผู้ดำรงสมาธิกวนอิมย่อมเข้าสู่ใจของตถาคตทั้งมวล
    #เราคือท่านท่านคือเราท้ายที่สุดจึงเข้าสู่ธรรมสภาวะ
    #จากใจสู่ใจมีใจแต่ไม่มีเรา
    #จากใจสู้ไร้ใจสู่สภาวะมีเราแล้วเราก็มีเราอยู่นั่นเอง
    ที่มา: https://www.facebook.com/purplebamboo48/posts/3080565455352906


     
  9. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    10.jpg

    11.jpg


    พระมหาพบโชคธรรมเจดีย์
    วัดห้วยปลากั้ง อ.เมือง จ.เชียงราย

    พระมหาพบโชคธรรมเจดีย์ มีความสูง 9 ชั้น ภายในมีพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมจำลองแกะสลักจากไม้หอม และแต่ละชั้นจะมีพระพุทธรูปประจำชั้นประดิษฐานอยู่
    • ชั้นแรก มีองค์เจ้าแม่กวนอิมปางประทานพรที่มีขนาดใหญ่ แกะสลักด้วยไม้จันทร์หอมที่นำมาจากประเทศจีน อินเดีย พม่า
    • ชั้น 2 เจ้าแม่กวนอิมปางประทับยืน
    • ชั้น 3 เจ้าแม่กวนอิมปางประทับนั่ง
    • ชั้น 4 หลวงพ่อพระพุทธโสธรจำลอง
    • ชั้น 5 เจ้าแม่กวนอิมปางพันมือ
    • ชั้น 6 หลวงปู่โต พรหมรังสี และหลวงปู่ทวด
    • ชั้น 7 พระพุทธรูปปางนาคปรก ถือว่าเป็นชั้นสวรรค์ดาวดึงห์ ปกป้องคุ้มครองปฐพี
    • ชั้น 8 พระสังกัจจายน์หรือพระศรีอริยเมตไตรย เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ประทานทรัพย์ ประทานพร
    • ชั้น 9 พระอิศวร
    ทางขึ้นมีความแคบและสูงชันต้องระมัดระวัง พบโชคธรรมเจดีย์ใช้เวลาในการก่อสร้าง 999 วัน

    ที่มา: https://www.museumthailand.com/.../%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0.../


    12.jpg

    13.jpg
    โบสถ์วัดห้วยปลากั้ง
    โบสถ์วัดห้วยปลากั้งจัดว่ามีขนาดใหญ่โตเลยทีเดียว โบสถ์มีสีขาวสะอาดตาสอดรับองค์เจ้าแม่กวนอิมสีขาว หลังคามีสีส้ม รับกับองค์มหาเจดีย์



    14.jpg

    15.jpg

    ทิวท้ศน์รอบๆวัดห้วยปลากั้ง
    วัดห้วยปลากั้งนี้แนะนำให้มาช่วงเช้าหรือไม่ก็ช่วงเย็นๆเลย เพื่อที่จะถ่ายองค์เจ้าแม่กวนอิมได้งดงาม ช่วงเช้าแสงเข้าด้านหน้า การจะถ่ายองค์เจ้าแม่ หรือจะเซลฟี่คู่กับองค์ท่าน ก็จะไม่เกิดเงามืด หรือมาช่วงเย็นที่เขาเปิดไฟแล้วก็สวยงามเช่นกัน
     
  10. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    17.jpg

    18.jpg

    10.jpg

    13.jpg

    11.jpg

    14.jpg

    15.jpg

    12.jpg

    16.jpg


    พิพิธภัณฑ์บ้านดำ อ.ถวัลย์ ดัชนี จ.เชียงราย

    ออกจากวัดห้วยปลากั้งก็บ่ายคล้อยแล้ว เรายังเหลือจุดหมายอีกที่หนึ่งคือ บ้านดำ ของ อ.ถวัลย์ ดัชนี บ้านดำมีความเป็นมาเช่นไรเชิญทัศนา

    ***********************

    บ้านดำ หรือ พิพิธภัณฑ์บ้านดำ เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย สร้างขึ้นโดย อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ที่มีฝีมือทางด้าน จิตรกรรม ปฏิมากรรม ได้สร้างงานด้านศิลปะไว้มากมาย ทั้งทางด้านภาพเขียนและด้านปฏิมากรรมหลายชิ้น ลักษณะ ของ บ้านดำจะเป็นกลุ่มบ้าน ศิลปะแบบล้านนา ทุกหลังทาด้วยสีดำ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “บ้านดำ” และยังเป็นสีที่ อ. ถวัลย์โปรดปราน อีกด้วย ในบ้านแต่ละหลังจะประดับด้วยไม้แกะสลักที่มีลวดลายงดงาม นอกจากไม้แกะสลักแล้วยังประดับด้วยเขาสัตว์ เช่น เขาควาย เขากวาง และยังมีกระดูกสัตว์ เช่น กระดูกช้าง เป็นต้น ถึงแม้อ.ถวัลย์ จะถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว แต่บ้านดำ ก็ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามา สัมผัสความงดงามของที่แตกต่างไม่เหมือนใครของที่นี่

    ภายในบริเวณบ้านเต็มไปด้วยต้นไม้ บรรยากาศร่มเย็นสบาย โดยในบริเวณบ้านประกอบไปด้วยบ้านทั้งหมด 36 หลัง ที่มีลักษณะ แตกต่างกันไป ซึ่งบ้านเหล่านี้ไม่ได้สร้างไว้สำหรับอยู่อาศัยแต่สร้างไว้สำหรับเก็บสิ่งของสะสมต่าง ๆ ของอาจารย์ถวัลย์ นอกจากนั้น ยังมีอีกหนึ่งหลังที่ยังสร้างไม่เสร็จ คือพิพิธภัณฑ์ที่ใช้แสดงผลงานของอ.ถวัลย์ สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีลวดลายแกะสลักที่ สวยงามอย่างยิ่งนับว่าเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์และศิลปะแบบล้านนาที่ทรงคุณค่าและ ควรอนุรักษ์ ในจังหวัด เชียงรายจะมีวัดร่องขุ่นของอาจารย์เฉลิมชัย ซึ่งมีสีขาวเหมือนสวงสวรรค์ ทำให้มีผู้เปรียบเทียบบ้านดำของอาจารย์ อาจารย์ถวัลย์ จะเป็นแนวออกทางนรก ซึ่งอาจารย์ติบว่า “ นั่นคือเป็นข้อเปรียบเทียบ คือ อ.เฉลิมชัยทำวัดร่องขุ่นจะค่อนข้างเหมือนกับสรวงสวรรค์ อาจารย์ถวัลย์จะเน้นโทนดำๆ ถ้าจะเปรียบก็เฉลิมสวรรค์ ถวัลย์นรก เป็นแค่การเปรียบเทียบแต่ไม่ใช่ออกในแนวนรกConcept ที่นี่ไม่ใช่นรกแต่เป็นบ้านดำ ที่นี่เค้าเรียกบ้านดำนางแล ลักษณะจะเป็นสีดำ คนก็เลยเปรียบเปรยกันอย่างนี้เฉยๆ ”



    ที่มา: https://www.paiduaykan.com/prov…/north/chiangrai/bandum.html​
     
  11. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    1.jpg

    ๑ มกราคม ๒๕๖๓ แสงแรกของปี ผมถ่ายภาพนี้ขณะนั่งอยู่บนรถ เราออกจากเชียงรายแต่เช้าตรู่ ระหว่างทางที่ผ่านมาเห็นผู้คนมารอใส่บาตรกันในวันปีใหม่ บรรยากาศยามเช้าสดชื่นมากจริงๆ ช่วงที่ผ่านไร่นาก็เห็นสายมอกที่กำลังระเหยจางไปจากไอแดด ช่วงที่ผ่านบ้านคนก็เห็นควันไฟจากการเตรียมหุงหาอาหาร ภาพบรรยากาศเช่นนี้ยากที่จะเห็นในเมืองกรุง

    จุดหมายแรกที่เราแวะระหว่างล่องลงมาก็คือวัดศรีโคมคำ(พระเจ้าตนหลวง) จ.พะเยา



    2.jpg


    วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา

    หากเอ่ยชื่อวัดศรีโคมคำหลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรนัก แต่หากเอ่ยชื่อพระเจ้าตนหลวง สายบุญหรือสายเที่ยววัดจะต้องร้องอ๋อ เพราะพระเจ้าตนหลวงถูกจัดอยู่ในทำเนียบพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ ที่สายบุญจะต้องไม่พลาดการมากราบสักการะขอพรจากองค์หลวงพ่อ

    สำหรับผมนี่เป็นครั้งแรกที่ได้มากราบพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปที่เคยได้ยินชื่อเสียงมาตั้งแต่เด็ก และนับเป็นโอกาสอันดีในวันปีใหม่ ได้สักการะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ แห่งล้านนา เช้านี้ยังไม่ค่อยมีคนจึงได้ชื่นชมพระพุทธรูปในตำนานได้พอสมควร.....

    *********************************

    ประวัติวัดศรีโคมคำ(ทุ่งเอี้ยง)

    วัดศรีโคมคำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดทุ่งเอี้ยง หรือ วัดพระเจ้าตนหลวง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2067 สมัยพระเมืองตู้เป็นเจ้าเมืองพะเยา แต่องค์พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปประธานภายในวิหารหลวง สร้างขึ้นก่อน คือ พ.ศ. 2034 สมัยพระเมืองยี่เป็นเจ้าเมืองพะเยา และสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2067 ต่อมาวัดนี้ก็ชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลาและได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นตามลำดับ

    จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2465 พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา พระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยาองค์สุดท้าย พร้อมกับหลวงสิทธิประศาสน์ และประชาชนชาวเมืองพะเยา อาราธนานิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาสร้างวิหารหลวงหลังปัจจุบันนี้ พร้อมกับเสนาสนะอื่นๆ ก่อนจะฉลองสมโภชวิหารพระเจ้าตนหลวงและอาคารต่างๆ ใน พ.ศ. 2467
    ดังนั้น อาคารภายในวัดนี้ที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันจึงเป็นงานในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัยแทบจะทั้งสิ้น

    สิ่งแรกที่เราจะเห็นเป็นอย่างแรกเมื่อเข้าไปถึงแน่นอนว่าเป็นวิหารหลวง อาคารขนาดใหญ่ที่สุดของวัด วิหารหลวงหลังนี้ถือเป็นอาคารหลักของวัดแห่งนี้
    แค่หน้าแหนบ หรือหน้าบัน ของวัดนี้ก็น่าสนใจแล้วครับ เพราะถ้าเป็นวิหารแบบล้านนาทั่วๆ ไปจะมีลักษณะเป็นกรอบตารางหรือม้าต่างไหม เช่น หน้าบันวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ แต่หน้าบันของวิหารหลวงนี้ทำเป็นลายพันธุ์พฤกษาเต็มพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่สร้างหรือปฏิสังขรณ์โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยที่นำลักษณะของสถาปัตยกรรมภาคกลางเข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว

    อย่างไรก็ดี ในหน้าแหนบมีการแทรกรูปสัตว์และเทวดาลงไปด้วย ในจำนวนนั้นมีครุฑ ซึ่งเป็นลวดลายที่สามารถพบได้ในอุโบสถและวิหารในภาคกลาง และที่น่าสนใจไปกว่านั้น ใกล้ๆ รูปครุฑ ขนาบสองฝั่งด้วยเสือเหลียวหลัง 2 ตัว เสือเป็นสัตว์ที่พบได้บ่อยบนหน้าบันวิหารหลวงที่สร้างโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย เหตุผลที่เป็นเสือนั่นก็เพราะว่าครูบาศรีวิชัยเกิดปียี่หรือปีขาล ดังนั้น จึงมีสัญลักษณ์นี้ใส่เอาไว้ในหน้าบันด้วยนั่นเอง รวมถึงหอรมาน หรือ หนุมาน ซึ่งพบทั้งบริเวณปีกนกและที่คันทวยหรือนาคตันด้วยครับ


    ที่มา: https://readthecloud.co/wat-si-khom-kham/

    3.jpg
    หน้าแหนบ หรือหน้าบัน ของวัดนี้ต่างจากวิหารแบบล้านนาทั่วๆ ไปทีจะมีลักษณะเป็นกรอบตารางหรือม้าต่างไหม เช่น หน้าบันวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ แต่หน้าบันของวิหารหลวงนี้ทำเป็นลายพันธุ์พฤกษาเต็มพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่สร้างหรือปฏิสังขรณ์โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยที่นำลักษณะของสถาปัตยกรรมภาคกลางเข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว


    118104557_2002986343165662_880982916447856298_n.jpg

    ม้าต่างไหมเป็นเอกลักษณ์แบบหนึ่งของศิลปะล้านนานำชื่อมาจากลักษณะการบรรทุกผ้าไหมบนหลังม้าของพ่อค้าม้าต่าง (ต่าง แปลว่า บรรทุก) เป็นสถาปัตยกรรมอาคารที่มีหลังคาซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น ซึ่งเป็นลักษณะอาคารที่จำเพาะกับกษัตริย์หรือเจ้าเมือง ส่วนของหลังคาหรือวิหารซด(วิหารลด)จะเป็นการยกซ้อนของไม้เป็นสามชั้นสามระดับ เพื่อประกอบเป็นหลังคาของห้องประธาน
    ส่วนหน้า ซ้อนสามชั้น และส่วนหลังซ้อนกันป็นสองชั้น โดยมีเสาหลวงรองรับหลังคาทั้งหมด การประกอบส่วนของหลังคาทั้งหมดนี้ใช้ลิ่มไม้เป็นตัวยึด ไม่มีการใช้ตะปู ทำให้อาคารแบบม้าต่างไหมสามารถรื้อเพื่อย้ายไปประกอบที่อื่นได้ วิหารหลวงของวัดหลายแห่งในเชียงใหม่ ได้แก่ หอคำ วัดพันเตา, วิหารของวัดแสนฝางล้วนเป็นอาคารม้าต่างไหมที่เป็นวังของเจ้าเมืองที่รื้อถอนมาถวาย

     
  12. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    1.jpg

    พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
    เนรมิตกายตนให้เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่ากับพระกกุสันธพุทธเจ้า

    พระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ พระพุทธรูปนี้มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอรหันตสาวกเสด็จมายังเมืองภูกามยาว (ชื่อเดิมของเมืองพะเยา) ทรงประทับ ณ ดอยลูกหนึ่งข้างสระหนองเอี้ยงซึ่งมีหมู่บ้านโดยรอบ ได้มีช่างทองในหมู่บ้านทราบข่าวการเสด็จมาและได้จัดภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ พระพุทธองค์ได้พิจารณาเห็นว่าที่นี่มีความเหมาะสมที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาจึงประทานเส้นพระเกศาแก่ช่างทองนำไปบรรจุในผอบ 7 ชั้น โดยประทานแก่พระยาอโศก ซึ่งได้มอบถวายพระอินทร์ แล้วให้พระวิษณุกรรมนำไปประดิษฐานในถ้ำใต้จอมดอย ทำให้ดอยแห่งนั้นได้ชื่อว่า ดอยจอมทอง

    ตำนานยังเล่าต่ออีกว่า ณ บริเวณแถบนี้พระพุทธเจ้ายังได้ทรมานพญานาคในหนองเอี้ยงและตรัสสั่งว่า เมื่อศาสนามาถึงครึ่งค่อน 5,000 ปี ให้พญานาคสร้างรากฐานของพระพุทธศาสนาลงที่หนองเอี้ยงและสร้างพระพุทธรูปขนาดเท่าพระพุทธเจ้ากกุสันธะ (ในภัทรกัปที่เราอยู่ตอนนี้มีพระพุทธเจ้าอยู่ 5 พระองค์ พระพุทธเจ้ากกุสันธะเป็นองค์แรก ส่วนพระสมณโคดมเป็นองค์ที่ 4)
    ดังนั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พญานาคจึงได้นำทองคำจากพิภพนาคมาไว้ที่ฝั่งหนองเอี้ยง ก่อนจะเนรมิตตัวเองเป็นบุรุษนุ่งขาวและเดินทางไปหาตายายผัวเมียที่ทำอาชีพเลี้ยงห่าน พร้อมกับนำทองคำนั้นมอบแก่สองตายายและให้สร้างพระพุทธรูปตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งไว้ ตายายจึงได้นำดังกล่าวไปใช้เป็นค่าจ้างในการถมหนองเอี้ยง จากนั้นจึงเริ่มก่อองค์พระเจ้าตนหลวงด้วยดินกี่หรืออิฐจนแล้วเสร็จ เมื่อสร้างเสร็จ พระเมืองตู้ได้ส่งราชสาส์นไปทูลพระเมืองแก้ว กษัตริย์ผู้ปกครองเชียงใหม่ในเวลานั้น ว่าการก่อสร้างพระเจ้าตนหลวงได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว พระเมืองแก้วจึงพระราชทานเงินและทองด้วยความศรัทธาของพระองค์เพื่อนำมาใช้สร้างวิหาร และทรงพระราชทานพระนามแก่พระพุทธรูปองค์นี้ว่า ‘พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา’

    นอกจากข้อมูลแบบตำนานแล้ว ยังมีศิลาจารึกหลักหนึ่งที่อธิบายถึงลักษณะและสัดส่วนของพระเจ้าตนหลวง นั่นก็คือ ศิลาจารึก ลพ./29 จารึกด้วยอักษรฝักขาม ภาษาไทย ซึ่งตามทะเบียนระบุว่า พบที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งในจารึกมีการระบุศักราช จ.ศ. 885 ตรงกับ พ.ศ. 2067
    แม้ตามทะเบียนจะระบุว่าพบที่จังหวัดเชียงราย แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่าจังหวัดพะเยาเคยมีสถานะเป็นอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย มาก่อน อีกทั้งขนาดและลักษณะของพระพุทธรูปที่ระบุในจารึกยังใหญ่กว่าพระพุทธรูปใดๆ ในจังหวัดเชียงรายอีกด้วย ดังนั้น พระพุทธรูปที่กล่าวถึงจึงน่าจะหมายถึงพระเจ้าตนหลวงองค์นี้นี่เอง ศิลาจารึกหลักนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ศิลาจารึกพระเจ้าตนหลวง

    พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ และเนื่องจากขนาดที่ใหญ่โตนั้นพระองค์จึงไม่ได้ประทับบนฐานชุกชีเช่นพระพุทธรูปทั่วๆ ไปแต่ประทับอยู่บนพื้นคล้ายกับพระเจ้านั่งดิน วัดพระเจ้านั่งดิน จังหวัดพะเยา โดยแม้จะผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้ว เราก็ยังพอจะเห็นสังเกตเห็นลักษณะตามแบบศิลปะล้านนาสกุลช่างพะเยา ต้องขออธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีลักษณะเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา ดังนั้น แม้จะเป็นศิลปะล้านนาเหมือนกัน แต่ในต่างพื้นที่กันก็ได้เกิดการสร้างพระพุทธรูปศิลปะล้านนาในแบบของตัวเองขึ้นมา เช่น สกุลช่างพะเยา สกุลช่างลำปาง เป็นต้น

    ในกรณีของสกุลช่างพะเยานั้น พระพุทธรูปจะนิยมสร้างด้วยหินทรายซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปในพื้นที่ ต่างจากพระพุทธรูปสกุลช่างอื่นที่นิยมสร้างด้วยสำริด รวมถึงมีพระพักตร์ที่มีพระขนงต่อเป็นปีกกาและเชื่อมต่อกับจมูกและมุมพระโอษฐ์ตวัดขึ้นเล็กน้อย ซึ่งแม้จะผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้ว แต่ก็ยังพอเห็นลักษณะบางประการของสกุลช่างพะเยาได้
    อย่างไรก็ดี พระเจ้าตนหลวงนั้นเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ไม่ใช่หินตามที่บอกไปข้างต้น สาเหตุอาจเนื่องมาจากขนาดที่ใหญ่รวมถึงตำนานที่กล่าวถึงวัสดุที่นำมาสร้างว่าเป็นดินกี่
    แม้จะขึ้นชื่อว่าตำนาน แต่ตำนานล้วนมีที่มาจากเรื่องจริงทั้งสิ้น ไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ดังนั้น ในการศึกษาเราจะไม่สามารถละเลยตำนานได้เลย


    ที่มา: https://readthecloud.co/wat-si-khom-kham/


    2.jpg

    วัดศรีโคมคำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง โดยสร้างขึ้นในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๐๓๔-๒๐๖๗ พระเจ้าตนหลวง เป็นพระประธานเก่าแก่ในพระวิหารหลวง เป็นศิลปะเชียงแสนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา มิใช่เป็นแต่เพียงพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรล้านนาไทยด้วย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร สูง ๑๖ เมตร สร้างจากอิฐมอญผสมปูนขาว ชาวพะเยาถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

    ชะตาพระเจ้าตนหลวงตามตำนาน กล่าวไว้ว่า “พระโมลีใหญ่ ๒๐ กำมือ สูง ๓ ศอก พระเศียรกลม ๖ วา พระเกศามี ๑,๕๐๐ เส้น ขนาดใหญ่ ๔ กำมือ ขนาดกลาง ๓ กำมือ ขนาดเล็ก ๒ กำมือ ขนาดจิ๋ว ๑ กำมือ พระพักตร์หน้ายาว ๒ วา กว้าง ๒ วา พระขนง (คิ้ว) ๓ ศอก ระหว่างพระขนงกว้าง ๑ ศอก ยาว ๓ ศอก กว้าง ๑ คืบ ดั้งพระนาสิก ๓ ศอก ๑ คืบ ใหญ่ ๖ กำมือ พระโอษฐ์ (ปาก) ยาว ๔ ศอก กว้าง ๑ คืบ ใหญ่ ๖ กำมือ พระกรรณ (หู) ยาว ๖ ศอก กว้างศอกคืบ พระศอยาว ๒ ศอก กลม ๓ วา พระอังสา (บ่า) ยาว ๓ คืบ กระดูกด้ามมีดยาว ๔ วา ตั้งแต่พระอุระ (อก) ถึงพระชานุ (คาง) ๒ วา ตั้งแต่พระถัน (นม) ถึงพระอังสา (ไหล่) ๒ วา ตั้งแต่พระนาภี (สะดือ) ถึงพระอุระ (อก) ๒ วา ระหว่างพระอุระ (อก) กว้าง ๒ วา พระพาหา (แขน) ยาว ๔ วา กลม ๒๙ กำมือ นิ้วพระหัตถ์ใหญ่ ๙ กำมือ ยาว ๑ วา พระกฏิ (สะเอว) กลม ๗ วา ฝ่าพระบาทยาว ๒ วา กว้าง ๓ ศอก ระหว่างพระชานุกว้าง ๗ วา พระหทัยใหญ่ ๖ กำมือ ตั้งแต่ที่ประทับนั่งถึงพระโมลี สูง ๘ วา ๒ ศอก”


    ที่มา: https://www.museumthailand.com/.../%E2%80%83%E0%B8%A7%E0.../


    3.jpg

    พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองพะเยามาช้านาน ตำนานการก่อสร้างพระเจ้าตนหลวงกล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับฉันภัตตาหารที่ริมกว๊านแห่งนี้ เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จ พระอานนท์จึงรับบาตรลงไปตักน้ำ ปรากฏว่ามีพยานาคขึ้นมาสำแดงฤทธิ์ จนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเสด็จมาแสดงปาฏิหาริย์ เนรมิตพระวรกายให้สูงใหญ่เท่าพระพุทธเจ้ากะกุสันธะและตรัสเล่าเรื่องความเป็นมาของหนองน้ำแห่งนี้ พญานาคจึงยอมถวายน้ำและเกิดสรัทธาที่จะช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป โดยรับที่จะสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่าพระวรกายพระพุทธเจ้ากะกุสันธะถวาย ณ ริมหนองน้ำ ซึ่งปัจจุบันก็คือ พระเจ้าตนหลวง

    ที่มา: https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1217148/
     
  13. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    4.jpg

    5.jpg


    ตำนานพระเจ้าตนหลวง
    พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปโบราณ เมื่อเป็นของโบราณ ย่อมมีตำนานเป็นของคู่กัน เชิญฟัง.....
    **************************

    สวัสดีจ้าวันนี้เพจ เรื่องเล่าชาวสยาม จะพาทุกคนมาศึกษาเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ตำนาน อภินิหารพระเกจิ ความลี้ลับ ไสยศาสตร์ เพราะในประเทศไทยของเรานั้น ต่างก็มีจุดเด่นทางความเชื่อและมีสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาแหล่งรวมประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมาก วันนี้เราขอมานำเสนอเรื่องเล่าพระเจ้าตนหลวง มาให้อ่านเพื่อศึกษากัน ติดตามรับชมกันได้เลย

    หากกล่าวถึง พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา เป็นพระประธานอยู่ในวิหารวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๐๓๔ ตรงกับรัชสมัยของพญายอดเชียงราย กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังราย พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนล้านนา
    พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพะเยา เดิมชื่อ พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา เนื่องจากสร้างขึ้นบริเวณริมหนองเอี้ยง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๒ กรมประมงได้มีการก่อสร้างประตูกั้นน้ำ ทำให้น้ำแม่อิงและลำห้วยต่าง ๆ เอ่อล้นท่วมหนองเอี้ยงเป็นบริเวณกว้าง จนเกิดเป็นบึงขนาดใหญ่ ซึ่งภายหลังเรียกว่ากว๊านพะเยา ทำให้พระเจ้าตนหลวงประดิษฐานอยู่ริมกว๊านพะเยามาจนถึงทุกวันนี้

    ตำนานพระเจ้าตนหลวง เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จเดินทางออกโปรดสัตว์ในดินแดนสุวรรณภูมิตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก ได้เสด็จมาเมืองพะเยา ขณะนั้นมียักษ์ตนหนึ่งไม่ได้กินอะไรมา ๗ วัน เห็นพระพุทธเจ้าจึงไล่เลยไปจนเหนื่อย พระพุทธเจ้าจึงประทับรอยพระบาทบนแผ่นหิน ยักษ์คิดในใจว่าชายผู้นี้มีแรงมากแท้ สามารถเหยียบหินให้มีรอยเท้าได้ พระพุทธเจ้าจึงโปรดและให้ยักษ์รับศีลห้าไว้ และตรัสกับพระอานนท์ว่า ยักษ์วิ่งไล่เลย ภายหลังโจรจะมาอยู่ที่นี่และเรียกว่าเวียงเลย และได้พบกับตายายสองผัวเมีย ตายายสองผัวเมียไม่มีข้าวจึงถวายพลูและครกหินตำหมากพลู

    พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า ตายายสองผัวเมียได้ถวายพลูและครกหินตำหมากพลู ภายหน้าที่นี่จะเรียกว่าพลูปอ และเมืองนี้จะมีหินมากนัก พระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นสู่จอมดอยและได้พบกับนายช่างทอง นายช่างทองได้ถวายข้าวปลาอาหารแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้วได้ลูบพระเศียรประทานพระเกศาให้แก่นายช่างทอง นายช่างทองรับใส่กระบอกไม้รวก ภายหลังคือพระธาตุจอมทอง (ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา) พระพุทธเจ้าทรงกระหายน้ำ รับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำตรงหนองตีนดอยมาถวาย พระอานนท์จะตักน้ำแต่พญานาคชื่อธุมมสิกขีขัดขวางและเนรมิตหงอนให้เป็นควันปิดหนองไว้ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปประทับยืนข้างหนองน้ำ พญานาคจะพ่นควันแผ่พังพานใส่ แต่ก็เห็นพระวรกายของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยฉัพพรรณรังสี จึงทูลถามว่าเป็นใคร

    พระพุทธเจ้าได้แนะนำตัวและแสดงอภินิหารเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่เท่ากับพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า ประทับนั่ง พระวรกายสูง ๓๒ ศอก และเหยียบพญานาคธุมมสิขีจมลงไปในหนอง พญานาคธุมมสิกขีจึงรีบไปนำก้อนหินที่พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้าเคยประทับนั่งฉันภัตตาหาร มาให้พระพุทธเจ้าประทับนั่งฉันน้ำ พระพุทธเจ้ามีพุทธทำนายว่า ภายหลัง ตายายสองผัวเมียที่ถวายหมากพลูจะได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่าพระกกุสันธพุทธเจ้าและสั่งให้พญานาคธุมมสิกขีนำคำ (ทอง) มามอบให้ตายายสองผัวเมีย

    ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว พญายอดเชียงรายเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ พระเมืองยี่เป็นเจ้าเมืองพะเยา ตายายสองผัวเมียที่เคยถวายหมากพลูได้มาเกิดเป็น ตายายสองผัวเมีย ทำอาชีพเลี้ยงเป็ดเลี้ยงห่านขาย พญานาคธุมมสิกขีจึงเนรมิตกายเป็นชายนุ่งขาวห่มขาวนำคำ ๔๒๐,๕๐๐ บาท มามอบและบอกให้ตายายสองผัวเมียสร้างสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่าพระกกุสันธพุทธเจ้า และเนรมิตกายตนให้เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่ากับพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า ประทับนั่ง พระวรกายสูง ๓๒ ศอก และหนีหายไป พ.ศ. ๒๐๓๔ ตายายสองผัวเมียจึงเริ่มถมสระหนองเอี้ยงและทำการปั้นอิฐ ใช้เวลาถึง ๓๓ ปีจึงทำการปั้นองค์พระ ทาปูน ทารัก ปิดทอง สำเร็จใน พ.ศ. ๒๐๖๗

    ในรัชสมัยพญาแก้วเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ พระเมืองตู้เป็นเจ้าเมืองพะเยา พญาแก้วมีศรัทธาสร้างพระวิหารหลวงครอบพระเจ้าตนหลวง กำหนดเขตแดนของวัด และพญาแก้ว พระเมืองตู้ ได้กัลปนาถวายข้าพระ ๒๐ ครัวเรือน ให้เป็นข้าพระเจ้าตนหลวง ตั้งชื่อวัดว่า วัดศรีโคมคำ (เพราะเมื่อแรกสร้างพระเจ้าตนหลวง ตายายสองผัวเมียได้นำทองคำไปผูกกับปลายไม้แล้วปักลงกลางหนองเอี้ยง และประกาศให้คนนำดินมาปาทั้งกลางวันกลางคืน จนดินเต็มหนอง ตอนกลางคืนก็จุด “ผางกม”(ผางประทีบ) เพื่อให้คนได้เห็นคำ จนเป็นที่มาของคำว่า “กมคำ” (จุดกมขว้างคำ)และเป็น สะหรีกมคำ-เพี้ยนเป็น ศรีโคมคำ และ วัดศรีโคมคำในที่สุด

    เตลปตฺตํ ยถา ปริหเรยฺย เอวํ สจิตฺตมนุรกฺเข : พึงรักษาจิตของตน . เหมือนคนประคองบาตรเต็มด้วยน้ำมัน.

    จังหวัดพะเยาจัดงานนมัสการพระเจ้าตนหลวงขึ้นทุกปี ในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคม ช่วงสัปดาห์วิสาขบูชา เรียกว่าเทศกาลแปดเป็ง แปดเป็งหมายถึงคืนวันเพ็ญในเดือนแปด (นับตามปฏิทินจันทรคติแบบล้านนา) ตรงกับเดือนพฤษภาคม แปดเป็งมีความสำคัญ เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าตนหลวง 5 ประการ ได้แก่
    • เป็นวันที่เริ่มโยนหินก้อนแรกลงถมหนองเอี้ยง (กว๊านพะเยาในปัจจุบัน) เพื่อปรับปรุงพื้นที่ใช้สำหรับก่อปูนขึ้นเป็นองค์พระ
    • เป็นวันเริ่มก่อสร้างองค์พระเจ้าตนหลวง
    • เป็นวันที่สร้างองค์พระเสร็จสมบูรณ์
    • เป็นวันเฉลิมฉลององค์พระครั้งแรก
    • เป็นประเพณีที่ชาวบ้านถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันวิสาขบูชาหรือวันแปดเป็ง

    เทศกาลแปดเป็ง จัดขึ้นภายในวัดศรีโคมคำ ช่วงกลางวันมีการทำบุญฉลององค์พระเจ้าตนหลวง พระประธานในวิหาร ช่วงกลางคืนมีการออกร้านขายของและมหรสพต่าง ๆ นอกจากงานเทศกาลแปดเป็งภายในวัดศรีโคมคำแล้ว สัปดาห์วันวิสาขบูชาของจังหวัดพะเยา นอกจากทางวัดศรีโคมคำจะมีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวงในช่วงดังกล่าวแล้ว วัดติโลกอาราม ซึ่งเป็นวัดที่จมอยู่ใต้กว๊านพะเยา ยังมีพิธีเวียนเทียนกลางน้ำในช่วงวันวิสาขบูชา ถือเป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นใกล้กัน นักท่องเที่ยวสามารถชมความงามของวัดศรีโคมคำ พระเจ้าตนหลวง กว๊านพะเยาและพิธีเวียนเทียนกลางน้ำของวัดติโลกอารามได้ในช่วงเวลาเดียวกัน
    มีผู้คนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้บูชา บางคนมาขอพรโชคลาภ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่น่าแปลกและเชื่อถือกันมากในเรื่องการขอพรจากองค์พระเจ้าตนหลวง คือเรื่องการขอบุตร บางคนที่แต่งงานแล้วไม่มีบุตร หรือมีบุตรยาก เมื่อขอพรจากพระเจ้าตนหลวงก็จะได้บุตรตามที่ขอไว้ทุกราย

    เป็นยังไงกันบ้างกับหลากหลายเรื่องราวที่เพจเรื่องเล่าชาวสยามได้นำมาเล่าต่อของตำนานพระเจ้าตนหลวง บทความนี้นำมาเผยแพร่เพื่อศึกษาเผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติบุคคลคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านผู้มีพระคุณ ทั้งนี้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน บางเรื่องอาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล


    ที่มา: https://www.kidnan.com/23424/...


    6.jpg
     
  14. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    99138959_170280974446445_4715620460304269312_n.jpg

    99251159_170280841113125_6801297368546279424_n.jpg

    99280043_170280814446461_544632265796222976_n.jpg

    99292862_170280771113132_309462061648183296_n.jpg

    99439968_170280791113130_5276784244201357312_n.jpg

    100063010_170280871113122_390080603543830528_n.jpg

    ภาพเก่าพระเจ้าตนหลวงในอดีต


    เกร็ดประวัติศาสตร์ เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยรับนิมนต์มาบูรณะ
    พระเจ้าตนหลวงและวัดศรีโคมคำ

    โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ

    วิมล ปิงเมืองเหล็ก ปราชญ์เมืองพะเยา
    นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนาตะวันอออกในหัวข้อ
    “บันทึกของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา (ปินตา ชอบจิต 2404-2487)”
    พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา คือใคร ?

    บุคคลในภาพ(อยู่ในคอมเม้นท์)ที่มีท่าทางทระนงเชื่อมั่นในตัวเองท่านนี้ นามเดิมคือ ปินตา ชอบจิต ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา (ในอดีตพะเยามีฐานะเป็นอำเภอหรือแขวงหนึ่งของจังหวัดเชียงราย) ระหว่าง พ.ศ. 2404-2487 นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวข่วงแก้ว วัดราชคฤห์ และสุดท้ายเป็นเจ้าสำนักวัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง)

    พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เป็นพระสงฆ์ที่รักการจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้พบเห็นเป็นชีวิตจิตใจ โดยบันทึกลงในกระดาษฟุลสแก๊ปด้วยดินสอดำ แบบวันต่อวัน (Diary) แล้วเย็บเป็นเล่ม จำนวนหน้าของแต่ละเล่มไม่เท่ากัน ใช้อักษรธัมม์ล้านนา มีเพียงบางตอนที่ใช้อักษรไทยกลาง เวลาในการบันทึกได้บอกรายละเอียดทั้งวันเดือนปี วันขึ้นวันแรมทางจันทรคติ ปีจุลศักราช พุทธศักราช และบางเหตุการณ์แถมบอกเป็นระบบคริสต์ศักราชอีกด้วย

    เมื่อตอนท่านมรณภาพ ได้ฝากมรดกจำนวนมหาศาลนี้ไว้ให้แผ่นดินพะเยา ปัจจุบันเป็นสมบัติของหอวัฒนธรรมนิทัศน์ ข้างวัดศรีโคมคำ โดยมีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺญมหาเถระ) เป็นผู้อำนวยการ

    จุดมุ่งหมายของการบันทึก
    พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

    ประเด็นแรก บันทึกนี้น่าจะเกิดจากอุปนิสัยของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญาเอง ที่รักการขีดเขียนอักขระและชอบแสวงหาความรู้ จากการบอกเล่าของพระราชวิริยสุนทร (ธงชัย พันธุ์พัฒนกุล) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพะเยา ในฐานะหลานชายกล่าวไว้ว่า “คราวหลวงลุงมรณภาพ ญาติพี่น้องได้บรรทุกสิ่งของเครื่องใช้ โดยเฉพาะเอกสารบันทึกมีถึง 3 เล่มเกวียน”

    ประเด็นที่สอง บันทึกนี้ทำขึ้นเพื่อเขียนเป็นรายงานทางราชการคณะสงฆ์ ส่วนใหญ่บันทึกการประชุมคณะสงฆ์ตามหัววัดต่างๆ ที่ท่านรับผิดชอบในฐานะเจ้าคณะแขวงบริเวณเมืองพะเยาจำนวน 123 วัด และบางตอนเป็นบันทึกการสอบสวนอธิกรณ์ที่เกิดในวงการคณะสงฆ์ รวมถึงจดหมายทางราชการที่โต้ตอบกับหน่วยราชการภายนอก

    ประเด็นที่สาม บันทึกเรื่องเลขผานาที วันดี วันเสีย วันมงคล วันอวมงคล ในตำราโหราศาสตร์ที่ชาวบ้านมาขอคำปรึกษา

    ประเด็นที่สี่ บันทึกเรื่องราวจากการอ่านเอกสารโบราณ และจากคำบอกเล่าของผู้รู้ในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
    ปี พ.ศ.2559 บันทึกชุดนี้ ได้รับการประกาศรางวัลจากยูเนสโก ให้เป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก ในระดับท้องถิ่นล้านนา

    ตัวอย่างงานบันทึกชิ้นสำคัญ
    ในบันทึกของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา ที่มีในหอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ 11 เล่มนั้น พอจะแยกเนื้อหาออกมาได้ 3 เรื่องที่น่าสนใจคือ

    เรื่องแรก บันทึกการเกิดจลาจลของไทใหญ่ในเมืองพะเยา (กบฏเงี้ยว) พ.ศ.2445

    เรื่องที่สอง บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน วิถีชีวิตของผู้คนที่มีต่อวัดและพระสงฆ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น คำสั่งทางการของสงฆ์เกี่ยวกับการวางตัวในยุคของการเปลี่ยนแปลงองค์กรสงฆ์ล้านนา ระหว่างปี 2458

    เรื่องที่สาม บันทึกการนิมนต์ครูบาเจ้าศรีวิชัย มาเป็นประธานบูรณะพระวิหารวัดศรีโคมคำปี 2465
    เงี้ยวปล้นเมืองพะเยา

    บันทึกเล่มแรก พ.ศ.2445 กล่าวถึงการเกิดจลาจล พวกเงี้ยว (ไทใหญ่) ปล้นเมืองแพร่ จากนั้นลุกลามเข้าไปเมืองพะเยา และระบาดทั่วล้านนา พระครูศรีวิราชวชิรปัญญาอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ท่านเล่าว่าถูกพวกเงี้ยวฟันทั้งๆ ที่เป็นสมณเพศ จนต้องกระโดดปีนลงจากกุฏิทางช่องหน้าต่าง แล้วหนีลงไปลำปางอยู่ที่วัดปงสนุก
    การที่ชาวพะเยากับชาวลำปางหนีกันไปหนีกันมาหลายระลอก ปัจจุบันสำเนียงการพูดของคนสองจังหวัดนี้จึงละม้ายคล้ายคลึงกันมาก

    มีการเล่าถึงเงี้ยวยิง “มิสเตอร์ฝรั่ง” คนหนึ่ง (ซึ่งถูกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีส่งมาประจำการที่ลำปาง) ตาย บริเวณแม่ก๋า ห้วยเกี๋ยง ปัจจุบันคือที่ตั้งของมหาวิทยาลัยพะเยา
    เรื่องที่น่าสนใจยิ่งที่อาจช่วยเราคลี่คลายปมว่าทำไมต้องเกิดกบฏเงี้ยว คือตอนที่เมืองแพร่แตก ชาวแพร่หนีตายไปเมืองลำปางและเมืองพะเยา ได้มีหนังสือประกาศจากทางสยามว่า หากใครช่วยรบกับกบฏเงี้ยวจนได้ชัยชนะ จะมีการงดเว้นค่าภาษีรัชชูปการ 4 บาทให้ด้วย (เงิน 4 บาทสำหรับไพร่ยุคนั้นถือว่าแพงมหาโหดมาก) พร้อมทั้งจะยกเลิกการส่งส่วยข้าวให้แก่รัฐบาลสยาม
    เหตุที่ใช้ข้ออ้างเรื่อง “ภาษี 4 บาท” มาเป็นข้อต่อรองก็เพราะว่าต้องใช้กุศโลบายแก้ลำกัน ตอนที่เงี้ยวบุกเมืองพะเยาได้ หัวหน้าเงี้ยวประกาศว่า หากใครสมัครใจมาช่วยรบฝ่ายเงี้ยวสู้กับรัฐบาลสยาม
    โดยลงชื่อเข้าหมู่เป็นพวกเงี้ยวจะไม่ต้องจ่ายภาษี 4 บาทให้หลวงอีกต่อไป ทำให้ประชากรหลากหลายชาติพันธุ์จึงเข้าร่วมขบวนการครั้งนั้นได้ แม้จะไม่ได้เป็นชาวไทใหญ่ (เงี้ยว) ก็ตามที
    มีบันทึกเรื่องการประหารผู้นำเงี้ยวชื่อ “เจ้าหนานนนท์” “แสนผิว” “พญาคำวงศา” “ท้าวไชย” เป็นต้น โดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียกกองทัพทหารไทยขึ้นมาจำนวน 3,500 นาย จับชาวเงี้ยวยิงและตัดหัวเสียบประจานที่ประตูแป้น ริมกว๊านพะเยา ฝังศพเงี้ยวไว้ที่หลังบริเวณเทศบาลเมืองพะเยา พวกเงี้ยวและชาวบ้านที่เข้าช่วยเงี้ยวถูกฆ่าตายจำนวนมากเกือบ 200 คน

    อาจารย์วิมล เล่าว่า เจ้าหนานนนท์ก็ดี พญาคำวงศาก็ดี นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเงี้ยว แต่ไปเข้ากับเงี้ยวเพราะมีอุดมการณ์เดียวกัน ต้องการปลดแอกเรื่องการถูกสยามกดขี่ขูดรีดภาษี 4 บาท ก่อนมีการประหารนั้น ทางการจับชาวเงี้ยวทั้งหมดมัดมือนั่งล้อเกวียน ประจานทั่วตลาดกลางเวียง
    คนที่เป็นเงี้ยวแท้ๆ คือ แสนผิว เมื่อแสนผิวถูกฆ่า สร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่ชาวอังกฤษเจ้าอาณานิคมพม่า เนื่องจากแสนผิวเป็นชาวไทใหญ่ สังกัดประเทศพม่า ทำให้อังกฤษทำหนังสือมาถาม กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นว่า มีสิทธิ์อะไรจึงเข่นฆ่าคนในบังคับของอังกฤษอย่างอุกอาจ

    รัฐบาลไทยต้องยืนอ่านคำประกาศขอโทษประเทศอังกฤษต่อหน้าชาวพะเยาที่กลางตลาด พร้อมทั้งขอโทษชาวพะเยาที่ถูกฆ่าตายทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นชาวเงี้ยว เพียงแต่เข้าร่วมต่อสู้เพื่อปลดแอกภาษี 4 บาท พร้อมรัฐบาลไทยต้องจ่ายเงินชดใช้ให้แก่ทายาทของแสนผิวและคนอื่นๆ จำนวน 7,800 รูเปียห์

    ปัจจุบัน ทายาทของแสนผิวหรือปู่ผิว ใช้นามสกุล “เสมอเชื้อ” หมายถึง เสมอเชื้อเจ้า (เป็นนามสกุลใหญ่ พอๆ กับ “ศีติสาร” สกุลของเจ้าเมืองพะเยา)

    วิถีชีวิตรายวัน
    พบเอกสารช่วงปี 2458 บันทึกเกี่ยวกับวิถีชีวิตของท่าน ว่าในแต่ละวันใครเอาขันข้าวมาถวาย ในขันโตกมีอาหารอะไรบ้าง วันนี้มีแกงฮังเล วันนี้มีปลาปิ้ง คนนำมาถวายชื่ออะไร ในยุคสมัยที่ยังไม่มีนามสกุลใช้จำเป็นต้องอธิบายรูปพรรณสัณฐานผู้คนอย่างละเอียด เช่น น้อยปานดำ หนานจันแคะ (ชื่อจัน ขากะโผลกกะเผลก) บ้านอยู่ที่ไหน เป็นลูกใคร มีเมียชื่ออะไร
    บางวัน แม้ไม่มีเหตุการณ์พิเศษ พระครูศรีวิราชวชิรปัญญายังอุตส่าห์บันทึกว่า
    “วันนี้ไม่มีอะไรจะเล่า”

    จดหมายโต้ตอบกับครูบาเจ้าศรีวิชัย
    บันทึกนี้มีขึ้นในปี 2465 โดยพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา ได้ทราบข่าวว่าที่ลำพูนมีพระภิกษุชื่อดังมากรูปหนึ่ง คือครูบาเจ้าศรีวิชัย สามารถบูรณะก่อสร้างเสนาสนะวัดสำคัญๆ ที่รกร้างตามที่ต่างๆ จำนวนนับร้อยแห่ง เป็นผลสำเร็จราวปาฏิหาริย์ แต่ละวัดใช้เวลาไม่นาน อีกทั้งใช้งบประมาณไม่มาก เนื่องด้วยหากท่านดำริฟื้นฟูวัดไหนก็ตาม เหล่าสานุศิษย์จะยกทีมมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ

    ในขณะที่วัดพระเจ้าตนหลวง ริมกว๊านพะเยา (ทุ่งเอี้ยง) ถูกทิ้งร้างมานาน สภาพวัดทรุดโทรม พระวิหารผุพัง ยากต่อการบูรณปฏิสังขรณ์ พระครูศรีวิราชวชิรปัญญาจึงมอบหมายให้ลูกศิษย์จากเมืองพะเยาชื่อ ครูบาปัญญา เดินทางไปอาราธนาครูบาเจ้าศรีวิชัยมาเป็นประธานในการบูรณปฏิสังขรณ์

    ปรากฏว่าต้องรอคำตอบจากครูบาเจ้าศรีวิชัยถึงสามครั้ง กว่าจะตอบตกลงรับเป็นประธานในการบูรณะ จากบันทึกของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา ทำให้ทราบถึงแนวคิดของครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า การตอบตกลงรับนิมนต์ไปช่วยบูรณะวัดแต่ละแห่งนั้น ท่านมีหลักคิดที่ใช้ประกอบการตัดสินใจอยู่ 3 เรื่องคือ

    เรื่องแรก หากเป็นวัดที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการมีอยู่ของพระบรมสารีริกธาตุ หรือรอยพระพุทธบาท ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก (ครูบาเจ้าศรีวิชัยเรียกว่า “ธรรม 11 ผูก”) จะได้รับการพิจารณามากเป็นพิเศษ เหตุที่เป็นเนื้อนาบุญ ซึ่งวัดพระเจ้าตนหลวงก็แน่นอนว่าอยู่ในกลุ่มสำคัญนี้

    เรื่องที่สอง ครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “นิมิต” อย่างมาก คือท่านต้องอธิษฐานจิตเสียก่อน ว่าการรับเป็นประธานครั้งนั้นจะมีผลดีผลเสียอย่างไรหรือไม่ วิธีการอธิษฐานที่พบมีหลายอย่าง อาทิ การเห็นนิมิตปรากฏขึ้นเอง เช่น เมื่อท่านจะสร้างวัดบ้านปาง (2447) ท่านได้เห็นลางดี คือพระจันทร์ส่องสว่าง ทำนายว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จอย่างแน่นอน เพราะมีบุญสมภารแก่กล้า

    ในกรณีของวัดพระเจ้าตนหลวง ครูบาเจ้าศรีวิชัยเสี่ยงทายนิมิตด้วยวิธี “ผายเบี้ย” ครั้งแรกเบี้ยที่โยนตกช่อง “หม้อนรก” ไม่เป็นมงคล ท่านก็ขอผลัดวันเดินทาง
    ครั้งที่สองตกช่อง “มีทางไปแต่ไม่มีทางกลับ” ท่านยังไม่รับนิมนต์ กระทั่งครั้งที่สาม ตกช่องมงคลฤกษ์ ท่านจึงตัดสินใจไป อันที่จริงวัตถุประสงค์ของการผายเบี้ย ก็เพื่อดู “ความพร้อม” ว่าท่านจะสามารถบูรณะหรือสร้างวัดนั้นๆ สำเร็จหรือไม่

    เรื่องที่สาม เมื่อตกลงรับนิมนต์แล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยมักเดินทางไปสำรวจสถานที่ก่อนรอบแรก หรือส่งตัวแทนไปดูสภาพ เพื่อวางแผนตระเตรียมงาน กำหนดขนาดความกว้าง ยาว สูง ประเมินจัดหาวัสดุและรูปแบบศิลปะที่เหมาะสม จากนั้นจะประกาศให้มหาชนรับทราบโดยทั่วกันก่อนว่าจะเริ่มลงมือสร้างวันใด ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมคณะศรัทธากลุ่มต่างๆ เมื่อถึงวันสร้างจึงมีผู้คนมาทำบุญกับท่านอย่างพร้อมเพรียงกัน

    กรณีวัดพระเจ้าตนหลวง จากบันทึกของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญาระบุชัดเจนว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยขอให้ทางพะเยาเตรียมอิฐ (ดินกี่) กี่ก้อน เตรียมไม้ขนาดเท่าไหร่กี่ต้น เตรียมปูนกี่ถัง เตรียมแรงงานกี่คน ส่วนงานละเอียดประเภทหน้าบันฉลุลาย การปิดทองคำเปลว การทำฐานชุกชีพระประธาน (แท่นแก้ว) ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์และกลุ่มสล่า (ช่างฝีมือ) ชาวยองจากลำพูนไปเอง

    กล่าวโดยสรุป บันทึกของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญาแม้ปัจจุบันจะเหลือเพียง 11 เล่ม แต่ในอนาคตคาดว่าคงมีการค้นพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะของเดิมมีมากถึง 3 เล่มเกวียน เชื่อว่าเมื่อวันนั้นมาถึง เราคงได้เรียนรู้และล้วงลึกเกี่ยวกับเงื่อนงำปมลับของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองพะเยาที่ยังซุกซ่อนไว้อีกมหาศาล มาตีความสร้างองค์ความรู้ใหม่อย่างมิรู้จบ

    ที่มา: https://www.matichonweekly.com/column/article_88369


    118194652_2007075732756723_1791399613969657423_n.jpg

    พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา (ปินตา ชอบจิต 2404-2487) เจ้าของบันทึกที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
     
  15. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    118309189_2008125655985064_7192978379553272302_n.jpg

    117945888_2008125682651728_2897844120123894293_n.jpg

    118032821_2008125615985068_4891831563195937333_n.jpg


    อุโบสถกลางน้ำ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา

    ในวัดศรีโคมคำแห่งนี้มีอุโบสถอยู่ถึง 2 หลัง หลังหนึ่งสร้างขึ้นในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย ส่วนอีกหลังหนึ่งสร้างในสมัยหลัง หลังเก่าที่ครูบาศรีวิชัยสร้างอยู่ในแนวระเบียงคด ส่วนหลังใหม่เป็นอุโบสถกลางน้ำตั้งอยู่ด้านนอก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 โดยการอุปถัมภ์ของ นายขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของสำนักพิมพ์มติชน โดยมี นายบุญนิยม สิทธิหาญ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ และ นายช่างเถา พัฒนโภสิน เป็นช่างก่อสร้าง

    อุโบสถกลางน้ำนี้ ดูเรียบง่ายด้านหลังจะเป็นกว๊านพะเยา ยามเย็นแดดร่มลมตก เหมาะแก่การเข้ามาพักกายพักใจยิ่งนัก



    118292239_2008126802651616_2259912217280984570_n.jpg
     
  16. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    CE2A6500-C014-41F0-9F50-EC7509003219.jpeg

    94DF755B-A530-4045-A89B-31AEA6F5FC20.jpeg

    824DBE01-2235-46FF-AD4D-4C263DD45028.jpeg

    43C49B97-80BC-4445-BBD1-4729215F3E6F.jpeg

    571656D0-BF98-4D48-B689-4C14DBC2F68F.jpeg

    AC94FEE5-9BAF-48FB-B97E-81D6174DA804.jpeg

    A410C975-59B6-45D0-88D6-8E8754636B12.jpeg


    พระอุโบสถกลางน้ำ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา

    ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธชินราช เป็นพระประธาน ฝาผนังมีการเขียนภาพจิตรกรรมซึ่งตามข้อมูลกล่าวว่า

    จิตรกรรมฝาผนังรูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ฝีมือ นายอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ และ นางสาวภาพตะวัน นางสาวกาบแก้ว สุวรรณกูฎ และคณะเขียนภาพทศชาติชาดก
     
  17. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    8D48A311-7A7B-49FA-BAAD-80C5D8003A73.jpeg



    เมืองพระเยาในอดีต

    ชุมชนโบราณเมืองพยาว

    เมืองพะเยามีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือพื้นที่ชุมชนอยู่ในหุบเขา ประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญ ก็จะมีการสร้างคูคันดิน หรือกำแพงล้อมรอบเรียกว่า เวียง จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบเวียงโบราณอยู่ในพะเยาหลายแห่ง
    แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ได้มาจากหลักฐานในเอกสาร พงศาวดาร ตำนาน หลักฐานทางโบราณคดี และศิลาจารึก จากสภาพภูมิประเทศซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขา มีลำน้ำอิงไหลผ่าน และจากการสำรวจพบขวานหินขัดทั้งขนาดเล็ก - ใหญ่ ทั้งแบบมีบ่า และไม่มีบ่า สันนิษฐานได้ว่า พื้นที่ในเขตพะเยานี้เดิมเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

    จากการศึกษาทางโบราณคดี พบเวียงโบราณอยู่ในพะเยาหลายแห่ง มีโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่มากมาย ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (ก่อนปี พ.ศ.๑๘๐๐) พวกที่ตั้งถิ่นฐานบนที่สูงกับพวกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่ราบยังนับถือผีอยู่ ยังไม่มีการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ หลังจากนั้นได้มีการนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก เชื่อมโยงหล่อหลอมให้ผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ให้เป็นพวกเดียวกันเกิดเป็นบ้านเมืองขนาดเล็ก ๆ ขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่ม แล้วพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่เรียกว่า พยาว หรือ พะเยา เป็นศูนย์กลางการปกครองในภูมิภาคแถบนี้

    เมืองพะเยาเป็นเมืองขนาดใหญ่มีอาณาเขตกว้างขวาง ประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยจำนวนมาก แบ่งออกเป็นพันนาต่าง ๆ ได้ ๓๖ พันนา ขอบเขตแต่ละพันนามีลักษณะคล้ายตำบลในปัจจุบัน

    เมืองโบราณศูนย์กลางเมืองพะเยา บริเวณนี้ปรากฏร่องรอยเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบอยู่ห้าเมืองคือ
    @เวียงพะเยา คือตัวเมืองพะเยาปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของกว๊านพะเยา จากพงศาวดารโยนกกล่าวว่าเมืองพะเยาสร้างสมัยขุนจอมธรรม เจ้าเมืองคนแรกของเมืองพะเยา เมื่อปี พ.ศ.๑๖๓๙ ส่วนกษัตริย์ที่ครองเมืองพะเยาสมัยแรกคือ พญางำเมือง

    ภายในเมืองพะเยามี ๑๘ วัด เคยเป็นวัดร้างมาก่อน บางวัดได้มีการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ และยังเป็นวัดร้างอยู่ ๑๑ วัด

    @เวียงท่าทองหรือเวียงประตูชัย ตั้งอยู่ห่างจากเวียงพะเยาไปทางทิศตะวันออก ที่บ้านประตูชัย ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง ฯฝั่งเมืองวางตัวในแนวตะวันออก - ตะวันตก ยาวประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร ด้านตะวันออกเฉียงเหนือกว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ด้านตะวันตกเฉียงใต้กว้างประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร คูเมืองขุดเป็นแนวโอบล้อมเนินสูงสามแห่ง จึงมีรูปร่างคล้ายผลน้ำเต้า
    เวียงท่าทองสร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตรงกับสมัยพญาติโลกราชและพระเมืองแก้วครองอาณาจักรล้านนา และพญายุทธิษฐิระครองเมืองพะเยา

    @เวียงปู่ล่าม ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเวียงท่าทองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่บ้านศาลา ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง ฯ เป็นเมืองโบราณประเภทคูเมืองชั้นเดียว มีคันดินขนาบสองข้าง ผังเมืองเป็นรูปวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๘๐ เมตร ตั้งอยู่บนเนินเขาไม่สูงนักเดิมภายในเวียงปู่ล่ามมีซากโบราณสถานอยู่มากมาย พบศิลาจารึกที่วัดอารามป่าน้อย กล่าวว่าวัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๗ พบภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาในล้านนา และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง

    @เวียงหนองหวี หรือเวียงแก้ว หรือเวียงบ้านศาลา ตั้งอยู่ห่างจากเวียงปู่ล่าม มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่บ้านหนองหวี ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง ฯ เป็นเมืองโบราณประเภทคูเมืองชั้นเดียว มีคันดินขนาบสองข้าง รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า แนวคูน้ำคันดินด้านทิศเหนือยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร ด้านทิศตะวันตกยาวประมาณ ๗๐๐ เมตร ด้านทิศใต้ยาวประมาณ ๔๕๐ เมตร ด้านทิศตะวันออกยาวประมาณ ๕๐๐ เมตรภายในเวียงหนองหวีไม่เหลือซากโบราณสถาน พบเพียงเศษภาชนะดินเผามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองแฝดกับเวียงปู่ล่าม

    @เวียงพระธาตุจอมทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกว๊านพะเยา ทางทิศเหนือของเวียงพะเยา ตั้งอยู่ที่บ้านแท่นดอกไม้ ตำบลต๋อมคง อำเภอเมือง ฯ มีคูเมืองหนึ่งชั้นขนาบด้วยคันดินสองข้าง คูเมืองล้อมรอบเนินเขาลูกเตี้ย ๆ รูปวงรี ยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๔๕๐ เมตร ภายในเวียงมีพระธาตุจอมทอง ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของเวียง เป็นเวียงพระธาตุประจำพะเยาเช่นเดียวกับเมืองต่าง ๆ หลายเมืองในล้านนาที่มีเวียงพระธาตุอยู่ด้วย การขุดคูคันดินล้อมรอบพระธาตุ คงเนื่องมาจากคตินทีสีมาที่แพร่หลายทั่วไปในล้านนา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
    เมืองโบราณตามพันนาต่าง ๆ ชุมชนตามพันนา มีลักษณะเป็นเพียงหมู่บ้าน จึงไม่จำเป็นต้องขุดคูคันดินล้อมเป็นเวียง แต่บางแห่งก็มีคล้ายเวียง

    @เวียงต๋อมคง อยู่ที่บ้านต๋อมคง ตำบลต๋อมคง อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา ห่างจากเวียงพระธาตุจอมทองมาทางตะวันตกประมาณ ๗ กิโลเมตร เป็นเมืองโบราณ ประเภทคูสองชั้น คันดินสามชั้น วางตัวตามแนวเหนือ - ใต้ แบ่งเป็นสองเวียง มีลักษณะเป็นเนินเขาลูกเล็ก ๆ มีการขุดคูคันดินล้อมรอบเป็นสองส่วน อยู่ติดกันเรียกว่า เวียงหนึ่ง และเวียงสอง
    เวียงเป็นรูปไม่สม่ำเสมอเพราะขาดคูน้ำคันดินล้อมไปตามรูปร่างของเนินเขา เวียงหนึ่งยาวประมาณ ๖๘๐ เมตร กว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเวียงสอง เวียงสองยาวประมาณ ๓๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร
    ภายในเวียงต๋อมไม่พบซากโบราณสถานใด ๆ พบโบราณวัตถุเป็นเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง พบแนวคันดินโบราณคล้ายถนนเชื่อมกับเวียงพระธาตุจอมทอง

    @เวียงโบราณบนดอยม่อนแจ๊ะ ตั้งอยู่บนยอดดอยม่อนแจ๊ะใกล้กับดอยบุษราคัม (วัดอนาลโย) ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง ฯ ห่างจากเวียงต๋อม ลงมาทางใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา มีคูน้ำคันดินหลายชั้น ในคูไม่มีร่องรอยการเก็บน้ำ กว้างประมาณ ๕ เมตร ไม่พบซากโบราณสถานใด ๆ และไม่มีร่องรอยการอยู่อาศัยในสมัยโบราณ
    ลักษณะของเวียง แสดงว่าใช้ประโยชน์ในการป้องกันตัวในยามศึกสงคราม

    @เวียงโบราณที่บ้านเหยี่ยน ตั้งอยู่ที่บ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง อยู่ห่างจากเวียงพะเยา มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ตัวเวียงตั้งอยู่บนเนินเตี้ย ๆ มีคูน้ำคันดินค่อนข้างซับซ้อน คูกว้างประมาณ ๑๐ เมตร มีคันดินขนาบสองข้าง ภายในตัวเวียงมีวัดร้างอยู่แห่งหนึ่ง พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่บาง บริเวณด้านนอกเวียง มีวัดร้างอยู่หลายแห่ง พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายและเศษภาชนะดินเผา เครื่องเคลือบของเตาในล้านนาได้แก่ แหล่งเตาพาน เตาเวียงกาหลง และเตาพะเยา เวียงนี้คงมีการอยู่อาศัยทั้งในเวียงและนอกเวียงพบศิลาจารึกบริเวณเวียงนี้สามแผ่น ปรากฎคำว่าเวียงปู่พระ อาจเป็นชื่อของเวียงนี้ก็ได้

    @ เวียงโบราณที่บ้านห้วยหม้อ ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยหม้อ ตำบลตุ่ม อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา ห่างจากเวียงต๋อมดงลงมาทางใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร และห่างจากเวียงพะเยาไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๖ กิโลเมตร ตัวเวียงเป็นเนินเขาลูกเล็ก ๆ มีคูน้ำชั้นเดียว กว้างประมาณ ๖ เมตร มีคันดินขนาบทั้งสองข้าง พื้นที่ประมาณ ๕๐ ไร่ ภายในเวียงมีเจดีย์ร้างอยู่หนึ่งแห่ง พบพระพุทธรูปหินทรายทรงเครื่องสององค์ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ พบเศษภาชนะดินเผาผลิตจากแหล่งเตาเวียงกาหลง เตาพาน และเตาสันกำแพง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑

    @เวียงบัวหรือเวียงก๋า ตั้งอยู่ที่บ้านบัว ตำบลแม่กา อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางทิศใต้ของพะเยา ห่างจากเวียงพะเยาประมาณ ๑๔ กิโลเมตร อยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ มีคูคันดินล้อมรอบ แบ่งออกเป็นสองเวียงอยู่ใกล้กันคือ เวียงบัวหนึ่ง รูปร่างคล้ายรูปใบโพธิ์ ตัวเวียงกว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร คูเวียงด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือมีชั้นเดียว กว้างประมาณ ๑๐ เมตร มีคันดินขนาบสองข้าง ประมาณ ๖ เมตร ด้านนอกกว้างประมาณ ๕ เมตร คูเวียงด้านทิศใต้มีคูสองชั้น มีคันดินอยู่ตรงกลาง เวียงบัวสอง รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวเหนือ - ใต้ กว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร มีคูสองชั้น คันดินสามชั้น คูด้านในกว้างประมาณ ๑๑ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๘ เมตร คูชั้นนอกกว้างประมาณ ๗ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๔ เมตร ระหว่างคูมีคันดินคั่นในเขตเวียงไม่พบซากโบราณสถานใด ๆ พบเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาพะเยา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ห่างจากเวียงบัวไปทางใต้ ประมาณ ๒ กิโลเมตร พบแหล่งเตาเผา ภาชนะดินเผา เขาม่อนออม แต่ไม่พบเตาเผา

    @ เวียงฮางหรือเวียงพระธาตุแจ้โว้ ตั้งอยู่ที่บ้านปาง ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงบัว ห่างออกไปประมาณ ๗ กิโลเมตร และห่างจากเวียงท่าวังทองมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร ที่ตั้งเป็นเนินเขาโดด ๆ ค่อนข้างสูง เป็นที่ตั้งของพระธาตุแจ้โว คูคันดินขุดตามภูมิประเทศ ผังเมืองวางในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก กว้างประมาณ ๙๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร มีคูชั้นเดียว คันดินขนาบสองข้าง คูกว้างประมาณ ๑๙ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๕ เมตร ตอนกลางเวียงมีคูน้ำคันดินผ่ากลาง เชื่อมต่อระหว่างคูเวียงด้านเหนือกับด้านใต้ กว้างประมาณ ๑๖ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๘ เมตร มีห้วยร่องขุยไหลผ่านทางทิศตะวันออก
    ภายในเวียงมีโบราณสถานสองแห่งคือวัดพระธาตุแจ้โว้ ตั้งอยู่บนยอดเนิน มีเจดีย์ทรงล้านนาหนึ่งองค์คือพระธาตุแจ้โว้ พระพุทธรูปหินทรายที่พบ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑

    @โบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง(ไม่มีชื่อ)ตั้งอยู่ใกล้คูคันดินด้านเหนือ เป็นซากวัดร้างขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเจดีย์และวิหาร พบเครื่องใช้แกะสลักจากหินทราย เศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาล้านนาและเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑

    @เวียงโบราณพระธาตุภูขวาง ตั้งอยู่ที่บ้านพระธาตุภูขวาง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอเมือง ฯ ยังไม่มีการสำรวจ

    @เวียงโบราณที่บ้านดงอินตา(เวียงอ้อย)(เวียงห้าว) ตั้งอยู่ที่บ้านดงอินตา ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ มีคูคันดินล้อมรอบ พื้นที่เป็นรูปวงกลม มีประตูทั้งสี่ด้าน

    @ เวียงลอ ตั้งอยู่ที่บ้านลอ ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบมีผังเป็นรูปสี่หลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๕๖๐ เมตร ยาวประมาณ ๒๗๐ เมตร พบซากโบราณสถานประมาณ ๗๐ แห่ง
    บริเวณเวียง ปรากฎหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์คือ เครื่องมือหินกะเทาะ ตุ้มถ่วงแห แวดินเผา ภาชนะเนื้อดินธรรมดา ส่วนโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาแหล่งเตาพะเยา เครื่องถ้วยจีน และพระพุทธรูป

    @เวียงโบราณที่บ้านฝั่งหมิน ตั้งอยู่ที่บ้านฝั่งหมิน ตำบลห้วยข้าวก่ำ อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด

    @เวียงโบราณบ้านจุนหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านจุนหลวง ตำบลจุน อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเป็นรูปวงกลม ยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด

    @เวียงโบราณบ้านร่องคู ตั้งอยู่ที่บ้านร่องคู ตำบลจุน อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ อยู่ใกล้เวียงโบราณ บ้านจุนหลวง ยังไม่มีการสำรวจศึกษาอย่างละเอียด

    @เวียงโบราณบ้านร่องอ้อย ตั้งอยู่ที่บ้านร่องอ้อย ตำบลงิม อำเภอปง มีคูน้ำล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด

    @ เวียงโบราณบ้านดง ตั้งอยู่ที่บ้านดง ตำบลงิม อำเภอปง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด

    @เวียงโบราณวัดนั่งดิน ตั้งอยู่ที่บ้านพระนั่งดิน ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด

    @เวียงวุ่น ตั้งอยู่ที่บ้านวุ่น ตำบลทุ่งกล้วย กิ่งอำเภอภูซาง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเมืองคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก คูน้ำสองชั้น คันดินสามชั้น ล้อมเนินเขา สามเนิน พื้นที่เมืองแคบและยาว

    @เวียงโบราณบ้านร้องเชียงแร้ง (๒) ตั้งอยู่ที่บ้านร้องเชียง ตำบลเชียงแร้ง กิ่งอำเภอภูซาง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด

    @เวียงโบราณบ้านปางงัว ตั้งอยู่ที่บ้านปางงัว ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด

    @เวียงแก ตั้งอยู่ที่บ้านแกใหม่ ตำบลภูซาง กิ่งอำเภอภูซาง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมบน ด้านไม่เท่า คูน้ำคันดินด้านทิศเหนือ ยาวประมาณ ๕๕๐ เมตร ด้านทิศตะวันออกยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร ด้านทิศใต้ยาวประมาณ ๔๕๐ เมตร ด้านทิศตะวันตกติดกับเวียงแก ๒ ยาวประมาณ ๓๗๕ เมตร
    เวียงแก ๑ อยู่ทางทิศตะวันออกของเวียงแก ๒ มีคูเมืองด้านทิศตะวันตกของเวียงแก ๑ และคูเมืองด้านทิศตะวันออกของเวียงแก ๒ ติดต่อกัน แต่แยกออกจากกันไม่ได้ใช้คูเมืองร่วมกัน
    เวียงแก ๑ และเวียงแก ๒ มีลักษณะเป็นเมืองแฝด เวียงแก ๑ ตั้งอยู่บนเนินค่อนข้างสูง มีขนาดเล็ก ไม่พบซากโบราณสถาน พบโบราณวัตถุน้อยมาก มีเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๑
    เวียงแก ๒ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ กว้างประมาณ ๖๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๗๐๐ เมตร ด้านทิศเหนือมีลำน้ำเปือยไหลผ่าน และใช้เป็นส่วนหนึ่งของคูน้ำคันดิน พบซากโบราณสถานสองแห่งทางทิศเหนือ มีเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป พบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมากจากแหล่งเตาในล้านนา และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง

    @เวียงแจ๊ะ ตั้งอยู่ที่บ้านท่าตาด ตำบลศรีถ้วย อำเภอแม่ใจ เป็นเวียงที่พบใหม่ มีคูคันดิน มีซากเจดีย์ที่สร้างด้วยอิฐขนาดใหญ่
    เราต้องมาค้นคว้ากันต่อไปว่ากลุ่มคนที่อาศัยยังเวียงโบราณต่างๆเหล่านี้เป็นชาติพันธุ์ใด

    ที่มา:
     
  18. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    54E5AB81-246F-49FE-9D19-6214E04965E3.jpeg

    984C0045-CA00-4740-A5DF-4E46ADFA6BC8.jpeg

    8392DD9D-5F2A-4641-8FBE-6BC6822063DE.jpeg

    กำเนิด “กว๊านพะเยา” มาจาก “หนองเอี้ยง” แหล่งน้ำขนาดใหญ่อันดับสามของประเทศ

    คำว่า กว๊าน ในชื่อ หนองกว๊าน และ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา หมายถึง หนอง หรือ บึง ขนาดใหญ่ คำนี้มีใช้ในท้องถิ่นล้านนา เฉพาะที่ จังหวัดพะเยา แห่งเดียวเท่านั้น

    กว๊าน เป็นคำเพี้ยนเสียงของสำเนียงถิ่นล้านนา มาจากคำเดิมว่า กว้าน มีใช้ทั่วไปในกลุ่มตระกูลภาษาไทยลาว แปลว่า รวบรวม (จากที่ต่างๆ มาไว้จำนวนมากๆ), แล้วยังมีความหมายอื่นๆ อีก เช่น ศาลากลางบ้าน, หอประชุม, หอเทพารักษ์, ตำแหน่งขุนนางซึ่งมีหน้าที่ปกครองเรียกกวาน, ขุนกวาน

    กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา มีกำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2484 เมื่อสร้างประตูกั้นน้ำ

    ถ้าย้อนกลับไปก่อน พ.ศ. 2484 บริเวณนี้เป็นที่ลุ่มต่ำเรียกหนองในหุบเขาริมน้ำแม่อิง เช่น หนองเอี้ยง มีลำรางทางน้ำไหลหลายสายเชื่อมต่อถึงกัน (เพราะยังไม่มีประตูน้ำกั้นน้ำแม่อิง น้ำยังไม่ท่วมท้น จึงยังไม่มีสภาพเป็นกว๊านอย่างที่เห็นทุกวันนี้)

    ช่วงน้ำมาก มีเฉพาะฤดูฝน ครั้นถึงฤดูแล้งน้ำน้อย ก็แห้งแล้งทั่วไป คงมีน้ำขังตามบึงขนาดต่างๆ แล้วมีบวกหนองน้อยใหญ่หลายแห่งอยู่รอบๆ แต่หนองน้ำสำคัญเรียก หนองเอี้ยง

    หนองน้ำขนาดใหญ่ บางทีเรียก หนองกว๊าน เช่น ตำบลเวียง มีหนองกว๊านแบ่งเรียกเป็น 2 ตอน คือ กว๊านหลวง กับ กว๊านน้อย รอบๆ หนองกว๊านมีบวกหนองหลายแห่ง มีลำรางร่องน้ำเชื่อมถึงกันทั้งหมด แล้วเชื่อมกับน้ำแม่อิง

    กว๊านพะเยา เป็นแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สามของประเทศ รองจากหนองหาน จังหวัดสกลนคร และบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีเนื้อที่เฉลี่ย 17.55 ตารางกิโลเมตร หรือ 10,915 ไร่ มีปริมาตรกักเก็บเฉลี่ย 31.45 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน

    ที่มา: https://www.silpa-mag.com/history/article_39230


    4574D379-264B-481C-BB5D-0090BF0FF2F3.jpeg

    (ซ้าย) แผนที่แสดงบวกหนองที่สำรวจระหว่าง พ.ศ. 2462-2464 ก่อนเป็นกว๊านพะเยา จ. พะเยา (ขวา) แผนที่แสดงขอบเขตกว๊านพะเยาปัจจุบัน และเส้นทางแม่น้ำอิงไหลเข้า-ออกจากกว๊านพะเยา
     
  19. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    C8480DB3-0C8E-4193-9BAC-1B6FB5EB4188.jpeg
     
  20. NiponSuwan

    NiponSuwan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 กันยายน 2018
    โพสต์:
    444
    ค่าพลัง:
    +1,153
    AB3F5CEB-E78E-4511-899F-320C4D4810CE.jpeg
     

แชร์หน้านี้

Loading...