เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 7 พฤศจิกายน 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ เมื่อสักครู่นี้ได้ปิดรับสมัครนาคที่จะบวชฉลองงานหล่อพระพุทธรูปทองคำ ที่ได้มา ๑๐ ท่านด้วยกัน ตอนนี้อยู่วัดแล้ว ๘ ราย อีก ๒ รายเคยบวชแล้ว อนุญาตให้เข้าวัดอย่างช้าที่สุดวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นี้

    แต่คราวนี้การบวชในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นั้น ต้องขอดูอีกทีหนึ่งว่าเป็นเวลาไหน เพราะว่าวันที่ ๑๔ มีทั้งการบิณฑบาตประจำวันอาทิตย์ มีทั้งงานทำบุญถวายหลวงปู่สาย อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ถ้าหากว่ามากันครบแล้ว และสามารถขานนาคได้ อาจจะมีการขยับเวลาบวชให้เร็วขึ้น เป็นต้น

    ส่วนในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ก็ยิ่งยุ่งหนักเข้าไปอีก เนื่องเพราะว่าต้องมีการบวงสรวงเพื่อเตรียมการหล่อพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ทั้งเนื้อเงินและเนื้อทองคำ มีการบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ แล้วก็ยังมีการที่คณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิจะร่วมกันแจกข้าวสารอาหารแห้งให้กับประชาชน ซึ่งเรื่องพวกนี้ ถึงเวลาก็ต้องจัดสรรให้ลงตัวที่สุด เพื่อที่กิจกรรมต่าง ๆ จะได้ไม่สะดุด ไม่ใช่เรื่องที่พวกคุณจะต้องมาเครียดแทน แต่บอกให้รู้ว่ามีเรื่องอย่างนี้อยู่

    สำหรับช่วงค่ำนี้ ผมก็จะมีการประชุมสัมมนา ๓ งานด้วยกัน ตอนนี้ได้เปิดเครื่องให้ "รูปแทนตัว" ทำหน้าที่ไปงานหนึ่งแล้ว สามงานนี้มีต่อเนื่องมาจากช่วงบ่าย ก็คือการจัดงานเพื่อฉลอง ๑๑๘ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) อดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ช่วงบ่ายที่ผ่านมาเป็นการเสวนาด้วยภาษาบาลี ก็คือเลิกคุยภาษาไทยกัน

    กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกว่า ตัวกระผม/อาตมภาพเอง น่าจะฟังภาษาบาลีเข้าใจมากกว่าภาษาอังกฤษ ตอนสมัยที่ไปประเทศพม่า ท่านอาจารย์ใหญ่ยานิกะ ท่านพูดภาษาอังกฤษสำเนียงพม่า ซึ่งฟังยากมาก ไปใหม่ ๆ ผมฟังสำเนียงพม่าไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่พอท่านพูดบาลีมากลับฟังรู้เรื่อง ส่วนใหญ่ก็เลยคุยกันด้วยภาษาบาลี กระผม/อาตมภาพเองก็ยังงง ๆ ว่า ทำไมตนเองฟังภาษาบาลีเข้าใจมากกว่าภาาษาอังกฤษ ?

    ส่วนใหญ่แล้วคนไทยจะคุ้นเคยกับศัพท์บาลีสันสกฤตอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการที่จะพูดออกมาเป็นประโยคใช้งานในชีวิตประจำวัน ก็ต้องมีการเข้าวิภัตติซึ่งตรงนี้ก็เปรียบเหมือนกับ T Tense ของภาษาอังกฤษ แต่บาลีนั้นละเอียดอ่อนกว่า จึงมีผู้ที่สามารถใช้ภาษาบาลีในชีวิตประจำวันได้น้อยมาก
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    แต่ทางด้านประเทศพม่านั้น เรื่องของการศึกษาบาลีเขาเหนือกว่าประเทศเรามาก เริ่มต้นเลยก็ระดับชั้นธัมมะจริยะ ซึ่งมีอยู่ ๘ ประโยค จบมาเทียบเท่ากับประโยค ๙ ของประเทศไทย อย่างหลวงพ่ออุตตมะ หรือท่านอาจารย์เตชะ ท่านจบธัมมะจริยะมา ก็คือประโยค ๙ ของไทยนั่นเอง

    แต่พม่าไม่ได้หยุดแค่นั้น พอจบธัมมะจริยะแล้ว ยังเรียนบาลีปารคู เป็นการใช้ภาษาบาลีในชีวิตประจำวัน ก็คือพูดคุยกันตามปกติ คราวนี้บ้านเราไม่มีตรงนี้ ดังนั้น..วันนี้จึงไม่แปลกที่บรรดาวิทยากรคนไทยของเรา มีอยู่รายเดียวที่พูดโดยไม่ต้องมีโพย ซึ่งผมก็ยังไม่มั่นใจว่าเป็นท่านใด เพราะว่าใส่หน้ากากป้องกันเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ อยู่ นอกนั้นล้วนแล้วแต่ต้องอ่านโพยที่เตรียมมาทั้งนั้น

    ของพม่านั้น เมื่อใช้บาลีปารคูที่แปลตรง ๆ ว่า ผู้ถึงฝั่งแห่งบาลี ก็คือใช้ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สนทนากันทั่ว ๆ ไปได้ บ้านเราน่าจะมีอยู่ที่วัดจองคำ จังหวัดลำปาง เพราะว่าทางวัดจองคำ จังหวัดลำปางนั้น ใช้การศึกษาบาลีตามแบบของพม่า ก็คือท่องทุกคำที่ขวางหน้า ดังนั้น..ถ้าหากว่าใครจบบาลีจากสำนักวัดจองคำ ต้องถือว่าสุดยอดมาก

    บาลีไทยปัจจุบันนี้จุดเสียอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือมีการเก็งข้อสอบ ในเมื่อมีการเก็งข้อสอบ ผู้เรียนก็จะอ่านเฉพาะตรงที่คาดว่าจะออก ตรงที่ไม่ออกก็จะไม่เข้าใจ หรือไม่รู้เรื่องไปเลย แต่ถ้าหากว่าเรียนแบบพม่านี่ เขาท่องทุกตัวที่มีอยู่ ออกตรงไหนมาก็ทำได้ แล้วทุกปีเราก็จะเห็นว่า วัดจองคำจะมีผู้สอบผ่านประโยค ๙ เสมอ

    หลังจากบาลีปารคูแล้ว พม่าก็ยังไม่ได้หยุด ยังมีการสอบผู้ทรงพระไตรปิฎกต่อ ก็คือต้องท่องพระไตรปิฎกทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้ที่จบพระไตรปิฎกของพม่า สามารถท่องได้ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ได้ มีอยู่แค่ ๙ ท่านเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนใหญ่แล้วก็ยังอายุน้อยมาก

    กระผม/อาตมภาพเองโชคดีได้พบพระเถระของทางฝั่งพม่าที่คุ้นเคยสนิทสนมกัน ท่านจบพระไตรปิฎกรุ่นเก่า มีคำว่าตรีปิฏกบัณฑิตต่อท้าย ก็คือหลวงปู่ชฏิละ วัดชุยยีเซา ตอนนั้นท่านก็อายุ ๘๐ กว่าปีแล้ว ถ้าหากว่าเป็นรุ่นของหลวงปู่ชฏิละนั้น ถือว่าสุดยอดมาก เพราะว่าท่องรวดเดียว ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โดยที่เขาจะให้เวลา ๓๐ วันด้วยกัน

     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    พอถึงเวลาจะมีแท่นตั้งอยู่ ค่อนข้างจะสูง บนแท่นนั้นจะมีพระเถระที่จบประโยคสูง ๆ เป็นผู้คอยเปิดตำราทบทวน แล้วก็มีอุบาสก ๒ ราย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เรียนจบอย่างน้อยธัมมะจริยะ แล้วสึกหาลาเพศไป คอยเป็นคนดูแลรับใช้ ถ้าพระที่เข้าสอบต้องการจะไปห้องน้ำ สองรายนี้จะคุมไป ก็คือไม่มีโอกาสกระดิกตัวไปแอบอ่านตำราที่ไหนเลย พอถึงเวลาสองรายนี้ก็ประเคนอาหาร ประเคนน้ำ ถ้าหากว่าจะนอนก็นอนตรงนั้นแหละ ดูแล้วพระพม่าท่านกินง่ายอยู่ง่ายดี ถึงเวลาก็ขดตัว จีวรตีโปงหลับตรงนั้น ตื่นขึ้นมาก็ท่องต่อ

    เรื่องการสอบผู้ทรงพระไตรปิฎก ผมไปดูอยู่ ๕ ปีติดกัน แต่ละปีมีผู้เข้าสอบ ๓๐ - ๔๐ รูป ตกเรียบทั้ง ๕ ปี..! จนกระทั่งต้องมีการปรับใหม่ ก็คือให้ท่องเก็บได้ทีละปิฎก จะเริ่มจากปิฎกไหนก็ได้ จะเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก หรือว่าพระอภิธรรมปิฎก แล้วแต่คุณพอใจ ซึ่งตรงนี้ผมถือว่าด้อยลงมามาก สู้รุ่นก่อนที่ท่องรวดเดียวไม่ได้

    มีพระไทยอยู่รูปหนึ่ง ผมไม่ได้สอบถามชื่อฉายา อยู่สำนักมหากันตะยง สำนักเดียวกับท่านอาจารย์เตชะ หรือว่าท่านอาจารย์อังกุระ เก็บพระวินัยปิฎกไปแล้ว ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่เหลือก็ต้องพยายามตะเกียกตะกายต่อไป

    คำว่า มหากันตะยง นี่ออกเสียงตามแบบพม่า ถ้าเป็นภาษาไทยคือ มหาคันธารมณ์ แบบเดียวกับวัดป๊บปายม อันนั้นก็คือวัดบุปผารมณ์ ดังนั้น...วันนี้ที่ผมฟังบาลีสำเนียงพม่าค่อนข้างจะได้มาก ก็เพราะว่าเคยชินกับที่ท่านอาจารย์ใหญ่ยานิกะคุยภาษาบาลีกับผม แต่ถ้าหากว่าเป็นพระไทยพูดนี่สบายมาก เพราะว่าท่านพูดอะไรมาก็คือสำเนียงบาลีไทยอยู่แล้ว แต่ตัวของท่านปิยะมังคละนั้น ต้องบอกว่าพูดน้ำไหลไฟดับ เพราะท่านเคยชินกับบาลีปารคูมาก่อน

    ดังนั้น...ถ้าหากว่าเป็นเรื่องของการศึกษา ขอยกให้ว่า ถ้าการศึกษาในเรื่องของบาลีหรือว่าอภิธรรม ทางพม่าเหนือกว่าเรามาก ของเราจบประโยค ๙ แล้วไม่รู้จะทำอะไร สึกหาลาเพศไป ก็หวังจะเป็นแค่อนุศาสนาจารย์ในกองทัพบก เรือ อากาศ ซึ่งทางคณะสงฆ์ก็พยายามที่จะปรับจากวุฒิการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยคให้เทียบเท่าปริญญาเอก แต่ก็ยังไม่ผ่าน

    ปัจจุบันนี้ เปรียญธรรม ๙ ประโยคของทางคณะสงฆ์ไทย เขาอนุมัติให้แค่ปริญญาตรีเท่านั้น ซึ่งไม่มีปริญญาตรีหลักสูตรไหนในโลกที่เรียนนานขนาดนี้ เพราะว่าถ้าสอบได้โดยไม่ตกเลย ต่ำสุดต้องใช้เวลาถึง ๘ ปี..! ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ของเราก็คงต้องปรับว่า ทำอย่างไรที่จะให้ประโยค ๙ ของเราเรียนแล้วสามารถใช้งานได้จริง ไม่ต้องถึงระดับบาลีปารคูแบบของพม่า แต่ว่าให้เป็นที่ยอมรับในสังคมมากว่านี้ ไม่ใช่เป็นได้แค่อนุศาสนาจารย์ ไม่ใช่เป็นได้แค่อาจารย์ในวิทยาลัยสงฆ์
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    ผมเองมองแนวทางไว้หลายอย่างด้วยกัน แต่พระผู้ใหญ่ท่านบอกว่าเป็นการลดคุณค่าของบาลีลง ก็คือผมเสนอว่าให้เก็บการเรียนเป็นหน่วยกิต แบ่งการเรียนเป็น ๓ ระดับ ตรี โท เอก ก็คือตามเปรียญตรี โท เอก นั่นแหละ แต่ให้เก็บเป็นหน่วยกิต เรียนขึ้นหน้าอย่างเดียว ได้แล้วจบเลย คุณไปสนใจเฉพาะข้างหน้า จะได้ไม่ต้องหนักมาก ไม่เช่นนั้นแล้วปัจจุบันนี้ท่านที่จบประโยค ๙ ก็กลายเป็นผู้ที่แปลกแยกจากสังคม

    เหตุที่แปลกแยกจากสังคม ก็เพราะว่าแม้กระทั่งการตรวจให้คะแนนภาษาบาลี ก็ไม่เหมือนกับทั่วไปในโลก ก็คือถ้า "โดนเก็บ" ๑๒ แห่ง แปลว่าตก เราลองนึกดูกว่า ถ้าหากว่าข้อสอบเต็ม ๑๐๐ คะแนน โดนตัดไป ๑๒ คะแนน เหลือเท่าไร ? เหลือตั้ง ๘๘ คะแนน...ตก..! ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขาตรวจกันด้วยวิธีนี้ แต่บาลีเราใช้วิธีนี้มาตลอด แล้วพระมหาเถระหลายรูปใช้คำว่า "ศักดิ์สิทธิ์ดี"

    ดังนั้น...ถ้าหากว่าการเรียนบาลีสามารถที่จะเก็บหน่วยกิตได้ คนจะเรียนมากขึ้น เพราะว่าไม่ใช่ของยากแล้ว เรียนไล่ไปทีละระดับ เปรียญตรี เปรียญโท เปรียญเอก แล้วในระหว่างนั้นก็เรียนวิชาสามัญภาคบังคับของการอุดมศึกษาไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษาอะไรก็ตาม ถ้าอย่างนั้นก็สามารถทำให้ สกอ. ยอมรับได้ เพราะว่าเราเรียนรู้วิชาทางโลกควบเข้าไปด้วย ปัจจุบันนี้ที่เสนอไม่ผ่าน เพราะว่ารู้แต่บาลีอย่างเดียว ดังนั้น..ถ้าหากว่าจบประโยค ๙ แล้วเราเรียนทางโลกไปด้วย สามารถรับปริญญาเอกได้ เพราะว่าวิชาอื่นเราก็เรียนรู้และสามารถสอนได้

    อีกวิธีหนึ่งก็คือแยกบาลีออกไปเลย เป็นหนึ่งสาขาวิชา มีปริญญาตรี โท เอก เป็นความชำนาญเฉพาะทาง แบบเดียวกับภาษาละติน ถ้าลักษณะอย่างนั้นก็สามารถไปถึงปริญญาเอกได้ แต่คราวนี้ต้องบอกว่าเสียงผมเบาเกินไป เสนอไปแล้วผู้ใหญ่บอกว่าทำให้บาลีหมดความศักดิ์สิทธิ์ ท่านก็คงเห็นว่าบรรดาจบประโยค ๙ แล้วเป็นผู้แปลกแยกในสังคมดูศักดิ์สิทธิ์ดี ตรงนี้ก็ต้องรอ รอการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคาดว่าไม่นาน

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็ต้องใช้คำว่า Disruption ของภาษาอังกฤษ โดนสถานการณ์บังคับให้เป็นไปเอง ไม่อย่างนั้นคุณจบมาก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่าถ้าเข้าอนุศาสนาจารย์ไม่ได้ เข้าเป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยสงฆ์ไม่ได้ ก็เป็นอันว่าหมดอนาคต แล้ววิทยาลัยสงฆ์ที่เปรียญธรรม ๙ ประโยคจะสอนได้ ก็มีสาขาเดียวคือพุทธศาสนา สาขาอื่นเขาถือว่าคุณจบมาไม่ตรง
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    วันนี้ที่มากล่าวเรื่องนี้ ก็เพราะว่าตอนที่ร่วมเสวนาด้วย เห็นว่าเราน่าที่จะปรับปรุงการเรียนบาลีของเรา ให้คนสนใจเรียนมากขึ้นอย่างหนึ่ง แล้วก็ให้สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้แบบพม่าอย่างหนึ่ง ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องของคนทั่วไปใช้ได้ อย่างน้อย ๆ ก็ให้มีคนสักกลุ่มหนึ่ง สัก ๑๐๐ คน ๒๐๐ คนก็ได้ ที่สามารถสื่อสารภาษาบาลีในชีวิตปกติ เหมือนกับที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ท่านทั้งหลายเหล่านี้ พอถึงเวลาก็จะต้องเป็นผู้ที่รับภาระในการเสวนากับชนชาติอื่นด้วยภาษาบาลี

    ถ้าหากว่าเราสังเกต สมัยอยุธยานั้น ทางด้านศรีลังกา พระพุทธศาสนาเกือบจะสูญสิ้น เหลือแต่สามเณรรายเดียว คือสามเณรสรณังกร เพราะว่าศรีลังกาโดนฮอลแลนด์ โปรตุเกส อังกฤษ ผลัดกันยึดครองเป็นระยะเวลายาวนานหลายร้อยปี แล้วก็ใช้วิธีกดขี่บังคับ ก็คือถ้าใครไม่นับถือศาสนาคริสต์ ไม่ให้ทำงาน ก็เลยทำให้พระภิกษุสามเณรไม่มีใครให้การอุปถัมภ์ค้ำจุน จึงหมดสิ้นไปเรื่อย

    สามเณรสรณังกรบวชสามเณรอยู่ ๔๐ ปี ไม่มีพระครบ ๕ รูปที่จะมาบวชเป็นพระให้ เพราะว่าต่ำสุดของการบวชในปัจจันตประเทศ ต้องเป็นปัญจวรรค คือมีคณะสงฆ์ในการบวชอย่างน้อย ๕ รูป ทางด้านกษัตริย์ลังกา เมื่อได้รับคำร้องทุกข์จากสามเณรสรณังกร ก็มีพระราชสาส์นไปถึงประเทศพม่า ขอคณะสงฆ์เพื่อไปสืบศาสนาที่ประเทศศรีลังกา ปรากฏว่าพม่าตอนนั้นก็ยุ่ง ๆ เพราะว่าโดนอังกฤษยึดอยู่เหมือนกัน ไม่มีใครใส่ใจ จึงขอมาทางกรุงศรีอยุธยา

    พระเจ้าทรงธรรมได้ส่งพระอริยมุนีกับพระอุบาลีและคณะไปสืบพระศาสนา บวชกุลบุตรครั้งแรก ๗๐๐ รูปด้วยกัน แล้วสามเณรสรณังกรที่เป็นเณรโคร่ง ๔๐ พรรษา..! ปกติสามเณรเขาไม่นับพรรษาให้ ถือว่าอาวุโสที่สุดในพระชุดที่บวชใหม่ พระเจ้าปรากรมพาหุทรงถวายตำแหน่งให้เป็นพระสังฆราชไปเลย ต้องบอกว่าเป็นพระสังฆราชที่พรรษาน้อยที่สุดในโลก..!

    พระอริยมุนีกลับมาเปลี่ยนสมณทูตชุดใหม่ไป แต่พระอุบาลีเถระอยู่จนมรณภาพที่นั่น ดังนั้น...การที่ประเทศไทยส่งพระสงฆ์ไปสืบศาสนา ทางด้านลังกาจึงเรียกว่าสยามวงศ์ หรือปัจจุบันนี้เรียกว่าสยาโมปาลีวงศ์ ก็คือสยามอุบาลีวงศ์ แต่คราวนี้แปลง อะ ของสยามะ กับอุของอุบาลี แปลงอะกับอุเป็นโอ จึงเป็นสยาโมปาลีวงศ์
     
  7. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,396
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,532
    ค่าพลัง:
    +26,369
    พอมาถึงรัชกาลที่ ๔ ไทยเราขอพระทางลังกามาช่วยปรับปรุงการพระศาสนาของทางบ้านเรา ว่าลังกามีอะไรที่เคร่งครัด เข้มแข็ง ก็นำมาเสนอได้ ก็เลยกลายเป็นลังกาวงศ์ในบ้านเรา ดังนั้น...ขอให้เราเข้าใจว่า ถ้าเรียกว่าลังกาวงศ์ก็คือพระสงฆ์จากทางด้านศรีลังกาเข้ามาช่วยกิจการศาสนาในบ้านเรา แต่ถ้าเรียกสยามวงศ์ ก็คือพระสงฆ์จากประเทศไทยไปสืบศาสนาให้ทางด้านศรีลังกาเขา

    คราวนี้ที่เล่ามายืดยาวก็เพราะต้องการจะบอกพวกเราว่า สมัยนั้นเขาติดต่อพูดคุยกันด้วยภาษาบาลีและอักษรบาลี ซึ่งอักษรบาลีนั้นคือบาลีโรมัน เพราะว่าอักษรโรมันเวลาเขียนแล้วสามารถออกเสียงได้ทุกชาติทุกภาษา แต่ถ้าหากว่าใครเรียนแล้วก็มักจะประสาทกลับ เพราะว่าเราไปเคยชินกับอักขระภาษาอังกฤษ อย่างเช่นคำว่า สัจจะ บาลีโรมันเขียน sacca เราจะไปอ่านว่า สัคคะ แต่บาลีโรมันอ่านว่าสัจจะตรง ๆ ถ้าเขียนเป็นบาลีโรมัน ชาติไหนที่ศึกษาก็สามารถออกเสียงตรงกันได้หมด

    ดังนั้น..จะเห็นว่าบาลีนั้นมีคุณค่ามหาศาล โดยเฉพาะการเป็นภาษาที่รักษาพระไตรปิฎก แต่มาถึงปัจจุบันนั้น บ้านเรานั้นคนที่มีความขยันและอดทนเพียงพอที่จะศึกษาให้เข้าถึงจริง ๆ มีน้อย อย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยบอกว่า จบด็อกเตอร์อย่างอาตมภาพนี้ ถ้าเรียนจบประโยค ๙ ใช้เวลาที่พากเพียรกับการเรียนบาลีจนจบประโยค ๙ มาเรียนปริญญาเอก จะจบได้อย่างน้อย ๓ ใบ..!

    แล้ววันนี้ที่บอกกล่าวให้กับพวกเราก็เพื่อที่จะเปิดโลกทัศน์ ใครที่สนใจจะศึกษาบาลีเพิ่มเติม พี่น้องเพื่อนฝูงของเราที่สหบาลีศึกษา นครปฐมยังมีอยู่ แจ้งความประสงค์กับผมแล้วก็ไปศึกษาเล่าเรียนได้

    ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา ตลอดจนกระทั่งบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...