เรื่องเด่น ลมหายใจเข้าออกเป็นทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 2 ธันวาคม 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,511
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,535
    ค่าพลัง:
    +26,372
    CB7814A2-7E69-4FC4-92B8-97BB91C9F6AE.jpeg

    การปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสร้างสติให้เกิดแก่เรา เมื่อมีสติแล้วก็ต้องมีสมาธิรองรับด้วย

    การสร้างสตินั้นก็คือ สติที่ไปในกาย ได้แก่ ลมหายใจเข้าออกอย่างหนึ่ง การพิจารณาร่างกายอย่างหนึ่ง ลมหายใจเข้าออกนั้นเป็นทั้งสมถกรรมฐาน คือการทำให้จิตใจของเราสงบระงับจาก รัก โลภ โกรธ หลง

    ขณะเดียวกันถ้าพิจารณาเป็น เห็นความเกิดดับของลมหายใจเป็นปกติ อย่างเช่นว่า หายใจเข้า...พอสุดก็ดับไปแล้ว หายใจออก...พอสุดก็ดับไปแล้ว มีความไม่เที่ยงเป็นปกติเช่นนี้ แม้แต่การที่ต้องทนหายใจอยู่ก็เป็นความทุกข์ ถ้าเราเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ เพราะความไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ของลมหายใจเข้าออก ก็จะเป็นวิปัสสนากรรมฐาน

    ส่วนการที่เรามีสติไปในกาย คือ พิจารณาเห็นร่างกายของเราว่า ไม่ใช่แท่งทึบ ประกอบไปด้วยอวัยวะภายใน ภายนอก น้อยใหญ่ ที่เรียกว่าอาการ ๓๒ ซึ่งเป็นทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเช่นกัน ในส่วนของสมถกรรมฐานก็คือ การที่เรากำหนดคำภาวนาว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น

    แต่ถ้าเราพินิจพิจารณาว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทั้งหลายเหล่านี้ มีความสกปรกโสโครกเป็นปกติ ไม่ชำระสะสางแค่วันสองวันเราก็ทนไม่ได้ มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ ผมก็หงอก ก็ขาว ก็หลุดร่วงไปได้ ขนในร่างกายก็หงอก ก็ขาว ก็หลุดร่วงไปได้ เล็บของเราก็งอกยาวออกมาเรื่อย ๆ ฟันของเราก็หลุดก็ร่วง หนังของเราก็เหี่ยวก็ย่นลงไปได้ทุกวัน ถ้าหากว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งแปรปรวน แล้วเราไปยึดถือมั่นหมายว่าต้องไม่เปลี่ยนแปลง เราก็มีแต่ความทุกข์ใจ เพราะว่าไม่มีอะไรที่เราจะบังคับบัญชาได้ เรียกว่า อนัตตา ถ้าหากว่าในส่วนนี้จัดเป็นวิปัสสนาญาณ

    สมถกรรมฐานสร้างสติสมาธิให้เกิดขึ้น เมื่อมีสติรู้เท่าทัน ราคะ โทสะ โมหะ ก็ไม่เกิดขึ้นกับเรา หรือว่าถึงเกิดขึ้น ก็อาศัยอำนาจของสมาธิ ระงับยับยั้งเอาไว้ได้

    ถ้าลักษณะเบื้องต้นเช่นนี้ ก็แปลว่าเราเองนั้นพยายามปิดหนทางสู่อบายภูมิ หรือว่าพยายามระงับหนทางไปสู่อบายภูมิของเรา เพราะว่าราคะ คือความรักหรือโลภนั้น ถ้าไม่มีสิ่งอื่นมาแทรกมาปน ก็จะทำให้เราเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ถ้าโทสะนั้นพาเราลงไปเป็นสัตว์นรกเลย ส่วนของโมหะนั้นพาไปสู่เดรัจฉานภูมิ เป็นต้น

    ถ้าเรายังไม่สามารถที่จะระงับยับยั้งได้อย่างแน่นอน ก็จำเป็นที่จะต้องเลี้ยวไปหาอารมณ์พระอริยเจ้า ก็คืออารมณ์ของพระโสดาบัน ที่ปิดอบายภูมิได้อย่างแน่นอน เราต้องทบทวนศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล

    มีความเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างจริงใจ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แล้วยังต้องมีปัญญาประกอบ คือ เห็นว่าร่างกายนี้ก้าวเข้าไปหาความเสื่อม ก้าวเข้าไปหาความตายอยู่ตลอดเวลา ขึ้นชื่อว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นแน่แท้ แต่ถ้าตายแล้วการเกิดมามีร่างกายที่เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เต็มไปด้วยความทุกข์ หาอะไรที่เราบังคับบัญชาให้เที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้สักอย่างนั้น จะไม่มีสำหรับเราอีก เราต้องการความหลุดพ้นจากกองทุกข์ คือพระนิพพานเท่านั้น

    ถ้าสามารถกำหนดใจของเรา ให้ยกขึ้นสู่อารมณ์เช่นนี้ได้อย่างเที่ยงแท้มั่นคง ท่านก็จะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบันที่ปิดอบายภูมิ ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ทนทุกข์ยากแค่ ๗ ครั้งหรือ ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นก็จะก้าวล่วงจากความทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน

    เพราะฉะนั้น...ทุกท่านเมื่อพินิจพิจารณามาถึงจุดนี้ ให้ประคับประคองรักษาอารมณ์เช่นนี้เอาไว้ ถ้ายังมีลมหายใจเข้าออก ก็ตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกไป ถ้าลมหายใจเบาลงหรือว่าหายไป คำภาวนาหายไป ก็ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจเบาลง ลมหายใจหายไป คำภาวนาหายไป
    อย่าไปดิ้นรนให้พ้นจากสภาพนั้น และอย่าอยากให้เข้าถึงสภาพนั้น เรามีหน้าที่กำหนดดูกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ส่วนอื่นปล่อยให้เป็นไปตามสภาวธรรม
    ...................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 6565898.JPG
      6565898.JPG
      ขนาดไฟล์:
      72.3 KB
      เปิดดู:
      289
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...