เรื่องเด่น ย้อนรอยความทรงจำสุดมหัศจรรย์ เมื่อครั้งเผาพระอาจารย์ปาล

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 23 มีนาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    e0b8a2e0b884e0b8a7e0b8b2e0b8a1e0b897e0b8a3e0b887e0b888e0b8b3e0b8aae0b8b8e0b894e0b8a1e0b8abe0b8b1.jpg

    พ่อครูเปลี่ยน หัทยานนท์ เคยเล่าให้ผมฟังว่า สภาพความเป็นอยู่ของ อ.ปาล ปาลธัมโม ในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านนั้น ไม่ได้มีความสะดวกสบายในเรื่องสภาพความเป็นอยู่เหมือนตามปรกติวิสัยของพระสงฆ์ทั่วไป คือไม่ได้มีกุฏิใหญ่โต โอ่อ่า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เลย

    เพราะท่านไม่สนใจสิ่งเหล่านั้นแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นที่วัดเขาอ้อ ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ท่านก็ไม่เคยสนใจจะสร้างถาวรวัตถุใดๆ ปล่อยให้เป็นป่า มีต้นไม้ขึ้นรกครึ้ม วัดเขาอ้อในสมัยนั้น มีลำคลองไหลผ่านวัด ชาวบ้านเรียกคลองน้ำขุ่น เป็นสายน้ำกว้าง พื้นที่วัดมีเพียงนิดเดียวตรงเชิงเขา เพิ่งมีการมาพัฒนาและเปลี่ยนเส้นทางน้ำใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้วัดเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้

    จุดที่สายน้ำคลองแดงขุ่นไหลผ่าน ปัจจุบันนี้คือบริเวณที่เป็นศาลาโรงธรรมและพื้นที่อื่นๆ ที่มีการถมดินขยายเป็นลานวัดขึ้นมา สมัยก่อนมีเพียงดินตรงเชิงเขาที่เต็มไปด้วยต้นไม้และพวกพราหมณ์ก็ใช้พื้นที่ในถ้ำฉัททันต์ในการบำเพ็ญเพียร ทำศาสนกิจต่างๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกุฏิเรือนไทยหลังเดียวเชิงเขาสร้างในสมัยพระอาจารย์ทองเฒ่า

    ส่วนตัวท่านเองส่วนมากจะใช้เวลาอยู่ในถ้ำฉัททันต์บรรพต จำวัด(นอน)ในถ้ำมากกว่าจะอยู่ที่กุฏิไม้เรือนไทยหลังใหญ่ที่หน้าถ้ำ แม้ว่าภายในถ้ำจะมืด มีเพียงแสงเทียนที่ท่านจุดไว้และคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นของขี้ค้างคาว แต่ท่านก็มักจะชอบอยู่ในถ้ำมากกว่า ซึ่งไม่ต่างจากวิถีดั้งเดิมแต่ครั้งโบราณกาลนานมาของบรรดาบูรพาจารย์ของสำนักตักศิลาเขาอ้อที่มักใช้เวลาส่วนใหญ่บำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ภายในถ้ำฉัททันต์บรรพตแห่งนี้


    เมื่อท่านถูกนำตัวมาพักรักษาอาการอาพาธอยู่ที่วัดดอนศาลา จนมีสุขภาพแข็งแรงดี แต่ท่านก็ยังเหมือนเดิมคือ ดำรงตนอย่างสมถะไม่สะสมอะไรเลย อ.เปลี่ยน เคยถามพระอาจารย์ปาลว่า อาจารย์ไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียวเลยหรือ และที่หลับที่นอนก็ลำบาก อัตคัต แล้วอาจารย์เป็นอย่างไรบ้าง พระอาจารย์ปาลหัวเราะเบาๆ แล้วบอกว่า “เอ๊ะ…ไม่เป็นไร คอยดูเอาเถอะเงินเยอะแยะ เวลากูตาย ช้างก็จะมา”

    ซึ่งความจริงในข้อนี้ก็ปรากฏให้เห็น หลังจากที่พระอาจารย์ปาลมรณภาพ เงินทองที่บรรดาลูกศิษย์ที่ทราบข่าวการมรณภาพของพระอาจารย์ปาลในปี ๒๕๒๑ นำมาร่วมทำบุญที่วัดเขาอ้อมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๗-๘ แสนบาท มีขบวนช้างมาไม่ต่ำกว่า ๗-๘ เชือก ที่บรรดาลูกศิษย์ใช้บรรทุกข้าวสาร, ผัก, หมู ข้าวของเครื่องใช้มาร่วมอาหารเลี้ยงบรรดาพี่น้องประชาชนและลูกศิษย์ทั้งหลายซึ่งเดินทางมาร่วมงานศพอาจารย์กันเนืองแน่นจากทั่วทุกสารทิศ

    ทั้งที่ในยุคสมัยนั้นการติดต่อสื่อสารก็ไม่ใช่ว่าจะสะดวกรวดเร็วเหมือนในสมัยปัจจุบัน แต่ลูกศิษย์ของพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม ก็ทราบข่าวกันอย่างรวดเร็วทั่วถึง บ้างก็ว่าอาจารย์ปาลไปเข้าฝัน ไปดลใจหรือบางคนก็เกิดสังหรณ์ใจคิดถึงอาจารย์ขึ้นมาก็ติดตามข่าวจากปากต่อปาก ข่าวเศร้าเรื่องการมรณภาพของปรมาจารย์แห่งสำนักก็เข้าหู ต่างคนต่างก็รีบรุดเดินทางมาสำนักตักศิลามหาเวทที่ตนเคยมาร่ำเรียนสรรพวิชาอาคม

    “ช้างลูกศิษย์อาจารย์บรรทุกข้าวสารมา บรรทุกหมูมา บรรทุกผักมา มาช่วยงาน เขามางานอาจารย์เขาอ้อกันเยอะแยะเงินได้สมัยนั้น ทั้งที่ก่อนหน้านั้นที่วัดก็ไม่ได้มีเงิน ปรากฏว่ามีเงินตั้ง ๗-๘ แสนบาท ถือว่าเยอะมากนะในสมัยนั้น ๒๕๒๑ สมัยนั้นเงินทองก็หายากนะ เพราะเหมือนกับที่แกบอกเอาไว้ไงล่ะว่า เงินลุย(เยอะ)”
    งานศพของพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม เจ้าอาวาสวัดเขาอ้อ ถือเป็นข่าวใหญ่ข่าวดังระดับจังหวัด ระดับภาค เพราะว่าชื่อเสียงของท่าน ชื่อเสียงของสำนักเขาอ้อเป็นที่เลื่องลืออยู่แล้ว จึงมีการจัดเตรียมงานพระราชทานเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติท่านเจ้าสำนักผู้ได้รับการสืบทอดสรรพวิชามาจาก พระอาจารย์ทองเฒ่า ปรมาจารย์แห่งสำนักโดยตรง

    ทางวัดมีการจัดสร้างโกศบรรจุสรีรสังขารของท่าน และจัดวางท่านในท่านั่งสมาธิ แต่ก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่าพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม ท่านมรณภาพในอิริยาบถใด แต่การดับขันธ์ละสังขารในท่านั่งสมาธิ ถือว่าเป็นสิ่งที่ทางคณะพราหมณ์ผู้เรืองเวทสายเขาอ้อและพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมักจะยึดปฏิบัติ
    อย่างที่เคยเล่าว่า ในพัทลุงสมัยโบราณเมื่อพราหมณ์คนหนึ่งคนใดตาย การบรรจุโลงต้องทำเป็นรูปโกศรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยอดแหลมพอให้ผู้ตายนั่งได้ และก่อนบรรจุศพต้องอาบน้ำให้สะอาด จัดท่าให้ศพนั่งท่าสมาธิ แล้วบรรจุเข้าในโกศให้หันหน้าไปทางทิศอีสานจากนั้นก็จะทำพิธีฝังต้องไปทางทิศอีสาน เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วพวกพราหมณ์ทั้งหมดจะกลับไปบ้านเจ้าภาพ แล้วรับประทานข้าวต้มบนครก เป็นอันเสร็จพิธีศพ

    แต่ในเมื่อพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม เป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่มีคำสอนเรื่องการไม่ยึดมั่นในกายสังขาร จึงต้องมีงานประชุมเพลิงเผา แต่ในเมื่อสำนักเขาอ้อ เป็นสำนักวิชาที่ก่อตั้งจากคณะบูรพาจารย์พราหมณ์เป็นองค์ปฐม การจัดงานศพท่านเจ้าอาวาสจึงจัดสร้างเป็นเมรุลอยกลางลานวัดและบรรจุสรีรสังขารท่านในโกศดุจเดียวกับพราหมณ์ แต่ที่น่าศึกษาค้นคว้าให้ลึกลงไปคือ ในพิธีกรรมงานศพของพระอาจารย์ทองเฒ่า หรือพระครูสังฆพิจารย์ฉัททันต์บรรพต นั้นมีการจัดงานอย่างไร ?

    ในส่วนของงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม นั้น อ.เปลี่ยน หัทยานนท์ บอกว่า มีผู้คนหลั่งไหลมามากมาย รวมไปถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และลูกศิษย์ผู้มีชื่อเสียงอย่าง ท่านอาจารย์ขุนพันธรักษ์ราชเดชก็เดินทางมาร่วมงานศพด้วย

    แต่เหตุการณ์สำคัญที่สุดในวันเผาศพพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม คือ ร่างของท่านเผาไม่ไหม้ ซึ่งภาษาปักษ์ใต้เรียกกันว่า “เผาไม่กิน” คือ ไฟไม่สามารถทำอะไรร่างของท่านได้เลยแม้แต่น้อย แม้ว่าบรรดาลูกศิษย์ผู้เรืองเวททั้งหลาย ทั้งขุนพันธรักษ์ราชเดชและคนอื่นๆ ที่รู้เคล็ดวิชาไสยศาสตร์เชี่ยวชาญช่ำชองทั้งหมด ต่างช่วยกันทุกวิถีทาง จุดไฟครั้งแล้วครั้งเล่า ราดน้ำมันเติมเพิ่มเข้าไปสุมฟืนเร่งฟอนไฟให้ลุกโหม

    แต่กายสังขารของพระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม ก็ยังเหมือนเดิมคือ อยู่ในท่านั่งสมาธิ….เผาไม่กิน !!

    “เขาเอาร่างอาจารย์ใส่โกศ แต่ไฟไหม้โกศหมดแล้ว เหลือแต่ร่างอาจารย์นั่งสมาธิอยู่บนเชิงตะกอน ในวันนั้นผมก็อยู่ในงานเผาศพอาจารย์ด้วย แต่ปรากฏว่า พี่ของแม่พลอย(ภรรยาของ อ.เปลี่ยน) บอกให้ไปเป็นเถ้าแก่สู่ขอเจ้าสาวให้หลานชาย เวลานั้นประมาณบ่ายสี่โมงกว่าๆ เดินออกจากบริเวณงานศพที่วัดเขาอ้อ เดินมาทางด้านตะวันตกของวัด เดินเลาะริมเขามาจะไปบ้านที่ดอนศาลา ปรากฏว่าเกิดไปสะดุดแง่งหินเอาจนหน้าคะมำ นึกขึ้นได้ว่า อาจารย์ท่านเคยสั่งเอาไว้จะต้องทำอย่างไรให้สามารถเผาร่างของท่านได้ เพราะท่านเคยสั่งเอาไว้นานมาแล้ว จึงหันไปบอกกับคนที่เดินมาด้วยคือ นายพ่วง ว่าอาจารย์เคยบอกว่า ถ้าจะเผาท่าน ท่านขอให้เอา—ถวายให้ท่านด้วย เมื่อนึกขึ้นได้ จึงเดินย้อนกลับไปที่ร้านค้าหน้าวัด ไปสั่งเณรทิม (ภาษาใต้เรียกเณรทิม หมายถึงคนที่เคยบวชเรียนมาแล้ว แต่อาวุโสน้อยกว่าผู้เรียก) เณรทิมถามว่า เอาไปทำไม จึงบอกว่าเอาไปให้อาจารย์ เณรทิมบอกว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร นายทั้งนั้นนั่งอยู่ (นาย ในภาษาใต้ หมายถึง ผู้หลักผู้ใหญ่ เจ้านาย ข้าราชการ)”

    อ.เปลี่ยน เลยออกอุบายว่า ให้เอาน้ำโอเลี้ยงเทใส่ลงไปในขวดให้สีมันเปลี่ยนไป จะได้ไม่เป็นที่ผิดสังเกต เมื่อผสมกันเสร็จแล้วก็ถือขวดเข้าไปในวัด จึงไปสะกิดพระครูกาชาดบุญทอง เจ้าอาวาสวัดดอนศาลา ที่อยู่ที่เมรุ ตรงนั้น มีอาจารย์ขุนพันธรักษ์ราชเดชยืนอยู่ใกล้กับผู้กำกับการตำรวจคือ ผู้กำกับผาด จ่าเกื้อม และใครต่อใครอีกหลายคน เพราะเป็นงานพระราชทานเพลิงศพ ไปสะกิดอาจารย์พระครูกาชาดบุญทองกับท่านเจ้าคุณประสาท

    “ผมไปสะกิดแล้ว ไม่พูดอะไร ชี้มาที่เอว ซึ่งเอาขวด—พกไว้มีชายเสื้อปิดอยู่ พระครูกาชาดเลยบอกว่าให้เข้าไปยืนแทรกข้างๆ ระหว่างท่านกับท่านเจ้าคุณประสาท พอเข้าไปถึงใกล้ก็ควักขวดออกมาเปิดฝาเทใส่เลย ปรากฏว่า ไฟลุกโชนขนานใหญ่เลย ทีเดียวไหม้หมดร่างเลย เหลือแต่เถ้าถ่าน เหลือเพียงกะโหลกในส่วนกระหม่อมศีรษะ ซึ่งอาจารย์เคยสั่งเอาไว้ว่าจะให้ผมเก็บไว้ แต่ปรากฏว่า หลังจุดไฟแล้ว ผมต้องรีบออกจากวัดไปขอสาวให้หลานชายที่ต่างอำเภอ เลยไม่ได้อยู่ตลอดงาน กลับมาไม่ทันท่านพระครูกาชาด ท่านเป็นผู้ที่ประกอบพิธีดับธาตุเก็บอัฐิ ปรากฏว่ากะโหลกในส่วนกระหม่อมไม่ไหม้ไฟยังเหลืออยู่เกือบเต็ม แต่พระครูกาชาด ท่านเอาของแข็งทุบจะให้แตก แต่ทุบเท่าไรก็ไม่แตก ปรากฏว่าเณรทิม เจ้าของร้านค้าหน้าวัด ยกมือไหว้ว่า อาจารย์ให้ผมนะ ผมขอ ท่านพระครูกาชาดเลยให้ไป เลยอยู่ในความครอบครองของบ้านเณรทิม และหลังจากเณรทิมและเมียเสียชีวิตไปแล้ว ทุกวันนี้ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนแล้ว ตามสืบไม่ได้ เคยพยายามไปขอจากเณรทิมกับเมีย เขาไม่ให้จนเขาตายไปหมดแล้วก็เลยไม่รู้ว่าอยู่ไหน เพราะเขาก็เคารพนับถืออาจารย์เช่นกัน”

    แต่ถามว่า เพราะเหตุใด?
    พระเกจิหรือแม้แต่ปรมาจารย์เขาอ้อ ถึงเผาไฟไม่ไหม้
    พ่อครูเปลี่ยนบอก ก็ตอบไม่ได้ อาจจะเพราะความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ของท่านหรือเพราะเหตุใด?
    ก็ยากจะกล่าวสรุปลงไปง่ายๆ
    เอาเป็นว่า มันเป็นเหตุปัจจัตตัง
    ที่ต้องรับรู้กันเอาเอง—คิดกันเอาเอง!!!

    ขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วน
    จาก คุณตูน, คุณเอ๋ มนต์พระเวทย์


    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.komchadluek.net/news/knowledge/366580
     

แชร์หน้านี้

Loading...