เรื่องเด่น “พระต้นแบบนักพัฒนา” ช่วยคน-สอนเด็ก-งานบุญ-งานศพฟรี!

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 16 พฤศจิกายน 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,592
    0b989e0b899e0b981e0b89ae0b89ae0b899e0b8b1e0b881e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b2-e0b88ae0b988e0b8a7.jpg

    “ไม่เรี่ยไรตั้งตู้บริจาค-ศพไร้บ้านเผาให้ฟรี-งานบวชไม่คิดค่าใช้จ่าย” พระต้นแบบนักพัฒนา พกศรัทธาช่วยเหลือชาวบ้านยากไร้ ทั้งยังเป็นพระสงฆ์รูปแรกของไทยที่เปิดวิทยาลัยอาชีวศึกษา สอนหนังสือเด็กยากจนเพื่อสร้างอาชีพ จนรับรางวัล ‘คนดี แทนคุณแผ่นดิน’ ปี 2561 ‘พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร’ เจ้าอาวาสวัดดงละคร จ.นครนายก

    ‘คุณธรรม’ สำคัญกว่า ‘เงินตรา’

    “ประกาศ วัดดงละคร ศพไม่มีญาติ ทำพิธีเผาให้ฟรี คนอยากบวช แต่ยากจนไม่มีเงิน บวชให้ฟรี”

    ข้อความประกาศจากวัดดงละคร จ.นครนายก เปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อผู้ยากไร้ มองดูภายนอกแม้วัดแห่งนี้จะดูเป็นวัดที่ไม่สวยงามโอ่อ่าเช่นวัดทั่วไป แต่ที่นี่กลับเต็มไปด้วยศรัทธาอย่างล้นเหลือ จากความมุ่งมั่นของเจ้าอาวาสวัดดงละคร จ.นครนายก ‘พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร’ ด้วยอายุเพียง28 ปีเท่านั้น

    “ตอนที่เข้ามาอยู่วันแรกๆ ไม่ถึงอาทิตย์ก็มีงานศพเข้ามา เราเห็นว่าแม้แต่เงินที่ซื้อโลงศพ ยังไม่มีเลย ด้วยความที่เรายังอายุน้อย อาจไม่ได้ใกล้ชิดกับการจัดงานศพว่าจะต้องใช้เงินมากมายเท่าไหร่ แต่พอได้มาเห็นว่าคนที่เขาไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อโลงศพ เราเกิดความสงสารก่อน ถ้าพูดตรงๆ ทุกโครงการที่เกิดขึ้นมาก็เกิดมาจากความสงสารก่อน

    เห็นความทุกข์ของชาวบ้านมาก่อน เราเลยตั้งคำถามว่าวัดสามารถช่วยอะไรได้บ้าง ในเมื่อศรัทธาของโยมมีจริง เราก็ได้สร้างเมรุขึ้นจากปัจจัยจากญาติโยมที่เขานำมามอบให้ พอมาวันนี้เรามาคิดว่าทำไมเราไม่ช่วยดูแลในส่วนของญาติโยมที่ไม่มีเงินจริงๆ

    ซึ่งตอนนั้นชาวบ้านก็บอกว่าทำไม่ได้หรอก แล้ววัดจะเอาค่าใช้จ่ายตรงไหนไปทะนุบำรุงวัด เราเลยบอกไปว่า ถ้าเรามีวัดสวยๆ แต่ชาวบ้านไม่สามารถใช้ได้ เราจะมีวัดไปทำไม จากนั้นก็ตั้งใจทำมาตั้งแต่วันนั้นเลย
    989e0b899e0b981e0b89ae0b89ae0b899e0b8b1e0b881e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b2-e0b88ae0b988e0b8a7-1.jpg
    989e0b899e0b981e0b89ae0b89ae0b899e0b8b1e0b881e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b2-e0b88ae0b988e0b8a7-2.jpg

    ถ้ามีศพไร้ญาติหรือคนที่ยากจน เรายินดีช่วยให้ฟรี ส่วนศพทั่วไปที่มีญาติ เราก็ไม่เก็บค่าใช้จ่าย ให้แล้วแต่เขาจะถวาย เราจะต้องห้ามเรียกค่าใช้จ่าย ส่วนการบวช ถ้าใครตั้งใจบวช เราจะบวชให้ แต่ก่อนที่จะบวชต้องเข้ามาอยู่วัดก่อน 15 วัน ว่าจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในแบบพระได้หรือไม่”

    แม้จะยังพรรษาน้อย แต่สิ่งที่ พระมหาสิริวัฒนาฯ ทำในเพศบรรพชิต ถือว่าไม่ง่ายที่จะมีพระรูปใดทำได้เช่นนี้ แถมยังเป็นทั้งพระนักเทศน์-พระนักพัฒนามีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม จนได้รับรางวัล ‘คนดี แทนคุณแผ่นดิน’ ในปี 2561 โดยถ้อยความระบุไว้ว่า

    “พระผู้ซึ่งริเริ่มจัดระเบียบเรื่องการบวช ไม่ตั้งตู้บริจาคภายในวัด ไม่มีการเรี่ยไรเงิน ไม่มีการตั้งราคาในการเผาศพและสงเคราะห์ศพยากจนหรือไม่มีญาติ ให้เผาได้โดยไม่ต้องเสียเงิน บวชให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

    พร้อมจัดตั้งโครงการพบพระธรรม การสงเคราะห์บุคคลยากไร้ ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงและคนชรา โดยการให้ความช่วยเหลือเรื่องอาหารและกำลังใจ มอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์”

    อย่างไรก็ดี พระมหาสิริวัฒนาฯ ยังได้พัฒนา รวมถึงสร้างกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมจนเป็นที่ยอมรับ ถึงแม้วันนี้ยังคงต้องการปัจจัยหรือยังมีความขาดแคลนในหลายส่วน แต่ท่านก็ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ของการ ‘ให้’ โดยการใช้ความเมตตาและหลักธรรมในการช่วยเหลือสังคมอยู่เสมอ
    989e0b899e0b981e0b89ae0b89ae0b899e0b8b1e0b881e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b2-e0b88ae0b988e0b8a7-3.jpg

    “จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าเราไม่รับบริจาคเงินนะ แต่เราไม่ตั้งตู้บริจาค อย่างใครมาทำบุญกับเรา เราจะถามก่อนว่าท่านจะเอาเงินมาให้เราทำอะไร ต้องชัดเจน ภิกษุแปลว่าผู้ขอ แต่เราไม่ใช่ขอทาน ฉะนั้น เมื่อท่านนำเงินมาให้เรา ท่านกลับมา ท่านต้องเห็นว่าท่านจะได้อะไร”

    ไม่เพียงแต่เป็นพระนักพัฒนาและพระนักเทศน์ลำดับต้นๆ ของ จ.นครนายกแล้ว แต่ พระมหาสิริวัฒนาฯ ยังเป็นพระสงฆ์รูปแรกของประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาอีกด้วย

    “เริ่มต้นมีโรงเรียนการกุศลในพระพุทธศาสนาที่วัดหนองโพธิ์ ซึ่งเณรวัดเราก็เรียนหนังสืออยู่ที่นั่น พอจบมัธยม 3 เด็กก็จะไปที่ไหนไม่ได้ เพราะที่นั่นมีแค่ ม.3 เราเลยคิดว่าจะทำโรงเรียนอาชีวศึกษาที่ช่วยให้เขาประกอบอาชีพเองได้ หรือนำความรู้ตรงนี้ไปต่อยอดในอนาคตได้ อย่างน้อยเป็นการสอนให้เขาพึ่งพาตัวเองด้วย”

    โดยมีการเชิญชวนอาจารย์ที่เกษียณอายุไปแล้วให้กลับมาสอนเด็กๆ ในวิทยาลัยอาชีวตามวิชาที่ตนมีความชำนาญ เพื่อให้เด็กนำทักษะไปต่อยอดอาชีพได้ในอนาคต ขณะที่พระมหาสิริวัฒนาฯ สอนวิชาทักษะชีวิต ชี้ ‘คุณธรรม’ สำคัญกว่า ‘เงินตรา’

    “อาตมาสอนวิชาทักษะชีวิต จะนำเรื่องคุณธรรม จริยธรรมมาเป็นแก่น แต่ก่อนที่จะสอนเราจะถามก่อนว่าเด็กๆ มีความฝันอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ร้อยละ 90 ไม่กล้าฝัน เพราะกลัวผิดหวัง เราจึงคุยกับครูหลายๆ คน หาแนวทางว่าทำยังไงให้เด็กมีเป้าหมายในชีวิต

    เราพูดเสมอว่าคนเราถ้าสร้างเป้าหมายในชีวิตตัวเองให้ชัดเจนได้ เราจะกำหนดเป้าหมายของชีวิตได้ แต่เมื่อไหร่ที่เป้าหมายของชีวิตไม่ชัดเจน เราจะกำหนดทิศทางของชีวิตยากมาก นี่คือเป้าหมายของวิทยาลัยเราว่าต้องสอนด้วยคุณธรรม ที่สำคัญคือการให้โอกาส เน้นให้เด็กมีคุณธรรม เพราะคุณธรรมสำคัญกว่าเงินตรา”
    989e0b899e0b981e0b89ae0b89ae0b899e0b8b1e0b881e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b2-e0b88ae0b988e0b8a7-4.jpg
    ทาง “โลก” คู่ทาง “ธรรม”

    แรกเริ่มตั้งใจบวชแค่ไม่นาน แต่ผ่านมา 8 พรรษาแล้ว ยังคงไม่สึก ‘พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร’ เจ้าอาวาสวัดดงละคร จ.นครนายก วัย28 ปี แม้บวชมาแล้วเพียง 8 พรรษา แต่สามารถเป็นถึงเจ้าอาวาสได้ โดย พระมหาสิริวัฒนาฯ เล่าย้อนความให้ฟังถึงการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ว่ามีคุ้นเคยมาตั้งแต่วัยเด็ก

    “ถ้าบวชตามประเพณีก็ อายุประมาณ 20 ปี ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจว่าจะบวชนาน แต่ด้วยความที่ตอนเด็กเคยอยู่กับหลวงตา ท่านได้บวชตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ ตอนนั้นท่านป่วยบ่อย ย่าก็จะให้ไปดูแล ก็เลยเคยชินกับวัด

    ซึ่งหลวงปู่เองเป็นพระนักปฏิบัติ ท่านชอบช่วยเหลือโรงเรียน-โรงพยาบาลมาตลอดอยู่แล้ว และวัดที่ท่านอยู่ก็เป็นวัดที่ไม่ตั้งตู้บริจาคด้วย พออาตมาเห็นบ่อยๆ ก็เคยชินกับสิ่งเหล่านี้”

    ‘วันเพ็ญ วงษ์บัวงาม’ มารดาพระมหาสิริวัฒนาฯ เปิดใจว่าไม่คิดว่าลูกชายที่เรียนพยาบาลวิชาชีพจะบวชนานถึงเพียงนี้ ซึ่งแรกเริ่มมีความเป็นห่วงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ในระยะยาว แต่ด้วยความตั้งใจจริงของ พระมหาสิริวัฒนาฯ ผู้เป็นแม่จึงสนับสนุนให้เรียนธรรมศึกษาอย่างจริงจัง

    “ตอนแรกก่อนบวชท่านเป็นหน่วยแพทย์พื้นที่ จากนั้นพี่ชายพระก็บวชก่อน ก็เลยอยากบวชด้วย แต่ความตั้งใจเดิมแค่ไม่กี่วัน เขาก็เห็นว่าแม่จัดงานบวชแล้วเหนื่อย พอพระท่านมาเทศน์ ท่านก็ถามว่านาคหนุ่มจะบวชนานเท่าไหร่ พระท่านก็รับว่าจะบวชให้ 1 พรรษา ซึ่งคนพี่ก็บวช 1 พรรษาเหมือนกัน เราก็ไม่ได้คิดเลยว่าจะอยู่นานขนาดนี้”
    989e0b899e0b981e0b89ae0b89ae0b899e0b8b1e0b881e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b2-e0b88ae0b988e0b8a7-5.jpg
    989e0b899e0b981e0b89ae0b89ae0b899e0b8b1e0b881e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b2-e0b88ae0b988e0b8a7-6.jpg

    ระหว่าง 1 พรรษา ก็ได้พูดคุยกัน ถามพระว่ามีความคิดจะบวชอีกไหม หรือพระท่านจะสึกหลังออกพรรษา ท่านก็บอกว่าจะอยู่ไปอีกหน่อย แม่เลยบอกว่าถ้าอยากอยู่ก็ไปเรียน ทางเราสนับสนุนให้เรียน แต่ถ้าไม่เรียน อยู่แล้วแต่ไม่ทำอะไร ที่บ้านไม่สนับสนุน จากนั้นพระท่านก็ไปเรียนธรรมศึกษาชั้นตรี”

    ขณะที่ พระมหาสิริวัฒนาฯ เล่าว่า ได้สอบผ่านนักธรรมชั้นตรีจนถึงชั้นเอก ซึ่งระหว่างทางในช่วงพรรษาที่ 2 ก็ได้รับความเมตตาสนับสนุนเรื่องการเรียนเกี่ยวกับภาษาบาลี จนสอบผ่านเปรียญธรรม 3 ประโยค จาก ‘พระครูปริยัติโพธิสุนทร’ ที่วัดโพธิ์งาม ซึ่งปัจจุบันท่านได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดอุดมธานี จ.นครนายก ทว่า พระมหาสิริวัฒนาฯ ไม่ได้เรียนเก่งแค่ทางธรรม เพราะการเรียนด้านทางโลกขณะนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก

    “ก่อนที่มาบวชก็มีเรียนไว้ส่วนหนึ่งบ้างแล้ว จึงมาเรียนต่อเนื่องให้จบไป นั่นคือ รัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งมองว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ในการบริหารชีวิต จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่ทางโลกโดยตรง หรือทางธรรมโดยตรง พระเชื่อว่าชีวิตคนเราต้องผสมผสาน พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่กับความจริง ก็เลยมาเรียนต่อจนจบปริญญาตรี

    จากนั้นมาเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านบริหารการศึกษา เพราะตอนนั้นเริ่มชอบการศึกษาแล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้พระพุทธศาสนามาเป็นแกนหลักในการสอน นั่นคือ การเรียนไปด้วยและมีความสุขไปด้วย ต้องเข้าใจชีวิตด้วย สุดท้ายก็จึงมาเรียนปริญญาเอก ด้านบริหารการศึกษาที่มหาวิทยาลัย นอร์ทกรุงเทพ ซึ่งขณะนี้กำลังเรียนอยู่

    หลายๆ คนตั้งคำถามเยอะมากว่าทำไมพระท่านถึงต้องเรียนทางโลกด้วย เราต้องบอกเลยว่าเราไม่สามารถใช้ชีวิตออกจากโลกได้ ฉะนั้น จะใช้ชีวิตทางโลกอย่างไรให้สามารถนำธรรมมะไปประคับประคองได้ด้วย เรียกง่ายๆ ว่าถ้าเรามีองค์ความรู้ตรงนี้ เราสามารถช่วยเหลือเด็กอีกหลายๆ คนได้”
    989e0b899e0b981e0b89ae0b89ae0b899e0b8b1e0b881e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b2-e0b88ae0b988e0b8a7-7.jpg
    คืน ‘ศรัทธา’ ญาติโยมสู่ ‘วัด’

    อย่างที่เห็น ‘พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร’ ไม่เพียงช่วยพัฒนาวัด แต่ยังช่วยสร้างศรัทธาจากชาวบ้านให้เข้าวัดมากขึ้น สอดคล้องคำบอกเล่าของชาวบ้าน ‘เพ็ญศรี แสงสุริศรี’ หลานอดีตเจ้าอาวาสวัดดงละคร จ.นครนายก ขยายความว่า เดิมวัดแห่งนี้มีสภาพทรุดโทรมเป็นอย่างมาก จนเมื่อ พระมหาสิริวัฒนาฯ ได้มาช่วยเหลือและพัฒนาวัดแห่งนี้

    “แต่ก่อนวัดแห่งนี้ไม่ได้เป็นพื้นปูน ท่านมาก็มาเทปูนใหม่หมดเลย มีการสร้างกุฏิหลังใหม่ เพิ่มเติมรั้ว-กำแพงวัด สร้างมาเรื่อยๆ ญาติโยมก็มาวัดมากขึ้นนะคะ เมื่อก่อนไม่ค่อยมีชาวบ้านมาวัด แต่ปัจจุบันนี้วัดมีอะไรให้ช่วยเหลือก็พร้อมใจกันมาตลอด”

    ซึ่งเดิมที พระมหาสิริวัฒนาฯ ไม่ได้บวชอยู่ที่วัดดงละครตั้งแต่แรก แต่บวชอยู่ที่วัดหนองทองทราย ใน จ.นครนายก จนเมื่อเจ้าอาวาสวัดดงละครมรณภาพ ชาวบ้านจึงขอให้ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสที่นี่

    “ตอนนั้นเราก็ไม่ได้มั่นใจว่าจะมาที่นี่ พูดกันตรงๆ เมื่อก่อนโปรโมชั่นของวัดที่นี่ คือ เงินไม่มี-ที่ไม่ได้โอน-วัดเป็นหนี้ ชาวบ้านยังแตกความสามัคคีกันอยู่ ด้วยความไม่เข้าใจกันหลายอย่าง เราก็กลัวด้วยความเป็นพระเด็กด้วย สุดท้ายมีพระผู้ใหญ่ท่านขอว่าให้มาช่วยหน่อยจึงมา” พระมหาสิริวัฒนาฯ กล่าว

    ขณะที่ ‘นงนุช ยอดแย้ม’ ชาวบ้านที่มีลูกบวชที่วัดดงละคร เปิดใจว่าตั้งแต่ พระมหาสิริวัฒนาฯ มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดดงละครเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ด้วยอุดมการณ์ของท่านที่หวังพัฒนาศาสนาสถานและช่วยเหลือผู้ยากไร้จากใจจริง ส่งผลให้วัดแห่งนี้เปี่ยมไปด้วยความศรัทธา

    “วัดดงละครเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกันนะ มีการพัฒนาเยอะขึ้นและดีกว่าเดิม แต่ก่อนดูไม่ได้เลย ชาวบ้านจะเอาข้าวของมาล้างกันริมน้ำ น้ำก็เสีย ส่งกลิ่นเหม็น ที่วัดดูไม่ได้เลย แต่ปัจจุบันนี้ริมน้ำตรงนี้ใช้เป็นสถานที่จัดงานลอยกระทง มีกิจกรรมก็สามารถจัดที่นี่ได้
    989e0b899e0b981e0b89ae0b89ae0b899e0b8b1e0b881e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b2-e0b88ae0b988e0b8a7-8.jpg
    989e0b899e0b981e0b89ae0b89ae0b899e0b8b1e0b881e0b89ee0b8b1e0b892e0b899e0b8b2-e0b88ae0b988e0b8a7-9.jpg

    ก่อนที่ลูกชายจะมาบวช เขาเป็นคนดื้อ ชอบเที่ยวเตร่ แถมมีนิสัยโวยวาย-ใช้อารมณ์ ไม่ฟังคนอื่น พอมาบวชแล้ว จากคนที่เคยเที่ยวกลางคืน เรื่องที่ไม่ดีทุกอย่างกลับมาเป็นคนละคนเลย เขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเยอะเลย”

    แน่นอนว่าความเลื่อมใสของชาวบ้านก่อให้เกิดความสามัคคีอย่างงดงาม เพราะนอกจากหันมาเข้าวัดกันมากขึ้นแล้ว ยังผันตัวเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้ยากไร้ตามคำเชิญชวนของพระมหาสิริวัฒนาฯ อีกด้วย

    “นอกจากการช่วยพัฒนาวัดแล้ว เราก็มีออกไปข้างนอกเยี่ยมเยียนผู้ป่วยติดเตียงและผู้ด้อยโอกาสด้วยเหมือนกัน ส่วนเวลาไปก็จะมีรถของโยมที่รู้จักกัน หรือเป็นรถมูลนิธิ ส่วนสิ่งของเราจะมาแพ็คกันเอง ชวนโยมปู่ โยมย่า มาช่วยกัน เพียงเราบอกโยมแค่คนเดียว เขาก็จะไปชวนอีกหลายๆ คนมาช่วยทันที

    ตรงนี้เราอยากให้ญาติโยมรู้สึกว่าเขาก็มีส่วนร่วมในการช่วยพระพุทธศาสนาด้วยเหมือนกันนะ อย่าให้พระเป็นหน้าที่หลักอย่างเดียว ซึ่งสิ่งนี้ คือ การบริหารในรูปแบบการมีส่วนร่วม ฉะนั้น โยมเหล่านี้เมื่อเข้ามาเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้คน เขาไม่ต้องเสียเงินเลย นี่เป็นการช่วยเหลือกันด้วยใจที่มาจากความรักนั่นเอง”

    เรื่องโดย รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ
    เรียบเรียงโดย พิมพรรณ มีชัยศรี

    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/live/detail/9610000114182
     

แชร์หน้านี้

Loading...