เรื่องเด่น ลมหายใจของชาวพุทธ อานาปานสติและอานาปานสติสมาธิ : โดยตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 1 มิถุนายน 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b8b2e0b89ee0b894e0b8b8e0b8a5e0b8a2e0b89ee0b8b4e0b899e0b8b4e0b888-e0b8a5e0b8a1e0b8abe0b8b2e0b8a2.jpg

    ลมหายใจของชาวพุทธ
    อานาปานสติและอานาปานสติสมาธิ


    ลมหายใจเป็นเครื่องบ่งบอกความมีชีวิตของมนุษย์ เมื่อยังไม่คลอดออกมาดูโลกต้องอาศัยเลือดมารดาหายใจ ทว่าเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัยปอดหายใจด้วยตนเองตลอดระยะเวลาที่ได้สัมผัสโลก

    มนุษย์เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากลมหายใจและมีการสั่งสมประสบการณ์มาตั้งแต่ในอดีต

    โลกตะวันออกรู้จักลมหายใจในฐานะที่เป็นพลังของชีวิต วิธีปฏิบัติเริ่มแรกในหมู่พราหมณ์โบราณสอนว่าสมาธิและการบริหารลมหายใจช่วยเสริมสร้างสุขภาพและช่วยให้จิตสงบและมีกำลัง

    ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการรับรู้อย่างกว้างขวางมากถึงประโยชน์ต่างๆ จากสมาธิและลมหายใจ การศึกษาวิจัยในประเทศพัฒนาแล้วก็พบผลดีต่อสมองและสุขภาพของมนุษย์ในการบำบัดทางจิต การสร้างอารมณ์ทางบวกและการฟื้นฟูพลังชีวิต

    วิทยาการทางด้านยารักษาโรคและการแพทย์มีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ยาวนานขึ้น วิทยาการเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งในบรรดาหลายปัจจัยที่มีผลต่ออายุขัย การเข้าถึงวิทยาการมักจำกัดอยู่ที่ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงเป็นสำคัญ ผู้คนจำนวนมากจึงเริ่มเห็นคุณประโยชน์ของการใช้ลมหายใจตามภูมิปัญญาตะวันออกมากขึ้นๆ สถาบันทางการแพทย์หลายแห่งในประเทศตะวันตกก็ให้การยอมรับ

    การใช้ลมหายใจในภูมิปัญญาตะวันออกมักมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพและอายุวัฒนะ อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนามีวิธีการปฏิบัติที่พัฒนาไปมากกว่านั้นเพราะสามารถแก้ไขปมทางจิตที่ฝังลึกในนิสัยสันดานและช่วยทำให้จิตใจเป็นอิสระจากความทะยานอยากและภาวะกดดันต่างๆ ส่วนผลดีด้านสุขภาพและอายุขัยนั้นจัดเป็นผลพลอยได้

    ในชมพูทวีปก่อนยุคพุทธกาล มีดาบส นักบวชหรือพราหมณ์จำนวนหนึ่งได้สืบทอดการเจริญฌานหรือสมาธิมาตั้งแต่ยุคอารยธรรมสินธุ ความรู้เหล่านั้นยังเป็นที่สนใจและได้รับการสืบทอดเรื่อยมา มิได้สูญหายไปภายหลังจากที่พราหมณ์อารยันเข้ามามีอิทธิพลเหนือชนพื้นเมือง

    เมื่อราว 300 ปี หลังพระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน วิธีการปฏิบัติเหล่านี้ได้ถูกนำมารวบรวมไว้โดยแทรกไว้กับลัทธิคำสอนตามคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อารยัน กลายเป็นสิ่งที่รู้จักกันกว้างขวางในนาม “โยคะศาสตร์” ของศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ที่ปรับปรุงใหม่

    โยคะศาสตร์เป็นการประกอบความเพียรเพื่อบรรลุสู่ความเป็นนิรันดร์ของจิตหรือบรมอัตตา การเดินทางสู่บรมอัตตามีการบริหารลมหายใจเป็นขั้นตอนเบื้องต้นก่อนเพิ่มความสงบจนเป็นฌาน วิธีปฏิบัติเบื้องต้นนี้จะเป็นการควบคุมการหายใจเข้า การควบคุมลมหายใจออกและการควบคุมการกลั้นลมหายใจ โดยเรียกว่า “ปราณยาม” ซึ่งแปลว่าการขยายพลังชีวิต

    ปราณยามจึงเป็นจุดสนใจของผู้ที่เห็นว่าการควบคุมลมหายใจสามารถสร้างอายุวัฒนะได้

    ในทางพระพุทธศาสนา ปราณยามจะไม่เป็นที่ยอมรับถ้าไม่นำไปสู่การเดินทางสายกลาง วิธีการปฏิบัติในพระพุทธศาสนามีสัมมาทิฐินำทาง การเจริญสมาธิอาจมีหลากหลายวิธีก็จริงแต่จะต้องมีสติและปัญญาควบคู่กันซึ่งปราณยามและฌานนอกพระพุทธศาสนาไม่สามารถมีได้

    “อานาปานสติ” หรือ “อานาปานัสสติ” เป็นวิธีการปฏิบัติที่ใช้ลมหายใจและเป็นวิธีการที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ วิธีการนี้ไม่มีการควบคุมลมหายใจแบบปราณยามเพราะไม่ได้ต้องการควบคุมกาย หากต้องการให้จิตสังเกตหรือเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของลมหายใจหรือกายและจิตตามความเป็นจริง

    อานาปานสติเป็นวิธีการที่ยากเนื่องจากต้องปฏิบัติให้มีความเข้มแข็งทั้งส่วนที่เป็นสติ สมาธิและปัญญา ซึ่งมิใช่สมาธิอย่างเดียว การเจริญทั้งสติ สมาธิ และปัญญาก็ต้องประสานกันเป็นทางสายเดียว การปฏิบัตินั้นจึงจะมีผลจริงและยั่งยืน

    ส่วนการเจริญสมาธิโดยอาศัยอานาปานสติก็กระทำได้ เรียกว่าอานาปานสติสมาธิ ผู้ปฏิบัติสามารถเจริญไปถึงฌานที่สี่ซึ่งกรรมฐานอื่นๆ ไปไม่ถึง ยกเว้นเพียงการเพ่งกสิณเท่านั้น สำหรับขั้นอรูปฌานซึ่งสงบยิ่งขึ้นและต้องอาศัยการเพ่งกสิณ อานาปานสติสมาธิก็สามารถช่วยให้การปฏิบัติยกระดับความสงบนิ่งต่อไปได้จนถึงขั้นสูงสุด (ฌานที่แปดเป็นอรูปฌานขั้นสูงสุดของพราหมณ์โบราณ แต่ขั้นที่สูงสุดกว่านั้นเป็นขั้นที่เก้าซึ่งมีเฉพาะวิธีปฏิบัติแบบพุทธเท่านั้น)

    ชาวพุทธจะเรียนรู้อานาปานสติจากพระสูตรที่สำคัญคือพระมหาสติปัฏฐานสูตรและอานาปานสติสูตร ผู้ที่เจริญอานาปานสติสมาธิจนถึงขั้นฌานแล้วก็ยังต้องกลับมาเจริญสติและปัญญาตามพระสูตรดังกล่าวนี้อีก

    มหาสติปัฏฐานสูตรเป็นพระสูตรขนาดยาวที่รวมหลักปฏิบัติทั่วไปแก่ผู้ปฏิบัติอาจเริ่มต้นปฏิบัติแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 4 หมวดเรียกว่าสติปัฏฐานสี่ ได้แก่ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธรรมานุปัสสนา แต่ละหมวดจะมีวิธีการที่หลากหลาย มิใช่วิธีการใดวิธีการหนึ่งเช่นอานาปานสติเท่านั้น

    ส่วนอานาปานสติสูตรเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการปฏิบัติเฉพาะที่ใช้ลมหายใจตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมี 16 ขั้นหรือ 4 ตอน แต่ละตอนนั้นเทียบเคียงได้กับแต่ละหมวดในมหาสติปัฏฐานสูตร

    [​IMG] [​IMG]

    การปฏิบัติแบบอานาปานสติในพระสูตรทั้งสองมีข้อความเริ่มต้นและข้อความในตอนแรก (กายานุปัสสนา) เหมือนกัน ตอนและหมวดที่เหลือคล้ายคลึงกันในหลักปฏิบัติ

    การเจริญอานาปานสติหรือสติปัฏฐานทั้งสี่จะทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นผู้ที่มีสติและสัมปชัญญะ นั่นคือมีศีล สมาธิและปัญญา แม้ว่าผู้ปฏิบัติอาจจะยังปฏิบัติได้ไม่สมบูรณ์ถึงขั้นอริยบุคคล

    สัมปชัญญะเป็นการหยั่งเห็นปัญญา ผู้ปฏิบัติขั้นนี้จึงมีวิปัสสนาญาณในระดับหนึ่งแล้ว ผู้เจริญอานาปานสติจะมีสัมปชัญญะและเห็นสภาวะที่เป็นอนิจจังได้ชัดเจน

    ตอนที่สี่ของอานาปานสติสูตรหรือหมวดที่สี่ในมหาสติปัฏฐานสูตร (ธรรมมานุปัสสนา) เป็นการเจริญปัญญาที่ทำให้จิตเห็นสิ่งที่ว่าเที่ยงเป็นความไม่เที่ยง เห็นสิ่งที่น่ายินดียินร้ายเป็นความไม่น่ายินดียินร้าย เห็นความสุขเป็นความทุกข์ และเห็นความเป็นตัวตนว่าเป็นความไม่เป็นตัวตน

    ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ได้เมตตาชี้แนะการปฏิบัติว่าการเดินมรรคควรกระทำให้ถูกต้องและให้ครบทั้งสติ (ศีล) สมาธิและปัญญา ต้องเดินทางต่อไปให้มากจนกระทั่งรวมเป็นอริยมรรค ท่านยังได้แยกแยะให้เห็นว่าการปฏิบัติส่วนใดเป็นสติ ส่วนใดเป็นสมาธิและส่วนใดเป็นปัญญา

    เพื่อความชัดเจนในการสนทนากันถึงอานาปานสติว่ามีความพิเศษและเป็นแนวทางแห่งศีล-สมาธิ-ปัญญาอย่างไร เราอาจยกข้อความเริ่มต้นและหมวดกายานุปัสสนาเป็นตัวอย่างได้ (คำแปลจากหนังสือพุทธธรรมโดยท่านพระอาจารย์ ป.อ. ปยุตโต ทว่าผู้รู้ยังอธิบายแตกต่างกันบ้าง) ดังนี้
    (ข้อความเริ่มต้น:)

    “เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า”
    (ตอนที่หนึ่ง หรือหมวดกายานุปัสสนา:)
    “เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
    เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
    เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
    เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
    สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมด หายใจออก
    สำเหนียกว่า จักเป็นผู้รู้ตลอดกายทั้งหมด หายใจเข้า
    สำเหนียกว่า จักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจออก
    สำเหนียกว่า จักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจเข้า”


    ข้อความเริ่มต้นหรือบรรทัดแรก เป็นการกำหนดสติให้จิตเริ่มมีสมาธิ สมาธิเริ่มจากระดับอ่อนๆ หรือขณิกสมาธิ

    บรรทัดที่สองถึงห้า เป็นการเจริญสมาธิจนจิตเป็นระเบียบเหมาะแก่การปฏิบัติมากขึ้น รู้ชัดด้วยการสังเกตอย่างมีสติ โดยไม่มีการบังคับลมหายใจ

    บรรทัดที่หกและเจ็ด การระลึกรู้ตลอดทั่วทั้งกายตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะและจากศีรษะถึงปลายเท้าเป็นสติ จิตที่รับรู้การหายใจเข้าและออกเป็นสมาธิ

    บรรทัดที่แปดและเก้า การสำเหนียกเพื่อระงับกายสังขารเป็นการพิจารณาความไม่เที่ยงขององค์ประกอบที่มาของกายหรือของสิ่งที่ปรุงแต่งส่วนต่างๆ ของกาย (เช่น ความเป็นสภาวะธาตุของกายรวมทั้งลมหายใจ) การพิจารณานี้เป็นปัญญา ส่วนจิตที่รับรู้การหายใจเข้าและออกเป็นสมาธิ

    สำหรับผู้ที่ต้องการเจริญอานาปานสติสมาธิให้มั่นคงก่อนจะอาศัยวิธีปฏิบัติตามบันทัดที่สองถึงห้า โดยจดจ่อที่ลมหายใจที่ปลายจมูกหรือมากกว่าจุดเดียวก็ได้ (เช่น ที่ต้นลมบริเวณปลายจมูก กลางลมบริเวณหน้าอกและปลายลมบริเวณหน้าท้อง) แล้วยกระดับความสงบจนถึงฌาน

    อานาปานสติสมาธิอีกแบบหนึ่งเป็นการเคลื่อนฐานที่จิตเพ่งไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย (เช่น จากศีรษะถึงปลายเท้าและจากปลายเท้าถึงศีรษะคล้ายคลึงกับในบรรทัดที่หกและเจ็ด) แล้วยกระดับความสงบสู่ฌาน

    การเรียนรู้อานาปานสติมีความสำคัญยิ่งสำหรับชาวพุทธในการเข้าใจกฎแห่งอนิจจังและการไม่ปรุงแต่งจิต การมีอายุขัยที่ยาวนานไม่สำคัญเท่ากับการมีชีวิตที่ไม่ประมาท มีคุณประโยชน์และเท่าทันกิเลสพิษร้าย

    ลมหายใจของชาวพุทธเป็นลมหายใจแห่งศีล-สมาธิ-ปัญญา ขั้นพื้นฐานปกติเป็นลมหายใจแห่งสติและสัมปชัญญะซึ่งรู้จักอยู่กับปัจจุบันขณะ

    ขั้นสูงคือลมหายใจแห่งอริยมรรคซึ่งจิตรู้วิธีสลัดหลุดออกจากกิเลสทุกชนิด

    จึงเป็นอายุวัฒนะที่ไม่หลงชีวิตและเข้าถึงได้โดยไม่หิวกระหายดิ้นรน

    ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/article/news_977217
     
  2. athip19

    athip19 สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 มกราคม 2017
    โพสต์:
    49
    ค่าพลัง:
    +43
    สาธุ ขออนุโมทนาครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...