แม้จะผ่านไปกว่าปี ความเศร้าโศกของพสกนิกรก็ยังไม่จางหาย วันนี้เวลา 17.30 น. และ 22.00 น. จะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อส่งเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ คอยดูแลปกป้องพสกนิกรของพระองค์ตลอดไป ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศมากมาย ที่มาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพด้วยความอาลัย ข้าพระพุทธเจ้าขอร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระมหากษัตริย์ ตามความเชื่อใน ศาสนาพราหมณ์ ถือเป็น “เทวราชา” หรือ “สมมติเทพ” ดังนั้น พระเมรุมาศ ในทางสถาปัตยกรรมจึงมีการก่อสร้างอย่างอลังการยิ่งใหญ่ เมื่อ พระมหากษัตริย์ หรือ สมมติเทพ สวรรคตก็จะเสด็จกลับสู่สวรรค์ไปเป็นเทวดาเหมือนเดิม เมื่อวานนี้ผมเล่าเรื่องการสร้าง พระเมรุมาศ ตามความเชื่อใน พุทธศาสนา ที่เชื่อว่า เขาพระสุเมรุ เป็นศูนย์กลางแห่งโลกทั้งสาม มี พระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจรรอบเขาพระสุเมรุ เหนือเขาพระสุเมรุขึ้นไปคือ “สวรรค์ชั้นดาวดึงส์” มี ปราสาทไพชยนต์ ตั้งอยู่ มีเมืองชื่อ นครไตรตรึงษ์ มี พระอินทร์ เป็นเจ้าผู้ครองนคร วันนี้จะนำเรื่องราวของ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จากพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สังฆราชองค์ก่อนมาเล่าเพิ่มเติม สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่บนพื้นเบื้องบนของ เขาสิเนรุ ซึ่งอยู่กลางภูเขาบริภัณฑ์ทั้ง 7 ที่เป็นแกนกลางของโลก นครดาวดึงส์ นี้กล่าวไว้ในคัมภีร์ว่า ตั้งอยู่ใน 10,000 โยชน์ (น่าจะเป็นเส้นผ่าศูนย์กลาง) มีการกล่าวว่า ระหว่างทวารของปราการ (ประตูกำแพงเมือง) อันเป็นทวารกลางทั้ง 4 ด้าน นับได้ด้านละ 10,000 โยชน์ ประดับไปด้วยสวนและสระโบกขรณี กลางนครมีปราสาทชื่อ เวชยันต์ เป็นที่ประทับของ ท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นจอมเทพที่ไทยเราเรียกกันว่า พระอินทร์ เวชยันต์ปราสาทนี้จะแพรวพราวไปด้วยรัตนะทั้ง 7 คือ ทอง เงิน มุกดา มณี ไพฑูรย์ วชิระ (เพชร) ประพาฬ ประดับด้วยธงรัตนะต่างๆคือ ธงแก้วมณี มีคันเป็นทอง ธงแก้วมุกดา มีคันเป็นแก้วประพาฬ ธงแก้วประพาฬ มีคันเป็นแก้วมุกดา ธงรัตนะทั้ง 7 มีคันเป็นรัตนะทั้ง 7 ในปราสาทมี ต้นปาริฉัตตกะ สูงใหญ่ ภายใต้ต้นไม้นี้มีแท่นศิลาชื่อ บัณฑุกัมพล (เหมือนผ้าขนสัตว์สีเหลือง) มีสีเหมือนดอกชัยพฤกษ์ สีครั่ง และสีบัวโรย เป็นพระแท่นที่ประทับ ของ พระอินทร์ เวลาประทับนั่งจะอ่อนยวบลงไปกึ่งกาย เวลาลุกขึ้นกลับเต็มขึ้นมาเหมือนเตียงสปริง มีช้างชื่อ เอราวัณ เป็นพาหนะ แต่ท่านว่าในเทวโลกไม่มีสัตว์เดรัจฉาน ฉะนั้น ช้างนี้จึงเป็นเทวบุตร ชื่อว่า เอราวัณ มีหน้าที่คอยเนรมิตตนเป็นช้างสำหรับทรงของ พระอินทร์ ในเวลาที่มีพระประสงค์จะเสด็จเพื่ออุทยานกีฬา ช้างเทวบุตรจำแลง นี้ มีตะพอง 33 ตะพอง สำหรับเทวบุตร 33 พระองค์ รวมทั้ง พระอินทร์ ซึ่งเป็นสหายบำเพ็ญกุศลร่วมกันมาในสมัยเป็นมนุษย์ ตะพองกลางชื่อว่าสุทัสสนะ เป็นที่ประทับของพระอินทร์ มีมณฑปรัตนะ (กูบ) มีธงรัตนะ ในระหว่างปลายสุด ห้อยข่ายพรวนกระดึง หรือกระดิ่ง เมื่อต้องลมอ่อนๆโชยพัด ก็ดังปานเสียงทิพยสังคีตอันเสนาะ ประสานกับเสียงดนตรี มีองค์ 5 กลางมณฑป มีบัลลังก์มณีเป็นที่ประทับของพระอินทร์ ช้างเอราวัณ 33 ตะพอง น่าจะเขียนภาพได้ยาก และดูจะรกรุงรังไม่งดงาม จึงมักเขียนย่อลงเป็น ช้าง 3 เศียร เศียรละ 2 งา ซึ่งดูงดงามและเป็นสัญลักษณ์พิเศษว่า เป็นช้างทรงของ “พระอินทร์” โดยเฉพาะ เห็นภาพก็รู้กันได้โดยทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีรถชื่อ เวชยันต์ เทียมม้าอาชาไนยข้างละ 1,000 ม้า มีบัลลังก์ที่ประทับปักเศวตฉัตรกางกั้น… นี่คือภาพ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือ นครไตรตรึงษ์ ที่ผมเก็บมาเล่าอย่างย่อครับ. “ลม เปลี่ยนทิศ” ขอขอบคุณที่มา https://www.thairath.co.th/content/1107390