“นั่งสมาธิแล้วปวดขา” ถาม : ถ้าเรานั่งสมาธิจนขวปวดนี่คือต้องสู้ต่อหรือว่าเรา พระอาจารย์ :ไม่สู้ เราเพียงแต่ปล่อยมันปวดไปเท่านั้นเอง อย่าไปสู้กับมัน ถาม : ปล่อยคือ ยังนั่งต่อไป พระอาจารย์ : นั่งต่อไป มันจะปวดก็เรื่องของมันอย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปอยากให้มันหายแล้วมันจะไม่ทุกข์ ที่มันทุกข์ที่มันนั่งไม่ได้เพราะอยากให้มันหาย พออยากแล้วมันก็ทุกข์ขึ้นมาในใจ ไอ้ที่ทนไม่ได้ไม่ใช่เพราะความปวดของร่างกายแต่ความทุกข์ของใจที่อยากจะให้ความปวดหายไป ก็ความอยากอีกเหมือนกัน แบบเดียวกับที่โยมเขาถามมา ก็อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไอ้นี่ก็อยากให้ความปวดหายไป มันก็เป็นความทุกข์ขึ้นมา ดังนั้นอย่าไปอยาก มันปวดก็ให้มันปวดต่อไป ปวดมากกว่านี้ได้ไหม ถามมันดู ท้ามันไปเลย ถาม : ไม่ต้องเปลี่ยนลุกมาเดิน พระอาจารย์ : ไม่ต้องเปลี่ยนหรอก ถ้าเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ หยุดความอยากไม่ได้ก็ใช้การท่องพุทโธไปช่วยก็ได้ ท่องพุทโธๆไปไม่สนใจกับมันแล้วเดี๋ยวความทุกข์ใจก็จะหายไป เหมือนกับความกลัวอย่างนี้ เวลาเรากลัวเราพุทโธๆไป เดี๋ยวความกลัวก็หายไป เวลาเราอยากให้ความเจ็บหายไป เราก็พุทโธๆ ไป เดี๋ยวความอยากให้ความเจ็บหายไปมันก็จะหายไปเอง แล้วก็จะนั่งอยู่กับมันได้ เหมือนเวลาเรานั่งดูหนังตั้ง ๒ ชั่วโมงยังนั่งได้เลย ใช่ไหม ต่อไปเวลาคุณนั่งดูหนังลองนั่งขัดสมาธิดูซิว่าจะนั่งได้ไหม รับรองนั่งได้ ๒ ชั่วโมงก็นั่งดูได้อย่างสบาย เพราะคุณมีงานทำไง ใจมันมีงานทำมันไม่สนใจกับความปวด ดังนั้นเราต้องหางานให้ใจทำเวลาที่มันปวด ร่างกายปวดก็ใช้พุทโธเป็นงาน พุทโธๆ ไปสวดมนต์ไปก็ได้ แล้วมันก็จะลืมเรื่องความปวดไป มันก็จะลืมเรื่องความอยากให้ความปวดหาย ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด ความทุกข์ใจนี่แหละที่ไปขยายความปวดของร่างกายให้รู้สึกว่าใหญ่ขึ้นอีก ๑๐ เท่ามา พอไม่มีความทุกข์ใจ ความปวดใจก็นิดเดียวเท่านั้นเอง ความปวดของร่างกายก็นิดเดียว ลองไปทำดูนะ ถาม : หนูก็เคยนั่งนาน พอปวดขามันก็ทนได้กับปวดขา แต่พอนานเข้ามันก็จะหนักเข้าเรื่อยๆ พอบอกพุทโธๆ ถี่มันก็จะสั่นๆ สุดท้ายมันทนไม่ได้ นั่งได้แค่ ๓ ชั่วโมงทั้งที่ตั้งใจอยากนั่งให้ได้ ๕ ชั่วโมง พระอาจารย์ : ก็อย่าไปอยากซิ ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้นก่อน ได้เท่านั้นก่อน สิ่งที่เราอยากจะได้ไม่ใช่ชั่วโมง เราอยากจะเห็นอริยสัจ เราจะเห็นความอยากที่เกิดขึ้นในใจ อยากจะใช้ปัญญาหยุดความอยากนี้ต่างหาก เช่นเวลาเราเกิดความทุกข์กับความเจ็บของร่างกายเราต้องพิจารณาว่ามันเกิดจากความอยากของเราใช่ไหม อยากให้มันหายใช่ไหม แล้วเรามีวิธีที่จะทำให้มันหายหรือเปล่า ถ้าเราทำไม่ได้เราก็ต้องยอมรับมันไป เพราะว่าความเจ็บมันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนัตตาก็คือเราไปสั่งมันไม่ได้ พอเราสั่งมันไม่ได้ก็อยู่กับมันไป พอเราอยู่กับมันได้ ใจเราก็จะไม่ทุกข์กับมัน ต้องการให้เห็นตัวนี้มากกว่าไม่ใช่เอาชั่วโมงเป็นหลัก ให้เห็นอริยสัจ ๔ ถาม : พอปวดหนักเข้า พุทโธๆถี่มันไม่ไหว แล้วมันก็ปวดหนักขึ้นเรื่อยๆ พระอาจารย์ :เพราะว่ามันไม่พุทโธจริง มันพุทโธไปก็อยากจะหายพร้อมๆ กันไป ต้องไม่อยากหายเลย ต้องอยู่กับพุทโธอย่างเดียวต้องไม่สนใจกับความเจ็บเลยมันก็จะสงบ มันก็จะหายทุกข์ได้. ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต https://www.facebook.com/Abhijato/?...lrILApWLINAOml6MNXuxJB3hKp7oTt0F_AihY&fref=nf